วันศุกร์, กรกฎาคม 08, 2554

ใบตองแห้งออนไลน์: รัฐบาลนี้มาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง (หรือเปล่า)


ใบตองแห้งออนไลน์: รัฐบาลนี้มาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง

Fri, 2011-07-08 17:33
บทความโดย : ใบตองแห้ง

เปล่า ไม่ใช่จะสนับสนุน ขวัญชัย ไพรพนา ที่เรียกร้องว่าแกนนำเสื้อแดงต้องได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง เพราะการมอบเก้าอี้รัฐมนตรีให้แกนนำเสื้อแดง ไม่ใช่การตอบแทนบุญคุณมวลชนเสื้อแดงที่พลีชีวิตเลือดเนื้อ จนพรรคเพื่อไทยมีวันนี้

แต่ขวัญชัย ไพรพนา พูดถูกที่ว่า ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะของประชาชนคนรากหญ้า ที่ให้บทเรียนแก่รัฐบาล 2 มาตรฐาน เป็นชัยชนะของคนเสื้อแดงที่พลีชีวิตต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย

กระนั้น ชัยชนะนี้ก็ยังเป็นเพียงก้าวหนึ่งเท่านั้น เจตนารมณ์ของคนเสื้อแดงผู้พลีชีพยังไม่บรรลุง่ายๆ

ผมไม่ปฏิเสธว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ส่วนหนึ่งมาจากความเชี่ยวชาญ “การตลาด” และการวางยุทธศาสตร์ที่เหนือชั้น

และแน่นอน อีกส่วนหนึ่งมาจากระบบหาเสียงแบบเก่า คะแนนจัดตั้ง ตลอดจนกระสุนดินดำ ผมไม่ได้ไร้เดียงสานี่ครับ เพียงแต่ที่สดับตรับฟังมา มันใช้กันทุกพรรค แต่พรรคเพื่อไทยใช้น้อยกว่าและใช้เข้าเป้ากว่าทุกพรรค เพราะมีฐานมวลชนของตนเอง นั่นคือคนเสื้อแดง เห็นชัดเลยว่าที่ไหนมวลชนเสื้อแดงเข้มแข็ง ที่นั่นยกจังหวัด หรือแทบจะยกจังหวัด

มีแต่พวกสลิ่มที่ไม่ยอมรับ เดินผ่านร้านลาบยโสพาลโกรธ หาว่าคนอีสานโง่แล้วยังยโสโอหัง โถ ก็สมควรโกรธอยู่หรอก ที่ยโสชนะยกจังหวัด ถีบ ส.ส.ปชป.ร่วงอีกต่างหาก (ร้านลาบ 101 ก็โดนหมั่นไส้ เพราะเลขสวย เท่าจำนวน ส.ส.เพื่อไทยในภาคอีสานพอดี)

มวลชนเสื้อแดงเลือกพรรคเพื่อไทย โดยไม่ได้สนใจด้วยว่า นาย ก.หรือนาย ข.เป็นผู้สมัคร บางเขต ผู้สมัครเป็นที่รักของมวลชน เป็นคนที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่มาตลอด แต่หลายๆ เขต ผู้สมัครเป็นที่หมั่นไส้ของมวลชน เหินห่างมวลชน เป็นเพียงตัวแทนกลุ่มก๊วนการเมือง กระนั้นพวกเขาก็ยังเลือก

อย่างไรก็ดี คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของมวลชนเสื้อแดง ไม่ใช่แค่การเป็นฐานเสียง เป็นคะแนนเสียง ที่มั่นคงเหนียวแน่นเท่านั้น คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของมวลชนเสื้อแดง ที่นักการเมืองอาจมองข้ามไป ก็คือการสร้าง “ความชอบธรรม” ให้กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดนี้

ถ้าเรามองย้อนกลับไป เมื่อปี 2549 ที่ทักษิณถูกรัฐประหาร แม้ถูกโค่นล้มด้วยวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตย ที่สากลโลกไม่ยอมรับ แต่นานาชาติก็ยังมองทักษิณเป็น Telecoms Tycoon ผู้ร่ำรวยจากสัมปทานรัฐและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งสำหรับฝรั่ง ทั้งอเมริกา ยุโรป พวกสื่อ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน เขาไม่ชื่นชอบผู้นำแบบทักษิณ และต่อต้านด้วยซ้ำ

แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 2553 ทัศนะของสื่อฝรั่งกระแสหลัก นักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนท่าทีของอารยะประเทศเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พวกสลิ่มมองว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง แต่สื่อต่างชาติมองว่านี่คือการปราบปรามประชาชน ผู้เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยอย่างอารยะประเทศ ประชาธิปไตยตะวันตก ที่ปราศจากการแทรกแซงของมือที่มองไม่เห็น

เช่นเดียวกับทัศนะของคนชั้นกลาง คนทั่วไป “พลังเงียบ” จำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนไป... ผมเชื่อว่าเปลี่ยนไป แม้จะถูกกลบด้วยบทบาทของพวกสลิ่ม หรือแม้แต่พวกสลิ่มส่วนหนึ่งก็จำใจยอมรับ ว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ม็อบรับจ้าง คนเหนือคนอีสานไม่ได้ถูกซื้อ อย่างที่พวกเขาเคยปรามาส

ทัศนะที่เปลี่ยนไปนี้แลกมาด้วยการต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ ยอมอุทิศแม้ชีวิตเลือดเนื้อ ของมวลชนเสื้อแดง คนจนคนชั้นล่าง ผู้ลุกตื่นขึ้นมาปกป้องสิทธิ “ประชาธิปไตยกินได้” นับตั้งแต่บรรพชนเสื้อแดงอย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ มาจนถึงน้องเกด มวลชนต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า แพ้แล้วแพ้เล่า แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้

ภาพของคนเสื้อแดงที่กล้ายืนประจัญหน้ากับทหารอาวุธครบมือ ถาโถมเข้าหา “กระสุนยาง” และแก๊สน้ำตา แม้ถูกปราบปรามจนพ่ายแพ้ย่อยยับเมื่อสงกรานต์ปี 2552 แต่ก็ยังกลับมาใหม่ในปี 2553 ภาพของ “ทัพไพร่” ยาตราเข้ากรุง ได้รับการต้อนรับจากคนจนเมือง “ชนชั้นต่ำ” ของสังคมกรุงเทพฯ ผนึกพลังชาวนา แท็กซี่ สามล้อ แมงกะไซค์ คนงาน ช่างฟิต ช่างไฟ แม่บ้าน ยาม คนจรจัด ฯลฯ ยึดสี่แยกราชประสงค์ ศูนย์กลางธุรกิจของเมืองฟ้าเมืองอมร แหล่งสินค้าแบรนด์เนม ที่คนอย่างพวกเขาทำมาหากินชั่วชีวิตยังไม่มีวันซื้อหาได้แม้สักชิ้นเดียว

ภาพของมวลชนที่จัดแถวเป็นระเบียบปิดล้อมปลดอาวุธทหารด้วยสองมือเปล่าที่สถานีไทยคม ภาพของมวลชนที่ฮือต้านการ “ขอคืนพื้นที่” แม้ถูกยิงร่วงผลอยๆ ที่ผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 10 เมษายน ก็ยังรุกไล่จน “ทหารเสือ” แตกกระเจิง ภาพของมวลชนที่ถูก “กระชับพื้นที่” ด้วย “เขตใช้กระสุนจริง” ก็ยังใช้บั้งไฟสู้สไนเปอร์ ยืนหยัดอยู่จนวินาทีสุดท้าย ไม่กลัวตาย พร้อมที่จะตาย และยอมพลีชีพไป 70 กว่าคน บาดเจ็บอีกร่วม 2,000 คน

ภาพเหล่านี้ที่ออกสู่สายตาชาวโลก ทำให้นานาชาติและคนไทยที่มีใจเป็นธรรมตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของ Telecoms Tycoon เพียงผู้เดียว แต่มันคือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเสมอภาค ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่อำนาจและโอกาสถูกผูกขาดอยู่ในมือคนหยิบมือเดียว

สื่อระดับโลกอย่างนิวยอร์คไทม์ จึงระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า รอแยลลิสต์ กลุ่มทุนเก่า และนายทหารระดับสูง เหล่าผู้อยู่ส่วนบนสุดของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง (ในทางสากล โดนระบุอย่างนี้เท่ากับจบเห่)


สื่อฝรั่งส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ด้วยว่านี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมไทย ที่กำลังจะมาถึง

ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่เลขา UN กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และทูตานุทูตประเทศต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับการเลือกตั้ง ปรามกองทัพไม่ให้ทำรัฐประหารอีก เช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้เข้ามาทำงาน เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ต้องการให้หาเหตุโค่นล้มกันด้วยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์อีก

แม้แต่อองซานซูจี ยังแสดงความยินดีกับยิ่งลักษณ์ แสดงความยินดีกับประชาธิปไตยไทย เป็นสิ่งที่อภิสิทธิ์ไม่เคยได้รับ (ทั้งที่ทักษิณเคยซูเอี๋ยกับเผด็จการทหารพม่ามาก่อน)


สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐบาลสมัคร กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้ชนะการเลือกตั้งมาเหมือนกัน ในทางหลักการมีความชอบธรรมไม่ต่างกัน ก็คือชัยชนะของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แลกมาด้วยการลุกขึ้นสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของมวลชน ที่ถั่งถมลงศพแล้วศพเล่า ปูร่าง เลือด หยาดเหงื่อ น้ำตา ความสูญเสีย ผนึกเป็นความชอบธรรมที่มีชีวิตเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณ

นี่จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย 3 วินาที อย่างที่คนชั้นกลางปรามาส เพราะมันผลของการต่อสู้เสียสละมายาวนาน 4 ปี

นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจึงควรตระหนักว่า ชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดงคือ “โควตา” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เหนือโควตาของกลุ่มก๊วนใดใด นอกเหนือจากชัยชนะที่ได้มาด้วยฐานมวลชนเสื้อแดง ความเสียสละของมวลชนยังสร้างความชอบธรรมในอำนาจ ที่คุณซื้อหาไม่ได้ สร้างเองไม่ได้ และเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีก

มวลชนไม่ได้เสียสละเพื่อให้คุณมากัดกันแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อมีผู้ติดตามเป็นโขยง โชว์หน้าตาอัปลักษณ์โฆษณาผลงานในสื่อ ในป้ายคัทเอาท์ และหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง มวลชนเสียสละเพื่อให้คุณเข้ามาทำงาน ทำเพื่อปากท้องของพี่น้องคนยากไร้ ให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญเหนืออื่นใด มวลชนต้องการให้คุณมีอำนาจแทนพวกเขา เพื่อทวงความยุติธรรม เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง สร้างความเสมอภาค เสรีภาพ และ “โค่นอำมาตย์” ไม่ให้มี “มือที่มองไม่เห็น” มาแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป

รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงสามารถถูกโค่นล้ม ด้วยรัฐประหาร ด้วยตุลาการภิวัตน์ ด้วยวิธีการบ่อนทำลายต่างๆ นานาของพวกสลิ่มและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะล้มแล้วยังสามารถสู้ใหม่ด้วยพลังมวลชนที่เนื่องหนุน แต่รัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถพังเพราะการแก่งแย่งผลประโยชน์ ช่วงชิงตำแหน่ง กัดกันเอง ประจบสอพลอ ทอดทิ้งภารกิจการต่อสู้เพื่อมวลชน

เพราะถ้าล้มแบบนั้น ถ้าทำให้มวลชนผิดหวัง เสื่อมศรัทธา คุณจะไม่มีวันได้กลับมาอีก และคุณจะไม่มีค่าอะไรเลย เหลือแต่ความเป็นนักการเมืองกเฬวราก เหมือนกับนักการเมืองที่ออกไปจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน

โดยเฉพาะทักษิณ ทักษิณควรตระหนักว่า คนที่รักและซื่อสัตย์ต่อคุณอย่างจริงใจ นอกจากลูกเมีย พี่น้อง ก็มีแต่มวลชนเท่านั้น ที่จะพาคุณกลับบ้านได้ นักการเมืองสมุนบริวารที่อยู่รอบข้าง ต้องรู้จักแยกแยะ รู้จักใช้คน ถ้าคุณสานต่อเจตนารมณ์ของมวลชน วันหนึ่งคุณจะกลับมาอย่างรัฐบุรุษ แต่ถ้าคิดแต่จะฮั้ว ซื้อ จ่าย แจก ประนีประนอมเอาตัวรอด คุณก็จะถูกหลอกอีกตามเคย

ยุทธศาสตร์ 2 ขา
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแบกรับความหวังของประชาชน 2 ประการสำคัญคือ หนึ่ง การทำให้บ้านเมืองสงบ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนทั่วไป และสอง ปฏิรูปการเมือง ทวงความยุติธรรม ทวงประชาธิปไตย พูดในทางรูปธรรมคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นความหวังของมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย

โดยอุปสรรคสำคัญคือ การก่อกวนบ่อนทำลายของพวกสลิ่มและแมลงสาบ สื่อและนักอวิชา ซึ่งมีเป้าหมายจะปลุกกระแสมวลชนออกมายึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ย้อนอดีตพันธมิตร


อย่างไรก็ดี ด้วยกระแสโลก และกระแสหลักของสังคมไทยที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ กองทัพจะยังไม่กล้ากระดิกเข้ามาแทรกแซงการเมือง หรือทำรัฐประหาร ในระยะอันใกล้นี้ เว้นแต่พวกสลิ่ม-แมลงสาบ จะ remake สถานการณ์ได้ถึงขั้นสร้างความปั่น่วุ่นวาย ฉะนั้น ในระยะอย่างน้อย 1 ปี กองทัพจะต้อง “ลงใต้ดิน” ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ทำได้อย่างมากก็แค่ตั้งการ๋ดปกป้องตัวเอง

(บันทึกการดักฟังโทรศัพท์)

“อะโหลๆ ขอเรียนสายคุณปูครับ คุณปูหรือครับ ผมตู่ครับ”

“อ้าว คุณตู่ ได้ประกันตัวออกมาเมื่อไหร่คะ ดิฉันไม่ยักรู้ เอ๊ะ ทำไมเสียงเปลี่ยนไป”

“ไม่ใช่ตู่นั้นครับ ไม่ใช่ตู่ ล้มเจ้า ผมตู่ โหนเจ้า แถวบ้านเรียกบิ๊กตู่”

(เงียบไปพักหนึ่ง) “เอ้อ คุณตู่มีอะไรหรือคะ”

“เอ้อ ก็เรื่องที่คุณปูเคยอยากมาพบผม แต่ตอนนั้นผมเห็นว่าช่วงเวลามันไม่เหมาะสม ถึงตอนนี้คงจะเหมาะสมแล้ว ให้ผมไปพบคุณปูก็ได้นะครับ ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ครับ”

(เงียบไปชั่วครู่) “เอ้อ คุณตู่คะ ดิฉันว่าช่วงเวลานี้ก็ไม่เหมาะสม ดิฉันยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเลย”

“ครับ ครับ ไม่เป็นไรครับ แต่ผมจะบอกว่าคุณปูรับตำแหน่งเมื่อไหร่ หวังว่าคงยินดีให้ผมเข้าพบ”

“เอ้อ คุณตู่คะ สงสัยจะคิวยาวนะคะ หลังรับตำแหน่ง CEO ดิฉันต้องพบผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายผลิต ผู้จัดการฝ่ายบัญชี ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ต้องกระตุ้นให้บริษัทเรามียอดขายมีกำไรสูงขึ้น คงอีกนานละค่ะกว่าจะได้พบหัวหน้าฝ่าย รปภ.อย่างคุณ เผลอๆ บอร์ดจะสั่งเปลี่ยนหัวหน้า รปภ.ก่อน”

“อ้อ แล้ว-ทานโทษนะคะ คราวหน้าคราวหลัง คุณตู่อย่าโทรมาเบอร์นี้อีก คุณตู่ต้องติดต่อเลขาหน้าห้องก่อนนะคะ”

อ้าว หลงฟังตั้งนาน นึกว่าเรื่องการบ้านการเมือง ที่แท้เรื่องในบริษัท กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่า


เมื่อทหารทำอะไรไม่ได้ พวกอำมาตย์และสมุนแมลงสาบ ก็เหลือแต่วิถีทางใช้สื่อ ใช้นักอวิชา และใช้อำนาจตุลาการภิวัตน์เข้ามาเตะตัดขา ดังที่เริ่มเห็นเค้าลางกันอยู่ แต่อำนาจตุลาการภิวัตน์ก็ใช้ได้อย่างจำกัด ภายใต้กระแสหลักที่ต้องการเห็นความสงบหลังเลือกตั้ง พวกเขาไม่สามารถใช้อำนาจยุบพรรค ตัดสิทธิ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองอีก แม้แต่การใช้อำนาจให้ใบเหลืองใบแดง ก็ยังต้องทำอย่างระมัดระวัง

นี่คือโอกาส ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องรีบทำงานสนองความต้องการของประชาชน เพียงแต่ ภายใต้กระแสหลักที่ต้องการให้รัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภารกิจ 2 ด้านของรัฐบาลจึงขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง นั่นคือ สมมติรัฐบาลจะเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมก็เกรงว่าจะจุดชนวนให้มีพวกโพกผ้าเหลืองออกมาต่อต้านอีก การวางจังหวะก้าว กำหนดขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สำคัญและน่าวิตกด้วย เพราะดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะไม่มีทีมงานยุทธศาสตร์ เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย การกำหนดขั้นตอนทางยุทธศาสตร์จะมาจากดูไบโน้น

ยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนจะเหมาะสมคือ รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเท่าที่ดู พรรคเพื่อไทยก็กำลังจะเดินแนวทางนี้ เหมือนยุทธศาสตร์หาเสียง ที่หันไปชูปากท้องเป็นประเด็นสำคัญ “ไม่คิดแก้แค้นแต่คิดแก้ไข” และเมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์สร้างกระแสบีบคั้น ก็ต้องยืนยันว่าจะไม่นิรโทษกรรมทักษิณคนเดียว และจะไม่รีบทำตอนนี้

ถ้าเดินแนวทางนี้ สมมติผ่านไป 6 เดือนถึง 1 ปี รัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจบูม พวกที่คอยเตะตัดขาก็จะกลายเป็นหมาหัวเน่า คนเขาจะทำงานยังระรานรังควาน แมลงสาบจะถูกโดดเดี่ยว พวกคนชั้นกลางน้ำมันมะกอกจะตีอกชกหัว รัฐบาลจะมีอำนาจมั่นคงจากคะแนนนิยมล้นหลาม แล้วค่อยเข้าสู่ขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ และการแก้ไขรื้อล้างกลไกต่างๆ

แต่การเดินตามยุทธศาสตร์นี้ ก็มีปัญหาสำคัญ 2 ด้าน ด้านแรกคือ ภาพลักษณ์ของรัฐบาล ที่จะต้องประกอบด้วยตัวบุคคลที่เหมาะสม วางตัวบุคคลที่เหมาะกับงาน มีตัวแทนกลุ่มก๊วนบ้าง แต่ไม่มากนัก และต้องควบคุมพฤติกรรมให้แข็งขัน อย่าสร้างเรื่องฉาวโฉ่ อย่าลืมว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีเรื่องปลากระป๋องเน่า สื่อยังให้อภัย แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย สื่อรุมเอาถึงตาย

แน่นอน การแก่งแย่งตำแหน่งก็เป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ตั้งแต่แรก ไม่รู้แม่-จะแย่งอะไรกันนักหนา กระทั่งตำแหน่งประธาน นปช.ทีตอนที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ท้าทายอำนาจรัฐ ไม่ยักมีใครอยากเป็น ชนะขึ้นมาแล้วอยากเป็น

เรื่องเศร้าคือพวกโง่ๆ เหล่านี้ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำลายชัยชนะของมวลชนตั้งแต่เริ่มต้น พวกนี้คิดจะใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ หารู้ไม่ว่านักข่าวกำลังใข้พวกคุณทำลายพวกคุณด้วยกันเอง

“ด้านกลับของชัยชนะ” ก็มีพิษภัยอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อคุณกุมอำนาจชี้ขาดผลประโยชน์ ก็จะมีแต่คนแห่แหน ถ้า “นายใหญ่” หูเบา ไม่แยกแยะว่าใครจริงใจ ใครทำงาน ใครประจบสอพลอ คนที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกันก็จะหมดกำลังใจ ไม่ต้องดูอื่นไกล ถ้าพูดกันตามความจริง เนวินคือคนที่ยืนซดยืนสู้อย่างเด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหาร เนวินคือหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้พรรคพลังประชาชนชนะ แต่พอชนะ พวกที่รู้หลบเป็นหลีกก็โผล่ขึ้นมาประจบสอพลอ ได้ดิบได้ดีกันเพียบ

นี่ผมจะคอยดูการคัดเลือกประธานสภา ว่าระหว่างคนที่สร้างภาพ เอาแต่บินไปดูไบบ่อยๆ กับคนที่ทำงาน พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง และต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับมวลชน “นายใหญ่” จะเลือกใคร

ถ้าข้อแรกคือจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย และบุคลากรกเฬวรากของพรรคเอง ข้อสองก็คือ การระรานตีรวนของฝ่ายตรงข้าม ที่จะมาในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เกมต่ำๆ แบบร้องเรียนยิ่งลักษณ์ผัดหมี่โคราชแจกชาวบ้านระหว่างหาเสียง (ปล่อยให้มันร้องไป ประชาชนเขาส่ายหน้า) ไปจนการแปลงร่างของพวกนักอวิชาพันธมิตร ที่หนีหายไปชั่วครู่ คิดว่าชาวบ้านลืมกำพืด กลับมาสวมบทกูรูเศรษฐกิจ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล

วันก่อน ผมฟังรายการเล่าข่าวทางวิทยุ ยังมีพวกสลิ่มสมอ้างเป็นนักลงทุนต่างชาติ ส่ง SMS มาเป็นภาษาอังกฤษว่าถ้าขึ้นค่าแรง 300 จะย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม สลิ่มชัดๆ ฝรั่งที่ไหนจะมาฟังรายการเล่าข่าว

อันที่จริง นโยบายประชานิยมของรัฐบาล ก็มีหลายข้อที่ผมไม่เห็นด้วย ไว้วันหลังค่อยๆ พูดกัน แต่ไอ้พวกที่ดาหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่มี Agenda โดยไม่ต้อง hidden กันทั้งนั้น ประเด็นก็คือรัฐบาลจะรับมืออย่างไรกับพวกนักอวิชาและสื่อกระแสหลัก จะรับมือไหวไหม

วิธีการรับมือของรัฐบาล ที่ดีที่สุด คืออย่าปล่อยให้ฝายตัวเองมีจุดอ่อน มีมลทินมัวหมอง แสดงให้เห็นว่าตั้งหน้าตั้งตาทำงาน และถ้าทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็จะปิดปากพวกวิพากษ์วิจารณ์เอง (เหมือนทักษิณสมัยแรก) เพราะเวลาเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผู้ที่ได้อานิสงส์ก่อนเพื่อนไม่ใช่ใครหรอก ก็คนชั้นกลางนี่แหละ

ส่วนการรับมือกับสื่อ วิธีการที่ดีที่สุด ก็คือต้องวางตัวเป็นผู้ใหญ่ อดทน อดกลั้น ใช้การชี้แจงแต่ไม่ตอบโต้ระราน ไม่จำเป็นต้องมีโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค อย่างเทพไท ไม่จำเป็นต้องให้ “เสด็จพี่” แสดงฝีปากอย่างหมอท็อป คนแพ้กับคนชนะ ต้องวางตัวคนละอย่าง ปชป.เป็นรัฐบาล 2 ปีกว่า จิตใต้สำนึกพวกเขายังมีปมด้อยว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ จึงทำตัวเป็นเด็ก

การรับมือกับสื่อกระแสหลัก จะต้องใช้วิธีการเปิดเสรีภาพสื่อ คืนเสรีภาพ สนับสนุนเสรีภาพสื่อทางอินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม ASTV เปิดได้เปิดไป ปชป.จะเปิดทีวีดาวเทียมมั่ง ก็ให้เขาทำไป แต่ก็ยังมีเอเชียอัพเดท มี Voice มีสปริงนิวส์ ที่หลากหลาย และที่สำคัญยังมีวิทยุชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นของคนเสื้อแดง

ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กสทช.โดยเร็ว เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่กันใหม่ เอาคลื่นวิทยุทหารมาเกลี่ยใหม่ เขาอาจจะจัดให้ NGO ให้ใครก็แล้วแต่ มันก็ยังดีกว่าผูกขาดอยู่ในมือทหาร

รัฐบาลไม่จำเป็นต้องแทรกแซงเสรีภาพสื่อ ปล่อยให้เป็น “นิวส์ออฟเดอะเวิลด์” ไป เข้าข่ายล่วงละเมิดทางกฎหมายก็ฟ้อง ส่วนวิธีการจัดการทางอ้อมคงไม่ต้องสอนหนังสือสังฆราช ฮิฮิ แต่ถ้าจะตัดโฆษณารัฐ ก็ทำให้เนียนหน่อย เช่น แฉว่ารัฐบาล ปชป.ใช้งบโฆษณาเป็นพันๆ ล้าน ประกาศลดงบโฆษณาเพื่อเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ที่ประชาชนได้มรรคผลมากกว่า แล้วก็ยกเลิกเสีย ไอ้ป้ายโฆษณาที่มีแต่โชว์หน้ารัฐมนตรี

ส่วนตัวผมสันนิษฐานว่าถ้ารัฐบาลใช้วิธีการจัดการทางอ้อม สื่อที่จะหลบหัวลมก่อนก็คงเป็นเดลินิวส์กับค่ายโพสต์ เพราะเจ้าของมีธุรกิจอื่นสำคัญกว่า

ปฏิรูปการเมือง

ถ้ามองปัญหาสองด้านที่กล่าวมา ก็น่าวิตกไม่น้อย (โดยเฉพาะด้านพรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งควบคุมกมลสันดานนักการเมืองได้ลำบาก) ชวนให้คิดว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วค่อยรุกทางการเมืองดีหรือไม่

เอ้า ยกตัวอย่างรูปธรรม หลังตั้งรัฐบาลแล้ว เด้ง “บิ๊กตู่” ทันทีทันใดดีหรือไม่ ยังไงทหารก็ไม่กล้ารัฐประหาร แต่ก็จะกระทบกระแสที่ต้องการให้รัฐบาลทำงานมากกว่าล้างแค้นทางการเมือง

แต่ถ้าไม่เด้ง ปล่อยเสืออยู่ในป่า รัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลย ไม่ริเริ่มปฏิรูปกองทัพ ปีหนึ่งผ่านไป โดนถล่มหนัก หัวหน้า รปภ.เอ๊ย-กองทัพกลับมามีฤทธิ์เดช กลับมาหือ ผนึกกำลังกันโค่นรัฐบาล เท่ากับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่เลือกรัฐบาลนี้เข้าไปสูญเปล่า

ตัดสินใจยากนะครับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เหมือนกัน ถ้าคุณรีบทำ สังคมก็จะว่าอย่าเพิ่งขัดแย้งกันเลย แก้ปัญหาปากท้องก่อน ถ้าคุณไม่รีบทำ เดี๋ยวกระแสตก ถูกรุมกระหน่ำ ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย

การจับอารมณ์สังคมแล้ววางจังหวะก้าวที่เหมาะสมจึงสำคัญ


แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผมกลัวทักษิณและแกนนำพรรคเพื่อไทยได้อำนาจแล้วจะไม่สนใจการปฏิรูปประชาธิปไตย สมมติเช่น กองทัพ ทักษิณอาจจะใช้วิธีเดิมๆ ใช้ผลประโยชน์ซื้อใจกองทัพ (มีข่าวสะพัดว่าจะเอาใจกองทัพเรือ ซื้อเรือดำน้ำให้ เพราะ ทร.ไม่พอใจรัฐบาล ปชป.ไม่ซื้อให้) ทักษิณอาจจะไม่เด้ง “บิ๊กตู่” แต่ตั้งคนของตัวแซม แล้วก็ให้งบให้สวัสดิการทหารเต็มที่ แทนที่จะตัดงบ

ทักษิณอาจจะไม่ปฏิรูปอะไรเลย ถ้าตัวเองเข้ามาครอบครองปรปักษ์ได้ โหนได้ กลับบ้านได้ แบบสมมติ-จู่ๆ ทักษิณบินกลับมา เดินเข้าคุก แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ ยอมเข้าไปนอนในคุกซักพัก ในขณะที่น้องสาวเป็นนายกฯ เรียกความเห็นใจจากคนไทยได้อีกต่างหาก

เราต้องเข้าใจด้วยว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจริงๆ คือนักธุรกิจ พวกนี้สนใจแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อที่ตัวเองจะร่ำรวยไปด้วย พวกนี้ไม่ได้สนใจการแก้ปัญหาโครงสร้าง การปฏิรูปประชาธิปไตย การปฏิรูปประเทศ เพียงแต่คุณูปการที่ผ่านมาคือพวกเขาต่างตอบแทนด้วยนโยบายประชานิยม ซึ่งแม้จะไม่ใช่นโยบายที่ดีทั้งหมดแต่ก็ทำให้มวลชนตื่นตัวขึ้นมา ตระหนักในอำนาจ “ประชาธิปไตยกินได้”

แต่ถึงที่สุดในการที่จะไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตามเจตนารมณ์ของมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย คนพวกนี้ไม่ได้กระตือรือร้นไปด้วย พวกเขาเพียงต้องการบดขยี้กลุ่มทุนเก่า รัฐราชการ กองทัพ ตุลาการ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยทุนนิยม ฉะนั้นถ้าได้อำนาจมั่นคง พวกเขาก็พอใจแล้ว

นั่นคือข้อแตกต่างที่จะส่งผลต่อไปในอนาคต แต่ตอนนี้ จะต้องให้พวกเขาตระหนักว่า คุณจำเป็นต้องปฏิรูปประชาธิปไตย ถ้าไม่อยากถูกโค่นล้มอีก

รัฐบาลอาจยังไม่แก้รัฐธรรมนูญโดยทันที แต่หลังรับตำแหน่ง ควรตั้งคณะกรรมการศึกษาปฏิรูปการเมือง ที่ไม่เอาหมอประเวศหรืออานันท์มาเป็นประธาน แต่ยินดีรับข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยของหมอประเวศ-อานันท์ เข้ามารวมอยู่ด้วยกัน แต่เน้นเรื่องสำคัญที่สุดที่หมอประเวศ-อานันท์ ไม่ได้ทำ คือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โดยเปิดรับความคิดเห็นจากคนทุกสี หาข้อสรุปใน 6 เดือน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติ และแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ด้วยการลงประชามติ

ย้ำ ลงประชามติ พวกพันธมิตรพวกสลิ่มอย่าหาเรื่องมาต่อต้าน ไม่พอใจก็ไปรณรงค์คัดค้านกันด้วยเหตุด้วยผล

รัฐบาลต้องสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เปิดกว้างให้เสรีภาพประชาชนแสดงออกได้เต็มที่ ตลอดจนเพิ่มอำนาจประชาชน เพราะมวลชนเท่านั้นที่จะปกป้องรัฐบาล สมมติเช่น คุณจะต้องเดินหน้าไปสู่การยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ยุบ กอ.รมน.อย่าคิดว่าจะใช้ กอ.รมน.ค้ำจุนอำนาจ เพราะ “หมู่บ้านเสื้อแดง” ต่างหากที่เป็นเสาค้ำอำนาจคุณ คุณจะต้องยกเลิก พรบ.คอมพิวเตอร์ โดยเร็วที่สุด เพราะนักประชาธิปไตยยึดครองโลกไซเบอร์อยู่เป็นส่วนใหญ่ คุณจะต้องมุ่งกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจผู้ว่าฯ ข้าราชการจากส่วนกลาง ทำให้แต่ละพื้นที่เป็น “เขตปกครองตนเอง” กลายๆ เพราะไม่เห็นหรือว่าสีแดงพรืดไปหมดทั้งภาคอีสานและล้านนา ต้องให้พวกเขาขึ้นมามีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น ลดอำนาจส่วนกลางลง เพื่อสร้าง “ฐานที่มั่น” ระยะยาว

ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจะต้องเร่งทำโครงการระเบียงเศรษฐกิจ เหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก เปิดรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงลงมากรุงเทพฯ เชื่อมเส้นทางขนส่งจากดานังไปทวาย เพื่อเปิดมิติใหม่ทางเศรษฐกิจให้คนเหนือคนอีสาน ทำให้ความเจริญไม่ต้องมากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ

ขบวนประชาธิปไตย ขบวนคนเสื้อแดง (ที่ไม่ได้หมายถึงแกนนำ ซึ่งบ้างก็เป็นนักการเมือง บ้างก็เป็นพวกฉวยโอกาส) มีภารกิจสำคัญที่จะต้องพิทักษ์เจตนารมณ์ของมวลชนผู้พลีชีวิต เลือดเนื้อ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนมีวันนี้ ภารกิจนั้นมีทั้งสองด้าน คือปกป้องรัฐบาล จากการโจมตีบ่อนทำลายด้วยอคติความเกลียดชัง ของพวกสลิ่ม แมลงสาบ สื่อ นักอวิชา ขุนนางอำมาตย์ อำนาจตุลาการภิวัตน์ ทั้งยังอาจต้องเป็นแนวหน้าให้รัฐบาล ในการรุกรบอย่างมีจังหวะก้าว สมมติเช่น การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รณรงค์เนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ปลดผู้นำเหล่าทัพ

อีกด้านหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ก็คือการตรวจสอบรัฐบาล อย่างจริงจังและว่าไปตามเนื้อผ้า การวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผล สิ่งใดที่พวกสลิ่มหรือพวกแมลงสาบยกมากล่าวหา ถ้าเป็นจริง ถ้ามีเหตุผล มีพยานหลักฐาน (น่าจะน้อยเต็มที) เราก็ต้องยอมรับ และเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลแก้ไข สิ่งใดที่ไม่จริงก็ด่ามันกลับไป แต่อย่าปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาทำลายชัยชนะของมวลชนที่แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ

ในอีกแง่หนึ่ง ขบวนประชาธิปไตย ขบวนคนเสื้อแดง ยังต้องเรียกร้องกดดันรัฐบาล ให้เดินหน้าไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพราะธาตุแท้ของนักการเมืองเป็นดังที่กล่าว ถ้าขบวนประชาชนไม่เรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล พวกเขาก็ไม่ทำ (มิพักต้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่กล้าแอะ)

ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่เกิดความขัดแย้งใน นปช.เป็นเรื่องธรรมดามาก เมื่อผ่านการต่อสู้สู่ชัยชนะ พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นปช.ก็จะแตกตัว ไม่ต่างกับพันธมิตร ส่วนหนึ่งก็จะแตกตัวไปเป็นผู้รับใช้นักการเมือง หรือแสดงธาตุแท้ของความเป็นนักการเมือง อีกส่วนหนึ่งจะเดินหน้าต่อไปในอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยไม่ผูกติดกับรัฐบาล กระบวนการนี้กำลังจะเริ่มขึ้น

แต่ขบวนประชาธิปไตยจะไม่เป็นอย่างพันธมิตร เพราะเรายึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมสุดขั้วสุดโต่ง


ใบตองแห้ง
8 ก.ค.54
http://prachatai3.info/journal/2011/07/35928

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น