วันพุธ, กรกฎาคม 27, 2554
ทางการเยอรมนีอนุญาตพ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศอีกครั้ง
ทางการเยอรมนีอนุญาตพ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศอีกครั้ง
บล็อกเกอร์และเว็บไซต์ข่าวต่างประเทศ นำเสนอข่าวท่าทีของทางการเยอรมนี ที่อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เดินทางเข้าประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งสื่อเยอรมันเชื่อว่า ส.ส. พรรครัฐบาลเป็นกลุ่มที่โน้มน้าวให้มีการยกเลิกคำสั่งนี้
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร สามารถเดินทางเข้าประเทศเยอรมนีได้อีกครั้ง หลังจากคำสั่งห้ามเข้าประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2549 ได้รับการยกเลิกเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามคำสั่งของนายกีโด เวสเตอร์เวลเลอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนี
โดยคำสั่งดังกล่าว ได้รับการส่งต่อไปยังกระทรวงมหาดไทของประเทศเยอรมนี เพื่อถ่ายทอดไปถึงหน่วยงานต่างๆ รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการตรวจตราการเข้าเมือง ให้ปฏิบัติตามคำสั่งทันที
นี่คือคำแปล ที่นายศักดิ์สิทธิ์ ไสยสมบัติ บล็อกเกอร์ของสยามวอยเซส เขียนลงเว็บไซต์เอเชียนคอร์เรสปอนเดนท์ โดยถอดความมาจากหนังสือพิมพ์แฟรงค์เฟิร์ตเตอร์ แอลเกอไมเนอร์ ของเยอรมนี ฉบับวันที่ 22 กรกฎาคม 2554
นายศักดิ์สิทธิ์กล่าวถึงเหตุผลที่เยอรมนียกเลิกประกาศห้าม พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าประเทศ โดยอ้างอิงจากบทความของหนังสือพิมพ์ซุดดอยช์ ที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมิถุนายนว่า ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา มีความพยายามจาก ส.ส. บางคนของพรรคคริสเตียนโซเชียลยูเนียนแห่งบาวาเรีย
หรือ พรรคซีเอสยู ซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ในการโน้มน้าวให้นายเวสเตอร์เวลเลอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อนุญาตให้ พ.ต.ท.ทักษิณ เดินทางเข้าประเทศเยอรมนี และให้เปลี่ยนแนวทางการดำเนินนโยบายกับประเทศไทย โดยให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเป็นตัวแสดงสำคัญอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นายศักดิ์สิทธิ์อธิบายว่า แม้แต่ในช่วงที่มีประกาศห้ามเดินทางเข้าประเทศ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถเดินทางเข้าประเทศเยอรมนี ด้วยความช่วยเหลือของ ส.ส. ฝ่ายอนุรักษ์นิยม พร้อมด้วยอดีตสายลับเยอรมัน อดีตหัวหน้าตำรวจระดับท้องถิ่น และนักกฎหมายเยอรมัน โดยรัฐบาลเยอรมันไม่ทราบว่าใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบ้าง จนเป็นเรื่องเป็นราว ต้องยกเลิกใบอนุญาตเข้าประเทศของ พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อเดือนเมษายน 2552
ดังนั้น การผลักดันเพื่อเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างประเทศของประเทศเยอรมนีต่อประเทศไทยในครั้งนี้ จึงสมควรได้รับการจับตามอง และตั้งคำถามว่า เพราะเหตุใด ส.ส.เยอรมันจึงเลือกสนับสนุนนโยบายสนับสนุนทักษิณ พวกเขาหวังจะได้อะไร ส.ส.เหล่านี้มีอิทธิพลต่อกระทรวงการต่างประเทศเยอรมนีมากขนาดนั้นเลยหรือไม่ และทำไมต้องเป็น ส.ส.ของพรรคซีเอสยู
ที่มา: VoiceTV
วันจันทร์, กรกฎาคม 25, 2554
25 7 54 กู้ ฮ เบลล์ 212 กลับลพบุรีแล้ว
25 7 54 กู้ ฮ เบลล์ 212 กลับลพบุรีแล้ว
อัปโหลดโดย DNNTHAILAND เมื่อ 25 ก.ค. 2011
วันเสาร์, กรกฎาคม 23, 2554
ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปรายงายตัวสมาชิกสภาฯ ที่รัฐสภา 22 ก ค 54
ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปรายงายตัวสมาชิกสภาฯ ที่รัฐสภา 22 ก ค 54
อัปโหลดโดย PheuthaiParty เมื่อ 22 ก.ค. 201
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 21, 2554
น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เข้ารายงานตัว..
2011-07-20 21:31:10
น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย
เข้ารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ที่มา : http://www.dailyworldtoday.com/bannernews.php?id=1008
ตีความ′คำสั่งศาลโลก "4 มาตรการชั่วคราว" ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขตแดนไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด
มติชนออนไลน์ - ตีความ′คำสั่งศาลโลก "4 มาตรการชั่วคราว" ไม่ได้เปลี่ยนแปลงเขตแดนไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด
ที่มา - ส่วนหนึ่งของบทวิเคราะห์ความคืบหน้าคดีปราสาทพระวิหารของนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ อดีตนักกฎหมายในคดีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและนิติศาสตรมหาบัณฑิต (รางวัลทุนฟุลไบรท์และวิทยานิพนธ์เกียรตินิยม) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ซึ่งมีเนื้อหาตอบข้อซักถามในประเด็นข้อสงสัยต่างๆ ไว้น่าสนใจ
...............................................
คําสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือศาลโลก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม คือ "คำสั่งมาตรการชั่วคราว" เท่านั้น และไม่มีอะไรมากไปกว่านั้น เพราะไม่ได้มี "คำพิพากษา" และศาลโลกยังไม่ได้ "พิพากษา" หรือ "วินิจฉัย" คดีหรือข้อพิพาทระหว่างไทยและกัมพูชาแต่อย่างใด ทั้งนี้ "คำสั่งมาตรการชั่วคราว" (provisional measures order) เป็นเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนเฉพาะหน้าและมีผลในเวลาจำกัด ศาลมีอำนาจยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งได้ตลอดเวลา ต่างกับ "คำพิพากษา" (judgment) ซึ่งมีผลผูกพันและ สิ้นสุดในการวินิจฉัยข้อกฎหมาย (adjudge) ซึ่งศาลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ยกเว้นภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดเท่านั้น
คำสั่งวันที่ 18 กรกฎาคม เป็นเพียงกระบวนพิจารณาส่วนหนึ่ง (incidental proceedings) ของคดีหลักซึ่งกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 ซึ่งยังต้องรอศาลพิจารณาต่อไปและอาจใช้เวลาถึงปีหน้า ทั้งนี้ คำขอตีความของกัมพูชามีนัยทางเขตแดน เช่น ประเด็นบริเวณปราสาทพระวิหารที่เป็นของกัมพูชากว้างขวางเพียงใด เป็นต้น
การที่ศาลมีคำสั่งชั่วคราวเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่ได้หมายความว่าปีหน้าศาลจะต้องรับตีความคำพิพากษา กล่าวคือ ศาลยังคงมีอำนาจปฏิเสธคำขอของกัมพูชาในคดีหลัก (คือไม่รับตีความคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505) นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างคดีศาลโลกในอดีตที่แม้ในตอนแรกศาลมีคำสั่งมาตรการชั่วคราว แต่ในท้ายที่สุดศาลก็ปฏิเสธไม่รับตีความในคดีหลัก
ดังนั้น ศาลโลกจะรับตีความคำพิพากษาหรือไม่ และจะกระทบเขตแดนอย่างไร ต้องรอดูไปถึงช่วงปีหน้า
ทั้งนี้ ศาลระบุคำสั่งในบทปฏิบัติการมีทั้งสิ้น 7 ข้อ โดยเป็นคำสั่งมาตรการชั่วคราว 4 ข้อ และ คำสั่งทั่วไป 3 ข้อ
ซึ่งคำสั่งมาตรการชั่วคราว 4 ข้อ คือ
ข้อ (1) สั่งให้ไทยและกัมพูชา ถอนกำลังทหารออกจาก "เขตปลอดทหารชั่วคราว" ทันที ตามขอบเขตของพื้นที่ที่ศาลโลกได้กำหนด รวมทั้งห้ามวางกำลังทหารในเขตหรือดำเนินกิจกรรมทางอาวุธใดๆ ที่มุ่งไปยังเขตดังกล่าว
ศาลได้ระบุพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวงเพื่อให้ "เขตปลอดทหารชั่วคราว" มีขอบเขตชัดเจน และศาลได้วาด "ร่างแผนที่" (sketch-map) ดังกล่าว เพื่อให้ไทยและกัมพูชาพอเห็นเป็นตัวอย่างเท่านั้น
ดังนั้นไทยและกัมพูชาจึงมีหน้าที่ต้องนำพิกัดเส้นรุ้งเส้นแวง ซึ่งศาลระบุไว้ในคำสั่งไปร่วมหารือเพื่อทำแผนที่หรือเส้นปฏิบัติการตามคำสั่งของศาลต่อไป ศาลมิได้สั่งให้นำ "ร่างแผนที่" ของศาลไปใช้เสมือนแผนที่สำเร็จรูปแต่อย่างใด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ไทยและกัมพูชายังไม่อาจถอนกำลังทหารได้ทันที แต่ต้องหารือกันก่อนว่าจะนำพิกัดที่ศาลกำหนดไปปฏิบัติอย่างไร
สำหรับ "เขตปลอดทหารชั่วคราว" (provisional demilitarized zone) ย่อมไม่ได้ห้ามประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทั่วไปจากเขต ทั้งนี้ศาลอธิบายในคำสั่งย่อหน้าที่ 61 ว่าเขตดังกล่าวย่อมไม่กระทบต่อการดำเนินการทางปกครองตามปกติ เช่น การส่งเจ้าหน้าที่ที่มิใช่ทหารเข้าไปประจำในพื้นที่เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทรัพย์สิน ย่อมทำได้
อย่างไรก็ดี มองได้ว่าศาลใช้อำนาจกำหนด "เขตปลอดทหารชั่วคราว" ในลักษณะค่อนข้างกว้าง และมีผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในศาลไม่เห็นด้วยถึง 5 ท่าน ซึ่งผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยเหล่านี้แสดงความกังวลว่าศาลได้ก้าวล่วงเข้าไปกำหนดคำสั่งที่ครอบคลุมเขตที่มิได้เป็นพื้นที่พิพาท จึงเป็นการใช้อำนาจศาลที่เกินความจำเป็น
ข้อ (2) สั่งให้ไทยไม่ขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ (free access) รวมทั้งการส่ง "เสบียง" (fresh supplies) ให้แก่เจ้าหน้าที่ที่ไม่ใช่ทหารของฝ่ายกัมพูชาในปราสาทพระวิหาร
ซึ่งศาลใช้คำว่า fresh supplies (ต้องแปลตามคำฝรั่งเศสที่ศาลใช้ว่า ravitailler) ซึ่งกินความถึงเสบียงทั่วไปที่ต้องเปลี่ยนเป็นระยะ เช่น อาหาร เชื้อเพลิง หรือวัสดุสิ้นเปลืองในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมปราสาท และไม่ได้จำกัดแต่เพียงอาหารดังที่สื่อมวลชนหรือหน่วยงานได้รายงานไปเท่านั้น แต่ทั้งนี้ย่อมต้องตีความไปตามคำสั่งเรื่อง "เขตปลอดทหารชั่วคราว" หมายความว่า หากกัมพูชานำเสบียงดังกล่าวเข้าไปในบริเวณเพื่อดำเนินกิจกรรมทางทหาร ไทยย่อมขัดขวางได้
ที่ศาลสั่งว่าไทยต้อง "ไม่ขัดขวางกัมพูชา ในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ" (free access) มิได้หมายความว่า กัมพูชา สามารถล่วงเข้ามาใช้ดินแดนของไทยโดยอิสระเพื่อผ่านเข้าไปยังปราสาท แต่หมายความว่า หากกัมพูชามีความจำเป็นต้องขอผ่านดินแดนของไทยเพื่อเข้าไปยังปราสาทตามความมุ่งหมายของ คำสั่งศาล ไทยย่อมไม่สามารถปฏิเสธหรือขัดขวางอย่างไร้เหตุผล แต่ไทยย่อมมีดุลพินิจที่จะสอบถามหรือตรวจสอบให้ชัดก่อนการอนุญาต (เช่น เป็นไปตามพื้นฐานของความจำเป็นเร่งด่วนในการรักษาสิทธิของกัมพูชาตามคำสั่งศาล อาทิ การซ่อมแซมรักษาตัวปราสาท มิใช่เข้าไปเพื่อการทหาร) ส่วนที่ว่าอย่างอิสระ (free access) หมายความเพียงว่าไทยไม่สามารถตั้งเงื่อนไขการเดินทางเข้าไปที่ตัวปราสาท เช่นจะบังคับให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยตามเข้าไปที่ปราสาทด้วยไม่ได้
ข้อ (3) สั่งให้ไทยและกัมพูชาร่วมมือกันตามกรอบของอาเซียน และต้องอนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนสามารถเข้าไปยังเขต ปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าวได้
ทั้งนี้ ศาลไม่ได้สั่งว่าคณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนต้องเข้าไปได้อย่างอิสระ (free access) ดังนั้นไทยและกัมพูชาย่อมสามารถประกบติดตามหรือดูแลการดำเนินการโดยคณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียนได้
ข้อ (4) สั่งให้ไทยและกัมพูชาละเว้นจากกิจกรรมใดๆ ที่จะทำให้สถานการณ์ข้อพิพาทเลวร้ายหรือรุนแรงมากขึ้น หรือทำให้ปัญหาข้อพิพาท มีความยากลำบากยิ่งขึ้นที่จะแก้ไข
ศาลไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่ากิจกรรมต้องห้าม ดังกล่าวได้แก่สิ่งใด ซึ่งหากไทยและกัมพูชา มีปัญหาในประเด็นดังกล่าว ศาลย่อมมีคำสั่งเพิ่มเติมได้
สำหรับคำสั่งทั่วไปอีก 3 ข้อ คือ
ข้อ (1) สั่งไม่จำหน่ายคดี คือ ไม่ถอนคดีออกจากศาล
ศาลหมายความว่า คดีหลักซึ่งกัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505 ยังต้องรอศาลพิจารณาต่อไปถึงปีหน้า ซึ่งสุดท้ายศาลอาจไม่รับตีความก็เป็นได้
ข้อ (2) สั่งให้ไทยและกัมพูชาต้องรายงานให้ศาลทราบถึงการปฏิบัติตามมาตรการชั่วคราวที่ศาลสั่งทั้ง 4 ข้อ
ในทางปฏิบัติ ผู้ที่จะมีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลต่อศาลก็คือคณะผู้สังเกตการณ์จากอาเซียน แม้ผู้ที่มีหน้าที่รายงานคือไทยและกัมพูชา แต่ข้อมูลที่น่าเชื่อถือย่อมต้องอาศัยข้อมูลจากคณะผู้สังเกต การณ์จากอาเซียนประกอบด้วย
ข้อ (3) สั่งว่าศาลยังคงสามารถพิจารณาประเด็นใดๆ ที่มีสาระเกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ (remain seised of the matters) จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษากรณีที่กัมพูชาขอให้ศาลตีความคำพิพากษาคดีปราสาทพระวิหาร พ.ศ.2505
หลังศาลมีคำสั่งวันที่ 18 กรกฎาคม หากมีเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใหม่ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นมาตรการชั่วคราวที่ศาลสั่งไว้ ไทยหรือกัมพูชาย่อมสามารถนำเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงใหม่เหล่านั้นมาขอให้ศาลพิจารณา และศาลย่อมอาจเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขคำสั่งได้ (Rules of Court Article 76) เช่น หากไทยเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขัดขวางกัมพูชาในการเข้าถึงปราสาทพระวิหารอย่างอิสระ ไทยย่อมสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งเรื่องดังกล่าวได้
ด้านสิ่งปลูกสร้าง เช่น วัด ตลาด หรือ ชุมชนที่ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่พิพาทพื้นที่ 4.6 ตาราง กิโลเมตรนั้น ศาลมิได้มีคำสั่งโดยเจาะจง อีกทั้ง "เขตปลอดทหารชั่วคราว" นั้นศาลก็อธิบายว่าสามารถมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่ไม่ใช่ทหาร รวมถึงผู้คนหรือทรัพย์สินอยู่ในบริเวณดังกล่าวได้
อย่างไรก็ดี ต้องไม่ลืมว่าคำสั่งอีกข้อหนึ่งที่ศาลสั่งก็คือ สั่งให้ไทยและกัมพูชาร่วมมือกันตามกรอบของอาเซียน ไทยจึงย่อมสามารถเรียกร้องว่ากัมพูชาไม่ควรดื้อดึงเดินหน้าดำเนินกิจกรรมที่สร้างปัญหาต่อกระบวนการเจรจาดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ศาลสั่งว่าศาลยังคงสามารถพิจารณาประเด็นใดๆ ที่มีสาระเกี่ยวข้องกับมาตรการชั่วคราวต่อไปได้ (remain seised of the matters) ดังนั้นหากไทยเห็นว่ามีเหตุสมควรให้ศาลสั่งให้กัมพูชาหยุดการก่อสร้างชุมชนหรือสิ่งปลูกสร้าง ไทยย่อมสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาเปลี่ยนแปลงคำสั่งเรื่องดังกล่าวได้เช่นกัน (Rules of Court Article 76)
ทุกประเทศในโลกนี้อยู่ร่วมกันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงย่อมมีทั้งสิทธิ และหน้าที่ตามสนธิสัญญาที่ไทยเคยตกลงผูกพันไว้ ซึ่งกรณีนี้ได้แก่สนธิสัญญาที่เรียกว่า "กฎบัตรสหประชาชาติ" และ "ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ" ซึ่งกำหนดให้ไทยมีสิทธิต่างๆ เช่น สิทธิที่จะเรียกร้องให้ประเทศอื่นเคารพอธิปไตยและไม่แทรกแซงกิจการภายในของไทย แต่ในขณะเดียวกันสนธิสัญญาก็กำหนดให้ไทยมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของไทย ก็ได้กำหนดเจตจำนงให้ไทยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีที่ได้ทำไว้กับนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ (รัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ประกอบกับจารีตประเพณีการปกครองที่ไทยปฏิบัติมายาวนาน) ดังนั้น ไทยจึงย่อมมีหน้าที่ตามกฎหมายต้องปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลก
หากผู้ใดยังคิดว่าไทยไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ต้องฟังคำสั่งศาลโลก ขอให้ลองถามตัวเองว่า หากวันหนึ่งประเทศอื่นใดละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติและละเมิดสิทธิหรือรุกรานไทย และศาลโลกสั่งมาตรการชั่วคราวให้ประเทศที่กระทำต่อไทยต้องหยุดการกระทำ ดังกล่าว (แม้ประเทศนั้นจะยืนยันความบริสุทธิ์ของตนก็ตาม) เราจะบอกว่าประเทศที่กระทำต่อไทยนั้นไม่ต้องทำตามกฎบัตรสหประชาชาติ ไม่ต้อง ฟังคำสั่งศาลกระนั้นหรือ?
หากพิจารณา "ร่างแผนที่" เขตปลอดทหารชั่วคราวที่ศาลสั่งด้วยสายตา มองได้ว่าเขตดังกล่าวครอบคลุมบริเวณดินแดนของไทยและกัมพูชามากยิ่งไปกว่าบริเวณพื้นที่พิพาท
เขตปลอดทหารชั่วคราวดังกล่าว เป็นเพียงเรื่องมาตรการชั่วคราวที่มุ่งป้องกันการปะทะกันด้วยอาวุธ แต่ไทยและกัมพูชามีสิทธิขอให้ศาลแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้หากมีเหตุผลจำเป็น ที่สำคัญ พิกัด และ "ร่างแผนที่" มิได้มีผลทางกฎหมายต่อเขตแดนแต่อย่างใด ดังที่ศาลได้ย้ำอย่างชัดเจนในคำสั่งหลายครั้งว่าการพิจารณาออกคำสั่งครั้งนี้ ศาลย่อมไม่ก้าวเข้าไปวินิจฉัยประเด็นที่กัมพูชาอ้างว่าดินแดนส่วนใดเป็นของใคร หรือเขตแดนจะต้องเป็นไปตามเส้นหรือแผนที่ใด (ซึ่งอาจต้องรอการพิจารณาของศาลในปีหน้า)
ดังนั้น คำสั่งของศาลโลกเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม จึงมิได้เปลี่ยนแปลงเขตแดนไทย-กัมพูชาแต่อย่างใด
ที่มา : มติชนออนไลน์ : วันที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:15:43 น.
วันจันทร์, กรกฎาคม 18, 2554
กระบวนการ "ข่าว" พระวิหาร ถึง 737-400 กระบวนการ มิติเดียว
Anyakan ja - เรื่องนี้สอนให้รู้ว่ารัฐบาลไทยชอบหมกเม็ดปิดข่าว..เสนอข่าวแต่เรื่องที่ทำไห้ตัวเองดูดี ทั้ง ๆ ที่ การกระทำกลับตรงข้าม.. เคยชินกับมือที่มองไม่เห็นออกมาอุ้ม.. ทำอะไรก็ไม่เคยผิด..ซึ่งแตกต่างโดยสิ้นเชิงกัความจริงที่เกิดขึ้นในต่างประเทศที่ไม่มีมือที่มองไม่เห็นมาอุ้ม..
กระบวนการ "ข่าว" พระวิหาร ถึง 737-400 กระบวนการ มิติเดียว
จากกรณีถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก มาถึงกรณีการอายัดเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ณ สนามบินนานาชาติเมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี
ให้ "บทเรียน" อะไรบ้างเป็นบทเรียนทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ทั้งในเรื่องความสัมพันธ์กับองค์การระดับโลก
บทเรียน 1 คือ บทเรียนด้านการข่าว
ขณะเดียวกัน บทเรียน 1 คือ บทเรียนและกระบวนการในการนำเสนอ "ข่าว" และมุมมองต่อแต่ละประเด็น
ทั้งหมดนี้มิได้เป็นบทเรียนสำหรับ "รัฐบาล" เท่านั้น หากแต่น่าจะเป็นบทเรียนของคนไทยทั้งประเทศ
เพียงแต่หากรัฐบาลบริหารจัดการกับเรื่องราวเหล่านี้ไม่รอบคอบ รัดกุมอย่างเพียงพอ คนไทยในฐานะผู้บริโภคข่าวสาร ความเห็น ไปตามทิศทางที่รัฐกำหนด อาจผิดหวัง
ผิดหวังเหมือนกับที่เคยผิดหวังมาแล้วในกรณีอันเกี่ยวกับการถอนตัวจากภาคีอนุสัญญามรดกโลก ผิดหวังเหมือนกับที่กำลังผิดหวังว่าอะไรเกิดขึ้นกับเครื่องบินโบอิ้ง 737-400 ที่มิวนิก
นี่ย่อมเป็นเรื่องที่สมควร "สรุป" และเก็บรับมาเป็น "บทเรียน"
ต้องยอมรับว่าการอันเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร การอันเกี่ยวกับมรดกโลก การอันเกี่ยวกับยูเนสโกคนไทยเหมือนกับถูกหลอก ถูกหลอกว่าเราจะเป็นฝ่ายชนะ
หากฟังจากรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นจากนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เหมือนกับว่าเรากำลังได้เปรียบ เหมือนกับว่าแม้กระทั่งผู้อำนวยการยูเนสโกก็เข้าข้างเรา
แต่ความเป็นจริงที่คนไทยจำต้องยอมรับด้วยความไม่เข้าใจก็คือ ปัญหาได้ขยายจากเรื่องระหว่าง 2 ประเทศเป็นเรื่องระดับภูมิภาค เป็นเรื่องระดับสหประชาชาติ เป็นเรื่องระดับศาลโลกได้อย่างไร
และที่คิดว่านานาชาติเข้าใจไทยก็เริ่มไม่แน่เสียแล้ว
ไม่แน่เพราะว่าภายใน 21 ประเทศ ซึ่งนั่งอยู่ในคณะกรรมการมรดกโลก ปรากฏว่ามีเพียง 7 ประเทศเท่านั้นที่เข้าข้างไทย อีก 14 ประเทศเป็นฝ่ายเดียวกับกัมพูชา
ตราบกระทั่ง ณ วันนี้ รัฐบาลไทยยังไม่ยอมรับว่าได้ให้ข้อมูลที่แท้จริงกับคนไทยมากน้อยแค่ไหนในเรื่องอันเกี่ยวกับมรดกโลก ในเรื่องอันเกี่ยวกับการเข้ามาของอินโดนีเซีย
เช่นเดียวกับอาการนะจังงังในเรื่องการยึดเครื่องบินโบอิ้ง 737-400
หากฟังแต่จากปาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หากฟังแต่จากปาก นายกษิต ภิรมย์ คล้ายกับว่าสถานการณ์จะเป็นผลดีกับไทย เป็นผลดีมากกว่าอาการล่วงล้ำก้ำเกินของวอลเตอร์ บาว
แต่หากศึกษาแถลงการณ์ที่ออกโดยสถานเอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานครอย่างละเอียด นี่มิได้เป็นเรื่องอันเพิ่งเกิดขึ้น
ตรงกันข้าม แถลงการณ์บอกว่า "รัฐบาลเยอรมนีได้เรียกร้องมาแล้วหลายครั้งเช่นกันให้รัฐบาลไทยดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นมิตรด้วยการชำระค่าชดเชยอย่างสมเหตุสมผลให้กับบริษัท"
นี่ย่อมสอดรับกับคำแถลงของโฆษกกระทรวงต่างประเทศเยอรมนีที่ว่า
"สถานทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานครเคยติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของไทยเกี่ยวกับคดีนี้"
และแถลงจาก นายแวร์เนอร์ ชไนเดอร์ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ของวอลเตอร์ บาว
"หน่วยงานของรัฐบาลเยอรมนียื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้องแล้วแต่ยังไร้ผล รัฐบาลไทยถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ และไม่เคยตอบสนอง"
สะท้อนว่าเรื่องนี้มิได้เป็นเรื่องใหม่ หากแต่เป็นเรื่องที่รู้ๆ กันอยู่ เพียงแต่มิได้สำเหนียกเท่านั้น
กระนั้น ที่สำคัญเป็นอย่างมากคือ กระบวนการและวิธีวิทยาในการนำเสนอข่าวของรัฐบาลไทย
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอันเกี่ยวกับการแพ้คดีต่อวอลเตอร์ บาว ล้วนดำเนินไปอย่างด้านเดียว ล้วนดำเนินไปอย่างไม่ครบถ้วน รอบด้าน
เท่ากับหลอกประชาชน เท่ากับนำพาประชาชนให้เข้าใจเพียงด้านเดียว ขาดมิติที่สมบูรณ์
ที่มา: มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 18 ก.ค.54
ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ประเด็นการรับรองส ส ของกกต เขาพระวิหาร 19 7 54
ยิ่งลักษณ์ให้สัมภาษณ์ประเด็นการรับรองส ส ของกกต เขาพระวิหาร 19 7 54
Uploaded by PheuthaiParty on Jul 18, 2011
วันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 14, 2554
วันจันทร์, กรกฎาคม 11, 2554
วันเสาร์, กรกฎาคม 09, 2554
กองทัพพร้อมเดินหน้ากับรบ.ใหม่
กองทัพพร้อมเดินหน้ากับรบ.ใหม่
เมื่อวันที่ 8 ก.ค.ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นประธานประชุมผู้บังคับหน่วยขึ้นตรงกองทัพบก(ผบ.นขต.ทบ.) ระดับชั้นยศนายพลขึ้นไป โดยมีพล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยประดับ รองผบ.ทบ. พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ผู้ช่วยผบ.ทบ. พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. พล.ท.อุดมเดช สีตบุตร แม่ทัพภาคที่ 1 พล.ท.ธวัชชัย สมุทรสาคร แม่ทัพภาคที่ 2 พล.ท.วรรณทิพย์ ว่องไว แม่ทัพภาคที่ 3 พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพ ภาคที่ 4 พล.ท.โปฎก บุนนาค ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ พล.ท.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ผบ.หน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ และผู้บังคับหน่วยระดับนายพลเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกทบ. แถลงภายหลังประชุมว่า ที่ผ่านมากองทัพบกได้ดูแลความสงบเรียบร้อยและภารกิจอื่นๆ ตามที่รัฐบาลมอบหมายในช่วงที่มีสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลาย กองทัพบกจะทุ่มเทปฏิบัติงานด้านความมั่นคงที่สำคัญคือการปกป้องพิทักษ์พระมหากษัตริย์อย่างเต็มที่ ผบ.ทบ.ยืนยันจะนำพากองทัพไปในสิ่งที่ดีที่สุด ขอให้กำลังพลตั้งใจทำงานตามหน้าที่เพื่อประเทศชาติ ดำรงไว้ซึ่งจุดยืนของกองทัพบก ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามถึงจุดยืนของกองทัพต่อรัฐบาลใหม่ รองโฆษกทบ. กล่าวว่า กองทัพบกทำงานตามกลไกของรัฐธรรมนูญ ฝ่ายบริหารทำหน้าที่บริหาร กองทัพบกพร้อมสนับสนุนการทำงานตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เมื่อถามถึงการทำงานของกองทัพบกกับรัฐบาลใหม่ รองโฆษกทบ. กล่าวว่า รัฐบาลมาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่เฉพาะกองทัพบกเท่านั้น ทุกองค์กรต้องยอมรับ พร้อมทำงานให้ประเทศเดินไปข้างหน้า
ที่มา : ข่าวสดรายวัน หน้า 10 : วันที่ 09 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7527
วันศุกร์, กรกฎาคม 08, 2554
ใบตองแห้งออนไลน์: รัฐบาลนี้มาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง (หรือเปล่า)
ใบตองแห้งออนไลน์: รัฐบาลนี้มาจากชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดง
Fri, 2011-07-08 17:33
บทความโดย : ใบตองแห้ง
เปล่า ไม่ใช่จะสนับสนุน ขวัญชัย ไพรพนา ที่เรียกร้องว่าแกนนำเสื้อแดงต้องได้รัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง เพราะการมอบเก้าอี้รัฐมนตรีให้แกนนำเสื้อแดง ไม่ใช่การตอบแทนบุญคุณมวลชนเสื้อแดงที่พลีชีวิตเลือดเนื้อ จนพรรคเพื่อไทยมีวันนี้
แต่ขวัญชัย ไพรพนา พูดถูกที่ว่า ชัยชนะครั้งนี้เป็นชัยชนะของประชาชนคนรากหญ้า ที่ให้บทเรียนแก่รัฐบาล 2 มาตรฐาน เป็นชัยชนะของคนเสื้อแดงที่พลีชีวิตต่อสู้ให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย
กระนั้น ชัยชนะนี้ก็ยังเป็นเพียงก้าวหนึ่งเท่านั้น เจตนารมณ์ของคนเสื้อแดงผู้พลีชีพยังไม่บรรลุง่ายๆ
ผมไม่ปฏิเสธว่าชัยชนะของพรรคเพื่อไทย ส่วนหนึ่งมาจากความเชี่ยวชาญ “การตลาด” และการวางยุทธศาสตร์ที่เหนือชั้น
และแน่นอน อีกส่วนหนึ่งมาจากระบบหาเสียงแบบเก่า คะแนนจัดตั้ง ตลอดจนกระสุนดินดำ ผมไม่ได้ไร้เดียงสานี่ครับ เพียงแต่ที่สดับตรับฟังมา มันใช้กันทุกพรรค แต่พรรคเพื่อไทยใช้น้อยกว่าและใช้เข้าเป้ากว่าทุกพรรค เพราะมีฐานมวลชนของตนเอง นั่นคือคนเสื้อแดง เห็นชัดเลยว่าที่ไหนมวลชนเสื้อแดงเข้มแข็ง ที่นั่นยกจังหวัด หรือแทบจะยกจังหวัด
มีแต่พวกสลิ่มที่ไม่ยอมรับ เดินผ่านร้านลาบยโสพาลโกรธ หาว่าคนอีสานโง่แล้วยังยโสโอหัง โถ ก็สมควรโกรธอยู่หรอก ที่ยโสชนะยกจังหวัด ถีบ ส.ส.ปชป.ร่วงอีกต่างหาก (ร้านลาบ 101 ก็โดนหมั่นไส้ เพราะเลขสวย เท่าจำนวน ส.ส.เพื่อไทยในภาคอีสานพอดี)
มวลชนเสื้อแดงเลือกพรรคเพื่อไทย โดยไม่ได้สนใจด้วยว่า นาย ก.หรือนาย ข.เป็นผู้สมัคร บางเขต ผู้สมัครเป็นที่รักของมวลชน เป็นคนที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่มาตลอด แต่หลายๆ เขต ผู้สมัครเป็นที่หมั่นไส้ของมวลชน เหินห่างมวลชน เป็นเพียงตัวแทนกลุ่มก๊วนการเมือง กระนั้นพวกเขาก็ยังเลือก
อย่างไรก็ดี คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของมวลชนเสื้อแดง ไม่ใช่แค่การเป็นฐานเสียง เป็นคะแนนเสียง ที่มั่นคงเหนียวแน่นเท่านั้น คุณูปการอันยิ่งใหญ่ของมวลชนเสื้อแดง ที่นักการเมืองอาจมองข้ามไป ก็คือการสร้าง “ความชอบธรรม” ให้กับพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลชุดนี้
ถ้าเรามองย้อนกลับไป เมื่อปี 2549 ที่ทักษิณถูกรัฐประหาร แม้ถูกโค่นล้มด้วยวิธีการอันไม่เป็นประชาธิปไตย ที่สากลโลกไม่ยอมรับ แต่นานาชาติก็ยังมองทักษิณเป็น Telecoms Tycoon ผู้ร่ำรวยจากสัมปทานรัฐและมีผลประโยชน์ทับซ้อน ซึ่งสำหรับฝรั่ง ทั้งอเมริกา ยุโรป พวกสื่อ นักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน เขาไม่ชื่นชอบผู้นำแบบทักษิณ และต่อต้านด้วยซ้ำ
แต่หลังเหตุการณ์พฤษภาอำมหิต 2553 ทัศนะของสื่อฝรั่งกระแสหลัก นักสิทธิมนุษยชน ตลอดจนท่าทีของอารยะประเทศเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่พวกสลิ่มมองว่าเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง แต่สื่อต่างชาติมองว่านี่คือการปราบปรามประชาชน ผู้เรียกร้องต้องการประชาธิปไตยที่แท้จริง ประชาธิปไตยอย่างอารยะประเทศ ประชาธิปไตยตะวันตก ที่ปราศจากการแทรกแซงของมือที่มองไม่เห็น
เช่นเดียวกับทัศนะของคนชั้นกลาง คนทั่วไป “พลังเงียบ” จำนวนไม่น้อยที่เปลี่ยนไป... ผมเชื่อว่าเปลี่ยนไป แม้จะถูกกลบด้วยบทบาทของพวกสลิ่ม หรือแม้แต่พวกสลิ่มส่วนหนึ่งก็จำใจยอมรับ ว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่ม็อบรับจ้าง คนเหนือคนอีสานไม่ได้ถูกซื้อ อย่างที่พวกเขาเคยปรามาส
ทัศนะที่เปลี่ยนไปนี้แลกมาด้วยการต่อสู้อย่างไม่ยอมแพ้ ยอมอุทิศแม้ชีวิตเลือดเนื้อ ของมวลชนเสื้อแดง คนจนคนชั้นล่าง ผู้ลุกตื่นขึ้นมาปกป้องสิทธิ “ประชาธิปไตยกินได้” นับตั้งแต่บรรพชนเสื้อแดงอย่างลุงนวมทอง ไพรวัลย์ มาจนถึงน้องเกด มวลชนต่อสู้ครั้งแล้วครั้งเล่า แพ้แล้วแพ้เล่า แต่พวกเขาไม่ยอมแพ้
ภาพของคนเสื้อแดงที่กล้ายืนประจัญหน้ากับทหารอาวุธครบมือ ถาโถมเข้าหา “กระสุนยาง” และแก๊สน้ำตา แม้ถูกปราบปรามจนพ่ายแพ้ย่อยยับเมื่อสงกรานต์ปี 2552 แต่ก็ยังกลับมาใหม่ในปี 2553 ภาพของ “ทัพไพร่” ยาตราเข้ากรุง ได้รับการต้อนรับจากคนจนเมือง “ชนชั้นต่ำ” ของสังคมกรุงเทพฯ ผนึกพลังชาวนา แท็กซี่ สามล้อ แมงกะไซค์ คนงาน ช่างฟิต ช่างไฟ แม่บ้าน ยาม คนจรจัด ฯลฯ ยึดสี่แยกราชประสงค์ ศูนย์กลางธุรกิจของเมืองฟ้าเมืองอมร แหล่งสินค้าแบรนด์เนม ที่คนอย่างพวกเขาทำมาหากินชั่วชีวิตยังไม่มีวันซื้อหาได้แม้สักชิ้นเดียว
ภาพของมวลชนที่จัดแถวเป็นระเบียบปิดล้อมปลดอาวุธทหารด้วยสองมือเปล่าที่สถานีไทยคม ภาพของมวลชนที่ฮือต้านการ “ขอคืนพื้นที่” แม้ถูกยิงร่วงผลอยๆ ที่ผ่านฟ้า เมื่อวันที่ 10 เมษายน ก็ยังรุกไล่จน “ทหารเสือ” แตกกระเจิง ภาพของมวลชนที่ถูก “กระชับพื้นที่” ด้วย “เขตใช้กระสุนจริง” ก็ยังใช้บั้งไฟสู้สไนเปอร์ ยืนหยัดอยู่จนวินาทีสุดท้าย ไม่กลัวตาย พร้อมที่จะตาย และยอมพลีชีพไป 70 กว่าคน บาดเจ็บอีกร่วม 2,000 คน
ภาพเหล่านี้ที่ออกสู่สายตาชาวโลก ทำให้นานาชาติและคนไทยที่มีใจเป็นธรรมตระหนักว่า นี่ไม่ใช่เรื่องของ Telecoms Tycoon เพียงผู้เดียว แต่มันคือการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพื่อประชาธิปไตย เพื่อความเสมอภาค ซึ่งเป็นผลมาจากความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่อำนาจและโอกาสถูกผูกขาดอยู่ในมือคนหยิบมือเดียว
สื่อระดับโลกอย่างนิวยอร์คไทม์ จึงระบุว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นตัวแทนของกลุ่มอำนาจเก่า รอแยลลิสต์ กลุ่มทุนเก่า และนายทหารระดับสูง เหล่าผู้อยู่ส่วนบนสุดของสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรง (ในทางสากล โดนระบุอย่างนี้เท่ากับจบเห่)
สื่อฝรั่งส่วนใหญ่ยังคาดการณ์ด้วยว่านี่คือสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมไทย ที่กำลังจะมาถึง
ฉะนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจ ที่เลขา UN กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ และทูตานุทูตประเทศต่างๆ ออกมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายยอมรับการเลือกตั้ง ปรามกองทัพไม่ให้ทำรัฐประหารอีก เช่นเดียวกับคนไทยส่วนใหญ่ ที่ต้องการให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งได้เข้ามาทำงาน เข้ามาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ต้องการให้หาเหตุโค่นล้มกันด้วยรัฐประหารตุลาการภิวัตน์อีก
แม้แต่อองซานซูจี ยังแสดงความยินดีกับยิ่งลักษณ์ แสดงความยินดีกับประชาธิปไตยไทย เป็นสิ่งที่อภิสิทธิ์ไม่เคยได้รับ (ทั้งที่ทักษิณเคยซูเอี๋ยกับเผด็จการทหารพม่ามาก่อน)
สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐบาลสมัคร กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ แม้ชนะการเลือกตั้งมาเหมือนกัน ในทางหลักการมีความชอบธรรมไม่ต่างกัน ก็คือชัยชนะของรัฐบาลยิ่งลักษณ์แลกมาด้วยการลุกขึ้นสู้อย่างเด็ดเดี่ยวกล้าหาญของมวลชน ที่ถั่งถมลงศพแล้วศพเล่า ปูร่าง เลือด หยาดเหงื่อ น้ำตา ความสูญเสีย ผนึกเป็นความชอบธรรมที่มีชีวิตเลือดเนื้อ มีจิตวิญญาณ
นี่จึงไม่ใช่ประชาธิปไตย 3 วินาที อย่างที่คนชั้นกลางปรามาส เพราะมันผลของการต่อสู้เสียสละมายาวนาน 4 ปี
นักการเมืองพรรคเพื่อไทยจึงควรตระหนักว่า ชีวิตเลือดเนื้อของมวลชนเสื้อแดงคือ “โควตา” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด เหนือโควตาของกลุ่มก๊วนใดใด นอกเหนือจากชัยชนะที่ได้มาด้วยฐานมวลชนเสื้อแดง ความเสียสละของมวลชนยังสร้างความชอบธรรมในอำนาจ ที่คุณซื้อหาไม่ได้ สร้างเองไม่ได้ และเป็นโอกาสอันยิ่งใหญ่ที่ไม่มีวันหวนกลับมาอีก
มวลชนไม่ได้เสียสละเพื่อให้คุณมากัดกันแย่งเก้าอี้รัฐมนตรี เพื่อมีผู้ติดตามเป็นโขยง โชว์หน้าตาอัปลักษณ์โฆษณาผลงานในสื่อ ในป้ายคัทเอาท์ และหาผลประโยชน์เข้ากระเป๋าตัวเอง มวลชนเสียสละเพื่อให้คุณเข้ามาทำงาน ทำเพื่อปากท้องของพี่น้องคนยากไร้ ให้พวกเขามีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และที่สำคัญเหนืออื่นใด มวลชนต้องการให้คุณมีอำนาจแทนพวกเขา เพื่อทวงความยุติธรรม เพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง สร้างความเสมอภาค เสรีภาพ และ “โค่นอำมาตย์” ไม่ให้มี “มือที่มองไม่เห็น” มาแทรกแซงการเมืองอีกต่อไป
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจึงสามารถถูกโค่นล้ม ด้วยรัฐประหาร ด้วยตุลาการภิวัตน์ ด้วยวิธีการบ่อนทำลายต่างๆ นานาของพวกสลิ่มและพรรคประชาธิปัตย์ เพราะล้มแล้วยังสามารถสู้ใหม่ด้วยพลังมวลชนที่เนื่องหนุน แต่รัฐบาลเพื่อไทยไม่สามารถพังเพราะการแก่งแย่งผลประโยชน์ ช่วงชิงตำแหน่ง กัดกันเอง ประจบสอพลอ ทอดทิ้งภารกิจการต่อสู้เพื่อมวลชน
เพราะถ้าล้มแบบนั้น ถ้าทำให้มวลชนผิดหวัง เสื่อมศรัทธา คุณจะไม่มีวันได้กลับมาอีก และคุณจะไม่มีค่าอะไรเลย เหลือแต่ความเป็นนักการเมืองกเฬวราก เหมือนกับนักการเมืองที่ออกไปจากพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชน
โดยเฉพาะทักษิณ ทักษิณควรตระหนักว่า คนที่รักและซื่อสัตย์ต่อคุณอย่างจริงใจ นอกจากลูกเมีย พี่น้อง ก็มีแต่มวลชนเท่านั้น ที่จะพาคุณกลับบ้านได้ นักการเมืองสมุนบริวารที่อยู่รอบข้าง ต้องรู้จักแยกแยะ รู้จักใช้คน ถ้าคุณสานต่อเจตนารมณ์ของมวลชน วันหนึ่งคุณจะกลับมาอย่างรัฐบุรุษ แต่ถ้าคิดแต่จะฮั้ว ซื้อ จ่าย แจก ประนีประนอมเอาตัวรอด คุณก็จะถูกหลอกอีกตามเคย
ยุทธศาสตร์ 2 ขา
รัฐบาลพรรคเพื่อไทยแบกรับความหวังของประชาชน 2 ประการสำคัญคือ หนึ่ง การทำให้บ้านเมืองสงบ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง ซึ่งเป็นความหวังของประชาชนทั่วไป และสอง ปฏิรูปการเมือง ทวงความยุติธรรม ทวงประชาธิปไตย พูดในทางรูปธรรมคือแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปศาล ปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นความหวังของมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย
โดยอุปสรรคสำคัญคือ การก่อกวนบ่อนทำลายของพวกสลิ่มและแมลงสาบ สื่อและนักอวิชา ซึ่งมีเป้าหมายจะปลุกกระแสมวลชนออกมายึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ย้อนอดีตพันธมิตร
อย่างไรก็ดี ด้วยกระแสโลก และกระแสหลักของสังคมไทยที่ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาทำงาน กระตุ้นเศรษฐกิจ กองทัพจะยังไม่กล้ากระดิกเข้ามาแทรกแซงการเมือง หรือทำรัฐประหาร ในระยะอันใกล้นี้ เว้นแต่พวกสลิ่ม-แมลงสาบ จะ remake สถานการณ์ได้ถึงขั้นสร้างความปั่น่วุ่นวาย ฉะนั้น ในระยะอย่างน้อย 1 ปี กองทัพจะต้อง “ลงใต้ดิน” ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ ทำได้อย่างมากก็แค่ตั้งการ๋ดปกป้องตัวเอง
(บันทึกการดักฟังโทรศัพท์)
“อะโหลๆ ขอเรียนสายคุณปูครับ คุณปูหรือครับ ผมตู่ครับ”
“อ้าว คุณตู่ ได้ประกันตัวออกมาเมื่อไหร่คะ ดิฉันไม่ยักรู้ เอ๊ะ ทำไมเสียงเปลี่ยนไป”
“ไม่ใช่ตู่นั้นครับ ไม่ใช่ตู่ ล้มเจ้า ผมตู่ โหนเจ้า แถวบ้านเรียกบิ๊กตู่”
(เงียบไปพักหนึ่ง) “เอ้อ คุณตู่มีอะไรหรือคะ”
“เอ้อ ก็เรื่องที่คุณปูเคยอยากมาพบผม แต่ตอนนั้นผมเห็นว่าช่วงเวลามันไม่เหมาะสม ถึงตอนนี้คงจะเหมาะสมแล้ว ให้ผมไปพบคุณปูก็ได้นะครับ ที่ไหนเมื่อไหร่ก็ได้ครับ”
(เงียบไปชั่วครู่) “เอ้อ คุณตู่คะ ดิฉันว่าช่วงเวลานี้ก็ไม่เหมาะสม ดิฉันยังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเลย”
“ครับ ครับ ไม่เป็นไรครับ แต่ผมจะบอกว่าคุณปูรับตำแหน่งเมื่อไหร่ หวังว่าคงยินดีให้ผมเข้าพบ”
“เอ้อ คุณตู่คะ สงสัยจะคิวยาวนะคะ หลังรับตำแหน่ง CEO ดิฉันต้องพบผู้จัดการฝ่ายการตลาด ผู้จัดการฝ่ายผลิต ผู้จัดการฝ่ายบัญชี ผู้จัดการฝ่ายบุคคล ต้องกระตุ้นให้บริษัทเรามียอดขายมีกำไรสูงขึ้น คงอีกนานละค่ะกว่าจะได้พบหัวหน้าฝ่าย รปภ.อย่างคุณ เผลอๆ บอร์ดจะสั่งเปลี่ยนหัวหน้า รปภ.ก่อน”
“อ้อ แล้ว-ทานโทษนะคะ คราวหน้าคราวหลัง คุณตู่อย่าโทรมาเบอร์นี้อีก คุณตู่ต้องติดต่อเลขาหน้าห้องก่อนนะคะ”
อ้าว หลงฟังตั้งนาน นึกว่าเรื่องการบ้านการเมือง ที่แท้เรื่องในบริษัท กลับมาเข้าเรื่องของเราดีกว่า
เมื่อทหารทำอะไรไม่ได้ พวกอำมาตย์และสมุนแมลงสาบ ก็เหลือแต่วิถีทางใช้สื่อ ใช้นักอวิชา และใช้อำนาจตุลาการภิวัตน์เข้ามาเตะตัดขา ดังที่เริ่มเห็นเค้าลางกันอยู่ แต่อำนาจตุลาการภิวัตน์ก็ใช้ได้อย่างจำกัด ภายใต้กระแสหลักที่ต้องการเห็นความสงบหลังเลือกตั้ง พวกเขาไม่สามารถใช้อำนาจยุบพรรค ตัดสิทธิ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนทางการเมืองอีก แม้แต่การใช้อำนาจให้ใบเหลืองใบแดง ก็ยังต้องทำอย่างระมัดระวัง
นี่คือโอกาส ซึ่งรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะต้องรีบทำงานสนองความต้องการของประชาชน เพียงแต่ ภายใต้กระแสหลักที่ต้องการให้รัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจ ภารกิจ 2 ด้านของรัฐบาลจึงขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง นั่นคือ สมมติรัฐบาลจะเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เร่งแก้ไขรัฐธรรมนูญ สังคมก็เกรงว่าจะจุดชนวนให้มีพวกโพกผ้าเหลืองออกมาต่อต้านอีก การวางจังหวะก้าว กำหนดขั้นตอนทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สำคัญและน่าวิตกด้วย เพราะดูเหมือนพรรคเพื่อไทยจะไม่มีทีมงานยุทธศาสตร์ เหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย การกำหนดขั้นตอนทางยุทธศาสตร์จะมาจากดูไบโน้น
ยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนจะเหมาะสมคือ รัฐบาลต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจก่อน ซึ่งเท่าที่ดู พรรคเพื่อไทยก็กำลังจะเดินแนวทางนี้ เหมือนยุทธศาสตร์หาเสียง ที่หันไปชูปากท้องเป็นประเด็นสำคัญ “ไม่คิดแก้แค้นแต่คิดแก้ไข” และเมื่อถูกพรรคประชาธิปัตย์สร้างกระแสบีบคั้น ก็ต้องยืนยันว่าจะไม่นิรโทษกรรมทักษิณคนเดียว และจะไม่รีบทำตอนนี้
ถ้าเดินแนวทางนี้ สมมติผ่านไป 6 เดือนถึง 1 ปี รัฐบาลสามารถทำให้เศรษฐกิจบูม พวกที่คอยเตะตัดขาก็จะกลายเป็นหมาหัวเน่า คนเขาจะทำงานยังระรานรังควาน แมลงสาบจะถูกโดดเดี่ยว พวกคนชั้นกลางน้ำมันมะกอกจะตีอกชกหัว รัฐบาลจะมีอำนาจมั่นคงจากคะแนนนิยมล้นหลาม แล้วค่อยเข้าสู่ขั้นตอนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยผ่านการลงประชามติ และการแก้ไขรื้อล้างกลไกต่างๆ
แต่การเดินตามยุทธศาสตร์นี้ ก็มีปัญหาสำคัญ 2 ด้าน ด้านแรกคือ ภาพลักษณ์ของรัฐบาล ที่จะต้องประกอบด้วยตัวบุคคลที่เหมาะสม วางตัวบุคคลที่เหมาะกับงาน มีตัวแทนกลุ่มก๊วนบ้าง แต่ไม่มากนัก และต้องควบคุมพฤติกรรมให้แข็งขัน อย่าสร้างเรื่องฉาวโฉ่ อย่าลืมว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์มีเรื่องปลากระป๋องเน่า สื่อยังให้อภัย แต่ถ้าเป็นพรรคเพื่อไทย สื่อรุมเอาถึงตาย
แน่นอน การแก่งแย่งตำแหน่งก็เป็นผลเสียต่อภาพลักษณ์ตั้งแต่แรก ไม่รู้แม่-จะแย่งอะไรกันนักหนา กระทั่งตำแหน่งประธาน นปช.ทีตอนที่เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย ท้าทายอำนาจรัฐ ไม่ยักมีใครอยากเป็น ชนะขึ้นมาแล้วอยากเป็น
เรื่องเศร้าคือพวกโง่ๆ เหล่านี้ไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังทำลายชัยชนะของมวลชนตั้งแต่เริ่มต้น พวกนี้คิดจะใช้นักข่าวเป็นเครื่องมือ หารู้ไม่ว่านักข่าวกำลังใข้พวกคุณทำลายพวกคุณด้วยกันเอง
“ด้านกลับของชัยชนะ” ก็มีพิษภัยอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อคุณกุมอำนาจชี้ขาดผลประโยชน์ ก็จะมีแต่คนแห่แหน ถ้า “นายใหญ่” หูเบา ไม่แยกแยะว่าใครจริงใจ ใครทำงาน ใครประจบสอพลอ คนที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกันก็จะหมดกำลังใจ ไม่ต้องดูอื่นไกล ถ้าพูดกันตามความจริง เนวินคือคนที่ยืนซดยืนสู้อย่างเด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่รัฐประหาร เนวินคือหัวเรี่ยวหัวแรงที่ทำให้พรรคพลังประชาชนชนะ แต่พอชนะ พวกที่รู้หลบเป็นหลีกก็โผล่ขึ้นมาประจบสอพลอ ได้ดิบได้ดีกันเพียบ
นี่ผมจะคอยดูการคัดเลือกประธานสภา ว่าระหว่างคนที่สร้างภาพ เอาแต่บินไปดูไบบ่อยๆ กับคนที่ทำงาน พิสูจน์ตัวเองแล้วว่าทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลาง และต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับมวลชน “นายใหญ่” จะเลือกใคร
ถ้าข้อแรกคือจุดอ่อนของพรรคเพื่อไทย และบุคลากรกเฬวรากของพรรคเอง ข้อสองก็คือ การระรานตีรวนของฝ่ายตรงข้าม ที่จะมาในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่เกมต่ำๆ แบบร้องเรียนยิ่งลักษณ์ผัดหมี่โคราชแจกชาวบ้านระหว่างหาเสียง (ปล่อยให้มันร้องไป ประชาชนเขาส่ายหน้า) ไปจนการแปลงร่างของพวกนักอวิชาพันธมิตร ที่หนีหายไปชั่วครู่ คิดว่าชาวบ้านลืมกำพืด กลับมาสวมบทกูรูเศรษฐกิจ วิพากษ์วิจารณ์นโยบายรัฐบาล
วันก่อน ผมฟังรายการเล่าข่าวทางวิทยุ ยังมีพวกสลิ่มสมอ้างเป็นนักลงทุนต่างชาติ ส่ง SMS มาเป็นภาษาอังกฤษว่าถ้าขึ้นค่าแรง 300 จะย้ายไปลงทุนที่เวียดนาม สลิ่มชัดๆ ฝรั่งที่ไหนจะมาฟังรายการเล่าข่าว
อันที่จริง นโยบายประชานิยมของรัฐบาล ก็มีหลายข้อที่ผมไม่เห็นด้วย ไว้วันหลังค่อยๆ พูดกัน แต่ไอ้พวกที่ดาหน้าออกมาวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนใหญ่มี Agenda โดยไม่ต้อง hidden กันทั้งนั้น ประเด็นก็คือรัฐบาลจะรับมืออย่างไรกับพวกนักอวิชาและสื่อกระแสหลัก จะรับมือไหวไหม
วิธีการรับมือของรัฐบาล ที่ดีที่สุด คืออย่าปล่อยให้ฝายตัวเองมีจุดอ่อน มีมลทินมัวหมอง แสดงให้เห็นว่าตั้งหน้าตั้งตาทำงาน และถ้าทำให้เศรษฐกิจเฟื่องฟู ก็จะปิดปากพวกวิพากษ์วิจารณ์เอง (เหมือนทักษิณสมัยแรก) เพราะเวลาเศรษฐกิจเฟื่องฟู ผู้ที่ได้อานิสงส์ก่อนเพื่อนไม่ใช่ใครหรอก ก็คนชั้นกลางนี่แหละ
ส่วนการรับมือกับสื่อ วิธีการที่ดีที่สุด ก็คือต้องวางตัวเป็นผู้ใหญ่ อดทน อดกลั้น ใช้การชี้แจงแต่ไม่ตอบโต้ระราน ไม่จำเป็นต้องมีโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค อย่างเทพไท ไม่จำเป็นต้องให้ “เสด็จพี่” แสดงฝีปากอย่างหมอท็อป คนแพ้กับคนชนะ ต้องวางตัวคนละอย่าง ปชป.เป็นรัฐบาล 2 ปีกว่า จิตใต้สำนึกพวกเขายังมีปมด้อยว่าตัวเองเป็นผู้แพ้ จึงทำตัวเป็นเด็ก
การรับมือกับสื่อกระแสหลัก จะต้องใช้วิธีการเปิดเสรีภาพสื่อ คืนเสรีภาพ สนับสนุนเสรีภาพสื่อทางอินเตอร์เน็ต วิทยุชุมชน ทีวีดาวเทียม ASTV เปิดได้เปิดไป ปชป.จะเปิดทีวีดาวเทียมมั่ง ก็ให้เขาทำไป แต่ก็ยังมีเอเชียอัพเดท มี Voice มีสปริงนิวส์ ที่หลากหลาย และที่สำคัญยังมีวิทยุชุมชน ที่ส่วนใหญ่เป็นของคนเสื้อแดง
ฉะนั้นรัฐบาลจะต้องแก้ไข พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แก้ไขหรือยกเลิก พ.ร.บ.ความมั่นคง สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง กสทช.โดยเร็ว เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่กันใหม่ เอาคลื่นวิทยุทหารมาเกลี่ยใหม่ เขาอาจจะจัดให้ NGO ให้ใครก็แล้วแต่ มันก็ยังดีกว่าผูกขาดอยู่ในมือทหาร
รัฐบาลไม่จำเป็นต้องแทรกแซงเสรีภาพสื่อ ปล่อยให้เป็น “นิวส์ออฟเดอะเวิลด์” ไป เข้าข่ายล่วงละเมิดทางกฎหมายก็ฟ้อง ส่วนวิธีการจัดการทางอ้อมคงไม่ต้องสอนหนังสือสังฆราช ฮิฮิ แต่ถ้าจะตัดโฆษณารัฐ ก็ทำให้เนียนหน่อย เช่น แฉว่ารัฐบาล ปชป.ใช้งบโฆษณาเป็นพันๆ ล้าน ประกาศลดงบโฆษณาเพื่อเอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ที่ประชาชนได้มรรคผลมากกว่า แล้วก็ยกเลิกเสีย ไอ้ป้ายโฆษณาที่มีแต่โชว์หน้ารัฐมนตรี
ส่วนตัวผมสันนิษฐานว่าถ้ารัฐบาลใช้วิธีการจัดการทางอ้อม สื่อที่จะหลบหัวลมก่อนก็คงเป็นเดลินิวส์กับค่ายโพสต์ เพราะเจ้าของมีธุรกิจอื่นสำคัญกว่า
ปฏิรูปการเมือง
ถ้ามองปัญหาสองด้านที่กล่าวมา ก็น่าวิตกไม่น้อย (โดยเฉพาะด้านพรรคเพื่อไทยเอง ซึ่งควบคุมกมลสันดานนักการเมืองได้ลำบาก) ชวนให้คิดว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วค่อยรุกทางการเมืองดีหรือไม่
เอ้า ยกตัวอย่างรูปธรรม หลังตั้งรัฐบาลแล้ว เด้ง “บิ๊กตู่” ทันทีทันใดดีหรือไม่ ยังไงทหารก็ไม่กล้ารัฐประหาร แต่ก็จะกระทบกระแสที่ต้องการให้รัฐบาลทำงานมากกว่าล้างแค้นทางการเมือง
แต่ถ้าไม่เด้ง ปล่อยเสืออยู่ในป่า รัฐบาลยังไม่ทำอะไรเลย ไม่ริเริ่มปฏิรูปกองทัพ ปีหนึ่งผ่านไป โดนถล่มหนัก หัวหน้า รปภ.เอ๊ย-กองทัพกลับมามีฤทธิ์เดช กลับมาหือ ผนึกกำลังกันโค่นรัฐบาล เท่ากับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่เลือกรัฐบาลนี้เข้าไปสูญเปล่า
ตัดสินใจยากนะครับ การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เหมือนกัน ถ้าคุณรีบทำ สังคมก็จะว่าอย่าเพิ่งขัดแย้งกันเลย แก้ปัญหาปากท้องก่อน ถ้าคุณไม่รีบทำ เดี๋ยวกระแสตก ถูกรุมกระหน่ำ ก็จะทำอะไรไม่ได้เลย
การจับอารมณ์สังคมแล้ววางจังหวะก้าวที่เหมาะสมจึงสำคัญ
แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ ผมกลัวทักษิณและแกนนำพรรคเพื่อไทยได้อำนาจแล้วจะไม่สนใจการปฏิรูปประชาธิปไตย สมมติเช่น กองทัพ ทักษิณอาจจะใช้วิธีเดิมๆ ใช้ผลประโยชน์ซื้อใจกองทัพ (มีข่าวสะพัดว่าจะเอาใจกองทัพเรือ ซื้อเรือดำน้ำให้ เพราะ ทร.ไม่พอใจรัฐบาล ปชป.ไม่ซื้อให้) ทักษิณอาจจะไม่เด้ง “บิ๊กตู่” แต่ตั้งคนของตัวแซม แล้วก็ให้งบให้สวัสดิการทหารเต็มที่ แทนที่จะตัดงบ
ทักษิณอาจจะไม่ปฏิรูปอะไรเลย ถ้าตัวเองเข้ามาครอบครองปรปักษ์ได้ โหนได้ กลับบ้านได้ แบบสมมติ-จู่ๆ ทักษิณบินกลับมา เดินเข้าคุก แล้วขอพระราชทานอภัยโทษ ยอมเข้าไปนอนในคุกซักพัก ในขณะที่น้องสาวเป็นนายกฯ เรียกความเห็นใจจากคนไทยได้อีกต่างหาก
เราต้องเข้าใจด้วยว่าแกนนำพรรคเพื่อไทยจริงๆ คือนักธุรกิจ พวกนี้สนใจแต่การกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อที่ตัวเองจะร่ำรวยไปด้วย พวกนี้ไม่ได้สนใจการแก้ปัญหาโครงสร้าง การปฏิรูปประชาธิปไตย การปฏิรูปประเทศ เพียงแต่คุณูปการที่ผ่านมาคือพวกเขาต่างตอบแทนด้วยนโยบายประชานิยม ซึ่งแม้จะไม่ใช่นโยบายที่ดีทั้งหมดแต่ก็ทำให้มวลชนตื่นตัวขึ้นมา ตระหนักในอำนาจ “ประชาธิปไตยกินได้”
แต่ถึงที่สุดในการที่จะไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ตามเจตนารมณ์ของมวลชนเสื้อแดงและผู้รักประชาธิปไตย คนพวกนี้ไม่ได้กระตือรือร้นไปด้วย พวกเขาเพียงต้องการบดขยี้กลุ่มทุนเก่า รัฐราชการ กองทัพ ตุลาการ ที่เป็นอุปสรรคขัดขวางประชาธิปไตยทุนนิยม ฉะนั้นถ้าได้อำนาจมั่นคง พวกเขาก็พอใจแล้ว
นั่นคือข้อแตกต่างที่จะส่งผลต่อไปในอนาคต แต่ตอนนี้ จะต้องให้พวกเขาตระหนักว่า คุณจำเป็นต้องปฏิรูปประชาธิปไตย ถ้าไม่อยากถูกโค่นล้มอีก
รัฐบาลอาจยังไม่แก้รัฐธรรมนูญโดยทันที แต่หลังรับตำแหน่ง ควรตั้งคณะกรรมการศึกษาปฏิรูปการเมือง ที่ไม่เอาหมอประเวศหรืออานันท์มาเป็นประธาน แต่ยินดีรับข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทยของหมอประเวศ-อานันท์ เข้ามารวมอยู่ด้วยกัน แต่เน้นเรื่องสำคัญที่สุดที่หมอประเวศ-อานันท์ ไม่ได้ทำ คือการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โดยเปิดรับความคิดเห็นจากคนทุกสี หาข้อสรุปใน 6 เดือน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วยการลงประชามติ และแก้ไขกฎหมายสำคัญๆ ด้วยการลงประชามติ
ย้ำ ลงประชามติ พวกพันธมิตรพวกสลิ่มอย่าหาเรื่องมาต่อต้าน ไม่พอใจก็ไปรณรงค์คัดค้านกันด้วยเหตุด้วยผล
รัฐบาลต้องสนับสนุนการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เปิดกว้างให้เสรีภาพประชาชนแสดงออกได้เต็มที่ ตลอดจนเพิ่มอำนาจประชาชน เพราะมวลชนเท่านั้นที่จะปกป้องรัฐบาล สมมติเช่น คุณจะต้องเดินหน้าไปสู่การยกเลิกกฎหมายความมั่นคง ยุบ กอ.รมน.อย่าคิดว่าจะใช้ กอ.รมน.ค้ำจุนอำนาจ เพราะ “หมู่บ้านเสื้อแดง” ต่างหากที่เป็นเสาค้ำอำนาจคุณ คุณจะต้องยกเลิก พรบ.คอมพิวเตอร์ โดยเร็วที่สุด เพราะนักประชาธิปไตยยึดครองโลกไซเบอร์อยู่เป็นส่วนใหญ่ คุณจะต้องมุ่งกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่น ลดอำนาจผู้ว่าฯ ข้าราชการจากส่วนกลาง ทำให้แต่ละพื้นที่เป็น “เขตปกครองตนเอง” กลายๆ เพราะไม่เห็นหรือว่าสีแดงพรืดไปหมดทั้งภาคอีสานและล้านนา ต้องให้พวกเขาขึ้นมามีอำนาจปกครองตนเองมากขึ้น ลดอำนาจส่วนกลางลง เพื่อสร้าง “ฐานที่มั่น” ระยะยาว
ในทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจะต้องเร่งทำโครงการระเบียงเศรษฐกิจ เหนือ-ใต้ ตะวันออก-ตะวันตก เปิดรถไฟความเร็วสูงจากคุนหมิงลงมากรุงเทพฯ เชื่อมเส้นทางขนส่งจากดานังไปทวาย เพื่อเปิดมิติใหม่ทางเศรษฐกิจให้คนเหนือคนอีสาน ทำให้ความเจริญไม่ต้องมากระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ
ขบวนประชาธิปไตย ขบวนคนเสื้อแดง (ที่ไม่ได้หมายถึงแกนนำ ซึ่งบ้างก็เป็นนักการเมือง บ้างก็เป็นพวกฉวยโอกาส) มีภารกิจสำคัญที่จะต้องพิทักษ์เจตนารมณ์ของมวลชนผู้พลีชีวิต เลือดเนื้อ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จนมีวันนี้ ภารกิจนั้นมีทั้งสองด้าน คือปกป้องรัฐบาล จากการโจมตีบ่อนทำลายด้วยอคติความเกลียดชัง ของพวกสลิ่ม แมลงสาบ สื่อ นักอวิชา ขุนนางอำมาตย์ อำนาจตุลาการภิวัตน์ ทั้งยังอาจต้องเป็นแนวหน้าให้รัฐบาล ในการรุกรบอย่างมีจังหวะก้าว สมมติเช่น การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ รณรงค์เนื้อหาแก้รัฐธรรมนูญ เรียกร้องให้ปลดผู้นำเหล่าทัพ
อีกด้านหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ก็คือการตรวจสอบรัฐบาล อย่างจริงจังและว่าไปตามเนื้อผ้า การวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุผล สิ่งใดที่พวกสลิ่มหรือพวกแมลงสาบยกมากล่าวหา ถ้าเป็นจริง ถ้ามีเหตุผล มีพยานหลักฐาน (น่าจะน้อยเต็มที) เราก็ต้องยอมรับ และเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลแก้ไข สิ่งใดที่ไม่จริงก็ด่ามันกลับไป แต่อย่าปล่อยให้นักการเมืองเข้ามาทำลายชัยชนะของมวลชนที่แลกมาด้วยชีวิตเลือดเนื้อ
ในอีกแง่หนึ่ง ขบวนประชาธิปไตย ขบวนคนเสื้อแดง ยังต้องเรียกร้องกดดันรัฐบาล ให้เดินหน้าไปสู่การปฏิรูปการเมือง เพราะธาตุแท้ของนักการเมืองเป็นดังที่กล่าว ถ้าขบวนประชาชนไม่เรียกร้องกดดันให้มีการปฏิรูปกองทัพ ปฏิรูปศาล พวกเขาก็ไม่ทำ (มิพักต้องพูดถึงการปฏิรูปสถาบัน ซึ่งรัฐบาลนี้ไม่กล้าแอะ)
ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ที่เกิดความขัดแย้งใน นปช.เป็นเรื่องธรรมดามาก เมื่อผ่านการต่อสู้สู่ชัยชนะ พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล นปช.ก็จะแตกตัว ไม่ต่างกับพันธมิตร ส่วนหนึ่งก็จะแตกตัวไปเป็นผู้รับใช้นักการเมือง หรือแสดงธาตุแท้ของความเป็นนักการเมือง อีกส่วนหนึ่งจะเดินหน้าต่อไปในอุดมการณ์ประชาธิปไตยโดยไม่ผูกติดกับรัฐบาล กระบวนการนี้กำลังจะเริ่มขึ้น
แต่ขบวนประชาธิปไตยจะไม่เป็นอย่างพันธมิตร เพราะเรายึดถืออุดมการณ์ประชาธิปไตย ไม่ใช่อุดมการณ์ราชาชาตินิยมสุดขั้วสุดโต่ง
ใบตองแห้ง
8 ก.ค.54
http://prachatai3.info/journal/2011/07/35928
วันอังคาร, กรกฎาคม 05, 2554
จับมือแล้ว-รัฐบาล5พรรค! ปูปึ้ก299เสียง
จับมือแล้ว-รัฐบาล5พรรค! ปูปึ้ก299เสียง
ชทพ.ชพน.พลังชล มหาชน-ถูกหวย มาร์ค-เทือกออก พร้อม19กก.ปชป. เปิดโผรมต.พท. ขุนค้อนปธ.สภา "โกวิท"คุมมั่นคง
ว่าที่นายกฯหญิง"ยิ่งลักษณ์"เดินหน้าตั้งรัฐ บาล 299 เสียง ผนึกชาติไทยพัฒนา-ชาติพัฒนาฯ-พลังชล-มหาชน ย้ำชัดอีกไม่เอาภูมิใจไทย ปิดประตูงูเห่าสมศักดิ์-สรอรรถ ประกาศปรองดองเป็นภารกิจเร่งด่วน และแก้ปัญหาให้กับประชาชน "มาร์ค"ลาออกหัวหน้าปชป.รับผิดชอบพาพรรคแพ้เลือกตั้ง กก.บห. ต้องออกด้วยทั้งชุด "ขุนค้อน"มาแรงนั่งประธานสภา ทาบ"โกวิท วัฒนะ"รองนายกฯความมั่นคง ควบดูแลตร. "นิวัฒน์ธำรง"เลขาฯนายกฯ "เติ้ง" ต่อรองขอคุมกระทรวงเดิม พลังชลไม่อ้อมค้อมบอกชอบงานกีฬา-ท่องเที่ยว สื่อนอกพร้อมใจประโคมข่าวชัยชนะเพื่อไทย ชัยชนะทักษิณ และนายกฯหญิงคนแรกของไทย
กองเชียร์ปลอบใจ"มาร์ค"
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 4 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกจากบ้านในซอยสุขุมวิท 31 ด้วยรถฟอร์ด เอฟเวอ เรสต์ ฌฌ 1777 กรุงเทพฯ มายังที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อมาถึงได้เข้าพูดคุยกับนางอาภรณ์ รองเงิน รองผอ.พรรค และนายอนุชา บูรพชัยศรี ว่าที่ส.ส.กทม. โดยนำสมุดรายชื่อและรูปผู้สมัครของพรรคมาดู จากนั้นโทรศัพท์ตรวจสอบผลคะแนนอย่างเป็นทางการด้วยสีหน้าปกติ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองเลขาธิการพรรค เข้ามาลูบแขนเพื่อปลอบโยนที่พรรคพ่ายแพ้เลือกตั้ง จากนั้นนายอภิสิทธิ์เดินทักทายเจ้าหน้าที่พรรคที่มามอบแจกันดอกไม้ให้กำลังใจ
เวลา 10.40 น. นายอภิสิทธิ์แถลงข่าวอย่างเป็นทางการ ที่ห้องแถลงข่าวของพรรคด้วยสีหน้าไม่ค่อยสู้ดีว่า ขอถือโอกาสนี้เรียนประชา ชนทุกคน เมื่อคืนที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณประชา ชนจำนวนมากที่ให้กำลังใจตนและพรรค โดย เฉพาะผู้ที่ให้การสนับสนุนพรรคในการเลือกตั้ง ตนยังทำหน้าที่ส.ส.และเป็นสมาชิกพรรค ถ้า กกต.รับรองผลการเลืยกตั้งเรียบร้อย ถือเป็นหน้า ที่ที่จะเดินหน้าต่อสู้เพื่อประชาชนอย่างเต็มความสามารถต่อไป โดยเฉพาะจุดยืนที่ประกาศไว้เมื่อวันที่ 3 ก.ค. คือต้องการเห็นบ้านเมืองสงบ จะเป็นฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์ให้บ้านเมืองมีความสามัคคี แต่จะคัดค้านอย่างถึงที่สุดหากข้อเสนอใดทำลายหลักของบ้านเมือง ทำลายหลักนิติรัฐ
แถลงลาออกหัวหน้าปชป.
"ในฐานะหัวหน้าพรรค นำพรรคลงสู่สนามเลือกตั้งครั้งนี้ และเมื่อเทียบเคียงปี 2550 พบว่าพรรคได้คะแนนเสียงน้อยลง ได้ที่นั่งน้อยลง ผมคิดว่าการเป็นผู้นำที่ดีขององค์กรต้องแสดงความรับผิดชอบ วันนี้ผมได้ตัดสินใจจะลาออกจากหัวหน้าพรรค และเป็นหน้าที่ของพรรคซึ่งมีข้อบังคับและกระบวนการชัดเจนอยู่แล้วที่จะจัดประ ชุมใหญ่ภายใน 90 วัน ผมขอขอบคุณสมาชิก ผู้สนับสนุนพรรค เพื่อนส.ส. เจ้าหน้าที่พรรคทุกคนที่ได้เหน็ดเหนื่อยให้การสนับสนุนการทำงานอย่างดีมาตลอด ขอย้ำว่าผมยังเดินหน้าทำงานให้ประชาชนต่อไป แต่เป็นเรื่องของสมาชิกพรรคที่จะทบทวนแนวทางต่างๆ ของพรรคในช่วงที่ผ่านมาเพื่อเดินหน้าอย่างดีที่สุดสำหรับพรรค สำหรับบ้านเมือง ประเทศชาติ ผมขอขอบคุณสมาชิกทุกคนและประชาชนอีกครั้งสำหรับกำลังใจ" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กก.บห.พรรคพ้นสภาพไปด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากที่ประชุมใหญ่ของพรรคเสนอให้กลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคจะรับหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ ไม่ตอบ แต่เดินลงจากโพ เดียมแถลงข่าวทันที เมื่อพยายามถามว่าคณะกรรมการบริหารพรรคทั้ง 19 คน จะพ้นจากตำแหน่งด้วยหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "พ้นครับ" เมื่อถามว่ามีโอกาสกลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ เพียงแต่ยิ้ม ก่อนตอบว่า อยู่ที่สมาชิกพรรค
จากนั้นนายอภิสิทธิ์เดินกลับไปยังอาคาร 100 ปี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ด้วยสีหน้าผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งนี้ มีแกนนำพรรคหลายคนเข้ามาพูดคุยกับนายอภิสิทธิ์ หลังทราบข่าวเรื่องการลาออก เช่น น.พ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ นายวิทยา แก้วภราดัย นายกษิต ภิรมย์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นายอิสรา สุนทรวัฒน์ และเมื่อนายอภิสิทธิ์เจอหน้านายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ ได้แจ้งทันทีว่าแถลงข่าวลาออกแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนแถลงข่าว นายอภิ สิทธิ์พยายามโทรศัพท์แจ้งการตัดสินใจดังกล่าวต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค แต่นายชวนไม่ได้รับสาย
อภิรักษ์-กรณ์ชื่อโผแคนดิเดต
จากนั้น 11.20 น. นายอภิสิทธิ์ออกจากพรรคโดยแจ้งว่าจะกลับไปพักผ่อนที่บ้าน วันที่ 5 ก.ค. จะเข้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เนื่องจากมีภารกิจอยู่ ซึ่งก่อนที่นายอภิสิทธิ์จะขึ้นรถมีสมาชิกพรรคหลายคนเดินมาส่งและโผเข้ากอด บางคนถึงกับร่ำไห้
รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่า หลังจากผลเอ็กซิทโพลออกมา นายอภิสิทธิ์รวบรวมผลเอ็กซิทโพลทั้งหมดมานั่งเปรียบเทียบกัน และบอกกับแกนนำพรรคที่ร่วมลุ้นผลเลือกตั้ง ว่า แม้ว่าผลเอ็กซิทโพล จะไม่น่าเชื่อถือ แต่หากเจาะลงไปดูเฉพาะประชาธิปัตย์ พบว่าส่วนใหญ่จำนวนส.ส.อยู่ในช่วง 140-150 เสียง ไม่มีเคลื่อนไหวขึ้นลงเหมือนเพื่อไทย และเมื่อผล ออกมาค่อนข้างชัดเจนว่าประชาธิปัตย์แพ้เลือกตั้งอย่างหลุดลุ่ย แกนนำหลายคนต่างเข้าใจกันดีว่านายอภิสิทธิ์ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ แกนนำบางส่วนหารือกันว่า กรรมการบริหารพรรคน่าจะร่วมกันแสดงความรับผิดชอบ ด้วยการรักษาผู้นำพรรคให้อยู่กับพรรคต่อไป ทั้งนี้ มีการพูดคุยกับนายกรณ์ จาติกวณิช และนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ที่หลายฝ่ายมองว่ามีความเหมาะเป็นแคนดิเดตหัวหน้าพรรค แต่บุคคลทั้งสองต่างยืนยันว่ายังสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ต่อไป
แกนนำดัน"มาร์ค"คัมแบ๊ก
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า แกนนำพรรคนัดหารือกันช่วงสายวันเดียวกันนี้เพื่อแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว แต่นายอภิสิทธิ์ชิงแถลงลาออกเสียก่อน โดยไม่ได้แจ้งให้แกนนำพรรคคนใดทราบ เมื่อลาออกแล้วทุกอย่างต้องเป็นไปตามข้อบังคับพรรค คือต้องนัดประชุมใหญ่วิสามัญพรรคเพื่อคัดเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ การประชุมครั้งนั้นจะมีผู้เสนอชื่อนายอภิสิทธิ์กลับเข้ามาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง ซึ่งแกนนำพรรคเชื่อว่านายอภิสิทธิ์ยังมีใจนักสู้ไม่ตัดสินใจทิ้งพรรค และจะรับเป็นหัวหน้าพรรคนำพรรคสู้ศึกอีก 1 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกของการตั้งรัฐบาลเพื่อไทย ประชาธิปัตย์จะเปิดให้รัฐบาลใหม่ได้ทำ งานในช่วงฮันนีมูน แต่เชื่อว่าเหตุการณ์จะเริ่มตึงเครียดช่วงเดือนธ.ค. ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ประกาศว่าจะกลับมา โดยเชื่อว่าพ.ต.ท.ทักษิณ พยายามจะเอาเงิน 4.6 หมื่นล้านบาทคืนให้ได้ โดยใช้เงื่อนไขที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ และกอง ทัพมีส่วนสั่งฆ่าประชาชนมาแลกเปลี่ยน
สำหรับกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ชุดปัจจุบันที่พ้นตำแหน่งไปพร้อมกับนายอภิสิทธิ์ ได้แก่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ นายกรณ์ จาติกวณิช นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน นายวิทยา แก้วภราดัย รองหัวหน้าพรรค นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ นายธีระ สลักเพชร รองเลขาธิการพรรค น.พ. บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรค นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ นายทะเบียนพรรค ขณะที่กรรมการบริหารพรรค ได้แก่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายสาธิต ปิตุเตชะ และนายวิรัช ร่มเย็น ส่วนนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ลาออกจากรองเลขา ธิการพรรคและเหรัญญิกพรรคก่อนหน้านี้แล้ว
นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ที่บ้านจ.ตรัง กรณีนายอภิสิทธิ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายอภิสิทธิ์เป็นคนรักษาคำพูด ไม่พูดจาเหลวไหล พูดอะไรก็ทำอย่างนั้น ส่วนตัวยังมองว่านายอภิสิทธิ์เหมาะสมจะดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคต่อไป
ประยุทธ์งดสัมภาษณ์
ที่สำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. เป็นประธานวันสถาปนาสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ครบ 33 ปี โดยมี พล.อ.ธีระวัฒน์ บุณยะประดับ รองผบ.ทบ. พล.อ.พิเชษฐ์ วิสัยจร ผู้ช่วยผบ. ทบ.(1) พล.อ.ยุทธศิลป์ โดยชื่นงาม ผู้ช่วยผบ. ทบ.(2) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. และนายทหารระดับสูงเข้าร่วมงานพร้อมเพรียง โดยมีสื่อมวลชนจำนวนมากดักรอสัมภาษณ์ถึงสถานการณ์การเมืองหลังจากพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้ง แต่พล.อ.ประยุทธ์ไม่ตอบข้อซักถามใดๆ โดยเดินทางกลับสำนักงานทันที มีเพียงเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการกองทัพบก แจ้งว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ให้สัมภาษณ์ช่วงนี้ ให้จัดตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยก่อน
ภท.ยอมรับสู้กระแสพท.ไม่ได้
ที่พรรคภูมิใจไทย นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การที่ประชาชนลงคะแนนเสียงให้พรรคเพื่อไทยจำนวนมาก เพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และประชาชนให้โอกาสและไว้วางใจให้พรรคเป็นอันดับที่ 3 ถือว่าดีมากสำหรับพรรคเล็กอย่างภูมิใจไทย การที่พรรคไม่ได้คะแนนเสียงจากบุรีรัมย์ทั้งจังหวัด ไม่ได้เป็นการล้มเหลว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พรรคได้รับความไว้วางใจหลายพื้นที่ ต้องยอมรับว่าทุกพรรคไม่ว่าพรรคเล็กหรือพรรคใหญ่ ไม่สามารถสู้กระแสหลักของเพื่อไทยได้เลย
นายศุภชัย กล่าวว่า นายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรค ทราบผลคะแนนที่พรรคได้รับแล้วคือ 34 ตำแหน่ง แม้จะต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้คือ 70 ตำแหน่ง แต่พรรคยังยืนยันว่าพร้อมทำหน้าที่ ส.ส.เพื่อรับใช้ประชาชน แม้จะเป็นฝ่ายค้านก็ตาม ทั้งนี้ นายเนวินยอมรับผลคะแนน ไม่เครียด และต้องพูดคุยกันในพรรคเพื่อปรับการทำงาน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นขนาดรมต.ของพรรคทั้ง 3 คนยังสอบตก แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้นัดแกนนำพรรค
นายศุภชัย กล่าวอีกว่า ส่วนที่มีข่าวว่ากลุ่มมัชฌิมาของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน จะไปจับขั้วตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยนั้น ยังไม่ทราบและยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคชาติไทยพัฒนา ทั้งนี้การที่เพื่อไทยยิ่งได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมากเท่าใด ยิ่งแสดงให้เห็นว่าเพื่อไทยได้รับภาระหนักอึ้ง ต้องทำงานอย่างหนักให้สมกับที่ประชา ชนไว้วางใจ
เติ้งไม่รู้เรื่องพท.ทาบชทพ.
เมื่อเวลา 10.30 น. ที่พรรคชาติไทยพัฒนา นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัว หน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงกรณีชาติไทยพัฒนาเข้าร่วมรัฐบาลกับเพื่อไทยว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เพราะถูกเว้นวรรค 5 ปี ยุ่งเกี่ยวการเมืองไม่ได้ เพื่อไทยคงประสานหัวหน้าพรรค ตนไม่ได้ยุ่ง เท่าที่สอบถามหัวหน้าพรรคทราบว่าเพื่อไทยติดต่อมาตอนเย็นวันที่ 3 ก.ค. ส่วนรายละเอียดไม่ทราบชัดเจน
ลาออก - นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แถลงลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อรับผิดชอบต่อการได้ส.ส.จำนวนน้อยกว่าเดิม โดยมีผลต่อกก.บห.ยกชุด
เรียกเต็มปากนายกฯยิ่งลักษณ์
"เท่าที่ดูจากข่าว จะตั้ง 4 พรรค คือ พรรคภูมิใจไทย เอ๊ย! ไม่ใช่ พรรคภูมิใจไทยเอาไว้ทีหลัง นายกฯ ยิ่งลักษณ์ไปออกว่าจับมือกับชาติไทยพัฒนา ผมก็ตกใจ อะไรกัน แต่หัวหน้าพรรคไปต่างประเทศ ผมตามตัวยุ่งทั้งคืน มีการเจรจากันบ้างหรือเปล่า ไม่มี เพียงแต่ผู้ใหญ่ในเพื่อไทยโทร.มาหาว่าเมื่อได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ก็คงไม่ขัดข้อง แต่ต้องขอมติพรรคอีกครั้ง เลยเป็นข่าวขึ้นมา แล้วคงไปทาบทามอีก 2-3 พรรค แต่ผมไม่เกี่ยว ไม่ได้ชี้แนะ" นายบรรหารกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าชาติไทยพัฒนากับภูมิใจไทยยังเป็นพันธมิตรกันอยู่หรือไม่ นายบรรหาร กล่าว ว่า ยังเป็นอยู่ แต่ได้บอกกับนายเนวิน ชิดชอบ ว่าต้องได้ 70 ที่นั่ง ไม่งั้นจะมีปัญหาแน่ในการตั้งรัฐบาล เพราะถ้า 70 บวกกับประชาธิปัตย์ 160 ที่นั่ง และชาติไทยพัฒนาอีก 20 ที่นั่ง ทุกอย่างก็จบตั้งรัฐบาลได้ นายเนวินยืนยันมากับตน แต่ทีนี้เหลือแค่ 34 คน มันคล้ายของเดิม ซึ่งได้ 160 บวก 34 เป็น 194 บวกอีก 20 แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะฝ่ายโน้นเกิน 250 เสียงไปแล้ว ตั้งรัฐบาลได้แล้ว มันเป็นเดดล็อก
"ทำไมพระเจ้าให้การเมืองเป็นอย่างนี้เหมือนครั้งที่แล้วเมื่อปี 2550 ไม่มีผิด ตำราเดียวกันเลย ไม่รู้ใครเขียนมา ผมสังหรณ์ใจว่าขออย่าให้เป็นอย่างนี้ ขาดก็ขาดไปเลย แต่ในเมื่อเหตุการณ์เป็นอย่างนี้ก็ต้องไปว่ากัน แต่ผมไม่ได้เกี่ยวใดๆ ทั้งสิ้น" นายบรรหาร กล่าว
ลูบหลังเนวินพยายามดึงร่วมรบ.
เมื่อถามว่าแสดงว่าไม่ได้เป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับภูมิใจไทยใช่หรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่ใช่อย่างนั้น ต้องดูช่วงจังหวะเวลา แต่ยังไม่ทิ้ง พยายามดึงภูมิใจไทยไปว่าเขาจะร่วมรัฐบาลหรือไม่ พูดคุยกันอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ทิ้ง เมื่อถามว่าเพื่อไทยออกแถลงการณ์ย้ำหลายครั้งว่าไม่เอาภูมิใจไทย นายบรรหาร กล่าวว่า บทเรียนมีมาแล้ว มีปัญหาก็พูดคุยเจรจากันได้ ที่ปรองดองกันไม่ได้เพราะปัญหาอย่างนี้ คนที่โกรธกันทะเลาะกัน ถ้าหันหน้าเข้าหากันก็ไม่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ขึ้นกับพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลว่าตอบรับได้แค่ไหน เราเสนอได้แต่อยู่ที่พรรคแกนนำว่าจะตอบรับแค่ไหน เรายังตอบไม่ได้ ต้องดูว่าทางโน้นจะโอเคหรือไม่ เราก็พูดคุยกันอยู่ ยิ่งตอนนี้เสียงมันไป 290 กว่า มันนิ่งแล้ว
เมื่อถามว่ารัฐบาลเกือบ 300 เสียงจะมั่นคงขนาดไหน นายบรรหาร กล่าวว่า ครั้งที่แล้วประชาธิปัตย์ตั้งรัฐบาล 280 เสียง แต่ปัญหาอยู่ที่การคุมลูกพรรคให้อยู่ในสภาเวลาโหวตเรื่องสำคัญ แต่ถ้าจะให้ดีต้องมากกว่า 300 เสียง
หน้าตาครม.ขึ้นกับเพื่อไทย
ต่อข้อถามถึงภาพของครม.ชุดใหม่ นายบรร หาร กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นพรรคเสนอนายกันต์ เดอะสตาร์ ดีไหม เรื่องหน้าตาตอบไม่ได้ต้องให้นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคกลับมาก่อน เมื่อถามว่าโฉมหน้าครม.ภายใต้การควบคุมของนายกฯ หญิงจะเป็นอย่างไร นายบรรหาร กล่าวว่า ภาพลักษณ์คงไม่ได้อยู่ที่พรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคร่วมรัฐบาลเป็นเพียงซีกหนึ่งเท่านั้น แต่เสี้ยวใหญ่อยู่ที่เพื่อไทยว่าจะจัดกันอย่างไร อยู่ในตำแหน่งเหมาะสมหรือไม่ ตรงนี้สำคัญกว่า เพราะอย่างน้อยเพื่อไทยต้องควบคุมกระทรวงเศรษฐกิจ ไม่ปล่อยพรรคร่วมเอากระทรวงเศรษฐกิจแน่ ถ้ามาปรึกษาตนเป็นการส่วนตัวก็พร้อมแนะนำ แต่ถ้าไม่ปรึกษาก็จบ ตนคงไม่ต้องให้คำแนะนำอะไรมาก เพราะมีซือแป๋เก่งจะตายอยู่ที่โน่น
เมื่อถามว่าต้องชูเรื่องเศรษฐกิจเป็นหลักหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ต้องเอาเรื่องความ ปรองดองเป็นหลัก ถ้าไม่มีตรงนี้เศรษฐกิจก็ไปไม่รอด เดี๋ยวเดินขบวน เดี๋ยวเสื้อสีโน่นสีนี่ออกมา ตนขอให้ทำเรื่องปรองดองก่อนและต้องเดินหน้า อย่าชักช้า มีความจริงใจ
ตกใจมาร์ค-เทือกโทร.มาหา
เมื่อถามว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิ การพรรคประชาธิปัตย์ โทรศัพท์มาหาบ้างหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ตนจะนัดกินข้าวกับนายสุเทพ 1-2 วันนี้ เพราะบังเอิญวันที่ 2 ก.ค. ร้อยวันพันปีไม่เคยคุยโทรศัพท์กัน แต่วันนั้นนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โทร.มาหาทำเอาตกใจหวิดตกเก้าอี้ คุยกันถึงห้าทุ่ม กำลังนอนหลับนายสุเทพโทร.มาอีกทำเอาตนตื่นจากที่นอน จนนอนไม่หลับทั้งคืน ตนให้กำลังใจทุกคนไม่ว่าใครโทร.มาก็ให้กำลังใจทั้งนั้น ขอให้อดทน ได้รับชัยชนะ และตนยังถามนายอภิสิทธิ์ด้วยว่า แล้วนายกฯ ยุบสภาทำไม พวกตนลำบาก ถ้าอยู่จนครบเทอม งบประมาณผ่านสภาก็ค่อยยังชั่ว แต่ต้องมาแก้ไขมาจัดทำงบประมาณกันใหม่ ซึ่งนายอภิสิทธิ์บอกว่าขอให้เห็นใจเพราะไม่ไหวแล้ว
นายบรรหาร กล่าวอีกว่า ขอให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ โดยเฉพาะการปรองดองเป็นเรื่องสำคัญต้องเดินหน้าต่อไป แต่จะปรองดองในรูปใดค่อยมาพูดกันอีกที หากบ้านเมืองไม่มีความ ปรองดองก็ทำอะไรไม่ได้
แต่สายจาก"ทักษิณ"ยังเงียบ
เมื่อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร โทรศัพท์มาหาหรือไม่ นายบรรหาร กล่าวว่า ไม่มี โทร. มา 2 ปีมาแล้วไม่เคยพูดกันเลย เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่โทร.มาขอคำแนะนำเลยหรือ นายบรรหาร กล่าวว่า จะมาขอตนทำไม เพราะเขาเซียนอยู่แล้ว
เมื่อถามถึงกรณีนายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัว หน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายบรรหาร กล่าวว่า ถ้าให้ตนเดา ขอเดาว่าเดี๋ยวประชาธิปัตย์จะมีมติเลือกนายอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีก ลาออกได้ก็กลับเข้ามาใหม่ได้ เพราะประชาธิ ปัตย์หาคนมาแทนลำบาก หรือจะให้นายสุเทพเป็นหัวหน้าพรรคแทนได้หรือไม่ แต่เดาว่าประ ชาธิปัตย์คงมีมติให้นายอภิสิทธิ์กลับมาเป็นหัว หน้าพรรคอีก
ทักษิณชี้ภารกิจแรกปรองดอง
วันเดียวกันที่สนามกอล์ฟมอนโกเมอรี่คลับ เอมิเรตส์ ฮิลล์ ดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิ เรตส์(ยูเออี) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการตั้งรัฐบาลของพรรคเพื่อไทย ว่า จริงๆ 300 เสียงก็พอแล้ว ตอนนี้มีเพื่อไทยกับชาติไทยพัฒนา ถ้ารวมชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินเข้าไปด้วยยังเป็นเสียงที่มีเสถียรภาพอยู่ เพราะการที่รัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่ที่วินัยของ ส.ส. ถ้ามีวินัยมาประชุมก็โอเค แต่ถ้าไม่มีวินัยถึงมีมากก็แย่
ผู้สื่อข่าวถามว่าต้องเพิ่มพรรคเล็กอีกหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ยังไม่ทราบ ต้องถามทางกทม. ตนอยู่ไกล ที่มาคุยตอนนี้เป็นการเชื่อมต่อเท่านั้น เมื่อส่งไม้ผลัดแล้วตนก็ไม่เกี่ยวแล้ว เมื่อถามว่าภารกิจหลักของรัฐบาลที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกฯ ควรมีอะไรบ้าง พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าวว่า ภารกิจแรก ส่งเสริมเรื่องความปรองดอง ภารกิจที่ 2 พลิกฟื้นเศรษฐกิจ เริ่มต้นด้วยการลดราคาสินค้า เหมือนที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ประกาศไว้เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ภารกิจปรองดองเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำควบคู่ไปกับฟื้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่ทำทีละอย่าง
ผ่านแล้วผ่านไปไม่มีล้างแค้น
เมื่อถามว่าต้องดูแลเรื่องการเมืองเป็นพิเศษหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การเมืองไม่น่ามีอะไร เมื่อเลือกตั้งเสร็จใหม่ๆ การเมืองน่าจะนิ่ง คงไม่มีอะไรช่วงนี้ มันเปลี่ยนไปจากคราวที่แล้ว ความรุนแรงของการต่อต้านอะไรลดละไปเยอะ อุณหภูมิลดไปเยอะ เมื่อถามว่าประเมินกองทัพด้วยหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ทุกฝ่ายลดไปเยอะ ที่ผ่านมาความพยายามต่อสู้เอาชนะมันเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขัน เป็นธรรมดาของคนที่ไม่เชื่อว่าตนจะไม่ล้างแค้น จริงๆ ยืนยันได้ว่าเรื่องล้างแค้นไม่มี ความแค้นก็ไม่มี เป็นเรื่องผ่านมาก็ผ่านไป จบไปก็ไม่มีอะไร ใครจะมาคุยมาทักทายอะไรก็ยินดี ไม่ขัดข้อง แต่การทำงานร่วมกันต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างตัดสินใจ
ถ้ากลับไทยแล้วไม่สงบ-ไม่กลับ
เมื่อถามว่าตอนเพื่อไทยหาเสียงว่าจะพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะยังไม่กลับประเทศไทย ประชา ชนที่เลือกเพื่อไทยจะเข้าใจหรือไม่ พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า การเอาตนกลับบ้านเป็นความตั้งใจของคนในเพื่อไทย แต่การกลับไม่กลับต้องไม่ไปซ้ำเติมความขัดแย้ง มันต้องเป็นการดับไฟความขัดแย้งมากกว่า นี่คือสิ่งที่สำคัญ
"ไม่ใช่ว่าผมบอกว่าจะกลับ มันจะเป็นยังไง จะตีกันช่างมัน ผมอยากกลับ แต่ถ้ากลับไปแล้วไม่เกิดความสงบก็อยู่เมืองนอกต่อได้ ผมก็ไม่ได้เดือดร้อน" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว
แนะประคองรบ.รอบ้าน 111
ต่อข้อถามว่าจากนี้จะวางบทบาทตัวเองอย่าง ไร พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ตนคงอยู่ห่างๆ หากรัฐบาลหรือน.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องการคำปรึกษา ก็พร้อมให้คำปรึกษา ถ้าไม่อยากปรึกษาตนก็ทำมาหากินไปเรื่อย เดินทางไปเรื่อย เมื่อถามว่าตั้ง ครม.ต้องถามพ.ต.ท.ทักษิณก่อนหรือไม่ พ.ต.ท. ทักษิณ กล่าวว่า ไม่จำเป็น ไม่ต้องเลย อาจตั้งกันแล้วถามว่ารู้จักคนนั้นคนนี้หรือไม่ เพราะตนรู้จักคนเยอะกว่า อาจให้ข้อมูล แต่การตัดสินใจเป็นเรื่องของน.ส.ยิ่งลักษณ์และกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย
เมื่อถามว่ายืนยันว่าจะไม่เข้ามายุ่งหรือก้าวก่ายการบริหารงาน พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ไม่ต้องเลย ตนไปทำมาหากินได้เลย ตอนนี้สบายใจแล้ว จบแล้ว สิ่งที่ห่วงชาวบ้านว่าที่ทำงานแล้วไม่เสร็จกลับถูกปฏิวัติ กลับมาตอนนี้มีคนสานต่อแล้ว คนมาดูแลชาวบ้านประชาชนแล้วถือว่ามาสานไม้ต่อแล้ว ถ้าเทียบกันแล้วเขาเก่งกว่าตนหลายอย่าง ละเอียดกว่า รอบคอบกว่า เข้าถึงเทคโนโลยีได้มากกว่า จับประเด็นเก่ง คิดเร็ว และทำงานหนัก ปัญหาอาจมีเรื่ององค์ประกอบของน.ส.ยิ่งลักษณ์มีไม่เท่าตน เพราะพรรคถูกยุบไป 2 รอบ จึงเป็นหน้าที่ต้องประคองไปจนกว่าเดือนพ.ค.ปีหน้า ที่พวก 111 จะได้กลับมาช่วย ทั้งนี้ ยืนยันว่าที่พรรคเลือกน.ส.ยิ่งลักษณ์มาทำงานไม่ใช่ทางเลือกที่ผิด เพราะเท่าที่ได้รับเสียงตอบรับมากขนาดนี้ก็ถูกเกินครึ่งแล้ว เหลือแค่ทำงานให้ได้เท่านั้น
รายงานข่าวจากคนใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณเปิดเผยถึงกระแสข่าวที่ว่าพ.ต.ท.ทักษิณเดินทางไปฮ่องกงเพื่อเจรจาจัดตั้งรัฐบาลนั้นไม่เป็นความจริง เพราะตั้งแต่วันที่ 3-5 ก.ค. พ.ต.ท.ทักษิณมีนัดให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวทั้งไทยและต่างประเทศหลายสำนัก ทั้งนี้ ตลอดคืนวันที่ 3 ก.ค.มีชาวไทยและต่างประเทศทยอยเข้าพบจนถึงดึก
ยิ่งลักษณ์หารือจับขั้ว 4 พรรค
สำหรับความเคลื่อนไหวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 พรรคเพื่อไทย ว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าเก็บตัวพักผ่อนอยู่ภายในบ้าน ซอยโยธินพัฒนา 3 ย่านบึงกุ่ม โดยมีสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างประ เทศจำนวนมากรอติดตามทำข่าว ขณะที่บริเวณหน้าบ้านมีตำรวจสน.ลาดพร้าว มาอำนวยความสะดวกด้านการจราจร และดูแลความปลอดภัย ช่วงสายผู้บริหารบริษัทเอสซี แอสเสท เข้ามอบกระเช้าดอกไม้แสดงความยินดี จากนั้นเวลา 12.00 น.น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมายังโรงแรมเอสซีปาร์ค เพื่อรับประทานอาหาร และหารือกับแกนนำ 4 พรรคการเมือง
ยังอยู่"ดูไบ" - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินเที่ยวและนัดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในห้างดูไบมอลล์ นครดูไบ สยบข่าวลือซุ่มบินไปฮ่อง กงเพื่อบัญชาการจัดตั้งรัฐบาล"ยิ่งลักษณ์ 1" เมื่อวันที่ 4 ก.ค.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทีมงานของน.ส.ยิ่งลักษณ์เตรียมพื้นที่บริเวณลานจอดรถด้านข้างบ้านพักไว้รองรับสื่อมวลชน โดยนำตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งเครื่องปรับอากาศไว้เป็นที่พักและที่ทำงานสำหรับสื่อมวลชน
ชัดๆอีกครั้งไม่เอาภูมิใจไทย
ต่อมาเวลา 14.20 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัม ภาษณ์กรณีนายอภิสิทธิ์ลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ว่า ไม่ขอแสดงความคิดเห็น เพราะเป็นเรื่องภายในประชาธิปัตย์ และถือเป็นเจตนารมณ์ของนายอภิสิทธิ์
ผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐบาลใหม่จะไม่มีพรรคภูมิใจไทยเข้าร่วมใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า "ไม่มีค่ะ"
ปิดประตูงูเห่าสมศักดิ์-สรอรรถ
เมื่อถามว่ายืนยันตัวเลขรัฐบาล 299 เสียงใช่หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า จนถึงวันนี้เราจบที่ 4 พรรค ถ้ามีอะไรเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง และการหารือวันนี้ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่ได้ยื่นข้อเสนอเรื่องดึงภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล เราคุยเฉพาะ 4 พรรคเท่านั้น
เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้แค่ไหนที่จะดึงกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสรอรรถ กลิ่นประทุม จากภูมิใจไทยเข้าร่วมรัฐบาล น.ส. ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า วันนี้พรรคพูดเรื่องเจตนา รมณ์และอุดมการณ์ระหว่างเพื่อไทยกับภูมิใจไทยไปแล้ว เมื่อถามว่าการตั้งรัฐบาลพ.ต.ท. ทักษิณ ได้ให้คำปรึกษาหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบว่า ไม่ได้ให้คำปรึกษา
ตั้งรบ. 5 พรรค 299 เสียง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านั้นที่ห้องพระรามเก้า ชั้น 6 โรงแรมเอสซี ปาร์ค น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมด้วยแกนนำเพื่อไทยนัดหารือแกนนำ 4 พรรค ประกอบด้วย ชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พลังชล และมหาชน เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ต่อมานายปลอดประสพ สุรัสวดี รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายพายัพ ชินวัตร แกนนำภาคอีสาน นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช ทีมเศรษฐกิจ และนายวิทยา บุรณศิริ อดีตเลขา ธิการพรรค เดินทางมาถึง ตามด้วยคณะของพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นำโดยน.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล และร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ ซึ่งพูดคุยกับแกนนำเพื่อไทยว่า การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคเล็กเหนื่อยจริงๆ เหนื่อยมาก กระแสพรรคใหญ่มาแรงมากจริงๆ
จากนั้นนายเชาว์ มณีวงษ์ หัวหน้าพรรคพลังชล พร้อมด้วยนายวิทยา และนายอิทธิพล คุณปลื้ม เดินทางเข้ามาถึง ตามด้วยพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา และนายธีระ วงศ์สมุทร และนายอภิรัตน์ ศิรินาวิน หัวหน้าพรรคมหาชน ซึ่งเป็นพรรค 1 เสียงที่ได้ร่วมรัฐบาล รวมเสียงส.ส.ทั้งหมด 299 เสียง
จากนั้นเวลา 12.05 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ร่วมรับประทานอาหารกับแกนนำพรรคต่างๆ ที่ห้องพระราม 9 ชั้น 6 โดยนั่งร่วมโต๊ะกับแกนนำ 5 พรรคด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง เมนูอาหารประกอบด้วยออร์เดิร์ฟ กุ้งทอด หูฉลาม ปลานึ่ง หมี่ผัด ขณะที่ห้องอาหารจีน ชั้น 1 ของโรงแรม แกนนำคนสำคัญของว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลมารับประทานอาหารเพื่อร่วมสังเกตการณ์ ประกอบด้วย นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นายวราเทพ รัตนากร นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แกนนำเพื่อไทย และนายสนธยา คุณปลื้ม แกนนำพลังชล
เปิดแถลงภารกิจเร่งด่วน
หลังจากรับประทานอาหารเสร็จ น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมด้วยแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน พลังชล ขึ้นเวทีแถลงข่าว ยกเว้นแกนนำพรรคมหาชนนั่งอยู่ด้านล่างเวทีกับแกนนำเพื่อไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงว่า ขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนสำหรับทุกคะแนนเสียงที่มอบให้ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนและทุกพรรคการเมืองที่ทำให้การเลือกตั้งผ่านไปอย่างสมบูรณ์ ตนและแกนนำ 5 พรรค แสดงเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกันในการเข้ามาทำงานบริหารประเทศ แก้ไขปัญหาให้พี่น้อง สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกคือ รอผลของกกต.อย่างเป็นทางการก่อน ลำดับถัดไปแต่ละพรรคที่เราเชิญมาทั้งหมด รวมแล้วเลขสวยอยู่ที่ 299 เสียง คิดว่ามีเสถียร ภาพพอ จากนี้พรรคจะเข้าไปดูเรื่องข้อกฎหมายและข้อบังคับพรรคเพื่อเตรียมแถลงอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ภารกิจเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง คือ 1.ทำอย่างไรให้ประเทศชาติก้าวไปสู่ความสามัคคีปรองดอง ทุกพรรคเห็นตรงกันว่าต้องวางนโยบายนี้ในการพูดคุยกับทุกภาคส่วน เบื้องต้นมอบหมายคณะกรรมการอิสระค้นหาและตรวจสอบความจริงเพื่อความ ปรองดอง (คอป.) ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ทำงานร่วมกับคณะทำงานจาก 5 พรรค และทีมคณะกรรมการอิสระที่จะแต่งตั้งเพิ่ม 2.จะจัดงานเฉลิมฉลอง 84 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 3.พลิกฟื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นโดยเร็ว โดยเฉพาะปัญหาสินค้าและค่าครองชีพ และ 4.ฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างประเทศให้กลับคืนมาโดยเร็ว รวมทั้งสร้างขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ส่วนราชการ ในการขับเคลื่อนประเทศเดินต่อไป
ให้อิสระกก.ปรองดองทำงาน
น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอีกว่า ประเด็นคอร์รัปชั่นเป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหา ต้องมีแนวทางและนโยบายขจัดเพื่อให้เกิดความโปร่งใส การทำ งานของนักการเมืองสามารถตรวจสอบได้และมีความชัดเจน ตนและพรรคเพื่อไทยจะนำวิสัยทัศน์ที่เคยหาเสียงเมื่อ 1 ก.ค. รวมถึงนโยบายทั้งหมดมาหารือร่วมกับทุกพรรคเพิ่มเติม เป็นแผนการทำงานและฟื้นฟูแก้ปัญหาให้ประชาชน หวังว่าเจตนารมณ์ของ 5 พรรคการเมืองจะมีความมุ่งมั่นในการทำงาน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะผลักดันนโยบายความ ปรองดองให้เป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องทำงานต่อไปเพื่อเร่งรัดเรื่องนี้ ขณะนี้ได้ตอบรับในเรื่องเร่งรัดค้นหาความจริง ส่วนนโยบายปรองดองวันนี้หารือแล้ว ทุกคนเห็นตรงกันและนั่งคุยกันเพื่อให้เข้าใจสอดคล้องในนโยบายตรงกัน ส่วนคณะกรรมการจะต้องทำให้ชัดเจน ภาคการเมืองจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว อยากให้คณะกรรมการทำงานอย่างอิสระ ซึ่งจะทำเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด พล.ต.สนั่นมีส่วนเริ่มตั้งแต่ต้น คงเข้ามามีส่วนร่วมช่วยผลักดันให้เกิดความปรองดองโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นเราอยากให้กรรมการชุดนี้เป็นอิสระและทำงานอย่างเป็นธรรมที่สุด
เลิกประกันราคาใช้รับจำนำข้าว
เมื่อถามว่าจะสามารถปรองดองกันได้หรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ทุกคนในชาติมีความรักความหวงแหนประเทศชาติ อยากเห็นประเทศก้าวไปข้างหน้า เมื่อถามถึงการจัดตั้งครม.ใช้เวลานาเท่าไหร่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า หลังจากที่ มีการแต่งตั้งจากสภา หลักการอะไรที่เป็นประ โยชน์ต่อประชาชน พรรคไม่มีเจตนายกเลิก แต่จะคงไว้และต้องดูว่าอะไรบ้างที่ควรปรับปรุงให้ดีขึ้นจึงจะเข้าไปแก้ไข โดยหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ต่อข้อถามถึงนโยบายเศรษฐกิจ เรื่องราคาสินค้า รวมถึงนโยบายรับประกันราคาข้าวของรัฐบาลที่แล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ต้องดูรายละเอียดสินค้าแต่ละประเภท เช่น ข้าว เราจะนำระบบรับจำนำกลับมา ส่วนผลไม้ต้องดูไปตามฤดูกาล แต่จะทำให้สินค้าเป็นไปตามกลไกของตลาด จะดูตั้งแต่ต้นทุนการผลิตและการผูกขาด และขอเข้าไปทำงานก่อนโดยมีทีมเศรษฐกิจศึกษาเรื่องงบประมาณ ถ้าส่วนใดเป็นงบที่ไม่จำเป็นต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ ตรงกับวัตถุประสงค์การใช้จ่ายก็ต้องปรับปรุง แต่สิ่งใดที่ต้องผลักดันเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต้องดำเนินการต่อ
รมต.มีความสามารถตามกระทรวง
เมื่อถามถึงโควตารมต.กำหนดสัดส่วนอย่าง ไร น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นทางการจะชี้แจงเรื่องครม.อีกครั้ง รอให้ประกาศอย่างเป็นทางการก่อน แล้วทุกพรรคคงต้องหารือกันภายใน ส่วนครม.จะต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถตรงตามแต่ละกระทรวง เพราะการบริหาร จะดูที่ผลงานเป็นหลัก เมื่อถามว่าการตั้งรมต.ต้องฟังเสียงคนเสื้อแดงด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวย้ำว่า ต้องเป็นคนที่มีความรู้ความสามารถและดูที่ผลการบริหารงาน
เมื่อถามว่าการทำงานร่วมกับกองทัพจะเชิญพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาร่วมทำงานด้วยหรือไม่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ขอทีละสเต็ป ตอนนี้เร็วเกินไปที่จะคุยเรื่องเหล่านี้
ไม่มีนโยบายทำเพื่อคนๆเดียว
เมื่อถามว่ามั่นใจรัฐบาล 299 เสียงจะมีเสถียร ภาพแค่ไหน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เสียงของเพื่อไทยเกินกึ่งหนึ่งอยู่แล้ว เชื่อว่ามีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ แต่เราต้องการผู้มีความรู้ความสามารถมาร่วมกันแสดงเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหาประเทศ เมื่อถามถึงแนวทางนิรโทษกรรม น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า พรรคแถลงจุดยืนไปแล้วว่าไม่มี ปล่อยให้คณะกรรมการคอป.ดำเนินการอย่างอิสระ พรรคไม่มีนโยบายทำเพื่อคนๆเดียว
ด้านน.พ.วรรณรัตน์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญเข้าร่วมรัฐบาล พรรคยินดีตอบรับคำเชิญด้วยเหตุผล 3 ข้อ 1.เพื่อไทยได้ที่นั่งเกินครึ่งในสภา มีความชอบธรรมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเห็นด้วยที่น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯ 2.พรรคเคยร่วมงานกับไทยรักไทยในอดีต สามารถทำงานร่วมกันได้ 3.มีนโยบายสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ร่วมถึงร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจร่วมกัน
ขณะที่นายเชาว์ กล่าวว่า เหตุผลที่เข้าร่วมรัฐบาลสอดคล้องกัน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และสร้างความปรองดอง ซึ่งความปรองดองเป็นหัวใจสำคัญในการทำงานเพื่อประเทศชาติ
พลังชลไม่อ้อมค้อมชอบกีฬา
จากนั้นน.พ.วรรณรัตน์ ให้สัมภาษณ์หลังการแถลงข่าวว่า ครั้งนี้เป็นการหารือจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น ยังไม่ได้พิจารณารายละเอียดการจัดรมต. กระทรวงต่างๆ คงหารือในโอกาสต่อไป ส่วนการต่อสายเพื่อชวนเข้าร่วมรัฐบาลนั้น ผู้ใหญ่ในเพื่อไทยติดต่อมา ส่วนระยะเวลาจัดตั้งรัฐบาลนั้น คงเป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนดว่าหลังเลือกตั้ง ในเวลา 1 เดือนต้องเปิดสภา คงจะแต่งตั้งประ ธานสภา รองประธานสภา รวมถึงนายกฯ ส่วนการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้เชื่อว่าการปรองดองจะเกิดขึ้น
นายเชาว์ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวพรรคพลังชลสนใจงานด้านการท่องเที่ยวและกีฬาว่า พลังชลมีความสามารถและประสบการณ์หลายด้าน ทั้งด้านอุตสาหกรรม และการขนส่ง เพียงแต่เรามีประสบการณ์เรื่องกีฬา ขณะนี้นายวิทยา คุณปลื้ม แกนนำพรรค เป็นนายกสมาคมกีฬาด้วย
หนั่นการันตีเสถียรภาพมั่นคง
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำนวนส.ส. 7 คนของพรรคจะต่อรองตำแหน่งรมต.อย่างไร นายเชาว์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย วันนี้เป็นเพียงการหารือตั้งรัฐบาล พลังชลไม่มีข้อแม้ มีเพียง 1 ข้อที่ต้องทำคือเรื่องความปรองดองสมานฉันท์ ให้ประเทศเดินหน้าไปได้เท่านั้น เมื่อถามว่าเห็นด้วยกับกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ นายเชาว์ กล่าวว่า ต้องดูความหมายว่าหมายถึงใคร หากหมายถึงนิรโทษกรรมของทุกคนที่ทำกรรมต่างๆไว้ ก็เห็นด้วย เพื่อให้บ้านเมืองอยู่ได้ โดยการให้อภัยทาน
ขณะที่พล.ต.สนั่น ให้สัมภาษณ์ว่า เสียงพรรคร่วม 299 เสียงถือว่ามีเสถียรภาพมั่นคง ครม.จะเป็นผู้แทนทั้งหมดก็ไม่เป็นไร เมื่อถามว่าชาติไทยพัฒนาได้กี่กระทรวง พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ยังไม่ทราบ เมื่อถามว่าพลังชลต้องการดูแลด้านการท่องเที่ยวและกีฬาเหมือนกับชาติไทยพัฒนา พล.ต.สนั่น กล่าวว่า ไม่รู้เหมือนกัน เมื่อถามถึงกระแสข่าวว่าจะลาออกจากส.ส.บัญชีรายชื่อเพื่อให้ลำดับถัดไปเลื่อนขึ้นมา โดยเฉพาะนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แกนนำพรรคที่สอบตกงวดนี้ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า เอาไว้คุยกันทีหลัง
ไม่ได้ทิ้งภท.แต่มันจบแล้ว
เมื่อถามว่านายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุจะพยายามดึงภูมิใจไทยร่วมรัฐบาลด้วย พล.ต.สนั่น กล่าวว่า เพื่อไทยประกาศไปแล้ว ปัญหานี้คงไม่ต้องพูดแล้ว อย่างไรก็ตามนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค คงจะไปพูดคุยกับภูมิใจไทยว่ามีความจำเป็นอย่างไร ไม่ได้ทิ้งเพื่อน ไม่ได้ผิดสัญญา นักการเมืองเขาเข้าใจกันดี ทั้งนี้ การนิรโทษกรรมอย่าไปพูดถึงเลย ถ้าปรองดองได้ทุกอย่างในประเทศอะไรก็อภัยกันได้หมด ความเป็นธรรมทั่วถึงกัน การเหลื่อมล้ำอยู่ในเรื่องของการปรองดองทั้งสิ้น ยืนยันว่าเพื่อไทยไม่เสนอนิรโทษกรรมแน่
ต่อข้อถามว่าพ.ต.ท.ทักษิณจะมีโอกาสกลับประเทศไทยหรือไม่ พล.ต.สนั่น กล่าวว่า เป็นเรื่องที่คณะกรรมการปรองดองจะพิจารณา ส่วนตัวคิดว่าทุกอย่างต้องเสมอภาค และมาตรฐานเดียวกัน ไม่ใช่อยู่ๆจะนิรโทษกรรม เป็นไปไม่ได้
เผยที่มา 1 เสียงมหาชนส้มหล่น
รายงานข่าวจากพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า สำหรับ 1 เสียงของมหาชนที่ได้เข้าร่วมรัฐ บาลเพื่อให้เสียงเป็น 299 เสียงนั้น นอกจากจะเป็นตัวเลขที่สวยแล้ว ยังเพิ่มความมั่นคงมากยิ่งขึ้น โดยมีที่มาที่ไปคือพล.ต.สนั่นขอร้องแกนนำเพื่อไทย เนื่องจากมหาชนเป็นพรรคที่พล.ต.สนั่นก่อตั้งขึ้นมา แล้วมอบหมายนายอภิรัต ศิรินาวิน ที่มีความใกล้ชิดสนิทแนบแน่นดูแลรักษาพรรค ขณะที่พล.ต.สนั่นเข้ามาสังกัดชาติไทยพัฒนา ขณะที่นายอภิรัตถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เรียนจบปริญญาโท เลือกตั้งที่ผ่านมาก็ทำคะแนนเสียงได้มากจนพรรคได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง เหนือกว่าพรรคที่มีนักการเมืองชื่อดังเป็นหัวหน้าพรรคหลายคน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า สำหรับตำแหน่งรมต. ของชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินนั้น น่าจะได้รมต. 1 ตำแหน่ง แต่คงไม่ได้กระทรวงพลังงานที่เคยดูแลอยู่เดิม ทั้งนี้แกนนำพรรคจะต่อรองส่งคนเข้าไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจใหญ่ๆ ด้วย
เติ้งต่อรองขอคุมกระทรวงเดิม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการหารือของแกนนำ 5 พรรคที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค พล.ต.สนั่นเข้าพบนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ที่พรรค นานประ มาณ 30 นาที โดยมีนายธีระ วงศ์สมุทร ร่วมหารือด้วย และภายหลังแถลงข่าวร่วมกันน.ส.ยิ่งลักษณ์ นายธีระกลับมาที่พรรคเพื่อรายงานผลการหารือกับแกนนำเพื่อไทยและพรรคร่วมอื่นๆ ต่อนายบรรหาร
รายงานข่าวจากแกนนำชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า ชาติไทยพัฒนาที่มี 19 เสียงขอรมต. กระทรวงเดิมทั้งหมด ได้แก่ รองนายกฯ รมว. เกษตรและสหกรณ์ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา รมช.คมนาคม นอกจากนี้พล.ต.สนั่นยังต่อรองขอรมช.สาธารณสุขอีก 1 ตำแหน่ง แต่อย่างไรก็ตามการตัดสินใจขึ้นกับพรรคเพื่อไทย เพียงแต่ชาติไทยพัฒนายื่นเงื่อนไขเข้าไปเท่านั้น
หนั่นส่งลูกยอดเป็นรมต.แทน
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เบื้องต้นแกนนำเพื่อไทยตอบรับให้ตำแหน่งรองนายกฯ รมว.เกษตรฯ และรมช.คมนาคม ขณะที่พล.ต.สนั่นแจ้งกับนายบรรหารว่าจะไม่ขอรับตำแหน่งในรัฐบาลชุดนี้ โดยขอให้นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ บุตรชาย ได้โควตาเป็นรมต.แทน ทั้งนี้หากชาติไทยพัฒนาได้ดูแลกระทรวงเกษตรฯอีกครั้ง นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.เกษตรฯ มีโอกาสนั่งเก้าอี้เดิมต่อไป ส่วนนายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค มีแนวโน้มขึ้นเป็นรองนายกฯ อย่างไรก็ตามชาติไทยพัฒนายื่นขอแลกตำแหน่งรองนายกฯ เป็น 2 รมช. รวมโควตาที่ได้คือ 1 รมต.กับ 3 รมช. ขณะนี้อยู่ระหว่างต่อรองกับทางเพื่อไทย
เติ้งส.ส.หดสั่งปรับฮวงจุ้ยพรรค
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากผลเลือกตั้งออกมาชาติไทยพัฒนาได้ส.ส.ลดลง นายบรร หารสั่งปรับฮวงจุ้ยที่ทำการพรรคชาติไทยพัฒนาทั้งหมด โดยถอนต้นปาล์มบริเวณด้านหน้าพระตำหนักเดิมของพระองค์เจ้าอัพพันตรีประชา ที่ตั้งของร้านกาแฟพรรค พร้อมจัดทำพิธีขอขมาในวันที่ 7 ก.ค.นี้ โดยมีความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ยว่าต้นปาล์มที่อยู่หน้าอาคารถือเป็นเรื่องไม่ดี เป็น การขัดขวางสิ่งดีๆ ที่จะเข้ามา อีกทั้งการปลูกไว้ต้นเดียวเปรียบเหมือนปักธูปขนาดใหญ่หน้าบ้าน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง นายบรรหารสั่งปรับฮวงจุ้ยแล้วครั้งหนึ่ง โดยติดตั้งน้ำพุและให้เปิดตลอดเวลา เพื่อนำเรื่องดีๆ มาสู่พรรค รวมทั้งปรับทัศนียภาพโดยรอบ
ขณะที่รายงานข่าวจากพลังชลที่มี 7 เสียง ระบุว่า พรรคสนใจตำแหน่งรมว.การท่องเที่ยวและกีฬา โดยอ้างว่าเป็นงานถนัด และแกนนำพรรคเคยดูแลงานกระทรวงนี้ รวมถึงเป็นนโย บายของพรรคที่ใช้หาเสียง
ชพน.ขอพลังงานของเดิม
ทางด้านพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ซึ่งน.พ. วรรณรัตน์ นั่งรมว.พลังงานอยู่แล้ว ก็แสดงความจำนงขอดูแลกระทรวงพลังงานต่อไป โดยอยู่ระหว่างเจรจาต่อรองกับทางเพื่อไทย
นิวัฒน์ธำรงจ่อเลขาฯนายกฯ
ในส่วนความเคลื่อนไหวของพรรคเพื่อไทย มีรายงานข่าวว่า ตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ น่าจะเป็นนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล หรือชื่อเดิมนิวัฒน์ บุญทรง อดีตผู้บริหารเครือชินคอร์ป ที่พ.ต.ท.ทักษิณไว้เนื้อเชื่อใจมาก โดยนายนิวัฒน์ธำรงเป็นผู้สมัครปาร์ตี้ลิสต์ ลำดับ 21 พรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งครั้งนี้และได้รับเลือกตั้ง
"ขุนค้อน"มาแรงปธ.สภา
สำหรับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ชื่อที่มาแรงคือนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตรองประธานสภา เจ้าของฉายา"ขุนค้อน" โดย พ.ต.ท.ทักษิณ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และแกนนำเพื่อ ไทย ต้องการผู้ที่ไว้วางใจได้ มีความหนักแน่น มั่นคงต่อพรรค และมีชั้นเชิงทันเกมในสภาเพื่อรับมือกับฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนายสมศักดิ์มีคุณสมบัติเหล่านี้ ทั้งนี้พ.ต.ท. ทักษิณเคยมีบทเรียนในการตั้งนายชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภา เมื่อเกิดงูเห่าภูมิใจไทย นายชัยย้ายไปอยู่กับขั้วประชาธิปัตย์ ทำให้การทำงานและขับเคลื่อนในสภาเสียเปรียบทันที แม้เพื่อไทยจะมีส.ส.มากที่สุดในสภาขณะนั้นก็ตาม
โกวิท วัฒนะคุมมั่นคง-ชัจจ์ยธ.
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า แกนนำเพื่อไทยได้ทาบทามพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตผบ.ตร. และอดีตรองนายกฯ สมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช และอดีตรมว.มหาดไทย สมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ควบคู่กับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ส่วนรายชื่อบุคคลที่มีโอกาสเป็นรมต.ในรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้แก่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก มีชื่อเป็นแคนดิเดตรมว.มหาดไทย เพราะทั้งหมดต่างทุ่มเทให้กับพรรคในการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมา โดยเฉพาะพล.ต.อ.ประชาสามารถนำผู้สมัครได้รับเลือกตั้งยกจังหวัดอุดรฯ อย่างไรก็ตามพล.ต.อ. ประชายังมีลุ้นเป็นรองนายกฯดูแลความมั่นคงเช่นกัน ขณะที่ร.ต.อ.เฉลิมแสดงความจำนงขอเป็นรมว.มหาดไทยอีกครั้ง หลังจากเคยเป็นสมัยรัฐบาลนายสมัคร
พล.ต.ท.ชัจจ์ กุลดิลก อดีตผบช.ก. ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังเหมือนปิดทองหลังพระให้กับพรรคมานาน ได้รับรางวัลเป็นรมว.ยุติธรรม
สำหรับรมว.กลาโหม มีหลายตัวเก็ง อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหมคนปัจจุบัน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีตผบ.สส. พล.อ.อ.สุเมธ โพธิ์มณี อดีตผบ.หน่วยอากาศโยธิน เพื่อนเตรียมทหาร รุ่น 10 ของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผบ.สส. เพื่อนเตรียมทหารของพ.ต.ท.ทักษิณเช่นกัน ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนก.ย.นี้ อย่าง ไรก็ตามตำแหน่งแกนนำเพื่อไทยเห็นตรงกันว่าต้องได้รับการยอมรับทั้งฝ่ายการเมือง และผบ. เหล่าทัพ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อรัฐบาล อย่างไรมีกระแสข่าวว่าหากตำแหน่งนี้มีปัญหาในการหาผู้เหมาะสม น.ส.ยิ่งลักษณ์อาจควบรมว. กลาโหมเอง โดยใช้ภาพความปรองดองประสานงานกับกองทัพ
โอฬาร-ยงยุทธ-ณัฐวุฒิติดโผ
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ส่วนกระทรวงเกรดเอ โดยเฉพาะกระทรวงเศรษฐกิจ เช่น กระทรวงการคลัง นายโอฬาร ไชยประวัติ มีแนวโน้มนั่งรมว. ส่วนรมช.มีชื่อนายสุชาติ ธาดาธำรงเวช และนายพิชัย นริพทะพันธุ์ โดดเด่นที่สุด กระทรวงพาณิชย์มีชื่อนายคณวัฒน์ วศินสังวร กระทรวง คมนาคมมีชื่อนายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีตรมว. คมนาคม
ขณะที่รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวด ล้อม นายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นตัวเก็ง นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรค ที่มีความอาวุโสและทุ่มเททำงานหนักให้พรรคมาตลอด จะได้รับตำแหน่งรองนายกฯ ส่วนกระทรวงที่อาจนำคนนอกมารับตำแหน่ง คือ กระทรวงการต่างประเทศ
นอกจากนี้นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ก็มีโอกาสเป็นรมต. ในฐานะตัวแทนคนเสื้อแดง
วันเดียวกัน นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล อดีตแกนนำไทยรักไทย คนสนิทพ.ต.ท.ทักษิณ เปิดบ้านในหมู่บ้านเกศินีวิลล์ให้อวยพรวันคล้ายวันเกิด โดยมีกลุ่มว่าที่ส.ส.ภาคเหนือ อีสานและ ภาคกลางของเพื่อไทย และข้าราชการกระทรวงคมนาคมบางส่วนที่เคยร่วมงานในสมัยเป็นรมว.คมนาคมมาร่วมอวยพร
วันจันทร์, กรกฎาคม 04, 2554
ขอแสดงความยินดีกับว่าที่ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย.. คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ขอแสดงความยินดีกับว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 28 นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย.. คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
http://goosehhardcore.forums2u.com/t1155-topic
วันอาทิตย์, กรกฎาคม 03, 2554
วันศุกร์, กรกฎาคม 01, 2554
เปิดใจ"อนุสรณ์ อมรฉัตร" "ภรรยาของผม อ่อนโยนแต่เข้มแข็ง"
หมายเหตุ - บทสัมภาษณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งจากหนังสือ "ปรากฏการณ์ยิ่งลักษณ์" จัดทำโดยทีมข่าวเฉพาะกิจหนังสือพิมพ์โลกวันนี้
แรกเริ่มรัก
"ช่วงที่เจอคุณปู ผมทำงานบริษัทในเครือซีพี ส่วนคุณปูทำงานที่ Yellow Pages ผมรู้จักพี่สาวคุณปู เพราะเขาส่งสินค้ามาขายในแม็คโคร คุณปูอยากเอา Yellow Pages มาวางในแม็คโครเลยนัดให้เราคุยกัน ตอนเจอกันรู้สึกว่าคุยกับถูกคอ จำไม่ได้ว่าเริ่มจีบตอนไหน
ตอนนั้นคุณปูฮอต ส่วนผมก็เนื้อหอมเหมือนกัน (ยิ้ม) ผมเพิ่งเรียนจบปริญญาโทจากอเมริกา กลับมาทำงานบริษัทและไปสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ถือว่าหน้าที่การงานมั่นคง เลยมีคนเข้าหาเยอะแต่ผมถูกใจคุณปูที่สุด เพราะเขาสวย ทำงานเก่ง เวลาคุยสามารถปรึกษาเรื่องธุรกิจได้ เพราะเขาไม่แข็งเกินไป บางครั้งเขาแนะนำเราบางครั้งเราแนะนำเขา
ผมชอบที่คุณปูมาจากสังคมต่างจังหวัด ดังนั้น การสื่อสารระหว่างเราจึงเป็นแบบง่ายๆ คุยกันรู้เรื่อง เพราะผมเองก็เป็นคนง่ายๆ สบายๆ ถ้าเทียบกับนักธุรกิจคนอื่นๆ ที่มาจีบคุณปู ผมคงสู้ไม่ได้แต่คุณปูไม่ใช่คนที่สนใจตรงนี้ คิดว่าเหตุผลที่คุณปูเลือกผมคงเพราะมองว่าขยันทำงาน
ผมประทับใจคุณปูที่เป็นคนอ่อนโยนแต่เข้มแข็ง เราทั้งคู่งานยุ่งมากเหมือนกัน แต่เขาแกร่งและขยันมาก เวลาผมโทรศัพท์ไปจีบเขาสามารถนั่งเซ็นเอกสารไปด้วยคุยไปด้วยได้ หรือบางทีผมไปพักผ่อนกับเพื่อนแล้วโทร.ไปหา เขายังนั่งทำงานอยู่เลย"
เริ่มต้นชีวิตครอบครัว
"ผมตัดสินใจขอแต่งงานกับคุณปู เพราะอยู่ด้วยแล้วมีความสุขเขาเป็นทั้งเพื่อน ที่ปรึกษา ช่วยเติมเต็มส่วนที่เราไม่มี คอยดูแลเอาใจใส่จนทำให้ชีวิตผมดีขึ้น
แม้จะแต่งงานกันแล้วเราก็ยังให้เวลาส่วนตัวซึ่งกันและกัน บางวันผมไปตีกอล์ฟ คุณปูไปร้านเสริมสวยบางครั้งผมไปสังสรรค์กับเพื่อน ส่วนเขาไปช็อปปิ้ง ทุกอย่างเลยลงตัว
ผมอยู่กับคุณปูมาเกือบ 20 ปีไม่เคยทะเลาะกันรุนแรง ถ้างอนก็ไม่นาน เพราะเรามีกฎว่าถ้าผมงอนห้ามออกจากบ้าน และภายในครึ่งชั่วโมงต้องง้อเขา (หัวเราะ) ส่วนคุณปูถ้างอนแล้วออกไปไหน เขาจะโทร.บอกว่าอยู่ไหน แล้วให้ผมตามไปง้อเลยทำให้ผมคิดว่างั้นจะทะเลาะกันทำไม ดีกันไว้ดีกว่า"
ชีวิตคู่เติมเต็มเมื่อมีลูก
"ก่อนมี "น้องไปค์" ผมกับคุณปูมีกิจกรรมที่ชอบทำของแต่ละคน แต่พอมีลูกก็เปลี่ยนไปเราสองคนหันมาทุ่มเทเวลาให้ลูกหมด
ถ้าไม่มีน้องไปค์ คุณปูอาจจะเห็นว่าผมเป็นลูกไปแล้วก็ได้ เพราะก่อนมีลูกชาย เขาเคยมาลูบคอล้อเล่นแล้วเรียกว่า "ลูกป๊อปๆ" (หัวเราะ)
พอมีน้องไปค์แล้ว เราสองคนยิ่งผูกพันขึ้นเรื่อยๆ คุณปูเคยบอกว่าลูกชายกับพ่อเหมือนกันมากถึง 90% เขาบอกว่าเมื่อก่อนเวลาผมไม่อยู่เขาจะเหงา แต่ตอนนี้ผมจะไปไหนก็ได้ เพราะเขามีน้องไปค์เป็นตัวแทนผม (ยิ้ม)"
เป็นผู้หญิงแกร่ง อดทน
"คุณปูเป็นคนที่กล้ายอมรับความจริงและกล้าเผชิญความจริงเขาสามารถนั่งดูทีวีที่มีคนมาด่าหรือใส่ร้ายเขาได้ ช่วงหนึ่งที่มีแต่คนออกมาด่า ผมบอกว่าทนดูได้ยังไง ผมเห็นแล้วยังต้องรีบปิดทีวีหนี แต่เขาบอกว่าไม่ได้หรอก ต้องดูเพื่อเก็บข้อมูลจะได้ชี้แจงและตอบโต้ว่าอันไหนจริงหรือไม่จริง เรียกว่าเขาอดทนและทำใจรับกับสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาได้ดี
ทุกวันนี้คุณปูยังทำงานหนัก ยิ่งมาลงเล่นการเมืองก็ยิ่งทำงานหนัก ทำให้เวลาเขาบ่น ผมจะยอมๆ เขา แต่ถึงจะงานหนักยังไง แค่ไปแหย่เขาหน่อย เขาก็หัวเราะแล้ว เขารู้จักแบ่งอารมณ์ ผมยังคุมอารมณ์ได้ไม่ดีเท่าเขาเลย ไม่ได้ชมกันเอง แต่ชมในฐานะนักธุรกิจและคิดว่านี่เป็นจุดแข็งของเขา"
"หลังจากนี้ครอบครัวผมคงเปลี่ยนไปเยอะ จากเดิมที่เราเป็นนักธุรกิจด้วยกันทั้งคู่ แต่พอมีคนหนึ่งเข้าไปสู่การเมือง ความเป็นส่วนตัวก็หายไปจึงต้องทำใจและทำตัวให้หนักแน่นเพราะต้องมีทั้งคนที่คิดดีและไม่ดีกับเรา แต่บางเรื่องเราก็ขำไม่ออก เพราะห่วงว่าถ้ามีคนเอาเรื่องไปจริงและไม่ดีไปบอกลูกชายเราล่ะ จะทำอย่างไร
ผมนั่งพูดกับลูกทุกวันว่า ถ้าแม่ลงเล่นการเมืองก็ต้องมีทั้งคนชอบและไม่ชอบ ถ้ามีคนชม ลูกรับไว้ แต่อย่าเหลิง แต่ถ้ามีคนว่าพ่อแม่ไม่ดี ลูกต้องหนักแน่น เราไม่เคยสอนให้เขารังแกใคร เอาเปรียบใคร ดังนั้น ถ้าลูกรู้ว่าแม่เป็นคนดี เวลาใครมาพูดอะไร เขาก็ต้องหนักแน่นคิดว่าต่อไปผมคงต้องระวังตัวมากขึ้น และคงปรับตัวให้ได้กับการเมืองไทย แต่ผมยืนยันว่าจะเป็นตัวของตัวเอง ใช้ชีวิตเหมือนเดิม ทำในสิ่งที่อยากทำ แต่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนเท่านั้นก็พอ"
ที่มา: มติชนออนไลน์ (วันที่ 01 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 เวลา 12:50:34 น.)
สมัครสมาชิก:
บทความ (Atom)