วันเสาร์, มิถุนายน 25, 2554

เอกสารลับ ยุทธการกระชับวงล้อม 14-19 พ.ค.53 ( ตอน 2)กระสุนจริงและสไนเปอร์


เอกสารลับ ยุทธการกระชับวงล้อม 14-19 พ.ค.53 ( ตอน 2)กระสุนจริงและสไนเปอร์
วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2554 เวลา 13:00:11 น.

หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสารเสนาธิปัตย์ กรมยุทธศึกษาทหารบก ปีที่ 59 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2553 เป็นบทความที่เขียนขึ้นเพื่อประกอบการจัดทำ”เอกสารแนวทางในการปฏิบัติทางทหาร: กรณีศึกษาการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในเมือง” จากความริเริ่มของพล.ท.สิงห์ศึก สิงห์ไพร เพื่อกำหนดบทบาทของกองทัพบกในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในเมืองรูปแบบใหม่


(ตอน2)

ความสำเร็จทางยุทธการ : การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์

1.แผนยุทธการมีพื้นฐานและสอดรับกับความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ทางทหารและนโยบายของรัฐบาล

2.แผนยุทธการมีการวางแผนเป็นขั้นตอนรัดกุมมีเสรีในการปฏิบัติตามกรอบเวลามีการวางแผนและปฏิบัติโดยปราศจากแรงกดดันด้วยเวลา

3.การปฏิบัติการข่าวสารนับว่าเป็นผลในระดับยุทธการ ทั้งในส่วนการสร้างขวัญและกำลังใจของฝ่ายปฏิบัติการ และลดขวัญกำลังใจของกองกำลังไม่ทราบฝ่าย

4.ความสำเร็จของการปฏิบัติงานด้านการข่าวในพื้นที่กลุ่ม นปช.ทำให้สามารถใช้หน่วยได้ตรงกับขีดความสามารถและถูกต้องเหมาะสมกับภารกิจ ยกตัวอย่าง การใช้หน่วยสไนเปอร์ของทุกกรม โดยเฉพาะกับพื้นที่ตึกสูงตามเส้นทางถนนวิทยุและสายสารสิน

5.ความสำเร็จในการจู่โจม แม้ว่าแผนยุทธการครั้งนี้ไม่สามารถจู่โจมด้วยเวลาได้ ก็มีการแก้เกมด้วยการจู่โจมด้วยความเร็วโดยการส่งล่วงหน้าเข้ารักษาความปลอดภัยบนพื้นที่อาคารสูง การเข้ายึดพื้นที่สวนลุมพินีเป็นส่วนใหญ่ได้ก่อนสว่าง และการรุกเข้าพร้อมกัน 3 ทิศทาง


6.การปฏิบัติตามแผนยุทธการ กระทำด้วยการรุกคืบด้วยความระมัดระวังของแต่ละพื้นที่โดยการประเมินศักยภาพของกำลังการ์ดนปช.ให้สูงกว่าเมื่อครั้ง10 เมษายน เพื่อให้มีระบบป้องกันตัวทหารที่มากขึ้น ดังนั้นการปฏิบัติการทางทหารที่ใช้กำลังทหารประมาณ 2 หมื่นนาย มีการสูญเสียทหาร 1 นาย กับบาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ก็ถือว่าเป็นความสูญเสียที่ยอมรับได้

7.กองกำลังการ์ด นปช.มีการตั้งรับแบบกองโจรวางกำลังเต็มพื้นที่ ขาดผู้เชี่ยวชาญการวางกำลังตั้งรับและร่นถอยแบบทหารที่แท้จริง เนื่องจากการเสียชีวิตของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล ทำให้จุดศูนย์ดุลของ นปช.กลายมาเป็นจุดแข็งของการปฏิบัติของกองทัพ

8.แผนยุทธการเป็นการวางแผนการปฏิบัติรบเต็มรูปแบบเสมือนการทำสงครามรบในเมือง ใช้กำลังขนาดใหญ่ถึง 3 กองพล วางแผนเข้าปฏิบัติการ ซึ่งมีอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบสูงกว่ามาก ยิ่งมีการสั่งการให้ใช้กระสุนจริงกับกลุ่มกลุ่มก่อการร้ายผู้ถืออาวุธ และเพื่อป้องกันตัวเองได้ ทำให้ทหารที่เคยสูญเสียความเชื่อมั่นจากเหตุการณ์ 10 เมษายน ก็มีจิตใจรุกรบมากขึ้น

9.แผนยุทธการในการรุกผ่านฝ่ายเดียวกันจากถนนสาทร ถนนสีลม ถนนสุรวงศ์ และถนนวิทยุ ทำให้กองกำลังทหารสามารถรักษาโมเมนตัมในการปฏิบัติการได้อย่างตอ่เนื่อง และสามารถพิทักษ์ป้องกันพื้นที่ส่วนหลัง (พื้นที่สีลม) ได้อย่างปลอดภัย

10.ความมีเอกภาพในการปฏิบัติ จากการสั่งการของแม่ทัพภาคที่ 1 กับกองกำลัง 3 กองพลให้ปฏิบัติการได้ถูกจังหวะการรุกและการหยุดหน่วย เพื่อผลการรุกของหน่วยอื่นหรือรอเวลาสำหรับการปฏิบัติชั้นสุดท้าย ยกตัวอย่างหน่วยรุกแตกหัก ได้แก่ พล ม.2 รอ.จากทิศทางสีลมมุ่งสู่สี่แยกศาลาแดง ส่วนที่ 2 กองพลที่เหลือคือ พล.ร.9 รับผิดชอบพื้นที่แยกอโศก เพลินจิต ชิดลม และ พล.1 รอ.รับผิดชอบพื้นที่ดินแดง พญาไท ราชปรารภ กำลังส่วนนี้ต้องตรึงกำลัง ปิดเส้นทางหลบหนี ขณะเดียวกันก็เปิดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม นปช.ได้ทยอยออกจากพื้นที่ราชประสงค์ผ่านถนนพระราม 1 ไปแยกปทุมวัน หรือเข้าไปในวัดปทุมวนาราม



ความสำเร็จทางยุทธวิธี : การกระชับวงล้อมพื้นที่ราชประสงค์

ยุทธการกระชับวงล้อมเมื่อ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 เป็นการปฏิบัติทางทหารเต็มรูปแบบ จึงเห็นได้ว่าภารกิจชัดเจน คือการกระชับวงล้อมด้วยกระสุนจริง จากกำลังหน่วยรบหลักของเหล่าทหารราบ เหล่าทหารม้า และหน่วยส่งกำลังทางอากาศ อย่างเช่น ร.31 รอ.ในภารกิจปฏิบัติการพิเศษ อาจเรียกได้ว่าเป็นการรบในเมืองที่ใช้อาวุธยุทธโธปกรณ์ทางทหารเต็มอัตราศึก ทั้งกำลัง อาวุธประจำกายที่ทันสมัย ชุดสไนปอร์ หน่วยยานเกราะ ซึ่งการปรับกำลังและการเปลี่ยนแปลงทางยุทธวิธีที่สำคัญครั้งนี้ก็เป็นผลสะท้อนจากบทเรียนเมื่อ 10 เมษายน พ.ศ.2553 นั่นเอง

การปฏิบัติการทางยุทธวิธีที่ใช้เวลาทำงาน 9 ชั่วโมง (เวลา 03.30-13.30) ถือว่าเป็นบทเรียนที่สำคัญยิ่งทางยุทธวิธีของการรบในเมือง ที่สมควรได้มีการบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของการรบในเมือง ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1.การปฏิบัติการทางยุทธวิธีสอดรับกับแผนยุทธการกระชับวงล้อมของศอฉ.ในระดับยุทธการและนโยบายของรัฐบาลที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อการเมืองชัดเจนผู้บังคับบัญชาชั้นสูงของกองทัพชัดเจน ผู้บังคับหน่วยชัดเจนนำมาซึ่งแผนยุทธการและแผนปฏิบัติระดับยุทธวิธีก็มองเห็นทิศทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ


2.ปรับยุทธวิธีการปราบจลาจลเป็นยุทธวิธีการรบในเมือง เพื่อการปราบปรามกองกำลังติดอาวุธ หรือผู้ก่อการร้ายที่แอบแฝงในกลุ่ม นปช.ด้วยฐานข่าวของ ศอฉ.ว่ามีกองกำลังติดอาวุธประมาณ 500 คน มีอาวุธปืนซุ่มยิง อาวุธสงคราม เช่น M 79 M 16 AK 47 และ Travo-21

3.ปรับการยิงกระสุนยางจากปืนลูกซองเป็นการใช้กระสุนจริงจากอาวุธประจำกาย ทำให้ต้องมีการสร้างวินัยอย่างเข้มงวด ตามกฎการใช้กำลัง จากเบาไปหาหนัก ตามหลักสากลมีการยิงให้กรวยกระสุนตกต่ำกว่าหัวเข่า การยิงเมื่อเห็นเป้าหมายหรือบุคคลถืออาวุธ เป็นการยิงเพื่อป้องกันตัวเอง การยิงขู่จะยิงเมื่อม็อบเคลื่อนที่เข้ามาแล้วสั่งให้หยุด ก็ไม่ยอมหยุด


4.การจัดระยะห่างระหว่างการวางกำลังของหน่วยทหารกับแนวตั้งรับของม็อบในระยะยิงหวังผลปืนM16 ประมาณ 400 หลา ซึ่งต้องมีกำลังพลเข้าเวรตรวจดูความเคลื่อนไหวกลุ่ม นปช.ทั้งกลางวันและกลางคืนตลอดเวลา

5.การปรับการวางกำลังและการเคลื่อนที่ภายใต้อาคารและทางเดินเท้าไม่มีการจัดรูปขบวนยืนแถวหน้ากระดานเป็นแผงกลางถนน เพื่อเตรียมตัวผลักดันกับฝูงชนในภารกิจปราบจลาจล เพื่อป้องกันการซุ่มยิงจากด้านหลังผุ้ชุมนุม


6.การดัดแปลงที่วางกำลังเป็นการตั้งรับแบบเร่งด่วนเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือถอยร่นด้วยกำบังกระสอบทรายสูงระดับครึ่งเข่า เมื่อต้องนอนราบหรือสูงระดับศรีษะเมื่อต้องการยืนปฏิบัติการ และมีการวางแนวทหารตั้งรับเป็นชั้นๆ ตามเส้นทางเคลื่อนที่เข้าหาม็อบ มิใช่เป็นการวางแนวเป็นปึกแผ่นเพียงชั้นเดียว ซึ่งถ้าม็อบมีจำนวนมากกว่า ก็สามารถล้อมทหารและเข้าถึงตัวแย่งปืนได้ง่าย

7.ใช้ลักษณะผู้นำหน่วยขนาดเล็กสูงมาก เพราะต้องอดทน ใจเย็น รอเวลา ทนต่อการยั่วยุ การรับควันไฟกลิ่นยางรถยนต์ที่เหม็นรุนแรงตลอดทั้งวันทั้งคืน

8.การใช้ส่วนสไนเปอร์คุ้มครองการเคลื่อนที่ในการรุกไปข้างหน้าและการป้องกันให้หน่วยเมื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้า หรือเมื่อกองกำลังหยุดนิ่งอยู่กับที่เป็นเวลาข้ามวันข้ามคืน อีกทั้งต้องรับภารกิจอารักขาผู้บังคับบัญชาระดับสูงอีกด้วย

9.การวางกำลังตามแนวทางเดินเท้าสามารถวางกำลังได้ ยิ่งกระจายกำลังออกไปให้ได้มากก็ยิ่งตกเป็นเป้าหมายคุ้มค่าน้อยลง และไม่ตกเป็นเป้าหมายคุ้มค่าน้อยลง และไม่ตกเป็นเป้าหมายขนาดใหญ่ให้กับกระสุน M 79 ของกำลังก่อการร้าย

10.พัฒนารูปแบบการวางจุดตรวจการณ์ข้างหน้า (Out Post) โดยใช้สะพานลอยข้ามถนนมีการปิดฉากม่านดำเสริมด้วยบังเกอร์และกระสอบทราบ ทำให้ลดการตรวจการณ์ของการ์ด นปช.และเสริมการป้องกันได้อีกทางหนึ่ง ทั้งสามารถปกปิดการถ่ายรูปจากสื่อมวลชน

11.การปรับกำลังและระดมพลแม่นปืนเท่าที่มีอยู่ของกองทัพบกเข้าประจำพื้นที่เพื่อต่อต้านการซุ่มยิงของกลุ่ม นปช.ทั้งบนอาคารสูงและพื้นที่สูงข่ม

12.การกำหนดพื้นที่อันตรายเป็นฉนวนกั้นกลางระหว่างแนวระยะยิงหวังผลของหน่วยทหารกับแนวตั้งรับของกลุ่มนปช.เป็นยุทธวิธีประการหนึ่ง โดยมีการประกาศเขตการยิงด้วยกระสุนจริง (Live Firing Zone)



13.การกำหนดเขตห้ามบิน เป็นแผนยุทธการที่สนับสนุนงานยุทธวิธี ทำให้มั่นใจว่าการรบเหนือน่านฟ้าพื้นที่ราชประสงค์ ฝ่ายเราสามารถครองความได้เปรียบทางอาศัยอยู่

14.ยุทธวิธียอมเสียพื้นที่ แล้วถอยกลับมาตั้งรับในพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่า ห่างจากระยะยิงของพลซุ่มยิงกลุ่ม นปช.เห็นได้จากความล้มเหลวในการกระชับวงล้อมในพื้นที่ 14 พฤษภาคม ถือว่าเป็นยุทธวิธีที่ชาญฉลาด ด้วยการไม่บุกตะลุยเข้าสู่คิลลิ่งโซน (Killing Zone)


15.การถอนกำลัง หรือการวางกำลังกระจายตัวมากขึ้นภายหลังค่ำมืด ก็ถือว่าเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการไม่ตกเข้าไปในกับดักที่เป็นเป้าหมายคุ้มค่า

16.การใช้หน่วยรถหุ้มเกราะเมื่อจำเป็นและต้องการผลแตกหักในการสลายการชุมนุมเท่านั้น จึงทำให้ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวของยานเกราะก่อนวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553


17.การใข้รถหุ้มเกราะกับพลรบเคลื่อนที่ตามกันนั้นเป็นยุทธวิธีหนึ่งที่ได้แปรเปลี่ยนไปเพื่อเป็นการข่มขวัญการ์ด นปช.เพราะลดการสูญเสียพลรบ จากอาวุธ M79 จรวด RPG หรือระเบิดเคโมร์ตามแนวตั้งรับ นปช.


18.การสนธิกำลังอย่างลงตัวของชุดรบที่ประกอบด้วยชุดสไนเปอร์ ขบวนรถหุ้มเกราะพลรบหลังรถหุ้มเกราะขุดผจญเพลิง ขุดกู้ระเบิด (EOD) เป็นที่ประสบความสำเร็จที่น่าสนใจ


19.การกำหนดระยะเวลาการปฏิบัติการที่ส่งผลให้มีเสรีในการปฏิบัติทางยุทธวิธีเช่น การเริ่มปฏิบัติในตอนเช้าตรู่ ทำให้มีเวลามากพอสำหรับกำลังในการรุกเข้าเคลียร์พื้นที่ แต่การรบในเวลากลางคืนทำให้การมองเห็นจำกัด อาจตกเป็นเป้าหมายของกองกำลังก่อการร้ายที่แอบแฝง และที่สำคัญไม่มียิงฝ่ายเดียวกันหรือยิงประชาชนผู้บริสุทธิ์


20.การใช้หน่วย ปจว.ทางยุทธวิธี เพื่อทำความเข้าใจก่อนการบุกสลายการชุมนุมถือว่าเป็นหลักสากลประการหนึ่ง

21.การใช้หน่วยในพื้นที่วางกำลังส่วนล่างหน้าไว้แล้วตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม เพื่อตรึงกำลังป้องกันมิให้มวลชนคนเสื้อแดงยกกำลังเข้าช่วยที่ราชประสงค์ ต่อจากนั้นจึงใช้กำลังหลักเข้าสลายกลุ่มชุมนุม

22.การยอมถอนตัวของกำลังทหารออกจากพื้นที่ราชประสงค์ภายหลังถูกโจมตีด้วย M79 ในช่วงตอนเย็นตรงพื้นที่แยกสารสิน ถอยกลับไปยังพื้นที่ปลอดภัยถนนสีลมถือว่าเป็นการตัดสินใจในระดับยุทธวิธีที่ถูกต้อง เพื่อลดการสูญเสียโดยไม่จำเป็น

23.มีการซักซ้อมแผนและซักซ้อมการปฏิบัติทั้งหมดทั้งในพื้นที่ตั้งหน่วยและที่ร.11 รอ. เป็นการสร้างหลักประกันความมั่นใจสู่ความสำเร็จ และเป็นการลดเกณฑ์เสี่ยงได้อีกทางหนึ่ง

.................
(ติดตามอ่านตอน3 ตอนจบ) ข้อเสนอแนะจากบทเรียนทางยุทธศาสตร์ ยุทธการ และยุทธวิธี พรุ่งนี้(26มิ.ย.)

เอกสารลับ ยุทธการกระชับวงล้อม 14-19 พ.ค.53 ( ตอน 1) "มาร์ค"สั่งกระชับวงล้อมเพื่อ"ยุติ"ไม่ใช่"เจรจา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น