วันอาทิตย์, เมษายน 17, 2554
กูรูใหญ่ ส่อง"ประเทศไทย"หลังเลือกตั้ง"เละ! "อภิสิทธิ์ -ยิ่งลักษณ์"ไม่ใช่คำตอบ...รอประชาชนเป็นพระเอก!
จะได้กลับมารอบสองหรือไม่ ?
จะแดงไปถึงไหน ?
คนเสื้อแดง และพาร์ตเนอร์ชื่อ ทักษิณ
"นิธิ เอียวศรีวงศ์"
ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน
ชั่วโมงนี้ การเมืองไทยน่าจะเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งแน่นอนแล้ว
พรรคใหญ่ พรรคกลาง เปิดตัวผู้สมัครกันอย่างคึกคัก 20-23 เมษายน พรรคประชาธิปัตย์ โหมนโยบายหาเสียงผ่านสื่อ ขณะที่พรรคเพื่อไทย จะแกะกล่องนโยบายที่ส่งตรงจาก"นายใหญ่"ในวันที่ 23 เมษายน
ถนนไปสู่การเลือกตั้ง แน่นอนแล้ว แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ หลังเลือกตั้งแล้วการเมืองจะเละกว่านี้ไหม !!!
"มติชนออนไลน์" นำเสนอมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ นักรัฐศาสตร์ และกูรูใหญ่ มานำเสนอ เพื่อให้ท่านผู้อ่านมองเห็นภาพเศรษฐกิจการเมืองไทย หลังการเลือกตั้งที่เดิมพันสูงลิ่ว
เศรษฐกิจไทยไม่น่าห่วง วิตกการเมืองทุบพัง !!!
ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ นักเศรษฐศาสตร์อิสระ วิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยไม่น่าห่วงเท่าการเมือง
"เศรษฐกิจไทยในขณะนี้เหมือนเรือลำไม่ใหญ่ แต่ค่อนข้างแน่น แม้จะมีคลื่นและลมพายุเข้ามาปะทะก็สามารถโต้คลื่นลมได้ ซึ่งในบางครั้งเรืออาจโคลงเคลง แต่จะไม่จม ไม่รั่ว เพราะเรือไม่เปราะบาง เว้นแต่คนในเรือตีกันเอง ซึ่งหมายถึงมีความรุนแรงทางการเมืองเกิดขึ้น เศรษฐกิจไทยก็จมได้เช่นกัน ดังนั้นแม้รัฐบาลจะประกาศให้มีการเลือกตั้งในเร็ว ๆ นี้ แต่ความไม่แน่นอนทางการเมืองก็ยังเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่ต้องจับตามอง "
สอดรับกับ ทัศนะของ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวม สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่วิเคราะห์ว่า " ความเสี่ยงที่นักลงทุนค่อนข้างกังวลมากที่สุดเป็นปัญหาการเมือง ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนว่าสถานการณ์จากนี้ไปจนถึงเลือกตั้งหรือหลังเลือกตั้งผลจะออกมาอย่างไร "
เช่นเดียวกับ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อัครราชทูต ฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป ที่แสดงความเห็นว่า การเมืองทำให้ประเทศเสียโอกาส
" น่าเสียดาย คือวิกฤตการเมืองในประเทศและวิกฤตโลกได้ทำให้ประเทศเสียโอกาสในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจในระยะยาว โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ กล่าว
เลือกตั้งมีแน่ แต่หลังเลือกตั้งต้องรอโชคชะตา
จากนักเศรษฐศาสตร์มาฟังนักรัฐศาสตร์รุ่นใหญ่ อย่าง ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต ผู้อำนวยการโครงการปริญญาเอก วิทยาลัยสื่อสารการเมือง มหาวิทยาลัยเกริก
นักรัฐศาสตร์ใหญ่ เชื่อว่า "ยังไงก็มีการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายจะไปไม่รอด หรืออาจจะบริหารประเทศได้ 5-6 เดือน แล้วเกิดการประท้วงวุ่นวายไปหมด รัฐบาลไปไม่ได้ แล้วก็อาจมีรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา เพราะถ้านักการเมืองเสื่อมคนก็ไม่ยอมรับ ตอนนี้การเมืองไทยก็รอโชคชะตาอย่างเดียว "
"หลังการเลือกตั้งนี่ไม่ว่าพรรคไหนจะรวมกันจัดตั้งรัฐบาลก็แล้วแต่ แต่ถ้านักการเมืองไม่ปรับปรุงแก้ไขตัวเอง และไม่ตระหนักถึงวิกฤตที่จะเกิดขึ้นต่อประเทศชาติและสังคมโดยรวมนะมันไม่เกิดประโยชน์หรอก เลือกตั้งมันก็แค่กระบวนการอันหนึ่งที่มันผ่านไปเพื่อตั้งรัฐบาล แต่ถ้ามันไม่แก้ที่ตัวผู้ที่ได้อำนาจมาจากการเลือกตั้ง การเมืองมันก็กลับไปสู่ที่เดิม"
ดร.ลิขิต วิเคราะห์สถานการณ์หลังการเลือกตั้งเป็น 4 แนวทาง ดังนี้คือ
แนวทางที่ 1. เลือกตั้งปุ๊บทุกอย่างเรียบร้อย ราบรื่นทุกอย่าง พรรคที่ได้เสียงข้างมากก็จัดตั้งรัฐบาล บริหารประเทศไป ส่วนพรรคที่แพ้ก็ไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งมันเป็นแนวคิดที่ดีเกินไปที่จะเป็นความจริง แต่หลายคนก็อยากให้เป็นแบบนี้
แนวทางที่ 2. มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการเลือกตั้งที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ บางพรรคจะหาเสียงไม่ได้ในบางพื้นที่ เข้าไปก็ถูกขว้าง จนถึงขั้นใช้ความรุนแรง อาจจะมีการขว้างระเบิดกัน ยิงกัน ผมเพิ่งเจอ ส.ส. คนหนึ่งเขาบอกว่าลงไปในพื้นที่นี่ โอ้โห...มันด่ากัน ขว้างไข่กัน ขนาดไปงานศพยังถูกขว้างเลย ถามจริงๆ ตอนนี้หัวหน้าพรรคบางพรรคลงไปหาเสียงในภาคเหนือภาคอีสานได้ไหม แล้วหัวหน้าพรรคอีกพรรคไปหาเสียงในภาคใต้ได้ไหม จะมีแคมเปญยังไงล่ะ อย่างนี้มันไม่ใช่การเลือกตั้งแล้ว ซึ่งสุดท้ายอาจจะต้องหาทางออกด้วยการยุติการเลือกตั้ง หรือปล่อยไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายประชาชนเอือมระอาว่าถ้าการเลือกตั้งยังเป็นอย่างนี้แล้วรัฐบาลจะเป็นยังไง
แนวทางที่ 3 การเลือกตั้งผ่านไปได้ ถึงจะมีความรุนแรงบ้างแต่ก็เลือกตั้งได้ แต่ว่าประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง เพราะมีการโกงทุกรูปแบบ เพราะฉะนั้นประท้วงกันทั่วเลย เหมือนสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม หลัง พ.ศ. 2500 ที่มีการเลือกตั้งสกปรก นิสิตจุฬา นักศึกษาธรรมศาสตร์ ประท้วงกันใหญ่ ก็มาเจอร้อยเอกคนหนึ่งที่สะพานมัฆวานฯ บอกหยุดก่อน เดี๋ยวนายจะมา ร้อยเอกคนนั้นคือ อาทิตย์ กำลังเอก จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มาแล้วบอก “พบกันใหม่เมื่อชาติต้องการ” แล้วก็ปฏิวัติ ทีนี้พอประชาชนไม่ยอมรับการเลือกตั้ง มันก็เกิดการฟ้องร้อง คดีล้นศาลไปหมด ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องโหวตโนเยอะแยะนะ แล้วถ้าคนเกิน 50% บอกโน..ฉันไม่เลือกใคร ยุ่งเลยนะ ความชอบธรรมในการเลือกตั้งไม่มี
แนวทางที่ 4 เลือกตั้งผ่านไปได้ ถึงจะมีการขว้างปากันช่วงหาเสียงแต่ก็ยังกล้อมแกล้มผ่านไปได้ แต่ว่าตั้งรัฐบาลไม่ได้ หรือกว่าจะตั้งได้หืดขึ้นคอเลยเพราะคะแนนมันก้ำกึ่ง และถึงตั้งรัฐบาลได้ก็บริหารงานไม่ได้ เหมือนสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทั้งหมดก็คือลงเอยว่าระบบการเลือกตั้งต้องยุติชั่วคราว
ดร.ลิขิต เชื่อว่า แนวทางที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ แนวทางที่ 3 คือเลือกตั้งได้แต่ประชาชนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง มีการคัดค้านเยอะแยะไปหมด อาจจะแรงเลยเพราะต่างคนต่างไม่ยอมแพ้ มีคดีขึ้นศาลเต็มไปหมด ชาวบ้านเดินขบวนไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง กกต.(คณะกรรมการการเลือกตั้ง) บอกอย่างงี้ไม่ไหวแล้ว กกต.ทนไม่ได้ลาออกดีกว่า
บทสรุปของ ดร.ลิขิต คือ การเมืองไทย ต้องรอโชคชะตาอย่างเดียว !!!
"อภิสิทธิ์ -ยิ่งลักษณ์" ไม่ใช่คำตอบ
เมื่อเจาะผู้นำการเมือง รายตัว นักรัฐศาสตร์รุ่นเดอะ แจกแจงไว้ดังนี้
"คุณอภิสิทธิ์ก็มีข้อจำกัดมากในแง่ของประสบการณ์และความรู้ เขาไม่มีประสบการณ์ ไม่มีประวัติความสำเร็จสักอย่างนอกจากเป็นนักการเมือง แล้วมันลำบากเพราะแกขึ้นมาก็ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง พูดกันในแง่ดีก็คืออย่างน้อยแกก็ประคับประคองรัฐบาลมาได้ ก็ทำให้ดีที่สุดเท่าที่จะดีได้ แต่สถานการณ์อย่างนี้ลำบาก"
ส่วน"ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" ดร. ลิขิต เห็นว่า "ยังอ่อนประสบการณ์ ยังติดเรื่องอาวุโสอะไรต่างๆ มันไม่ง่าย แค่บริหารพรรคก็ลำบากแล้ว แต่ถ้ามีคนหนุนหลังอยู่ก็อาจจะทำได้ ก็บริหารงานในลักษณะของตัวแทน"
โดยภาพรวมแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ประชาธิปัตย์ หรือ เพื่อไทย ...ต่างลำบาก ไม่มีตัว ไม่มีตัวเกือบทุกพรรค !!!
นี่คือ การตอบแบบฟันธงของ ราชบัณฑิตและกูรูใหญ่สายรัฐศาสตร์
พระเอก คือประชาชน คือสังคม ไม่ใช่นักการเมือง
สุดท้ายคือ "นิธิ เอียวศรีวงศ์" 1 ใน 20 อรหันต์กรรมการปฎิรูปประเทศไทย ที่มองอนาคตประเทศไทยว่า ข้ามไม่พ้นขั้วการเมือง
" ไม่มีทาง คืออย่างนี้ การมีความแตกแยก มีความแตกต่าง ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่มันต้องแตกต่างกันได้ในหลาย ๆ เรื่อง การที่เราแตกต่างกันอยู่เรื่องเดียว มันมีปัญหามาก ๆ ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็เรื่องที่ว่า ใช่คุณทักษิณ หรือไม่ใช่คุณทักษิณ พอมาตอนนี้ก็กลายเป็นว่า คุณแดง หรือคุณไม่แดง แทนที่คุณจะมาแตกต่างว่า คุณไม่ชอบประชาธิปัตย์ แต่คุณก็เห็นด้วยกับพรรคในเรื่องนั้นเรื่องนี้ คือเราต้องมีหลายมิติ แต่ตอนนี้เรามีแค่มิติเดียว "
แต่อย่างไรก็ตาม "นิธิ" ก็มีความหวังกับการปฎิรูป โดยมีสังคมเป็นตัวผลักดัน
"คนที่เป็นพระเอก คือประชาชน คือสังคม ไม่ใช่นักการเมือง"
คือคำตอบสุดท้ายของ"นิธิ เอียวศรีวงศ์"
( ข้อมูล ประชาชาติธุรกิจ มติชน ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ )
ที่มา: มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2554 เวลา 23:49:37 น.)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น