วันเสาร์, เมษายน 09, 2554

การเมืองไทย 2554 (2)

รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร ได้เขียนบทวิเคราะห์ “การเมืองไทย 2554” โดยฉบับที่แล้วเป็นตอนที่ 1 ได้กล่าวถึง “พื้นฐานโครงสร้างการเมืองไทยและปัญหาหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” และ “ประเด็นสถานการณ์ปัญหาทางการเมือง 2554” โดยกล่าวถึงการจับกุมกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ นปช. ทำให้ขบวนการเสื้อแดงมีความหวังมากขึ้นเกี่ยวกับอนาคตทางการเมืองของประเทศ

การชุมนุมมวลชนที่มี นปช. เป็นแกนนำได้รับความร่วมมือและการเข้ามีส่วนร่วมจากประชาชนจำนวนมากทั่วประเทศ โดยแกนนำ นปช. ประกาศเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์เพื่อสร้าง “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง” และด้วยยุทธวิธีตามแนวทาง “สันติวิธี” (แกนนำ นปช. แถลงอย่างเป็นทางการที่ศูนย์การค้าอิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว กรุงเทพฯ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2553 ด้วยเอกสารเชิงนโยบายของตน)

ขณะที่แกนนำมวลชนเสื้อแดงกลุ่มอื่นที่ประกาศท่าทีเบี่ยงเบนแตกต่างออกไป (เช่น แกนนำมวลชนบางกลุ่มปราศรัยโน้มนำความคิดประชาชนว่าต้นตอของปัญหาการเมืองไทยและการปราบปรามประชาชนด้วยความรุนแรงมีที่มาจากคำสั่งของบุคคลใน “สถาบัน” (ผู้เขียนพบว่าแม้แต่บุคคลที่มีตำแหน่งการเมืองระดับสูงของประเทศจำนวนหนึ่งก็ “เชื่อ” เช่นนั้น บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับโดยตรงจาก “แหล่งข้อมูลชั้นสอง” ซึ่งแม้จะเป็นบุคคลน่าเชื่อถือ แต่ข้อมูลก็มีลักษณะสำคัญเป็นข่าวสารประเภท “การโฆษณาชวนเชื่อ” จากกลุ่มอำนาจในกองทัพและรัฐบาล มากกว่าจะเป็นความจริงที่พิสูจน์ยืนยันได้) แกนนำมวลชนดังกล่าวแสดงจุดยืนทางความคิดหลายครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้แบบสันติวิธีของ นปช. การสำรวจข้อมูลภาคสนาม

รวมทั้งการสังเกตการณ์และการสัมภาษณ์ประชาชนในพื้นที่ชุมนุมคนเสื้อแดงหลายครั้ง ทำให้เห็นว่ามีกลุ่มปฏิบัติการจิตวิทยามวลชนจำนวนหนึ่งนำเครื่องมือโฆษณาชวนเชื่อทางการเมืองที่โน้มนำความคิดดังกล่าว เช่น อัลบั้มภาพถ่าย เอกสารใบปลิวและเอกสารบทความ แผ่นวีซีดี ฯลฯ เข้าไปเผยแพร่ต่อมวลชนเสื้อแดงในที่ชุมนุม นปช. เพื่อให้มีการกระจายข่าวสารข้อมูลต่อๆกันไป โดยหวังผลแบบ “น้ำซึมบ่อทราย” ตามคำที่แกนนำกลุ่มมวลชนเหล่านี้ใช้อธิบายกับผู้ปฏิบัติการมวลชนของตน) ยังคงดำเนินกิจกรรมของตนเป็นอิสระจาก นปช.

แต่จนถึงต้นปี 2554 ยังไม่สามารถเรียกร้องความร่วมมือจากประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมกับกลุ่มตนได้มากเท่าการชุมนุมที่มี นปช. เป็นแกนนำ (ข้อมูลสังเกตการณ์เชิงปริมาณเบื้องต้นจากสนามกิจกรรมการชุมนุมของกลุ่มเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2554 โดยยังไม่วิเคราะห์รวมกับผลทางปฏิบัติของการจัดสัมมนาเชิงวิชาการในช่วงต้นปีดังกล่าวในหัวข้อเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่นักวิชาการ “กลุ่มนิติราษฎร์” (คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีนักวิชาการมหาวิทยาลัยอื่นร่วมด้วย)

การยืนหยัดรักษาสาระสำคัญที่ครบถ้วนตามคำประกาศเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์และแนวทางสันติวิธีของ นปช. เป็นจุดเข้มแข็งที่กลุ่มอำนาจพิมพ์เขียวตามรัฐธรรมนูญ 2550 ต้องการบั่นทอน (ด้วยการแทรกซึม) และทำลาย (ด้วยการใช้กำลังปราบปราม) แต่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จตลอดช่วงเวลากว่า 4 ปีที่ผ่านมา

ความต้องการบั่นทอนและทำลายพลังทางการเมืองของมวลชนเสื้อแดงดังกล่าวยังปรากฏร่องรอยหลักฐานให้เห็นได้ในปี 2554 และจะยังคงดำเนินต่อไปควบคู่กับการพยายามเรียกร้อง “การปรองดอง” ในขอบเขตความหมายที่ไม่บั่นทอนสถานะอำนาจทางการเมืองของกลุ่มตน โดยอาจมีการอ้างใช้ประโยชน์จากการปล่อยตัวชั่วคราวแกนนำ นปช. ออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯตามคำสั่งศาลอาญาเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ เป็นส่วนหนึ่งของข้อเรียกร้องกดดันให้ขบวนการเสื้อแดงเข้าสู่วิถีการปรองดองในความหมายดังกล่าว แต่การปรองดองโดยให้ประชาชนยอมรับอำนาจดังกล่าวอาจหวังผลได้ยากยิ่งขึ้น หลังจากมีการเปิดเผยข้อเท็จจริงต่อประชาคมโลกมากขึ้นตามลำดับเกี่ยวกับการใช้อำนาจรุนแรงโดยกองทัพและรัฐบาลในการปราบปรามการชุมนุมคนเสื้อแดงในปีที่ผ่านมา

(ตัวอย่างสำคัญได้แก่ การเปิดเผยข้อมูลต่างๆในเอกสารที่สำนักงานกฎหมายอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ยื่นร้องขอต่อสำนักอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554 ให้ดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมในประเทศไทยในปี 2553; นอกเหนือไปจากนี้การรายงานข่าวโดยสื่อมวลชนต่างประเทศ เช่น นายแดน ริเวอร์ สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น รายงานข่าวจากประเทศไทยในสนามเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2553 ก็มีสาระสำคัญของข้อเท็จจริงขัดแย้งกับคำแถลงของรัฐบาลและศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ในขณะนั้น)

ส่วนที่ 3

ปฏิรูป ปฏิวัติ รัฐประหาร

โอกาสที่จะเกิด “การรัฐประหาร” ในปี 2554 โดยการตัดสินใจขั้นสุดท้ายของกลุ่มผู้นำในโครงสร้างอำนาจตามพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ 2550 ยังมีความเป็นไปได้ โดยหวังผลในการจัดระเบียบทางการเมืองอีกครั้งเพื่อรักษาภาวะการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องของตน แต่การติดตามข้อมูลสถานการณ์อย่างระมัดระวัง และความพร้อมของเครือข่ายกลุ่มพลัง นปช. ในการเคลื่อนไหวมวลชนต่อต้านและต่อสู้กับการรัฐประหาร จะช่วยขัดขวางหรือยับยั้งการตัดสินใจขั้นสุดท้ายดังกล่าว ดังเช่นกรณีที่มีการรายงานข่าวสารข้อมูลในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 เกี่ยวกับ “การนัดหารือ” ระหว่างกลุ่มบุคคลที่บ้านนักธุรกิจระดับชาติ และความเคลื่อนไหวของผู้นำทางทหารและอดีตผู้บัญชาการซึ่งมีบารมีทางการเมืองการทหารระดับสูงสุดของประเทศที่จังหวัดเพชรบูรณ์ในช่วงต้นปี 2554

กรณีนี้ทำให้มีการตั้งข้อสังเกตอย่างกว้างขวางในแวดวงนักวิเคราะห์ทางการเมืองและผู้เชี่ยวชาญทางการทหารจำนวนหนึ่งว่า คณะผู้นำทหารเตรียมการรัฐประหารที่อาจตัดสินใจลงมือในช่วงเดือนดังกล่าวจริง แต่ไม่สามารถตัดสินใจขั้นสุดท้ายให้ลงมือปฏิบัติการรัฐประหารได้ ทั้งที่มีการเคลื่อนย้ายกำลังพลรองรับไว้แล้วจำนวนหนึ่ง ในกรณีดังกล่าวนอกจากแกนนำ นปช. จะมีส่วนสำคัญในการเปิดเผยข้อมูลเรื่องการนัดหารือแล้ว นปช. ยังเปิดแถลงต่อสื่อมวลชนอย่างเป็นทางการ เพื่อแจ้งเตือนและแนะนำประชาชนเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการต่อต้านการรัฐประหารหากเริ่มมีการประกาศการยึดอำนาจครั้งใหม่ ความตื่นตัวในการต่อต้านการรัฐประหาร

ผนวกกับความวิตกกังวลอย่างจริงจังจากกลุ่มทุนเอกชนรายใหญ่ในประเทศ (รวมทั้งข้อสังเกตที่ระบุว่าคณะผู้ประชุมหารือไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้เกี่ยวกับผู้ที่จะให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการรัฐประหาร) อาจประกอบกันเป็นสาเหตุให้ไม่มีการตัดสินใจลงมือก่อการรัฐประหารในช่วงเดือนดังกล่าว หรือในอีกทางหนึ่งที่อาจเป็นไปได้เช่นกันคือ การเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลเพื่อให้มีรายงานข่าวทางสื่อมวลชนครั้งดังกล่าว (ซึ่งปรากฏต่อมาว่ามีการสะท้อนความเห็นจากหลายฝ่ายที่แสดงความวิตกกังวลและคัดค้านการรัฐประหาร) อาจเป็นเพียงการเคลื่อนไหวข่าวสารเชิงยุทธการของกลุ่มการเมืองบางกลุ่มเพื่อตรวจสอบภาวะทางการเมืองบางประการ

อย่างไรก็ตาม การรัฐประหารยังมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสภาพการณ์ทางปฏิบัติของการเมืองไทยตลอดปี พ.ศ. 2554 เนื่องจากเครือข่ายกลุ่มอำนาจรัฐตามพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ 2550 ตกอยู่ท่ามกลางภาวะกดดันคุกคามความมั่นคงของกลุ่มตนทั้งจากการดำเนินงานของพรรคฝ่ายค้านในรัฐสภา การเคลื่อนไหวของมวลชนเสื้อแดงทั่วประเทศ และจากการดำเนินการทางกฎหมายในกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศ ในช่วงเวลาที่ผู้นำกลุ่มอำนาจยังไม่สามารถตัดสินใจก่อการรัฐประหารซ้ำเพราะไม่มั่นใจในความสำเร็จ

กลไกอำนาจรัฐตามพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ 2550 ที่มีตำแหน่งและอำนาจอยู่ในฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ รวมทั้งในองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะใช้ประโยชน์จากเครื่องมือของรัฐและกระบวนการโฆษณาชวนเชื่อในอาณัติดำเนินการเผยแพร่และเรียกร้องความร่วมมือจากสาธารณชนให้เห็นคล้อยตามว่ารัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์กำลังดำเนินการปฏิรูปเพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ

ในประเด็นนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า โครงการที่ถูกระบุว่ามีจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง รวมทั้งคณะกรรมการชุดต่างๆที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้ง และเรียกชื่อหรือระบุในเอกสารแต่งตั้งให้มีสีสันของการปฏิรูปเหล่านั้นเป็นเพียง “โครงการผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมือง” ที่รุมเร้ารัฐบาลและเครือข่ายอำนาจรัฐตามพิมพ์เขียวดังกล่าว โดยไม่อาจนำไปสู่ “การปฏิรูปที่แท้จริง” ตามความหมายที่กลุ่ม นปช. และมวลชนเสื้อแดงต่อสู้เรียกร้อง

การเปิดเผยความเห็นผ่านเอกสารวิชาการซึ่งถูกอ้างอิงต่อมาโดยสื่อมวลชนแวดวงจำกัดในช่วงต้นปี 2554 โดยศาสตราจารย์คณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการสอบสวนค้นหาความจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายนและพฤษภาคม 2553 (รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์แต่งตั้งโดยให้เหตุผลว่าเพื่อแสดงความจริงใจให้มีการค้นหาความจริงอย่างเป็นอิสระ

อันจะนำไปสู่การปรองดองระหว่างฝ่ายต่างๆที่ขัดแย้งกัน) เป็นตัวอย่างสำคัญของกรณีการใช้โครงการของรัฐเป็นเครื่องมือในการผ่อนคลายแรงกดดันทางการเมือง โดยไม่มีศักยภาพที่มุ่งหมายการปฏิรูปที่แท้จริง

นอกเหนือไปจากนี้การทำงานของคณะกรรมการที่รัฐบาลแต่งตั้งและมอบหมายการทำงานให้มีสีสันทางวิชาการมากขึ้น เช่น การทำงานของคณะกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปทางการเมืองชุดที่มีศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นประธาน ก็ปรากฏผลการทำงานคล้ายคลึงกันว่าเป็นข้อเสนอที่นอกจากจะมีความแปลกแยกแตกต่างไปจากหลักการของการเมืองประชาธิปไตยตามระบอบรัฐสภา (ซึ่งมีโครงสร้างแตกต่างไปจากประชาธิปไตยตามระบอบประธานาธิบดี เช่น ข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่มีสิทธิเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ข้อเสนอให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง “ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ” มากที่สุด โดยอาจได้รับการเลือกตั้ง “ส.ส.ระบบเขตพื้นที่” น้อยกว่าพรรคอื่น เป็นพรรคที่ได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ) แล้วยังอาจนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองมากขึ้นในอนาคตหากนำไปปฏิบัติจริง

โอกาสที่จะเกิด “การปฏิวัติทางการเมือง” ครั้งใหญ่ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อโครงสร้างสังคมและสถาบันต่างๆอย่างกว้างขวางยังคงเป็นไปได้ยากอย่างยิ่งในการเมืองไทยในปี พ.ศ. 2554 (ยากเป็น “อย่างยิ่ง” เมื่อเปรียบเทียบกับโอกาสในการเกิดรัฐประหาร และยากกว่าโอกาสในการเกิด “การปฏิรูป” ตามแนวทางที่ นปช. ประกาศ) แม้ว่านักวิชาการจำนวนหนึ่งและนักเคลื่อนไหวมวลชนบางกลุ่ม

รวมทั้งนักการเมืองในระบบพรรคการเมืองปัจจุบันบางรายอาจประเมินและตั้งความคาดหวังกันว่าศักยภาพการระดมมวลชนขนาดใหญ่หลายแสนคนจากทั่วทุกภูมิภาคตามที่ขบวนการ นปช. แสดงให้เห็นว่าสามารถดำเนินการได้อย่างค่อนข้างคงเส้นคงวาแล้วนั้น สามารถถูกปรับแต่งไปใช้ประโยชน์ในทิศทางการปฏิวัติสังคมครั้งใหญ่ (ซึ่งต้องเกิดความรุนแรงเป็นส่วนประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) แทนที่จะเป็นการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีเพื่อให้ได้ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง” ตามที่คณะกรรมการชุดรักษาการของแกนนำ นปช. ประกาศอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2553

นักวิชาการที่อภิปรายในเวทีวิชาการต่างๆ หรือแกนนำกลุ่มพลังที่ปราศรัยในเวทีชุมนุมมวลชนส่วนหนึ่ง รวมทั้งแกนนำกลุ่มปฏิบัติการขนาดเล็กที่จัดกิจกรรมร่วมกับคนเสื้อแดงในจังหวัดต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยนำเสนอแนวความคิดเรื่องการปฏิวัติสังคมครั้งใหญ่ก็ตระหนักว่าพลังมวลชนในกลุ่มตนไม่มีศักยภาพเพียงพอในการปฏิวัติสังคมโดยการต่อสู้ด้วยวิถีแห่งความรุนแรง และกลุ่มพลังมวลชนในอาณัติของตนตามลำพังไม่มีเครื่องมือที่เป็นจริงอย่างเพียงพอ

เช่น อาวุธสำหรับการต่อสู้กับกองทัพในการปฏิวัติสังคม ยิ่งไปกว่านั้นความคิดที่จะก่อให้เกิดการปฏิวัติการเมืองถึงระดับการถอดรื้อโครงสร้างทางสังคมครั้งใหญ่ในสังคมไทย (คำว่า “ถอดรื้อโครงสร้าง” เป็นคำที่นักทฤษฎีวิชาการด้านสังคมศาสตร์ของไทยแปลมาจากตำราวิชาการต่างประเทศ) ไม่สามารถเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ หากไม่มีกำลังอาวุธที่เตรียมพร้อมสนับสนุนจากกองทัพ หรือผู้มีบารมีลำดับสูงในกองทัพร่วมวางแผน

ถ้าหากเบื้องหลังกลุ่มที่ดำเนินการเคลื่อนไหวความคิดเชิง “ถอดรื้อ” ในกลุ่มมวลชนเสื้อแดงดังกล่าวไม่มีอำนาจและกำลังอาวุธจากกองทัพหนุนหลังอยู่จริงดังกล่าวข้างต้น การเคลื่อนไหวมวลชนให้มุ่งไปสู่ทิศทางการถอดรื้อแบบไม่สันติวิธีจะนำไปสู่ผลแบบเดียวกับเหตุการณ์ “วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มอำนาจตามพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ 2550 มากกว่าจะสอดคล้องกับอุดมการณ์ต่อสู้แบบสันติวิธีเพื่อการปฏิรูปตามที่กลุ่ม นปช. ประกาศ

การนองเลือดซ้ำแบบเหตุการณ์ “วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519” ในสภาพการณ์ที่มีการใช้ความรุนแรงและกำลังอาวุธจากฝ่ายประชาชนเข้าต่อสู้กับอำนาจรัฐ แม้จะอ้างว่าเพื่อจุดมุ่งหมายในการปฏิวัติการเมือง แต่ก็จะขาดความชอบธรรม และมีความเปราะบางต่อการถูกประณามจากนานาชาติ รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ

ซึ่งนอกจากจะทำให้ยากที่จะคาดหวังการคุ้มครองทางกฎหมายจากองค์กรหรือกระบวนการยุติธรรมระหว่างประเทศแล้ว ยังจะช่วยขยายช่องทางให้เครือข่ายกลุ่มอำนาจตามพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ 2550 สามารถดำเนินการจัดระเบียบทางการเมืองซ้ำ เพื่อตอกย้ำการสืบทอดอำนาจของกลุ่มตนอย่างมั่นคงและเป็นระยะยาวได้ง่ายยิ่งขึ้น

เท่าที่ปรากฏข้อเท็จจริงตั้งแต่ช่วงหลังการรัฐประหาร 2549 จนถึงปัจจุบัน การเผยแพร่ความคิดรวมทั้งกระแสหมุนเวียนของข่าวสารแบบ “ข่าวลือ” และการโฆษณาชวนเชื่อแบบ “ข่าวสารกึ่งจริง” ที่มุ่งหมายในการสร้างผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ มักจะมีผลรูปธรรมข้อสำคัญเป็นการถ่วงรั้งความชอบธรรมและบั่นทอนความเข้มแข็งทางการเมืองของขบวนการคนเสื้อแดงที่มี นปช. เป็นแกนนำ (เช่น การถูกสื่อมวลชนในเครือข่ายที่สนับสนุนการรัฐประหาร 2549 กล่าวหาคนเสื้อแดงและแกนนำว่า “ล้มเจ้า” การถูกดำเนินคดีอาญาในฐานความผิดตามมาตรา 112 (ดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี หรือรัชทายาท)

รวมทั้งถูกสื่อมวลชนและกลไกข่าวสารข้อมูลต่างๆทั้งของรัฐและเอกชนเผยแพร่ข้อสังเกตว่าขบวนการคนเสื้อแดงมีความแตกแยก ไม่เป็นเอกภาพ เป็นต้น) และขัดขวางความก้าวหน้าในการปฏิรูปประชาธิปไตยมากกว่าจะมีผลรูปธรรมอย่างจริงจังเป็นการกระตุ้นสภาวะการปฏิวัติทางการเมืองครั้งใหญ่ในประเทศไทยตามทิศทางดังกล่าว

แม้ว่าสาธารณชนทั่วไปอาจมองข้ามข้อเท็จจริงจำนวนมาก แต่ “กระบวนการปฏิรูป” ทางการเมืองที่ไม่ต้องอาศัยความริเริ่มหรือโครงการของรัฐได้เกิดขึ้นหลังการรัฐประหาร 2549 โดยเกิดขึ้นตามลำดับพัฒนาการทางความคิดและปฏิบัติการทางการเมืองของประชาชนในกลุ่มพลังต่างๆที่ต่อต้านการรัฐประหาร 2549 ต่อต้าน “ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ” และผู้มีอำนาจเบื้องหลังระบอบการเมืองที่เรียกว่า “อำมาตยาธิปไตย” ต่อต้านการจัดตั้งรัฐบาลผสมพรรคประชาธิปัตย์ในเดือนธันวาคม 2551

ต่อต้านการใช้กำลังกองทัพปราบปรามประชาชนในเดือนเมษายน 2552 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 ต่อต้านรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่างต่อเนื่องภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม พ.ศ. 2553 และหวนกลับมาร่วมสนับสนุนการชุมนุมใหญ่ของขบวนการเสื้อแดง นปช. ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2553 ฯลฯ

การปฏิรูปดังกล่าวเกิดขึ้นโดยความริเริ่มอันเป็นพัฒนาการตามธรรมชาติทางสังคมวิทยาการเมืองของประชาชนโดยไม่พึ่งพิงอำนาจรัฐหรือโครงการปฏิรูปของรัฐ รวมทั้งความไม่เชื่อมั่นในการดำเนินโครงการปฏิรูปของรัฐ (ประชาชนจำนวนมากรวมทั้งคนเสื้อแดงไม่ให้ความสนใจต่อคณะกรรมการปฏิรูปชุดต่างๆที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งขึ้น

ในประเด็นเดียวกันนี้ผู้เขียนเคยนำเสนอบทความวิเคราะห์พัฒนาการของขบวนการดังกล่าวเผยแพร่ในเดือนตุลาคม 2552 ว่าขบวนการคนเสื้อแดง นปช. รวมทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีโอกาสมากที่สุดเท่าที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์การเมืองไทยว่าอาจเป็น “คณะปฏิวัติประชาธิปไตย” คณะแรกในสยาม (ในความหมายที่ไม่ใช่การรัฐประหารหรือการใช้อาวุธในการยึดอำนาจรัฐเหมือนกรณีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475)

ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการปฏิรูปโดยความริเริ่มของสาธารณชนขึ้นอยู่กับความตั้งใจของขบวนการ นปช. และมวลชนเสื้อแดงในการต่อสู้ด้วยสันติวิธีเพื่อสร้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขซึ่งอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริงตามที่ประกาศ มากกว่าจะขึ้นอยู่กับการกระตุ้นความคิดเรื่องการปฏิวัติการเมืองหรือการถอดรื้อสังคมไทย

โอกาสและความคืบหน้าในการปฏิรูปการเมืองเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงตามหลักการและอุดมการณ์ที่ นปช. ประกาศสามารถเป็นไปได้มากขึ้นด้วยการต่อสู้ตามแนวทางสันติวิธีในปี 2554 โอกาสดังกล่าวจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการปฏิรูปจะสามารถพัฒนาได้เร็วขึ้น โดยสาธารณชนยังอยู่ในภาวะปลอดภัย หากการเคลื่อนไหวกิจกรรมมวลชนมีจุดมุ่งเน้นมากขึ้นในการยืนยันให้นานาชาติและองค์กรระหว่างประเทศตระหนักอย่างต่อเนื่องว่าประชากรเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจะยืนหยัด “ปฏิเสธ” และ “ไม่ร่วมมือ” กับระบอบการเมืองของกลุ่มอำนาจตามพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งนี้ การยืนยันให้ประชาคมโลกเห็นเช่นนั้นอาจจำเป็นต้องแสดงความตั้งใจอย่างเป็นรูปธรรมด้วย “ปฏิบัติการร่วม” ของประชาชนจำนวนมากในวงกว้างทั่วประเทศ ทั้งปฏิบัติการทางเศรษฐกิจและปฏิบัติการทางการเมือง ทั้งในช่วงเวลาที่มีการนัดชุมนุมมวลชน และในบางวาระที่ไม่มีการชุมนุมประชาชน

โดยเลือกใช้วิธีการปฏิเสธและการไม่ร่วมมือเท่าที่กระทำได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย (เท่าที่มีการกล่าวถึงกันแล้วในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 คือการนัดหยุดงาน การนัดหยุดบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภทในระดับมวลชนทั่วประเทศเป็นครั้งคราว รวมทั้งการแสดงเจตนาประท้วงกลุ่มทุนที่สนับสนุนอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยด้วยการงดซื้อหรืองดใช้บริการทางเศรษฐกิจของกลุ่มทุนดังกล่าวเป็นครั้งคราว

สามารถสร้างพลังผลักดันร่วมกันมากขึ้นในทิศทางการปฏิรูปดังกล่าว โดยไม่มีผลกระทบต่อสวัสดิภาพแรงงานของพนักงาน) จนกว่าจะเกิดการปฏิรูปทางการเมืองที่มองเห็นเป็นรูปธรรมทางปฏิบัติต่อไปมากขึ้นในประเทศไทย

ส่วนที่ 4

ข้อเสนอแนะ

การปฏิรูปยังเป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมที่เหมาะสำหรับการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและการเมืองของไทยมากกว่าการรัฐประหารหรือการปฏิวัติขนานใหญ่ ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงในการสร้างเผด็จการคณะใหม่ หรือเผด็จการรูปแบบใหม่ที่ไม่สามารถจะเป็น “ขั้นบันได” ไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่ยั่งยืน

ภายในบริบทการเมืองแห่งความขัดแย้ง และบริบทเศรษฐกิจสังคมแห่งความไม่เป็นธรรมในประเทศไทยหลังการรัฐประหาร 2549 เมื่อพิจารณาประเด็นสถานการณ์ที่ประมวลโดยสังเขปข้างต้นในการเมืองไทย 2554 ผู้เขียนมีข้อเสนอแนะเพื่อทุกฝ่ายพิจารณาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติตามดุลยพินิจและความเหมาะสมดังนี้

1.ดำเนินการเคลื่อนไหวผลักดันไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่โปร่งใสสุจริต และร่วมกันตรวจสอบป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง (รวมทั้งการใช้อำนาจรัฐไม่เป็นธรรมในการเลือกตั้ง)

2.กระตุ้นเตือนทุกฝ่ายให้ช่วยกันตรวจตราระมัดระวังป้องกันการรัฐประหาร

3.สนับสนุนการเคลื่อนไหวชุมนุมประชาชนที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญด้วยสันติวิธีและภายในขอบเขตกฎหมาย แต่ปฏิเสธหรือยับยั้งติเตือนกลุ่มพลังมวลชนที่กระตุ้นความรุนแรงหรือกระตุ้นความคิดที่อาจนำไปสู่การละเมิดกฎหมายร้ายแรง

4.ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหรือผู้ใช้อำนาจรัฐที่ดำเนินการทางการเมืองด้วยความเป็นธรรม และปฏิเสธหรือร่วมกันคัดค้านด้วยวิถีทางที่สามารถกระทำได้ภายในขอบเขตกฎหมายเมื่อปรากฏกรณีหรือเหตุการณ์ที่มีการใช้อำนาจรัฐไม่เป็นธรรมทางการเมืองหรือไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากที่ได้ปรากฏก่อนหน้านี้


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 305 วันที่ 2 - 8 เมษายน พ.ศ. 2554 หน้า 5-7 คอลัมน์ รายงานพิเศษ โดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร
บทความจากหนังสือพิมพ์ โลกวันนี้ วันสุข ปีที่ 6 ฉบับที่ 305 ประจำวัน จันทร์ ที่ 4 เมษายน 2011
บทความโดย รศ.ดร.วรพล พรหมิกบุตร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น