วันจันทร์, มีนาคม 28, 2554
ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง”ปรากฏการณ์ชั่วครู่ชั่วยาม สะท้านใน”เฟซบุ้ค”
ราว 2-3 สัปดาห์ก่อน มีปรากฏการณ์เล็กๆ เกิดขึ้นในแวดวงผู้ใช้เฟซบุ๊กชาวไทยกลุ่มหนึ่งเป็นการเฉพาะ
ก่อนหน้านั้นไม่นาน ทางเว็บไซต์เฟซบุ๊กมีการปรับปรุงระบบการใช้งาน ส่งผลให้มีการเปลี่ยนตำแหน่งแห่งที่และฟังก์ชั่นต่างๆ ในหน้าเพจของผู้ใช้บริการอยู่พอสมควร
ที่สำคัญ คือ มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นที่หน้าเพจของ "กลุ่ม" ต่างๆ ซึ่งเคยมีฟังก์ชั่นการใช้งานในลักษณะ "ผู้ถูกกระทำ" เพียงอย่างเดียว เนื่องจากมันถูกสร้างขึ้นเพื่อให้คนอื่นๆ เข้ามาคลิกชอบ หรือแสดงความคิดเห็นบนเพจดังกล่าวเท่านั้น
อย่างมากที่สุด ผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กซึ่งเป็นผู้ดูแล "เพจกลุ่ม" ต่างๆ ก็ทำได้เพียงแค่การตั้งประเด็นสนทนาชวนคุยบนหน้าเพจที่ตนดูแลอยู่
หากเปรียบเทียบกับหน้าเพจส่วนตัวของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กทั่วไป "เพจกลุ่ม" แบบเก่าจึงปราศจากชีวิตจิตใจ เพราะตัวมันเองไม่สามารถไปคลิกไลค์หรือแสดงความเห็นบนหน้าเพจอื่นๆ ได้
แต่เมื่อเฟซบุ๊กปรับปรุงระบบการใช้งาน "เพจกลุ่ม" ก็กลับกลายสถานะเป็น "ผู้กระทำการ" ขึ้นมาทันที เพราะเครือข่ายสังคมออนไลน์ชื่อดังได้เปิดโอกาสให้ผู้ดูแล "เพจกลุ่ม" ซึ่งมีหน้าเพจส่วนบุคคลในฐานะผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กอยู่แล้ว สามารถแปรสภาพตนเองให้กลายเป็น "เพจกลุ่ม" ที่มีชีวิตจิตใจ
และสามารถเข้าไปคลิกไลค์หรือแสดงความเห็นบนหน้าเพจอื่นๆ ในเฟซบุ๊ก ในฐานะของ "เพจกลุ่ม" ได้
ถ้า "เพจกลุ่ม" เหล่านั้นเป็นเพจของบริษัทหรือองค์กร อะไรๆ ที่น่าสนุกก็คงไม่เกิดขึ้นตามมามากนัก
แต่ในกรณี "เพจกลุ่ม" ที่มีสถานะเป็นศูนย์รวมของเหล่าแฟนคลับหรือผู้ชื่นชอบดารา นักร้อง เซเล็บ บุคคลสำคัญทางการเมืองทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนตัวละครในการ์ตูน วรรณกรรม และภาพยนตร์ชื่อดังแล้ว
ผู้ใช้บริการชาวไทยสามารถประยุกต์ใช้ฟังก์ชั่นที่เปลี่ยนแปลงไปของเฟซบุ๊กได้อย่างน่าทึ่งและชวนหัวเป็นอย่างยิ่ง
เริ่มจากการสร้าง "เพจกลุ่ม" ให้ตัวการ์ตูนชื่อดัง พร้อมคำพูด "วรรคทอง" ประจำตัวของตัวการ์ตูนดังกล่าว "เพจกลุ่ม" อันมีชีวิตชีวาแบบไทยๆ ค่อยๆ ขยายตัวไปสู่ตัวละครดัง
จากตัวละครดังไปสู่หน้าเพจที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนเสียดสีเซเล็บของสังคมไทย อาทิ เพจกลุ่มของ "แม่ชีระลึกชาติ ประธานกลุ่มคนไทยหัวใจรักชาติที่แล้ว" ที่มาพร้อมกับคำอธิบายเรื่องอดีตชาติแบบฮาๆ มากมาย
แล้วลามไปสู่การเกิดขึ้นของหน้าเพจนักคิดนักเขียนนักวิชาการชื่อดังของสังคม เช่น "นิธิ" ที่มาพร้อมกับวรรคทอง "มันเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง" "ชัยวัด" ที่มาพร้อมวรรคทอง "ความรุนแรงมีหลายเฉด" เรื่อยไปจนถึง "คลำ ผกา" และ "สมศักดิ์ เจียม" ที่มาพร้อมวลีเด็ด "ผมโกรธมาก"
กระทั่งมีทั้ง "ตัวจริง" และ "ตัวปลอม" ของ "สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล" ปะทะกันในเฟซบุ๊กในท้ายที่สุด
สำหรับจุดสุดยอดสำหรับคอการเมืองน่าจะอยู่ที่การถือกำเนิดขึ้นของหน้าเพจ "จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์" (แต่มีการดัดแปลงชื่อ) และ "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" พร้อมด้วยบุคคลสำคัญอีกหลายคนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งลุกขึ้นมาสนทนากันจนชุลมุนวุ่นวายชวนหวาดเสียวในโลกเฟซบุ๊กปี พ.ศ.2554 อย่างน่ามหัศจรรย์และตลกร้ายเหลือคณา
กล่าวได้ว่านี่คือ "ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง" บนหน้าเพจเฟซบุ๊กเลยทีเดียว
น่าเสียดายที่กระแสซึ่งเกิดขึ้นแบบจำกัดกลุ่ม (เพราะทั้งคนที่ต้องมารับบทเป็นบุคคลสำคัญทางการเมือง นักวิชาการ และเซเล็บรายอื่นๆ ได้เนียนและฮา และคนเข้ามาคลิกไลค์ที่ต้องเข้าใจมุขเหล่านั้น ย่อมต้องเป็นผู้มีความรู้เฉพาะด้านอยู่พอสมควร) และการใช้เฟซบุ๊กแบบ "เล่นๆ" ที่สุ่มเสี่ยงจะละเมิดกฎหมายมากขึ้นเรื่อยๆ
กระทั่งมีการขู่จะดำเนินคดีกับ "เพจกลุ่ม" หน้าหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อล้อเลียนบุคคลผู้มีสถานะเป็นดังรูปเคารพของวัดดังแห่งหนึ่ง
ได้ส่งผลให้หน้าเพจบุคคลสำคัญในเฟซบุ๊กที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวาจนน่ากลัว (สำหรับใครบางคนบางกลุ่ม) เสื่อมคลายมนต์ขลังไปในชั่วระยะเวลาไม่นานนัก
อย่างไรก็ตาม ปรากฏการณ์เล็กๆ เช่นนี้ ได้แสดงให้เห็นถึงคุณลักษณะบางประการของเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ถูกนำมาช่วงชิงประยุกต์ใช้ในบริบทเฉพาะของสังคมการเมืองแบบไทยๆ ได้อย่างน่าสนใจ ดังที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งวิเคราะห์เอาไว้ว่า
"การได้เห็นวรรคทองข้ามเวลามาตอบโต้กัน โดยเฉพาะจากบรรดาตัวละครของประวัติศาสตร์การเมืองไทย เป็นอาการผิดฝาผิดตัว ข้ามที่ข้ามเวลา ที่หมดจดงดงามชนิดจินตนาการไปไม่ถึง การลักลั่นย้อนแย้งของข้อความสั้นๆ ที่ตอบโต้กันอย่างชวนหัวนี้ได้สลายพื้นที่ทางเวลาแนวดิ่ง และขยายพื้นที่ความสัมพันธ์ทางการเมืองแนวระนาบ ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม นี่คือการเสียดสีอันลึกซึ้งที่นักเขียนและผู้เรียนประวัติศาสตร์ควรเชื่อมโยงมัน
เราขอเรียกปรากฏการณ์นี้แหละว่า "สนามวาทกรรม" หอจดหมายเหตุแห่งวรรคทองที่ถ้าฟูโกต์ยังอยู่คงรี่เข้าใส่ (ถ้าเขาอ่านภาษาไทยออก) กลเกมแห่งภาษาและถ้อยคำสั้นๆ ที่เลือนความหมายออกไปจากตัวมันได้อย่างง่ายดาย ได้สร้างโครงข่ายบางอย่างขึ้น การตอบโต้ของศัตรูหรือคู่รักทางการเมือง คู่แฝดในประวัติศาสตร์... มันได้นำพาการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์เพื่อบ่อนเซาะฐานที่มั่นของประวัติศาสตร์เชิงเดี่ยวลงทีละน้อย
ไม่ว่าใครจะตั้งใจอะไรอย่างไรเอาไว้ เป็นแค่เรื่องสนุกของเด็กติดเน็ตมือบอน หรือคนผู้แค้นเคืองทางการเมืองไทยก็ตาม สงครามวาทกรรมข้ามเวลานี้ ไม่ได้ผุดบังเกิดขึ้นมาเอง มันเชื่อมโยงกันอยู่โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ว่ากันว่าสิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุดคือเรื่องตลก เพราะการทำให้ตลกเป็นการทำลายอำนาจของเผด็จการเอง การทำประวัติศาสตร์ให้เป็นเรื่องตลก บางทีอาจเป็นการต่อต้านประวัติศาสตร์ ที่ประวัติศาสตร์เองจะต้องกลัว
ไม่เช่นนั้น คำว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" คงไม่ได้มีความหมายฮาๆ อย่างที่มันเป็นอยู่ในตอนนี้"
ที่มา: มติชนออนไลน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น