วันอังคาร, มีนาคม 22, 2554

ความจริง..บนโลกไซเบอร์

“ยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต เราเพิ่มเขตที่ 5 คือเขตที่อยู่ในโลกไซเบอร์...พี่น้องต้องเข้าไปต่อสู้ในเขตนี้ด้วย”

นางธิดา ถาวรเศรษฐ์ รักษาการประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดิน ปราศรัยกับคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2554 ที่ครบรอบ 1 ปีของการชุมนุมใหญ่ “นปช. แดงทั้งแผ่นดิน” ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนตามยุทธศาสตร์ 2 ขา 5 เขต คือขาหนึ่งต่อสู้ในสภา อีกขาอยู่ในถนนต่อสู้กับคนเสื้อแดง ส่วน 5 เขตคือ 1.ในชนบท 2.ในเมือง 3.ในกรุงเทพฯ 4.ในต่างประเทศ และ 5.ในโลกไซเบอร์

แต่อุปสรรคสำคัญคือระบอบที่ล้าหลังอย่าง “ระบอบอำมาตย์” ทั้งๆที่เศรษฐกิจไทยเป็นทุนนิยมแล้ว แต่เมื่อศูนย์อำนาจการเมืองการปกครองและศูนย์อำนาจทางเศรษฐกิจอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น สนามการต่อสู้ที่จริงจังและแตกหักจึงอยู่ในกรุงเทพฯ คนเสื้อแดงจึงต้องปักหลักต่อสู้ในเขตกรุงเทพฯ

“ตาสว่าง” ไม่ต้อง “ปากสว่าง”

ขณะที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน กล่าวถึงยุทธวิธีเคลื่อนไหวของ นปช. แดงทั้งแผ่นดิน โดยขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกหลังจากถูกจองจำกว่า 9 เดือนว่า ต้องสอดรับกับสถานการณ์ โดยเฉพาะการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น นปช. แดงทั้งแผ่นดิน ทุกคนต้องทำตัวเป็นผู้ปฏิบัติงานในสนามเลือกตั้งของฝ่ายประชาธิปไตย ไม่ใช่หัวคะแนนเหมือนในอดีต โดยคนเสื้อแดงจะปูพรมทั่วทุกอณูพื้นที่ของประเทศไทย เพื่อไปอธิบายหลักการ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตย ไปติดอาวุธทางความคิด ติดอาวุธทางปัญญาให้ประชาชน จนประชาชนเกิดความเข้าใจว่าทำไมต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

“สิ่งที่ผมได้ยินตอนอยู่ในเรือนจำคือคำว่าตาสว่าง ไม่รู้ใครเขาพูดกัน แต่ผมได้ยินพี่น้องบอกว่าตาสว่างๆๆ ถามว่าพี่น้องตาสว่างแล้วผมสว่างไหม ผมก็สว่าง เมื่อประชาชนตาสว่างก็จะไม่มีใครสามารถซ่อนตัวอยู่ในมุมมืดได้อีกต่อไป ประเด็นคือเมื่อตาสว่างแล้วเราจะทำอย่างไรต่อ พี่น้องที่เคารพครับ สำหรับผมที่จะพูดคุยกับพี่น้องในฐานะที่เราเดินต่อสู้ในเวทีกลางแจ้ง เราต่อสู้อย่างเปิดเผย เราต่อสู้อย่างตรงไปตรงมาตลอดแบบนี้ ผมอยากจะบอกกับพี่น้องว่า ตาสว่างแต่บางทีปากไม่ต้อง สว่างก็ได้ครับ ตาสว่างไม่จำเป็นว่าปากต้องสว่าง ในบางสถานการณ์เสียงกระซิบมันได้ผลกว่าเสียงตะโกนครับ”

สงครามข่าวสาร

นายณัฐวุฒิยอมรับว่าเจ็บปวดที่ถูกขัง 9 เดือน แต่เทียบไม่ได้กับการบาดเจ็บล้มตายของพี่น้องเสื้อแดงที่วันนี้ยังถูกกล่าวหาเป็นผู้ก่อการร้ายและล้มสถาบัน กรณีโลกอาหรับก็ทำให้วันนี้สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงโบกพัดให้คนเสื้อแดงที่เจ็บปวดจากการต่อสู้มีความรู้สึกสดชื่นตื่นตัวขึ้นมาอีกครั้ง เฉกเช่นคนทั่วโลกที่กำลังต่อสู้กับอำนาจเผด็จการเพื่อให้ได้ประชาธิปไตย แม้ในลิเบียยังลูกผีลูกคน

“ท่านเห็นไหมว่าสถานการณ์การต่อสู้ของเราอยู่ในระนาบใกล้เคียงกับสถานการณ์ของเขาเหมือนกัน แล้วเดาไม่ถูกว่าประชาชนประเทศไหนจะถึงเส้นชัยแห่งประชาธิปไตยก่อนกัน แต่สิ่งที่ผมมั่นใจได้ก็คือ ไม่มีประชาชนในประเทศใดๆจะยอมศิโรราบต่ออำนาจของผู้เผด็จการอีกแล้ว นี่คือสิ่งที่ผมมั่นใจ”

อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิยืนยันว่าการต่อสู้ของคนเสื้อแดงจะเป็นไปอย่างสันติวิธี แม้จะต้องต่อสู้ทั้ง “มือที่มองไม่เห็น” อำนาจพิเศษ และอำนาจมืดต่างๆที่พูดไม่ได้ แต่คนเสื้อแดงต้อง “ตาสว่าง” รู้แจ้งเห็นจริงเพื่อต่อสู้ให้ได้ชัยชนะ

โดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ที่นางธิดาให้พี่น้องคนเสื้อแดงเข้าไปต่อสู้ในเขตนี้ด้วย เพราะวันนี้โลกไซเบอร์กลายเป็นสนามต่อสู้สำคัญของคนทั้งโลกที่ใช้ทวงอำนาจจากคนส่วนน้อยคืน อย่างกระแสประชาธิปไตยในโลกอาหรับที่เกิดจากโลกไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊คหรือทวิตเตอร์

เช่นเดียวกับขบวนการเสื้อแดงจะต้องสู้ต่อไปเรื่อยๆ มีการชุมนุมเดือนละ 2 ครั้งจนกว่าจะได้รับความยุติธรรมและมีผู้รับผิดชอบ 91 ศพที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” การรณรงค์ของกลุ่ม “ไม่เอา 112” เพื่อไม่ให้นำกฎหมายหมิ่นเบื้องสูงมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง หรือกรณี “วิกิลีกส์” ที่นำข้อเท็จจริงและเบื้องหลังสถานการณ์ต่างๆในโลกและประเทศไทยออกมาเปิดเผย

ความจริงเผาบ้านเผาเมือง

โดยเฉพาะเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ที่วันนี้ยังไม่มีคำตอบว่าใครเป็น “ฆาตกร” หรือ “ใครสั่งฆ่าประชาชน” รวมทั้งใครที่เผาบ้านเผาเมือง แต่ในโลกไซเบอร์นั้นกลับสามารถค้นหาทั้งภาพถ่าย คลิปวิดีโอ ข่าว และความคิดเห็นทุกแง่ทุกมุมได้ แม้จะถูกปิดกั้นจากอำนาจรัฐหรือผู้นำเผด็จการก็ตาม

โลกไซเบอร์จึงเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด โดยเฉพาะการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและประชาธิปไตยซึ่งไม่มีใครปิดกั้นได้ ประชาธิปไตยจึงถูกส่งผ่านทางโลกไซเบอร์ ซึ่งมีพลานุภาพน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าสึนามิถล่มประเทศญี่ปุ่น

อย่างกรณีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ที่อภิปรายอย่างดุเดือดในสภานั้น หลักฐานมากมายก็นำมาจากโลกไซ-เบอร์ที่มีการนำไปเผยแพร่ ซึ่งสื่อกระแสหลักหรือสื่อทั่วไปไม่นำเสนอหรือไม่กล้านำเสนอ อย่างการชี้แจงของตัวแทนผู้บริหารของเซ็นทรัลเวิลด์ต่อคณะกรรม-การติดตามสถานการณ์บ้านเมือง วุฒิสภา ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ ส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธานว่า มีคนกลุ่มหนึ่งพยายามลอบเผาห้างหลายครั้งแต่ไม่สำเร็จ เนื่องจากมีหน่วยรักษาความปลอดภัยคอยป้องกันเหตุจำนวนหลายร้อยคน หลังจากคนเสื้อแดงมอบตัวแล้วกลุ่มคนดังกล่าวพร้อมอาวุธครบมือได้เข้ามาภายในเซ็นทรัลเวิลด์จนสามารถบีบให้หน่วยรักษาความปลอด ภัยยอมจำนนและสามารถเผาได้สำเร็จ โดยมีวิดีโอบันทึกภาพกลุ่มคนที่วางเพลิงไว้ด้วย

สอดคล้องกับนายสุทธิธรรม จิราธิวัฒน์ ประ-ธานกรรมการบริหารบริษัทกลุ่มเซ็นทรัล ที่ให้สัมภาษณ์หลังเกิดการเผาห้างไม่ถึง 2 เดือนว่า ห้างมีวอร์รูมตั้งแต่เดินขบวนที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชั่วโมง มีผู้บริหารระดับหนึ่งประจำอยู่เพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนรายงานตรงถึงผู้บริหารระดับสูงได้ตลอดเวลา วอร์รูมจึงมีข้อความถึงผู้บริหารตลอดทุก 10 นาที หรือทุกครึ่งชั่วโมงแล้วแต่ความเคลื่อนไหว

ซักฟอกผ่านโลกไซเบอร์

แม้แต่การอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ 9 รัฐมนตรี ก็ยังมีการตอบโต้ผ่านโลกไซเบอร์ โดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ตอบโต้นายอภิสิทธิ์ที่ชี้แจงนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย ในฐานะหัวหน้าทีมอภิปราย ฝ่ายค้าน เรื่องหนี้สาธารณะว่ารัฐบาลต้องกู้เงินมาฟื้นฟูเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยก่อเอาไว้ และยืนยันว่ามีหนี้น้อยกว่ายุค พ.ต.ท.ทักษิณ โดย พ.ต.ท.ทักษิณทวิตว่า

“ได้ฟังคุณอภิสิทธิ์ตอบคุณมิ่งขวัญในสภาแล้วรู้สึกว่าน้องยังเด็กเหลือเกิน นักการเมืองที่ดีต้องพูดความจริงต่อประชาชนครับ ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน”

พ.ต.ท.ทักษิณยังทวิตต่อว่า สมัยตนรับหนี้มาจากรัฐบาลประชาธิปัตย์ 2 ก้อนใหญ่ๆคือ 1.หนี้กองทุนฟื้นฟูที่เกิดจากการขายทรัพย์ที่เอามาจากสถาบันการเงินล้มแบบโง่ๆให้กับโกลด์แมน ซาคส์, เลห์แมน บราเธอร์ส และจีอี แคปปิตอล ที่ได้ราคาไม่ถึง 20% ของต้นทุนทรัพย์สิน แถมยังช่วยไม่ให้ฝรั่งเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอีก หนี้ก้อนนี้ประมาณ 700,000 ล้านบาท หนี้ก้อนที่ 2 กู้มาจากโครงการมิยาซาวา, ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (เอดีบี), ธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประมาณ 600,000 กว่าล้านบาท ซึ่งหนี้ไอเอ็มเอฟประมาณ 400,000 ล้านบาท ใช้ไปหมดแล้ว รัฐบาลนายอภิสิทธิ์เข้ามาจึงถือโอกาสกู้เงินเพื่อหวังผลทางการเมืองและมีการคอร์รัปชัน ทำให้หนี้สูงขึ้นเป็นลำดับ

“ขอแนะนำว่าให้ยอมรับและบอกว่าจะให้ความสนใจเศรษฐกิจในประเทศมากขึ้น จะใช้เงินที่กู้มาให้เกิดประโยชน์กว่านี้ จะปล่อยให้โกงน้อยลง จะไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าและตามมาด้วยการขึ้นราคาแบบนี้อีก ผมว่าดูจะเป็นผู้ใหญ่กว่า ได้รับความเห็นใจกว่า บอกประชาชนไปเลยครับว่าผมกำลังเรียนรู้งานอยู่ อีกหน่อยผมก็เก่งเองครับ”

“จาตุรนต์” ทวิตถล่มซ้ำ

เช่นเดียวกับนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตแกนนำพรรคไทยรักไทย ในฐานะทีมวอร์รูมติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งมีแกนนำพรรคและสมาชิกบ้านเลขที่ 111 คอยประเมินผลการอภิปราย ก็ทวิตข้อความตอบ โต้นายอภิสิทธิ์เรื่องหนี้ว่า พรรคไทยรักไทยทำให้หนี้ที่พรรคประชาธิปัตย์สร้างไว้ลดลงอย่างมากและรวดเร็ว

“คุณอภิสิทธิ์ไปเอาตัวเลขหนี้สาธารณะมาจากไหน และยังตัดตอนประวัติศาสตร์มาพูด ลักไก่เอาแบบไม่น่าเชื่อ เรื่องตัวเลขหนี้สาธารณะเป็นอย่างไรก็เรื่องหนึ่ง แต่หนี้ตอนไหนมากกว่าตอนไหนไม่ใช่ประเด็น จะจับให้มั่นคั้นให้ตายต้องรวบรวมเรื่องใหญ่ๆที่คุณอภิสิทธิ์ไม่ตอบหรือตอบไม่ได้มาแสดงให้เห็น แล้วจะพบว่าคุณอภิสิทธิ์สอบตกแน่ แต่ผมขอไม่ทำเองนะครับ เรื่องหนี้สาธารณะคุณอภิสิทธิ์คิดผิดถนัดที่มาคุยว่าหนี้สมัยตัวเองน้อยกว่าสมัยคุณทักษิณ ทั้งๆที่เรื่องนี้เป็นจุดแข็งที่สุดของคุณทักษิณ และเป็นจุดอ่อนที่สุดของคุณอภิสิทธิ์”

ปชป. รัวทวิตแจงประชาชน

ในวันเดียวกันทีมโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ได้เขียน ข้อความลงทวิตเตอร์ โดยใช้ชื่อว่า “@democratTH” สรุปประเด็นการชี้แจงของนายอภิสิทธิ์และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นข้อความสั้นๆอย่างต่อเนื่อง ทวิตเตอร์ไทยคู่ฟ้า “Thaikhufa” ของรัฐบาลก็โพสต์ข้อความรวมถึงรายงานความเคลื่อนไหวต่างๆของนายอภิสิทธิ์และรัฐมนตรีที่ชี้แจงในการอภิปรายทันทีในแต่ละประเด็นแบบนาทีต่อนาทีทีเดียว

วอร์รูมกองทัพ

แม้แต่กองทัพบกก็ตั้งวอร์รูม โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เปิดเผยว่า วอร์รูมเป็นแค่การติดตามสถานการณ์ทางทหาร ซึ่งกองทัพบกมีงานทุกวันอยู่แล้ว มีเจ้าหน้าที่รับผิดชอบติดตามสถานการณ์รอบประเทศ 24 ชั่วโมง มี 7 กองกำลังทำงาน แต่หากมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับทหารถามเข้ามาก็ตอบไปเท่านั้น เพราะการทำงานของทหารเป็นผู้ปฏิบัติเท่านั้น


อย่างเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ที่กองทัพเข้าไปรับผิดชอบก็ทำตามคนที่สั่งการโดยชอบตามกฎหมายคือรัฐบาล ส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายอภิสิทธิ์ที่ระบุว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและกฎหมายสั่งการทหารเข่นฆ่าประชาชนนั้น เรื่องการใช้กำลังทหารไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ประชาชนต้องแยกให้ออก เพราะเจ้าหน้าที่ทหารเลี่ยงคำสั่งไม่ได้ กฎหมายคือกฎหมาย ความรับผิดชอบมีอยู่แล้ว ถ้าสั่งการมาแล้วชอบด้วยกฎหมายก็ต้องปฏิบัติ จะปฏิบัติอย่างไรให้เกิดความปลอดภัยต้องใช้ความระมัดระวัง โดยยืนยันว่าช่วงกระชับพื้นที่ทหารทำตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐบาล ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ กลุ่มเสื้อแดงมีสิทธิเลี่ยงพื้นที่อันตรายได้แต่กลับหันมาสู้กับกฎหมาย

การเมืองบนโลกไซเบอร์

โลกไซเบอร์จึงกลายเป็นพื้นที่การตอบโต้การอภิปรายไม่ไว้วางใจระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาลที่ดุเดือดไม่น้อยกว่าในสภา และยังอาจได้ข้อเท็จจริงหรือข้อมูลที่ชัดเจนกว่าการอภิปรายในสภา เพราะไม่ถูกขัดจังหวะจากบรรดาองครักษ์พิทักษ์นาย หรือเป็นข้อมูลจากผู้รู้จริง ซึ่งทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยก็มีการตั้งวอร์รูมขึ้นมาต่อสู้กัน


วันนี้โลกไซเบอร์จึงมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆในเวทีการเมืองและการเคลื่อนไหวต่างๆของภาคประชาชน แม้แต่การก่ออาชญากรรมและก่อการร้ายต่างๆ เหมือนทีวี.ออนไลน์ที่ขณะนี้คนไทยหลายสิบล้านคนเลือกดูแทนทีวี.เสรีหรือสื่อหลักที่มีการนำเสนอที่อยู่ในกรอบและมอมเมา

อาชญากรรมหรือการเมือง

นิตยสาร The Economist ฉบับวันที่ 2 กรก-ฎาคม 2552 ได้เคยวิเคราะห์การเมืองบนโลกไซเบอร์ของไทยว่าเหมือนกับจีน เพราะทั้ง 2 ประเทศคอยอ้างว่าเป็นประชาธิปไตย แต่โลกไซเบอร์ในจีนกลับเป็นสมรภูมิระหว่างเสรีภาพในการพูดและการเซ็นเซอร์ เช่นเดียวกับไทยที่แม้จะมีเสรีมากกว่าสื่อกระแสหลักที่ขาดความกล้า แต่การตรวจสอบก็ทำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ได้สกัดกั้นเว็บไซต์มากกว่า 8,300 เว็บ โดยอ้างว่าผิดกฎหมายหมิ่นเบื้องสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติปิดเว็บเพจมากกว่า 32,000 หน้า ด้วยข้อหาต่างๆกันเมื่อปี 2550 แม้แต่ยูทูบยังโดนปิดกั้นเป็นเวลานานหลายเดือนหากเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ


The Economist ยังกล่าวถึงขบวนการ “ไล่ล่าแม่มด” บนโลกไซเบอร์ว่า เบื้องหลังคือการเมืองที่เป็น กลุ่มต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณจนกระทั่งเกิดการทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งเหมือนการปล้นอำนาจโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยมที่มีกองทัพ ตุลาการ และชนชั้นสูงอยู่เบื้องหลัง โดยใช้กลุ่มเสื้อเหลืองออกหน้าการขับไล่ โดยอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพยายามทำลายสถาบันเบื้องสูง จนในที่สุดนายอภิสิทธิ์ก็ได้เป็นรัฐบาล พร้อมตั้งคำถามว่าเรื่องนี้เป็นการเมืองหรืออาชญากรรม

“ทักษิณ” ใช้โลกไซเบอร์สู้

อย่างไรก็ตาม หลังจากต้องพ่ายแพ้ด้วยโลกไซเบอร์จากการส่งต่อข่าวอย่างเป็นระบบจากกลุ่มต่อต้าน โดยไม่สนว่าข่าวนั้นจะจริงหรือเท็จอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ก็พลิกกลับมาใช้โลกไซเบอร์เป็นจุดแข็งมาโดยตลอดในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับตนเองเช่นกันนับตั้งแต่ต้องออกไปอยู่นอกประเทศ ซึ่งต้องยอมรับว่าการวิดีโอลิ้งค์หรือโฟนอินหรือทวิตข้อความของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้ามายังคนเสื้อแดงหรือในเหตุการณ์สำคัญๆหลายครั้งนั้นมีผลต่อสังคมไทยไม่น้อย


ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวหาและโจมตีของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พ.ต.ท.ทักษิณก็จะใช้โลกไซเบอร์คอยตอบโต้ ทำให้ยังอยู่ในกระแสข่าวทั้งในประเทศไทยและการเมืองโลก

ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ก็วางยุทธศาสตร์ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่ผ่านโลกไซเบอร์มานานแล้ว รวมทั้งเว็บไซต์ของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ที่ถือเป็นฐานเสียงสำคัญที่สร้างภาพและคะแนนนิยมของนายอภิสิทธิ์และนายกรณ์ให้กับคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่ไม่เคยรู้ข่าวจากแหล่งอื่นเพราะรับข่าวสารจากโลกไซเบอร์อย่างเดียวเท่านั้น

โลกไซเบอร์กับประชาธิปไตย

นายยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในการเสวนาเปิดตัวหนังสือ “สื่อออนไลน์ BORN TO BE DEMOCRACY” ว่าแม้ไม่แน่ ใจว่าสื่อออนไลน์จะเป็นประชาธิปไตยโดยตัวเอง แต่ก็น่าจะเป็นเครื่องมือนำไปสู่ประชาธิปไตยมากกว่า หรือเรียกว่า born to become democracy


นอกจากนี้ยังมีคำถามเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ ซึ่งผู้คนมักมองเห็นพลังและแง่บวกในการสร้าง “พื้นที่สาธารณะ” อย่างไร้พรมแดน ถึงที่สุดก็ไม่ได้ต่างอะไรกับโลกออฟไลน์ พรมแดนทางออนไลน์ที่ยังมีเรื่องของภาษาหรือกฎกติกาในเว็บต่างๆที่คนจะมีส่วนร่วมกำหนดกฎเกณฑ์ในสังคมออนไลน์ได้อย่างไร และไม่ให้รัฐก้าวล่วงมาได้มากน้อยแค่ไหน

สื่อออนไลน์หรือโลกไซเบอร์จึงต้องมีความเท่าเทียม เป็นของกระฎุมพีที่ขยายพื้นที่เพื่อสื่อสารทาง การเมือง ช่วยให้คนฉุกคิด เข้าใจถึงการสื่อสารอื่นๆในโลกความจริง ซึ่งต้องสร้างสังคมประชาธิปไตยในโลกออฟไลน์ให้เป็นจริงขึ้นมาเพื่อจะได้ประชาธิปไตยในโลกออนไลน์ เพราะพื้นที่ออนไลน์กับออฟไลน์มันเกี่ยวกัน อย่างรัฐก้าวล่วงเข้ามาในพื้นที่ออนไลน์ก็ทำให้คนอึดอัด

ขณะที่นายสมบัติ บุญงามอนงค์ บ.ก.ลายจุด แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กล่าวถึงระยะแรกเริ่มของพฤติกรรมคนที่แสดงออกมาทางอินเทอร์เน็ตว่า เหมือนคนที่ออกมาจากคุก จนวันนี้คนก็ยังพูดเรื่องนี้ อินเทอร์เน็ตหรือโลกไซเบอร์จึงให้สิทธิคนอื่นๆในการด่าคนในที่สาธารณะได้ นอกเหนือจากนักข่าว นักเขียน ซึ่งสื่อหนังสือพิมพ์อายุสั้นแค่วันเดียว รายสัปดาห์ก็ 1 สัปดาห์ แต่อินเทอร์เน็ตอยู่นานได้

ดังนั้น วันนี้โลกไซเบอร์จึงเหมือนโลกของประชาธิปไตย ซึ่งปัญหาและเรื่องราวมากมายนั้นสื่อออฟไลน์เสนอไม่ได้หรือไม่กล้านำเสนอ อย่างกรณีวิกิลีกส์ที่สื่อกระแสหลักของไทยจำใจเซ็นเซอร์ตัวเอง แต่คนไทยกลับสามารถรับรู้ชนิด “คำต่อคำ” ผ่านทางโลกไซเบอร์หรืออินเทอร์เน็ตได้

โลกไซเบอร์จึงทำให้คนจำนวนมากได้ “ตาสว่าง” รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ ใครทำดี ใครทำชั่ว ใครเป็นฆาตกร ใครเป็นผู้บริสุทธิ์?

แม้ในสภาจะเต็มไปด้วยน้ำลายที่มีแต่การโกหกตอแหล แต่ก็ไม่อาจปกปิด “ความจริง” ในโลกไซเบอร์ได้ว่า ใครคือฆาตกรสังหารโหด 91 ศพและไอ้โม่งตัวจริงที่เผาบ้านเผาเมือง

“กรรมออนไลน์” บนโลกไซเบอร์ จึงรวดเร็วทันใจกว่า “กรรมติดจรวด”

ใครก่อกรรมอะไรไว้...ได้เวลาชดใช้กรรมในชาตินี้...ไม่ต้องรอถึงชาติหน้า!


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 303 วันที่ 19-25 มีนาคม พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน
2011-03-21

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น