วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 22, 2554
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ มือปราบหูดำ-ทูตสีกากี-ตำรวจสายพิราบ "ใครมาเป็นผู้บริหาร ตำรวจก็เป็นหมารับใช้ทั้งนั้น"
จากมือวิสามัญฆาตกรรมชั้นเซียนสู่นักเจรจาม็อบดีเด่น ผู้ได้รับขนานนามสารพัดฉายาในชีวิตจนเจ้าตัวยังจำได้ไม่ครบ จากชีวิตราชการ ในชั้นประทวนจนถึงผู้บริหาร จากอดีตเคยประจำอยู่ทั้งโรงพักชั้นดีที่สุด จนไปถึงการโยกย้ายเข้า-ออก นอก-ในนครบาล
พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) เจ้าของหนังสือวางปืนใช้ปาก จากประสบการณ์หัวหน้าทีมเจรจาต่อรองของตำรวจ และฝ่ายรัฐบาล
ให้สัมภาษณ์ "ประชาชาติธุรกิจ" ฉายภาพผ่านหลากหลายมุมในชีวิต ก่อนถึงบทบาทปัจจุบัน ซึ่งล่าสุดได้รับฉายามือประสาน 10 ทิศ จากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย และได้รับโล่นักเจรจาต่อรองดีเด่นจาก พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
- เป็นตำรวจที่ได้รับฉายาเปลี่ยนแปลงไปทุกปี เพราะอะไร
ผมมีหลายฉายา เดิมเคยอยู่จราจร ผมแจกอมยิ้มเลยได้ฉายามือปราบอมยิ้ม แล้วก็เปลี่ยนมาทำงานสืบสวน ต่อมาพอวิสามัญมาก ๆ เขาเรียกมือปราบสัปเหร่อ แล้วตอนหลังมาถูกเรียกว่ามือปราบหูดำ แล้วก็เมื่อปีที่แล้วตั้งโครงการปะฉะดะ เขาก็เรียกมือปราบฉะดะ ปีนี้ได้โล่นักเจรจาต่อรองดีเด่น และฉายา 10 ทิศจากสื่อมวลชน ให้ฉายาเยอะ ยังจำได้ไม่หมดเลย (หัวเราะ)
- ชอบฉายาไหนที่สุด
มือปราบหูดำ เพราะมันเป็นตัวตนเรา ส่วนฉายาอื่นมาจากจ็อบที่ปีไหนทำเรื่องอะไรก็ได้ฉายานั้น มือปราบสัปเหร่อตอนนี้ก็เงียบไปเพราะเรามาเป็นผู้บริหารแล้ว แต่มือปราบหูดำนี่ เพราะเราไปไหนคนเขาก็รู้เพราะเรามีปานดำที่หูไง เป็นตัวตนเรา
- ชีวิตราชการส่วนตัวมีโครงการดูแลตำรวจชั้นประทวนผู้ใต้บังคับบัญชา
ทำโครงการดูก้น-ครัว มีคนบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง ถึงเวลาผมเอาไปให้ลูกเมียตำรวจที่แฟลตตำรวจ ข้าวสารถุงเดียว ถ้าผมให้ตำรวจเอง เขาก็จะรู้สึกว่าไปทำงานให้นาย นายก็ให้ข้าวสารมา
แต่ถ้าคุณให้ครอบครัวเขาที่แฟลตจะได้ใจผิดกัน เพราะกลับไปลูกเมียก็จะบอกตำรวจว่าผู้การเอาข้าวมาเยี่ยม ฉะนั้นเวลาผมขอความร่วมมือแม่บ้านตำรวจ ลูกเมียตำรวจ เขาก็ให้ความร่วมมือทั้งหมด ลูกน้องถึงทำงานให้ผมอย่างเอาเป็นเอาตาย
- ความลำบากในชีวิตส่วนตัวมีผลต่อวิธีการทำงาน
ใช่ ผมเป็นตำรวจชั้นประทวนมาก่อน ผมเป็นพลตำรวจก่อนเป็นนายร้อย ผมลำบากมาก ๆ ทำให้ผมเข้าใจตำรวจชั้นประทวน คนอื่นเขามาถึงเป็นนายคนแล้วเขาก็อาจจะไม่เข้าใจ
อย่างผมเคยรับจ้างเข้าเวรวันละร้อยบาท ผมเข้าใจความรู้สึกนะ เขาหิวเหมือนกัน เรากินข้าว เขาก็อยากกินของดี ๆ นะ ตอนผมเป็นสิบตรี เราเห็นเขาเสิร์ฟอาหารเต็มโต๊ะ นายกินเสร็จผมค่อยกินเดนเขา เราเข้าใจว่าลูกน้องก็อยากจะกินอย่างเรา ตำแหน่งไม่เหมือนกันอาจจะไม่ได้มีความเสมอภาคเท่าเทียม แต่เราต้องทำให้เขารู้สึกว่ามีคุณค่า
ผมเคยเอาสารวัตร รองผู้กำกับไปดูงานต่างประเทศ สารวัตรบางคนเขายังไม่เคยขึ้นเครื่องบินเลยก็ได้ใจ ได้องอาจ ได้ใส่สูท เขาก็ทำงานให้เราหัวปักหัวปำ และคนที่ได้ประโยชน์คือองค์กรและประชาชน
- เคยไปอยู่ จ.บุรีรัมย์ ก่อนจะย้ายกลับเข้ามานครบาล
ผมถูกย้ายไปอยู่บุรีรัมย์ ถ้าเป็นคนอื่นคงท้อแท้ เพราะตอนอยู่นครบาลก็มีชื่อเสียง แต่ผมทำงานหนักขึ้นผู้ใหญ่ก็ต้องสงสาร ผมไปอยู่บุรีรัมย์ปีครึ่ง ผมได้กลับมานครบาลไม่ใช่เพราะนักการเมืองนะ แต่ย้ายกลับมาเพราะ ผบ.ตร. ถามว่าผมรู้จักนักการเมืองไหม ก็รู้จักเป็นธรรมดา เพราะผมต้องรู้จักตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด รู้จักศาล อัยการ เพราะต้องทำงานร่วมกัน การรู้จักนักการเมืองก็เป็นปกติ ส่วนความผูกพันเป็นเพื่อนใจก็เป็นอีกคนละเรื่อง
- ผ่านการแข่งขันเลื่อนตำแหน่งในค่านิยมสังคม ที่เน้นพวกพ้องร่วมสถาบันกันอย่างไร
ถ้าเราทำเท่าคนอื่นหรือชนะเขานิด ๆ เราก็ไม่ได้แล้ว เพราะเขามีเพื่อนมีพี่มีรุ่น ฉะนั้นเราจะต้องทำงานมากกว่าเขา 2 เท่า เราต้องทำให้ดีกว่าเขา 2 เท่า ถ้าไม่ชนะ ก็ไม่มีสิทธิ์ได้ เชื่อผมเถอะ ทุกอย่างอยู่ที่การทำงาน ผมเคยเป็นหัวหน้าสายสืบพญาไท สมัยก่อนเป็นโรงพักชั้น 1 ของประเทศ แต่ผมถูกย้ายไปอยู่บางมด ถ้าเป็นคนอื่นคงท้อแท้ ผมไปอยู่แค่ 6 เดือน ผมได้เป็นพนักงานสอบสวนดีเด่นของฝั่งธนฯ ของ บช.น. ของกรมตำรวจ ผมทำสำนวนเป็นแบบอย่าง ถ้าคุณโดนย้ายไปไม่ดีแล้วคุณท้อแท้คุณแพ้เลยนะ คุณต้องทำให้ดีขึ้นเพื่อให้เขาเอาคุณกลับมา
- ช่วงที่ถูกย้ายไป-มา เพราะตำรวจพันกับการเมืองหรือเปล่า
ผมประสบกับจิตใจผู้บังคับบัญชามากกว่า เช่น เพราะถูกมองว่าเป็นอีกพวก แต่ความจริงแล้วใครมาผมก็ทำงานให้ในฐานะผู้บังคับบัญชา แต่ใครจะเข้าใจยังไงก็แล้วแต่ ถ้าคุณอคติคิดไม่ดีคุณก็ไม่ได้ของดี รัฐบาลใครมาผมก็ทำให้หมด แต่เรื่อง ส่วนตัวจะชอบใครนั่นเป็นเรื่องนอกงาน
- ผู้การมีวิธีทำงานอย่างไรสำหรับเรื่องยาก ๆ ตั้งแต่คดีวิสามัญฆาตกรรม ก่อนมาเจรจาม็อบ
นอกเวลางานผมก็เป็นคนตลกโปกฮานะ แต่ในเวลาทำงานผมเป็นคนทำงานจริงจัง เวลาคุมลูกน้องงานก็ต้องเป็นงาน ส่วน เลิกงานจะกินจะเที่ยวก็ว่าไป ไอ้ตัวนี้เรา ก็ผูกใจลูกน้องได้ ลูกน้องก็เห็นว่านายทำงาน ชีวิตผมเคยลำบากมาก่อน พ่อของผมจบ ป.4 แม่ของผมอ่านหนังสือไม่ออก ผมมาถึงวันนี้ได้ด้วยงาน ถ้าผมไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใต้บังคับบัญชา ผมทำคนเดียวไม่ได้หรอก ตอนทำงานช่วงที่มีการวิสามัญ ผมทำมาก่อนมีนโยบายปราบปรามยาเสพติดของนายกฯทักษิณ เพราะนายกฯทักษิณทำเมื่อปี 2546 แต่ผมเอาจริงเอาจังเรื่องยาเสพติดมาตั้งแต่ 2544 ผมวิสามัญมา 30 กว่าคนยังไม่รวมคดีอื่น ๆ
- ตอนทำงานวิสามัญฆาตกรรม มองหลักการเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างไร
การวิสามัญฆาตกรรมไม่ใช่การเอาคนไปฆ่านะ บางคนคิดว่าวิสามัญคือเอาคนไปฆ่า แต่ลองช่วงนี้ถ้าตำรวจไม่โดนยิง คนก็ไม่เห็นใจตำรวจ อย่างผมวิสามัญคนร้าย ก็เพราะคนร้ายมีปืนมายิงตำรวจทั้งนั้น คดียาเสพติดคนร้ายมีปืนทั้งนั้นเพราะ โทษสูง ถ้าถูกจับก็ประหารชีวิต มันก็ต้องสู้ก่อน แต่สาเหตุที่ตำรวจยิงแม่นกว่าเพราะใจมันผิดกัน ถ้าน้องเป็นคนร้ายเจอตำรวจ ก็แพ้ไปครึ่งหนึ่ง เพราะตำรวจเราใจกฎหมายทำถูกต้อง แต่คนร้ายใจหนี ฉะนั้นความแม่นความตั้งใจมันผิดกัน
- คิดอย่างไรเมื่อตำรวจตกอยู่ในฐานะจำเลย เวลาใช้อาวุธป้องกันตัวในสถานการณ์เสี่ยง
ใช่ งานเสี่ยงแต่คนไม่รู้ไง คือบางทีผมก็เข้าใจนะงานสิทธิมนุษยชนเนี่ย ผมเคย วิสามัญคดีคนร้ายเอาปืนจี้ยิงคนบนสะพานลอยเอาทรัพย์สิน ตีคนพิการ แทงคนพิการ ตั้งแต่ผมวิสามัญขณะที่เขามีอาวุธปืนยิงตำรวจวันนั้น ไม่มีคนร้ายก่อคดีบนสะพานลอยอีกเลย ผมถูกโจมตีจากนักสิทธิ มนุษยชน แต่ผมถามว่า ถ้าวันนั้นตำรวจตายแล้วนักสิทธิมนุษยชนเคยเอาหรีดไปให้เขาสักพวงไหม เคยเห็นไหม ?
- สาเหตุที่ได้รับมอบหมายให้เจรจาม็อบเพราะอะไร
ผู้บังคับบัญชามองว่าการดูแลเหตุการณ์ชุมนุมจะใช้กำลังอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีการพูดคุย ต้องตกลงทำความเข้าใจกันก่อน เขาก็มองว่าผมรู้จักคนเยอะทุกวงการตั้งแต่ดำเป็นขาว ดินเป็นดาว เพราะผมเข้ากับคนง่าย เขาก็มองว่าให้ผมทำดีกว่าเพราะมี คอนเน็กชั่นเยอะ จะให้ผมไปเจอใครหรือไปหาใคร เมื่อประสบความสำเร็จก็ใช้มาเรื่อย
สำหรับเรื่องม็อบ เราต้องรู้จุดประสงค์ของผู้ที่ชุมนุม อย่างม็อบอย่างเสื้อแดงเขาก็มาเพราะเรื่องความคิดที่เขาสนับสนุนทักษิณ เราก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าเราคุยกับเขารู้เรื่อง
ขณะที่ม็อบเสื้อเหลืองเป็นม็อบเฉพาะกิจที่เขาเห็นว่าจะต้องดำเนินการกับทักษิณ เราต้องคิดว่าเราจะพูดกับเขายังไง หรืออย่างม็อบคนจนที่มาทำเนียบเราจะพูดกับเขายังไง ม็อบเดือดร้อนเรื่องที่ทำกิน เราจะพูดกับเขายังไง แล้วเราจะเอาข้อตกลงนั้นไปพูดกับรัฐบาลให้เขาพอใจได้ยังไง
ที่สำคัญคือการเจรจากับม็อบทุกครั้ง เราต้องแสดงความเห็นใจเขาทุกครั้ง และให้เกียรติเขา เรียกเขาพี่ น้า อา คนไทยชอบการให้เกียรติ แต่ถ้าเราไปเรียกเขาว่าไอ้ มึง กู เขาก็ไม่พูดด้วย อีกอย่างต้องทำให้เขาเห็นว่าเป็นห่วงเป็นใยเขา แต่ถ้าเขาทำผิดกฎหมายเราก็ไม่ยอมนะ ต้องให้เขาเห็นว่าผู้การเอาจริง
- อย่างนี้ก็ไม่แปลกที่ม็อบแต่ละสีจะมองว่าผู้การแต้มเป็นพวกเดียวกับเขา
ใช่ ๆ เพราะผมเจรจาได้ทุกม็อบ ถามว่าพี่จะเอายังไง บางทีเราก็รู้ว่าเขาไม่ได้มาชนะคะคาน แต่มายื่นหนังสือ มาแสดงความคิดเห็น
- มีความเห็นทางการเมืองส่วนตัวไหม
ก็มีนะ เราอาจจะชอบบ้างแต่ไม่ใช่ชอบหัวปักหัวปำ บางทีอาจจะชอบนโยบาย บางทีอาจจะชอบตัวบุคคล แต่ในฐานะที่ผมเป็นตำรวจ ผมอยากให้บ้านเมืองสงบสุข
- เมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว ฐานะของตำรวจจะเป็นอย่างไร
ใครมาเป็นผู้บริหาร ตำรวจก็เป็นหมา รับใช้ทั้งนั้น เพราะใครมาก็มาใช้ เปรียบสำนวนคนโบราณเขาพูด ใครจะมา กูก็หมาเหมือนเดิม (ทำเสียงเหน่อเหมือนคนสุพรรณฯ) คือใครมาตำรวจก็หมาเหมือนเดิม ใครมาก็ด่าว่าตำรวจอยู่ดี และถ้าใครมาด่าว่าตำรวจเป็นสีไหน ผมขอเถียงนะ ต้องมาทำงานเป็นตำรวจถึงจะรู้ เพราะความเป็นตำรวจถ้านายคนไหนใช้มา นายคนไหนถูกต้อง มันทำให้หมดแหละ เพราะเรารับเงินหลวง
เราเป็นข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราต้องทำงาน แต่คนชอบไปด่าตำรวจว่าเป็นสีแดง แต่คุณไม่รู้เหรอว่าหน่วยอื่นเป็นสีแดงตั้งเยอะแยะ แต่คุณไปผลักตำรวจไปอยู่ฝั่งนั้นเอง ถามว่าทักษิณเคยให้อะไรกับผมและตำรวจชั้นประทวนไหม เขาก็ไม่ได้ให้อะไรส่วนตัว แล้วจะไปตายเพื่อทักษิณทำไม แต่คนที่กล่าวหาตำรวจก็เท่ากับไปผลักตำรวจ ไปรังแกตำรวจ เขาก็หนีคุณไปเอง
- ตำรวจถูกเรียกว่ามะเขือเทศ เป็นความเข้าใจของคนนอกเท่านั้นงั้นหรือ
สมัยมีผู้ชุมนุมฝ่ายหนึ่งผลักตำรวจให้อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แล้วตำรวจจะยืนยังไง พอเป็นอย่างงั้นปุ๊บเลยทำให้ดูเหมือนตำรวจทำงานไม่เข้มแข็ง แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะความจริงแล้วตำรวจทำงานหนักมากกว่าทุกองค์กร...ทั้งก่อนชุมนุม ตอนชุมนุม และหลังการชุมนุมตำรวจ ก็ต้องดูแล และทำสำนวนอีก ดีเอสไอ ก็ส่งสำนวนให้ตำรวจอีกที...ตำรวจ ต้องอยู่กับประชาชน ต้องทำงานกับเขา ต้องหาข่าวกับเขา ดังนั้นจะรุนแรงกับประชาชนไม่ได้พอเป็นอย่างนี้คนที่ผลักตำรวจไปอยู่อีกฝ่ายก็ไปคิดว่าตำรวจอยู่ ฝ่ายตรงข้ามจริง ๆ
- ความยากของงานทั้งเจรจาและรักษากฎหมายมีเส้นแบ่งอย่างไร
ผมเชื่อว่าการชุมนุมต้องใช้การเจรจา เพราะถ้าคุณใช้กำลังวันนี้ก็เพิ่มความแค้นมากขึ้น ดังนั้นต้องใช้การเจรจา แต่ถ้าคุณล้ำเส้นก็ต้องถูกดำเนินคดี เช่น การจาบจ้วงสถาบัน ก็ต้องโดนคดีแน่
- ภารกิจที่ได้รับมอบหมายเป็นความภาคภูมิใจ หรือรู้สึกอย่างไร
ก็ภูมิใจ แต่เป็นภาระที่หนัก เพราะถ้าทำไม่สำเร็จก็เสียฟอร์มและเสียหายทางราชการ บางทีผมอาจจะเจรจาพูดคุย ทางโทรศัพท์ก็ได้ แต่เหตุที่ต้องทำต่อหน้าสื่อมวลชนเพื่อให้สาธารณะเห็นว่ามีการทำข้อตกลงประสานงานกันแล้ว ใครบิดพลิ้ว ก็ต้องรับผิดชอบ
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์(update:วันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ.2553 เวลา09:49:00 น)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น