วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 18, 2554

“ตื่นเถิด! ประชาชนไทย”

“หากไม่ปรากฏชัด ว่าสาเหตุการตายเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ คือไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำ อาจจะเป็นคนร้าย ไอ้โม่ง ไอ้เขียว ไอ้ขาว ไอ้แดง ไอ้ดำก็แล้วแต่ จะส่งไปรวมกับคดีหลักคดีเดิมที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เพื่อสืบหาคนร้ายต่อไป ซึ่งตำรวจเพียงทำสำนวนชันสูตร ไม่ได้กล่าวหาใคร และไม่ได้มีหน้าที่ค้นหาตัวผู้กระทำผิด ผู้ที่มีหน้าที่ในการรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดและเอาตัวผู้กระทำผิด มาลงโทษคือพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ”

พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) กล่าวถึงความคืบหน้าคดี 91 ศพจากเหตุการณ์ “เมษา-พฤษภาอำมหิต” ว่าดีเอสไอส่งให้ตำรวจสอบสวนแค่ 13 ศพ โดยศพที่มีเศษกระสุน หัวกระสุน ปลอกกระสุนเป็นหลักฐานต้องตรวจพิสูจน์ด้านนิติวิทยาศาสตร์ จะไม่ใช้ความเห็นส่วนตัว เพราะอาจผิดพลาดได้ ขณะนี้สอบสวนแล้ว 95% คาดว่าอีกไม่เกิน 2 เดือนจะเสร็จ แต่หากการสอบสวนปรากฏชัดว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ต้องส่งให้ดีเอสไอทำ การไต่สวนต่อไป

คำแถลงของ พล.ต.ต.อำนวยทำให้เห็นชัดเจนว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่ง ชาติ (นปช.) แดงทั้งแผ่นดินและญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 91 ศพคงยากจะได้ “ความจริง” และ “ความยุติธรรม” ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาแล้วกว่า 9 เดือน ไม่รู้ว่าหลักฐานต่างๆถูกทำลายและบิดเบือนไปอย่างไร เพราะดีเอสไอแถลงออกตัวก่อนแล้วว่ากว่า 63 ศพยังไม่มีหลักฐานระบุว่าเสียชีวิตอย่างไร รวมทั้งช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่นและนักข่าวอิสระชาวอิตาลี

2 สี 2 มาตรฐาน

ขณะที่แกนนำ นปช. และคนเสื้อแดงอีกนับร้อยกลับถูกคุมขังและไม่ได้รับการประกันตัว จากการยัดเยียดข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” และฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะแกนนำ นปช. มอบตัวตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ก่อนจะเกิดการเผากลางเมือง แต่วันนี้นอกจากดีเอสไอจะไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้แล้ว ยังมีหลักฐานระบุว่าอาจเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐเองอีกด้วย

ตรงข้ามกับคดีของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ถูกตั้งข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” จากการปิด สนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิตั้งแต่ปี 2551 ทำให้ประชาคมโลกประณาม และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจหลายแสนล้าน แต่จนปัจจุบันนี้คดียังไม่คืบหน้า เช่นเดียวกับคดีกลุ่มพันธมิตรฯบุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2551 ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยปักหลักชุมนุมอยู่นานกว่า 100 วัน จนหัวหน้าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดีพันธมิตรฯขอลาออกจากการเป็นหัวหน้า พนักงานสอบสวนไปแล้วถึง 2 คน

ขณะที่นายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ และนายสมบูรณ์ ทองบุราณ 2 แกนนำพันธมิตรฯ ที่ถูกจับกุมในข้อหาเดียวกันกับคนเสื้อแดงกลับได้รับการประกันตัวโดยเร็ว จนคนเสื้อแดงต้องชุมนุมเรียกร้องขอความยุติธรรม รวมถึงทำจดหมายเปิดผนึกปรับทุกข์กับผู้พิพากษาทั่วประเทศและคนไทยทั้งแผ่น ดินว่าทำไมคนเสื้อแดงจึงไม่ได้ประกันตัว และตั้งคำถามว่าเป็นความยุติธรรม 2 มาตรฐานหรือไม่

คนเสื้อแดงจึงประกาศจะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะได้ความยุติธรรมและประชาธิปไตย ที่แท้จริงกลับคืนมา โดยเฉพาะวันเสาร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ ซึ่งครบ 10 เดือนการ “ขอคืนพื้นที่” ในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 คนเสื้อแดงอาจปักหลักชุมนุมยืดเยื้อเหมือนที่กลุ่มพันธมิตรฯชุมนุมปิดถนน หน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะนี้

ยัดเยียดข้อหา

เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ตัวแทนกลุ่มเครือข่ายญาติผู้ต้องขังเสื้อแดงประมาณ 50 คน พร้อมนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กรณีญาติพี่น้อง สามี และลูกยังถูกคุมขังอยู่ตามเรือนจำในจังหวัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นมหาสารคาม อุบลราชธานี อุดรธานี มุกดาหาร ขอนแก่น และเชียงใหม่ โดยไม่สามารถประกันตัวได้

จากข้อมูลเมื่อเดือนตุลาคม 2553 พบว่ายังมีผู้ต้องขังเสื้อแดง 180 คน มี 151 คนที่ขอความช่วยเหลือ บางส่วนขอทนายความ ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะเป็นผู้จัดหาให้ อีก 48 รายขอความช่วยเหลือเรื่องเงินประกันตัว ซึ่งกองทุนยุติธรรมอนุมัติให้ทั้งหมด ขณะนี้อยู่ระหว่างนำเงิน 28 ล้านบาทเพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันตัว แต่การให้หรือไม่ให้ประกันตัวเป็นดุลยพินิจของศาล ซึ่งที่ผ่านมากรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ยื่นประกันตัวไปแล้วหลายราย แต่ส่วนใหญ่ศาลไม่อนุญาต เพราะเกรงว่าผู้ต้องขังจะหลบหนี

แม้จะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ประกันตัวคนเสื้อแดง 104 คนตามที่นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เสนอ แต่มติ ครม. ระบุให้ดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติไปหาหลักเกณฑ์และแนวทางในการประกัน ตัว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ ทางกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจึงจะทำหนังสือทวงถามให้

อย่างกรณีนางศิรินารถ จันทะคัต จากจังหวัดมหาสารคาม อยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยการช่วยเหลือผู้ต้องขังอย่างที่พูด โดยยกตัวอย่างความยากลำบากของครอบครัวจันปัญญา หลังจากนายสุชล จันปัญญา นักศึกษาเทคนิคชั้น ปวส.1 ถูกคุมขัง ทำให้พ่อที่เป็นอัมพาตและแม่ที่อายุมากอยู่อย่างยากลำบาก เพราะปรกตินายสุชลเป็นเสาหลักหาเลี้ยงครอบครัวและทำงานเป็นลูกจ้างร้านถ่าย เอกสารส่งเสียตัวเองเรียน ในวันเกิดเหตุนายสุชลไปยืนดูการชุมนุม แต่ตำรวจใช้ภาพถ่ายและขวดน้ำมันเป็นหลักฐาน ทั้งที่ขวดน้ำมันไม่มีลายนิ้วมือของนายสุชล

ส่วนนางวาสนา ลิลา จากจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวทั้งน้ำตาว่า สามีถูกคุมขังมานานหลายเดือนจนมีอาการเครียด เกรงจะคิดสั้นในเรือนจำ โดยโดนข้อหาร่วมกันวางเพลิง ทั้งที่วันเกิดเหตุไปซื้ออะไหล่รถและแวะมาดูลูกคนเล็กที่ป่วยอยู่ที่โรง พยาบาล เมื่อผ่านจุดเกิดเหตุจึงแวะดู แต่ตำรวจนำภาพถ่ายมาให้เซ็นชื่อ โดยบอกว่าหากลงชื่อวันรุ่งขึ้นสามารถประกันตัวได้ แต่กลับถูกคุมขังมาจนถึงปัจจุบัน

รัฐบาลจุดชนวนความรุนแรง

ข้อมูลล่าสุดที่บ่งชี้ถึงการใช้อำนาจรัฐอย่างไม่ชอบธรรมคือคำให้การของ นายปริย นวมาลา เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที กับ คอป. ในฐานะสื่อหลักขณะนั้นที่ทำหน้าที่รายงานสถานการณ์ความรุนแรงเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 โดยระบุว่า รัฐบาลพยายามจะใช้สื่อคือเอ็นบีที ไม่ว่าจะเป็นข้อความตัววิ่งหน้าจอ หรือการจัดเวทีสนทนา โดยเชิญวิทยากรที่คิดเหมือนกับรัฐบาลมาแสดงความเห็นผ่านโทรทัศน์ โดยผู้จัดไม่สามารถนำคนที่เป็นกลางหรือคิดเห็นแบบเดียวกับคนเสื้อแดงมา ออกรายการได้ เพื่อโจมตีกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งเหมือนเป็นการราดน้ำมันลงในกองไฟ เอ็นบีทีจึงกลายเป็นสื่อที่จุดชนวนความรุนแรง

“ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ เพราะว่าองค์กรของผมได้รับความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นระเบิดเอ็ม 79 ยอมรับว่าบางรายการนำเสนอเนื้อหาที่ไม่สร้างสรรค์ เจ้าหน้าที่จากหลายฝ่ายยอมรับว่าบุคลากรและเจ้าหน้าที่ก็เป็นบุคคลที่น่า เห็นใจ ไม่ว่ารัฐบาลใดจะมาต้องทำไปตามเนื้อหาที่รัฐบาลต้องการ”

นายปริยยืนยันว่า ความรุนแรงส่วนหนึ่งมาจากรัฐบาล โดยมองประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นศัตรู แต่ถ้า คอป. จะเจาะข้อมูลจากบุคลากรในสถานีเชื่อว่า 90% ไม่มีใครกล้าพูด ส่วนเหตุผลคงทราบดีว่าเพราะรับเงินเดือนจากรัฐบาล แต่ตนเองกล้าพูดเพราะเห็นใจประชาชน

สกว. ยันรัฐใช้ความรุนแรง

แม้แต่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยังระบุถึงการใช้ความรุนแรงของรัฐบาลจากการจัดทำรายงานเรื่อง “ยุทธศาสตร์สันติวิธีกับการจัดการความขัดแย้งในสังคมไทย : กรณีเสื้อเหลือง-เสื้อแดง” ตามโครงการยุทธศาสตร์สันติวิธีสำหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21 โดยเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้การชุมนุมอย่างสันติของ นปช. ลงท้ายด้วยความรุนแรงนั้นมาจากกระบวนการตัดสินใจของทั้ง 2 ฝ่ายมีปัญหา แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่รัฐบาลที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงและกลุ่มผู้มีส่วนได้ เสียมีความไม่ลงตัวระหว่างอำนาจในระบบสถาบันการเมืองปรกติกับอำนาจภายนอก

โดยเฉพาะผู้ชุมนุมเลือกใช้ยุทธศาสตร์แบบเผชิญหน้าและท้าทายกับระบบการ เมืองปรกติ เช่น การยึดครองศูนย์กลางธุรกิจ แม้จะไม่ใช้ความรุนแรง แต่ฝ่ายรัฐบาลที่มีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยเห็นว่าหากปล่อยให้การ ประท้วงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับการก่อเหตุรุนแรงจากการกระทำของผู้ที่ไม่ทราบฝ่าย รัฐบาลจะถูกมองว่าไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้ จึงนำไปสู่การยุติปัญหาอย่างรวดเร็ว

“การปฏิบัติการตามกลไกต่างๆของรัฐต่อการชุมนุมนั้นตกอยู่ภายใต้กรอบคิด และวาทกรรมของสงครามและการก่อการร้าย รูปธรรมของวาทกรรมนี้ปรากฏให้เห็นชัดจากคำอธิบายของผู้ปฏิบัติงานของรัฐและ การตั้งข้อกล่าวหาต่อแกนนำ นปช. ในข้อหา “ก่อการร้าย” หลังเหตุการณ์ความรุนแรงในวันที่ 10 เมษายน 2553 และพยายามเชื่อมโยง นปช. กับการก่อเหตุความรุนแรงโดยผู้กระทำไม่ทราบฝ่าย”

แม้ยุทธวิธีการเคลื่อนไหวของ นปช. จะอยู่ในขอบเขตไม่ใช้ความรุนแรง แม้แต่การ “เทเลือด” ก็ถือเป็นการประท้วงในเชิงสัญลักษณ์ ซึ่งรัฐมองการชุมนุมเป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองและจำเป็นต้องแก้ปัญหา ด้วยวิถีทางการเมืองเท่านั้น แต่กลับมองว่าการประท้วงและผู้ประท้วงเป็นภัยร้ายที่ต้อง “จัด การ” ให้ได้ เมื่อมองว่าอยู่ในสภาวะสงครามจึงจำเป็นต้องใช้ปฏิบัติการทางทหารเพื่อเอาชนะ สงคราม แม้จะเกิดความรุนแรงและความสูญเสียก็ตาม

บดบังความจริงอันตรายใหญ่หลวง


รายงานของ สกว. ยังระบุถึงเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ นั่นคือการใช้กำลังทหาร “ขอคืนพื้นที่” เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ตามมาด้วยการปะทะและการปรากฏตัวของ “ชายชุดดำ” กลุ่มติดอาวุธที่ยังไม่สามารถระบุได้ รัฐบาลจึงตัดสินใจใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ทำให้ผู้ชุมนุมต้องใช้วิธีการตั้งรับหรือตอบโต้ด้วยความรุนแรงในนาม “การป้องกันตนเอง” และทำให้ผู้ชุมนุมที่มีลักษณะรุนแรงสุดโต่งซึ่งเป็นส่วนน้อยมีอิทธิพลต่อ ขบวนการเคลื่อนไหวมากขึ้น

การปรากฏตัวของ “ชายชุดดำ” ที่นำไปสู่การสูญเสียของฝ่ายทหารจึงทำให้การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ครั้ง หลังเป็นลักษณะการทำสงครามมากกว่าการสลายการชุมนุม โดยเน้นการโจมตีก่อนเพื่อป้องกันการสูญเสียของฝ่ายเจ้าหน้าที่

คณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธียังเตือนว่าอันตรายใหญ่หลวงจะบังเกิดขึ้นกับ สังคมหากฝ่ายความมั่นคงมองไม่เห็นความจริงในสังคม หากการตัดสินใจของฝ่ายรัฐในสถานการณ์ขัดแย้งที่ล้ำลึกนั้นเชื่อมโยงกับงาน ข่าวความมั่นคงที่มีข้อมูลและการข่าวแบบความเชื่อบดบังความจริง ซึ่งต้องยอมรับว่าในภาพใหญ่ของสังคมไทยขณะนี้กำลังเปลี่ยนแปลง และคำตอบความมั่นคงของสังคมไทยที่ยั่งยืนในอนาคต ผู้มีอำนาจต้องไม่เลือกข่าวเฉพาะที่ตอบสนองต่อเป้าหมายของตนเอง หรือโดยอาศัยกำลังทหารเป็นหลัก

“อัมสเตอร์ดัม” สู้ไม่ถอย

ด้านนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความสำนักงานทนายความอัมสเตอร์ดัม แอนด์ เปรอฟ ซึ่งเป็นทนายความของ นปช. ในการยื่นเรื่องฟ้องศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court-ICC) ที่วิดีโอลิ้งค์มายังที่ชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ยอมรับว่าการที่ไอซีซีจะรับคดีมีน้อย แต่จะรวบรวมหลักฐานและยื่นคำร้องไปใหม่เพื่อให้ทุกฝ่ายยอมรับ แม้จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากไอซีซี แต่ทีมทนายจะหาวิธีช่วยคนเสื้อแดงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายให้ได้ ทั้งที่ผู้ก่อการร้ายตัวจริงคือคนที่สั่งฆ่าประชาชนอย่างเลือดเย็น

นายอัมสเตอร์ดัมยืนยันว่า ตราบใดที่รัฐบาลนี้ยังอยู่ในอำนาจจะต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งเพื่อเปิดโปงการ ก่ออาชญากรรมในประเทศไทย และตราบใดที่องค์กรต่างประเทศยังเพิกเฉยก็จะต่อสู้ต่อไป โดยจะเขียนจดหมายถึงสถานทูตต่างๆว่า We Count to เพื่อแสดงว่าคนเสื้อแดงยังมีตัวตนอยู่และต้องการความยุติธรรม นอกจากนี้ทีมทนายความจะผลักดันพรรคประชาธิปัตย์ออกจากสมาพันธ์เสรีนิยม ระหว่างประเทศ เพราะปกปิดคดีอาชญากรรมระหว่างมนุษยชาติ

“ผมคงอยู่ในโลกไม่ได้หากปล่อยให้ปิศาจอยู่ในโลก แม้ประเทศไทยไม่ได้ลงสัตยาบันกับไอซีซี แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ผิดพลาดที่ยังไม่สละสัญชาติอังกฤษที่ได้รับโดยกำเนิด ฉะนั้นนายอภิสิทธิ์ยังอยู่ในเขตอำนาจของไอซีซี จึงไม่ต้องคำนึงถึงสถานที่การก่ออาชญากรรม ผมและทีมงานจะนำเรื่องร้องทุกข์ขึ้นสู่กระบวนการให้สำเร็จ ขอให้เชื่อมั่นว่าการต่อสู้จะดำเนินต่อไป ไม่ปล่อยให้ฆาตกรลอยนวล แกนนำ นปช. จะไม่โดนขังคุกอย่างไม่ชอบธรรมแน่นอน”

ประชาชนปฏิวัติ!

ดังนั้น ตราบใดที่นายอภิสิทธิ์ยังเป็นรัฐบาล และดีเอสไอยังเป็นเจ้าของคดี 91 ศพ การชันสูตรพลิกศพจะยังมืดมน และไม่มีวันที่ “ความจริง” จะปรากฏว่าแต่ละรายเสียชีวิตอย่างไร ใครเป็นคนยิง ทั้งที่สังคมไทยและคนทั่วโลกรู้ดีว่าใครเป็นคนสั่ง ใครเป็นฆาตกร
การได้มาซึ่งความจริงและความยุติธรรมจึงเป็นไปไม่ได้เลยหากคนเสื้อแดงจะรอ ความหวังจากรัฐบาลและกระบวนการยุติธรรมที่วันนี้ผูกพันและถูกครอบงำโดยกลุ่ม อำมาตยาธิปไตย ความยุติธรรม 2 มาตรฐานจึงเป็นความชั่วร้ายที่แม้แต่อำนาจตุลาการยังเกิดวิกฤตศรัทธาอย่าง ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

อย่างที่สำนักข่าวอัลจาซีราตีพิมพ์บทความเรื่อง “อะไรที่ทำให้การปฏิวัติสำเร็จ” ของนาย Roxane Farmanfarmaian นักวิชาการรัฐศาสตร์และต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และศูนย์ตะวันออกกลางมหาวิทยาลัยยูทาห์ ซึ่งอยู่ในอิหร่านช่วงเกิดการปฏิวัติและวิกฤตตัวประกันที่อิหร่านจับชาว สหรัฐเป็นตัวประกันถึง 444 วัน เปรียบเทียบการปฏิวัติอิหร่านเมื่อปี 1979 กับการประท้วงใหญ่ในอียิปต์ว่า การปฏิวัติอิหร่านให้บทเรียนที่อียิปต์ 5 บทเรียนสำคัญคือ 1.การปฏิวัติต้องใช้เวลา 2.ระบอบที่หยั่งรากไม่จากไปอย่างเงียบๆ 3.กองทัพไว้ใจอะไรไม่ได้ 4.การนัดหยุดงานเป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ และ 5.การเบี่ยงเบนสื่อที่ถูกควบคุมโดยรัฐเป็นความสำเร็จสำคัญ

โดยเฉพาะการลุกฮือของประชาชนในอียิปต์นั้นสะท้อนถึงยุคสมัยที่การประท้วง เริ่มต้นจากการใช้บล็อกและทวิตเตอร์ รวมถึงมีแรงสะสมจากรายการโทรทัศน์บนอินเทอร์เน็ต เฟซบุ๊ค และโทรศัพท์มือถือ แม้ว่าประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัค จะสั่งตัดอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ แต่ไม่สามารถปิดกั้นการสื่อสารได้

ขณะที่นายอภิสิทธิ์กลับกลายเป็น “ตัวตลกโลก” เมื่อผู้สื่อข่าวต่างชาติให้ออกความเห็นถึงนายมูบารัคซึ่งขณะนั้นกำลังถูก ชาวอียิปต์ลุกฮือขับไล่ว่าควรเคารพความต้องการของประชาชนและปฏิบัติหน้าที่ ของตนเอง ทั้งยังฝากถึงผู้นำประเทศที่เผชิญกับการลุกฮือของประชาชนว่าต้องรู้จักอดทน อดกลั้นและไม่ใช้ความรุนแรง แต่กรณีรัฐบาลไทยและกองทัพต้องใช้ความรุนแรงกับคนเสื้อแดงจนมีผู้ชีวิตและ บาดเจ็บมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย เพราะมีการยิงอาวุธระเบิดและบุกรุกเข้าไปในโรงพยาบาล จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งความเป็นระเบียบเรียบ ร้อยของประเทศ

คำพูดของนายอภิสิทธิ์จึงสะท้อนชัดเจนว่าทำไม 9 เดือนที่ผ่านมาคนเสื้อแดงจึงยังต้องต่อสู้เพื่อให้ได้ความยุติธรรมและ ประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนกลับคืนมา เหมือนคนตูนิเซียและอียิปต์ที่ทำให้ผู้นำเผด็จการทั่วภูมิภาคตะวันออกกลาง และรัฐบาลประเทศต่างๆทั่วโลกที่ยังปกครองภายใต้อำนาจเผด็จการต้องหวาดผวาและ ปรับตัวก่อนจะถูกประชาชนปฏิวัติ

คนเสื้อแดงจึงมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะต่อสู้เพื่อ ให้ได้มาซึ่งความยุติธรรมและประชาธิปไตยที่แท้จริงของประชาชน ไม่ใช่ แค่ให้ปล่อยตัวคนเสื้อแดงชั่วคราว

เพราะประวัติศาสตร์ทั่วโลกยืนยันว่าไม่มีอำนาจใดจะยิ่งใหญ่เท่าอำนาจของประชาชน!


ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 299 วันที่ 19-25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 หน้า 16-17 คอลัมน์ เรื่องจากปก โดย ทีมข่าวรายวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น