วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 11, 2554
อำนาจพิเศษ-ประชาวิวัฒน์ ช่วย”มาร์ค”ไม่สำเร็จ
ด่าแหลก สู้”แม้ว”ไม่ได้!
อำนาจพิเศษ-ประชาวิวัฒน์ ช่วย”มาร์ค”ไม่สำเร็จ ม็อบเกษตรฉุน-เอาแต่หลบหน้า!
วิบากกรรมรัฐบาลของนายภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในช่วงระยะเวลา 2 ปีเศษ ที่ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แบบมีการผลักดันอุ้มชูจากขั้วอำนาจพิเศษ และกลไกพิเศษ
ซึ่งในความเป็นจริงควรที่จะเป็นรัฐบาลที่มีสภาพเหมือนกับเดินไปบนพรมที่ มีคนปูทางและเขียนบทให้ ได้โดยไม่สะดุด แต่เอาเข้าจริงๆแล้วกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้นเลย
เพราะนับตั้งแต่ก้าวแรกที่เป็นรัฐบาล ก็ต้องเผชิญกับการทวงบุญคุณจากสารพัดกลุ่มที่หนุนให้ได้ตำแหน่ง โดยเฉพาะจากพรรคร่วมรัฐบาล จากกลุ่มพันธมิตร และนายทหารบางคน
เลยทำให้ระบบต่างๆรวนไปหมด
เสียงครหาเรื่องการเล่นพรรคเล่นพวก เรื่องการทุจริตคอรัปชั่น เรื่องการใช้องค์กรอิสระต่างๆให้ผิดเพี้ยนต่อระบบยุติธรรมระบบตุลาการปั่น ป่วนด้วยคำว่า 2 มาตรฐานไปหมด
ชนิดที่ระงมเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากเสียยิ่งกว่า รัฐบาลไทยรักไทยเสียอีก
อะไรไม่สำคัญเท่ากับเกิดกรณีสลายการชุมนุม ทวงคืนพื้นที่จนเป็นเหตุให้มีคนตายมากถึง 91 ศพ บาดเจ็บกว่า 2,000 คน และแม้แต่สื่อมวลชนต่างประเทศ ก็ยังต้องมาสังเวยชีวิตไปด้วย ทั้งสื่อมวลชนจากญี่ปุ่น และจากอิตาลี
หากเป็นรัฐบาลที่ไม่มีอำนาจพิเศษหนุนหลัง คงยากที่จะอยู่รอดแน่
แต่แม้กระทั่งกรณียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งนักกฎหมายต่างๆพากันส่ายหน้าว่า หลักฐานแบบนี้ เข้าหลักเกณฑ์กฎหมายแบบนี้ คงยากจะรอดแล้ว คงต้องเป็นผีถึงหลุมแน่นอน
เอาเข้าจริงๆ ผีกลับไม่ยอมลงหลุม มีการเลาะหาช่องว่างของตะเข็บกฎหมายมาใช้เป็นกรณีมหัศจรรย์ได้อย่างเหลือ เชื่อ จนสามารถใช้เป็นข้ออ้างในการชนะฟาล์วได้หน้าตาเฉย
แต่แน่นอนว่าแม้สุดท้ายจะไม่มีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ แต่ก็กลายเป็นยุบความน่าเชื่อถือขององค์กรที่เกี่ยวข้อง และระบบยุติธรรมให้หมดราคาลงไปโดยสิ้นเชิง
ประเด็นทั้งหลายเหล่านี้เอง ที่ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ ที่มุ่งหวังที่จะชนะการเลือกตั้งให้ได้ อุตส่าห์ทุ่มทำโครงการตามแนวทางประชานิยมที่เคยวิพากษ์วิจารณ์เอาไว้อย่าง เสียๆหายๆ
แต่ก็จำเป็นต้องทำ โดยแค่เปลี่ยนชื่อเรียกให้เป็นประชาวิวัฒน์เพื่อแก้กระดาก โดยหวังว่าจะซื้อใจประชาชนระดับรากหญ้า ระดับล่างของสังคมได้ เพื่อหวังที่จะช่วงชิงฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย ซึ่งถือเป็นศัตรูตัวฉกาจในทางการเมืองให้ได้
ปัญหาก็คือ การพยายามหว่านเงินตามแนวทางของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ โดยที่ไม่ได้มีการช่วยแก้ปัญหาให้ถูกจุด จะสร้างคะแนนนิยมสร้างการยอมรับได้อย่างไร
การเอาปลามาแจกให้คนกิน กับการสอนให้คนเลี้ยงปลา หรือรู้จักหาปลาเอามาเป็นอาหารในระยะยาว ยังไงก็สู้กันไม่ได้อยู่แล้ว
ดังนั้นในมุมมองของภาคการเกษตร ภาคการอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะภาคธุรกิจส่งออก ซึ่งร้องขอความช่วยเหลือจนเสียงแหบเสียงแห้งเรื่องผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็ง กลับไม่ได้รับการเหลียวแล หรือว่าแก้ไขเลย
เพราะต้องยอมรับความเป็นจริงว่า แค่วุ่นกับปัญหาการเมือง วุ่นกับการประคองตัวให้เป็นรัฐบาลต่อไปให้ได้ ก็แทบหมดเวลาแล้ว
ปัญหาไฟใต้ ปัญหาสัมพันธภาพกับประเทศเพื่อนบ้าน และปัญหาเกษตรกร จึงไม่ได้มีการลงมาแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเลยในช่วงระยะเวลา 2 ปีเศษที่เป็นรัฐบาล
กรณีกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมเกษตรกรไทย ที่บุกมาล้อมทำเนียบ ซ้อนกับม็อบพันธมิตร ถือเป็นข้อพิสูจน์ได้เป็นอย่างดีว่า ปัญหาข้อเรียกร้องต่างๆของเกษตรกรไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างที่ควรจะเป็นเลย ในช่วงที่ผ่านมา
เพราะม็อบเกษตรกรครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่มาชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์
เอาแค่เฉพาะปีที่แล้ว เครือข่ายองค์กรสมาชิกกองทุนฟื้นฟูเกษตรกรเชียงราย กว่า 200 คน ชุมนุมเรียกร้องขอให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งต่อยังนายกรัฐมนตรี
เพราะปัญหาที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่า มติคณะรัฐมนตรี ในโครงการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกรเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 สรุปว่าไม่สามารถดำเนินการได้ แล้วรัฐบาลก็ไม่ได้ทำอะไรเพื่อจะแก้ไข
ก็เลยมีการเรียกร้องให้รัฐบาลได้แก้ไขปัญหาด้วยการดำเนินการตามแนวทาง แห่งพ.ร.บ.กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม 2544 ตามแผนแม่บทกองทุนฟื้นฟูฯ 5 ปี ระหว่างปี 2555-2559
และในช่วงปลายปี 53 ม็อบเกษตรกรก็เริ่มมีการชุมนุมเรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเริ่มที่จะทนไม่ไหวกับการบริหารงานของรัฐบาล ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาให้เกิดเป็นรูปธรรมได้
โดยเมื่อวันที่ 9พ.ย.2553 กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย นำโดยนายนคร ศรีวิพัฒน์ เลขาธิการฯ ได้นำรถกระบะติดเครื่องขยายเสียงมาจอดขวางหน้าประตูทางเข้ารัฐสภา โดยเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เร่งแก้ไขมติคณะรัฐมนตรี 7 เมษายน 2553 เรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร
แต่ยังมีเนื้อหาบางประการที่อาจส่งผลเสียต่อกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เพราะยังมีกระบวนการที่ขัดกับหลักการจัดการหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนา เกษตรกร
นอกจากนี้การกำหนดให้กองทุนฟื้นฟูฯ รับผิดชอบการฟื้นฟูให้แก่เกษตรกรที่เข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ เป็นการจำกัดสิทธิเกษตรกรที่ต้องการแก้ปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพใหม่ จึงเรียกร้องให้ปรับแก้มติคณะรัฐมนตรี โดยให้เกษตรกรทุกรายที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร ได้ปรับโครงสร้างหนี้และเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูอาชีพกับกองทุนฟื้นฟูอาชีพ กับกองทุนฟื้นฟูฯ
ครั้งนั้น กลุ่มสมัชชาเกษตรกรรายย่อย ได้เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเดินทางออกมารับหนังสือร้องเรียนด้วยตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย กลับปิดประตูไม่ให้รถยนต์ของ ส.ส.และ ส.ว.เข้าออก เพราะเกรงว่ากลุ่มผู้ชุมนุม อาจจะบุกเข้ามาได้
ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมขู่ว่า หากนายกรัฐมนตรีไม่เดินทางมารับหนังสือร้องเรียนจากกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยตัว เอง จะปีนประตูทางเข้ารัฐสภา เพื่อเข้าไปยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี
นี่คือความรู้สึกของเกษตรกรที่มองว่านายอภิสิทธิ์หลบหน้า ไม่ยอมมาพูดคุยด้วย
และเป็นสาเหตุให้กลุ่มม็อบเกษตรกรที่ไม่ได้รับการฟื้นฟูหนี้สิน จากกองทุนฟื้นฟูเกษตรกร ที่ไปปักหลักชุมนุมอยู่ที่หน้ากระทรวงการคลัง เดินทางบุกไปลุยถึงที่ทำกรพรรคประชาธิปัตย์
มีการอภิปรายโจมตีการทำงานของรัฐบาล โดยเฉพาะเรื่องการปลดหนี้ให้กับเกษตรกร จากที่มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 เม.ย. ซึ่งยังไม่มีการดำเนินการใดๆแม้แต่อย่างเดียว และขนาดประชาชนที่มาเรียกร้อง ก็ยังไม่มีการส่งรถสุขามาให้ แล้วจะมาบริหารบ้านเมือง และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนได้อย่างไร
จากนั้นวันที่ 29 พฤศจิกายน 53 เกษตรกรและสมาชิกเครือข่ายสภาองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย จาก 11 จังหวัด ทั้งภาคใต้ ภาคกลาง และภาคอีสาน ก็มีการรวมตัวกันชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรม ให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจะถูกยึดทรัพย์ เนื่องจากการบริหารจัดการหนี้ของธ.ก.ส.ไม่เป็นระบบ เช่น โครงการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ มีการประเมินอย่างไม่เป็นธรรมและล่าช้า ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับการช่วยเหลือตามนโยบายรัฐบาล
ที่สำคัญรัฐบาลคงจำได้ดีว่า ม็อบเกษตรกรได้เคย ฮือปิดถนนสายเอเชียที่นครสวรรค์ จนจราจรติดวินาศสันตะโรมาแล้ว!!!
ดังนั้นการที่ กลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมเกษตรกรไทยปักหลักล้อมทำเนียบ เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมา เพื่อที่จะขอเข้ายื่นหนังสือถึงนายอภิสิทธิ์ ผ่านนางอัญชลี วานิชเทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้ช่วยปลดหนี้เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จึงไม่ใช่ปรากฏการร์ครั้งแรกของรัฐบาลนี้แต่อย่างใด
และหากดูความล้มเหลวและความไม่ใส่ใจของรัฐบาล ก็จะเข้าใจว่าทำไมกลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ยืนยันว่าจะขอเข้าพบนายอภิสิทธิ์ พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี และนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง ให้ได้
ในขณะที่ทางตัวแทนรัฐบาล อ้างว่าบุคคลดังกล่าวติดภารกิจ???
ดังนั้นเมื่อกลุ่มม็อบพันธมิตรฯยกระดับจากเรื่องปัญหาพื้นที่กับกัมพูชา มาเป็นขับไล่รัฐบาล เพราะขาดความชอบธรรม โดยขยายทั้งเรื่องการบริหารงานที่ล้มเหลว และเรื่องปัญหาทุจริต จึงทำให้ กลุ่มม็อบเกษตรกร มีการแตะมือร่วมกับม็อบพัมธมิตรในการขับไล่รัฐบาล
ถึงขนาดที่ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง แกนนำ ซึ่งกำลังวังเวง ได้มีการขึ้นประกาศบนเวที ขอบคุณ กลุ่มเกษตร ที่เข้าร่วมชุมนุม โดยคาดว่าจะมีเข้ามาสมทบกว่า 1 หมื่นคน
เล่นเอารัฐบาลลุกนั่งไม่เป็นสุขขึ้นมาทันที
นางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงาน สภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย หรือ สค.ปท. นำชาวเกษตรกรจากทั่วทุกภาคทั่วประเทศ ก็ได้มีการขึ้นเวที กล่าวถึง ความล้มเหลวของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ในเรื่องปัญหาชายแดนไทยและปัญหาปากท้องทำให้บรรยากาศที่กลุ่มพันธมิตรฯ ที่ชุมนุมอยู่ ปรบมือต้อนรับกลุ่มชาวเกษตรกรฯ ที่มาให้กำลังใจกันอย่างคึกคัก
และแม้รัฐบาลจะเล่นมุกเดิมๆ คือไม่บริการในเรื่องรถสุขาให้กับผู้มาชุมนุม แต่เที่ยวนี้ก็เลยเจอสวนกลับ เพราะม็อบมีการเรียกร้องให้รัฐบาลนำรถสุขา และน้ำดื่มมาบริการแก่ผู้ชุมนุม โดยขู่ว่าหากไม่นำรถสุขามาให้บริการ ผู้ชุมนุมจะปัสสาวะริมรั้วทำเนียบรัฐบาล
และเมื่อไม่มีรถสุขามาให้บริการจริงๆ กลุ่มผู้ชุมนุมร่วม 5 คนได้มายืนเรียงแถวหน้ากระดานยืนปัสสาวะใส่รั้วทำเนียบรัฐบาล เพื่อประชดที่รัฐบาลไม่ทำตามข้อเรียกร้อง!!!
จากนั้นก็มีกลุ่มผู้ชุมนุมทยอยมายืนปัสสาวะตามมาเรื่อยๆ
สุดท้ายนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางอัญชลี วานิช เทพบุตร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จึงได้ถูกส่งให้พูดคุยกับม็อบเกษตรกรถึง 2 ครั้ง ก่อนจะได้ข้อยุติในการคลี่คลายข้อเรียกร้องให้กับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกกอง ทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรและเป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การ เกษตร (ธ.ก.ส.)
โดยนายกรณ์ ต้องมีการลงนามในข้อตกลงร่วมกับแกนนำกลุ่มแนวร่วมเกษตรกรฯ
แต่ความรู้สึกของเกษตรกรที่มีต่อนายอภิสิทธิ์ ก็ยังไม่ดีขึ้น เพราะมองว่าหลบเลี่ยงให้นายกรณ์ กับนางอัญชลี มาคุยแทน แต่ตัวนายอภิสิทธิ์กลับไม่ได้มา จึงเหมือนกับว่าตลอดมาไม่เคยให้เกียรติกับกลุ่มเกษตรกร
ไม่เคยมานั่งหัวโต๊ะ เพื่อรับฟังหรือเจรจากับเกษตรกรเลย
แถมเจอคำพูดเปรียบเทียบชัดๆเลยว่า “ไม่เหมือนกับสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมานั่งรับฟังความคิดเห็นด้วยตนเอง ปัญหาต่างๆจึงได้รับการแก้ไขทันท่วงที”
แน่นอนว่าด้วยสถานการณ์ที่ยังเป็นคู่แข่งทางการเมือง และเป็นความจำเป็นที่จะต้องทำลายล้างทางการเมืองให้ราบคาบให้ได้ เจอรายงานคำพูดตรงๆเข้าแบบนี้
ย่อมถึงกับทำให้หัวหน้ารัฐบาลสะอึกไปเลยเต็มๆ
ปัญหาอยู่แค่ว่า สะอึกแล้ว จะทำงานเป็นขึ้นมาบ้างหรือไม่เท่านั้นเอง หรือเคยชินกับการใช้รองนายกฯ ใช้รัฐมนตรีคลังให้ทำแทน
จนทำอะไรไม่เป็นไปเสียแล้วจริงๆ!!!
Source: http://www.bangkok-today.com/node/8370
Update: วันศุกร์ที่ 11 February พ.ศ.2554 9:30 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น