วันพุธ, กุมภาพันธ์ 09, 2554

จับตานายกฯเร่งวันยุบสภา การเมืองเข้าสู่จุดไคลแมกซ์อีกครั้ง










ปริญญา เทวานฤมิตรกุล สุเทพ เทือกสุบรรณ สดศรี สัตยธรรม


เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ แย้มปฏิทินยุบสภาถี่ยิบว่าไม่เกินครึ่งปีนี้ เท่ากับว่าร่นเวลาเลือกตั้งให้ใกล้เข้ามาอีก

แม้ยังอุบไต๋เรื่องวันเวลาที่แน่ชัด อ้างว่ากลัวส.ส.จะตกใจ แต่ล่าสุดนายกฯ ปูดประเด็นเป็นนัยอีกว่า กลางเดือนมี.ค.เป็นช่วงที่เหตุการณ์หลายอย่างเหมาะสมลงตัว
ทั้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ งบกลางปี′54 และกติกาเลือกตั้งที่ออกโดยกกต. เสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์

ผู้เกี่ยวข้องทั้งแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ กกต. รวมถึงนักวิชาการ มองการส่งสัญญาณของนายกฯ ในครั้งนี้อย่างไร


ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ตอน นี้เรามีปัญหาอยู่ 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือถ้าการเรียกร้องของผู้ชุมนุมสีต่างๆ อยู่ในขอบเขตของรัฐธรรมนูญ คือไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ไม่ปิดถนน ไม่ล้อมทำเนียบ ปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เพราะการเรียกร้องเป็นเรื่องพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

แต่ปัญหา คือเราปิดถนน ล้อมทำเนียบ กีดขวางการจราจร ถ้าคนเยอะจนล้นออกมาโดยปริยายก็พอรับได้ แต่บางทีคนไม่ได้มากถึงขนาดนั้น แต่ก็ปิดกันแล้ว

นี่เป็นข้อที่ต้องพูดจาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ต้องช่วยกันยกระดับขึ้นไปว่าประชาธิปไตยแบบละเมิดสิทธิผู้อื่นต้องเลิกได้แล้ว

ด้านรัฐบาลเองตอนนี้ก็เจอศึกหนัก ทุกทีม็อบออกมาครั้งละสี แต่ครั้งนี้ออกมา 2 สีเลย เป็นตัวเร่งว่าอย่างไรเสียรัฐบาลก็ต้องยุบสภา

ไหน จะมีข่าวลือเรื่องการปฏิวัติอีก แต่ผมไม่เชื่อ ทุกทีที่มีการปฏิวัตินั่นหมายความว่า ระยะเวลากว่าจะมีการเลือกตั้งเหลืออีกนาน รอการเปลี่ยนแปลงไม่ไหว

เรื่อง ที่สองคือ ภาพพจน์ของนายกฯ จะต�องตกต่ำมากในเรื่องการใช้อำนาจโดยมิชอบ สถานการณ์จึงจะสุกงอมเพียงพอ จนทำให้การปฏิวัติประสบความสำเร็จ

แต่ตอนนี้ปัจจัย 2 ข้อนี้ไม่มี การเลือกตั้งก็กำลังจะมาถึง และถึงแม้ภาพพจน์ของรัฐบาลในส่วนของพรรคร่วมจะมีปัญหามัวหมอง เรื่องการทุจริตในบางโครงการ หรือหลายโครงการ แต่ตัวนายกฯ ภาพพจน์ของเขายังดีอยู่

ส่วนเรื่องความขัดแย้งระหว่างชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นปัญหาการเมืองภายในที่ไประเบิดตรงชายแดน

สิ่ง ที่เกิดขึ้นขณะนี้ ทั้งเสื้อเหลืองเสื้อแดง ทั้งข่าวลือเรื่องการปฏิวัติ เป็นตัวที่ทำให้เราเชื่อมั่นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่า รัฐบาลนี้ลากยาวไม่ครบแน่ คงไม่สามารถอยู่ยาวไปถึงธ.ค.54

มีแนวโน้มสูงว่าเราจะมีการเลือกตั้งช่วงกลางปีหากรัฐบาลยุบสภา ขึ้นอยู่กับว่ายุบสภาช้าหรือเร็ว

ถ้ายุบตั้งแต่ปลายมี.ค. ต้นเม.ย. หรือหลังสงกรานต์ เลือกตั้งก็ 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน อาจจะเลือกตั้งหลังสงกรานต์ พ.ค. หรือต้น มิ.ย. รัฐบาลคงอยากจะกลับมาทำพ.ร.บ.งบประมาณ เพราะฉะนั้นเลือกตั้งเร็วก็ดี

และการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการแข่งระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยมีพรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็ก เป็นตัวแทรกเข้ามา

รัฐบาลคงคาดหวังว่าจะกลับเข้ามา แต่ถามว่าใครจะชนะการเลือกตั้ง รัฐบาลจะได้กลับมาอย่างที่คาดหวังไหม ก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง

เพราะ การเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 50 คะแนนระหว่างพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์ต่างกันแค่ 1.9 แสน ผ่านไป 3 ปี ช่องว่าง 1.9 แสนคะแนนนี้อาจเปลี่ยนแปลงไปแล้วเมื่อผ่านสถานการณ์ต่างๆ

รัฐบาล ประชาธิปัตย์เองก็คาดหวังว่ามีการทำคะแนนมากพอสมควรจนเริ่มมั่นใจมากขึ้น ขณะที่พรรคเพื่อไทยดูจะประสบปัญหาเรื่องการหาผู้นำพรรคมาสู้ศึกเลือกตั้ง ซึ่งตอนนี้ก็ยังมองไม่เห็น

เชื่อว่าขณะนี้พรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสชนะพรรคเพื่อไทย โอกาสมี ต้องดูกันต่อไปว่าการเมืองที่เหลือก่อนยุบสภาจะเป็นอย่างไร

แน่ นอนว่าฝ่ายค้านคงต้องการตีรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้ายด้วยการเปิดอภิปรายไม่ไว้ วางใจ ซึ่งเป็นเรื่องดี ฝ่ายค้านอภิปรายให้เต็มที่ไปเลย รัฐบาลก็ชี้แจงไปเลย

ประชาชนจะได้มีข้อมูลในการตัดสินใจว่าจะเลือกใครกลับเข้ามา


สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์

ยังไม่ได้หารือกัน ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ยึดหลักการเดิมที่นายกฯ วางไว้ 3 ข้อ ไม่ทราบว่านายกฯ จะหารือกับกกต.เกี่ยวกับการ เตรียมการเลือกตั้งหรือไม่ แต่กกต.ต้องเตรียมการเอาไว้

การยุบสภาน่าจะเกิดเร็วขึ้นหรือไม่

ยังไม่สามารถตอบขนาดนั้นได้ ทุกอย่างยังเป็นไปตามหลักการเดิมที่นายกฯ เคยพูด ซึ่งเหลือเพียงเงื่อนไขของการชุมนุมกลุ่มต่างๆ ที่ยังไม่เรียบร้อยเท่านั้น เมื่อไหร่ที่มันเอื้ออำนวยก็จะไปได้

นายกฯ เตรียมหารือเรื่องการยุบสภา หลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญผ่านวาระ 3 แสดงว่าสถานการณ์ต่างๆ จวนตัวเข้ามาแล้ว

ไม่ใช่อย่างนั้น รัฐธรรมนูญก็ยังไม่ผ่าน คาดการณ์อย่างนั้นไม่ได้ ต้องว่าไปทีละขั้น ถึงเวลาจะชี้แจงให้ทราบ

พรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะนายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ไม่อยากให้รีบยุบสภา

ส.ส.ทุกคนอยากทำหน้าที่จนครบเทอมครบสมัย แต่กรณีนี้มีเหตุผลในตัวเองอยู่แล้ว นายกฯ ก็ชี้แจงมาโดยตลอด

การยุบสภาแก้สารพัดปัญหาที่รุมเร้ารัฐบาลหรือไม่

อย่าไปสมมติ เมื่อทุกอย่างสงบลงแล้วเราก็จัดเลือกตั้งใหม่ จะได้เริ่มต้นกันใหม่ ไม่ต้องมีข้ออ้างหรือตำหนิติติงกันอีก

กลุ่มพันธมิตรและเครือข่ายประกาศชุมนุมต่อจนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่

ไม่เป็นไร ดูตามสถานการณ์ พรุ่งนี้มะรืนนี้สถานการณ์อาจดีขึ้นก็ได้

รัฐบาลเดินมาถึงทางตันหรือยัง

ไม่มีทางตัน ทุกอย่างมีหนทางแก้ไขสถานการณ์ตลอดเวลา ผมภาวนาให้ทุกอย่างเป็นไปตามปฏิทินที่วางเอาไว้


สดศรี สัตยธรรม กกต.ด้านกิจการพรรคการเมือง

กกต.เตรียมทุกอย่างไว้พร้อมแล้ว ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราสุดท้ายบัญญัติว่า กรณีร่างรัฐธรรมนูญผ่านการพิจารณาแล้ว และการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. ยังกระทำไม่แล้วเสร็จ

หากต้องมีการเลือกตั้งก็ให้อำนาจกกต. ออกประกาศข้อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง ถือว่ากกต.ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข

ข้อกังวลของพรรคการเมืองว่าการออกประกาศของกกต.อาจไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เพื่อให้พรรคการเมืองคลายความกังวล รัฐบาลน่าจะผลักดันให้มีการแก้ไขร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการ ได้มาซึ่งส.ว.ให้แล้วเสร็จก่อน

กกต.เตรียมไว้เพียง 20 กว่ามาตรา หากรัฐบาลประสานงานกับสมาชิกรัฐสภาและเป็นไปตามที่สมาชิกแต่ละพรรคพูดว่า ถ้าผ่านสภาคงใช้เวลาไม่นาน เชื่อว่าการแก้ไขน่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพราะประเด็นที่ต้องแก้ไม่มีอะไรมาก

หลายฝ่ายกังวลอาจไม่มีการเลือกตั้งและเกิดการเปลี่ยนแปลง

เป็นไปได้ทั้งนั้น เหตุการณ์หลายอย่างที่เกิดขึ้นขณะนี้ผสมปนเปกันไปมา อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นก็ได้

เรื่อง การเปลี่ยนแปลงนั้น กกต.ทราบดีว่าต้องยึดโยงกับการเมือง แต่การจะมีปฏิวัติรัฐประหารแล้วทำให้ไม่มีกกต. แทนที่จะเป็นผลดีกับประชาธิปไตย จะถูกมองว่าถอยหลังมากกว่า

กกต.ไม่ยึดติดกับตำแหน่ง ถ้าต้องพ้นไปเพราะมีการรัฐประหารก็ไม่เป็นไร แต่การเลือกตั้งต้องมีเพราะเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชน ไม่มีอำนาจไหนที่มีประโยชน์และเที่ยงธรรมเท่ากับอำนาจที่มาจากประชาชน



ที่มา: ข่าวสดรายวัน รายงานพิเศษหน้า 3 (update: วันที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7378)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น