วันศุกร์, มกราคม 07, 2554

เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์"รถไฟฟ้า"ปีเถาะ "เปิดบริการไปแล้ว-กำลังก่อสร้าง-เปิดประมูล-ขออนุมัติประกวดราคา"



อัพเดตแผนแม่บทรถไฟฟ้าเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 12 สาย 487 กิโลเมตร มูลค่า 8.3แสนล้าน "บีทีเอส"ปลื้มสุดสุด ทั้งได้ขยายพื้นที่วิ่งเพิ่ม ลูกค้าใช้บริการพุ่ง โกยวันละ10ล้าน ขณะที่สายสีม่วง"บางซื่อ-บางใหญ่" เร็วกว่าแผน ขณะที่อีกหลายสายยังอืด ทั้งสีแดง เขียวอ่อน เขียวแก่ ส้ม ม่วง ฯลฯ

มาสเตอร์แปลน หรือแผนแม่บทรถไฟฟ้า ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล 12 สาย 487 กิโลเมตร มูลค่า 8.3 แสนล้านบาท ของกระทรวงคมนาคม ผ่านการประทับตราจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลมาร์คแล้ว เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553

ปัจจุบันรถไฟฟ้าหลากสีถูกแจกจ่ายไปตามสังกัด หลัก ๆ มี "ร.ฟ.ท." (การรถไฟแห่งประเทศไทย) และ "รฟม." (การรถ ไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ให้เร่งดำเนินการ โดยไล่เรียงครบถ้วนขั้นตอน ตั้งแต่สายทางที่ "เปิดบริการไปแล้ว-กำลังก่อสร้าง-เปิดประมูล-ขออนุมัติประกวดราคา"

"บีทีเอส" ส่วนต่อขยายฉลุย

เริ่มจากรถไฟฟ้าสายแรก "บีทีเอส" ของ เสี่ยคีรี กาญจนพาสน์ รับสัมปทานจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดบริการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 เวลาผ่านมา 10 ปี ดัชนีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5 แสนเที่ยวคน/วัน มีรายได้ 10 ล้านบาท/วัน รวมระยะทาง 25.7 กิโลเมตร จากสายเดิม 23.5 กิโลเมตร

ล่าสุดสำหรับบีทีเอส คือเมื่อปี 2552 กทม.เพิ่มให้อีก 2.2 ก.ม. จากสถานีตากสิน-วงเวียนใหญ่ และในเดือนสิงหาคม 2554 กทม.เตรียมเปิดบริการเพิ่ม 5.25 กิโลเมตร ช่วง "อ่อนนุช-แบริ่ง" ถัดไป ในปี 2555 ระยะทางจะเพิ่มอีก 5.3 กิโลเมตร จากวงเวียนใหญ่-บางหว้า แน่นอนว่าย่อมทำให้ปริมาณผู้โดยสารบีทีเอสเพิ่มขึ้นอีกอย่างไม่ต้องสงสัย

ใต้ดิน "หัวลำโพง-บางซื่อ" ยังหวิว

มาต่อที่รถไฟฟ้าใต้ดินสายแรก "หัวลำโพง-บางซื่อ" ระยะทาง 20 กิโลเมตร เปิดบริการไปเมื่อกรกฎาคม 2547 ภายใต้การบริหารของกลุ่ม ช.การช่าง ในนาม "บีเอ็มซีแอล" (บมจ.รถไฟฟ้ากรุงเทพ) ซึ่งรับสัมปทานจาก รฟม.

เผลอ แผล็บเดียวรถไฟฟ้าสายนี้กำลังก้าวย่างเข้าสู่ปีที่ 7 แต่ปริมาณผู้โดยสารยังไม่เข้าเป้า ยังเฉลี่ยอยู่ที่ 195,070 คน/วัน ตั้งความหวังว่าจะทะลุ 2 แสนคน/วัน ล่าสุด "คมนาคม" กำลังสาละวนหาหนทางเพิ่มปริมาณผู้โดยสารช่วยอีกแรง ทั้งใช้เทคโนโลยี "Real Time" เช็กที่จอดรถว่างตามสถานี และขอความร่วมมือเอกชนพัฒนาพื้นที่สำหรับทำที่จอดรถ (Park & Ride) มาเสริม

"แอร์พอร์ตลิงก์" เต็มรูปแบบ 4 ม.ค.นี้

อีก สาย "แอร์พอร์ตเรลลิงก์" (รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ของ ร.ฟ.ท.ที่เปิดบริการเชิงพาณิชย์ไปหมาด ๆ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2553 เก็บค่าโดยสาร 15 บาทตลอดสาย สำหรับ "รถธรรมดา" (City Line) และ 100 บาท/เที่ยว สาย "ด่วนสุวรรณภูมิ" (Express Line)

จาก อัลบั้มประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ปัจจุบัน ยังไม่ฉลุยอย่างที่คิด ปริมาณ ผู้โดยสารยังห่างจากประมาณการ คืออยู่ที่ 43,000 คน/วัน แบ่งเป็นรถธรรมดา 42,200 คน/วัน ด่วนสุวรรณภูมิ 800 คน/วัน แถมยังติดขัดการจัดตั้งบริษัทลูก "บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด" เพื่อมาเดินรถ ล่าสุด ครม.เจียดงบฯ 140 ล้านบาท ไว้ใช้จ่ายเป็นทุนจดทะเบียน แต่ไม่เพียงพอ ยังขาดอีก 1,860 ล้านบาทจึงจะพอเพียง

ตามเป้าหมาย ร.ฟ.ท.เตรียมเปิดบริการเต็มรูปแบบ 4 มกราคม 2554 เป็นต้นไป

สีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชัน" ยังอืด

ด้าน สายทางที่เริ่มก่อสร้าง ตอนนี้เริ่มขึ้นโครงร่างให้เห็นก็มีรถไฟชานเมืองสายสีแดง "บางซื่อ-ตลิ่งชัน" ระยะทาง 15 กิโลเมตร ผู้รับเหมาออกสตาร์ตก่อสร้างไปเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2552 ตามแผนต้องเสร็จวันที่ 15 มกราคม 2555 ปัจจุบัน ผลงานคืบหน้า 40.01% ยังล่าช้าอยู่ 15.25% ติดปัญหารื้อย้ายชุมชนริมทางรถไฟที่เป็นอุปสรรคเหลืออยู่ 323 หลังคาเรือนมีแนวโน้มว่าจะเสร็จไม่ทันตามกำหนด

สีแดง "บางซื่อ-รังสิต" ประมูลข้ามปี

อีก สายที่น่าห่วงไม่แพ้กัน "สายสีแดง" (บางซื่อ-รังสิต) 26 กิโลเมตร ของ ร.ฟ.ท. ที่สุดอืดเป็นแรมปี ทั้งที่ได้เงินกู้จากไจก้า ตั้งแต่มีนาคม 2552 จนปัจจุบันเพิ่งเริ่มกระบวนการเปิดประมูลก่อสร้างงานโยธา 2 สัญญา ร.ฟ.ท.เปิดให้ผู้รับเหมายื่นซองประมูลเมื่อวันที่ 1-2 ธันวาคมที่ผ่านมา ส่วนสัญญาที่ 3 งานระบบกำหนดยื่นซองวันที่ 17 มกราคม 2554 กว่าจะได้ ผู้รับเหมาน่าจะผ่านกลางปีไปแล้ว

แต่ว่ากันว่าหากผู้รับเหมาไม่เสนอ ราคาสูงเกินกรอบวงเงิน 75,548 ล้านบาท คาดว่ารถไฟฟ้าสายนี้น่าจะฉลุยเปิดบริการ ปี 2558 แต่ถ้าราคาเกินจนกดไม่ลง คงใช้เวลาพอสมควรที่จะเดินหน้าต่อ เพราะวงเงินที่เกินมาต้องขอความเห็นชอบจาก ครม.อีกรอบ

สีม่วง "บางใหญ่-บางซื่อ" เร็วกว่าแผน

ขณะที่สายสีม่วง "บางซื่อ-บางใหญ่" ตลอดเส้นทาง 23 กิโลเมตร ผู้รับเหมา เริ่มขึ้นตอม่อบ้างแล้ว ภาพรวมงานโยธาทั้ง 3 สัญญา ผลงานก่อสร้างคืบหน้า 12.68% เร็วกว่าแผน 0.61% ส่วนงานระบบราง รฟม.กำลังเร่งเปิดประมูล หลังได้รับเงินกู้จาก "ไจก้า" องค์การเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นแล้ว 3,036 ล้านบาท ส่วนการเดินรถกำลังจัดหาเอกชนมาลงทุนรูปแบบ PPP Gross Cost วงเงิน 13,243 ล้านบาท ยื่นข้อเสนอวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 นี้

น้ำเงินยังลุ้นหลังติดหล่ม "มาร์ค"


ที่ น่าสนใจคือ "สายสีน้ำเงิน" (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) 27 กิโลเมตร ที่กำลังจะฉลุย เหลือแค่รอเคาะวันเซ็นสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมา ทั้ง 5 สัญญา หลังปีใหม่ 2554 แท้ ๆ

แต่ต้องมาสะดุดกลางคัน เมื่อ "นายกฯมาร์ค" อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ติดดิสก์เบรก รอให้ "คมนาคม" ภายใต้การดูแลของพรรคภูมิใจไทย พิสูจน์ความโปร่งใสของโครงการ หลังมีเสียงร้องเรียนความไม่ชอบมาพากล ทั้งค่าก่อสร้างที่แพงและผู้รับเหมาได้งานล้วนคนคุ้นเคย เรื่องนี้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อื้ออึงว่ารถไฟฟ้าสายนี้ส่อแววจะถูกดึงจน กว่าวันเลือกตั้งจะมาถึงโน่นเลยทีเดียว

เขียวอ่อน-เขียวแก่ยังติดหล่ม

ส่วนที่จะเปิดประมูลปี 2554 มี 2 สาย คือสายสีเขียวอ่อน "แบริ่ง-สมุทรปราการ" หลัง รฟม.เคลียร์แบบเรียบร้อยแล้ว กำลังสำรวจการเวนคืนที่ดิน 243 แปลง สิ่งปลูกสร้าง 93 หลังคาเรือน คาดเปิดขายแบบเดือนกุมภาพันธ์นี้ และเปิดบริการปี 2558

ตามมาด้วยสายสีเขียวแก่ "หมอชิต-สะพานใหม่" ขณะนี้ รฟม.กำลังเร่งเคลียร์แบบรายละเอียดโครงการและจัดทำรายงานการขอเปลี่ยนแปลง รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพิ่ม หลัง กทม.ไม่ยอมให้ที่ดินสำนักงานเขตบางเขน สร้างอาคารจอดรถ และย้ายศูนย์ซ่อมบำรุง (ดีโป้) จากฐานทัพอากาศดอนเมืองไปที่ลำลูกกา คลอง 2 แทน

ดัน "ชมพู" เป็นโมโนเรล


ที่มาแรงอีก สายคือ สีชมพู (แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี) หลังรัฐบาลสั่งให้เร่งรัดโครงการ เพื่อแก้ปัญหาจราจรย่านแจ้งวัฒนะที่วิกฤตหนักหลังเปิดศูนย์ราชการแห่งใหม่ ทาง รฟม.เจ้าของโครงการรับลูกทันที ปัจจุบันกำลังหาบริษัทที่ปรึกษาทบทวนแบบและทำเอกสารประกวดราคาในรูปแบบดี ไซน์แอนด์บิลด์ให้เอกชนมาร่วมลงทุนทั้งหมด หลังเปลี่ยนรูปแบบใหม่เป็นโมโนเรล

ม่วงใต้ "เกียกกาย" รับรัฐสภาใหม่

ตาม มาด้วย "สายสีม่วงส่วนใต้" ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ที่เลื่อนชั้นโครงการแจ้งเกิดเร็วขึ้น เพื่อรับกับรัฐสภาแห่งใหม่ โดย รฟม.กำลังจ้างที่ปรึกษามาศึกษาความคุ้มค่าของโครงการ โดยมอบโจทย์ให้ 3 ข้อ คือ ระยะที่ 1 "ช่วงเตาปูน-อาคารรัฐสภาใหม่" 1.5 กิโลเมตร ตั้งเป้าให้เสร็จพร้อมอาคารรัฐสภาใหม่ เดือนธันวาคม 2557 ระยะที่ 2 "ช่วงอาคารรัฐสภาใหม่-วังบูรพา" แผนเปิดบริการพฤศจิกายน 2557 และระยะที่ 3 "ช่วงวังบูรพา-ราษฎร์บูรณะ"มีแผนเปิดบริการธันวาคม 2562

สีส้มแบ่ง 3 เฟส

เช่น เดียวกับสายสีส้ม "ตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี" หลังปรับแนวใหม่บางช่วง ล่าสุด รฟม.กำลังให้ที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียด แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะ ที่ 1 "ช่วงดินแดง-บางกะปิ" ที่จะดำเนินการได้ก่อนเพราะผ่านอีไอเอและมีแบบเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว คาดว่าเปิดบริการเดือนธันวาคม 2559

ระยะที่ 2 "ช่วงบางกะปิ-มีนบุรี" มีแบบเบื้องต้นแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อม คาดเปิดบริการมกราคม 2561 ส่วนระยะที่ 3 ซึ่งเป็นเส้นทางใหม่ "ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม" คาดว่า เปิดบริการปี 2562

อีก 4 สายร้องเพลงรอ

ปิดท้ายที่ส่วนต่อขยายที่ อยู่ระหว่างจัดเตรียมโครงการเพื่อนำเสนอ ครม. มีหลายสาย ทั้งสีแดง (รังสิต-ธรรมศาสตร์) เงินลงทุน 5,012 ล้านบาท ยังติดจัดทำรายงานอีไอเอและแหล่งเงินลงทุนโครงการ

สีแดง (บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน) วงเงิน 36,947 ล้านบาท ออกแบบรายละเอียดแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงรายงาน อีไอเอ สีแดง (รถไฟเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินดอนเมือง) "ส่วนต่อขยายช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง" วงเงิน 32,989 ล้านบาท แบบรายละเอียดเสร็จแล้ว กำลังปรับปรุงรายงานอีไอเอ

สีเขียว (สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 22,134 ล้านบาท มีแบบรายละเอียดแล้ว รอรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหลังขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดใหม่



ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (update: วันที่ 05 มกราคม พ.ศ. 2554 เวลา 14:48:02 น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น