วันพุธ, มกราคม 26, 2554

แผนล็อกงบประมาณล่วงหน้า

แผนล็อกงบประมาณล่วงหน้า

ต้องบอกว่างานนี้รัฐบาลใส่เกียร์ห้า ภายใต้อัตราเร่งเครื่องแบบแปลกๆ
เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 24 ม.ค. อนุมัติกรอบของร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรวดเดียว 2 ฉบับ

หนึ่ง คือ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณกลางปี 2554 วงเงิน 1 แสนล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถเบิกจ่ายได้ในช่วงเดือน มี.ค.นี้
งบกลางส่วนใหญ่ใช้เพื่อชดเชยเงินคงคลัง อีกส่วนใช้ลงทุนในส่วนท้องถิ่น 5,900 ล้านบาท และฟื้นฟูอุทกภัยอีก 1 หมื่นล้านบาท

ฉบับที่สอง คือกรอบ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 วงเงิน 2.25 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.7% จากปีก่อน หรือเพิ่ม 1.8 แสนล้านบาท


แบ่งเป็นรายจ่ายประจำ 1,820,313.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณที่ผ่านมา 9.6% รายจ่ายการลงทุน 382,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.7% และเป็นรายจ่ายเพื่อชำระคืนเงินกู้ 47,186.4 ล้านบาท

เป็นการจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล 3.5 แสนล้านบาท ขาดดุลลดลง 16.7% หรือ 7 หมื่นล้านบาท จากปีงบ 2554 ที่ขาดดุล 4.2 แสนล้านบาท

การอนุมัติกฎหมายงบประมาณล่าสุดถือว่า เหาะเหินเดินอากาศมาในช่วงที่กำลังจะเปิดสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550

เรียกได้ว่าประจวบเหมาะ!!!


สิ่งที่คนวงในวิเคราะห์กันก็คือ รัฐบาลกำลัง “ล็อก” ตัวเลขงบประมาณก้อนใหม่ เพื่อใช้เป็นเสบียงกรังในการเลือกตั้งที่จะมาถึง

โดยคาดว่างบกลางปีจะเข้าสภาได้ภายในวันที่ 16 ก.พ. ส่วนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 จะเข้าหลังจากนั้น 12 เดือน

เท่ากับว่ารัฐบาลจะมีเงินก้อนหนึ่งปูพรมออกมาเพื่อซื้อใจผู้ที่ได้รับผล กระทบจากอุทกภัย ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไตรมาสแรกกระฉับกระเฉงขึ้น

ส่วน “ไฮไลต์” จริงๆ ก็คืองบประมาณปี 2555 ที่เป็นงบก้อนใหญ่ และมีผลต่อเศรษฐกิจการเมืองของประเทศชาติอย่างยิ่งยวด

เพราะบรรดานักการเมืองต่างก็จ้องตาเป็นมัน เพราะหมายถึงชิงความได้เปรียบดึงเงินลงพื้นที่หาเสียง

แต่งานนี้รัฐบาลยิงกระสุนนัดเดียวได้นกสองตัว เพราะสามารถล่อใจพรรคร่วมรัฐบาลในการโหวตแก้รัฐธรรมนูญ และลดแรงกดดันฝ่ายค้านไม่ให้กดดันแรงเกินไป

ส่วนรัฐบาลประชาธิปัตย์ก็จำเป็นต้องใช้เงินในการสร้างสังคมรัฐสวัสดิการ ล่าสุดยังมีนโยบายประชาวิวัฒน์ออกมา ซึ่งทุกเรื่องล้วนต้องใช้งบประมาณอัดฉีดลงสู่รากหญ้าทั้งสิ้น ...

นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ นักวิชาการ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า มองว่า ปัญหาเฉพาะหน้าของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนี้ คือ มีนโยบายด้านสวัสดิการสังคมออกมามาก แต่เม็ดเงินที่จะนำไปใช้ตามนโยบายค่อนข้างจำกัด

เนื่องจากฐานการจัดเก็บรายได้ของประเทศไทยต่ำมาก เพียง 17% ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ถือว่าต่ำมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นทั่วโลกที่สัดส่วนอยู่ที่ 30% ของจีดีพี

สมมติว่ามูลค่าจีดีพีไทยอยู่ที่ 10 ล้านล้านบาท ฐานการจัดเก็บรายได้มีแค่ 1.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น ขณะที่งบประมาณรายจ่ายของประเทศปี 2554 อยู่ที่ 2.07 ล้านล้านบาท ทำให้ต้องกู้หนี้มาลงทุน

“ผมมองว่า สถานะของประเทศไทยจริงๆ ขณะนี้ รัฐบาลควรจะมีรายได้ประมาณ 3 ล้านล้านบาทต่อปี มาพัฒนาประเทศ จะช่วยให้รัฐบาลไม่ต้องกู้เงินมากเกินไปจนเป็นภาระของลูกหลานในวันข้างหน้า” นายมนตรี กล่าว

เมื่อประเทศที่เป็นต้นแบบของรัฐสวัสดิการอย่างสวีเดน มีฐานรายได้ภาษีอยู่ที่ 50% ของจีดีพี หากประเทศไทยทำได้เช่นนี้ ก็จะมีงบประมาณมาพัฒนาประเทศถึงปีละ 5 ล้านล้านบาท

ประเด็นสำคัญก็คือเมื่อรัฐบาลเก็บรายได้เข้ามามากแล้ว ก็ต้องสร้างรูปธรรมให้ประชาชนเห็นด้วยว่าเงินนั้นเอาไปใช้เป็นประโยชน์อย่างไร

ดังนั้น การคิดนโยบายและที่มาของรายได้ในการขับเคลื่อนของรัฐบาลต้องคิด “ทั้งระบบ” ถ้าอยากดูแลประชาชน แต่ไม่มีเงิน สุดท้ายก็ต้องเป็นหนี้

“คำถามก็คือ คนที่จะมาชำระหนี้เป็นใครก็คือประชาชน ดังนั้น จึงต้องสร้างกลไกดูแลประชาชน ที่ไม่เป็นภาระต่ออนาคตด้วย” นายมนตรี ระบุ

หากร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2555 เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมวาระ 1 เมื่อไหร่ เท่ากับว่ารัฐบาลล็อกเงินได้แล้ว เพราะเมื่อรัฐบาลใหม่มา การจะ “รื้อหรือโละ” กฎหมายฉบับนี้คงเป็นไปได้ยาก

ถ้าเปรียบกับภาพยนตร์ไทยสมัยก่อน ตัวเอกที่ชื่อประชาธิปัตย์สามารถบอกได้ดังๆ ว่า “เราล้อมไว้หมดแล้ว”

งานนี้ถ้ามาร์คไม่ตกม้าตายกับปัญหาค่าครองชีพที่แพงหูฉี่ ปัญหาการเมืองแดงเหลืองร้อนฉ่า และปัญหากัมพูชาที่วุ่นวายถึงขีดสุด

การเลือกตั้งใหม่ที่อาจจะมาถึงในเดือนเม.ย.พ.ค.นี้ ประชาธิปัตย์น่าจะได้เปรียบคู่แข่งทางการเมืองค่อนข้างชัดเจน

เพราะมีทั้งกระแสและกระสุนครบมือ!!!


ที่มา : MSNการเงินและธนาคาร
Last update : 1/25/2011 11:16:36 AM

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น