วันศุกร์, พฤศจิกายน 26, 2553
ความจริง-การเมือง-กฎหมายหมิ่นในทรรศนะ"เดวิด สเตรกฟัสส์" "กฎหมายนี้ใช้เป็นอาวุธทางการเมืองก็ว่าได้"
ปฏิบัติการเกาะติดและสะกดรอยผู้กระทำความผิดกฎหมายอาญา มาตรา 112 เข้มข้นยิ่งขึ้น
ในปรากฏการณ์ความขัดแย้งเหลือง-แดงกว่าครึ่งทศวรรษ "คดีหมิ่น" ขึ้นสู่ศาล 430 คดี
ขณะนี้จำนวนคดีหมิ่นพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ
"ประชา ชาติธุรกิจ" ติดตาม-ฉายภาพ "คดีหมิ่น" จากแว่นของ เดวิด สเตรกฟัสส์ (David Streckfuss) นักวิชาการอิสระด้านประวัติศาสตร์ และทำงานในฐานะนักมานุษยวิทยาในภาคอีสาน
ผู้เขียนหนังสือที่อาจหาอ่านจากเมืองไทยไม่ได้ชื่อ Truth on Trial in Thailand : Defamation, Treason, and Lese-Majeste (การดำเนินคดีกับความจริงในเมืองไทย : กฎหมายหมิ่นประมาท, ข้อหากบฏ, และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ)
- ในฐานะที่เป็นฝรั่งศึกษาประเทศไทย มองการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในการเมืองไทยอย่างไร
ช่วง นี้ไม่ว่าฝรั่งหรือไทยหลายคนก็เริ่มมองเหมือนกันว่า การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่เหมือนกฎหมายอื่นหลายอย่าง ถ้าเป็นหมิ่นประมาทธรรมดาก็เป็นผู้เสียหายเท่านั้นที่เป็นผู้ฟ้องร้อง แต่ในเมืองไทยไม่มีข้อจำกัด ผู้ที่สามารถฟ้องร้องบุคคลที่เขาคิดว่ากำลังหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อีกอันหนึ่งที่ไม่เหมือนกันระหว่างกฎหมายหมิ่นคนธรรมดากับหมิ่นพระบรมเดชานุ ภาพ คือในการพิจารณาคดีของศาลหรือในยุทธศาสตร์การต่อสู้ของจำเลย ถ้าเป็นหมิ่นประมาทธรรมดามีข้อยกเว้น หากเป็นความจริงมีประโยชน์ต่อสาธารณะหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพไม่มีข้อยกเว้น
อีกอย่างหนึ่งที่แตก ต่างจากหมิ่นประมาทธรรมดาอาจจะเห็นในต่างประเทศ คือ การวิจารณ์ถึงคนที่อยู่ในสายตาสาธารณะยิ่งต้องมีข้อยกเว้นจากศาล (จากกฎหมาย) สำหรับผู้ที่ถูกพูดถึง ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองหรือข้าราชการ หรือแม้แต่ดาราหรือใครก็ตามที่อยู่ในสายตาของสาธารณะ แต่กฎหมายในประเทศเหล่านั้นก็คุ้มครอง head of the state ก็ได้ หรือนายกรัฐมนตรีก็ได้ ซึ่งอาจจะคุ้มครองกรณีที่มีผู้ใช้คำหยาบหรือดูหมิ่น เช่น กล่าวหาว่าไปฆ่าคนอื่น หรือกล่าวหาเรื่องส่วนตัว ขณะที่ หากเป็นเรื่องสาธารณะเขาก็ไม่คิดจะฟ้อง แต่จะใช้วิธีโต้ตอบผ่านสื่อมากกว่า
ดังนั้น หลักการคือยิ่งเป็นบุคคลสาธารณะ เช่น นักการเมือง นายกรัฐมนตรี ยิ่งควรเปิดโอกาสที่จะพูดถึง
- แล้วกรณีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในประเทศอื่น ๆ เป็นอย่างไร
ประเทศ ประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ประเทศอื่นก็มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเหมือนกัน เช่น สเปน มีโทษจำคุกถึง 3 ปี นอร์เวย์ จำคุกถึง 5 ปี แต่มีข้อจำกัด เช่น ที่ประเทศนอร์เวย์ ถ้ามีใครดูหมิ่น หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ถ้าจะดำเนินคดีต้องมาจากความยินยอมของพระมหากษัตริย์เอง ดังนั้นก็มีวิธีการที่จะให้ผู้เสียหาย (พระมหากษัตริย์) บอกว่า อันนั้นมากเกินไปแล้วต้องดำเนินคดี
ดังนั้น หลายประเทศก็อาจจะมีเงื่อนไขว่าเรื่องต้องผ่านราชสำนัก หรือคณะ องคมนตรีก่อน คืออย่างน้อยต้องมีการกรองระดับหนึ่ง
- ผลของกฎหมายไทยที่บัญญัติแบบนี้ ส่งผลอย่างไร
การกลั่นแกล้งเกิดขึ้นได้ง่ายมาก ปัญหาคือถ้าตำรวจได้รับแจ้งความแล้ว แม้เขาจะไม่อยากฟ้อง แต่เขาก็ไม่กล้าที่จะยุติการดำเนินคดีนั้น เพราะต้องสอบสวนและส่งให้อัยการอยู่ดี ส่วนอัยการก็ไม่กล้าที่จะไม่ฟ้อง ฉะนั้นเขาก็ส่งให้ศาลในที่สุด ศาลชั้นต้นก็ไม่ตัดสินชี้ขาดก็ส่งต่อให้ศาลอุทธรณ์ และแม้แต่ศาลฎีกาก็ดูเหมือนไม่แน่ใจว่าจะตัดสินอย่างไร ก็มี 9 คดีที่มาถึงศาลฎีกา ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังไม่ พิพากษาและแนวโน้มของกระบวนการที่ไม่มีไกด์ไลน์ก็มีแต่การส่งต่อไปจนถึงศาล ฎีกา ประเด็นคือคนที่ทำคดีก็ไม่กล้ายกคำร้อง หรือยกฟ้อง ดังนั้นกลั่นแกล้งง่ายมาก
- กฎหมายนี้ดูเหมือนถูกนำมาใช้ทางการเมืองมากกว่าจะหวังผลทางกฎหมายหรือไม่
ถ้าการเมืองอย่างแคบคือการเลือกตั้ง แต่การเมืองอย่างกว้างทุกวันนี้ทุกอย่างก็มีเรื่องอำนาจอยู่ในตัวมันเอง หมายความว่าทุกอย่างก็เป็นการเมืองอีกแบบหนึ่งมองอย่างกว้าง ถ้านิยามอย่างแคบก็คือ นักการเมืองนำกฎหมายนี้มาแกล้งกัน มาฟ้องกัน นักการเมืองอาจจะเป็นศัตรูกันจึงฟ้องกัน ถ้าจะพูดว่ากฎหมายนี้ใช้เป็นอาวุธทางการเมืองก็ว่าได้
แต่เหยื่อของ การใช้กฎหมายนี้เป็นใคร ส่วนมากเราไม่รู้ ความจริงแล้วไม่มีใครมีข้อมูลการฟ้องคดีนี้มากเท่าไร ซึ่งเราก็จะรู้แค่ 3-4 คดี เช่น ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล, บุญยืน ประเสริฐยิ่ง, สุวิชา ท่าค้อ, แฮรี่ นิโคไลดส์ ชาวออสเตรเลีย ฯลฯ ปีที่ผ่านมามี 164 คดี ไปถึงศาลชั้นต้นแล้วก็ลงอาญา 82 คดี เรามีข้อมูลไม่กี่คดี และช่วงหลังมานี้สำนักงานอัยการไม่ได้รวบรวมสถิติคดีนี้ในรายงานประจำปีของ เขา เดิมทีเขารวมสถิติได้เป็นประโยชน์มาก ซึ่งต่อมาผมก็ต้องใช้สถิติของสำนักงานศาลยุติธรรมแต่ก็ขาดรายละเอียด บางอย่าง
- ทำไมเลือกศึกษาเรื่องกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ผม ไม่ได้สนใจกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเดียว แต่สนใจกฎหมายที่ใช้หลักการเรื่องหมิ่นประมาท คือเริ่มต้นจากผมเป็นลูกศิษย์อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล ผมก็พยายามศึกษาความเป็นไทย...หลังจากนั้นก็ดูเรื่องมุมมองความมั่นคง เช่น สถานะผู้หญิง เด็ก ทุกอย่างก็เกี่ยวกับความมั่นคง ศึกษาต่อมาก็ดูกฎหมายหมวดความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ ก็ดูคำพิพากษาตั้งแต่เรื่องกบฏภายใน เรื่องดูหมิ่นสถานทูตที่เป็นมิตรกับไทย และจึงเริ่มดูกฎหมายที่ใช้หลักการหมิ่นประมาท
- พบว่ามีการดำเนินคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในสถานการณ์การเมืองที่ แตกต่างกันอย่างไร
ตอน ที่ผมเขียนวิทยานิพนธ์ พบว่าหลังจากรัฐธรรมนูญ 2540 บางปีไม่มีคดีเลย หรืออาจจะ 5 คดีต่อปี แต่ช่วงปี 2548 ก็มีการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เริ่มมีการฟ้องกันเรื่อง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ... โดยมีการฟ้องร้องกันเต็มที่ภายในไม่กี่เดือน เทียบกันไม่ได้กับในอดีต ก่อนปี 2548 ผมยังเขียนเน้นเกี่ยวกับเรื่องหมิ่นประมาทธรรมดา แต่ปี 2548 มีการแจ้งความฟ้องร้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากขึ้นไม่หาย
- สาเหตุที่ในตอนแรกศึกษาคดีหมิ่นประมาทธรรมดาเพราะอะไร
สนใจ กฎหมายที่ใช้หลักการเรื่องหมิ่น และตอนนั้นทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นผู้เชี่ยวชาญการใช้ข้อหาหมิ่นประมาท ฟ้องร้องคนอื่นเป็นร้อยล้านบาท ในช่วงนั้นทุกคนก็พูดถึงกฎหมายหมิ่นประมาท ซึ่งกระทบต่อสื่อมวลชนและตอนนั้นก็มี คดีของสุภิญญา กลางณรงค์
- จากการศึกษาพบว่าทักษิณใช้กฎหมายหมิ่นจัดการกับฝ่ายที่วิจารณ์ตัวเขาอย่างไร
ร้าย แรงมาก มีการใช้คดีแบบนี้เยอะมาก อาจจะมีถึง 100 คดีกับสนธิ ลิ้มทองกุล ก่อนหน้านี้มี พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ใช้กฎหมายนี้เก่งจนดูเหมือนเขาอาจจะขึ้นศาลทุก ๆ 2 วัน เพราะฟ้องทั่วประเทศ แต่สู้ทักษิณไม่ได้ เพราะทักษิณใช้กฎหมายนี้เก่งกว่า
- เป็นธรรมชาติของนักการเมืองทั่วโลกหรือไม่ ที่ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทจัดการฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง
ถ้า กฎหมายอำนวยให้ เขาก็คงจะใช้ หรือถ้าอัยการและศาลเห็นด้วยในการดำเนินคดี เขาก็คงยิ่งได้อำนาจในการป้องกันตัวเองจากศัตรู โดยทั่วไปการยิ่งใช้กฎหมายหมิ่นประมาท ก็ยิ่งปิดพื้นที่สาธารณะหรือทำให้มันเล็กลง มันก็มี แนวโน้มที่ไม่ไปในทางประชาธิปไตยมากเท่าไร ซึ่งถ้าที่ไหนมีกฎหมายอำนวยให้...คนที่มีอำนาจก็จะใช้กฎหมายนั้นอยู่ดี
- การที่ใครไปแจ้งความข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ได้ เป็นปัญหาที่มีทางแก้ไขอย่างไรบ้าง
มี หลายอย่างที่อาจจะช่วยให้คนมีจิตสำนึกมากขึ้นในการใช้กฎหมายนี้ ซึ่งของฝ่ายรัฐบาลเวทีสัมมนากฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่มหาวิทยาลัยธรรม ศาสตร์ มีบางคนก็เสนอว่าใคร แจ้งเท็จก็ถูกฟ้องได้ อาจจะถูกจำคุก 5 ปี แต่ผมคิดว่าอาจจะเป็นการขยายปัญหา เพราะที่จริงแล้วอะไรที่เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็เป็นเรื่องยากอยู่แล้ว และถ้าจะฟ้องคนที่กล่าวหาก็ยิ่งมั่ว เพราะในที่สุดก็เป็นเรื่องเจตนาซึ่งเป็นสิ่งที่วัดยาก
- ทางออกในการแก้ปัญหา
ถ้อย คำที่ใช้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ก็เป็นถ้อยคำตามกฎหมายธรรมดา ที่แต่ละประเทศที่ปกครองแบบนี้ก็อาจจะใช้ได้ปัญหาจึงไม่ได้อยู่ที่มาตรา 112 แต่ปัญหาอยู่ที่อาจจะต้องมีข้อยกเว้นหรือไกด์ไลน์เพื่อที่จะทำให้ศาลนิยาม ความผิด ที่ชัดเจนมากขึ้น ควรจะมีการศึกษาว่า อะไรคือหมิ่นฯ เพราะอะไร ? อะไรไม่เป็นหมิ่นฯ เพราะอะไร ? จะเป็นประโยชน์ ต่อสังคมมาก
- ในฐานะที่อาจารย์ลงพื้นที่ศึกษาแบบมานุษยวิทยา พบว่ามีปัจจัยอะไรที่ทำให้การใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพมากลั่นแกล้งกัน ในสังคมไทยสามารถ ใช้ได้ผล
ในความคิดเห็นของผม คิดว่าใน 100 ปีที่ผ่านมามีการพยายามสร้างโมเดลชาตินิยมชนิดหนึ่งที่ปฏิเสธความแตกต่างทาง ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น หลาย ๆ อย่างโดยพยายามทำให้มันหายไป และก็ที่จริงแล้วช่วงที่อาจจะเข้มแข็งที่สุดก็คือตอนช่วงต่อต้านคอมมิวนิสต์ ให้เป็นศัตรูสุดยอดสมบูรณ์แบบ เป็นผู้ดูเหมือนปฏิเสธความเป็นไทย ดูเหมือนช่วงนั้นก็มีคำถามว่าความเป็นไทยคืออะไร เราเป็นใคร เราน่าจะมีการปกครองแบบไหน ดูเหมือนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง โดยรัฐธรรมนูญ 2540 ยอมรับความแตกต่างมากขึ้น
แต่หลังจากรัฐประหาร 2549 นั้น ดูเหมือนมีความพยายามเอาโมเดลชาตินิยมแบบนี้ขึ้นมาใหม่ แล้วบังคับให้ทุกคนอยู่ในนั้น แต่มีศัตรูแบบใหม่ คือ ผู้ไม่มีความจงรักภักดีกับสถาบันสูงสุด ผมว่าเป็นโชคร้ายมาก หรือเป็นสิ่งที่แย่มากที่เป็นแบบนี้ แบ่งแยกว่ามีผู้จงรักภักดีและไม่จงรักภักดี หรือบอกว่ามีคนรักชาติและไม่รักชาติ ทั้งที่คนซึ่งถูกหาว่าไม่รักชาติ เขาอาจจะรักชาติอีกแบบหนึ่งก็ได้ การกล่าวหากันนั้นได้ผลระยะสั้น แต่ในประวัติศาสตร์ประเทศไทยยังไม่เผชิญหน้ากับการชำระประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นช่วงสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีคำสั่งคณะปฏิวัติที่ 17 ที่พยายามควบคุมสื่อมวลชน หรือช่วงตุลา 2516 ตุลา 2519 พฤษภาทมิฬ 2535 และเมษา พฤษภา ในปีนี้ก็ดูเหมือนแนวโน้มยังไม่ถึง (การชำระประวัติศาสตร์) ใช่ไหม ผมยังไม่เห็นเหตุการณ์ที่ชัดเจนว่าประเทศไทยจะเผชิญหน้ายอมรับกับความจริง เพราะกลัวเจ็บ
- อาจารย์เชื่อว่าแผนปรองดองจะได้ผลไหม
ผมทำวิจัยอยู่อีสาน มีคนน้อยมากที่ผมเจอที่คิดว่าแผนปรองดองมีความหมาย
- บรรยากาศในชนบทเป็นอย่างไร
เปลี่ยน ไปเยอะ แต่ยังไงก็มีฐานบางอย่างอยู่ที่นั่น อย่างเช่นเหตุการณ์ความรุนแรงที่ผ่านมามีคนอีสานตายเยอะ จนคนอีสานหลายคนแทบไม่เชื่อว่าคนกรุงเทพฯรับได้ที่มีคนตายเยอะ แทบไม่เชื่อว่าเขาทนได้ยังไง แล้วหลังจากมีการเผาเซ็นทรัลเวิลด์ คนกรุงเทพฯก็ให้คุณค่ากับอันนั้น (เซ็นทรัลเวิลด์) เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ได้มองชีวิตคนว่าเป็นมนุษย์เท่ากัน...เขาก็เจ็บ
- ถ้าคิดแทนคนกรุงเทพฯ เขาก็รับไม่ได้ที่คนเสื้อแดงมาเผาบ้านเผาเมือง
คน อีสานก็จะตอบว่า ต้องดูหลักฐานก่อนว่าใครเผา มันจะมีเกมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องหรือไม่ เขายังมีความสงสัย ซึ่งผมก็ไม่มีข้อมูล แต่การเผาเป็นสิ่งดีไหม ก็ไม่ดีเพราะคนเสื้อแดงส่วนมากไม่มีใครเห็นด้วย
- อารมณ์คนกรุงเทพฯที่รับไม่ได้กับเสื้อแดง
ปัญหา คือใครมีสิทธิจะบอกว่าเป็นตัวแทนของคนกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯก็น่าจะเป็นของคนไทยทุกคน แต่คนที่สีลมในช่วงนั้นบอกให้คนชนบทออกไป คำถามคือคนชนบทเขาไม่มีสิทธิอยู่ที่นี่เหรอ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องกระจายอำนาจหน่อย เพราะถ้าไม่กระจายอำนาจ...ทุกคนก็จะมาหางานที่กรุงเทพฯอยู่ดี ถ้าไม่มีคนชนบทในกรุงเทพฯแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ของคนกรุงเทพฯก็จะหายไป ก็ลองดู ก็จะไม่มีร้านอาหารไม่มีอะไร ลองดูว่าคนกรุงเทพฯจะยังสบายใจไหม
- มองการเคลื่อนไหวเสื้อแดงอย่างไร
ยัง ไม่มีใครพูดได้อย่างมั่นใจว่ากระบวนเสื้อแดงว่ามันคืออะไรกันแน่ มันเป็นของพรรคเพื่อไทยเหรอ ? มันเป็นของทักษิณ เหรอ ? หรือมีเอกลักษณ์ของมันเอง ? ที่จริงแล้วใครควบคุมเสื้อแดงตอนนี้ได้ ? ตอนแรกก็รู้สึกว่าเชื่อมกับทักษิณ กับพรรคเพื่อไทย แต่ตอนหลังเริ่มไม่แน่ใจเพราะคุมกันไม่ได้และไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน...อาจ จะต้องมีเหตุการณ์อะไรสักอย่าง แต่ดีที่คุณอภิสิทธิ์มีเหตุผลที่บอกว่า ถ้าห้ามแต่เสื้อแดงก็จะเป็นการสร้างความแตกแยกเสียเอง...
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ (update : วันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4265 หน้า 35)
สัมภาษณ์พิเศษ"เดวิด สเตรกฟัสส์"
บทความชื่อ: ความจริง-การเมือง-กฎหมายหมิ่น ในทรรศนะ "เดวิด สเตรกฟัสส์" "กฎหมายนี้ใช้เป็นอาวุธทางการเมืองก็ว่าได้"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น