“ไม่มีอะไรกดดันผม การที่ผมมีความเห็นเช่นนี้ก็ไม่ได้เป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาล ถ้าจะยุบสภาก็ต้องยุบ ยุบสภาดีกว่าการปฏิวัติ เพราะกลุ่มคนเสื้อเหลืองที่จะมาชุมนุมในวันที่ 11 ธ.ค. จะมาชุมนุมกันเพื่ออะไร ตอนนั้นสภาก็ปิดแล้ว แต่เขาตั้งเป้าว่าจะชุมนุมเพื่อยั่วยุให้ทหารออกมาควบคุมสถานการณ์ และนำไปสู่การปฏิวัติ แต่ไม่ได้หมายความว่าขณะนี้ทหารมีแนวคิดจะปฏิวัติ ดังนั้นยุบสภาก็ดีกว่าการปฏิวัติ”
เป็นท่าทีของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่แสดงต่อที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์เมื่อวันที่ 15 พ.ย. แม้ว่าจะเป็นคำพูดที่อ้างจากแหล่งข่าววงในห้องประชุมพรรค ที่ยังไม่ได้มีการการันตีจากนายกฯ ว่าทุกคำพูดที่มีการเผยแพร่บนพื้นที่สื่อมวลชนจะเป็นจริงทั้งหมด แต่ก็เป็นการสะท้อนถึงนัยทางการเมืองที่สำคัญอย่างยิ่ง
น่าสนใจไม่น้อยว่าทำไมนายกฯ ถึงได้ออกมาพูดในทำนองเช่นนี้ เพราะหากย้อนไปดูการให้สัมภาษณ์ของนายกฯ มักมีความพยายามที่จะเลี่ยงไม่พาดพิงกองทัพในฐานะที่เป็นสถาบันเกี่ยวข้อง กับการเมือง แต่ปรากฏว่าครั้งนี้นายกฯ อภิสิทธิ์ เลือกที่จะพูดแบบตรงๆ ในลักษณะว่า “ทหารเองมีความคิดที่จะรัฐประหาร”
ไม่เพียงเท่านี้ ถ้ามองจังหวะการออกมาพูดของนายกฯ ก็สังเกตได้ว่าอยู่ในภาวะที่รัฐบาลเจอแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลค่อนข้างมาก โดยเฉพาะแรงกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลที่แสดงความต้องการไม่ให้ บุญจง วงศ์ไตรรัตน์ และเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร ลาออกจากรัฐมนตรีก่อนลงสมัครรับเลือกตั้ง
ความสำคัญของเรื่อง “บุญจงเกื้อกูล” อยู่ตรงที่พรรคภูมิใจไทยและชาติไทยพัฒนาต้องการแสดงให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ เห็นถึงพลังต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลว่ามีความอหังการพอที่จะไม่ทำตามคำสั่ง ของนายกฯ ที่ต้องการให้ทั้งสองคนลาออก
แม้ว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองรัฐมนตรีจะยอมลาออก แต่การลาออกนี้ก็ไม่ได้สะท้อนถึงภาวะผู้นำของนายกฯ เพราะการยอมลาออกมาจากการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายกฯ ลงมาผลักดันด้วยตัวเองที่ต้องการเอาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น ประกอบด้วย ที่มา สส. และมาตรา 190 เป็นการแสดงให้เห็นว่าพรรคร่วมรัฐบาลมีอำนาจเหนือตัวนายกฯ มากยิ่งขึ้นไปอีก
ผลของการยอมให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญของอภิสิทธิ์ยังได้นำมาซึ่งความปั่น ป่วนในพรรคด้วย เพราะมีหลายฝ่ายในพรรคไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลสารพัดโดยเกรงว่าจะทำให้พรรคเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง รวมไปถึงการเป็นเงื่อนไขที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองในอนาคตดังเช่น บัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ได้วิเคราะห์เอาไว้
“ผมกล้ายืนยันได้เลยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ใช่แนวทางสมานฉันท์ทางการเมืองอย่างแน่นอน รวมถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลือง และกลุ่มคนเสื้อแดงที่อาจจะทำให้เกิดวิกฤต โดยเฉพาะกลุ่มคนเสื้อแดงที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หากหยิบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของรัฐบาลขึ้นมาแล้วข้ามวาระของคนเสื้อแดงไป และเขาจะคิดอย่างไร จึงอยากให้นายกฯ ได้ทบทวนในเรื่องนี้”
จาก อัลบั้มโพสต์ทูเดย์ |
ท่าทีของบัญญัติในฐานะผู้ใหญ่ของพรรคต่อที่ประชุมพรรคแสดงถึงความกดดัน ที่มีมายังนายกฯ ชัดเจน เพื่อต้องการให้รับรู้การอ่อนให้กับพรรคร่วมรัฐบาลมากเกินไปทำให้พรรครับผล เสียมากกว่าผลดี ไม่คุ้มกับการรักษาเสถียรภาพรัฐบาลเอาไว้
จากภาวะอึดอัดที่เข้าถาโถมมายังนายกฯ การแสดงท่าทีว่าการเมืองยังหนีไม่พ้นการปฏิวัติ นัยหนึ่งย่อมเป็นความจงใจของนายกฯ ที่ต้องการให้คำพูดของตัวเองได้รับการเผยแพร่ออกไปทางสื่อสารมวลชน เพราะรู้ดีอยู่แล้วว่าการประชุมพรรคการเมืองย่อมจะมีแหล่งข่าวที่พร้อมจะออก มาให้ข่าวแก่สื่อมวลชน และยิ่งเป็นการให้ข่าวบนฐานที่พรรคเองได้รับประโยชน์แล้วยิ่งทำให้ข่าวได้ รับความสนใจจากสื่อมากขึ้นไปอีก นำมาสู่การสร้างกระแสอย่างมหาศาล
โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการสื่อไปยังพรรคร่วมรัฐบาลว่า หากกดดันกันมากๆ ทางออกที่ดีที่สุด คือ การยุบสภากลับไปเริ่มกันใหม่โดยไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และกติกาการเลือกตั้งตามที่พรรคร่วมรัฐบาลต้องการ
เท่ากับว่าเป็นการตัดทอนอำนาจต่อรองพรรคร่วมรัฐบาลทางอ้อมเพื่อลดความ พยายามในการสร้างอำนาจต่อรองหากจะอยู่ร่วมชายคาทำเนียบรัฐบาลกันต่อไป
เพราะประชาธิปัตย์อ่านใจพรรคร่วมรัฐบาลทะลุปรุโปร่งว่าพรรคขนาดกลางและ เล็กมีความกระหายอยากเปลี่ยนระบบเลือกตั้งไปเป็นเขตเดียวเบอร์เดียวเพราะว่า ตัวเองจะได้ประโยชน์จากกติกาตรงนี้ จึงต้องการส่งสัญญาณเสมือนหนึ่งเป็นการขู่พรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้โดยการใช้ เงื่อนไขจากการเมืองนอกสภามาเป็นแรงกดทับพรรคร่วมรัฐบาลเอาไว้
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่งก็ไม่อาจมองข้ามเงื่อนไขที่นำไปสู่การปฏิวัติได้เช่นกัน เพราะแน่นอนว่ากองทัพเองก็ย่อมจับตาสถานการณ์ทางการเมืองแบบไม่กะพริบตาเช่น กัน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงขั้วอำนาจทางการเมืองภายหลังมีการเลือกตั้ง
แน่นอนว่าหากหลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็คงพอใจได้ระดับหนึ่งว่าทหารคงไม่ลงมาเล่นการเมืองด้วยตัวเองผ่านการ ปฏิวัติ เนื่องจากที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นแล้วว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปัตย์ กับกองทัพมีทิศทางที่ดีพอสมควร
แต่หากไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์ก็คงเป็นการยากหากจะการันตีว่าทหารจะไม่ เข้ามาล้วงลูกด้วยตัวเอง โดยต้องยอมรับที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยเองก็สถาปนาความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นมิตร กับกองทัพเอาไว้มาก รวมไปถึงการปล่อยให้เครือข่ายคนเสื้อแดงแสดงท่าทีหมิ่นเกี่ยวกับสถาบันหลาย ครั้ง ย่อมเป็นการยากหากรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยจะอยู่ได้อย่างมั่นคง
แบบนี้ทำให้สามารถตีความจากคำพูดจากนายกฯ อภิสิทธิ์ ได้ว่าทหารยังคงมีบทบาทสำคัญทางการเมืองอยู่พอสมควร และพร้อมจะเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญได้ทุกเมื่อ
เพราะฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าอภิสิทธิ์เองกำลังใช้เงื่อนไขทางการเมืองที่มีอยู่ในตอนนี้ เข้ามาเสริมความมั่นคงให้กับตัวเองเพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจต่อรองในรัฐบาลโดย ใช้อำนาจยุบสภาที่อยู่ในมือเป็นเครื่องมือต่อรอง จึงน่าสนใจว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะตอบโต้เรื่องนี้อย่างไร
ที่สำคัญคำพูดครั้งนี้ของ “อภิสิทธิ์” ย่อมทำให้การเมืองไทยร้อนแรงขึ้นตามลำดับ และข่าวคราวเรื่องทหารปฏิวัติ จะไม่มีวันเลือนหายไปง่ายๆ
ที่มา: โพสต์ทูเดย์ โดย...ทีมข่าวการเมือง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น