วันศุกร์, พฤศจิกายน 19, 2553
คาร์ล มาร์กซ์ : "ชนชั้น" จะมีความเป็น "ชนชั้น" จริงๆ ก็จะต้องมี "จิตสำนึกของชนชั้น"
บทความโดย วิชัย ตันศิริ
มีคำพูดที่น่าสนใจในแวดวงการบริหารธุรกิจ ซึ่งบรรดาผู้นำในวงการต่างๆ คงจะคุ้นหูอยู่แล้ว นั่นก็คือ เราจะต้องเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส ปัจจุบันสังคมไทยเผชิญวิกฤตทางการเมือง ดังที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน คำถามก็คือ เราจะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสได้อย่างไร?
ในการที่จะเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส คงจะต้องวิเคราะห์ในเบื้องต้นเสียก่อนว่า วิกฤตทางการเมืองครั้งนี้ มีความหมายอย่างไร?
อะไรคือปัจจัยเหตุของวิกฤตครั้งนี้ อะไรคือผลลัพธ์หรือผลสะท้อนต่อเหตุการณ์ในอนาคต
วิกฤต การเมืองครั้งนี้ มีนัยความหมายค่อนข้างลึกซึ้งและกว้างไกล ไม่เหมือนกับวิกฤตการเมืองครั้งก่อนๆ ที่นำเอารถถังออกมาแล้วก็ดูจะแก้ไขปัญหาได้
แต่ครั้งนี้เป็นวิกฤตที่ กระทบในวงกว้าง และยังหาจุดจบไม่ได้ เป็นวิกฤตที่ปลุกระดมให้ทุกๆ ภาคส่วนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้อง
การแสวงหาทางออกจึงไม่ง่ายเหมือนครั้งก่อนๆ
อย่าง ไรก็ตาม หากสังคมไทยสามารถผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้สังคมไทยจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ขึ้น เข้มแข็งขึ้น มีภูมิคุ้มกันสูงขึ้น เปรียบเสมือนคนที่เป็นฝีดาษมาแล้ว ย่อมไม่เป็นอีก
สำหรับปัจจัยเหตุ เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากสำหรับนักประวัติศาสตร์ ซึ่งจะต้องรอเวลาให้อารมณ์ ความรู้สึกของผู้คนได้เย็นลง เพื่อให้โคลนตมได้ตกตะกอนเสียก่อน นักประวัติศาสตร์นั้นถูกสอนมาให้มีความเป็นวัตถุนิสัย คือ พิจารณาเหตุการณ์ด้วยใจเป็นกลาง ซึ่งก็ไม่ง่ายนักสำหรับปุถุชน
อย่าง ไรก็ตาม จนกว่าจะถึงเวลาที่ศาลประวัติศาสตร์จะตัดสินคดีการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ครั้ง นี้ เราผู้อยู่ในเหตุการณ์ก็มีสิทธิจะเสนอความเห็นได้ด้วยความระลึกไว้เสมอว่า เราอาจจะผิด
ปัจจัยเหตุย่อมมีมากมาย ตั้งแต่เรื่องผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเป็นพื้นฐานของแรงจูงใจของมวลมนุษย์ จนกระทั่งถึงอุดมการณ์ การต่อสู้ หรือการขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นการขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์ แต่ในวิกฤตครั้งนี้ ปัจจัยเหตุที่ควรนำมาพิจารณา คงจะมีมากกว่า ผลประโยชน์ส่วนตน
นักประวัติศาสตร์มักสนใจหรือให้ความสำคัญต่อ 3 ตัวแปรหลัก ได้แก่
1.ปัจจัยเหตุจากบุคคลระดับผู้นำ
2.ปัจจัยเหตุจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และสังคม
3.ปัจจัยเหตุจากระบบคุณค่า-อุดมการณ์
การเปลี่ยนแปลง หรือปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์มักกำเนิดมาจาก 3 ตัวแปรหลักนี้เสมอ
1.ปัจจัยเหตุจากบุคคลระดับผู้นำ
นัก ประวัติศาสตร์ตั้งข้อสังเกตไว้เสมอว่า ปรากฏการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ หากไม่มีบุคคลสำคัญระดับผู้นำมาเกี่ยวข้อง ทิศทางของประวัติศาสตร์ก็อาจจะไม่ดำเนินไปดังที่ปรากฏ
เช่น นโปเลียน โบนาปาร์ต ผู้สถาปนาจักรวรรดินโปเลียน ล้มระบอบสาธารณรัฐ ซึ่งขบวนการปฏิวัติฝรั่งเศสได้จัดตั้งขึ้นหลังการปฏิวัติครั้งยิ่งใหญ่ ค.ศ.1789
คำถามก็คือ หากไม่มีนายพลที่ชื่อ โบนาปาร์ต ประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสคงไม่ดำเนินมาตามทิศทางดังกล่าว แต่จักรวรรดินโปเลียนได้สร้างผลงานมากมายที่วางพื้นฐานทางสังคม และการเมืองของฝรั่งเศส อีกทั้งมีอิทธิพลต่อการตื่นตัวของรัฐใหญ่น้อยในยุโรป
ตัวอย่างของการ ผันแปรของทิศทางประวัติศาสตร์อันเนื่องมาจากบุคลิกภาพ ลีลาการนำ ความทะเยอทะยาน และแนวคิดของผู้นำมีมากมาย รวมทั้งกรณีของไทยในช่วง พ.ศ.2544-2549 ซึ่ง พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี บุคลิกภาพและลีลาของการนำ ปรัชญาแนวคิดการบริหาร มีส่วนสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
เพราะขณะที่คนกลุ่มหนึ่งเห็นดีเห็นชอบกับการนำของคุณทักษิณ คนอีกกลุ่มหนึ่งก็ต่อต้านระบบทักษิณอย่างรุนแรง
และเป็นเหตุหนึ่งและเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 และนำมาสู่วิกฤตการเมืองในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ก็มีผู้ที่เห็นต่างออกไป และชี้นำไปที่ความแตกแยกของชนชั้นเป็นปัจจัยหลักของวิกฤต
2.ปัจจัยสาเหตุจากความขัดแย้งทางชนชั้น
คาร์ล มาร์กซ์ เป็นนักคิดต้นตำหรับที่เสนอทฤษฎีการขัดแย้งของชนชั้น เป็นปัจจัยเหตุของการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ มาร์กซ์เป็นชาวเยอรมัน แต่มาใช้ชีวิตในอังกฤษ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ได้เห็นการเติบโตของระบบอุตสาหกรรม และการใช้งาน ตลอดจนการขัดแย้งระหว่างนายทุนกับกรรมกร จึงสรุปเป็นกฎเหล็กทางสังคมศาสตร์ว่า การขัดแย้งระหว่างชนชั้น คือ ปัจจัยเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ ท่านเรียกว่ากระบวนการ Dialectic Materialism (วัตถุนิยมวิภาษวิธี)
มาร์กซ์คาดคะเนต่อไปอีก ว่า การต่อสู้ระหว่างชนชั้นนี้จะจบลงที่ชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ (proletariat) และโลกก็จะดำรงอยู่กันอย่างสันติ มีความสมบูรณ์พูนสุข โดยไม่ต้องมีรัฐบาลอีกต่อไป
แต่เส้นทางของประวัติศาสตร์ก็มิได้เป็น ไปดังที่มาร์กซ์คาดคิด อีกทั้งวิวัฒนาการของลัทธิมาร์กซิสต์ก็หันเหมาในทิศทางของมนุษยธรรมนิยม (Humanism) มากยิ่งขึ้น เปาโล แฟร์ (Paulo Freire) นักคิดชาวบราซิล เป็นตัวอย่างของมาร์กซิสต์ ในสมัย 1970 ที่ให้ความสำคัญต่อมิติของความเป็นมนุษย์ ในขบวนการต่อสู้ทางการเมือง
ท่าน พูดถึง "มโนธรรมสำนึก" ที่จะต้องเป็นเป้าหมายสำคัญของการให้การศึกษา ซึ่งหมายถึง ความสำนึกในเรื่องความยุติธรรม สันติภาพ และการไม่เอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน แม้กระทั่งผู้นำขบวนการปฏิวัติบ่อยครั้งก็ยังจะกดขี่กันเอง หรือกดขี่ผู้อื่นหลังจากประสบชัยชนะในการปฏิวัติ เพราะขาดความมีมนุษยธรรมที่แท้จริง
การนำเอาทฤษฎี การขัดแย้งทางชนชั้นของมาร์กซ์มาประยุกต์ใช้จึงสำเร็จและล้มเหลวพอๆ กัน ขึ้นอยู่กับผู้นำของขบวนการเข้าใจประวัติศาสตร์ของชนชาติตนมากน้อยแค่ไหน เพียงใด เหมา เจ๋อ ตุง จึงไม่ดำเนินการตามแบบอย่างของโซเวียต
สำหรับ สังคมไทย "ชนชั้น" ไม่ได้มีความหมายเช่นเดียวกับ "ชนชั้น" ในสังคมอุตสาหกรรมของอังกฤษ หรือฝรั่งเศส นักสังคมวิทยาบางท่านอาจสรุปว่า สังคมไทยไม่มีชนชั้นดังกล่าวเพราะมี "Social Mobility" (การรื่นไหลทางสังคม) ในอัตราสูง
จะเห็นได้ว่า "ผู้นำ" ในสังคมไทย ทั้งในวงราชการ ทหาร พลเรือน และธุรกิจ อุตสาหกรรม มีกำเนิดมาจากสามัญชนแทบทั้งนั้น
และ ผู้นำเหล่านี้ ซึ่งฝ่ายเสื้อแดงยัดเยียดตำแหน่ง "อำมาตย์" ให้ก็ไม่ได้มีความตระหนักในเรื่อง "ชนชั้น" เฉกเช่น "ผู้ดี" อังกฤษในสมัยก่อน
สังคมไทยจึงเป็นสังคมที่เปิดกว้าง ตามคติความเชื่อถือและธรรมเนียมปฏิบัติ
แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ไม่เกิดช่องว่างทางเศรษฐกิจและรายได้ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในสังคมโลกาภิวัตน์?
และ ช่องว่างทางเศรษฐกิจนี้ นับวันจะห่างมากยิ่งขึ้นระหว่างประเทศนายทุนระดับโลก กับประเทศเกษตรกรรม ระหว่างชาวเมืองและชาวชนบท ระหว่างนักธุรกิจ พ่อค้า นักอุตสาหกรรม กับกรรมกร ช่องว่างทางเศรษฐกิจดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจมากกว่าเกิดจากความจงใจหรือเจตนา ร้ายของผู้หนึ่งผู้ใด หรือแม้แต่ระบบกฎหมาย จึงขึ้นอยู่กับผู้นำของประเทศจะกำหนดนโยบายเพื่อกระจายรายได้ให้เกิดผลทาง ภาคปฏิบัติ
อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างทางสถานภาพเศรษฐกิจของผู้คนในสังคม หากไม่ได้รับการแก้ไข ก็อาจจะเป็นเชื้อเพลิงที่นำไปสู่ไฟแห่งการปฏิวัติได้เสมอ และในสถานการณ์ที่เกิดการช่วงชิงอำนาจทางการเมือง ดังที่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทยในปลายปี พ.ศ.2548 - (และเกิดการรัฐประหารเดือนกันยายน พ.ศ.2549)
การช่วงชิงมวลชน จึงเป็นส่วนสำคัญของการขับเคี่ยวเพื่อชัยชนะของฝ่ายตน สังคมไทย ซึ่งมีพื้นฐานของความปรองดองมาแต่อดีตหลายร้อยปี จึงแตกแยกเป็นฝักฝ่าย ฝ่ายพันธมิตร (สีเหลือง) กับฝ่าย นปช. (สีแดง) เป็นต้น
คาร์ล มาร์กซ์ เคยกล่าวไว้ว่า "ชนชั้น" จะมีความเป็น "ชนชั้น" จริงๆ ก็จะต้องมี "จิตสำนึกของชนชั้น" เสียก่อน
แกน นำ นปช. ในแง่หนึ่งก็ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของนายมาร์กซ์ คือ ปลุกจิตสำนึกของชนชั้นด้วยวาทกรรม "ไพร่" และ "อำมาตย์" และพยายามปลุกผี "อำมาตย์" ซึ่งได้ตายไปจากสังคมไทยมานมนานแล้ว ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง แต่จะสำเร็จหรือไม่ นักวิเคราะห์ทางสังคมคงพอจะสรุปได้แล้ว
วิกฤตปัจจุบัน จึงได้รับคำอธิบายจากมวลชนกลุ่มหนึ่งว่าเป็นวิกฤตของชนชั้น การต่อสู้ของฝ่ายแดงจึงเป็นการต่อสู้โดยมีพื้นฐานจากการแตกแยกทางฐานะ เศรษฐกิจและสังคม ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นหนึ่งที่อาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
3.ปัจจัยสาเหตุจากระบบคุณค่า-อุดมการณ์
ผู้ ที่เป็นแกนนำฝ่ายพันธมิตร และกลุ่มเสื้อเหลือง ตลอดจนผู้คัดค้านระบอบทักษิณในช่วงปี พ.ศ.2548 มักจะมองว่าระบอบของทักษิณจะเปลี่ยนประเทศไทยไปในทางที่ทำลายระบอบ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา ซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เช่น การกำจัดเสียงคัดค้านในรัฐสภา จัดตั้งรัฐบาลด้วยเสียงข้างมากอย่างเด็ดขาด (ไม่เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี) บั่นทอนเสรีภาพหนังสือพิมพ์ แทรกแซงองค์กรอิสระ ตลอดจนการทุจริตในรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ทุจริตเชิงนโยบาย
ขบวนการ ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ในช่วงปี พ.ศ.2548 เป็นการต่อต้านระบอบทักษิณ ซึ่งในสายตาของผู้ร่วมเดินขบวนจะมีผลก่อให้เกิด ระบอบเผด็จการแบบรัฐสภา และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงระบบคุณค่าที่ดีของชาวไทย
ขบวนการต่อต้าน มีแนวคิดอยู่แล้วว่า อะไรคือแนวทางที่ดีของระบอบประชาธิปไตย และภายหลังเมื่อมีการรัฐประหาร ขจัดรัฐบาลทักษิณได้แล้ว รัฐธรรมนูญใหม่ พ.ศ.2550 ก็เป็นรัฐธรรมนูญในอุดมการณ์ของนักกฎหมายและนักวิชาการ ตลอดจนปัญญาชนผู้นิยมในระบอบ "เสรีนิยมประชาธิปไตย"
ในทางกลับกัน ผู้นิยมคุณทักษิณ และคุณทักษิณเองก็มีแนวคิดเกี่ยวกับประชาธิปไตยอีกลักษณะหนึ่ง ซึ่งยึดถือเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งเป็นหลักสำคัญ รัฐบาลที่ได้รับการสนับสนุนจากเสียงข้างมากย่อมได้รับอำนาจอธิปไตยจากปวงชน ย่อมสามารถกำหนดนโยบายอย่างไรก็ได้ (แม้จะขัดกับธรรมเนียมปฏิบัติเดิม หรือขัดต่อหลักนิติธรรม นิติรัฐ)
ปัจจุบัน แกนนำเสื้อแดงก็ยังคงมองรัฐบาลของคุณอภิสิทธิ์ ว่าเป็นรัฐบาลจัดตั้งโดยกองทัพ ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์ของประชาชน ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงและหลักปฏิบัติของระบบรัฐสภา เป็นรัฐบาลจากการรวมตัวของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้รับเลือกตั้งในต้นปี พ.ศ.2551 นั่นเอง
สังคมไทยส่วนหนึ่งไม่ ยอมรับระบอบทักษิณก็เพราะหวั่นเกรงแนวคิดที่ขัดกับระบบนิติรัฐ (Rule of Law) และหลักการซึ่งรัฐบาลชุดนี้ยืนกรานอยู่เสมอก็คือ หลักนิติรัฐ ซึ่งจะยกเว้นมิได้ ขณะที่ฝ่ายของขบวนการเสื้อแดงก็ตำหนิติฉินรัฐบาลเรื่อง ระบบสองมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรม
การขัดแย้งในระบบคุณค่าและ อุดมการณ์ประชาธิปไตย คงจะมีความสำคัญมากสำหรับผู้คนบางกลุ่ม หรืออาจจะเป็นเพียงข้ออ้างของคนบางกลุ่ม แต่พิจารณาจากการดำเนินงานของรัฐ ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ดูจะให้ความสำคัญต่อหลักกฎหมายปกครอง และอุดมการณ์ประชาธิปไตย ไว้เป็นอันดับแรก
ขณะที่ฝ่ายคุณทักษิณถูกมองอยู่เสมอว่า หากคุณทักษิณและพรรคพวกได้รับการอภัยโทษและการคืนทรัพย์สมบัติ ความปรองดองก็จะเกิดขึ้นทันที
อุดมการณ์ และระบบคุณค่า จึงอาจเป็นปัจจัยเหตุสำคัญสำหรับกลุ่มบุคคลบางกลุ่ม และมีความหมายน้อยสำหรับบางกลุ่ม แต่การต่อสู้เพื่อช่วงชิงอำนาจทางการเมือง จะแพ้หรือชนะก็เพราะการสร้างศรัทธาให้แก่ผู้คนว่า ฝ่ายตนเป็นฝ่ายถูกต้องตามหลักการ และอุดมการณ์ และสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว ระบบคุณค่าและอุดมการณ์จึงมีความหมายมาก
การคลี่คลายวิกฤต หรือการสร้างความปรองดอง
เหตุการณ์ สำคัญในประวัติศาสตร์มักจะมีคำว่า "ถ้า" (if) อยู่เสมอ เช่น ถ้าหากการเจรจาระหว่างรัฐบาลกับแกนนำที่ราชประสงค์ประสบผลสำเร็จ คงจะไม่มีการนองเลือดและการเผาอาหาร ร้านค้าดังที่ปรากฏ แต่เหตุการณ์ก็มิได้จบลงเช่นนั้น ก็คงจะต้องไปสืบสาวสาเหตุว่ามีปัจจัยใดแทรกซ้อน เช่น ขบวนการเสื้อแดงมีเอกภาพทางความคิดหรือไม่? เพราะหากมีความเป็นอิสระทางความคิด การดำเนินงาน การเจรจารอบสองน่าจะจบลงด้วยดี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเหตุการณ์จบลงด้วยการหลั่งเลือดของทั้งสองฝ่าย การปรองดองก็คงจะเป็นภารกิจที่ยากยิ่ง แต่ไม่น่าจะเกินความสามารถของเราชาวไทย ซึ่งมีประวัติของทักษะความสามารถในการปรองดองมายาวนาน เรายืนอยู่เป็นชนชาติไทยได้มาหลายร้อยปีก็เพราะความสามารถในการปรองดองนี้
ประการแรก จะต้องมองโลกในแง่ดี หมายความว่าเราต้องแสวงหาคุณประโยชน์จากวิกฤตที่เกิดขึ้น วิเคราะห์ศึกษาว่ามีบทเรียนอะไรบ้างที่เราควรเรียนรู้ ฝ่ายวิชาการต้องเข้ามาช่วยวิเคราะห์ศึกษาให้มากขึ้นด้วยใจเป็นกลาง
ประการที่สอง ควรเข้าใจเสียใหม่ว่าวิกฤตครั้งนี้จะแก้ไขในระยะสั้นไม่ได้ คงต้องใช้เวลายาวนาน แต่ในช่วงที่รอคอย รัฐบาลก็ไม่ควรจะออกมาตรการที่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น
ประการที่สาม ควรจะเข้าใจเสียใหม่ว่าการเมืองในระบอบประชาธิปไตยนั้น ย่อมมีการขัดแย้งทางความคิดและผลประโยชน์ดังที่ปรากฏ อย่ามองว่าการขัดแย้งเป็นเรื่องเลวร้ายเสมอไป การขัดแย้งอาจช่วยให้ระบบพรรคการเมืองมั่นคง และแบ่งแยกกันชัดเจนยิ่งขึ้น ขณะที่การแบ่งแยกของประชาชนผู้ลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งตามอุดมการณ์ของ พรรคการเมืองก็อาจทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงมีความจำเป็นลดน้อยลงก็ได้
ประเด็นดังกล่าวนี้อาจรอพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ว่าประชาชนจะลงคะแนนตามชื่อของพรรค หรือเพราะปัจจัยอื่น
ประการที่สี่ รัฐบาลจะต้องให้ความสนใจมากที่สุดในการสร้างความเป็นพลเมือง ที่เข้าใจระบอบประชาธิปไตยและนโยบายสาธารณะ การศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึงอุดมศึกษาและการศึกษานอกระบบจะต้องสร้างจิตสำนึก ของความเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบ
นโยบายการจัดการศึกษา เพื่อสร้างพลเมืองที่มีจิตสาธารณะ จึงต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและระยะยาว
องคาพยพอื่นๆ ในสังคมก็ต้องร่วมกันสร้างวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยนี้ด้วย เช่น สื่อมวลชน ละคร วิทยุ โทรทัศน์ และวรรณศิลป์ต่างๆ
ประการที่ห้า ส่งเสริมให้ทุกๆ หมู่บ้านได้ปกครองตนเอง สร้างความปรองดอง และความเข้มแข็งของหมู่บ้าน
จงมีศรัทธาต่อประชาชนในระดับรากหญ้า และประชาชนจะมีศรัทธาต่อรัฐบาล
ข้อ เสนอเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ เป็นข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากมาตรการและนโยบายสวัสดิการ ซึ่งรัฐบาลพยายามดำเนินการอยู่แล้ว เพียงแต่จะย้ำว่าในยามวิกฤต ผู้นำประเทศต้องสร้างความศรัทธาให้เกิดขึ้นในทุกหมู่เหล่าของราษฎร ต้องเป็นนายกรัฐมนตรีของยายเนียม ในแหวนทองเหลืองให้ได้ตามเป้าประสงค์
ประการที่หก การเคลื่อนไหวเพื่อการเจรจาระหว่างพรรคเพื่อไทยกับรัฐบาล ทั้งฝ่ายนกพิราบจากพรรคเพื่อไทย กับฝ่ายนกพิราบจากซีกรัฐบาล ควรจะดำเนินการต่อไปโดยมีเป้าหมาย (ที่จำกัด) เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีซึ่งกันและกัน วางกรอบว่าประเด็นใดควรเจรจากัน และประเด็นใดที่ละไว้ก่อน ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์ระยะสั้น เพื่อชูทางไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้งทั่วไปที่จะหลีกเลี่ยงความรุนแรงทั้ง ด้านร่างกายและจิตใจ
ประการสุดท้าย ซึ่งสำคัญมาก สื่อสารมวลชนและประชาชนจะต้องเข้ามาช่วยให้เกิดการปรองดอง โดยเห็นประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติ บทบาทปกติของสื่อสารมวลชน เช่น การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลก็คงดำเนินการต่อไป แต่สำหรับประเด็นเรื่องการปรองดองนี้ ควรเป็นหน้าที่ของทุกๆ ฝ่ายต้องช่วยกันเสนอแนะ ไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง
โดยสรุปบทบาทของสื่อสารมวลชนและประชาชนที่เป็นกลางนี้ มีความสำคัญที่สุดที่จะช่วยบรรเทาการขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ได้
ที่มา: มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 18:00:00 น.)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น