วันจันทร์, พฤศจิกายน 01, 2553

"จิตร ภูมิศักดิ์" เบื้องหลังลูกกรง ที่ไม่อาจกักขัง "เสรีภาพ"




หลังจากเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 ที่ผ่านมา ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมูลนิธิจิตร ภูมิศักดิ์ และกองทุนจิตร ภูมิศักดิ์ จัดงาน "80 ปี จิตร ภูมิศักดิ์ (2473-2553)" ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย อ. ดร.วิลลา วิลัยทอง จากภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เสนอบทความทางวิชาการเรื่อง "ดาวยังพราย ศรัทธาเย้ยฟ้าดิน" : การใช้ชีวิตประจำวันของจิตร ภูมิศักดิ์ และนักโทษการเมือง ในคุกช่วงทศวรรษ 2500


โดย อ. ดร.วิลลา กล่าวว่า หลังจากที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหารในวันที่ 20 ตุลาคม 2501 ตำรวจได้จับกุมชาวนา กรรมการ ชาวเขา ครู อาจารย์ นิสิต นักศึกษา นักหนังสือพิมพ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ทนาย พ่อค้า จำนวนไม่ต่ำกว่า 300 คนเข้าคุก ด้วยข้อกล่าวหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ และพวกเขาถูกเรียกว่า "นักโทษการเมือง" ซึ่งรวมถึงจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ถูกคุมขังระหว่าง พ.ศ.2501-2507


นับเป็นช่วงเวลาที่จิตรผลิตผลงานประเภทต่างๆจำนวนมาก ทั้งงานเขียนด้าน วรรณกรรม ภาษาศาสตร์ นิรุกติสาสตร์ ประวัติศาสตร์ งานแปล บทกวี และบทเพลง เช่น “ความเป็นมาของคำสยาม, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” หรือ “สังคมไทยลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก่อนสมัยศรีอยุธยา” งานวิจารณ์วรรณคดี เช่น “นิราศหนองคาย วรรณคดีที่ถูกสั่งเผา” งานพจนานุกรมภาษาละหุเล่มแรกของเมืองไทย คือ “ภาษาละหุหรือมูเซอร์” งานแปล เช่น “แม่” ของแมกซิม กอร์กี้ “โคทาน” ของเปรมจันท์ “คนขี่เสือ” ของภวานี ภัฎฏาจารย์ “ความเรียงว่าด้วยศาสนา” ของศาสตราจารย์ยอร์จ ทอมสัน นอกจากนี้จิตรยังได้แต่งบทเพลงจำนวนมาก ภายใต้นามแฝง “สุธรรม บุญรุ่ง” ที่มีเนื้อหาสะท้อนสันติภาพ ความเสมอภาค ความยุติธรรมในสังคม ต่อต้านการกดขี่เผด็จการทหาร ศักดินาและจักรวรรดินิยม เช่น เพลง “มาร์ชลาดยาว” “มาร์ชชาวนาไทย” “เทิดสิทธิมนุษยชน” “ฟ้าใหม่” “ความหวังยังไม่สิ้น” “แสงดาวแห่งศรัทธา” “ศักดิ์ศรีของแรงงาน” “เสียงเพรียกจากมาตุภูมิ” “รำวงวันเมย์เดย์” “มนต์รักจากเสียงกะดึง” เป็นต้น


ด้วยอำนาจของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 12 อ้างถึงพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ.2495 และฉบับที่ 15 ให้อำนาจศาลทหารที่จะพิจารณานักโทษที่ถูกคุมขัง โดยนักโทษการเมืองจะถูกคุมขังไว้ในหลายพื้นที่ อาทิ ห้องขังที่สันติบาล กองปราบสามยอด กองปราบปทุมวัน ก่อนที่จะโยกย้ายไปยังคุกลาดยาว โดยมีการแบ่งผู้ต้องหาออกเป็น 2 ประเภท คือ ผู้ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนของตำรวจ และผู้ต้องขังของราชทัณฑ์


ดังนั้นในช่วงเวลาระหว่างปี 2501-2503 ผู้ต้องหาส่วนหนึ่งจะถูกคุมขังที่กองปราบปทุมวัน ซึ่งเป็นที่แรกๆที่ช่วยสร้างความเป็นชุมชนและความเป็นตัวตนของผู้ต้องหา คอมมิวนิสต์รุ่นรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์


ผู้ต้องหาเริ่มมีการทำกิจกรรมร่วมกัน อาทิ การทานอาหาร การหาความรู้ การหาข้อมูล และแบ่งแยกงานกันทำ อาทิ การทำความสะอาดห้องขัง การเล่นกีฬาในร่ม มีการเฉลี่ยค่าใช้จ่ายต่างๆร่วมกันตามกำลังความสามารถ ตลอดจนมีการเริ่มสานความสัมพันธ์กับเจ้าหน้าที่เรือนจำ ตำรวจ ตลอดจนภรรยาและบุตรของเจ้าหน้าที่เหล่านั้น เช่นการแลกเปลี่ยนการซื้อของ หรือการทำกับข้าว กับการสอนภาษาอังกฤษ และวิชาอื่นๆ เป็นต้น


จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผู้ต้องหาเหล่านี้มี และใช้เป็นตัวต่อรองเพื่อดำเนินชีวิตประจำวัน ก็คือสถานะของการเป็นนักศึกษา อาจารย์ ปัญญาชน ที่มีความรู้เป็นตัวบ่งชี้สำคัญ เป็นความรู้ที่ไม่คงที่ มีการสะสมและเพิ่มพูนอย่างสม่ำเสมอ มีการติดตามข่าวจากสถานีข่าวทั่วโลก และการอ่านหนังสือพิมพ์เป็นประจำทุกวัน โดยมีการแบ่งความรับผิดชอบว่าใครจะเป็นผู้อ่าน และใครจะเป็นผู้สรุป และสิ่งเหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไป เมื่อพวกเขาได้ย้ายไปยังคุกลาดยาวในปี 2503


คุกลาดยาวมีการแบ่งออกเป็น 3 แดนใหญ่ๆ คือ แดนการเมือง แดนธรรมดา และแดนเฮโรอีน โดยแดนการเมืองจะมีห้องขัง 2 ห้องใหญ่ และมีโรงอาหารอีกหนึ่งโรง ซึ่งสิ่งที่แตกต่างจากห้องขังที่กองปราบปทุมวันก็คือ ขนาดที่กว้างขวางกว่า จำนวนห้องขังที่มีมากขึ้น บรรจุผู้ต้องหาได้มากคนขึ้น ขนาดของพื้นที่และขนาดของห้องนี่เองที่ทำให้เกิดการรวมตัวของกลุ่มย่อย และสร้างความแตกต่างของกลุ่มย่อย และได้แบ่งผู้ต้องหาออกเป็นกลุ่มต่างๆตามลำดับ เช่น ความอาวุโส อาชีพ ท้องถิ่น ชาติพันธุ์ ครอบครัว ซึ่งเป็นเสมือนดินแดนย่อยอยู่ในชุมชนใหญ่


ทองใบ ทองเปาด์ได้บรรยายไว้ในหนังสือ "คอมมิวนิสต์ลาดยาว"ว่า “เราก็เลยขอใช้พื้นที่ว่างปลูกผัก ทำสวนครัว เมื่อก่อนเป็นทุ่งนา เราก็แปลงตรงนี้มาปลูกผักเต็มพื้นที่เลย บางส่วนก็ขุดบ่อเลี้ยงปลาไน ปลาจีน บางคนก็เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ ปรากฏว่าเราทำได้ผลดีมากเลยอย่างผักนี่ เรายังส่งออกมาขายเอาเงินมาใช้ เป็นเงินของพวกเราเอง คือ เราปรับสภาพคุกให้มันน่าอยู่ได้ บางคนที่ชอบสุนทรีย์ก็ทำสวนกล้วยไม้"


นอกจากนั้นเรื่อง "เวลา" ยังสามารถแบ่งได้เป็น เวลาในระดับกลุ่มรวม ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเวลาในช่วงที่เพิ่งถูกจับกุม คือระหว่างการถูกคุมขังที่กองปราบปทุมวัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความหวัง ไม่ยอมรับข้อกล่าวหา ซึ่งกินเวลาประมาณ 1-2 ปีแรก ช่วงเวลาระยะกลาง ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักโทษเหล่านี้เข้าไปอยู่ในคุกได้สักพักหนึ่ง มีความคิดว่าตนเองจะต้องถูกควบคุมตัวนานเท่าไหร่ เริ่มมีชีวิตประจำวันที่ชัดเจนขึ้น และอยู่ในระหว่างขั้นตอนการดำเนินคดีฟ้องร้องกับศาล ฉะนั้นการเดินทางไปศาลถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในช่วงนั้น


ช่วงสุดท้ายคือช่วงเวลาที่ศาลเริ่มมีการตัดสินคดี เริ่มมีการปล่อยตัวนักโทษ การใชัชีวิตในแต่ละวันถูกพัฒนาให้เป็นกิจวัตรมากขึ้น และสามารถแบ่งออกได้เป็นเวลาส่วนรวม (Collective Time) และเวลาส่วนตัว (Individual Time) ซึ่งเวลาเหล่านี้ได้อยู่ภายใต้กรอบเวลาหลักของกฏเกณฑ์บังคับของกรมราชทัณฑ์ โดยที่กองปราบปทุมวัน มีการแบ่งเวลาอย่างชัดเจน เช่น ทานอาหารเช้าตอน 8.30 น. ฟังข่าวรอบเช้าตอน 9.00 น. เที่ยงทานอาหารกลางวัน 17.30 น. ทานอาหารเย็น 20.00 น. ฟังข่าวรอบค่ำ


แต่เมื่อย้ายมายังที่คุกลาดยาว กลุ่มคนเหล่านี้พยายามนำระบบเวลาเหล่านี้ให้นักโทษคนอื่นๆได้ร่วมทำด้วย นอกจากนี้ เวลาส่วนรวมจะมีผลต่อกิจกรรมส่วนรวมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเพื่อจัดหาวัตถุดิบเพื่อทำอาหาร การปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ การปรุงอาหาร นอกจากนั้น เวลาส่วนรวมยังถูกแบ่งออกเป็นเวลาของการเผยแพร่ความรู้ต่างๆด้วย เช่นการสอนภาษา วิชาชีพ


ในขณะที่เวลาเยี่ยมญาติ เป็นเวลาที่เปิดโอกาสให้ตัวกลางมีการมาเจรจา เพื่อติดต่อกับโลกภายนอก โดยมีตัวกลาง อาทิ แม่ ภรรยา และน้องสาว


อาจกล่าวได้ว่า ชีวิตประจำวันของนักโทษการเมืองยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประวัติศาสตร์ เนื่องจากกิจกรรมหลักๆของพวกเขามีทั้งความคล้ายคลึงและความแตกต่างจาก กิจกรรมประจำวันของนักโทษการเมืองรุ่นก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นกบฏร.ศ.130 กบฏบวรเดช พ.ศ.2476 กบฏพระยาทรงสุรเดช หรือกบฏ 18 ศพ (พ.ศ.2481) และกบฏสันติภาพ (พ.ศ.2495)


ที่มา: matichon Online (update: วันที่ 01 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 19:30:00 น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น