วันเสาร์, ตุลาคม 09, 2553

ใครนำใครในองค์กรเสื้อแดง “ทักษิณ - ซ้ายเก่า - ปัญญาชน - ฮิปปี้ - ฮาร์ดคอร์”

by herogeneral.blogspot.com
Ref: posttoday.com/วิเคราะห์/การเมือง (update 09 ตุลาคม 2553 เวลา 00:24 น.)
บทความโดย: ทีมข่าวการเมือง

ใครนำใครในองค์กรเสื้อแดง“ทักษิณ-ซ้ายเก่า-ปัญญาชน-ฮิปปี้-ฮาร์ดคอร์”

ขบวนการเสื้อแดง ในเวลานี้ มีค่อนข้างหลากหลาย นั่นเพราะแกนนำนปช.ถูกคุมขังในคุก จึงไม่มีใครผูกขาดขบวนการเสื้อแดงเหมือนที่ผ่านมา....

คงต้องเรียกได้ว่า สาหัสสำหรับพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดง ณ เวลานี้

ช่วงเดือนที่ผ่านมา 2 เครื่องยนต์หลักของทักษิณเจอ ระเบิดถล่มแต่ละลูกนับว่าใหญ่พอควรเริ่มจากการออกมาแฉกันเองของชาวเสื้อแดง เรื่องอมเงินบริจาคศพและผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ชุมนุม ที่ซัดกันระหว่าง แดงเชียงแสน กับ น้องสะใภ้ประธานนปช. เล่นเอาจตุพร พรหมพันธุ์ ถึงกับยอมรับว่า ขายขี้หน้ามาก

อีกเรื่องที่ทุบเข้าเสื้อแดงอย่างจัง กรณีเหตุบึ้ม สมานแมนชั่น จ.นนทบุรี เมื่อ นายสมัย วงศ์สุวรรณ์ มือบึ้มพลาดท่าเป็นเสื้อแดงเชียงใหม่และเป็นขาประจำที่เข้าชุมนุมเสื้อแดงใหญ่เล็กแทบทุกครั้ง ขณะที่ พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผบ.ตร.ยืนยันว่า นายสมัยเป็นการ์ดนปช. จนตำรวจขยายผลลึก โยงใยไปยังเหตุระเบิดในกรุงเทพก่อนหน้านี้หลายจุด

ก่อนหน้านี้เวลาไล่เลี่ยกัน ตำรวจได้ควบคุมตัว ชายต้องสงสัย 11 คนที่ ดอยคู่ฟ้ารีสอร์ท บ้านสหกรณ์ 6 หมู่ 6 อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ที่ต่อมาสืบสวนพบว่า เป็นนักรบเสื้อแดงที่เดินทางไปฝีกการใช้อาวุธที่เขมร เพื่อเตรียมสร้างความปั่นป่วนในกรุง

ตามด้วย กรณีเหตุบังเอิญที่มีการตรวจสอบ กระสุนเครื่องยิงจรวดอาร์พีจี และ อาวุธสงครามจำนวนหนึ่ง ไม่ต่างจากคลังแสงขนาดย่อม ที่ห้องพักใกล้ที่ทำการพรรคเพื่อไทยเก่า โดยผู้เช่าห้องนี้เคยเป็น รปภ.พรรคเพื่อไทย

ล่าสุด ดีเอสไอได้จับกุมตัว "อร่าม แสงอรุณ" อดีตทหารพรานผู้ต้องหาคดีก่อการร้าย ลูกน้องของ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง ซึ่งหลบหนีหมายจับไปซ่อนอยู่ในจ.อุบลราชธานี

เหตุระเบิด การจับกุมแนวร่วมที่ใช้ความรุนแรง และ อาวุธสงครามเหล่านี้ พันไปยังพรรคเพื่อไทยและเสื้อแดง เล่นเอาแกนนำพรรคที่กำลังเดินเกมปรองดองอยู่ ต่างกุมขมับ เพราะกระทบต่อภาพพจน์ของพรรคที่อยู่ในช่วงฟูมฟัก เลียแผลหลังบอบช้ำจากเหตุการณ์ชุมนุม โดยแกนนำพรรคพยายามหาวิธีค่อยๆ แยกเสื้อแดงออกจากพรรค เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบ ต่อการเคลื่อนไหวของเสื้อแดงทุกเรื่อง

เพราะที่ผ่านมาการผูกติดกับเสื้อแดงอย่างแนบแน่น จนบางครั้ง แดงนปช.นำพรรคเพื่อไทยหรือ “ม็อบนอกสภานำสส.ในสภา” มีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน แต่จุดอ่อนที่พรรคเพื่อไทยวิตกมากที่สุดคือ เสื้อแดงบางกลุ่ม หรือ แดงซ้ายหลายก๊กที่เคลื่อนไหวสุ่มเสี่ยงต่อการจาบจ้วงสถาบัน

อีกจุดคือ เสื้อแดงที่นิยมความรุนแรง แม้ว่า แกนนำพรรคหลายปีกไม่ได้รับรู้ต่อการขับเคลื่อน การทำกิจกรรมของเสื้อแดงเหล่านี้ แต่เมื่อทักษิณสร้างเพื่อไทยและเสื้อแดงมาเคียงคู่สู้อำมาตย์ จนสังคมรับรู้ไปทั่วก็ต้องแบกรับสถานะ “ทูอินวัน” ในตัว

ว่ากันตามจริงแล้วหลังเหตุการณ์ พฤษภามหาโหด 53 ขบวนการเสื้อแดงใหญ่แตกโตขึ้น จากปม ความขัดแย้ง กรณี “การเข้าสลายและปะทะกับทหารในการชุมนุมจนมีผู้เสียชีวิต 92 ศพ”

ประวัติศาสตร์ความขัดแย้งครั้งนี้ คนเสื้อแดงหยิบเรื่องอำมาตย์กับคนชั้นล่าง ความไม่เท่าเทียมกัน การสังหารประชาชนมาใช้ต่อสู้ ยกระดับทางความคิด สร้างปมในหมู่ผู้คนจำนวนมากเพื่อให้ว่า ในสังคมไทยยังมีความไม่เป็นธรรมเกิดขึ้น

เสื้อแดงที่เติบใหญ่ทางความคิด ได้ปรากฏแนวร่วมขึ้นหลายกลุ่ม ไม่ใช่ว่าจะเป็น “แดงทักษิณ” อย่างเดียว เช่น มีกลุ่มเสื้อแดงปัญญาชน แดงนายทุนน้อย แดงเสรีนิยม แดงก้าวหน้า แดงซ้ายเก่า ซ้ายใหม่ที่เป็นฐานความคิดเติบโตขึ้น จน แดงนปช.ที่ฐานใหญ่ที่คอยขับเคลื่อนแดงทั้งระบบ กลายเป็น “แดงล้าหลัง” และไม่รู้ตัวว่า แดงชนชั้นกลางได้ขยายตัวทางความคิดและทิศทางการต่อสู้ ที่ให้ยึดศูนย์กลาง คือ ชาวบ้านเป็นหลัก สร้างกิจกรรมเองมากกว่า ให้แกนนำมาบงการ ตัดสินใจ หรือ คำที่ “สมบัติ บุญงามอนงค์” แกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง ให้นิยามว่า เป็น “แกนนอน” ที่ไม่มี “แกนนำ”

หากสำรวจความรู้สึกคน “คนกลางๆ” ฝั่งแดงหรือกระทั่ง สีเหลือง เขียว ฟ้า ในกลุ่มคนชั้นกลาง ต่างยอมรับในกิจกรรมของ “สมบัติ” มากกว่า เพราะไม่เน้นความรุนแรง การจัดกิจกรรมไม่กระทบหรือคุกคามต่อการดำเนินชีวิต เหมือน แดงนปช.ที่ดู ดุ เหี้ยม และเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรง

ขบวนการเสื้อแดง ในเวลานี้ มีค่อนข้างหลากหลาย นั่นเพราะแกนนำนปช.ถูกคุมขังในคุก จึงไม่มีใครผูกขาดขบวนการเสื้อแดงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นโอกาสที่ กลุ่มเสื้อแดงจะได้ปรับตัว จูนคลื่น แยกปลาออกจากน้ำ สลัดภาพที่สังคมไม่ยอมรับ โดยเฉพาะการใช้ความรุนแรงออกเพื่อให้การเคลื่อนไหวไม่ละเมิดสิทธิ คุกคามประชาชน หรือเกิดภาพหลอนแบบเผาบ้านเผาเมืองเกิดขึ้นอีก เป็น”แดงคุณภาพ” ที่ขับเคลื่อนเพื่อสร้างประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และมองไปถึงลูกหลานวันข้างหน้า

กระนั้นหากจะให้จำแนกกลุ่มต่างๆ ในขบวนแดงทั้งหลาย “โพสต์ทูเดย์ดอทคอม”ขอยกบทวิเคราะห์ของ “ชัยนรินทร์ กุหลาบอ่ำ” ผู้ประสานงานแดงสยามที่ได้ บรรยายให้นักศึกษาฟัง ที่คณะนวตกรรมสังคมท มหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อวันที่17 ก.ย.ที่ผ่านมาซึ่งได้นำมาลงในเว๊ปไซด์ประชาไท ซึ่งทำให้เห็นภาพขบวนการเสื้อแดงแจ่มชัดขึ้น

1.กลุ่มประชานิยม มีความหลากหลายและแตกต่างด้าน เศรษฐกิจ สังคม อาชีพ การศึกษา แต่มีส่วนร่วมทางการเมืองเหมือนกัน คือชมชอบนโยบายประชานิยม รักเชื่อมั่นผู้นำ ยึดมั่นในระบอบ ประชาธิปไตย รัฐสภา

หัวขบวนการ คือ แกนนำแดงสามเกลอ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ประกอบไปด้วย วีระ มุกสิกพงษ์ จตุพร พรหมพันธ์ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลุ่ม ส.ส.พรรคเพื่อไทย กลุ่มบ้านเลขที่111 ซึ่งจะมาเป็นบุคคล หรือกลุ่มเพื่อน กลุ่มวิทยุชุมชนในเมืองและต่างจังหวัดทั่วประเทศ กลุ่มพีเพิลแชลแนล กลุ่มไซเบอร์เนต

ช่วงก่อนเหตุการณ์19 พ.ค.2553 กลุ่มประชานิยมคุมเสียงใหญ่สุดในการขับเคลื่อนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แต่หลังเหตุการณ์19 พ.ค.2553 เมื่อแกนนำที่มีบทบาทการนำถูกจับกุมและอีกส่วนหนึ่งหลบภัยกบดาน เท่ากับว่าได้ยุติการนำโดยปริยาย แม้จะมี ส.ส.พรรคเพื่อไทยแ ต่การขยับทางการเคลื่อนเหมือนครั้งที่ผ่านมาคงทำได้ในระดับหนึ่งเท่านั้น

2. มีสองกลุ่มหลักๆที่แตกต่างในทิศทางการต่อสู้และเคลื่อนไหว ซึ่งมีประสบการณ์ต่อสู้ภาคประชาชนมายาวนาน แต่มีความสับสนในเรื่องการสร้างมวลชนแต่เริ่มแรก และเคยเข้าร่วมกับ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย คือ นายแพทย์เหวง โตจิรการและ ใจ อึ้งภากรณ์ ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่ม

2.1 กลุ่มสันติวิธีจัดตั้งโดยหมอเหวง (นายแพทย์เหวง โตจิราการ) สายปฏิรูปอ่อนๆคือ เชื่อมั่นในกลไกรัฐ แต่ก็พยายามเสนอความคิดของตัวเองผ่านการชุมนุมบนเวทีและโรงเรียน นปช. ซึ่งมวลชนใช้แนวคิดการพึ่งพาตัวเอง และได้ทะยานเป็นอาสาสมัครแถวหน้าที่มีจำนวนแม่บ้านเสื้อแดงมากที่สุด

2.2 กลุ่มเลี้ยวซ้าย มี ใจ อึ้งภากรณ์ เป็นผู้นำความคิดมาร์กซิตส์ สายทรอตสกี้ เชื่อมั่นการปฎิวัติไม่ปฎิเสธความรุนแรงโดยชนชั้นกรรมาชีพแดงปฎิวัติ แม้การปรากฎตัวบนเวทีเสื้อแดงครั้งแรกของเขาจะเป็นครั้งสุดท้ายก็ตาม แต่อิทธิพลทางความคิดอันแหลมคม และบุคลิกภาพโดดเด่นได้ทำให้เสื้อแดง กรรมาชีพในเมือง แม่บ้านเสื้อแดง ตื่นตัวและฝากความหวังลึกๆกับเขาในกระแสที่ผ่านมา และกลุ่มนี้มีสื่อสิ่งพิมพ์ของตัวเองใช้ในการจัดตั้งเผยแพร่ความคิดของกลุ่ม ตน รวมถึงต่อกลุ่มอื่นๆซึ่งฐานสมาชิกของกลุ่มเลี้ยวซ้ายจะมีนักสหภาพแรงงานบาง ส่วนเข้าร่วม

2.3 กลุ่ม 24 มิถุนา ประชาธิปไตย มี สมยศ พฤษาเกษมสุข และส.ส. สุนัย จุลพงศธร มีแนวคิดเชิงปฎิรูป มีรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบนักกิจกรรมทางการเมือง NGO คือมีลักษณะเชิงรับต่อสถานการณ์ เคลื่อนเป็นประเด็น มีสื่อของตัวเอง Red Power ในการประชาสัมพันธ์ข่าวการเคลื่อนไหวต่างๆ และพยายามก่อตั้งสมัชชาประชาธิปไตย โดยนำตัวแทนคนเสื้อแดงในกลุ่มภูมิภาคต่างๆตั้งขนานเป็นกลุ่มปฏิรูปคู่ขนาน คณะปฎิรูปของรัฐบาลอภิสิทธิ์

3. กลุ่มแดงสยาม มี จักรภพ เพ็ญแข เป็นศูนย์กลางเชื่อมประสานงานความคิด สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ มีแนวทางการลุกขี้นสู้ลักษณะปฎิวัติ และแกนนำยังคงเชื่อมั่นในตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มวลชนกลุ่มนี้มีจุดยืนอุดมการณ์ลักษณะแรงกล้า แต่ขาดไร้การจัดตั้งที่ชัดเจน ไม่มีการทำงานในรูปกลุ่มงานทางการเมือง หากว่าการปรับองค์กรขับเคลื่อนภายหลังเหตุการณ์ 19 พ.ค.2553 น่าสนใจว่า ทั้งในส่วนแกนนำและมวลชนซึ่งต่างรอคอยสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นว่า องค์กรนำใหม่ของคนเสื้อแดง นามว่า แดงสยาม จะนำเสนออะไรต่อสังคมและอนาคตใหม่เสื้อแดงจะเป็นอย่างไร?

4. กลุ่มที่ไม่ได้ปฏิเสธการใช้กำลังในการปกป้องมวลชนเสื้อแดง จะเป็นทั้งการ์ดของ อารีย์ การ์ดของเสธ.แดง(พลตรี ขัตติยะ สวัสดิผล) ซึ่งที่มีประสิทธิภาพการใช้กำลังที่สุดคือ อาสาทหารพราน กลุ่มนักรบพระเจ้าตากฝึกการป้องกันตัว ไม่มีการฝึกใช้อาวุธ จะเป็นการ์ดอาสาสมัครทั่วไป

5. กลุ่มเสรีชน ชนชั้นกลางบน กลางล่าง กลางๆ รวมตัวแบบหลวมๆ สร้างกิจกรรมขึ้นมาเอง และพอใจกับสีสันที่ตัวเองแต่งแต้มขึ้น แต่ก็ยินดีที่เป็นส่วนหนึ่งในมวลชนเสื้อแดง เช่น กลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เครือข่ายเฟซบุ๊ก กลุ่มกาแฟต่างๆ รักประชาธิปไตยแบบหลากหลาย ซึ่งไม่มีแนวคิดชี้นำ ชอบกิจกรรมท้าทายแต่ออกแนวรสนิยมไฮเปอร์ เสียดสีล้อเลียน คล้ายเด็กดื้อแบบลูกคนชั้นกลาง ไม่รุกเร้าและไม่ขนาดท้าทายต่ออำนาจชนชั้นนำ แต่หากมีกิจกรรมใหม่ขึ้นมา กลุ่มนี้ก็จะเข้าไปเป็นแนวร่วมได้ไม่ ซึ่งทั้งนี้ กลุ่มที่ห้าจะโยกตัวเองไปอยู่กลุ่มใดๆได้ทุกกลุ่มที่มีสถานการณ์ทางการเมือง เกิดขึ้นใหม่

6.กลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเฉพาะตัวไม่นิยมฝักใฝ่ฝ่ายใด ขี้นอยู่กับสถานการณ์เป็นตัวเร่งการทำงานของกลุ่ม เช่น กลุ่มพลังรวมใจ กลุ่มประกายไฟ กลุ่มเสรีปัญญาชน กลุ่มสมัชชาสังคมก้าวหน้า ฯลฯ และการจัดตั้งจะหนักไปในรูปแบบจัดวงเสวนาต่างๆมีความเป็นนักกิจกรรมและ ปัจเจกชนค่อนข้างสูง

สำหรับคนที่นิยมเสื้อแดงเป็นแบบไหนลองวิเคราะห์กันเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น