จาก อัลบั้มภาพ Matichon Online |
เว๊บไซต์ นิติราษฎร์ ฉบับที่ 5 ได้เปิดพื้นที่ให้"จันทจิรา เอี่ยมมยุรา " อาจารย์คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เขียนเรื่อง ตัวตรงเงาไม่คด "ถ้าตัวตรง ไม่ต้องกลัวเงาคด ถ้าหัวตรง ไม่ต้องกลัวเท้าเอียง"
....ดูเหมือนกระแสน้ำที่ท่วมท้นประเทศไทยอยู่ขณะนี้จะพัดพาเอาข่าวคราวเรื่องคลิปลับกรณี คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ละลายหายไปกับสายน้ำเรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ไม่เป็นข่าวก็ไม่ได้แปลว่าไม่เป็นปัญหา เพราะคลิปลับซึ่งข่าวว่ามีด้วยกัน 5 ตอนนี้กลายเป็นวัตถุพยานเพิ่มน้ำหนักความระแวงสงสัยของสาธุชนที่มีมาก่อนหน้านี้แล้วว่าศาลนั้นยังคงเที่ยงธรรมและเป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนอยู่หรือไม่ ด้วยเนื้อหาในคลิปแสดงไปในทิศทางว่ามีการวิ่งเต้นล็อบบี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของศาล คือเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญมิให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนี้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญบางคนหารือกันถึงวิธีการเพื่อให้ได้พยานบุคคลบางคนมาให้การต่อศาล
แต่พลันที่ข่าวนี้เผยแพร่ออกไปตุลาการศาลรัฐธรรมนูญกลับเห็นว่านี่เป็นขบวนการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของศาลรัฐธรรมนูญด้วยการเผยแพร่คลิป
ล่าสุดคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญออกโรงมีมติให้เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญแจ้งความดำเนินคดีขบวนการจัดฉากเผยแพร่คลิปฉาวในข้อหาข่มขู่และหมิ่นประมาท สร้างความฉงนสนเท่ห์ให้แก่สาธุชนที่มีใจเป็นธรรมจำนวนไม่น้อยว่าเหตุใดศาลรัฐธรรมนูญหรือหน่วยงาน ป.ป.ช.จึงไม่ดำเนินการสอบสวนให้ได้ความกระจ่างแจ้งเสียก่อนว่าคลิปดังกล่าวเป็นของจริงหรือตัดแต่ง มีตุลาการหรือข้าราชการศาลรัฐธรรมนูญคนใดต้องรับผิดชอบกับความไม่ชอบมาพากลเรื่องนี้อย่างไรบ้าง รวมทั้งบุคคลภายนอกที่วิ่งเต้นล็อบบี้ศาลด้วย
อย่างนี้จะเข้าทำนองตัวไม่ตรง แต่ไปโทษว่าคนอื่นทำเงาคดหรือไม่
ปีนี้ผู้รู้ออกมาให้ข้อมูลว่าประเทศไทยจะประสบกับพายุฝนที่โหมกระหน่ำหนักหนาที่สุดในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา ความอึมครึมของฟ้าฝนดูจะไม่แตกต่างจากบรรยากาศในวงการยุติธรรมไทยสักเท่าใดนัก ระหว่างรอวันฟ้าสว่างผู้เขียนไปพบหนังสือเล่มหนึ่งที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้เป็นตำราเรียนในวิชาหลักวิชาชีพนักกฎหมายของนักศึกษานิติศาสตร์ชั้นปีที่ 4 มาตลอดยี่สิบกว่าปี
หนังสือเล่มนี้บรรจุเนื้อหาการบรรยายของนักกฎหมายและตุลาการคนสำคัญ ๆ ของวงการกฎหมายไทยร่วมสมัยเกี่ยวกับการปฏิญาณตนเข้าสู่วิชาชีพและการปฏิบัติตนของนักกฎหมาย ตั้งแต่วิชาชีพทนายความไปจนถึงผู้พิพากษาตุลาการอันเป็นขั้นสูงสุดของวิชาชีพกฎหมาย บรรยากาศเมืองไทยเวลานี้และข่าวคลิปลับคดียุบพรรค ปชป. ย่อมดึงดูดความสนใจของผู้เขียนต่อหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ และนับเป็นวาระอันเหมาะสมที่จะนำสาระสำคัญบางตอนในหนังสือเล่มนี้มาคุยกับท่านผู้อ่านเว็บไซต์นิติราษฎร์ในรอบนี้
ข้อความตอนหนึ่งบรรยายโดย ศาสตราจารย์โสภณ รัตนากร อดีตประธานศาลฎีกา ในหัวข้อเรื่อง “หลักวิชาชีพนักกฎหมาย : ตุลาการ” ท่านกล่าวว่า สำหรับผู้พิพากษาตุลาการ เรื่องความซื่อสัตย์สุจริตเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และถือเป็นอุดมการณ์ของตุลาการทุกระบบไม่ใช่เฉพาะของไทย จึงได้เขียนเอาไว้ในประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการเป็นข้อแรก โดยบัญญัติว่า
“หน้าที่สำคัญของผู้พิพากษา คือการประสาทความยุติธรรมแก่ผู้มีอรรถคดี ซึ่งจักต้องปฏิบัติด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเที่ยงธรรม ถูกต้องตามกฎหมายและนิติประเพณี ทั้งจักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่าตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน เพื่อการนี้ผู้พิพากษาจักต้องยึดมั่นในความเป็นอิสระของตนและเทิดทูนไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งสถาบันตุลาการ” เหตุที่ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการยกเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตไว้เป็นข้อแรก และถือเป็นอุดมการณ์แห่งวิชาชีพที่สำคัญที่สุดเพราะเหตุว่าถ้าผู้พิพากษาไม่มีความซื่อสัตย์สุจริต สถาบันตุลาการก็อยู่ไม่ได้ เป็นที่เชื่อถืออะไรไม่ได้ ซึ่งจะนำไปสู่ความเสื่อม และล่มสลายของสถาบันตุลาการในที่สุด
ความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นอิสระของผู้พิพากษานอกจากต้องมีอยู่ในตนอย่างแท้จริงแล้ว ตอนท้ายของประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการข้อนี้ยังเรียกร้องให้ผู้พิพากษา “จักต้องแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สาธารณชนด้วยว่า ตนปฏิบัติเช่นนี้อย่างเคร่งครัดครบถ้วน”ซึ่งอาจารย์โสภณหมายความว่า ผู้พิพากษามีหน้าที่ต้องทำให้ประชาชนเห็นจริงด้วยว่า เขาได้รับความยุติธรรมโดยปราศจากข้อเคลือบแคลงสงสัย ไม่ใช่ว่าตัวผู้พิพากษาคิดว่าได้ให้ความยุติธรรมแล้ว แต่ประชาชนสงสัยว่าเขาไม่ได้รับความยุติธรรม อย่างนี้ใช้ไม่ได้
มีคำพูดคำหนึ่งในวงการตุลาการว่าผู้พิพากษาไม่เพียงต้องซื่อสัตย์สุจริต แต่จะต้องทำตัวให้ไม่มีฉายาแห่งความไม่สุจริต คือ ไม่ให้มีเงาให้คนอื่นเขาสงสัยในความไม่สุจริตนั่นเอง
ผู้เขียนเห็นว่าคำว่า “ฉายาหรือเงา” สำหรับผู้พิพากษา นอกจากจะหมายเอาที่พฤติกรรมอันไม่สุจริตของตัวผู้พิพากษาซึ่งทำหน้าที่พิพากษาตัดสินคดีโดยตรงแล้ว ยังหมายรวมไปถึงพฤติกรรมของบุคคลใกล้ชิดผู้พิพากษาทั้งในหน้าที่การงานและในครอบครัวซึ่งการกระทำของบุคคลเหล่านั้นอาจทำให้บุคคลภายนอกเข้าใจไปได้ว่าเป็นการยินยอมหรือความเห็นชอบของผู้พิพากษาผู้นั้น
กล่าวเฉพาะเจาะจงเรื่องคลิปลับ หากตั้งคำถามว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ปรากฏตัวในคลิปทั้งโดยตัวเองและโดยเงา (โดยนัย) จะเข้าข่ายมีพฤติกรรมที่อาจถูกสงสัยในความซื่อสัตย์สุจริตและความเป็นอิสระแล้วหรือไม่ และสมควรดำเนินการทางกฎหมายประการใด ผู้เขียนขอมอบให้องค์กรผู้มีหน้าที่สอบสวนอย่างคณะกรรมการ ป.ป.ช.เป็นผู้ตอบ
ส่วนคดียุบพรรคประชาธิปัตย์นั้น ตุลาการที่ถูกสงสัยควรปฏิบัติตัวอย่างไร ประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการ ข้อ 14 กล่าวถึงการปฏิบัติหน้าที่ในอรรถคดีว่า
“ผู้พิพากษาพึงถอนตัวออกจากการพิจารณา และพิพากษาคดีเมื่อมีเหตุที่ตนอาจจะถูกคัดค้านได้ตามกฎหมาย หรือเมื่อมีเหตุประการอื่นที่เกี่ยวกับตัวผู้พิพากษาอันอาจทำให้การพิจารณาพิพากษาคดีนั้นเสียความยุติธรรม และจักต้องไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการจูงใจผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนั้นในภายหลังในประการที่อาจทำให้เสียความยุติธรรมได้”
เรื่องนี้อาจารย์โสภณเห็นว่า เป็นเรื่องที่สำคัญของผู้พิพากษา เพราะการถอนตัวไม่เพียงแต่เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจของผู้พิพากษาเท่านั้น แต่ยังเป็นการป้องกันมิให้มีข้อครหาเกิดขึ้นภายหลัง เพื่อดำรงความบริสุทธิ์ยุติธรรมของสถาบันศาลและเพื่อรักษาไว้ซึ่งความศรัทธาของประชาชนต่อศาลด้วย
ผู้เขียนเห็นว่าเหตุผลประการหลังนี้เองเป็นรากฐานของบรรดาข้อบัญญัติประมวลจริยธรรมข้าราชการตุลาการและนิติประเพณีทั้งหมดทุกประการ คดียุบพรรคการเมืองไม่ว่าพรรคใดล้วนเป็นเรื่องใหญ่ มีประชาชนที่เขาหวงแหนพรรคสนับสนุนอยู่จำนวนมาก หากประชาชนเหล่านั้นรู้สึกว่าการยุบหรือไม่ยุบพรรคการเมืองใดไม่ได้ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงในคดีแล้ว ย่อมเกิดความไม่เชื่อถือเคารพศรัทธาสถาบันศาลและตุลาการตามมา
หากความรู้สึกเช่นนี้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในสังคมแล้ว (แม้ความรู้สึกอาจตรงหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริงก็ตาม) วิถีทางการระงับความขัดแย้งในสังคมโดยสันติย่อมสิ้นสุดลง ประชาชนจะเลิกนำคดีมาสู่ศาลและหันไปยุติความขัดแย้งด้วยความรุนแรง (ดังปรากฏการณ์ระเบิดเกลื่อนเมืองขณะนี้) ท้ายที่สุดความหายนะย่อมเกิดขึ้นกับสถาบันศาลและสังคมไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ผู้เขียนเห็นว่าผู้พิพากษาและตุลาการซึ่งได้ปฏิญาณตนตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งสถาบันแห่งรัฐทั้งหลายซึ่งมีหน้าที่ประกันความอิสระของตุลาการ4 มีหน้าที่โดยตรงที่จะต้องรักษาความบริสุทธิ์ยุติธรรมของสถาบันศาลและความศรัทธาของประชาชนต่อศาลไว้เท่าชีวิตตน
ก่อนจบผู้เขียนนึกขึ้นได้ว่าในสมัยที่ท่านอาจารย์โสภณ รัตนากร ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกานั้น ท่านเป็นผู้ที่ไล่ผู้พิพากษาออกจากราชการถึง 17 คน นับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการตุลาการไทย สาเหตุการไล่ออกก็มีต่าง ๆ นานา แต่ไม่เห็นเคยตีโพยตีพายเลยว่ามีขบวนการบ่อนทำลายความน่าเชื่อถือของศาลยุติธรรม ข่มขู่หรือหมิ่นประมาทศาล เรื่องพรรค์นี้ผู้หลักผู้ใหญ่ซึ่งเป็นตุลาการที่ผู้เขียนเคารพนับถือพูดเสมอว่า
“ถ้าตัวตรง ไม่ต้องกลัวเงาคด ถ้าหัวตรง ไม่ต้องกลัวเท้าเอียง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น