Ref: คอลัมภ์พิเศษ มติชนออนไลน์ บทความโดยเกษียร เตชะพีระ (update วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19:00:00 น.)
จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
รัฐธรรมนูญถูกประกาศใช้, พร้อมสัญญาว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
7 ตุลาคม-กรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงจรดจารปากกาลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดของประเทศภาย หลังการปกครองของทหารถูกโค่นลง 51 สัปดาห์ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ปูทางแก่การเลือกตั้งใหม่และการเปลี่ยนประเทศให้เป็น ประชาธิปไตยสมบูรณ์ ก่อนจะทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์ทรงคัดค้านมาตราหนึ่งที่ให้อำนาจประธานองคมนตรีในการแต่งตั้งสมาชิก วุฒิสภา พระองค์ตรัสว่า สถาบันกษัตริย์ควรอยู่เหนือการเมือง อนึ่ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไปหลายมาตราแล้ว รวมทั้งลดอายุผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงเหลือ 18 ปี เพื่อเอาใจนิสิตนักศึกษา
เค้าความเดิมเกี่ยวกับมาตราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงคัดค้านในบันทึก ข่าวข้างต้นมีอยู่ว่า หลังเหตุการณ์นักศึกษาประชาชนลุกฮือโค่นเผด็จการทหารเมื่อ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 คณะรัฐมนตรีชุดนายกฯสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (อันประกอบด้วยสมาชิก 299 คน มีที่มาจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ 2,347 คน-หรือที่เรียกกันว่า "สภาสนามม้า" เพราะสมาชิกมากมายจนต้องใช้สนามม้านางเลิ้งเป็นที่ประชุม ที่ได้เลือกกันขึ้นเองหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม)
ปรากฏว่า มาตรา 105 ในส่วนที่ 2 ว่าด้วยวุฒิสภาของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวระบุว่า :
มาตรา 105 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมีความรู้ความชำนาญในวิชาหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน และมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด ทั้งไม่เป็นบุคคลต้องห้าม ตามมาตรา 117 และมาตรา 120
คณะองคมนตรีเป็นผู้จัดทำบัญชีรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่งมีจำนวนสามร้อยคน เป็นบัญชีลับเพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเลือกตั้ง
การเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้ใช้วิธีออกเสียงลงคะแนนลับ หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการ เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
เมื่อได้มีการเลือกตั้งสมาชิก วุฒิสภาแล้ว ให้ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภานำความกราบ บังคมทูล เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง และลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญขึ้น ปรับปรุงแก้ไขร่างดังกล่าว จนสภาลงมติเห็นชอบผ่านและนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2517 ดังบันทึกข่าวข้างต้น โดยมาตรา 105 ในร่างเดิมถูกแก้ไขปรับปรุงเป็นมาตรา 107 ซึ่งนอกจากข้อแตกต่างเรื่องเกณฑ์อายุ, คุณสมบัติ, ลักษณะต้องห้าม และการเรียงลำดับพลความปลีกย่อยแล้ว แทบจะเหมือนกันทุกถ้อยกระทงความกับ มาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 เมื่อ 25 ปีก่อน ดังตารางเปรียบเทียบ
ความ เปลี่ยนแปลงจากมาตรา 82 แห่งรัฐธรรมนูญต้นแบบ "ระบอบประชาธิปไตย ที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" พ.ศ.2492 มาสู่การที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงคัดค้านมาตรา 107 แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 ทำให้ต่อมาได้มีการแก้ไขวรรคสองไปเป็น
"ให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา" (อ้างจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2518 เมื่อวันที่ 19 มกราคม พ.ศ.2518) นั้น
สะท้อนแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่ได้ทรงสรุปไว้หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ว่า :
"จำ ไว้ว่า สถาบันจะลงไปเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวได้ เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมืองจริงๆ อย่าง 14 ตุลาคม แต่เมื่อได้ก้าวลงไปจัดการทางช่องว่างดังกล่าวหมดไปแล้ว สถาบันพระมหากษัตริย์จะต้องรีบกลับไปอยู่เหนือการเมืองอย่างเดิมโดยเร็วที่ สุด เพื่อที่จะได้พร้อมจะได้ลงมาช่วยได้อีก ถ้าหากเกิดสุญญากาศขึ้นมาอีก ทั้งนี้ หมายถึงส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย"
(ตรัสกับ ม.ร.ว.ทองน้อย ทองใหญ่ ผู้รักษาราชการในตำแหน่งเลขาธิการคณะองคมนตรีสมัยนั้น อ้างจาก นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, เรียบเรียง, พระผู้ทรงปกเกล้าฯประชาธิปไตย : 60 ปี สิริราชสมบัติกับการเมืองการปกครองไทย, 2549, น. 165, 183 ช 66)
เมื่อ อำนาจทหารที่เข้ามาขีดคั่น-เว้นวรรค-ตัดตอนระเบียบแห่งการปรองดองทางการ เมืองในแบบ "ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" นานถึง 2 ทศวรรษถูกผลักไสออกไปด้วยพลังนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ระเบียบดังกล่าวก็ถูกรื้อฟื้นสถาปนาขึ้นใหม่โดยมีรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517 เป็นหลักหมาย
อย่างไรก็ตาม หากขยายขอบข่ายการวิเคราะห์จากตัวบทลายลักษณ์อักษรไปครอบคลุมเนื้อหา นัยยะทางการปฏิบัติที่เป็นจริง ก็จะพบว่าบุคลิกลักษณะของ "ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" แบบหลัง 14 ตุลาคม แปลกต่างอย่างน่าสังเกต จากแบบหลังรัฐประหาร 2490 เท่าที่พอประมวลได้ในชั้นต้น จากงานวิชาการบางชิ้นที่ช่วยให้ผู้เขียนเข้าใจเรื่องนี้ได้แก่ : -
-สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง : รวมบทความเกี่ยวกับ 14 ตุลาและ 6 ตุลา, 2544.
-ธงชัย วินิจจะกูล, ข้ามให้พ้นประชาธิปไตยแบบหลัง 14 ตุลา, 2548.
-Duncan McCargo, ′Network monarchy and legitimacy crises in Thailand′,The Pacific Review, 18: 4 (2005), 499 - 519.
-ชนิดา ชิตบัณฑิตย์, โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ : การสถาปนาพระราชอำนาจนำในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว, 2550
มีข้อแปลกต่างเด่นๆ อยู่ 3 ประการด้วยกันกล่าวคือ :
1) พระราชอำนาจมีลักษณะไม่เป็นทางการ มากกว่าจะเป็นตัวบทกฎหมายลายลักษณ์อักษรที่เป็นทางการ
2) ฐานะตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ของนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร
3) บทบาทหน้าที่สำคัญของนักนิติศาสตร์ในการอธิบายหลักนิติธรรมและความชอบธรรม
จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
Ref : มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 08 ตุลาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19:00:00 น.)
"ประชาธิปไตยไม่ ได้หมายความว่าเป็นการปกครองที่ถือเอาข้างมากแต่เสียงเท่านั้น เพราะถ้าเอาโจร 500 คนมาประชุมกับพระ 5 องค์และเสนอญัตติให้อภิปรายกันว่าจะไปปล้นเขาดีหรือไม่ดี เมื่อลงมติกันทีไร โจร 500 ต้องลงมติไปปล้นเขาเพราะเอาชนะพระได้ทุกที แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความเลยว่ามติของเสียงข้างมากที่ให้ไปปล้นเขานั้นเป็น การถูกต้องด้วยทำนองคลองธรรม....."
"การปกครองโดย เสียงข้างมากที่เรียกว่าประชาธิปไตย จะต้องไม่ถือเกณฑ์เอามากแต่เสียงเป็นใหญ่ ยังต้องมากด้วยวิชาความรู้ ความจงรักภักดีต่อชาติบ้านเมือง และความสุจริตซื่อสัตย์ต่อประชาชนด้วย จึงจะเป็นการปกครองที่ดี เพื่อประโยชน์ความสุขสมบูรณ์ของประชาชนพลเมือง สมชื่อประชาธิปไตย....."
"บุคคลที่เป็น กลางและไม่เห็นด้วยกับการใช้กำลังเปลี่ยนแปลงรัฐบาล ต้องยอมจำนนต่อเหตุผลฝ่ายคณะปฏิวัติ 9 พฤศจิกายน (พ.ศ.2490-ผู้เขียน) ก็เพราะเหตุอันเดียวกันนี้ และต้องยอมรับว่าถ้ารัฐประหารแบบธรรมปฏิวัติวันที่ 9 พฤศจิกายน ไม่เกิดขึ้นเสียก่อน ด้วยผลที่ไม่มีการหยาดโลหิตของคนไทยแม้แต่หยดเดียวนั้นแล้ว การปฏิวัติแบบโลกาวินาศนองเลือดที่ 30 พฤศจิกายน (หมายถึง "แผนการมหาชนรัฐ" โคมลอยที่คณะรัฐประหาร 9 พฤศจิกายนกล่าวอ้างเผยแพร่โดยปราศจากพยานหลักฐานแท้จริงที่เชื่อถือได้-ผู้ เขียน) ก็จะบังเกิดขึ้น....."
"ผมไม่นิยม ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในฐานะนักประชาธิปไตย ผมต้องการให้มีพระมหากษัตริย์ ผมถวายความจงรักภักดีแด่พระองค์อย่างสุดชีวิตจิตใจและหวังว่าสถาบันกษัตริย์ จะสถิตสถาพรสืบไปชั่วกัลปาวสาน"
ถ้อยแถลงข้างต้นซึ่งถูกแสดงไว้ต่างกรรมต่างวาระกันระหว่างปี พ.ศ.2490-2491 โดย ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แกนนำพรรคประชาธิปัตย์ ทั้งในฐานะคอลัมนิสต์นามปากกา "แมลงหวี่" และในฐานะประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2492 สะท้อนทรรศนะเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยแบบยึดเสียงข้างมากเป็นที่ตั้ง (majoritarian democracy), รัฐประหาร "แบบธรรมปฏิวัติ" 9 พฤศจิกายน 2490, และฐานะของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย เป็นอย่างดี
หลายประเด็นในนั้นได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในคลังแสงวาทกรรมอมตะของ พลังอนุรักษ์นิยม-นิยมเจ้าในสังคมการเมืองไทยที่ฟังคุ้นหูจวบจนปัจจุบัน
และด้วยฐานะบทบาทสำคัญของ ม.ร.ว.เสนีย์ ทรรศนะดังกล่าวย่อมสะท้อนถ่ายออกมาผ่านทางตัวบทมาตราต่างๆ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งรัฐสภาที่พรรคประชาธิปัตย์ยังกุมเสียงข้างมากได้ลงมติตราไว้ ณ วันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2492-แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะสูญเสียอำนาจบริหารไปตั้งแต่รัฐบาลนายกฯ ควง อภัยวงศ์ ถูกคณะทหารทำ "รัฐประหารทางจดหมาย" โดยจี้ให้ลาออกเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2491 แล้วก็ตาม
มาตราน่าสนใจในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 มีอาทิ :
มาตรา 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
มาตรา 6 ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้
มาตรา 11 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย ทรงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของทหารทั้งปวง
มาตรา 13 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอีกไม่มากกว่าแปดคนประกอบเป็นคณะองคมนตรี
คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความเห็นต่อพระมหากษัตริย์ในพระราช กรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตริย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้
มาตรา 14 การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีก็ดี การให้องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งก็ดี ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย.....
มาตรา 59 กำลังทหารเป็นของชาติ อยู่ในบังคับบัญชาสูงสุดของพระมหากษัตริย์ ไม่ขึ้นต่อเอกชน คณะบุคคลหรือพรรคการเมืองใดๆ
มาตรา 60 กำลังทหารพึงใช้เพื่อการรบหรือการสงคราม หรือเพื่อปราบปรามการจลาจล และจะใช้ได้ก็แต่โดยกระแสพระบรมราชโองการ เว้นแต่ในกรณีที่มีประกาศใช้กฎอัยการศึก
การใช้กำลังทหารเพื่อช่วยเหลือราชการอื่น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
มาตรา 61 เอกชนก็ดี คณะบุคคลก็ดี พรรคการเมืองก็ดี จะใช้กำลังทหารไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเป็นเครื่องมือในทางการเมืองมิได้
ทหารและบุคคลอื่นในสังกัดฝ่ายทหารในระหว่างรับราชการประจำจะเป็น สมาชิกหรือเจ้าหน้าที่ในพรรคการเมือง หรือแสดงการฝักใฝ่ในพรรคการเมืองใดๆ มิได้
มาตรา 77 ร่างพระราชบัญญัติใดพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยและพระราชทานคืนมายัง รัฐสภา หรือมิได้พระราชทานคืนมาภายในเก้าสิบวัน รัฐสภาจะต้องปรึกษาร่างพระราชบัญญัตินั้นใหม่ ถ้ารัฐสภาลงมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่ต่ำกว่าสองในสามของจำนวน สมาชิกทั้งหมดของทั้งสองสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างพระราชบัญญัตินั้นขึ้นทูลเกล้าฯถวายอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมาภายในสามสิบวัน ก็ให้นำพระราชบัญญัตินั้นประกาศในราชกิจจานุเบกษาใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ เสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว
มาตรา 82 วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกมีจำนวนหนึ่งร้อยคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงเลือก และแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทน และมีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปีบริบูรณ์ ซึ่งทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีความรู้ความชำนาญในวิชาการหรือกิจการต่างๆ อันจะยังประโยชน์ให้เกิดแก่การปกครองแผ่นดิน
ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา
มาตรา 174 ถ้าพระมหากษัตริย์ทรงพระราชดำริเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามมาตรา 173 กระทบถึงประโยชน์ได้เสียสำคัญของประเทศหรือประชาชน และทรงพระราชดำริเห็นสมควรให้ประชาชนได้วินิจฉัย พระมหากษัตริย์ย่อมทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะให้ประชาชนทั่วประเทศออกเสียง เป็นประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบด้วยร่างรัฐธรรมนูญนั้น
ในการให้ประชาชนออกเสียงเป็นประชามติ พระมหากษัตริย์จะได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกาภายในกำหนดเวลาเก้าสิบวัน นับแต่วันที่นำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ในพระราชกฤษฎีกานั้นต้องกำหนดวันให้ประชาชนออกเสียงภายในเก้าสิบวัน ซึ่งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักรและให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนาม รับสนองพระบรมราชโองการ.....
ปรากฏว่า "ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2492 อันเป็นสูตรการปรองดองระหว่างกลุ่มผู้ปกครองในระบอบเดิมกับประชาธิปไตยที่ ออกแบบโดยพรรคประชาธิปัตย์ ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์คัดค้านอย่างกว้างขวางจากฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าคณะรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490, รัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดสหพรรคฝ่ายรัฐบาล, สื่อสิ่งพิมพ์, ขบวนการคอมมิวนิสต์, และกลุ่มอาจารย์ปรีดีกับพวก ฯลฯ ว่า:-
-ถอยหลังเข้าคลองสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์
-ฟื้นอำนาจเก่าของคณะเจ้า
-ละเมิดหลักการแห่งระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยโดย เอาพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการเมืองการทหารมากเกินไป อาจส่งผลเสียต่อพระเกียรติยศและฐานะ
จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ได้กล่าวถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2492 ไว้ในข้อเขียนเรื่อง "ประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ" (2517) ว่า:-
"(5) รัฐธรรมนูญฉบับ 2492 เป็นอำมาตยาธิปไตยครบถ้วนทั้งบทถาวรและบทเฉพาะกาลเพราะบทถาวรกำหนดไว้ว่า วุฒิสมาชิกเป็นผู้ที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งโดยประธานองคมนตรีรับสนองพระ บรมราชโองการและบทเฉพาะกาลได้ยกยอดวุฒิสมาชิกซึ่งได้รับแต่งตั้งตามฉบับ 2490 (ใต้ตุ่ม) ให้เป็นวุฒิสมาชิกตามฉบับ 2492 ด้วย"
จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
ส่วนนายกฯ จอมพล ป.พิบูลสงครามสมัยนั้นแสดงความเห็นสั้นๆ ว่า:-
"ในฐานะที่เป็นผู้ก่อการ 75 นั้น ใจผมยังรักรัฐธรรมนูญ 2475 อยู่นั่นเอง"
2 ปี 8 เดือนต่อมา ภายหลังกลุ่มพลังต่อต้านอำนาจคณะรัฐประหารในกองทัพถูกกวาดล้างหมดสิ้นเสี้ยน หนาม เหลือเพียงนักการเมืองฝ่ายค้านในรัฐสภา คณะรัฐประหารที่ประสงค์จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2492 เพื่อขยายอำนาจฉุกเฉินของฝ่ายบริหารแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ดังใจ ก็ได้ทำ "รัฐประหารทางวิทยุกระจายเสียง" ด้วยการอ่านแถลงการณ์ยึดอำนาจผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเมื่อ วันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2494 ล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2492 แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 ที่นายกฯจอมพล ป. มีใจรักกลับมาใช้ใหม่
ขณะเดียวกับที่เรือโดยสารที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวซึ่งเสด็จนิวัตจากสวิตเซอร์แลนด์กำลังแล่นเข้าสู่น่านน้ำไทย
ทำให้ "ระบอบประชาธิปไตย มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" สะดุดชะงักไปร่วม 2 ทศวรรษ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น