by Herogeneral on 2010-09-07 - 08:51 am
Ref: talkystory.com
เสื้อแดง…ความผิด? ความจน? ถูกลืม?
เป็นเวลาเกือบ 4 เดือนแล้วหลังการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม นอกเหนือจากผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต ยังมีผู้ถูกจับกุมอีกจำนวนมาก บางส่วนถูกปล่อยตัวแล้ว บางส่วนได้รับการประกันตัว แต่มีคนอีกไม่น้อยที่ยังอยู่ในเรือนจำจนทุกวันนี้
แม้หลายหน่วยงานจะพยายามเรียกร้องให้มีการเปิดเผยจำนวนและรายชื่อของผู้ถูกคุมขังทั้งหมด แต่ข้อมูลมากที่สุดเท่าที่มีตอนนี้คงเป็นดังที่ พ.อ.เฟื่องวิชชุ์ อนิรุทธเทวา เลขานุการ รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า ปัจจุบันยังมีผู้ที่อยู่ในเรือนจำทั้งสิ้น 209 คน
โดยกรมราชทัณฑ์แบ่งผู้ถูกคุมขังเป็น 4 ประเภท คือ
1) อยู่ระหว่างสอบสวน ศาลยังไม่ตัดสินในเรือนจำทั่วประเทศ 169 คน
2) คดีตัดสินเด็ดขาด 12 คน
3) กักขังแทนค่าปรับ 2 คน
4) อยู่ระหว่างอุทธรณ์ฎีกา 26 คน
สำหรับสถานที่กักขังนั้น
แยกเป็น เรือนจำพิเศษธนบุรี 1 คน เรือนจำกลางคลองเปรม 17 คน เรือนจำพิเศษพัทยา 1 คน เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครที่ควบ คุมแกนนำ นปช.รวม 53 คน ทัณฑสถานหญิงกลาง 4 คน เรือนจำกลางเชียงราย 6 คน เรือนจำจังหวัดนนทบุรี 6 คน
เรือนจำกลางขอนแก่น 9 คน เรือนจำจังหวัดมุกดาหาร 22 คน เรือนจำอำเภอธัญบุรี 2 คน เรือนจำกลางนครปฐม 2 คน เรือนจำกลางเชียงใหม่ 7 คน เรือนจำกลางสมุทรปราการ 2 คน เรือนจำกลางอุดรธานี 25 คน
เรือนจำจังหวัดมหาสารคาม 11 คน เรือนจำกลางอุบลราชธานี 35 คน คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกแจ้งข้อหาอื่นๆ เพิ่มเติมอีก นอกเหนือจากข้อหาพื้นๆ อย่างการชุมนุมเกิน 5 คน ทั้งข้อหาวางเพลิงเผาสถานที่ราชการ
การมีอาวุธสงครามในครอบครอง ฯลฯ ขณะเดียวกันเมื่อสำรวจตามเรือนจำต่างๆ จะพบว่ามีคนจำนวนมากทั้งที่ยอมรับสารภาพหรือให้การปฏิเสธยังคงไม่มีทนายเพื่อต่อสู้คดี แม้พรรคเพื่อไทยได้ให้การช่วยเหลือด้านทนายความให้บางส่วนแล้วก็ตาม
ทนายความสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง 10 คน ที่เรือนจำคลองเปรม เมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากได้รับจดหมายขอความช่วยเหลือ ซึ่งพบว่าทั้งหมดรับสารภาพในชั้นศาลและถูกพิพากษาจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ในจำนวนนี้มีส่วนที่คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ 3 คน โดยในจำนวนนั้น 2 คน เป็นนักศึกษาในกลุ่มเสรีปัญญาชน ถูกจับวันที่ 16 และ 17 พ.ค. ศาลพิพากษาจำคุก 1 ปี และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเพราะเกรงว่าจะหลบหนี
ที่เหลือเป็นคนต่างจังหวัดและไม่มีทนายความสู้คดี คาดว่าคดีคงถึงที่สุดแล้วเนื่องจากพ้นกำหนดเวลาอุทธรณ์มานาน พวกเขาได้รับโทษตั้งแต่ 6 เดือนถึง 2 ปี
ปัจจุบันคณะทนายความหนุ่มสาวอาสากลุ่มหนึ่งกำลังหาทางช่วยเหลือด้านคดีกับคนเหล่านี้ซึ่งมีฐานะยากจน ด้วยเหตุผลว่า อย่างน้อยที่สุด เขาก็ควรได้รับสิทธิพื้นฐานในการต่อสู้คดี
แหล่งที่มา : เป็นทนายความคนหนึ่ง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น