Ref: มติชนออนไลน์ (updateวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2553 เวลา 22:31:32 น.)
บทความโดย: ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ
จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
ข่าวจากสื่อมวลชนเกี่ยวกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคการเมือง ที่จะรณณรงค์ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ว่าจะเป็นพวกเสื้อเหลือง เสื้อแดง เสื้อน้ำเงิน ฯลฯ นั้น ก็ได้มีทั้งผู้สนับสนุนและผู้คัดค้านต่อต้านออกมาเป็นระยะๆ การที่มีผู้ออกมาทั้งสนับสนุนและคัดค้านต่อต้าน อาจทำให้วัตถุประสงค์ของผู้เสนอให้ออกกฎหมายที่มีข่าวออกมาว่า ต้องการจะถอนฟืนออกจากไฟเพราะต้องการให้ไฟดับนั้น ก็จะกลายเป็นสะเก็ดไฟลามทุ่งไหม้ไปทั่วประเทศก็ได้
ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะสนับสนุนหรือคัดค้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมในครั้งนี้แต่อย่างใด แต่ในฐานะที่เป็นประชาชนคนหนึ่ง ย่อมมีความห่วงใยในสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นดังกล่าวได้ ผู้เขียนจึงขอเสนอข้อคิดตามหลักการทางวิชาที่เป็นสากล ในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมต่อสาธารณชน เพื่อให้ผู้ที่รับผิดชอบและสาธารณชนได้พิจารณาว่า การออกกฎหมายนิรโทษกรรมในกรณีเช่นนี้จะกระทำได้หรือไม่ เพราะกรณีที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะมีผลกระทบต่อสังคมประเทศโดยรวม
นิรโทษ หมายถึง การยกโทษให้ หรือการอภัยให้กับผู้กระทำความผิด ( abrogate the crime and punishment ) นิรโทษกรรม ( Justifiable act หรือ amnesty) เป็นกฎหมายที่ออกเพื่อยกโทษให้กับผู้กระทำความผิดให้เป็นผู้บริสุทธิ์ กฎหมายนิรโทษกรรมจึงเป็นการออกโดยมีเงื่อนไขว่า ต้องมีผู้กระทำความผิดกฎหมายเสียก่อน
ถ้าไม่มีผู้กระทำความผิดกฎหมายหรือมีแต่ผู้บริสุทธิ์ สิทธิในการออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะไม่มีการกระทำความผิดและไม่มีโทษที่ยกโทษให้ อำนาจในการออกกฎหมาย ( Statute หรือ Law enactment ) ประชาชน ผู้ออกกฎหมาย และสังคมชาติจำเป็นต้องรู้ถึงอำนาจและหน้าที่ของการออกกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับกับสังคมในชาติของตนว่าใครจะมีอำนาจและมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย
ในสังคมประชาธิปไตยการออกกฎหมายมาใช้บังคับกับสังคมชาติ เป็นอำนาจและหน้าที่ของทุกฝ่ายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ( Legislative power ) ฝ่ายบริหาร ( Executive power ) หรือประชาชนขึ้นอยู่กับช่องทางการขอออกกฎหมายและส่วนได้ส่วนเสียของสังคมโดยรวม โดยประชาชนสามารถเข้าชื่อกันเพื่อเสนอกฎหมายออกใช้บังคับได้ ( ตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาตรา 163 แต่มีข้อจำกัดสำหรับประชาชน ผู้เขียนจะไม่ก้าวล่วงในส่วนนี้ในบทความนี้ )
อำนาจและหน้าที่ของทุกฝ่ายที่จะขอออกกฎหมายดังกล่าว จะมีลักษณะของกฎหมายที่ออกใช้บังคับเป็นบทบัญญัติของกฎหมาย ( Statute ) ซึ่งเป็นการออกกฎหมายในรูปของกฎหมายโดยอำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ ( Legislative body ) อันเป็นกฎหมายที่ออกใช้บังคับกับประชาชนทุกคนให้ต้องปฏิบัติ ( Commanding ) หรือต้องละเว้นการปฏิบัติ ( Prohibiting) ต่อรัฐ ต่อเอกชน หรือต่อสาธารณชน หรืออยู่ในขอบเขตของการกระทำที่ต้องห้ามเด็ดขาดโดยบทบัญญัติของกฎหมาย หรือการกระทำที่ต้องได้รับอนุญาตให้กระทำได้โดยบทบัญญัติของกฎหมาย ( mandatory Statute หรือ directory Statute )
เช่น กฎหมายห้ามเด็ดขาดมิให้บุคคลวิกลจริต หรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถทำการสมรส หรือห้ามมิให้พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทำการสมรส ( ตาม ปพ.พ. มาตรา 1449 มาตรา 1450 ) หรือกฎหมายห้ามมิให้บุคคลอายุต่ำกว่า 17 ปีทำการสมรสเว้นแต่ศาลเห็นสมควรอนุญาต หรือห้ามผู้เยาว์ (อายุไม่เกิน 20 ปี) ทำการสมรส เว้นแต่จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดา ( ตาม ปพ.พ. มาตรา 1448 มาตรา 1454 ) เป็นต้น
ดังนั้นการออกกฎหมายโดยอำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ ( Legislative body) เป็นการออกกฎหมายเพื่อให้สังคมชาติอยู่ในระเบียบวินัย กฎ กติกา เพื่อความสงบสุขร่วมกันของสังคม กฎหมายที่ออกมาใช้บังคับในลักษณะเช่นนี้จะไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
เพราะทุกคนต้องยอมรับปฏิบัติเพื่อให้สังคมในชาติดำเนินการต่างๆไปด้วยกันได้ และหากจะมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นจากการออกกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับก็จะมีช่องทางออกเพื่อแก้ไขปัญหาได้ โดยสามารถยกปัญหาว่า กฎหมายหรือข้อบัญญัติที่อำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายมานั้นเป็นกฎหมายที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของปัจเจกบุคคลหรือชุมชนไว้แล้ว หรือไม่ ซึ่งอาจนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้
กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นกฎหมายที่มีลักษณะแตกต่างกับกฎหมายที่ออกใช้บังคับโดยอำนาจอธิปไตยทางนิติบัญญัติ กฎหมายนิรโทษกรรมเป็นกฎหมายของการใช้อำนาจอธิปไตยของอำนาจบริหารที่ฝ่ายบริหารจะออกกฎหมายยกโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดได้เท่านั้น( Sovereign act)การออกกฎหมายนิรโทษกรรมจึงมีข้อจำกัดที่ฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล
หรือผู้มีอำนาจสูงสุดในขณะนั้นเท่านั้นที่เป็นผู้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ และการออกกฎหมายเพื่อยกโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดไม่ว่าความผิดนั้นจะเป็นความผิดอาญา ความผิดเกี่ยวกับการเมือง การปกครอง ความผิดเกี่ยวกับการทรยศต่อประเทศของตนโดยไปเข้ากับฝ่ายศัตรู ( กรณีมีสงคราม ) การยุยงปลุกปั่นเพื่อก่อการกบฏ การจลาจล การหลีกเลี่ยงการกระทำที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย การหลีกเลี่ยงภาษี ฯลฯ
การนิรโทษกรรมจะกระทำได้โดยต้องมีเงื่อนไขว่า บุคคลผู้กระทำความผิดเหล่านั้นจะต้องรู้สำนึกในการกระทำความผิด และต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องในเวลาที่กำหนดแล้ว โดยยอมเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของรัฐบาลแล้ว เช่นการที่รัฐบาลได้กำหนดเวลาให้นำอาวุธสงคราม หรืออาวุธอื่นใดมาคืน หรือมามอบให้ในเวลาที่กำหนดโดยยินยอมทำตามคำสั่งของรัฐบาลแล้ว รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารจึงจะใช้อำนาจอธิปไตยของฝ่ายบริหารในการเสนอขอออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้
และการออกกฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวยังมีเงื่อนไขสำคัญที่ฝ่ายบริหารจะออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่การกระทำความผิดที่ได้กระทำต่อเอกชน หรือในการกระทำความผิดที่มีผลบังเกิดขึ้นต่อสถานภาพของเอกชนไม่ได้โดยเด็ดขาด เพราะฝ่ายบริหารหรือรัฐบาลไม่ได้มีอำนาจอธิปไตยเหนือสิทธิและเสรีภาพในชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินของประชาชนที่จะนิรโทษให้แก่การกระทำของบุคคลที่ได้กระทำความผิดต่อเอกชนหรือกระทำความผิดโดยเกิดผลต่อสถานภาพของบุคคลอื่นได้เลย
การนิรโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดต่อกฎหมายที่จะได้รับยกโทษให้นั้น ไม่ใช่เป็นเป็นเรื่องที่ใครก็ได้ที่มีอำนาจในทางการเมืองจะหยิบยกขึ้นมาดำเนินการ โดยอาศัยพื้นฐานการมีมวลชนที่สามารถควบคุม โน้มน้าว และสั่งการได้มาเป็นฐานเพื่อให้มีการออกกฎหมายนั้น หาอาจทำได้ไม่
เพราะตามหลักการการปกครองในสังคมประชาธิปไตยแล้วประชาชนไม่มีทั้งอำนาจและไม่มีทั้งหน้าที่ในการใช้อำนาจอธิปไตยของตนเองมาดำเนินการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ผู้อื่นซึ่งเป็นประชาชนด้วยกันเองได้เลย และก็ไม่มีรัฐสภาใดในโลกเสรีประชาธิปไตยที่จะยอมรับการเสนอขอออกกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ได้เช่นกัน
การนิรโทษกรรมไม่ได้ขึ้นอยู่กับความต้องการของคนใดคนหนึ่ง หรือของกลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง แต่การนิรโทษกรรมต้องขึ้นอยู่กับการกระทำของกลุ่มคนที่ได้กระทำความผิดแล้ว และรู้สำนึกในการกระทำความผิดโดยหยุดการกระทำความผิดนั้นแล้ว และได้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขที่รัฐบาลหรือฝ่ายบริหารได้สั่งให้กระทำในเวลาที่กำหนดแล้วเท่านั้น และการกระทำความผิดของบุคคลที่จะนิรโทษกรรมนั้น จะต้องไม่ใช่เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นต่อบุคคลอื่นหรือมีผลกับสถานภาพของบุคคลอื่นด้วย
ทั้งการนิรโทษกรรมจะเลือกปฏิบัติในการกระทำความผิดโดยเลือกที่จะนิรโทษเฉพาะบางคน โดยยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้บงการ ผู้ใช้ หรือตัวการไม่ได้เลย เพราะจะเป็นการออกกฎหมายนิรโทษกรรมโดยเลือกปฏิบัติ ซึ่งก็จะขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 30
การใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนเพื่อออกกฎหมายยกเลิกความผิด ( crime ) และไม่ลงโทษ( punishment ) ให้แก่ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เพื่อที่จะให้เกิดผลในการปรองดองกันนั้น ผลที่จะเกิดอาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนาดีของผู้เสนอ แต่อาจจะเกิดผลในทางตรงกันข้ามเป็นความแตกแยกก็ได้ และความแตกแยกก็จะเกิดขึ้นไม่แต่เฉพาะในสภาเท่านั้น แต่จะเกิดความแตกแยกกันไปทั่วประเทศเป็นสะเก็ดไฟลามทุ่ง ก็อาจเป็นไปได้ เพราะประชาชนเป็นผู้เสนอขอออกกฎหมายยกโทษให้แก่ประชาชน โดยประชาชนที่จะถูกยกโทษให้นั้นก็จะโต้แย้งว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและไม่ต้องการให้นิรโทษกรรมให้
ส่วนประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการที่มีพ่อ แม่ พี่ น้องและญาติได้ตายไป ได้รับความเสียหายทางร่างกายและจิตใจโดยได้รับบาดเจ็บ ทุพพลภาพ หรือได้รับความเสียหายในทรัพย์สินอื่นใด ก็จะไม่ยินยอมกับการที่มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ ซึ่งจะเกิดความไม่พอใจขยายวงไปอย่างกว้างขวางจนไม่อาจประมาณได้
และถึงเวลานั้นประเทศไทยอาจจะไม่มี “นักการเมือง” หลงเหลืออยู่เพื่อปกครองประเทศ มีแต่ “ นักกินเมือง” ที่เข้ามากินประเทศ ก็อาจเป็นไปได้ทั้งสิ้น.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น