วันอาทิตย์, สิงหาคม 29, 2553

เขมรลอออง

by goosehhardcore on 2010-08-30 - 09.35 am



เขมรลอออง
ข้อมูลโดย : ทวี สุรฤทธิกุล
ที่มาข้อมูล : posttoday.com

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้ง “ประวัติศาสตร์” เลยทีเดียว หลังการลาออกของที่ปรึกษาใหญ่คนดัง....

ชื่อบทความวันนี้ท่านจะอ่านว่าอย่างไร ระหว่าง “เข-มอน-ลอ-ออง” “เข-มะ-รน-ออ-อง” “ขะ-เหมน-ลอ-ออง” หรือ “ขะ-เหมน-ละ-ออ-อง”

ที่ถูกต้องคือคำสุดท้าย เพราะเป็นชื่อเพลงไทยเดิมเพลงหนึ่ง บางคนอาจจะเขียน ค-ควาย-การันต์ ต่อท้าย ง-งู แต่ในตำราประวัติศาสตร์ที่ผู้เขียนเคยเรียนมา ท่านเขียนห้วนๆ อย่างนี้ ซึ่งก็น่าจะถูกต้องมากกว่า เพราะเขมรไม่ใช่แขก แม้จะรับวัฒนธรรมแขก (ฮินดู) มาก็ตามที อย่างเจ้าเขมรที่เคยมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ไทยในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรีและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็มีปรากฏชื่ออยู่ เช่น นักองตน นักองนน นักองเอง และนักองด้วง เป็นต้น

บทความวันนี้เขียนขึ้นด้วยความฝันหวานว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาหรือที่คนไทยคุ้นปากชอบเรียกว่าเขมรนี้ น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรียกว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้ง “ประวัติศาสตร์” เลยทีเดียว หลังการลาออกของที่ปรึกษาใหญ่คนดังคนนั้น แล้วกลับมามีสัมพันธ์ทางการทูตกันเป็นปกติ

ผู้เขียนมีสมมติฐานว่า ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนหนึ่งเกิดจากการแสดงออกระหว่างกันในแบบที่เรียกว่า “ยกตนข่มท่าน” หรือ “ดูหมิ่นเหยียดหยาม” และ “กดขี่” อีกฝ่ายหนึ่ง อย่างที่นักรัฐศาสตร์เรียกว่า “การแสดงฐานะอำนาจที่เหนือกว่า” เพื่อที่จะครอบครองหรือกำราบอีกประเทศหนึ่งให้เชื่อฟังหรือยอมตาม โดยเฉพาะในยุคที่มีการ “แผ่อำนาจ” หรือ “ล่าเมืองขึ้น” ในยุคโบราณ

ดินแดนที่ฝรั่งเรียกว่า “อินโดจีน” (เพราะตั้งอยู่ระหว่างอินเดียกับจีน) อันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยและเพื่อนบ้าน ในอดีตจะมีชาติใหญ่ๆ อยู่เพียง 2 ชาติที่เป็น “ตัวเอก” ขับเคี่ยวต่อสู้กัน คือไทยกับพม่า ด้วยเป็นสงคราม “แผ่พระบรมเดชานุภาพ” ระหว่างกษัตริย์ของชาติทั้งสองนี้ ส่วนชาติอื่นๆ จะอยู่ในฐานะ “ตัวประกอบ” บ้างก็เป็นพื้นที่กันชนแบบมอญ ลาว และเขมร หรืออย่างมลายูก็อยู่ในที่ห่างไกล โดยจะมีความสัมพันธ์กันอย่างหลวมๆ และส่วนใหญ่จะต่างคนต่างอยู่ เว้นแต่ว่าบางยุคก็มีการไป “ผนึก” เข้ามา ที่อาจจะเป็นความต้องการของชาติเล็กที่มา “สวามิภักดิ์” เพื่อความปลอดภัย และบางยุคชาติใหญ่ก็อาจจะมีการยกทัพไป “สั่งสอน” บ้าง เพื่อไม่ให้

เอาใจออกห่างหรือเป็น “งูเห่า” ที่จะมาลอบกัดได้ภายหลัง

สมัยนั้นความเป็น “ประเทศ” หรือรูปแบบการปกครองที่เรียกว่า “รัฐ” ยังไม่เกิดขึ้น จนกระทั่งชาติตะวันตกคือฝรั่งเศสและอังกฤษได้เข้ามายึดครองประเทศแถบนี้ ประเทศไทยอาจจะอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบอยู่บ้าง เพราะยึดครองพื้นที่ของชาติอื่นๆ ไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงพอจะแบ่งให้ฝรั่งทั้งสองชาติแลกกับอธิปไตยในดินแดนที่เหลืออยู่ อย่างที่เป็น “ประเทศไทย” ในทุกวันนี้

ปัญหาเรื่องเขตแดนที่มีการ “ปักปัน” กันมาแต่ครั้งนั้น ในทิศตะวันตกและทิศใต้ดูจะมีปัญหาไม่มาก เพราะอังกฤษมี “มาตรฐาน” ในเรื่องนี้สูงกว่าฝรั่งเศส ที่ได้สร้างปัญหาให้ไทยกับประเทศเพื่อนบ้านไว้มาก ไม่ว่าจะเป็นลาวหรือเขมร แต่เรื่องเขตแดนนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะโต้แย้ง เพราะเมื่อมันเป็น “เรื่อง” ของอดีตก็ต้องปล่อยให้ “เรื่อง” ในอนาคตเข้ามาเยียวยา

ดังนั้น ถ้าเราต้องการสร้าง “อนาคตที่ดี” ก็ต้องเริ่ม “วันนี้ที่ดี” เพื่อให้วันนี้เป็น “อดีตที่ดี” สำหรับวันต่อๆ ไปที่จะเป็นอนาคตที่ดีนั้น

ผู้เขียนมาลองสมมติว่า ถ้าไทยกับประเทศเพื่อนบ้านเริ่มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน โดยลืมปัญหาเขตแดนระหว่างกันไว้ก่อน อนาคตของประชาชนในประเทศแถบนี้ก็น่าจะดีขึ้นตามไปด้วย ทั้งนี้เป็นไปตามปัจจัยของความเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” ที่กำลังเป็นกระแสหลักของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในขณะนี้

หลายคนเชื่อว่าโลกกำลังเปลี่ยนไปสู่ความเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” หรือ Unity ที่ต่างจากในอดีตที่ประเทศใหญ่ชอบบังคับให้ประเทศ บริวาร “เป็นแบบเดียวกัน” หรือ Uniformity เพราะโดยหลัก การของ Unity ทุกประเทศแม้จะแตกต่างกันแต่ก็สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ อย่างที่ได้เกิดขึ้นแล้วในยุโรป ที่มีการรวมกันเป็น “สหภาพยุโรป” (Euro Union) นั้น หรือที่ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พยายามที่จะเป็น “อันหนึ่งอันเดียวกัน” ในรูปแบบของ “ประชาคมอาเซียน” ที่ประกาศว่าจะเริ่มต้นใน ค.ศ. 2015 นั้น

ความจริงแล้ว ประเทศในยุโรปก็มีปัญหาของการรบพุ่งแย่งชิงดินแดนกันมาอย่างรุนแรง จนเกิด “มหาสงคราม” ขึ้นหลายครั้ง รวมทั้งสงครามโลกทั้งสองครั้งนั้นด้วย แต่ผู้นำในยุคหลังๆ พยายามที่จะ “ลืมประวัติ ศาสตร์” เหล่านั้นเสีย แน่นอนว่าในจิตใจของประชาชนในแต่ละชาติก็ยังคงมี “บาดแผล” ที่ไม่อาจจะลบเลือนได้จากความทรงจำ แต่ทุกคนก็พยายามที่จะ “กักเก็บ” ไว้ในที่ที่สงบ และ “เพาะเยื่อสมานฉันท์” ให้เกิดขึ้นใหม่อย่างแข็งแรง

ตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า พลังของความเป็นสหภาพยุโรปสามารถแก้ไขปัญหาที่ร้ายแรงได้ก็คือ วิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในกรีซ และสเปนเมื่อต้นปีนี้ ที่สามารถ “ระงับ” ไปได้อย่างทันท่วงที ก็ด้วยการระดมความช่วยเหลือจากชาติยุโรปหลายๆ ประเทศนั่นเอง

ในดินแดนแถบนี้ที่ในอดีตมีชื่อว่า “สุวรรณภูมิ” เพราะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญ และก็มีศักยภาพพอที่จะเป็น “ซูเปอร์ มาร์เก็ตของโลก” ได้ในอนาคต เพราะเพียงตลาดข้าวในปัจจุบัน ไทยกับเวียดนามก็ครองฐานะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ รวมทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่มีมาเลเซียและอินโดนีเซีย เป็นผู้ครองตลาด ไม่รวมพืชผลอีกหลายชนิดที่ยังสามารถพัฒนาได้อีกมาก รวมทั้งแหล่งประมง และพลังงานในทะเล ที่จะทำให้ดินแดนแถบนี้เจริญรุ่งเรืองไปได้อีกนาน

ในอดีตกองเชียร์ไทยกับพม่ามักจะทะเลาะกันเรื่องฟุตบอล กับลาวพี่ไทยก็ยังเรียกว่า “อ้ายน้อง” กับกัมพูชาก็ยังมี “ปมเดือด” อยู่อีกมาก แต่ถ้าไปดูความสัมพันธ์ที่เป็น “ภาพจริง” ในการเชื่อมโยงของประชาชนระหว่างประเทศเหล่านี้ ที่ดูได้จากการค้าขายระหว่างกัน หรืองานบุญประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะตามแนวชายแดนนั้น ยังมีภาพที่ “น่ารัก” ให้เห็นอยู่โดยทั่วไป

ท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เคย กล่าวถึงประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้ว่า เหมือนกับคนในครอบครัวเดียวกัน แม้จะทะเลาะกันบ้างก็ตัดกันไม่ขาด ผู้นำและศิลปินไทยในอดีตจึงได้แสดงความสัมพันธ์อันแนบแน่นไว้ใน “ดนตรี” อย่างที่รวมแนวเพลงของทุกเชื้อชาติในดินแดนแถบนี้รำลึกไว้ในเพลงไทยเดิม

เหมือนจะบอกว่า ทุกคนในดินแดนแถบนี้ “ร้องเพลงเดียวกัน” มานานแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น