จาก อัลบั้มโพสต์ทูเดย์ |
พรรคการเมือง (มือ) ใหม่ ปมผู้นำ-นโยบายไม่ชัด....ไม่ได้เกิด
ข้อมูลโดย...ทีมข่าวการเมือง posttoday.com
30 สิงหาคม 2553 เวลา 06:59 น.
ผ่านไปแล้วสำหรับการเลือกตั้ง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) และสมาชิกสภาเขต (สข.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค. หลายฝ่ายต่างจับตาไปที่พรรคการเมืองใหม่ หรือกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) เดิม ว่าจะสามารถปักธงได้หรือไม่ แต่ถือว่าน่าผิดหวัง เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคการเมืองใหม่กลับหลุดเป้า
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ “สมศักดิ์ โกศัยสุข” หัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ เคยระบุแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า หากคนออกมาใช้สิทธิกันมากๆ ทางพรรคหวังว่าจะได้ สก. อย่างน้อย 10 ที่นั่ง หวังในเขตพื้นที่ กทม. ชั้นใน เช่น พระนคร ดุสิต สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย ราชเทวี บางรัก ฯลฯ
ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นส่งผลให้พรรคการเมืองใหม่ต้องทบทวนการทำงานการเมืองอย่างจริงจัง ว่าจะมีการปรับกลยุทธ์อย่างไร ซึ่งคงไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกับพรรคประชาธิปัตย์ จนพรรคการเมืองใหม่ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นทางเลือกใหม่ได้
โดยความทับซ้อนตรงนี้ไม่ใช่การทับซ้อนเชิงนโยบาย แต่เป็นการทับซ้อนเชิงสัญลักษณ์ ที่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคการเมืองใหม่ต่างมีคู่แข่งขั้วเดียวกัน คือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรแต่เมื่อต้องมีการเลือกตั้งเรื่องแบบนี้ก็ไม่มีใครสามารถยอมให้กันได้
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ หากยอม“ซูเอี๋ย” จนถูกแบ่งเสียงไปได้ ก็คงเสียหน้าอย่างหนักในฐานะรัฐบาลที่กุมอำนาจรัฐอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะทั้งรัฐบาลและผู้ว่าฯ กทม. ก็เป็นของประชาธิปัตย์ เห็นได้ชัดว่าพรรคการเมืองใหม่เสียเปรียบอย่างมากหากต้องลงแข่งขันในสถานการณ์ที่ถือว่าโดนแซนด์วิช และเป็นกระดูกคนละเบอร์
“ตระกูล มีชัย” อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นว่า เหตุที่พรรคการเมืองใหม่ไม่สามารถแจ้งเกิดได้ เนื่องจาก 1.การเป็นพรรคการเมืองน้องใหม่ที่ไม่มีฐานเสียงเป็นของตัวเอง อีกทั้งผู้สมัครส่วนใหญ่ยังโนเนม ทำให้ไม่สามารถเข้าป้ายได้ ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นแบบนี้ต้องอาศัยฐานเสียงขาประจำล้วนๆ
“การเลือกตั้งในสนามเล็กไม่มีแรงดึงดูดหรือกระแสให้คน กทม.ออกมาใช้สิทธิอย่างครึกโครมเหมือนการเลือกตั้งทั่วไปดังนั้นคนที่มาใช้สิทธิจะเป็นฐานเสียงประจำของแต่ละพรรคการเมืองเท่านั้น ซึ่งมีอยู่ไม่มาก สาเหตุนี้ทำให้พรรคการเมืองน้องใหม่เกิดยากและไม่สามารถเป็นพรรคทางเลือกที่สามได้”
ตระกูล บอกว่า สำหรับพรรคการเมืองใหม่ ก็เห็นจุดอ่อนเรื่องนี้เช่นกัน จึงเป็นที่มาของการออกแคมเปญรณรงค์รอบสุดท้ายด้วยสโลแกน “ออกมา ออกมา ออกมา หยุด! การเมืองเก่าขอโอกาสเราได้เริ่ม” แต่ก็ไม่ทันการณ์เสียแล้ว เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยถือว่าเป็นสินค้าขึ้นห้างไปแล้ว ต่างกับพรรคการเมืองใหม่ที่เปรียบเหมือนสินค้าแบกะดินที่ยังไม่สามารถเปิดตลาดแย่งลูกค้าจาก 2 พรรคการเมืองใหญ่ได้
จุดอ่อนข้อที่ 2 คือความไม่ชัดเจนเชิงนโยบาย โดยเฉพาะสโลแกน “การเมืองใหม่ เปลี่ยนกรุงเทพฯ ใหม่” และ “กรุงเทพฯ ทราบแล้วเปลี่ยน” หมายความว่าอย่างไร เปลี่ยนอะไร เปลี่ยนแบบไหน ซึ่งถือว่าเป็นการประกาศนโยบายที่ลอยมาก เมื่อเทียบกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย ที่เลือกประกาศการต่อยอดการทำงานของพรรคตนเองอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งเรื่องการสานต่อนโยบายในฐานะรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ และการทำงานตรวจสอบของพรรคเพื่อไทยในฐานะฝ่ายค้าน
3.ข้อจำกัดเรื่องทุนและผู้นำพรรค ที่การเลือกตั้งทุกระดับต้องใช้ทุนหรือกระสุนดินดำด้วยกันทั้งสิ้น แต่พรรคการเมืองใหม่ยังไม่มี ผิดกลับพรรคการเมืองใหญ่ทั้งสองพรรคที่มีกลุ่มทุนใหญ่เคียงข้างอยู่แล้ว รวมถึงปัจจัยผู้นำพรรค ที่ “สมศักดิ์” ไม่โดดเด่นเท่า “สนธิ ลิ้มทองกุล” อดีตหัวหน้าพรรคที่มีแฟนคลับมากกว่าแกนนำคนอื่นๆ ในกลุ่ม พธม.
อย่างไรก็ตาม “ตระกูล” มองในมุมบวกว่า สิ่งที่พรรคการเมืองใหม่ได้จากการลงสนามแข่งขันครั้งนี้ คือ การได้เช็กแฟนพันธุ์แท้กลุ่มพธม. ที่สนับสนุนให้กลุ่ม พธม. เป็นพรรคการเมืองมีอยู่แค่ไหน เพื่อที่จะนำไปปรับกลยุทธ์และบทบาททางการเมืองต่อไป อย่างน้อยการเลือกตั้งครั้งนี้ถือว่าพรรคการเมืองใหม่ได้ประกาศตัวเข้ามาเล่นการเมืองในระบบแล้ว
ทั้งนี้ “สุริยะใส กตะศิลา” เองยอมรับกับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น เพราะรู้ว่าการเลือกตั้ง สก. และ สข. ถ้ามีผู้ใช้สิทธิไม่เกิน 50% โอกาสที่พรรคอื่นจะได้แจ้งเกิดคงยาก เพราะส่วนใหญ่มีฐานเสียงกันอยู่แล้ว แต่ยืนยันว่าไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พรรคการเมืองใหม่จะเดินหน้าลงแข่งขันเลือกตั้งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นต่อไป โดยเฉพาะการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่พรรคคาดว่าจะมีขึ้นภายใน 2 ปี หรือเร็วกว่านั้นถ้าพรรคประชาธิปัตย์ถูกยุบ พรรคได้เตรียมการในเรื่องนี้แล้ว
แน่นอนว่า ผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นพรรคการเมืองใหม่คงนิ่งนอนใจไม่ได้ โดย “สมบัติธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ชี้ว่า บทเรียนจากการเลือกตั้งครั้งนี้ของพรรคการเมืองใหม่ ทำให้เห็นว่าการที่พรรคการเมืองใหม่ซึ่งพัฒนามาจากการเป็นกลุ่ม พธม. ซึ่งเป็นกลุ่มกดดันมาเป็นพรรคการเมือง โดยหวังว่าจะมีกลุ่มสนับสนุนจำนวนมากเหมือนตอนที่เป็นกลุ่ม พธม. โดยเฉพาะในพื้นที่ กทม. ที่สามารถมีข้อมูลข่าวสารมากกว่าพื้นที่อื่นๆ แสดงว่าประชาชนอยากให้กลุ่ม พธม. เป็นกลุ่มกดดันมากกว่าพรรคการเมือง
ทั้งนี้ พรรคการเมืองใหม่ต้องทบทวนบทเรียนที่เกิดขึ้นว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองใหม่ยังขาดความโดดเด่น โดยเฉพาะในเรื่องผู้นำและกรรมการบริหารพรรค
นักวิชาการผู้นี้วิเคราะห์ว่า หากพรรคการเมืองใหม่ต้องการปักธงในการเมืองระดับชาติต้องทำงานให้หนักกว่านี้ เพราะขนาดในพื้นที่ กทม. ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สำคัญของพรรคการเมืองใหม่แท้ๆ ยังไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นพรรคต้องทำงานให้น่าเชื่อถือ ซึ่งจะนำไปสู่ความสำเร็จทางการเมืองได้ โดยเฉพาะในส่วนของนโยบาย เพราะลำพังแค่ขายไอเดียเรื่องไม่เอาระบอบทักษิณ หรือปลุกชาตินิยมคงไม่เพียงพอ เพราะตรงนี้เป็นบทบาทของพธม. ไม่ใช่พรรคการเมืองใหม่
ทั้งหมดนี้ต้องติดตามว่าพรรคการเมืองใหม่จะนำบทเรียนที่เกิดขึ้นไปแก้ไขเพื่อก้าวไปเล่นการเมืองระดับชาติต่อไป หรือจะถอดใจกลับไปเป็นกลุ่มกดดันทางการเมืองแบบเดิม อีกไม่นานคงได้รู้กัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น