วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 12, 2553

บันทึกของ วิสา คัญทัพ ฉบับที่ 1- 4

บันทึกของวิสา คัญทัพ
ฉบับที่ 1 :เรื่องการยุทธและการหยุด
ฉบับที่ 2 :ปัญหาสองแนวทางของการนำ
ฉบับที่ 3 :แนวทางการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยจะเดินต่อไปอย่างไร
ฉบับที่ 4 :ว่าด้วยการนำเหนือตู้คอนเทนเนอร์ หลังเวทีราชประสงค์"

ที่มา: มติชนออนไลน์, ไทยอีนิวส์ออนไลน์
Ref: วิสา คัญทัพ'facebook

จาก อัลบั้มThe New York Times

บันทึกฉบับที่ 1 การยุทธและการหยุด
หมายเหตุ นี่คือบันทึกเหตุการณ์เรื่องการตัดสินใจยุติการเคลื่อนไหวร่วมกับแกนนำ นปช.รายอื่น ๆ ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2553 ของนายวีระ มุสิกพงษ์ นายอดิศร เพียงเกษ นางไพจิตร อักษรณรงค์ และนายวิสา คัญทัพ ซึ่งนายวิสาได้เขียนขึ้นและนำไปเผยแพร่ในเว็บเพจเฟซบุ๊กของตนเอง มติชนออนไลน์เห็นว่างานชิ้นนี้มีความน่าสนใจ จึงขออนุญาตนำมาเผยแพร่ต่อ ณ ที่นี้

บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 1)
เรื่องการยุทธและการหยุด เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2553

ทำไม วีระ มุสิกพงศ์ ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน จึงเขียนจดหมายประกาศยุติบทบาทการต่อสู้โดยประกาศลงที่สถานีบางซื่อ ไม่ขอเดินทางต่อไปถึงสถานีหัวลำโพง คำตอบย่อมมาจากการกลั่นกรองเหตุผลหลายประการจนตกผลึกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เป็นการตัดสินใจบนพื้น ฐานที่ไม่ยอมให้มีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อประชาชนอีกต่อไป

เป็นการตัดสินใจบนพื้น ฐานที่ยึดมั่นแนวทางสันติวิธีในการต่อสู้

เป็นการตัดสินใจที่เห็น ว่าข้อเรียกร้อง "ยุบสภา" ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลแล้วตามเงื่อนไขที่ได้เจรจากัน ดังที่ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนการเจรจา และผ่านมติเป็นเอกฉันท์ในทุกเรื่อง

รายละเอียดสุดท้ายคือการ ให้ประกันตัวแกนนำทั้ง 24 คน ซึ่งรัฐบาลยอมรับ ขณะที่แกนนำบางส่วนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะทำตามคำพูด เพราะหลายคนยังหวั่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทั้งยังเพิ่มข้อเรียกร้องเรื่องนายสุเทพ เทือกสุบรรณต้องมอบตัวให้ถูกต้องตามกระบวนการยุติธรรมกรณีสั่งฆ่าประชาชน 10 เมษาฯ อ้างว่าเพื่อเป็นการรับผิดชอบกับชีวิตวีรชนประชาธิปไตย ข้อเรียกร้องเรื่องสุเทพมอบตัวทำให้เกิดความสับสนในข้อกฎหมายว่าจะสิ้นสุดลง อย่างไรจึงจะเป็นที่ยอมรับของแกนนำคนเสื้อแดง

วีระ มุสิกพงศ์ เลือกลดบทบาทจากแกนนำลงไปเป็นคนเสื้อแดงธรรมดาเพราะเห็นว่า การทำตามสัจจะที่ได้ประกาศไว้มีความสำคัญต่อสังคมอย่างที่สุด เมื่อประกาศร่วมกันว่าทั้งสองฝ่ายพร้อมเดินเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เอาการนิรโทษกรรม ย่อมถือว่าสังคมรับรู้แล้ว เมื่อประกาศจะยุบสภาตามวันเวลาที่ชัดแจ้งก็ผูกมัดรัฐบาลต่อสายตาสังคมโลก แกนนำคนเสื้อแดงสมควรมอบตัวโดยมิต้องหวั่นไหวใดๆ แม้จะมีการหักหลัง จับกุมกักขังไม่ให้ประกัน แม้อภิสิทธิ์ สุเทพจะหลบหลีกไม่ยอมมอบตัว ก็เป็นเรื่องปกติของฝ่ายที่ยึดกุมอำนาจรัฐที่สามารถกระทำเช่นนั้นได้

ส่วนเราจะยื้อยุดฉุดดึง ไปก็ไร้ประโยชน์ เพราะในความเป็นจริง กระบวนการเอาผิดทางกฎหมายต่อรัฐบาลอาชญากรมือเปื้อนเลือดก็มิได้ยุติลงใน รัฐบาลชุดนี้ อภิสิทธิ์ - สุเทพ หนีความผิดไม่พ้น ความไม่ชอบธรรมจะตกอยู่กับอภิสิทธิ์ - สุเทพทันที

การเลือกยุติการชุมนุมใน จังหวะนี้ ความชอบธรรมจะอยู่กับฝ่าย นปช. สำคัญที่สุด ประชาชนไม่สมควรต้องสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอีกเป็นอันขาด ประชาชนคนเสื้อแดงจะต้องกลับบ้านอย่างปลอดภัย องค์กร นปช.แดงทั้งแผ่นดินยังคงเคลื่อนไหวในหนทางสันติวิธีต่อไปได้ รัฐบาลจะถูกกดดันจากทุกภาคส่วนของสังคมให้ดำเนินการทุกอย่างไปสู่การยุบสภา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และสุเทพ เทือกสุบรรณ จะกลายเป็นซากศพที่เดินได้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อดิศร เพียงเกษ,ไพจิตร อักษรณรงค์ และผม เห็นด้วยและตัดสินใจลงสถานีเดียวกัน

แนวทางและชุดความคิดดัง กล่าวถูกมองว่าเป็นจิตใจจำนนและถอย ยอมรัฐบาลมากเกินไป คนที่ยังไม่พร้อมจะลงจึงเดินทางต่อไป ถามว่า การเดินทางต่อมีความคิดชี้นำมาจากองค์ประกอบอื่นๆ นอกเหนือจากแกนนำที่ร่วมประชุมกันหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยข้อมูลที่เป็นจริง จึงยังไม่อยากวิเคราะห์ล่วงหน้า

อย่างไรก็ตาม แนวทางและชุดความคิดนี้หากมองกลับเป็นตรงกันข้าม ย่อมสามารถมองว่าเป็นการ "ต่อสู้" ได้ เพราะการที่แกนนำเดินทางเข้ามอบตัวโดยไม่หวั่นกลัวต่อการจับกุมคุมขัง เท่ากับ แกนนำยอมเสียสละอิสรภาพของตนเพื่อแลกกับการให้ประชาชนกลับบ้าน โดยไม่สูญเสีย ไม่ต้องตายกันอีก เป็นการลงอย่างสันติวิธี ไม่รุนแรง รักษาองค์กรให้คงอยู่และเคลื่อนไหวต่อสู้ต่อไปได้

หลังการประชุมในตู้ คอนเทนเนอร์ ที่เวทีราชประสงค์สิ้นสุดลง ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 วีระ มุสิกพงศ์ ไม่ได้ขึ้นพูดบนเวทีในคืนนั้น แล้วหายไปจากเวที ส่วน อดิศร เพียงเกษ,ไพจิตร อักษรณรงค์ และผม ยังอยู่ต่อ และเข้าร่วมประชุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 อดิศร ชี้แจงเหตุผลที่เขาต้องยุติบทบาท แล้วลงจากตู้คอนเทนเนอร์ไปก่อนการประชุมจะสิ้นสุดลง ส่วน ไพจิตรและผมได้แจ้งที่ประชุมว่าจะขอลงสถานีบางซื่อเช่นเดียวกับวีระและอดิศร เช้าวันรุ่งขึ้น ไพจิตร อักษรณรงค์ก็ล้มป่วยเป็นไข้หวัด เจ็บคอ ไม่มีเสียง นอนพักรักษาตัว เราสามคนไม่ได้กลับเข้าไปที่เวทีตั้งแต่วันนั้น

เมื่อครั้งที่ผมและ ไพจิตร อักษรณรงค์ได้รับมอบหมายให้ดูแลเวทีปราศรัยที่ผ่านฟ้าลีลาศ ก่อนเกิดเหตุการณ์ 10 เมษายน เราคุมสถานการณ์ด้วยสันติวิธี ขณะเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์มาบินวนในช่วงบ่ายวันนั้น ผมประกาศให้คนออกมาจากเต็นท์ให้หมด มารวมกันหน้าเวที เพื่อให้เจ้าหน้าที่บนเครื่องบินที่บินสังเกตุการณ์ได้เห็นว่ามีคนเสื้อแดง มากมาย ผมให้พี่น้องนั่งลง สงบนิ่ง ตั้งสติ ทำสมาธิ ยึดหลักการสันติอหิงสา ปล่อยให้ตำรวจทหารเข้ามาโดยไม่ขัดขวาง หากเขาจะมาจับแกนนำ ให้เปิดทางให้เขาเข้ามาจับบนเวที พวกเราพร้อม เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียใดๆกับพี่น้องประชาชน

หลังจากผมพูดจบลง ไมโครโฟนก็ถูกแย่งดึงโดยบางคนที่ปลุกเร้าเร่าร้อนระดมกำลังให้ออกไปปะทะ เผชิญสะกัดกั้นไม่ให้ตำรวจทหารผ่านเข้ามาตามด่านต่างๆ ผลักดันสถานการณ์ไปสู่ความรุนแรง ผมเดินลงจากเวที เพราะผมไม่อยู่ในฐานะที่ไปห้ามปรามแล้วเพื่อนๆจะฟัง และไม่มีประโยชน์อะไรที่จะพูดสวนทางกันให้สับสน ในใจคิดว่าหากมีการสูญเสียเลือดเนื้อและชีวิตอีก คงรับไม่ไหว ผมติดต่อไปหาณัฐวุฒิ ใสยเกื้อที่เวทีราชประสงค์ให้มาคุมสถานการณ์ที่นี่ด้วยตัวเอง ก่อนที่มันจะลุกลามบานปลาย แต่ไม่เป็นผล ที่สุดก็ปะทะกันรุนแรง หลังเหตุการณ์นี้ผมเร่งเร้าให้ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ยุติเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หากไม่มีคนนำที่แกนนำเชื่อฟังมาคุมเวที ก่อนที่ประวัติศาตร์นองเลือดจะซ้ำรอย ซึ่งเป็นผลสำเร็จในที่สุดเมื่อตกลงย้ายการชุมนุมไปรวมที่ราชประสงค์จุดเดียว

กรณี 10 เมษายน 2553 คุกคามจิตใจผมให้หดหู่ ขมขื่น และเจ็บปวดอย่างหนัก สำหรับผม พอแล้ว มันเขียนอะไรไม่ออก มันบอกอะไรไม่ถูก มันไม่ได้สร้างพลังอะไรเลย นอกจากสำนึกแห่งธรรมที่ว่าการฆ่าคือบาป และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำให้เกิดการฆ่าเล่า จะพ้นบาปไปได้อย่างไร

วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 เมื่อประธานวีระ มุสิกพงศ์ ลงขบวนรถไฟไป เหตุเพราะข้อเรียกร้อง "ยุบสภา" บรรลุแล้ว และแนวทางการต่อสู้ส่อเค้าจะหลุดเฟรมแห่งสันติวิธี มีสำเนียงบางอย่างกระตุ้นเร้าความรุนแรงแทรกซ้อนการนำของ นปช. ผมจึงเห็นด้วยและขอลงสถานีเดียวกับวีระ ใครจะชิงชังรังเกียจและหยามเหยียดอย่างไรก็ว่ากันไป เรารับเสียงร่ำไห้แห่งความโศกเศร้า เลือดเนื้อ น้ำตา การบาดเจ็บ สูญเสีย ไม่ได้อีกแล้ว

บันทึกนี้เขียนขึ้นเพื่อ ชี้แจงเหตุผลแห่งการยุติบทบาทอย่างเป็นทางการของผมและไพจิตร อักษรณรงค์

หยุดคือหยุด ไม่ให้ใคร ต้องตายอีก
หยุดคือหลีก ความรุนแรง อันแฝงฝัง
หยุดแล้วมวลชนได้ไม่ พ่ายพัง
หยุดเขาขังหลอกเราก็เข้าใจ

หยุดอาจมีความหมายว่าไม่ หยุด
หยุดเพราะแท้ที่สุด หาหยุดไม่
หยุดการตาย เพื่อให้อยู่ สู้ต่อไป
หยุด สงวนกำลังไว้ใช้อีกนาน

ถ้าเราหยุดละวางตรง บางซื่อ
จักได้ความเชื่อถือมหาศาล
คลื่นอธรรมก็จะซัดใส่รัฐบาล
ดำเนิน การต้องประกอบด้วยชอบธรรม

หยุดเพราะว่ายุบสภาได้มา แล้ว
เราได้แนวนำเสนอไม่เพ้อพร่ำ
เป็นไปตามยุทธวิธีที่ชี้นำ
ให้ ค่อยกินทีละคำจดหมดจาน

เหมือนจะยอม เหมือนจะแพ้ แท้แล้วสู้
ข้างหน้าคุก รออยู่ ไม่สะท้าน
เพื่อหยุดการเข่นฆ่าอย่าง สามานย์
นี้คือการ เรียกร้อง หยุดของเรา

(บันทึกนี้เขียนวันที่ 13 พฤษภาคม 2553)
ขอบคุณที่มา: ที่มา : มติชนออนไลน์, วันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2553 เวลา 19:00:00 น.
Ref: วิสา คัญทัพ'facebook
---------------------------------------


บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 2) :ปัญหาสองแนวทางของการนำ

ขั้น ตอนการต่อสู้ หมายถึงยุทธวิธี มิใช่ยุทธศาสตร์ เหมือนที่ชอบเปรียบเทียบว่า กินข้าวหมดจาน แต่ต้องกินทีละคำ กินหมดจานเป็นยุทธศาสตร์ กินทีละคำเป็นยุทธวิธี

อันที่จริง นปช.แดงทั้งแผ่นดิน มีแนวทาง นโยบาย ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธีการต่อสู้ชัดเจน กรอบการปฏิบัติงานผ่านมติจากแกนนำ ลงสู่ผู้ปฏิบัติงานและสมาชิก นปช.โดยบรรจุเป็นหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน เคลื่อนไหวทางความคิดอย่างเป็นเอกภาพ

เพียง แต่ในความเป็นจริง ในแกนนำกลับไม่เป็นเอกภาพ และยึดกุมแนวทางการต่อสู้ของ นปช.ไม่ได้ ต้องยอมรับว่า คนเสื้อแดงทั้งหมด บางส่วนอาจเห็นด้วยกับ นปช. แต่บางส่วนก็อาจมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป จน นปช.ต้องแถลงย้ำยืนยันถึงจุดยืน แยกตัวเองออกจาก กลุ่มแดงสยาม และกลุ่ม เสธ.แดง อยู่บ่อยๆ

การนัดชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 14 มีนาคม ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศที่ผ่านมา กำหนดเป้าหมายการต่อสู้เรียกร้องชัดเจนคือ “ยุบสภา” มติเรื่องยุบสภาเป็นมติเอกฉันท์ของแกนนำ นปช.เคลื่อนไหวเรียกร้องประเด็นเดียวชัดเจน ทั้งเนื้อหาเรื่องราวต่างๆที่จะพูดจาปราศรัยก็กำหนดกรอบแนวไว้ล้อมรอบเรื่องยุบสภา การยุบสภาจึงเป็นยุทธวิธี ซึ่งต้องคิดว่าเรียกร้องแค่นี้จะลงทุนลงแรงขนาดไหน ต้องสอดคล้องกับเรี่ยวแรงกำลังและสภาพความจริงที่ตนมีอยู่ ต้องเดินหน้าไปด้วยเหตุผล มิใช่เดินหน้าไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ต้องคิดจากภววิสัยที่เป็นจริง มิใช่คิดจากอัตวิสัย

แต่ความจริงก็คือ องค์กรนำ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน อยู่ในระยะเริ่มต้นดำเนินงานจัดตั้ง การจัดตั้งยังไม่เข้มแข็งพอ แกนนำระดับต่างๆ ยังยอมรับและขึ้นต่อแกนนำระดับศูนย์กลางอย่างหลวมๆ การชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ ถึงที่สุดแล้ว การนำยังไม่เป็นเอกภาพ การนำอยู่ในสภาพการณ์ที่ยังไม่พร้อม เพราะฉะนั้นการคุมทิศทางใหญ่บนเวทีว่าจะไปทางใด แม้จะกำหนดจากมติในที่ประชุมแล้วก็ตาม แต่เป็นการกำนดแบบวันต่อวัน อีกทั้งการปฏิบัติตามมติก็มิได้เคร่งครัดเป็นแนวเดียวกันอย่างมั่นคงก็หาไม่ มติพลิกผันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุการณ์เฉพาะหน้า ดังกรณีการเคลื่อนกำลังส่วนหนึ่งไปชุมนุมกดดันที่ราชประสงค์ เดิมทีตกลงว่าไปแล้วกลับ หรือหากมีการตั้งเวทีก็จะตั้งชั่วคราวพอพูดจาปราศรัยได้ในเย็นวันนั้น แต่ต่อมาก็เปลี่ยนไป ไม่ทราบว่ามีการประชุมกันภายหลังอย่างไร เพราะมีหน้าที่รับผิดชอบอยู่เวทีผ่านฟ้าลีลาศ เช่นนี้เป็นต้น

ลักษณะพิเศษของสังคมไทยอย่างหนึ่งคือ วัฒนธรรมเรื่องการพูดความจริง พูดความจริงทั้งหมด หรือพูดความจริงบางส่วน ด้วยเหตุผลอย่างใดอย่างหนี่ง เป็นต้นว่า พูดแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อกระบวนการทำงานทั้งหมด พูดแล้วจะส่งผลลบต่อผู้อื่น โดยลืมไปว่า บางครั้ง การข้ามไปไม่พูดจะส่งผลเสียหายให้กับส่วนรวมยิ่งกว่า เพราะอาจทำให้ข้อผิดพลาดสำคัญในเรื่องแนวทางใหญ่ผิดเพี้ยนไปด้วยการละเลยไม่พูดถึง

ดังนั้น ปัญหาใหญ่ที่จะพูดถึงในที่นี้เป็นเรื่องหลักการ ซึ่งก็คือปัญหาการยึดกุมแนวทางการต่อสู้ของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน และการนำการต่อสู้ไปถูกทางหรือผิดทาง

แนวทางที่ 1 คือแนวทางต่อสู้ด้วยสันติวิธี มีเป้าหมายที่ “ยุบสภา” การประเมินชัยชนะจากการต่อสู้ในครั้งนี้ ต้องถือเป็นชัยชนะทางยุทธวิธี คือยุบสภาพอแล้ว ไม่ใช่ยุทธศาสตร์คือการโค่นอิทธิพลของระบบอำมาตยาธิปไตยในสังคมไทย เพราะฉะนั้น การต่อสู้ดังกล่าวต้องสอดคล้องกับภววิสัยที่เป็นจริง จริงอยู่ การพูดปลุกเร้าบนเวทีอาจเลยไกลแบบกลอนพาไปถึงอำมาตย์ ทว่าจะลืมเป้าหมายแท้จริงคือ “ยุบสภา”ไม่ได้ ดังนั้น ความสำคัญของการประเมินสถานการณ์จึงเป็นเรื่องใหญ่ แม้ประเมินจากอัตวิสัยของผู้เคลื่อนไหวก็อาจก่อให้เกิดความผิดพลาดได้

สถานการณ์การชุมนุมยืดเยื้อข้ามเดือน เมื่อเมษายน และพฤษภาคมเป็นอย่างไร ต้องย้อนกลับมาที่ ข้อเรียกร้องที่วางไว้แค่ “ยุบสภา” แต่เดิมรัฐบาลอภิสิทธิ์ไม่ยอมเจรจาใดๆกับฝ่ายผู้ชุมนุมเสื้อแดง ยืนยันว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง และจะอยู่ครบเทอม ต่อมามีการเจรจาครั้งแรก เป็นการเจรจาโดยตรงกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้ารัฐบาล แม้ผลการเจรจาจะจบลงด้วยการตกลงอะไรกันไม่ได้เลย แต่ก็สามารถตรวจสอบผลบวกลบจากกระแสสังคมได้อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกระแสสังคม “ตรงกลาง”

สถานการณ์ในเวลาต่อมาเข้มข้นดุเดือดขึ้น และภาพลบตกอยู่กับฝ่ายรัฐบาลทันทีที่มีการ “ขอคืนพื้นที่” ที่สะพานผ่านฟ้า ราชดำเนิน มีการปราบปรามเข่นฆ่าประชาชน ทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก “กรณี 10 เมษายน” ทำให้รัฐบาลขาดความชอบธรรม ภาพพจน์ในทางสากลเสียหาย ผู้สื่อข่าวต่างประเทศรายงานไปทั่วโลก จนคณะทูตจากประเทศต่างๆหลายประเทศต้องเข้ามาติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมเข้าพบทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงเข้าเยี่ยมเยียนผู้ชุมนุมที่ราชประสงค์ในเวลาต่อมาด้วย ต้องพูดว่า รัฐบาลไม่สามารถขอพื้นที่ที่สะพานผ่านฟ้าคืนได้ ประชาชนต้านการล้อมปราบด้วยสองมือเปล่าอย่างแข็งขัน ขณะที่เกิดการตอบโต้ด้วยความรุนแรงจากชายในชุดไอ้โม่งดำอันเป็นกองกำลังไม่ทราบฝ่าย ที่รัฐบาลก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเป็นกำลังของใครกันแน่

กรณี 10 เมษายน ทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์มีภาพลบ ฆ่าประชาชน ใช้ความรุนแรง ส่งผลให้การชุมนุมที่ราชประสงค์เพิ่มจำนวนขึ้นคึกคักหนาตาจากคนชั้นกลางในกรุงเทพฯ (รวมถึงคนที่อยู่ “ตรงกลาง”) เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเจรจากับคนเสื้อแดงดังขึ้นจากทุกวงการ แกนนำ นปช.ได้มอบหมายให้มีผู้แทนไปเจรจากับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ที่สุดรัฐบาลก็ยอมให้มีการเลือกตั้งภายในวันที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งมีความหมายว่าวันยุบสภาจะเป็นวันที่ 15-30 กันยายน ตรงนี้หากเราจะลองลำดับขั้นตอนการเรียกร้องต่อสู้เพื่อการยุบสภาของคนเสื้อแดง จะเห็นว่าได้รับชัยชนะมาเป็นลำดับได้ดังนี้

1. เริ่มต้นจากรัฐบาลประกาศจะอยู่ครบเทอม โดยรัฐบาลยังมีเวลาถึง 1 ปี 9 เดือน
2. ต่อมา รัฐบาลขอเวลา 9 เดือน (เท่ากับลดไป 1 ปี)
3. สุดท้าย รัฐบาลประกาศวันเลือกตั้ง ซึ่งมีความหมายว่าจะยุบสภาภายใน 4-5 เดือน

ความ จริงก็คือ หากไม่มีการเคลื่อนไหวของ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน รัฐบาลย่อมไม่ยุบสภาอย่างแน่นอน ต่อเมื่อมีการเคลื่อนไหวของ นปช.ต่างหากเล่าจึงทำให้รัฐบาลเริ่มยื้อเรื่องเวลาในการยุบสภา ยื้อไปยื้อมาก็ต้องยอมยุบสภาในเวลาสั้นที่สุด หากถามว่า เป็นเช่นนี้จะถือป็นชัยชนะที่น่าพอใจได้หรือยังสำหรับ นปช.

ตรงนี้ต่างหากเล่าที่แกนนำ นปช.มีความคิดเห็นแตกต่างกัน

ตรงนี้ต่างหากเล่าที่เป็นปัญหาการนำสองแนวทางที่ไม่เหมือนกัน

ตรงนี้ต่างหากเล่า ที่ประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน นายวีระ มุสิกพงศ์ ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ไปเจรจาเริ่มถอดใจ และเห็นว่าเราเดินทางมาถึงสถานี “บางซื่อ” ที่สมควรจะต้องลงจากรถไฟแล้ว

ตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะสร้างความชอบธรรมให้ นปช.ที่จะสลายการชุมนุมอย่างสันติสงบ ขณะคลื่นความรุนแรงอันควบคุมไม่ได้กำลังก่อเค้ามืดทะมึนขึ้นมาอย่างที่แกนนำก็ไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ (ขณะนั้นมีกรณียิงเอ็ม 79 และการปะทะที่ศาลาแดงเกิดขึ้นแล้ว)

ตรงนี้ต่างหากเล่าที่คนเสื้อแดงจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัยและยิ่งใหญ่ เหมือนขณะที่เมื่อขามาก็เข้ามาชุมนุมอย่างยิ่งใหญ่
ตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะสงวนกำลังของคนเสื้อแดงไว้เคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อเป้าหมายที่ใหญ่กว่านี้ต่อไป
ตรงนี้ต่างหากเล่าที่กระแสสังคมทุกภาคส่วนจะซัดกลับไปกดดันที่รัฐบาลว่าจะทำตามคำมั่นสัญญาประชาคมหรือไม่อย่างไร
ตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะทำให้รัฐบาลต้องตกเป็นจำเลยแห่งความรุนแรงในกรณีวันที่ 10 เมษายน
ตรงนี้ต่างหากเล่าที่อภิสิทธิ์จะล้างมือที่เปื้อนเลือดถึงสองครั้งสองคราทั้งจากเมษาปี 52 และเมษาปี 53 ได้หมดหรือไม่
และตรงนี้ต่างหากเล่าที่จะทำให้รัฐบาลอภิสิทธิ์หมดความหมายกลายเป็นซากศพที่เดินได้ในที่สุด

คนจำนวนหนึ่งในแกนนำต้องการหยุดตรงนี้ เพราะถือว่าการเรียกร้อง “ยุบสภา” ได้มาแล้ว ทั้งคิดสงวนกำลังไว้เพื่อศึกที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ในอนาคต บางคนได้แสดงออกโดยการลดบทบาทไม่ขึ้นเวทีปราศรัย ลงไปเป็นคนเสื้อแดงที่นั่งดูเหตุการณ์อยู่วงนอก

ข้อ ต่อรองอื่นๆนอกเหนือจากนี้ เป็นต้นว่า เมื่อแกนนำ นปช.เข้ามอบตัวแล้ว ให้ประกันตัวหรือไม่ ให้ประกันตัวกี่คน เจ้าหน้าที่รัฐบาลอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็ต้องไปมอบตัวด้วย ไม่น่าจะถือเป็นประเด็น เพราะแม้รัฐบาลจะบิดเบี้ยวไม่ให้ประกันตัว ต้องควบคุมตัวตาม

พ.ร.ก.ก็ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะพี่น้องเราเสียสละชีวิตเมื่อ 10 เมษา ชีวิตสำคัญกว่าอิสระภาพของพวกเรา ข้อต่อรองเรื่องตัวเองจึงไม่ใช่สาระสำคัญ

แนวทางที่ 2 คือแนวทางที่ให้มีการชุมนุมต่อ ปฏิเสธการเจรจาที่ตกลงกันมาแล้ว ไม่เชื่อว่ารัฐบาลจริงใจที่จะทำตามคำมั่นสัญญา ทั้งวิเคราะห์ปัจจัยด้านบวกอีกหลายประการที่ทำให้เห็นว่า หากชุมนุมยืดเยื้อไปอีก จะได้ชัยชนะที่มากกว่าการยุบสภา มีบางสิ่งบางอย่างที่ทำให้พวกเขาเชื่ออย่างนั้น

อีกประการหนึ่ง หลังวันที่ 10 พฤษภาคม ความรุนแรงบางส่วนที่ควบคุมไม่ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว ทั้งมีแนวโน้มว่าจะเกิดขึ้นอีกวันใดวันหนึ่งก็ได้ กระทั่งมีกระแสเข้มข้นข่มขู่ห้ามสลายการชุมนุมในลักษณะปัจเจกบุคคลของบางคนด้วยถ้อยคำกร้าวร้าวรุนแรง

อะไรคือสิ่งที่มากไปกว่านั้นที่ต้องการได้จากรัฐบาล อะไรคือจุดที่ทำให้แกนนำบางคนต้องเปลี่ยนความคิดกระทันหันจากการเลือกแนวทางที่ 1 มาเป็นแนวทางที่ 2 อะไรคือความคิดชี้นำที่ทำให้เชื่อมั่นว่า การสู้ต่อไปจะทำให้ได้ชัยชนะแบบเด็ดขาด

ประเด็นก็คือ ชนะแค่ไหนและอย่างไร คุ้มต่อการต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อของพี่น้องประชาชนต่อไปอีกหรือไม่ โดยเฉพาะหากได้มาแค่ยุบสภาในทันที แล้วต้องเสียชีวิตบาดเจ็บมากมายขนาดนี้ คุ้มหรือ จริงแล้วแม้เพียงชีวิตคนเดียวก็ไม่สมควรแลก


บัดนี้ รอยต่อของสังคมไทยแตกแยกอย่างยากที่จะเชื่อมกลับคืนได้สนิทเหมือนเดิม เราอาจผ่านช่วงแห่งการดำเนินสงครามประชาชนระหว่างรัฐเผด็จการกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและแนวร่วมมาแล้วในอดีต แต่นั่น หากกล่าวให้ถึงที่สุด ก็เป็นสงครามความขัดแย้งทางการเมืองของคนชั้นสูง คนชั้นกลาง และปัญญาชนที่ปฏิวัติ เท่านั้น สามัญชนธรรมดายังเป็นเพียงผู้ยืนดูอยู่วงนอก เป็นเพียงผู้ถูกแย่งชิงจากสองฝ่าย ยังไม่ตื่นตัวและเจ็บปวดล้ำลึกเท่าเหตุการณ์ในปี พ.ศ.นี้ เราจึงผ่านมาได้ด้วยนโยบายที่ใช้การเมืองนำการทหาร(66/23)

วันนี้รัฐบาลกลับมาใช้การทหารนำ ทั้งเข่นฆ่าโหดเหี้ยมยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซ้ำมิได้กระทำต่อนักเรียน นักศึกษา ปัญญาชนเหมือนเหตุการณ์เมื่อ 6 ตุลาคม 2519 หากกระทำต่อคนรากหญ้าสามัญชนคนจำนวนเรือนล้านผู้ต้องการประชาธิปไตยอย่างแท้จริง อำมหิตเกินกว่าอดีตที่ผ่านมาหลายเท่านัก เช่นนี้แล้วจะหานโยบายอันใดเล่าที่จะมาปรองดองสมานฉันท์ให้ไทย ไม่แตกแยกได้ หลังเข่นฆ่าแล้ว เขายังจับกุมคุมขัง ลิดรอนสิทธิ์เสรี แบ่งขั้วแยกข้าง ปากปรองดองแต่ใจเชือดคอ ภาวะปริร้าวของสังคมจึงยากที่หาร่องรอยต่อติด

เมื่อไม่มีพื้นที่ของนิติรัฐนิติธรรม แล้วจะหาพื้นที่ของความเป็นกลางได้จากที่ไหน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตลอดกาล “อันรามลักษณ์ยักษ์ลิงจริงหรือไร สวมหัวให้จึงเป็นลักษณ์ยักษ์หรือลิง” สักวันหนึ่งโขนละครต้องปิดฉากจบเรื่องใครก่อกรรมทำเข็ญเช่นใดไว้จักต้องเผชิญกรรมจริงที่ ตนกระทำ หนีไม่พ้น “ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ” หากแต่ประชาชนยังอยู่ อยู่ตลอดไป “ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป” ประชาชนฆ่าไม่ตาย ทำลายไม่หมด การใช้การทหารยุติปัญหา ก็เหมือนใช้ฝ่ามือปิดฟ้า ปิดอย่างไรก็ไม่มิด

ประเทศไทยเดินเข้าจุดอับจนอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยงได้.

บันทึกนี้เขียนเสร็จ 11 มิถุนายน 2553
ขอบคุณที่มา: ไทยอีนิวส์ เผยแพร่เมื่อวันศุกร์, กรกฎาคม 02, 2010
Ref: วิสา คัญทัพ'facebook
--------------------------------


บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 3) :แนวทางการต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยจะเดินต่อไปอย่างไร

ที่ ผ่านมาฝ่ายรัฐบาลปักใจเชื่อว่า ทักษิณนำการต่อสู้ แต่ความจริงคือ ไม่มีคำชี้แนะชี้นำอะไรจากทักษิณ การโฟนอินหรือวิดีโอลิงค์เข้ามาแต่ละครั้งไม่มีการกำหนดหัวข้อหรือประเด็น ทักษิณพูดได้โดยอิสระเสรี การสื่อสารถึงทักษิณเท่าที่ทราบเป็นการสื่อสารหลายทาง ใครก็โทรคุยกับทักษิณได้ ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วทักษิณจะเชื่อใคร โดยเฉพาะช่วงปลายหรือช่วงวิกฤติของการต่อสู้ ความขัดแย้งระหว่างแนวทางฮาร์ดคอร์ กับสันติวิธีเริ่มไม่ลงรอยกันชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้การต่อสู้เดินหน้าไปอย่างปั่นป่วน สับสน ไร้การควบคุม

จาก อัลบั้มภาพThai E news

เป็นคำถามจากผู้ต้องการประชาธิปไตยอันแท้จริง เจาะจงถามมาที่ผม สืบเนื่องจาก การได้อ่านบันทึกสองฉบับ ผมขอตอบในฐานะของคนธรรมดาที่เข้าร่วมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่ง ไม่ใช่ แกนนำ นปช. ดังนี้

หนึ่ง / ต้องจัดความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรประชาธิปไตยเสื้อแดง (นปช.และ หรือ ฯลฯ) กับพรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และหรือ ฯลฯ) ให้ดี กล่าวคือ องค์กรประชาธิปไตยต้องสรุปบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาทั้งหมด ตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ว่ามีข้อดี ข้อเด่น ข้อด้อย ข้อถูกต้อง และผิดพลาดอย่างไร (อย่างเป็นระบบ) กล้าที่จะวิจารณ์และวิจารณ์ตนเอง โดยเฉพาะประเด็น “การนำ” นำไปบนพื้นฐานแห่งหลักการและเหตุผลที่สอดคล้องกับภววิสัยที่เป็นจริง หรือนำไปโดยอัตวิสัยแห่งอารมณ์ความรู้สึก หรือจากแหล่งข้อมูลที่ผิดพลาด


จัก ต้องยึดกุม “การนำรวมหมู่” ให้ได้อย่างแท้จริง ไม่ปล่อยให้ “การนำโดยบุคคล” อยู่ในฐานะที่ครอบงำ ปัญหายุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหว เมื่อตั้งไว้แล้วต้องยึดกุมให้ได้ ไม่ใช่วางขั้นตอนไว้ระดับหนึ่ง แล้วไปเปลี่ยนแปลงภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นไปโดยธรรมชาติ หรือว่า “อำพราง” กันภายใน ปิดบังกันเอง สิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดความแปลกแยกทางการนำในท้ายที่สุด


ในส่วนของ พรรคการเมืองแนวทางประชาธิปไตย (พรรคเพื่อไทย และอาจมีพรรคอื่นๆฯลฯ) ต้องจัดความสัมพันธ์ในการเป็น ”แนวร่วม” ต่อสู้ให้เหมาะสม พรรคก็คือพรรค ต้องดำเนินสถานะและบทบาทที่แตกต่างจากองค์กรเคลื่อนไหว เพราะพื้นที่ในการทำงานของพรรคมีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นพรรคต่อสู้ในระบอบรัฐสภา จะเคลื่อนไหวนอกกรอบแบบองค์กรอิสระคงไม่เหมาะสม จึงควรมีการจัดการทั้งงานเปิดและงานปิดให้ดี อันที่จริง แนวยุทธศาสตร์ “สองขา” ของ นปช. ในทางทฤษฎีที่เรียนกันอยู่ในโรงเรียน นปช.นั้นถูกต้องแล้ว หากแต่มิได้นำมาปฏิบัติในท่ามกลางการต่อสู้ที่เป็นจริงอย่าง เอาจริงเอาจัง กล่าวคือ เกิดอาการ “สัมพันธ์ขวาง” “สัมพันธ์ซ้อน” “สัมพันธ์แทรกแซง” “เปลี่ยนแปลงการนำ” “ไม่ทำตามมติ” ฯลฯ อื่นๆ อีกมากมาย ปัญหานี้ต้องสรุปทบทวน


ภาระหน้าที่ของพรรคต้องมีทั้งส่วนที่เป็นงาน ลับและงานเปิดเผย การจัดบุคลากรในการทำงานมีความสำคัญยิ่ง ใครเหมาะสมกับหน้าที่อะไร อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ควรต้องมีการจัดตั้งขึ้นมาทำงานอย่างจริ งจัง กรณีพรรคเพื่อไทยกับ นปช.มีคนทำงานซ้อนสองฝั่ง สองขา สองหน้าที่อยู่ไม่น้อย ทำงานพรรคด้วยทำงาน นปช.ด้วย งาน “สองขา” ดังกล่าวจึงต้องจัดการให้เกิดประโยชน์ต่อภาพรวมของขบวนการต่อสู้


ที่ ผ่านมา ขบวนการประชาธิปไตยมีความสันทัดจัดเจนในเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่น้อย แต่นั่นก็เป็นความสันทัดของพรรคปฏิวัติ หรือขบวนปฏิวัติในอดีต ยุคก่อน นโยบาย 66/23 ซึ่งไม่มีการถ่ายทอดบทเรียนแลกเปลี่ยนกันอย่างเป็นระบบแต่อย่างใด จึงเป็นเพียงความเข้าใจของบางบุคคลที่เคยผ่านประสบการณ์การสู้รบในเขตป่าเขา มาเท่านั้น มีข้อเท็จจริงมากมายที่สามารถยกขึ้นมาอภิปรายในองค์ประชุมกลุ่มย่อยได้


ใน บางประเทศที่การต่อสู้ได้รับ ชัยชนะ อย่างประเทศเวียดนาม กัมพูชา และ ลาว งานจัดการด้าน “แนวร่วม” จะถือเป็นหัวใจสำคัญ กรณีลาว การเคลื่อนไหวของ “พรรคประชาชนปฏิวัติลาว” ดำเนินไปในระยะแรกภายใต้องค์กรแนวร่วมที่ชื่อว่า “แนวลาวฮักชาติ” สามารถสามัคคีเอาเจ้าชายองค์น้องของเจ้าสุวรรณภูมาที่ชื่อ “สุภานุวงษ์” เชื้อสายเจ้า ผู้มีหัวเอียงข้างประชาชนมาเป็นผู้นำการต่อสู้ ชูขึ้นโดดเด่น ทำให้สามัคคีคนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น เป็นต้น

สอง / ต้องเข้าใจว่า ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยวันนี้มีลักษณะพิเศษเฉพาะที่ไม่เหมือนใครในโลกนี้ เราคิดว่า เราจะได้ประชาธิปไตยก่อน 100 ปีหรือไม่ โดยนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งขณะนี้ก็ 78 ปีแล้ว

ลักษณะ พิเศษประการแรกคือโครงสร้างของระบอบศักดินาอำมาตยาธิปไตยแข็งแกร่งมั่นคง ยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และอำนาจทางการเมือง ที่สำคัญเป็นเรื่องรูปการจิตสำนึก นั่นคือ โครงสร้างการครอบงำทางวัฒนธรรมที่ลงรากลึกอย่างเหลือเชื่อ ผ่านระบบการศึกษาด้วยคำพูดง่ายๆว่า “เรียนไปเป็นเจ้าคนนายคน” ปลูกฝังจิตสำนึกยกระดับจากคนชั้นล่างขึ้นไปเป็นชนชั้นกลาง แล้วเติมแต่งด้วยยศฐาบรรดาศักดิ์อย่าง “เจ้าขุนมูลนาย” ให้กลายเป็นชนชั้นข้าราชการและชนชั้นผู้ปกครอง

ที่สุดก็ลืมกำพืดตัวเอง ได้ใส่เครื่องแบบราชการหรือชุดทหารก็กล้ากระทั่งยิงพ่อแม่พี่น้องของตนเองได้แล้ว

ที่ พูดถึงนี้กล่าวเฉพาะในภาคส่วนของระบบราชการ ทีนี้พูดถึงภาคการเมืองบ้าง ความจำเป็นที่ต้องเอาประชาธิปไตยมาให้ มิใช่ด้วยความเต็มใจแต่ประการใด หากแต่เป็นภววิสัยสากลตามพัฒนาการของโลกที่จักต้องเปลี่ยนไป รูปแบบเศรษฐกิจ และการเมืองที่ก้าวหน้าต้องเข้าแทนที่สิ่งที่ล้าหลัง ประชาธิปไตยในเมืองไทยจึงมีลักษณะพิเศษคือ เริ่มต้นจำเป็นต้องให้อำนาจกับคนชั้นขุนนาง ขุนศึก และพลเรือนผู้มีการศึกษาสูง เพราะพวกนี้เรียกร้องต้องการ กระทั่งขู่บังคับเอา


หากมองให้ดีจะพบว่าเป็นเรื่องการแย่งชิงอำนาจ ของ “ส่วนบน” มาตลอด จะมาแตะหรือมาสัมผัสเอา “ชาวไพร่” บ้าง ก็เมื่อลูกหลานชาวไพร่ได้มีโอกาศเรียนหนังสือสูงๆ แต่จะมีสักกี่คนเล่าที่หลุดพ้นจากวัฒนธรรมปลูกฝังแห่งระบบ การศึกษาไทย นานๆเราจึงได้คนอย่าง ปรีดี พนมยงค์, เตียง ศิริขันธ์, อัศนี พลจันทร์, กุหลาบ สายประดิษฐ์. จิตร ภูมิศักดิ์ และนักสู้เพื่อสังคมในยุค พ.ศ.2500 อีกหลายคน เกิดขึ้นมา แต่ก็เพือจะถูกปราบปราม จับคุมคุมข้ง กระทั่งเข่นฆ่าล่าสังหารตลอดมาในฐานะผู้รู้ความจริงก่อนชาวบ้าน หรือ “ผู้มาก่อนกาล” ตามคำศัพท์ของนักวิชาการในยุคต่อมา


กลุ่มนักการเมือง ในยุคต้นๆ ยังเป็น “คนชั้นบน” อยู่เหมือนเดิม ได้แก่ ขุนนาง ขุนศึก พลเรือนผู้มีการศึกษาสูง จากนั้นจึงค่อยขยายมาสู่ ผู้มีการศึกษาที่มักใหญ่ใฝ่สูง และพวกพ่อค้า หลังยุคเปลี่ยนความเชื่อจากเดิมที่ว่า “สิบพ่อค้าไม่เท่าพญาเลี้ยง” ซึ่งนั่นคือยุคศักดินา

เพราะฉนั้นสำนึกเชิงวัฒนธรรมในทางการเมืองของ นักการเมืองยุคแรกๆ ลึกๆแล้วจึงไม่มี “ความใฝ่ฝันจะสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริง” หากแต่เป็นนักการเมืองเพื่อแสวงอำนาจและผลประโยชน์เพื่อตน เองและพวกพ้อง พรรคการเมือง รัฐสภา และรัฐบาล จึงเต็มไปด้วย พ่อค้า นักธุรกิจ ผู้รับเหมา ขุนศึกขุนทหาร และผู้มักใหญ่ใฝ่สูงที่ต้องการไต่เต้าขึ้นเป็นอำมาตย์


สรุป เมื่อทั้งระบบราชการที่คัดเลือกเอาเฉพาะไพร่ที่พร้อมเปลี่ยนรูปการจิตสำนึก เป็นอำมาตย์ และระบบการเมืองที่เปิดโอกาสให้เฉพาะพวกแสวงหาผลประโยชน์ พวกมักใหญ่ใฝ่สูง ผู้ต้องการไต่เต้าเป็นอำมาตย์ประชาธิปไตยที่แท้จริงจึงยากจะเกิดขึ้นใน ประเทศไทย เมื่อประกอบกับโครงสร้างอันแข็งแกร่งของระบบศักดินาอำมาตยาธิปไตย ทำให้การต่อสู้ของขบวนการประชาธิปไตยเป็นเรื่องยากและมีความสลับซับซ้อนเป็น อย่างยิ่ง ประการสำคัญที่สุดจึงต้องมองให้เห็นลักษณะพิเศษของสังคมไทยดังกล่าว กำหนดยุทธศาสตร์แต่ละระยะให้ชัดเจน มีสายตายาวไกล มองเห็นผู้นำ และสันทัดในการสร้างผู้นำ ไม่ปล่อยให้เป็นไปอย่างเสรี ไร้การจัดตั้งอย่างเป็นระบบ ไม่เช่นนั้นสู้ไปก็รังแต่จะพ่ายแพ้ซ้ำซาก


สาม / ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยควรเป็นบุคคลแบบใด ต้องกำหนดภาพให้ชัดเจนแน่นอน ใน ส่วนของพรรคการเมืองก็ต้องสร้างและสนับสนุนผู้นำขึ้นมา ควรทำให้ต่อเนื่อง เห็นลำดับเป็นหนึ่ง.สอง.สาม.สี่ ยอมรับบทบาทการนำ และเชิดชูให้โดดเด่น ไม่ขัดแย้งแก่งแย่งและช่วงชิงการนำกันเอง วางไว้สำหรับอนาคตข้างหน้าอย่างน้อย 3-5 ปี หรือกว่านั้น ภาพผู้นำดังกล่าวต้องเป็นที่ยอมรับของมวลชน มีบทบาทต่อสู้เพื่อประชาธิปไต ยยาวนานต่อเนื่อง มีแนวคิดแหลมคม แจ่มชัด มีท่วงทำนองสุภาพสุขุม มีสัมพันธภาพกับสื่อมวลชน และบุคคลทั่วไปเป็นอย่างดี มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีความเพรียบพร้อมในภาพความซื่อสัตย์สุจริต และที่สำคัญ เป็นคนมีอุดมการประชาธิปไตยที่แท้จริง กล่าวอย่างเป็นรูปธรรม พรรคเพื่อไทยควรมีจินตนาการในเรื่องนี้


สมมุติว่า เรามอง จาตุรนต์ ฉายแสง เป็น บุคคลที่เข้าข่ายที่กล่าวมา พรรคต้องกล้าสนับสนุนให้เป็นผู้นำ ผู้นำมิได้หมายความถึงตำแหน่งทางการเมืองในพรรคปัจจุบันที่ต้องเป็นหัวหน้า พรรค หรือตำแหน่งสำคัญอื่นใด เราสามารถสร้างภาพผู้นำเชิงจินตนาการได้ สร้างภาพให้เป็นนายกรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปไตยในอนาคต เชิดชูขึ้นให้แข็งแกร่งและมีพลัง เพราะในความเป็นจริง หลังเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 53 เราอาจต้องใช้เวลาพลิกฟื้นสถานการณ์ไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีเป็นอย่างน้อย (เวลานั้น จาตุรนต์ พ้นภาวะบ้านเลขที่ 111 ไปแล้ว) ซึ่งนี้คือสิ่งที่พรรคการเมืองต้องมีจินตนาการ มองข้ามไปในอนาคต และสร้างรูปการสำหรับการต่อสู้ขึ้นมารองรับ แล้วพาไปในทิศทางนั้น เมื่อก่อนเวียดนามในยุคแรกๆมี โฮจิมินห์ เคลื่อนไหวเป็นผู้นำสูงสุด แต่ก็ยังมี ฝ่ามวันดง และคนอื่นๆเป็นผู้นำร่วมต่อสู้ เรื่องอย่างนี้ ทักษิณ ชินวัตร ควรเริ่มคิดอย่างจริงจัง


เช่นเดียวกับองค์กรต่อสู้เพื่อ ประชาธิปไตยอย่าง นปช. และ/หรือองค์กรอื่นๆ ต้องคิดใหม่ทำใหม่ สรุปข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อก้าวไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ ควรเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็น ประชุมถกเถียงกันด้วยเหตุด้วยผลอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน ผ่านการต่อสู้ที่เป็นจริง ทุกฝ่ายต่างได้รับบทเรียน เกิดกลุ่มก้อนกำลังพลที่หลากหลาย ซึ่งต้องคิดว่า จะสู้ต่อไปอย่างไรให้ได้ชัยชนะ จินตนาการถึงภาพอนาคต การนำ แกนนำ คณะนำ งานปิดลับ เปิดเผย ใต้ดิน บนดิน รูปแบบการต่อสู้อันพลิกแพลงแตกต่าง รูปแบบงานแนวร่วม คำชี้นำชี้แนะต่างๆ ควรเกิดขึ้นจากการวิคราะห์กลั่นกรองอย่างถี่ถ้วนรอบคอบโดยคณะนำ มิใช่จากบุคคลที่แสดงความเห็นโดยเสรี เคลื่อนไหวอย่างวีรชนเอกชน และอื่นๆอีกมากมาย


สี่ / เรื่อง “ทักษิณ ชินวัตร” ต้องบอกว่ารัฐบาลเผด็จการอำมาตย์ทุบทักษิณมา 4 ปี ทุบทำลายไม่สำเร็จ เข้าภาษิตโบราณ “จันทน์หอม ยิ่งทุบยิ่งหอม” ทักษิณไม่หายไปจากความทรงจำของประชาชน และที่สำคัญ รัฐบาลไม่อาจทำให้ประชาชนเชื่อว่า ทักษิณเป็นคนชั่วร้ายได้ เหมือนกับที่เมื่อก่อนทำให้คนเกลียดชังคอมมิวนิสต์ รัฐบาลพยายามทำให้ทักษิณเป็นเหมือนคอมมิวนิสต์ในอดีต ด้วยข้อหา “ผู้ก่อการร้าย” แต่ประชาชนกลับคิดว่า ทักษิณถูกกลั่นแกล้ง ทักษิณถูกกระทำแบบสองมาตรฐาน ที่สุด ทักษิณกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพราะฉนั้นไม่ว่าทักษิณจะอยู่ที่ไหน จะไม่อยู่ หรือชื่อนี้หายไปจากโลก แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก็ยังดำรงอยู่


เมื่อทักษิณกลายเป็นส่วน หนึ่งของขบวนการต่อสู้ ปัญหาจึงอยู่ที่ “บทบาท” ที่ผ่านมา บทบาทในฐาะผู้ร่วมต่อสู้นั้นชัดเจน แต่บทบาท “การนำ” ยังเป็นปัญหา ฝ่ายรัฐบาลปักใจเชื่อว่า ทักษิณนำการต่อสู้ แต่ขณะที่ทักษิณเองกลับปฏิเสธ ประเด็นนี้ ความจริงแห่งการเคลื่อนไหวต่อสู้เป็นเรื่องที่ท้าทายต่อการสำรวจทบทวนเป็น อย่างยิ่ง ต้องยอมรับว่าในส่วนของ นปช.มีอิสระเต็มที่ในการเคลื่อนไหว ตั้งแต่ช่วงแรกๆ จนถึง เหตุการณ์หน้าทำเนียบ เมษายน ปี 52 บทบาทการนำจะอยู่ที่ “สามเกลอ”เป็นตัวหลัก


หลังจากนั้นมีการขยายการ นำ เพิ่มจำนวนแกนนำ มีการประชุมบ่อยครั้ง ในช่วงหนึ่งปีก่อนเคลื่อนไหวใหญ่ที่ผ่านฟ้า และราชประสงค์ การเพิ่มแกนนำก็ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งหรือแต่งตั้งโดยใคร ต่างมาโดยธรรมชาติของคนในขบวนการที่ทำงานต่อเนื่องกันมา มีบทบาทบนเวทีปราศรัย มีเวลาให้กับการทำงานเต็มที่ ร้อยรัดรวมตัวกันเข้ามาโดยสมัครใจ เมื่อไม่การแต่งตั้ง เลือกตั้ง ก็ไม่มีกฎระเบียบในการรับคนเข้าคนออก กรณีทำความผิดพลาดใดๆจึงไม่มีอำนาจไปถอดถอนใครออกจากแกนนำได้ บ่อยครั้งตกลงกันในที่ประชุมอย่างหนึ่ง แต่ออกไปปฏิบัติจริงกลับเป็นไปคนละทิศทางกับที่ประชุมมา


การประชุม ทุกครั้ง ไม่มีคำชี้แนะชี้นำอะไรจากทักษิณ การโฟนอินหรือวิดีโอลิงค์เข้ามาแต่ละครั้งไม่มีการกำหนดหัวข้อหรือประเด็น ทักษิณพูดได้โดยอิสระเสรี การสื่อสารถึงทักษิณเท่าที่ทราบเป็นการสื่อสารหลายทาง ใครก็โทรศัพท์คุยกับทักษิณได้ ทั้งนักการเมืองในส่วนของพรรค และแกนนำ นปช.ทุกระดับ รวมไปถึงทหารแตงโมและตำรวจมะเขือเทศ ปัญหาที่ตามมาก็คือ แล้วทักษิณจะเชื่อใคร โดยเฉพาะช่วงปลายหรือช่วงวิกฤติของการต่อสู้ ความขัดแย้งระหว่างแนวทางฮาร์ดคอร์ กับสันติวิธีเริ่มไม่ลงรอยกันชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้การต่อสู้เดินหน้าไปอย่างปั่นป่วน สับสน ไร้การควบคุม


ไม่ ว่าจะอย่างไร ทักษิณ ชินวัตร ได้กลายเป็น “สัญญลักษณ์ประชาธิปไตย” ของสังคมเสื้อแดงไปแล้ว และในความเป็นจริงก็ได้พิสูจน์ให้ยอมรับโดยไม่ต้องคัดเลือก ท่ามกลางสถานการณ์ต่อสู้ ให้เป็นหนึ่งในคณะนำสูงสุดอย่างไม่ต้องสงสัย ในการต่อสู้ครั้งต่อไปจึงน่าพิจารณาว่า ทักษิณคือแนวร่วมซึ่งต้องมีที่อยู่ที่ยืนและมีบทบาทที่แจ่มชัด เมื่อพวกเราก้าวพ้น “ผู้ก่อการร้าย” ไปได้แล้ว ก็จะเหลือสถานะต่อไปเพียงประการเดียวคือ “ผู้กอบกู้ประเทศชาติพ้นวิกฤติสู่ศิวิไล” เท่านั้น


ห้า / ภาพทั้งหมดที่ลำดับมาในสี่ข้อสะท้อนให้เห็นอะไร และเรียกร้องให้เกิดอะไร คำตอบมีดังนี้
หนึ่ง คือสะท้อนให้เห็นลักษณะไร้การจัดตั้ง ไม่มีระเบียบวินัย และไร้การนำที่มีรูปการอย่างแท้จริง สองสะท้อนให้เห็นความไม่พร้อมขององค์กรฯ ที่ยังไม่เข้มแข็งพอจะยกระดับการต่อสู้
สามคือเรียกร้องให้เกิดองค์กรประชาธิปไตย เกิดแนวร่วมประชาธิปไตยที่มีรูปการ
สี่เรียกร้องให้เกิดคณะผู้นำสูงสุดในการต่อสู้ที่ชัดเจน
ห้า ถึงเวลาหรือยังที่จะจัดตั้ง “คณะกรรมการประสานงานกำลังรักชาติรักประชาธิปไตย” เคลื่อนไหวให้สอดคล้องกับลักษณะพิเศษของสังคมไทย ทั้งก่อนและหลังการยกเลิก พรก.ฉุกเฉิน
หกทักษิณต้องจัดวางตนเองไว้ในขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยให้เหมาะสม อย่างไรจึงเหมาะสมเป็นเรื่องต้องช่วยกันคิด


สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล วิพากษ์ตรงๆว่า การต่อสู้ที่ผ่านมา ไม่แสดงให้เห็นลักษณะ “การมีสุขภาพดี” (healthy) ของขบวนการแต่อย่างใด ดังนี้

”การ พ่ายแพ้ครั้งหลังสุดนี้ เป็นการพ่ายแพ้ที่รุนแรง และเสียหายอย่างมาก (เฉพาะเรื่องชีวิตคนเรื่องเดียวก็ประเมินค่าไม่ได้) โดยไม่เพียงแต่ไม่ได้อะไรเพิ่มขึ้น (วันยุบสภาตามที่เรียกร้อง) แต่ยังเสียหายในแง่กลไกต่างๆ ดังที่กล่าวข้างต้น อีกมหาศาล (ทีวี วิทยุ สิ่งพิมพ์)

ถ้าพ่ายแพ้ และเสียหายถึงขั้นนี้ แล้วยังไม่สามารถ "ก่อให้เกิด" (generate) การอภิปราย แสวงหา สรุป ในแง่ความผิดพลาด ในแง่แนวทาง ทิศทาง ไปถึงในแง่บุคคลากรอีก (คือยังคง อับจนในเรื่องเหล่านี้อีก เช่นที่ผ่านๆมา)”


ต้องถือเป็นเรื่องผิดปกติ

คนเสื้อแดงควรต้องเปิดใจให้กว้าง น้อมรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์ จากมิตรและแนวร่วม เพื่อปรับขบวนการต่อสู้ให้เข้มแข็งขึ้น ทั้งต้องรู้ว่า เราสู้กับคู่ต่อสู้ที่ไม่ธรรมดา จะมุทะลุดุดัน หัวชนฝา ไร้เดียงสา ต่อไปอีกไม่ได้อย่างเด็ดขาด อีกสองทศวรรษ ราว 22 ปี ก็จะถึงหนึ่ง 100 ปีแห่งการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแล้ว เราจะชนะได้อย่างไร ชนะก่อนร้อยปีไหม เป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันคิดอ่านอย่างจริงจัง

ดูแลตัวเอง ดูแลกันและกันให้ดี ถนอมรักษาชีวิต ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน อย่าทำลายทำร้ายกันเอง นี้คือการสรุปบทเรียนเพื่อก้าว เดินไปข้างหน้า เรายังคงต้อง “สู้ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ พ่ายแพ้ สู้ใหม่ จนกว่าชัยจะได้มา” ขอให้ทุกท่านโชคดี เดินทางสร้างประชาธิปไตยที่แท้จริงต่อไป สวัสดี.

บันทึกนี้เขียนเสร็จวันที่ 6 กรกฎาคม 2553 (แก้ไขปรับปรุงเผยแพร่ 11 กรกฎาคม)
ขอบคุณที่มา: ไทยอีนิวส์ เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี, กรกฎาคม 15, 2010
Ref: วิสา คัญทัพ'facebook

จาก อัลบั้มภาพThai E news

บันทึกของ วิสา คัญทัพ (ฉบับที่ 4):"ว่าด้วยการนำ เหนือตู้คอนเทนเนอร์ หลังเวทีราชประสงค์"

หาก ข้อมูลผิด การตัดสินใจก็ย่อมพลาด นี้เป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้แพ้ศึกครั้งนี้ เรายังมิได้แพ้สงคราม สงครามยังดำเนินต่อไป เพียงเราแพ้ศึกราชประสงค์ เสียหายไม่น้อย แต่ต้องสรุปและถอดถอนบทเรียน จะเดินหน้าไปเรื่อยโดยไม่สรุปข้ออ่อนของตัวเองมิได้เป็นอันขาด-วิสา คัญทัพ

วันนั้น - เราปลูกต้นมะนาว
หวังได้ลูกมะนาวดั่งมั่นหมาย
ลงทุนลงแรงไปมากมาย
สุดท้ายได้ลูกมะนาวสมใจปอง

ได้ลูกมะนาวแล้วไม่เอา
หลงลืมไปหรือเปล่าหนอเจ้าของ
จะเอาส้มโอใหญ่ใจลำพอง
ย้อนไตร่ตรองหวนคิดอนิจจา

จาก อัลบั้มภาพThai E news

ก่อนเริ่มบันทึกฉบับที่ 4 ขอคุยให้เข้าใจ เรื่องตู้คอนเทนเนอร์หลังเวทีราชประสงค์ว่า มันคือตู้สำหรับให้แกนนำใช้เป็นที่ประชุม
จุ คนแบบเบียดเสียดกันได้ราวยี่สิบกว่าคน เราประชุมกันที่นี่ ตกลงกันตรงนี้ ลงมติกันที่นี่ แล้วปฏิบัติการตามนี้หรือไม่ นั่นคือประเด็นที่จะได้พูดคุยกันต่อไป ในระยะแรกๆที่ย้ายมาเวทีราชประสงค์ใหม่ๆ ไม่มีการประชุมแกนนำใครคิดอะไรได้ก็ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนไปอย่างค่อนข้างไม่ เป็นระบบ

จนเมื่อเห็นควรร่วมกันว่าควรมีการประชุมแกนนำ เหมือนที่เราเคยประชุมกันต่อเนื่องมาตลอดแบบที่อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว และหลังเวทีที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ หน้าที่หาตู้คอนเทนเนอร์จึงตกไปอยู่ที่ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ในฐานะที่เป็นเลขานุการ นปช. ในช่วงวิกฤติ

การประชุมในตู้ คอนเทนเนอร์ นักข่าวให้ความสำคัญมาก เพราะประชุมเสร็จช่วงบ่าย จะต้องแถลงข่าวให้นักข่าวในช่วงราวสี่ห้าโมงเย็น จะมีประเด็นเคลื่อนไหวไปที่ไหน อย่างไร นักข่าวจะให้ความสนใจ

น่า แปลกที่ยิ่งวิกฤติมาก ประชุมเสร็จ ความลับก็ไม่เป็นความลับ นักข่าวรู้สาระสำคัญลึกซึ้งมากกว่าที่แกนนำแถลงเสียอีก ใครเป็นประชาสัมพันธ์นอกจัดตั้ง ในหมู่พวกเราย่อมรู้กันดี

การนำใน ทางยุทธวิธีเพื่อกดดันให้รัฐบาลรับฟังและยอมเจรจากับผู้ชุมนุมเป็นเรื่องที่ คิดค้น ออกแบบกันโดยแกนนำและความเห็นบางส่วนจากผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยปกติอยู่แล้ว

เป็น ต้นว่า การสละเลือดเป็นบัดพลี นำไปราดที่ประตูทางเข้าทำเนียบรัฐบาล และพรรคประชาธิปัตย์ การนำโลหิตของนักสู้เพื่อประชาธิปไตยมาจารึกเป็นบทกวี การเคลื่อนไหวเดินขบวนไปที่ต่างๆ และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่การชุมนุม ยืดเยื้อเป็นแรมเดือนเป็นเรื่องไม่ง่ายที่จะหามาตรการมากดดันรัฐบาลที่ดื้อ ด้านไม่ฟังเสียงประชาชนได้ทุกวัน ไม่มีเคลื่อนไหวสำคัญอะไรมวลชนบางส่วนก็ไม่อยากเข้าร่วม

แค่ฟังการ ปราศรัยไม่มีมาตรการกดดันทำให้เกิดความรู้สึกห่อเหี่ยวสิ้นหวัง ความแรงโดยสภาพการณ์ของการชุมนุมที่ยากลำบากกรำแดดตากฝน เคียดแค้นชิงชังดำรงอยู่ในตัวตนของมันอยู่แล้ว มวลชนในส่วนนี้เพิ่มอุณหภูมิความรุนแรงได้ทุกขณะจากทั้งการพูดปลุกเร้าและ การต่อสู้ที่เป็นจริง

พูดถึง "การนำในทางยุทธศาสตร์" ต้องยอมรับความจริงว่า ก่อนการนัดชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ร่วมประชุมกันอย่างเคร่งเครียดและจริงจัง ถกเถียงกันรอบด้าน หลายครั้งหลายหน หลายวัน เพื่อกำหนดทิศทางที่จะเดินต่อไปให้แจ่มชัด

โดยสรุปบทเรียนสำคัญจากการเคลื่อนไหวหน้าทำเนียบรัฐบาลคราวก่อน เมื่อเมษายนปี 52 ว่า เป้าหมายโค่นอำมาตย์คราวนั้นไกลไป เป็นไปได้ยาก เกิดผลได้แค่ "ให้การศึกษามวลชน" ไม่ก่อผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใดๆทางการปฏิบัติ

สิ่ง ที่เรียกร้อง เรื่องโค่นอำมาตย์ ไม่สอดคล้องกับสภาพงานการต่อสู้ที่เป็นจริงตามวิถีแห่งระบอบประชาธิปไตยที่ มีพรรคเพื่อไทยเป็นแนวร่วมดำเนินงานในระบบรัฐสภา เป้าหมายการต่อสู้ครั้งใหม่จะกำหนดเลื่อนลอยเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเรียกร้องให้เกิดผลที่สามารถปฏิบัติให้เป็นจริงได้

ทั้งสามารถ สามัคคีและรวมความเห็นด้วยของมวลชนคนทั่วไปอย่างกว้างขวาง ไม่เฉพาะคนเสื้อแดง สร้าง "รายรับ"ทางการเมืองที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้

เพราะฉะนั้น เป้า "ยุบสภา" จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อ ให้พรรคประชาธิปัตย์พ้นสภาพจากรัฐบาลไปโดยเร็วที่สุด เปิดโอกาสให้มีการเลือกตั้งใหม่ และพรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล ขณะเดียวกันก็สร้างความเข้มแข็งและการขยายตัวขององค์กรมวลชน นปช.แดงทั้งแผ่นดินเพื่อปกป้อง รักษา และพัฒนาประชาธิปไตยต่อไป

ใน การดำเนินการด้านงานโรงเรียน นปช. ได้ให้การศึกษาแก่คนเสื้อแดงถึงความเป็นอิสระของ นปช.อย่างแจ้งชัด ว่า นปช.ไม่ใช่พรรคเพื่อไทย การชี้นำบังคับบัญชาต้องแยกออกจากกัน ไม่มีใครควบคุมใคร หากเป็นแนวร่วมกันบนเส้นทางประชาธิปไตย เป็น "สองขาสองแขน" อาจมีคนของพรรคบางคนยืนควบอยู่ทั้งสองฟากฝั่งก็ไม่เป็นไร เพราะ นปช.ยึดถือการนำรวมหมู่

เราคิดล่วงหน้ากันไว้แล้วว่า ถ้าได้ชัยชนะ เมื่อรัฐบาลยอม "ยุบสภา" เราจะกลับไปรุกเร่งเรื่องโรงเรียน นปช.อย่างเอาการเอางานต่อไป ขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็เดินหน้าหาเสียงคู่ขนานกันไปกับขบวนพลเสื้อแดง ที่ชัดเจนก็คือ นปช.เรียกร้องประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นี่คือเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ที่ นปช.ประชุมสรุปผลว่าจะเดินไปตามนี้

สุด ท้าย สิ่งสำคัญที่สุดที่ย้ำกันหนักแน่นตลอดมาก็คือ "สันติวิธี" สันติวิธีที่แท้จริงเท่านั้นที่จะทำให้เราได้ชัยชนะในการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้

แต่ ทว่าเค้าลางของความรุนแรงก็ล่วงล้ำกล้ำกรายเข้ามาในขบวนการของ นปช.ตลอด ผ่านเงาทะมึนของบางคนและบางองค์กร มิใยว่าจะปัดป้องและเดินหลีกหนีไปอย่างไรก็มิสามารถหลุดพ้น การพัวพันดังกล่าวแอบแฝงหลบเร้น และเปิดเผยโจ่งแจ้ง มาตั้งแต่ต้น จนระยะท้ายๆของการชุมนุม ถึงขั้นจะปลด "สามเกลอ" ออกจากแกนนำ ตั้งฝ่ายฮาร์ดคอร์ขึ้นเป็นแทน ดังข่าวที่ปรากฎออกมา

ประเด็น ความรุนแรงเป็นเรื่องที่น่าค้นคว้ากันต่อไปทั้งเบื้องตื้นเบื้องลึก รวมทั้ง เบื้องหลังการปลิดชีวิตสังหารแกนนำทุกสีเสื้อว่าแท้จริงมาจากบัญชาการของผู้ ใด

ว่าด้วยปัญหาการนำการต่อสู้โดยภาพรวม

ขอ อนุญาตขึ้นหัวอย่างนี้ เพื่อสะดวกต่อการวิเคราะห์ เพราะเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งยวด สำหรับขบวนการประชาธิปไตยที่จะเคลื่อนรุดหน้าต่อไป อันที่จริง ประเด็นนี้เขียนยาก คนกลัวเปลืองตัวเขามักไม่เขียนไม่พูดกัน แต่ทว่าด้วยจิตใจแห่งรักและห่วงใยเยี่ยงมิตรสหายที่ดี เห็นทีต้องยอมเปลืองตัว

ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยที่ทรง อิทธิพลอย่างแท้จริงวันนี้ต้องยอมรับว่าคือ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ไม่ว่าจะพิจารณาจากด้านไหน ด้านเป็นฝ่ายกระทำ หรือฝ่ายถูกกระทำ


ด้าน เป็นฝ่ายกระทำเช่น เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีประชาชนรักใคร่ชื่นชมนิยมยกย่องมากที่สุด เป็นผู้ทรงอิทธิพลและเจ้าของพรรคตัวจริงตั้งแต่ไทยรักไทยมาจนถึงเพื่อไทยใน ปัจจุบัน ใครที่ไม่ยอมรับ และไม่เอาด้วยก็ต้องออกไปอย่าง เนวิน ชิดชอบ เป็นต้น เป็นผู้ที่แกนนำ นปช.ต้องรับฟัง บางส่วนอาจอยู่ในฐานะต้องเชื่อและรับไปปฏิบัติ บางส่วนฟังแต่สามารถคิดและเห็นต่างได้


มองในฐานะที่เป็นฝ่ายถูกกระทำ บ้าง ท่านทักษิณถูกกล่าวหาโดยตรงอยู่แล้ว ทั้งจากชนชั้นสูง เหล่าอำมาตย์ ตลอดรวมถึงรัฐบาลประชาธิปัตย์และพลพรรคว่าเขาคือ "ผู้นำคนเสื้อแดง" ทุกความผิดและข้อกล่าวหาสารพัดจึงลงตรงไปที่ทักษิณทั้งหมด สื่อมวลชนภายใต้การกำกับของรัฐโฆษณาป่าวร้อง ใส่ร้ายป้ายสี โจมตีทักษิณในทุกกรณี แม้กล่าวหาในทางลบ แต่เมื่อรัฐบาลสมุนอำมาตย์ก้าวมาโดยวิธียึดอำนาจรัฐประหาร ผลก็กลับเป็นตรงกันข้ามที่ผู้ก่อการร้ายในสายตาของพวกเขากลายเป็น "ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยไทย" ในสายตาสากลและสายตาคนไทยผู้รักความเป็นธรรมบางส่วน

1. ปัญหาอยู่ที่ว่า ขอบเขตและรัศมีการนำของทักษิณตีวงพื้นที่ของเขาออกไปมากน้อยแค่ไหนในทางเป็นจริง

บทบาท การนำในพรรคเพื่อไทย ใน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน ในองค์กรแนวร่วมทั่วไปอื่นๆ รัศมีดังกล่าวมีฐานะกำหนดให้เขาสามารถทำได้ในขั้น "เสนอความคิดเห็น" หรือ "บังคับบัญชาสั่งการ" ให้ทำตามนี้

หากพิจารณาตามมิตินี้ คงมีคำตอบสำหรับพรรคเพื่อไทยไปแล้วว่าบังคับบัญชาสั่งการโดยใคร แต่ ในส่วนของแกนนำ นปช.ต้องพิจารณาบุคคลชนิดตรวจสอบตัวต่อตัว ซึ่งเห็นว่าผู้ที่ไม่ยืนกางขาอีกข้างไปไว้กับพรรคเพื่อไทยภายใต้เงื้อมเงา ของทักษิณนั้น น่าจะเป็น "เสียงส่วนน้อย"

ขยายความว่า "เสียงส่วนน้อย" ดังกล่าวบางคนลงสถานีบางซื่อ บางคนเดินทางต่อไปแล้วแต่เหตุผลส่วนตนของแต่ละคน

เรา ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลังรัฐประหารปี 2549 ขบวนการประชาธิปไตยเติบใหญ่ขึ้นด้านหลัก เพราะมี ทักษิณ ชินวัตร และพรรคการเมืองของเขาเข้าร่วมต่อสู้อย่างเอาจริงเอาจัง ดังนั้นปัญหาการนำจึงจำเป็นต้องช่วยกันสังเคราะห์ เพื่อการก้าวต่อไปให้ได้ประโยชน์

2. ปัญหาอยู่ที่ว่า ก่อนและหลังการถูกรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีการทบทวนความผิดพลาดในการนำอันใดบ้างหรือไม่ มีการรับฟังคำเตือนอันปรารถนาดีของมิตรของสหาย ไม่ว่าจะในหรือนอกประเทศหรือไม่อย่างไรบ้าง

ทบทวนการไว้ วางใจคนผิด ทบทวนการไม่ไว้วางใจคนที่ควรไว้วางใจ ทบทวนการจำแนกมิตรศัตรู ทบทวนการประเมินความสามารถของบุคคลรอบข้าง ใครควรทำงานใด ได้หรือไม่ได้อย่างไร ทบทวน และทบทวนอีกหลายหลากเรื่องราว

โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ทบทวนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของมิตรประเทศทั่วโลกที่อุดมสมบูรณ์บทเรียนใน การต่อสู้กับอำมาตย์ฟัสซิสต์ทั้งปวง ถอดถอนบทเรียนจากเขา เพราะนี่คือการต่อสู้ในเรื่องเก่าๆ ที่หลายคนมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว

เว้นไว้เสียแต่ว่าเรื่องงานบริหารจัดการสมัยใหม่อันเป็นความสามารถเฉพาะที่หาใครเทียบเทียมท่านทักษิณได้ยากเต็มที

3. ปัญหาอยู่ที่ว่า จะเดินต่อไปอย่างไร ขณะที่ฝ่าเท้าของประเทศไทยใหญ่ขนาดนี้ จำเป็นต้องตัดรองเท้าขนาดที่พอดีกับ "ตีนไทย" แม้หลงผิดไป "ตัดตีนให้เข้ากับเกือก" ดั่งโบราณว่า ความพลาดผิดก็จะปรากฎซ้ำแล้วซ้ำเล่ามิหยุดหย่อน เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดอย่างจริงจัง

ผู้ใหญ่ ผู้มีประสบการณ์การต่อสู้กอบกู้บ้านเมืองอย่างเข้มข้นท่านหนึ่ง กล่าวสรุปเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2553 ที่ผ่านมา เป็นความอุปมาอุปมัยอย่างแหลมคมว่า
"เราปลูกต้นมะนาว ก็ต้องได้ลูกมะนาว ได้แล้ว กลับไม่เอา จะไปเอาผลส้มโอ"

คำ ถามก็คือว่า ปลูกต้นมะนาวจะได้ส้มโอหรือ คำถามก็คือว่า ต้องการ "ยุบสภา" จะได้ผลอันใดที่ไกลไปกว่านี้อีกเล่า เป็นเรื่องที่ต้องทบทวนอย่างยิ่ง ทบทวนอย่างจริงใจ ทบทวนอย่างมีสติ ทบทวนด้วยความเมตตา กรุณา และปราณี

4. ปัญหาอยู่ที่ว่า ผู้นำขบวนการประชาธิปไตยอย่าง ดร.ทักษิณ ชินวัตร ในวันเวลาที่ยากลำบาก จะดำรงรักษา "บทบาทอันทรงอิทธิพลอย่างสูง" ให้เคลื่อนไหวเกิดประโยชน์อย่างงดงามต่อไปได้อย่างไร

เมื่อ ต้องเคลื่อนไหวอยู่ต่างประเทศ และถูกปฏิเสธจากอำนาจมืดดำอำมหิตสาหัสถึงเพียงนี้ แล้วในประเทศจะเคลื่อนไปให้ประสบความสำเร็จได้อย่างไร ให้ใครเป็นคนนำทาง ใครที่มีภาพลักษณ์เป็น "ผู้นำขบวนการประชาธิปไตย" อันเป็นที่ยอมรับของผู้คนทั่วไปทั้งในประเทศและสากล สามัคคีคนได้กว้างขวาง มีเกียรติประวัติการต่อสู้ มีอุดมการประชาธิปไตย มีวัยวุฒิคุณวุฒิอันเหมาะควร

ไม่ใช่นักการเมืองที่คิดแต่ผลประโยชน์ ทางการเมืองแบบรายวัน ต้องก้าวพ้นความเป็นส่วนตัว และก้าวข้ามการเมืองแบบผลประโยชน์ เพราะวันนี้การเมืองเป็นเรื่องของอุดมการประชาธิปไตย ชีวิตเลือดเนื้อของประชาชนที่เสียไป ต้องการคำตอบของผู้นำขบวนการในเรื่องเหล่านี้

นักการเมืองที่นับตัว เลขเงินในกระเป๋า ไม่ใช่ผู้นำขบวนการต่อสู้ที่จะสามารถนำท่านทักษิณกลับประเทศไทยได้ ผ่านการสู้รบยาวนานมากว่าสี่ปี ถึงวันนี้ท่านทักษิณควรต้องรับฟังความคิดเห็นจากมิตรร่วมรบคนอื่นๆ บ้าง นอกเหนือจากการฟังในแบบ "ลูกน้องกับหัวหน้า" (บันทึกฉบับที่ 3 ผู้เขียนเคยยกตัวอย่างชื่ออย่าง จาตุรนต์ ฉายแสง แต่ใน ความเป็นจริงอาจมีท่านอื่นๆอีกซึ่งเราต้องช่วยกันคิด) งานของท่านทักษิณในครั้งนี้จึงยุ่งยากสลับซับซ้อนไม่แพ้งานของเนลสัน แมนเดนลาแห่งอัฟริกาใต้

5. ปัญหาอยู่ที่ว่า การนำของ นปช.แดงทั้งแผ่นดินได้สิ้นสุดความเป็นเอกภาพแห่งการนำรวมหมู่อย่างแท้จริง ณ.วันที่ 10 พฤษภาคม 2553 สิ้นสุดลงพร้อมกับการขอลงสถานีบางซื่อของประธาน นปช.แดงทั้งแผ่นดิน วีระ มุสิกพงศ์

และตามมาในวันที่ 11 พฤษภาคม ด้วยการลงสถานีเดียวกันของประธานพีเพิลชาแนล อดิศร เพียงเกษ จนณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดทีเล่นทีจริงว่า ไปแล้วทั้งสองประธาน (รวมทั้งผู้เขียนและไพจิตร อักษรณรงค์) เหตุผลก็คือ เมื่อเห็นว่า เรามาปลูกต้นมะนาว และได้ลูกมะนาวแล้ว จะไปเอาส้มโอได้อย่างไรนั่นเอง ความรุนแรงไม่ว่าจะเกิดจากฝ่ายใดก็ตามกำลังย่างกรายเข้ามาอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งไม่ใช่แนวทางสันติวิธีของ นปช.ดังที่ได้กำชับกันหนักแน่นมาตั้งแต่แรก

อดิศร เพียงเกษ ปรารภว่าเขาขอถอนคันเร่ง ไปเหยียบเบรคเหยียบคลัชเพื่อจะถ่วงรั้งให้รถทั้งคันรู้สึกตัวบ้างว่าควรหยุด ความไม่เป็นเอกภาพของแกนนำแจ่มชัดตั้งแต่วันนั้น

6. ปัญหาอยู่ที่ว่า ข้อมูลที่ได้รับ มาจากไหน เหตุผลอะไรที่ทำให้เชื่อถือ ว่าถ้ายืดเยื้อต่อไปแล้วจะได้เกินกว่าลูกมะนาว

แน่นอนหากข้อมูลผิด การตัดสินใจก็ย่อมพลาด นี้ เป็นบทเรียนอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้แพ้ศึกครั้งนี้ เรายังมิได้แพ้สงคราม สงครามยังดำเนินต่อไป เพียงเราแพ้ศึกราชประสงค์ เสียหายไม่น้อย แต่ต้องสรุปและถอดถอนบทเรียน จะเดินหน้าไปเรื่อยโดยไม่สรุปข้ออ่อนของตัวเองมิได้เป็นอันขาด

ที่ แล้วมา ท่านทักษิณ ชินวัตร อาจคิดว่าไม่มีใครกล้าทำรัฐประหาร แต่แล้วก็โดนรัฐประหาร อาจคิดว่าคนใกล้ชิดที่ให้ยศให้ตำแหน่งเป็นมิตรที่ดี แท้แล้วกลายเป็นมิตรของเปรม ถึงเวลาก็ถอนยวง ถึงเวลาก็หันหัวไปทำตามคำสั่ง พล.อ.เปรม พวกเขาล้วนซ่อนอยู่ในเรามากมายเหลือเกิน และจนถึงวันนี้ก็มิรู้ว่า ยังมีพวกเขาในพวกเราอยู่อีกหรือไม่ น่าวิเคราะห์ว่า ทำไมคิดเห็นเหมือนเราอยู่ดีๆ สั่งคำเดียวก็เปลี่ยนใจ

ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนมาจากความปราถนาดี รักและห่วงใยอย่างจริงใจ วันนี้ องค์กรมวลชน "คนเสื้อแดง" เกิดขึ้นมากมายหลากหลาย คิดค้นรูปแบบและวิธีการต่อสู้ตามเงื่อนไขและสภาพการณ์ต่างๆ เฉพาะตนอย่างอิสระ แสดงให้รัฐบาลของอำมาตย์และชนชั้นสูงมองเห็นแล้วว่า

พวก เขามิอาจหยุดขบวนการต้านอธรรมของประชาชนลงได้ ตราบใดที่เขาไม่สร้างสังคมธรรมให้เกิดขึ้นอย่างแท้จริง... ไม่มี นปช.ไม่มีแกนนำ ประชาชนก็สามารถนำพาการต่อสู้ต่อไปได้ และมิใช่ขยาย ตัวจากเล็กไปสู่ใหญ่ หากแต่ขยายตัวจากใหญ่อยู่แล้ว ให้มหาศาลยิ่งๆขึ้นไปอีก... ไม่มี นปช. ก็สามารถมีองค์กรอื่นๆอีกหลากหลาย ทว่าองค์กรจะเติบโตหรือไม่ย่อมอยู่ที่แนวทาง ตลอดจนยุทธศาสตร์และยุทธวิธี จะถูกต้องสอดคล้องกับสภาพภววิสัยแห่งการต่อสู้หรือไม่...

ในทางกลับกัน แม้มีมวลชนตื่นตัวก้าวหน้ามากมาย แต่ไร้ผู้นำ ไร้การนำพาอันถูกต้อง ชัยชนะแห่งประชาชนก็ยากจะบังเกิด

จะเอาอย่างไรก็รีบดำเนินการกันเถิด ปล่อยไปอย่างที่เป็นอยู่น่าสงสารผู้ไร้อิสระภาพยิ่งนัก

สุดท้ายขอจบบันทึกฉบับที่ 4 ด้วยข้อสรุป "ว่าด้วยผู้นำ"ของนักสู้เพื่อสังคมธรรมนาม เนลสัน แมนเดลา ดังนี้
"ผู้นำที่ดี ไม่จำเป็นต้องแสดงความคิดเห็น.... แล้วสั่งการให้คนอื่นทำตาม เขาจะฟัง สรุปประเด็น หาวิธีรวบรวมแนวคิดเข้าด้วยกัน ผลักดันให้ทุกคนลงมือกระทำการ"

และสุดท้ายของ เจ.เอ็น.สิงห์ นักต่อสู้เพื่อเสรีภาพชาวอินเดีย
"สันติวิธีไม่ได้ทำให้เราล้มเหลว เป็นพวกเราต่างหากที่ทำให้สันติวิธีล้มเหลว"


บันทึกฉบับนี้เขียนปรับปรุงแก้ไขเสร็จ 10 สิงหาคม 2553
ขอบคุณที่มา: ไทยอีนิวส์ เผยแพร่เมื่อวันพฤหัสบดี, สิงหาคม 12, 2010
Ref: วิสา คัญทัพ'facebook

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น