วันเสาร์, กรกฎาคม 31, 2553

Matichon Online: เบื้องลึก ... ปฏิบัติการณ์หัก"เขมร" ล้มแผนจัดการ"พระวิหาร" คกก.มรดกโลกเลื่อนพิจารณาเป็นปีหน้า

จาก อัลบั้มภาพ Matichon Online
ที่มา: Matichon Online: หนังสือพิมพ์มติชนออนไลน์ : หนังสือพิมพ์คุณภาพ เพื่อคุณภาพของประเทศ

เบื้องลึก ... ปฏิบัติการณ์หัก"เขมร" ล้มแผนจัดการ"พระวิหาร" คกก.มรดกโลกเลื่อนพิจารณาเป็นปีหน้า


หมายเหตุ : เรียบเรียงจากการรายงานข่าวบรรยากาศเบื้องหน้าและเบื้องหลังการประชุมคณะ กรรมการมรดกโลกที่บราซิล เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม โดยทีมผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ 3 ช่องที่เดินทางไปกับคณะของนายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)


ในที่สุดที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้มีมติเลื่อนการพิจารณาแผนการ บริหารจัดการปราสาทพระวิหารที่เสนอโดยประเทศกัมพูชาออกไปเป็นปี 2554 ที่ประเทศบาร์เรน


แต่กว่าผลจะออกมาเช่นนั้น คณะทำงานเจรจานำโดย นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ชนิดแทบเลือดตากระเด็น


ปฏิบัติการณ์ขวางกัมพูชาเริ่มเขม็งเกรียวตั้งแต่ เวลา 17.30 น.วันที่ 28 กรกฎาคม (ตามเวลาท้องถิ่นของประเทศบราซิล) นายสุวิทย์ และคณะรวม 4 คน นั่งเจรจานอกรอบกับ นายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา กับคณะ เกี่ยวกับแผนการบริหารจัดการพื้นที่ปราสาทพระวิหาร มีเอกอัครราชทูตบราซิล เป็นผู้ดำเนินการเจรจา


บรรยากาศการเจรจาเป็นไปด้วยความเครียด ประธานที่ประชุมพยายามปรับเปลี่ยนในร่างแผนบริหารจัดการในจุดต่างๆ เพื่อให้ฝ่ายไทยยอมรับ และให้การรับรองการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารให้สมบูรณ์ในวันนี้

จาก อัลบั้มภาพ Matichon Online

แต่นายสุวิทย์และผู้แทนไทยยืนยันว่า แม้เป็นเพียงร่างแผนการบริหารจัดการของปราสาทพระวิหาร แต่ปรากฏว่ามีบางส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในเขตที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ 4.6 ตารางกิโลเมตร (buffer zone) ซึ่งไทยก็อ้างสิทธิในพื้นที่นี้ตามชายขอบของสันปันน้ำ (water shade)ว่าเป็นเขตอธิปไตยของไทย รวมทั้งร่างข้อตกลง 7 หน้าที่กัมพูชาแจกในที่ประชุมก่อนการพิจารณาวาระนั้น ในเอกสารระบุว่ามีการทำกิจกรรมบางอย่างในเขตอธิปไตยของไทย ซึ่งฝ่ายไทยไม่สามารถยอมรับได้ นอกจากนี้ แผนการบริหารจัดการฉบับเต็ม ความยาว 130 หน้า ทางกัมพูชาอ้างว่าได้เผยแพร่ในเว็บไซต์ของศูนย์มรดกโลกแล้ว แต่ฝ่ายไทยยังไม่เห็นแผนถูกเผยแพร่มาก่อน


ฝ่ายนายซก อานเองก็ ไม่ยอม และแจ้งฝ่ายไทยว่า ยอมให้ไทยมามากพอแล้ว พร้อมชี้แจงว่าแผนบริหารไม่ได้นำเขตแดนด้านทิศตะวันตกของปราสาทพระวิหารมา เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่บริหารจัดการ
แต่ผู้แทนไทยแย้งว่า ทิศตะวันออกด้านบันไดหักยังไม่ได้กั้นพื้นที่ และยังมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนอยู่ ดังนั้นประชาชนคนไทยยังรับไม่ได้


ยังมีอีกประเด็นที่หารือกันคือการระบุถ้อยความในร่างวาระที่ต้องแจ้ง ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกรับทราบในวันที่ 29 กรกฎาคม (ตามเวลาท้องถิ่น) โดยฝ่ายไทยขอให้เขียนว่า "รับทราบการยื่นเอกสารของกัมพูชา" แต่กัมพูชาขอให้ใช้คำว่า "รับทราบเอกสาร" ซึ่งฝ่ายไทยรับไม่ได้ เนื่องจากมีความหมายต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะถ้าระบุตามที่กัมพูชากำหนด เท่ากับฝ่ายไทยได้รับทราบในรายงานแผนการบริหารจัดการลงลึกลงไปในรายละเอียด
ในตอนท้าย ตัวแทนกัมพูชาประกาศจะเดินหน้ายื่นแผนบริหารจัดการต่อที่ประชุมคณะกรรมการในวันที่ 29 กรกฎาคม (ตามเวลาท้องถิ่น)


ขณะที่ฝ่ายไทยประกาศจะใช้มาตรการตอบโต้ เริ่มจากเบาไปหาหนัก คือ
1.ไม่ยอมรับแผนจัดการปราสาทเขาพระวิหาร และไม่ยอมรับรายงานสภาพการอนุรักษ์ที่กัมพูชาจะเสนอต่อที่ประชุม
2.หาก ที่ประชุมยังยืนยันจะพิจารณาวาระดังกล่าว ผู้แทนไทยจะออกแถลงการณ์ตำหนิ และประณามการทำงานของฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการมรดกโลกที่ฝ่าฝืนและละเว้นกฎ การประชุม
กรณียินยอมให้กัมพูชาเสนอแผนการบริหารการจัดการ ซึ่งตามข้อกำหนดจะต้องเสนอก่อนการประชุม 6 สัปดาห์ แต่กัมพูชากลับส่งและแจกในที่ประชุมตอน 15.00 น.วันที่ 27 กรกฎาคมที่ผ่านมา
เท่ากับยื่นเอกสารการประชุม ไม่ถึง 24 ชั่วโมง
3.ออกแถลงการณ์เพื่อบันทึกไว้ในที่ประชุมเป็นหลักฐานว่า ทางการไทยไม่รับแผนดังกล่าว


ขณะต่อรองกันเรื่องถ้อยคำในร่างวาระที่ต้องแจ้งที่ประชุม นายสุวิทย์ต้องโทรศัพท์มาปรึกษากับนายอภิสิทธิ์ และทีมงานตลอดคืน พร้อมกับสะกดคำแต่ละคำ แต่ละประโยคให้นายอภิสิทธิ์ และทีมงานทราบ เพื่อเลือกใช้คำและประโยคที่ฝ่ายไทยได้เปรียบหรือไม่เสียเปรียบฝ่ายกัมพูชา


เมื่อทั้งสองฝ่ายใช้เวลาราวหนึ่ง ชั่วโมง แต่ไม่สามารถเขียนร่างข้อตกลง (draft decision) เพื่อแถลงต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกได้ เนื่องจากทั้งสองประเทศมีพรมแดนติดกัน และมีปัญหาการบริหารจัดการในพื้นที่ที่ต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ (dispute area) ประมาณ 4.6 ตารางกิโลเมตร จึงต้องไปลุ้นการเจรจานอกรอบอีกครั้งในวันที่ 29 กรกฎาคม (ตามเวลาท้องถิ่น)


เช้าวันที่ 29 กรกฎาคม ก่อนการประชุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมบราซิล ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก และเอกอัครราชทูตบราซิลประจำองค์การยูเนสโก ได้หารือนอกรอบกับนายซก อานฝ่ายเดียวก่อน จากนั้นจึงมาหารือกับฝ่ายไทย จนได้เอกสารวาระเข้าสู่ที่ประชุมใหญ่


เป็นที่รู้กันในขณะนั้นค่อนข้าง ชัดเจนแล้วว่า ฝ่ายจัดการประชุมเห็นชอบให้ใช้ถ้อยคำ "รับทราบการยื่นเอกสารของกัมพูชา" ตามที่ไทยผลักดันแกมกดดัน


หลังจากแจกเอกสารวาระการประชุมต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมใหญ่ ในวินาทีสุดท้ายก่อนจะเริ่มประชุมนั้นเอง ทางตัวแทนกัมพูชาได้ตัดสินใจแจ้งขอถอนเรื่องแผนบริหารจัดการปราสาทพระวิหาร และยอมเลื่อนวาระนี้ออกไปก่อน เพราะรู้แล้วถ้อยคำในเอกสารเข้าทางฝ่ายไหน


นั่นเท่ากับที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลกยอมรับทราบว่า กัมพูชายื่นเอกสารแผนการบริหารจัดการให้คณะกรรมการและประเทศไทยเอาไว้แล้ว แต่ไม่ได้รับทราบในรายละเอียดเป็นอย่างไร จึงต้องนำกลับไปศึกษาในรายละเอียดก่อนแล้วจะพิจารณาอีกครั้งในปีหน้าที่ประ เทศบาร์เรน


ชัยชนะยกนี้จึงตกเป็นของประเทศไทย แต่เป็นชัยชนะแค่ชั่วคราวเท่านั้น


-----------------------


สุวิทย์ คุณกิตติ
รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ


เมื่อเรามาถึงที่ประชุมในบราซิล มีผู้แทนบางประเทศมาพูดคุยกันเราคล้ายล็อบบี้ เขาบอกว่า การประชุมครั้งนี้ เอกสารที่กัมพูชาส่งมามันมีเอกสารที่พร้อมที่จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ มรดกโลกเพื่อพิจารณา เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรก็ตามคณะกรรมการก็คงพิจารณาและคงมติสนับสนุนข้อเสนอ ต่างๆที่เสนอมา ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อเรา ล้วนแล้วแต่เป็นเอกสารที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน เราบอกว่าเราไม่ได้เห็นเอกสารแล้วเราจะพิจารณาอย่างไร


ประการต่อมา ร่างแผนการบริหารจัดการปราสาทพระวิหารต้องเป็นที่ยอมรับของทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง และต้องทำให้แน่ใจว่าผลทางด้านเขตแดน อำนาจอธิปไตย และข้อผูกพันทางด้านกฎหมายจะไม่มีผลกระทบต่อไทย ผมพูดชัดเจนประเด็นนี้ว่าต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้ามีอะไรที่เราติดใจสงสัยอยู่ เราก็ไม่สามารถยอมรับได้


เราจึงเสนอว่าเราจะไม่พิจารณา และต้องคัดค้าน และคณะรัฐมนตรีไทยมีมติสนับสนุนกระบวนการดังกล่าว คัดค้าน ถ้าจำเป็นก็ต้องวอล์คเอ๊าท์ หรือถอนตัวจากสมาชิกภาพ ซึ่งเราไม่อยากไปถึงขนาดนั้น


เมื่อคืน (29ก.ค.ตามเวลาไทย) นายกรัฐมนตรีไม่ได้นอนทั้งคืน เพราะต้องคอยให้คำปรึกษาหารือกับผมและคณะตลอดทั้งคืน เมื่อประสบความสำเร็จ ท่านก็โทร.มาตอนตีห้า แสดงความยินดีกับพวกเรา


เรายังเอาแผนที่ที่กัมพูชาใช้ไปให้กรรมการมรดกโลกดูนอกรอบ พร้อมอธิบายว่ามันมีปัญหาอะไรอย่างไร มีถนนล้ำเข้ามาอย่างไร พรมแดนอยู่ตรงไหน เรารับแผนบริหารของกัมพูชาไม่ได้ รับแล้วมันมีปัญหา ทำให้สูญเสียดินแดน สูญเสียอธิปไตย รับไปแล้วก็ขัดรัฐธรรมนูญ กลับไปโดนคดีติดคุกกันหมด


สำหรับในปี 2555 เราเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการประชุมต่อจากการประชุมที่บาร์เรน


Ref: มติชนออนไลน์ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 05:13:38 น.
--------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น