ถ้านายเจอร์รี่ ลินเบิร์จ (Jerry Lindbergh) ตัวแทนของรัฐบาลสวีเดนไม่ออกมาประกาศเสนอขายเครื่องบินขับไล่ "ยาส 39 ซี/ดี กริพเพน" ให้กับรัฐบาลโรมาเนีย ในราคาชนิดทั้งแจกทั้งแถมออพชั่นพิเศษ 24 ลำ รวม 1,000 ล้านยูโร หรือเทียบเท่า 40,000 ล้านบาท
ข่าว"กริพเพน"คงไม่มีโอกาสถูกนำมาเสนอในหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ "มติชน" อีกครั้งเพราะเหตุว่า โครงการจัดซื้อ "กริพเพน" ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกับที่สวีเดนเสนอขายให้กับ "โรมาเนีย" รัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้อนุมัติจัดซื้อล็อตแรก 6 ลำไปนานแล้วตั้งแต่ปี 2551
แม้มีเสียงทักท้วงตั้งแต่แรกว่า การซื้อ"กริพเพน" แพงกว่าที่ประเทศอื่นๆ
จาก อัลบั้มมติชน ออนไลน์ |
แต่กระนั้นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ ผลักดันซื้อเป็นผลสำเร็จด้วยเงินงบประมาณงวดแรกรวมทั้งสิ้น 19,000 ล้านบาท
ล็อตที่สอง รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไฟเขียวให้ซื้อด้วยเงินงบประมาณ 16,000 ล้านบาท ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553
ห้วง เวลาที่ผ่านมาเนิ่นนาน เพียงพอที่ทำให้ข่าว "กริพเพน"หลุดจากกระแสความสนใจ บังเอิญมีผู้หวังดีนำข้อมูลที่เผยแพร่ในสื่อต่างๆ ของสวีเดนและโรมาเนียมาให้ "มติชน" พร้อมตั้งคำถามว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงซื้อเครื่องบินขับไล่ "กริพเพน" แพงกว่าประเทศอื่นๆ ทั้งๆ ที่ข้อเสนอซื้อจากรัฐบาลสวีเดนที่มีให้กับรัฐบาลไทย แทบไม่แตกต่างกันเท่าไหร่
เครื่องบินขับไล่"กริพเพน" ผลิตโดยบริษัทซาบ แห่งสวีเดน มีประเทศต่างๆ ในโลกซื้อเข้าประจำการรวมทั้งสิ้น 5 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน,ฮังการี,สาธารณรัฐเช็ก,แอฟริกาใต้ และล่าสุดคือประเทศไทย ส่วนประเทศโรมาเนีย ยังอยู่ระหว่างเสนอลดราคา
รัฐบาลสวีเดนต้องการ ซื้อเครื่องบิน"กริพเพน" 200 ลำ แต่ประสบภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ จึงลดเหลือเพียง 100ลำ โดย 31 ลำเป็นรุ่น เอ/บี นำมาปรับปรุงใหม่ให้เป็นรุ่น ซี/ดี ที่เหลือเอาไปขายให้ประเทศอื่นๆ
รัฐบาล ฮังการี ทำสัญญาเช่าและจัดซื้อเครื่องบิน รุ่นซี/ดี เมื่อปี 2546 จำนวน 14ลำ มูลค่า1,000ล้านเหรียญ(ราว 40,000 ล้านบาท-ค่าเงิน 1 เหรียญ/40 บาท) รัฐบาลสวีเดนจัดระบบวางแผนการรบ ระบบเติมน้ำมันกลางอากาศ ระบบเอวิโอนิกส์
การ เจรจาระหว่างรัฐบาลฮังการีกับสวีเดน ใช้เวลานานถึง 4 ปี กว่าสวีเดนจะยินยอมในข้อเสนอว่าด้วยผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้กับรัฐบาลฮังการี โดยเฉพาะการปรับปรุงทักษะคุณภาพแรงงานของฮังการี
ปี 2548 รัฐบาลเช็ก ต้องการเช่า "กริพเพน" เป็นระยะเวลา 10 ปี คิดเป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้น 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ราว 32,000 ล้านบาท (เทียบค่าเงิน 1 เหรียญเท่ากับ 40 บาท) ทางรัฐบาลสวีเดน จัดให้ตามความต้องการ ได้แก่กริพเพนรุ่น ซี/ดี 14 ลำ เครื่องจำลองการบิน ระบบวางแผนการรบ ระบบสนับสนุน การฝึกนักบินและเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดิน นอกจากนี้รัฐบาลสวีเดนยังยินยอมให้ข้อเสนอการตอบแทนทางอุตสาหกรรม หรือ Industrial offsetแก่สาธารณรัฐเช็ก เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นมูลค่า 130 เปอร์เซ็นต์ของสัญญาเช่าเครื่องบิน
นอกจากนี้แล้ว รัฐบาลสวีเดน ยังยินยอมในข้อเสนอผลตอบแทนแก่ "เช็ก" (offset agreement) ประกอบด้วยผลตอบแทนโดยตรง (direct offset) เทียบเท่า 20 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการสนับสนุนและการพัฒนาอุตสาหกรรมอากาศยานและการ ป้องกัน ในกลางปี 2551 สวีเดนจัด 28 โครงการเพื่อสนับสนุนการส่งออกสินค้าของ"เช็ก"
แอฟริกาใต้ จัดซื้อ "กริพเพน" ซี/ดี จำนวน 26 ลำ เมื่อปี 2551 ทางรัฐบาลสวีเดนจัดตั้งศูนย์ฝึกบิน และโรงประกอบเครื่องบินของซาบ พร้อมกับถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการบินให้แก่ชาวแอฟริกาใต้ จำนวนกว่า 200คน นอกจากนั้นรัฐบาลสวีเดนยังให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจผ่านออฟเซ็ตโปรแกรม เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศแอฟริกาใต้ คิดเป็นมูลค่า 5.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งทางด้านการส่งออก การเข้าไปมีส่วนร่วมของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมกว่า 100 กิจการทั้งด้านเหมืองแร่ การสนับสนุนด้านวิจัยการแพทย์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมไม้แปรรูป อุตสาหกรรมเกษตร สนับสนุนภาคบริการและการส่งออก
"การจัดซื้อกริพเพนครั้งนี้ จะช่วยสร้างเสริมอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ และเศรษฐกิจให้แอฟริกาใต้เกิดความแข็งแกร่งอีกด้วย" เอกสารของ "กริพเพน" ระบุ
ส่วนข้อเสนอที่รัฐบาลสวีเดนให้กับไทย ในการจัดซื้อ "กริพเพน"12 ลำ ได้แก่ ความช่วยเหลือในประเทศ (ไม่มีรายละเอียด) การถ่ายโอนเทคโนโลยีด้านการบินการอวกาศและการป้องกันให้กับไทย โดยจะวางรากฐานของภาคอุตสาหกรรมท้องถิ่นของไทยในโครงการพัฒนาในอนาคตรวมถึง โครงการกริพเพน แต่ไม่มีการแจกแจงรายละเอียด
รัฐบาลสวีเดน มอบเครื่องบินให้ 2 ลำ ได้แก่เครื่องบินซาบ 340 พร้อมระบบควบคุมเตือนภัยล่วงหน้ากลางอากาศ หรือ Erieye เครื่องบินซาบ 340 สำหรับการฝึกและขนส่งทางอากาศ
ขณะที่รัฐบาลสวีเดน เสนอขายเครื่องบินกริพเพน 24 ลำให้โรมาเนีย ในราคาหั่นแหลกแข่งกับเครื่องมือสอง เอฟ-16 ของสหรัฐ แค่ 40,000 ล้านบาท พร้อมกับเงื่อนไขล่อใจอย่างมาก อาทิ การชำระหนี้ 15 ปี ฝึกนักบินให้30คน เจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินอีก 60 คน แถมออฟเซ็ต ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจกับประเทศโรมาเนีย 100 เปอร์เซ็นต์ โดยจะสร้างงานให้ชาวโรมาเนียอย่างต่ำ 5 พันตำแหน่ง
ข้อเสนอต่างๆ ที่รัฐบาลสวีเดนจัดให้ประเทศต่างๆ นั้น หากเปรียบเทียบกับไทยแล้วจะเห็นได้ว่า รัฐบาลไทยซื้อในราคาแพง
แม้ว่าตัดออพชั่นเครื่องบินที่เป็นของแถมได้แก่ ซาบ 340 ติดตั้งระบบอีรีอาย และซาบ 340 สำหรับการฝึกออกไป ราคาก็ยังแพงกว่าอยู่ดี
เนื่อง จากซาบ 340 ติดตั้งระบบอีรีอาย รัฐบาลสวีเดนเพิ่งขายให้กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2 ลำในราคา 148.3 ล้านยูโร หรือประมาณ 6 พันล้านบาท ตกลำละ 3,000 ล้านบาท
เมื่อมองย้อนไปหลังในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
กองทัพอากาศพยายามผลักดันเสนอซื้อ "กริพเพน" โดยผ่านทาง พล.อ.อ.คงศักดิ์ วันทนา ผู้บัญชาการทหารอากาศในสมัยนั้น
ถ้าพลิกย้อนข่าวเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2547 พล.อ.อ.คงศักดิ์ ให้สัมภาษณ์โครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ กริพเพน รุ่น ยาส-39 ดังนี้
"รัฐบาล สวีเดนยินดีขายกริพเพนให้กับกองทัพอากาศไทยในราคามิตรภาพ ตกราคาลำละประมาณ 600 ล้านบาท กองทัพอากาศมีความสนใจในเครื่องบินขับไล่รุ่นนี้เช่นกัน เพราะเป็นเครื่องบินรบที่มีศักยภาพสูงและเป็นที่นิยมใช้ในหลายประเทศ ทั้งนี้กองทัพอากาศมีแผนที่จะจัดหาอากาศยานที่มีศักยภาพสูงและราคาไม่แพงมาก นักจำนวน 1 ฝูง หรือ 16 ลำนำมาใช้ประจำการเพื่อปฏิบัติงานในภารกิจต่างๆ ทดแทนเครื่องบินขับไล่แบบโอวี-เท็น (นอ-10) ที่กองทัพได้ปลดประจำการไปแล้ว รวมทั้งเครื่องบินขับไล่แบบ เอฟ-ห้า อีเอฟ (F-5 EF ) ที่กำลังจะปลดประจำการในเร็วๆ นี้"
พล.อ.อ.คงศักดิ์ยังบอกอีกว่า การจัดซื้อเครื่องบินขับไล่ฝูงใหม่นี้ จะใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรแทนการจ่ายเงิน เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการให้ขาดดุลเงินบัญชีเดินสะพัดระหว่างประเทศ เลยใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสินค้าเกษตรแทน
เวลาห่างกันเพียง 4 ปีเศษ ราคา "กริพเพน" 39 ซี/ดี ที่รัฐบาลสวีเดนขายให้ไทย มีราคาขยับพุ่งเป็นลำละ 2,866 ล้านบาท ทั้งๆ ที่เมื่อรวมออพชั่นที่ไม่ต่างจากประเทศอื่นเท่าไหร่ แต่กระนั้นรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ อนุมัติจัดซื้ออย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ!
**ที่มาหนังสือพิมพ์มติชน**
(กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 09:13:27 น. มติชนออนไลน์)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น