วันอังคาร, มกราคม 03, 2555

ที่สุดดาวเด่นปี ′54 ยกให้ "ทหาร" หัวใจพี่หล่อมาก สื่อดราม่าต้องช่อง3-ผู้คนในเพจ"น้ำขึ้นให้รีบบอก"


ที่สุดดาวเด่นปี ′54 ยกให้ "ทหาร" หัวใจพี่หล่อมาก สื่อดราม่าต้องช่อง3-ผู้คนในเพจ"น้ำขึ้นให้รีบบอก"

"โยกเยกเอย น้ำท่วมเมฆ กระต่ายลอยคอ"

ไม่น่าเชื่อว่า เพลงกล่อมเด็กที่มีตรรกะแปลกๆเพลงนี้ จะทำให้เห็นภาพสถานการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา
เพราะปี 2554 เป็นปีกระต่าย และดูเหมือนว่า กระต่ายตัวนี้จะพาผู้คนลอยคอเพราะน้ำท่วมกันเกือบแทบทุกภาคของเมืองไทย

โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี ตั้งแต่เดือนกันยายน น้ำเหนือเริ่มไหลลงมาท่วมภาคกลางจนมาถึงกรุงเทพฯในที่สุด
แน่นอนว่า เหตุเกิดครั้งนี้ ผู้คนจำนวนหลายล้านคนต้องเดือดร้อนกัน จากการไม่มีที่อยู่ ธุรกิจหยุดชะงัก ไปจนถึงขาดแคลนอาหารกันเป็นแรมเดือน

แต่ในภาวะวิกฤติ มักมีฮีโร่เกิดขึ้นมาเพื่อบรรเทาวิกฤติอยู่เสมอ


หากกรุงศรีอยุธยาไม่สิ้นคนดี กรุงรัตนโกสินทร์ก็ไม่สิ้นดาวเด่นที่เข้ามาช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยากในช่วงน้ำท่วมเช่นกัน

มาดูกันดีกว่าว่า ดาวเด่นที่ลอยเหนือน้ำท่วม ที่จะลืมไม่ได้ในปีกระต่ายนี้ มีคนกลุ่มไหนกันบ้าง?


พี่ทหาร หัวใจพี่หล่อมาก

สุดยอดดาวเด่นในช่วงเวลาน้ำท่วมในปีนี้ คงจะหนีไม่พ้น “พี่ทหาร”
ในช่วงเวลาน้ำท่วม ปืน และ รถถัง ไม่ใช่สัญลักษณ์ประดับความเป็นเป็นทหาร
แต่กลับกลายเป็น รถทหาร และเรือทหาร ที่เป็นพาหนะบรรเทาทุกข์ให้กับผู้คนในยามยาก
และที่สำคัญก็คือ กำลังกายจากทหาร ที่อยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชนในเวลา 2-3 เดือน ในช่วงที่สภาวะน้ำท่วมกำลังเข้มข้น

ภารกิจของชายในชุดเขียว มีมากมาย ทั้งขนของไปบริจาค ขับเรือ ไปจนถึงทำกระสอบทรายกั้นน้ำท่วม และมีทหารเกณฑ์หลายร้อยคนที่เลื่อนการปลดประจำการเพื่อช่วยเหลือประชาชน

หัวใจพี่ๆหล่อมาก...



สิ่งที่กองทัพทำไว้ จึงไม่น่าแปลกใจว่า จากผลสำรวจในหลายโพลล์ สรุปได้ว่า ปีนี้ ทหารกลายเป็นกลุ่มคนที่ครองใจประชาชนตัวจริง!


อย่างเช่น เอแบคโพลล์ ได้เปิดผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง"เสียงสะท้อนของผู้ประสบภัยพิบัติน้ำท่วมต่อผู้เข้าให้ความช่วยเหลือ: กรณีศึกษาตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล" โดยศึกษาตัวอย่างในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,478 ตัวอย่าง

ในประเด็นเรื่องความพอใจของหน่วยงานและคณะบุคคลที่เข้ามาช่วยเหลือปรากฏว่า 5 อันดับแรกได้แก่ 1.ทหาร ได้ 9.56 คะแนน 2.อาสาสมัครได้ 9.10 คะแนน 3.สื่อมวลชน 9.08 คะแนน 4.ตำรวจ 9.05 คะแนน และ 5.กทม. 8.34 คะแนน

ส่วนม.กรุงเทพโพลล์ ได้เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “บทสรุปน้ำท่วมกับการทำหน้าที่ของภาคส่วนต่างๆ” โดยเก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งผู้ประสบภัยและไม่ประสบภัย จำนวน 1,087 คน ระหว่างวันที่ 22 - 24 พ.ย. ที่ผ่านมา

กลุ่มบุคคลที่ประชาชนมีความพึงพอใจมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ความพึงพอใจการทำหน้าที่/การมีส่วนร่วมของ ทหาร ร้อยละ 98.3 ความพึงพอใจการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือ ให้กำลังใจ ของคนไทย ทุกคน ร้อยละ 98.2 ความพึงพอใจการมีส่วนร่วม ช่วยเหลือของ มูลนิธิและกลุ่มอาสาสมัครต่างๆ ร้อยละ 96.6

ฟีดแบ็กในเชิงบวกเช่นนี้ “ผู้พันเบิร์ด” พันตรีวันชนะ สวัสดี ในฐานะที่เป็น รองโฆษกกองทัพบก ได้บอกเล่าให้ฟังว่า

“ตอนน้ำท่วม ในส่วนของกองทัพบก ทหารจะมีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายต่างกัน ไม่ว่าจะเป็น ผู้บังคับบัญชาระดับสูง เขาก็จะมีหน้าที่วางแผน อำนวยการ เพื่อสั่งการให้ปฏิบัติ ในส่วนของผู้ปฎิบัติเอง ก็จะนำแผนการเหล่านั้น มาทำเป็นภาคของการปฏิบัติ เพราะฉะนั้น จึงทำให้กองทัพบกสามารถช่วยเหลือประชาชนได้ในพื้นที่ที่กว้างมากขึ้นก็เพราะว่ามันเกิดขึ้นจากสิ่งที่เราวางแผนไว้ตั้งแต่ต้นแล้ว”

ผู้พันเบิร์ดบอกว่า สิ่งที่ทหารทำในช่วงน้ำท่วม ไม่ใช่เพราะเพื่อการเสริมภาพลักษณ์ของกองทัพ แต่เพื่อให้ผู้คนเข้าใจกองทัพมากขึ้น

“ช่วงที่ผ่านมา ผมต้องบอกว่า ประชาชนให้ความรู้สึกที่ดีกับกองทัพ แต่สิ่งนั้นได้บ่งบอกสิ่งที่สำคัญสิ่งหนึ่งก็คือ แสดงว่าประชาชนมีความเข้าใจในพันธกิจของกองทัพ ซึ่งผมจะบอกเสมอว่า ผมไม่ได้ต้องการให้ทุกคนสงสารทหาร เพราะว่าสิ่งที่พวกผมทำ เป็นสิ่งที่ผมเลือกเอง เป็นสิ่งที่รู้อยู่แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง แต่สิ่งที่พวกผมต้องการ คือต้องการความเข้าใจ

“ภาพตอบกลับมา ทำให้ผมเข้าใจว่า ประชาชนส่วนมาก เข้าใจภาพของกองทัพมากขึ้น การใกล้ชิดประชาชน เริ่มมีมากขึ้น ในภารกิจของกองทัพบก”

และนี่คือ สิ่งที่กองทัพบกต้องการที่จะบอกประชาชนในประเทศ

ชวนให้นึกถึงบทสนทนาคมๆของทหารกับประชาชนในช่วงเวลาที่น้ำท่วม ที่ถูกเผยแพร่กันในโลกออนไลน์
ประชาชนถามทหารว่า “ บ้านอยู่ไหนครับ ?”

“เชียงรายครับ” ทหารตอบ

“โชคดีนะครับ น้ำไม่ท่วม” ประชาชนคนนั้นว่า

“ท่วมครับ เพราะบ้านผม คือ ประเทศไทย”



ผมตำรวจ(ครับ)...มาช้าดีกว่าไม่มา

ในวิกฤตมหาอุทกภัยที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) ที่มีกำลังพลกว่าสองแสนนายภายใต้การนำทัพของ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผบ.ตร. แม้จะทำงานใกล้ชิดกับประชาชนมาตลอด

แต่บทบาทในช่วงแรกการเข้าช่วยเหลือแบบถึงบ้านพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมกลับไม่โดดเด่นเท่าทหารที่ระดมกำลังพลพร้อมอุปกรณ์ครบครันลงไปในพื้นที่

ภาพที่ออกผ่านสื่อทั้งทีวี หนังสือพิมพ์ โลกออนไลน์จึงเห็นแต่ภาพรถทหารขนาดใหญ่บรรทุกพี่น้องประชาชนตามท้องถนนที่น้ำท่วมขังวิ่งผ่านไปมาทั่วเมือง มองไปที่ไหนก็เห็นภาพทหารสวมเสื้อยืดสีเขียวนำสิ่งของบรรเทาทุกข์ ถุงยังชีพเข้าไปแจกจ่ายตามบ้านเรือน

เห็นภาพทหารหนุ่มๆอุ้มผู้เฒ่า คนแก่ เด็ก ลุยน้ำท่วมออกมา จนชินตาพี่น้องประชาชน น้อยนักจะเห็นภาพตำรวจ

ทั้งๆที่ความเป็นจริงตำรวจทุกหน่วยก็ไม่ได้ละทิ้งชาวบ้านผู้ประสบภัย มีการระดมกำลังช่วยเหลือพี่ น้อง ประชาชนในพื้นที่แม้โรงพักหลายแห่งจะถูกน้ำท่วมสูงไม่ต่างจากชาวบ้านเช่นกัน

เพียงแต่การเข้าช่วยเหลือต่างคนต่างทำยังไม่เป็นเอกภาพเหมือนทหารที่สีเขียวพรึบไปหมด

ทำให้พล.ต.อ.เพรียวพันธ์นั่งไม่ติด ต้องระดมทีมงานมาช่วยกันฉุดภาพลักษณ์ตำรวจของประชาชนขึ้นมาก่อนจะจมหายไปกับน้องน้ำ
หนึ่งในทีมงานไอเดียกระฉูดนั้นก็มี พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ รองผบช.น.(ผบก.น.1 ตำแหน่งขณะนั้น)รวมอยู่ด้วย

กลยุทธ์คือ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์นำทัพตำรวจสวมเสื้อยืดสีขาวสกรีนคำว่าตำรวจด้วยสีแดงมองเห็นโดดเด่นทั้งด้านหน้าอกและหลัง ออกตระเวนช่วยเหลือพี่ น้องประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมกระจายไปทั่วเมืองไม่น้อยหน้าทหาร

ทีเด็ดไปกว่านั้น การที่ทีมงานตำรวจเลือกเสื้อยืดสีขาวนอกจากจะทำให้เห็นเด่นชัดจดจำง่ายแล้ว เสื้อสีขาวยังเลอะเทอะเปรอะเปื้อนง่าย ภาพที่ออกมายิ่งช่วยให้เห็นตำรวจทำงานหนักสมบุกสมบันบำบัดทุกข์บำรุงสุขเคียงข้างประชาชน

ช่วยภาพลักษ์ตำรวจดูดีขึ้นทันตา แม้จะออกตัวช้ากว่าทหารไปหน่อยก็ตาม!!!


สื่อดราม่า ...ต้องช่อง 3

แม้ว่าสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เน็ตกำลังมาแรง แต่หากมองในบริบทบ้านเรา ในภาพรวม สื่อเก่าอย่างเช่น โทรทัศน์ก็ยังสร้างผลกระทบในสังคมเป็นวงกว้าง

ข้อพิสูจน์คำกล่าวอ้างข้างต้น เกิดขึ้นในวันที่คนในประเทศไทยต้องเผชิญกับน้ำหลาก ภัยเอื่อยๆ ที่ไหลด้วยความเร็ว 3 กิโลเมตรต่อวัน แต่ก็ทำให้ตื่นตระหนกไปทั่วทุกหย่อมหญ้า

ส่วนหนึ่งของ “อารมณ์ร่วม” ของคนไทยทั้งประเทศ นั้นเกิดจาก สื่อมีชีวิตที่เรียกว่า “โทรทัศน์” ที่ไม่ว่าจะเปิดช่องไหน ต้องบอกว่า “น้ำท่วมจอ” เห็นแต่ข่าวน้ำท่วมกันจริงๆ


ไม่น่าแปลกใจที่ชื่อ “คนเล่าข่าว” อย่าง สรยุทธ์ สุทัศนะจินดา จะกลายเป็นชื่อที่ผู้คนพูดถึงมากเป็นอันดับต้นๆจากเหตุการณ์นี้ จนชาวต่างชาติบางคนเข้าใจว่า

นี่คือ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย!

ไม่ว่าผู้อ่านจะมีความเห็นในเชิงลบหรือเชิงบวกต่อชายผู้นี้ ต้องยอมรับว่า รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” ไปจนถึง “เรื่องเด่นเย็นนี้” ของทาง ช่อง 3 ดูจะทำการบ้านในการทำข่าวที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์อย่างข่าวน้ำท่วมมากเป็นพิเศษ
เพราะนี้ไม่ใช่ปีแรกที่ทาง “ครอบครัวข่าวสาม” ทำให้เคมีของรายการตรงกับจริต “ดราม่า” ของคนดูในการทำข่าวน้ำท่วม

ปีวานซืนที่แล้ว(ปี 2553) ทางรายการนี้ ทำข่าวน้ำท่วมจนขโมยซีนรัฐบาลตอนที่คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรี ก็เคยทำมาแล้ว

ยิ่งมาปี 2554 ที่สถานการณ์น้ำท่วมหนักกว่าปีที่แล้ว ทาง “ครอบครัวข่าว 3” ยิ่งลุยหนักขึ้น


ทำให้เราเห็นหน้าค่าตาทีมเล่าข่าวอย่าง น้องไบรท์-พิชญทัฬห์ หรือ เอกราช เก่งทุกทาง ลงลุยน้ำร่วมกับสรยุทธ์ด้วย

โดยเฉพาะ การเข้ามาร่วมเล่าข่าวของ โก๊ะตี๋ อารามบอย ในการจับคู่กับสรยุทธ์ ทำให้การเล่าข่าวในตอนลงพื้นที่น้ำท่วม กลายเป็นสีสันและชอตจำของผู้คนที่เปลี่ยนมาเสพ “ดราม่า” จากข่าว แทนที่จะเป็นละครโทรทัศน์อย่างที่เคยเป็นมา

ผู้ชมจึงได้ซึ้งใจไปกับข่าวโรแมนติกกับเรื่องราว ลุงสมศักดิ์ ที่คอยดูแลป้ายุพิน ภรรยาของตัวเองซึ่งเป็นเจ้าหญิงนิทราในตอนน้ำท่วม

หรือข่าวแนวผจญภัยอย่าง ข่าว แจ็ค สแปร์โรว์ แห่งซอยแอนเน็กซ์ ย่านพหลโยธิน ที่ทำเรือโฟมรับจ้างในราคาถูกขึ้นเอง และเจรจากับเรือรับจ้างที่ขูดรีดให้ลดราคาลง

ความขี้เล่นของโก๊ะตี๋ บวกกับความ “แม่น” ในการจับประเด็นของสรยุทธ์ ผสมกับความ “ดราม่า” ในเนื้อหาข่าว
จึงทำให้การนำเสนอข่าวของ “ครอบครัวข่าว 3” กลายเป็น Talk of the town แห่งปีกระต่าย


นอกจากช่อง 3 จะมี “สายหวาน” สไตล์สรยุทธ์+โก๊ะตี๋ แล้ว ยังมี “สายเข้ม” อย่างทีม “ข่าว 3” ให้เลือกชมอีกทางหนึ่ง

จุดเด่นของ "ข่าวสามมิติ" คือ การรายงานสถานการณ์แบบครอบคลุมมากที่สุดและเปิดประเด็นใหม่ ๆ ให้สังคมจับตามองสิ่งที่หลายสื่อมองข้าม

ความจริงจัง ซื่อตรงและหลีกเลี่ยงการออกความเห็นในประเด็นข่าวของ กิตติ สิงหาปัด และการลงสนามอย่างหนักเอาเบาสู้ของฐปณีย์ เอียดศรีชัย ในระดับที่ว่า ทุกครั้งที่นักข่าวจาก “มติชน” โทรไปขอสัมภาษณ์ครั้งใด ไม่ว่าจะเช้า เย็น หรือค่ำ คำตอบที่มีออกมาก็คือ “อยู่ในสนามข่าว” เสมอ

ความใส่ใจตรงนี้นี่เอง ทำให้ผู้คนเฝ้ารอชมรายการข่าวของพวกเขาในยามค่ำคืน...

ใช่ว่าจะมีแต่งานข่าวของสื่อโทรทัศน์ช่อง 3 ที่ผู้คนพูดถึง แต่รูปแบบรายการของช่อง “ไทยพีบีเอส” ก็ปรับได้น่าสนใจเช่นกัน ด้วยการจัดรายการทั้งหมดภายใต้แนวคิด "เราจะฝ่าวิกฤตน้ำท่วมใหญ่...ครั้งนี้ไปด้วยกัน" หรืออย่างช่อง 7 จากผังรายการเน้นแต่ความ "ดราม่า" ของ ละครโทรทัศน์แต่วันนี้ "ช่อง 7 สี ทีวีเพื่อคุณ" พยายามปรับรูปแบบการทำข่าว เพื่อให้สามารถสู้กับช่องอื่น ๆ ได้อย่างทัดเทียม

ความคิดเหล่านี้นั่นเอง ที่ทำให้สื่อเก่าอย่าง “โทรทัศน์” กลายเป็นดาวเด่นเหนือน้ำท่วมเมื่อปีที่ผ่านมาอย่างเต็มภาคภูมิ


“น้ำขึ้นให้รีบบอก” เพจสร้างสรรค์ ในโลกออนไลน์

บุคคลแห่งปีของสื่อกระแสหลักอย่างไทม์ ในปี ค.ศ.2006(พ.ศ.2549) เขาตั้ง “คุณ”(You) ผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งหลาย เป็นบุคคลแห่งปี


ส่วนในปี ค.ศ.2011(พ.ศ. 2554) ไทม์ได้ยกให้ “ผู้ประท้วง”(The Protester) จำนวนมากมายตั้งแต่เหตุการณ์ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยในอาหรับไปจนถึงกลุ่มคนที่เข้าไปยึกครองวอลล์สตรีต กลายเป็นบุคคลแห่งปี


คำว่า ฮีโร่เอกชน ที่ฉายเดี่ยวแบบซุปเปอร์ฮีโร่ผู้เปี่ยมพลังอย่าง ซุปเปอร์แมน อาจจะกลายเป็นเรื่องที่พ้นยุคไปแล้ว
เพราะขุมพลังมหาศาล อาจจะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มของคนตัวเล็กตัวน้อย จากพลังน้อยๆของปัจเจก เมื่อรวมกลุ่มกันแล้ว ต้องบอกว่า ทรงพลังมาก


ซึ่งสิ่งที่เอื้อให้กับการเกิดพลังเหล่านี้ก็คือ สื่อโซเชียลมีเดียในยุคต้นคริสตศวรรษที่ 21 อย่าง เฟซบุ๊ค, ยูทูบ ไปจนถึง ทวิตเตอร์
ไม่เว้นแม้แต่ เหตุการณ์น้ำท่วมเมืองไทยเมื่อปลายปีที่แล้ว...


ดาวเด่นหนึ่งที่ต้องพูดถึงในเหตุการณ์นี้ก็คือผู้คนจำนวนหลักหมื่น หลักแสนคน ที่อยู่ใน “เพจ” สร้างสรรค์ที่เกี่ยวกับน้ำท่วม ของเฟซบุ๊ค
เพจแรกที่จะต้องพูดถึงเลยก็คือ เพจที่มีชื่อว่า “น้ำขึ้น ให้รีบบอก” ที่ในวันนี้ มีผู้คนเป็นสมาชิกประจำเพจร่วม 3 แสนคนแล้ว!


ในช่วงเริ่มต้นภาวะภัยน้ำท่วม ต้องบอกว่า การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับ “น้องน้ำ” ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

นักวิชาการด้านน้ำก็ใช้ศัพท์แสงยากเกินไป, ส่วนสื่ออย่าง โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ก็เจาะข่าวได้ในพื้นที่ที่จำกัด หรือทางหน่วยงานรัฐต่างก็นำเสนอข้อมูลที่ขัดแย้งกัน


นี่เป็นข้อจำกัดที่ทำให้คนในสังคมกลัว “น้ำท่วม” เพราะไม่มีข้อมูลที่ใช้ในการตัดสินใจว่า จะ “ขนของ”, “จะย้าย” หรือจะ “อยู่ต่อ”


ในวันที่ 6 ตุลาคม 2554 เวลา18.16 น. เพจ “น้ำขึ้น ให้รีบบอก” จึงเกิดขึ้นเพื่อลดช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชนคนเดินดิน(ทั้งดินแห้งและดินเปียก)



เพจนี้เกิดขึ้นด้วยแนวคิดง่ายๆก็คือ ให้ประชาชนช่วยกันเป็นสื่อในการให้ข้อมูลง่ายๆ


เพียงแค่แจ้งสถานการณ์น้ำท่วมที่หน้าปากซอยหมู่บ้านตัวเอง หรือในพื้นที่ที่ตนสามารถให้ข้อมูลได้ เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
จากคนเดียวที่ให้ข้อมูลได้เพียงซอยเดียว เมื่อรวมกันมากๆเข้า ก็จะเห็นข้อมูลในภาพรวมกว้างขึ้นเป็นหลายซอย ด้วยภาษาง่ายที่ไม่ต้องแปรบัญญัติไตรยางศ์ให้เปลืองพื้นที่ในสมอง อย่างเช่น บอกเพียงว่า หน้าปากซอย น้ำท่วมเท่าข้อเท้า เข่า หรือยังไม่ท่วม

เพียงเท่านี้ เพื่อนร่วมเพจก็สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพและสติกันแล้ว

นอกจากนี้ ผู้คนในเพจต่างช่วยกันให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในช่วงน้ำท่วมอย่างเช่น การป้องกันน้ำท่วมด้วยวิธีง่ายๆ ไปจนถึงการทำอาหารทานในยามยากนี้

พอน้ำลด ก็รวมกลุ่มกันทำงานอาสาสมัครจำพวก “บิ๊ก คลีนนิ่ง” หรือไม่ก็ระดมทุนผ่านการจำหน่ายเสื้อของ “เพจ” เพื่อในไปใช้ในการฟื้นฟูพื้นที่ที่ถูกทำลายจากน้ำท่วม


เพจนี้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดเพจอื่นๆที่เฉพาะเจาะจงเฉพาะพื้นที่ในเวลาต่อมา อย่างเช่น เพจ “Thonburi Flood Report” หรือ “ชาวจรัญฯร่วมใจ สู้ภัยน้ำท่วม”

และแม้ว่า “น้องน้ำ” จะไหลลงสู่ทะเลแล้ว

แต่พายุที่เข้าทางภาคใต้ส่งท้ายปีกระต่าย ต้อนรับปีงูใหญ่ ส่งผลให้ “น้องน้ำ” ไปเยือนภาคใต้ตอนล่าง
คงทำให้ผู้คนในเพจนี้...

ยังต้องทำงาน “จิตอาสา” ในโลกไซเบอร์ กันต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น