วันศุกร์, มกราคม 27, 2555

พรก.กู้เงิน 4 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 17.00 น.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกำหนด 4 ฉบับที่ถูกจับตามองจากฝ่ายค้านว่าจะขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ 4 พ.ร.ก.ประกอบด้วย


1. พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555

2.พระราชกำหนดกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติ พ.ศ. 2555

3.พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย พ.ศ. 2555

4.พระราชกำหนดปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555



ทั้งนี้ มาตรา 7 ตาม พระราชกำหนด ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า ในระหว่างการชำระคืนต้นเงินกู้ตามมาตรา 4 ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้


(1) ในแต่ละปี ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำส่งเงินกำไรสุทธิที่ต้องนำส่งรัฐตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบ เข้าบัญชีตามมาตรา 5

(2) ให้โอนสินทรัพย์คงเหลือในบัญชีผลประโยชน์ประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยเงินตราหลังจาก การจ่ายเมื่อสิ้นปีเข้าบัญชีตามมาตรา 5 เฉพาะเพื่อชำระคืนต้นเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน
ระยะที่สอง พ.ศ. 2545 โดยไม่ต้องโอนเข้าบัญชีสำรองพิเศษ

(3) ให้โอนเงินหรือสินทรัพย์ของกองทุนเข้าบัญชีตามมาตรา 5 ตามจำนวนที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

ขณะที่ในมาตรา 8 ระบุว่า ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจเรียกให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเป็นอัตราร้อยละต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝากตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมอัตราดังกล่าวกับอัตราที่กำหนดให้สถาบันการเงินนำส่งเข้ากองทุนคุ้มครองเงินฝากตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้วต้องไม่เกินร้อยละ1ต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีที่ได้รับการคุ้มครองเงินฝาก

เพื่อประโยชน์ในการชำระคืนต้นเงินกู้ หรือดอกเบี้ยเงินกู้ให้พอเพียง ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจเรียกให้สถาบันการเงินนำส่งเงินเพิ่มขึ้นจากที่กำหนดในวรรคหนึ่งก็ได้ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด แต่เมื่อรวมกับเงินที่นำส่งตามวรรคหนึ่งแล้วต้องไม่เกินอัตราร้อยละ1ของยอดเงินที่สถาบันการเงินได้รับจากประชาชน

ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เอกชนกับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐบาล เช่นเดียวกับที่คณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน(กนส.) ได้เป็นห่วง ซึ่งเรื่องนี้ธปท.จะทำหนังสือแสดงความกังวลไปยังกระทรวงการคลัง และถ้ามีโอกาสก็คงจะเข้าหารือกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย

โดยประเด็นที่จะหารือ จะเน้นไปที่การแข่งขันที่เท่าเทียมกัน ที่ทำให้สถาบันการเงินของรัฐสามารถออกผลิตภัณฑ์เงินออมที่ให้ดอกเบี้ยสูง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์เองต้องรักษาฐานลูกค้าจึงไม่สามารถลดดอกเบี้ยตามดอกเบี้ยนโยบาย มีผลต่อประสิทธิภาพนโยบาย

ส่วนการหารือกับกับธนาคารพาณิชย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(FIDF) ที่จะนำไปชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยกว่า 1.14 ล้านล้านบาทนั้น คงจะนัดหารือกับธนาคารพาณิชย์อีกครั้งหลังจากที่ พระราชกำหนด(พ.ร.ก.) มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ

ส่วนกรณีที่ นายกิตติรัตน์ ไม่ต้องการให้ ธปท. เก็บค่าธรรมเนียมกับธนาคารพาณิชย์ในอัตราที่สูงกว่า 0.4% นั้น เรื่องนี้คงต้องขึ้นอยู่กับว่ากระทรวงการคลังต้องการให้การเรียกเก็บเงินสามารถนำไปชำระดอกเบี้ยได้อย่างเต็มที่หรือไม่และจะใช้เวลาในการลดเงินต้นหมดภายในกี่ปี


เปิดดูพระราชกำหนด ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ฯได้ที่นี่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น