วันอาทิตย์, ธันวาคม 25, 2554

แก้รัฐธรรมนูญ ปมร้อน-ข้ามปี


แก้รัฐธรรมนูญ ปมร้อน-ข้ามปี


การเมืองปี 2554 เหตุการณ์ใหญ่คือการพลิกกลับขั้วอำนาจ อันเป็นผลจากพรรคเพื่อไทยเป็นฝ่ายชนะเลือกตั้ง 3 ก.ค.อย่างถล่มทลาย 265 เสียง
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของไทย โดยใช้เวลาเพียง 49 วันหลังสลัดคราบนักธุรกิจหญิง ก้าวสู่สนามการเมืองในฐานะผู้สมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ อันดับ 1 สร้างปรากฏการณ์ตื่นตะลึงและสีสันใหม่ให้สังคมไทย


น.ส.ยิ่งลักษณ์นำเพื่อไทยผนึกกำลัง 5 พรรค จัดตั้งรัฐบาล 300 เสียง ผลักไสประชาธิปัตย์กลับไปอยู่ในมุมฝ่ายค้านตามถนัด หลังผ่านขั้นตอนจัดตั้งคณะรัฐมนตรีและแถลงนโยบายต่อรัฐสภา รัฐบาล'ยิ่งลักษณ์ 1'เริ่มเดินหน้าบริหารประเทศวันที่ 25 ส.ค.

นั่งเก้าอี้ก้นไม่ทันร้อน รัฐบาลก็เจอ'อภิมหาอุทกภัย'ในรอบ 50 ปีจู่โจมใส่ไม่ทันตั้งตัว กลายเป็นงานรับน้องมหาโหด ด้วยเหตุที่รัฐมนตรีส่วนใหญ่เป็นมือใหม่หัดขับ กว่าจะประคองเอาตัวรอดมาได้ก็ตกอยู่ในสภาพสะบักสะบอม

ผลสำรวจโพลพบว่าเหตุน้ำท่วมใหญ่ได้กัดเซาะต้นทุนรัฐบาลละลายหายไปจำนวนมาก ยกเว้นนายกฯยิ่งลักษณ์ที่กลุ่มตัวอย่างเกิน 60 เปอร์เซ็นต์ ยังให้โอกาสทำงานแก้ไขปัญหา และ 75.0 เปอร์เซ็นต์ ไม่คิดว่ามีนักการเมืองคนใดทำหน้าที่นายกฯ แก้ไขน้ำท่วมได้ดีกว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์

การจะรักษาระดับเสียงเชียร์นี้ไว้ได้นานขนาดไหนในปีหน้านั้น มีตัวชี้ขาดหลายเรื่องด้วยกัน อาทิ การเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ การซ่อมแซมฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ถูกมวลน้ำโจมตีเสียหายมากกว่าล้านล้านบาท

การกำหนดแผนรับมืออุทกภัยที่คาดการณ์ว่าจะกลับมาเยือนอีกครั้งในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลว่า จะทำได้ดีเพียงใด ขณะที่การทุจริตคอร์รัปชั่นยังเป็นข้อต้องห้ามของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย ที่นายกฯต้องเอาใจใส่เข้มงวด

ปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้เด็ดขาด อภิมหาอุทกภัยปลายปี 2554 ไม่ได้ส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมเท่านั้น แต่ยังส่งผลสะเทือนต่อภาคการเมือง เป็นที่มาของข่าว'นายใหญ่'ในต่างประเทศ ไม่พอใจรัฐมนตรีบางคนใส่เกียร์ว่าง ปล่อยให้นายกฯ น้องสาวของตนเองต้อง'ลอยคอ'เพียงลำพัง


นำมาสู่การเปิดไฟเขียวให้มีการปรับครม. 3-4 เก้าอี้ในช่วงเดือนม.ค.ที่ใกล้มาถึง เชื่อกันว่าการปรับครม.เดือนม.ค. ไม่น่าจะเกิดความวุ่นวายนักเพราะเป็นการ'ปรับเล็ก'

ที่ต้องจับตาน่าจะเป็นการ'ปรับใหญ่'ช่วงกลางปี หลังจากสมาชิกบ้านเลขที่ 111 พ้นกำหนดโทษเว้นวรรค 5 ปีในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสองทางว่า ทั้ง 111 คนจะเป็นตัวเพิ่มความแข็งแกร่งให้รัฐบาล หรือจะเป็นตัวช่วยทำให้รัฐบาลเกิดความวุ่นวายมากขึ้น

จากการทวงอำนาจกันเองภายในพรรคเพื่อไทยระหว่าง'ตัวจริง'กับ'นอมินี' ตรงนี้จะเป็นตัวชี้วัดบารมีของนายกฯยิ่งลักษณ์ ว่าจะเอาอยู่หรือไม่

ขณะที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นประเด็น'จานร้อน' ถูกเสิร์ฟขึ้นโต๊ะช่วงส่งท้ายปี คาดว่าจะเป็นประเด็นร้อนต่อเนื่องตลอดปีหน้า ซีกรัฐบาลอ้างว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกบรรจุไว้ในนโยบายเร่งด่วนที่ต้องเริ่มดำเนินการในปีแรก

ทั้งยังเป็นนโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงสัญญาไว้กับคนเสื้อแดง ที่ต่อสู้เรียกร้องให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้แทนฉบับปี 2550 ในปัจจุบันซึ่งถูกมองเป็น'ผลไม้พิษ'จากการรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 แต่การที่รัฐมนตรีบางคนใจร้อนรีบคืนพาสปอร์ตให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือบางคนที่ประกาศเดินหน้าพาพ.ต.ท.ทักษิณกลับประเทศด้วยการออกกฎหมายนิรโทษกรรมภายใต้ชื่อพ.ร.บ.ปรองดอง

อาจเป็นสาเหตุทำให้งานใหญ่อย่างการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องเผชิญความยากลำบากกว่าเดิม


เพราะเพียงแค่รัฐบาลหยิบยกเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาพูด โดยยังไม่ทันลงมือทำ ก็ถูกเครือข่ายฝ่ายตรงข้ามตั้งป้อมโจมตีว่ารัฐบาลต้องการแก้ไขบางมาตราเป็นการเฉพาะ เพื่อลบล้างความผิดให้คนๆ เดียวคือพ.ต.ท.ทักษิณ

ถึงรัฐบาลยืนยันจะไม่ใช้อำนาจเข้าไปบงการชี้นำ

พร้อมเสนอแนวทางให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือส.ส.ร.3 ขึ้นมาทำหน้าที่นี้ เมื่อยกร่างเสร็จยังต้องผ่านกระบวนการทำประชามติ ให้ประชาชนประทับตรารับรองก่อนบังคับใช้

แต่ดูเหมือนฝ่ายค้านและกลุ่มต้านทักษิณจะไม่ยอมจำนนง่ายๆ อ้างว่าไม่มีอะไรเป็นหลักประกันได้ว่า รัฐบาลจะไม่หันมาใช้อำนาจเข้าแทรกแซงกระบวนการเลือกตั้งส.ส.ร.แทน

ขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ถูกกำหนดขึ้นหลายซับหลายซ้อน

ยังอาจทำให้รัฐบาลมีปัญหากับคนเสื้อแดง ที่ต้องการให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเริ่มต้นทันที แทนที่จะซื้อเวลาออกไป จนพลาดโอกาสเหมือนที่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เคยโดนมาแล้ว นอกจากการปรับครม. การผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม ไปจนถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีชื่อ'ทักษิณ'เข้าไปแทรกซึมทุกเรื่อง

ที่น่าจับตาในปี 2555 ยังมีกรณีความคืบหน้าคดี 91 ศพจากเหตุการณ์สลายม็อบเม.ย.-พ.ค.2553

ซึ่งล่าสุดเดินมาจุดที่ตำรวจเรียกตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ มาให้การต่อพนักงานสอบสวน คดีสำนวนชันสูตรพลิกศพ 16 ศพที่คาดว่าตายเพราะฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐ

ก่อนส่งสำนวนถึงมืออัยการแล้วครบทั้ง 16 สำนวน และคาดว่าอัยการจะส่งต่อศาลเพื่อเปิดการไต่สวนสาเหตุการตายที่แท้จริงได้ราวต้นเดือนม.ค.นี้

ทั้งยังเตรียมขยายผลต่อไปยังคดีนายฟาบิโอ โปเลงกี ช่างภาพชาวอิตาลี และพล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือเสธ.แดง อีกด้วย

คดี 91 ศพนี้เองทำให้ปี 2555 นอกจากจะเป็นปีตัดสินชะตากรรมรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ว่าจะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่


ยังเป็นปีลุ้นระทึก สำหรับคนอยู่เบื้องหลังสั่งการสลายม็อบเสื้อแดงเมื่อ 2 ปีก่อนอีกด้วย


ที่มา: ข่าวสดรายวัน หน้า 3วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7696

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น