วันเสาร์, กันยายน 24, 2554

"ฐิติมา" ทิ้งบทนางมาร สวมวิญญาณองครักษ์ "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ"


"ฐิติมา" ทิ้งบทนางมาร สวมวิญญาณองครักษ์ "ยิ่งลักษณ์-ทักษิณ"


เมื่อตระกูล "ฉายแสง" สอบตกยกตระกูลในรอบ 19 ปี มีชื่อ ฐิติมา ฉายแสง เป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และชื่อวุฒิพงษ์ ฉายแสง ประจำการที่กระทรวงมหาดไทย

ตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงมาพร้อมกับบทบาทและสคริปต์ ที่ส่งตรงมาจากพรรค เธอจึงอาจต้องรับทั้งบทองครักษ์พิทักษ์คนในตระกูล "ชินวัตร" และตอบโต้ประเด็นการเมืองของรัฐบาล

"ฐิติมา" ตอบทุกข้อสงสัย ไขข้อข้องใจกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ดังนี้

- คิดว่าตนเองเข้ามาเป็น "โฆษกรัฐบาล" ได้อย่างไร

ดิฉันเป็นคนอธิบายอะไรให้คนเข้าใจได้ง่าย พรรคก็เลยดึงมาทำงานตรงนี้ อีกอย่างคือเป็น ส.ส.สอบตก และเขาต้องการผู้หญิงให้ทำหน้าที่ตรงนี้พอดี ดิฉันก็เลยมีโอกาสได้ทำงาน

- สถานการณ์การเมืองดุเดือดมากขึ้น โฆษกรัฐบาลต้องเตรียมตัวอย่างไร

เรื่องการเมืองที่กำลังถาโถมเข้ามา ก็ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติงานของรัฐบาล ว่าเป็นอย่างไร วันนี้ไม่ใช่เรื่องของ เสื้อเหลืองเสื้อแดง เว้นแต่จะมีอะไรที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นมา เพราะช่วงไม่กี่ปีที่ ผ่านมาอะไรก็เกิดขึ้นได้ แต่ถ้ามีก็คงมีการตอบโต้กันเป็นปกติ คงไม่ใช่แบบฮาร์ดคอร์ที่ตอบโต้รุนแรง และท่านนายกรัฐมนตรีก็คงไม่ตอบโต้มากมายเหมือนรัฐบาลสมัยท่านสมัคร (สุนทรเวช)

- สังคมยังติดภาพ "นางมารร้าย" ในสภาผู้แทนราษฎร

ต้องเข้าใจบทบาทของการเป็นโฆษกรัฐบาลเสียก่อน พออยู่ในสภาจำเป็นต้องเป็นแบบนั้น แต่เบื้องหลังความเป็นจริงก็เป็นคนธรรมดา เป็นตัวเอง จะอยู่ตำแหน่งไหนก็ต้องเล่นตามบทบาท

- นายกรัฐมนตรีหญิงกับโฆษกรัฐบาลหญิง ถูกวางตำแหน่งไว้ตั้งแต่ต้น

ถ้าดิฉันไม่สอบตกคงไม่ได้เป็น แต่พรรคก็นั่งหาโฆษกมานาน ซึ่งเขาอยากได้ผู้หญิง เมื่อเขาหาไม่ได้และก็มีคน เชียร์เยอะ ก็เลยเข้ามาทำหน้าที่เป็นความบังเอิญ ที่ดิฉันสอบตกและเป็นผู้หญิง ทำให้สะดวกในการพบปะกับนายกรัฐมนตรีได้ตลอด

- ในทางการเมือง ภาพลักษณ์ของผู้หญิงจะทำให้สถานการณ์เบาบางลง

นายกรัฐมนตรีก็เพิ่งพูดกับดิฉันว่า ผู้หญิงไม่มีความรุนแรงนี่คือประโยชน์ที่จะเอามาใช้ในการสร้างความปรองดอง และผู้หญิงเป็นคนเจ้ากี้เจ้าการจะเป็นประโยชน์ในการทำงานอย่างมาก

หากคู่ตรงข้ามโจมตีรัฐบาลก็เหมือนรังแกผู้หญิง เพราะเราเป็นผู้หญิง เขา กลัวผู้หญิงด่า ถ้าด่าผู้หญิงก็เหมือนรังแก

- โฆษกจำเป็นต้องมีที่ปรึกษา

ต้องมีที่ปรึกษา มีทีม ท่านนายกฯ เคยพูดว่า เราใหม่กันทั้ง ครม. อย่างพี่ปึ้ง (สุรพงษ์ รมว.ต่างประเทศ) ก็ไม่รู้จับพลัดจับผลูมาอย่างไรที่ได้รับตำแหน่ง

ส่วนตำแหน่งโฆษก เป็นจุดที่ต้องมีองค์ความรู้ครอบจักรวาล ดิฉันก็มีคนคอยให้ปรึกษา อย่างคุณนิวัฒน์ธํารง (บุญทรงไพศาล) เพราะท่านเชี่ยวชาญงานด้านประชาสัมพันธ์ รวมถึงรุ่นพี่ในบ้าน 111 อย่าลืมนะว่าอีก 1 ปีพวกเขาก็กลับมาแล้ว

- ประเด็นเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกโยงเข้ากับการทำงานของรัฐบาล

มันคงหนีไม่พ้นที่เขาจะหยิบยกมาโจมตี แต่ต้องคิดว่าบางเรื่องที่เป็นเรื่องส่วนตัวของท่านทักษิณ ซึ่งส่วนตัวคิดว่าไม่เห็นต้องไปกังวลเรื่องคุณทักษิณมากมาย เดี๋ยวจะกลายเป็นข้อกล่าวหาพี่ชายช่วยน้องสาว

- มีคำวิจารณ์ว่าคุณทักษิณเป็นคน สั่งการ โฆษกรัฐบาลจะแก้ต่างอย่างไร

(นิ่งคิด) คือไม่รู้เหมือนกันว่าจะสวนกลับอย่างไร แต่ท่านทักษิณก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ จะปฏิเสธว่าไม่ได้พูดจากันเลยคงจะไม่ใช่ แต่ถ้าเอาความรู้ความสามารถของท่านมาใช้ให้เกิดประโยชน์ไม่ดีกว่าหรือ เป็นน้องคนเล็กของท่านทักษิณ แล้วมันทำไม ทำไมต้องออกมาแอนตี้กันขนาดนี้ หรือคำว่า "ทักษิณ" มันเป็นคำแสลงใจหลายคน

- โดนข้อกล่าวหาพี่ชายเดินเกมข้างนอก น้องสาวเดินเกมข้างในประเทศ

ก็การสร้างข่าวกันไป กำหนดการไปญี่ปุ่นของท่านทักษิณก็มีตั้งนานแล้ว ทำไมถึงเพิ่งมาพูดกัน ส่วนที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นออกมาพูดนั้น ดิฉันก็ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จะตอบโต้อย่างไร

- "ฐิติมา-ยิ่งลักษณ์" เป็นน้องสาวเป็นผู้แบกภาระตระกูล "ชินวัตร-ฉายแสง" เหมือนกัน

เราเป็นองคาพยพกันมานาน ดิฉันเคยได้ทำงานร่วมกับท่านทักษิณ ส่วนคุณจาตุรนต์ เขาก็เป็นแกนหลักในพรรค ถึงขั้นเคยเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค

คุณยิ่งลักษณ์ก็ได้รับมาจากพี่ชาย แถมมีความสามารถในด้านธุรกิจพ่วงเข้ามาอีก ซึ่งมุมการเมืองท่านที่ปรึกษาส่วนตัว คงจับทางได้ เอาตัวรอดได้

ท่านแบกมากกว่าดิฉัน ท่านแบกประเทศทั้งประเทศ ส่วนดิฉันถือว่าอยู่ในตำแหน่งนี้ก็ยิ่งใหญ่มาก เป็นเกียรติกับวงศ์ตระกูล เคยเป็น ส.ส.เหมือนกันรุ่นพี่ชายก็เป็น ตรงนี้ท่านก็เลยหวังว่า จะให้ดิฉันตอบโต้ทางการเมืองให้

- ต้องวางตัวอย่างไรในการพูดไม่ให้กระทบกับคนเสื้อแดง

คนเสื้อแดงก็เป็นพรรคพวกเพื่อนฝูงดิฉันไม่มีทางที่จะแสดงอาการรังเกียจคนเสื้อแดง เพราะเป็นกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน แต่ไม่ใช่ชื่นชม

อย่าลืมว่าดิฉันไม่ใช่โฆษกเสื้อแดง ฉะนั้นทุกประเด็นต้องเกี่ยวกับงานรัฐบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น