วันจันทร์, สิงหาคม 01, 2554

เอกชน 3 สถาบันเห็นด้วยขึ้นค่าแรง 300 บาท



เอกชน 3 สถาบันเห็นด้วยขึ้นค่าแรง 300 บาท

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หันกลับมาเห็นด้วยกับรัฐบาลใหม่ในการปรับขึ้นค่าแรงเป็น 300 บาทต่อวัน หลังได้ศึกษาผลกระทบในเรื่องนี้

ขณะที่ 12 สมาคมอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ยังไม่เห็นด้วยกับปรับค่าแรงขั้นต่ำทันที เพราะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และต้องปลดลูกจ้างประมาณ 300,000 ราย


ที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน ได้แก่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย มีมติร่วมกัน เห็นด้วยให้รัฐบาลขึ้นค่าแรง300บาท เพราะได้ให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยศึกษาผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทุกภาคอุตสาหกรรมในภาพรวมไว้แล้ว โดยได้ศึกษาตามขนาดและประเภทกิจการของอุตสาหกรรมการผลิต โดยทันทีที่จัดตั้งรัฐบาลแล้วเสร็จ กกร.จะหารือกับรัฐบาลภายใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้ผลกระทบเกิดขึ้นน้อยที่สุด

ขณะที่ 12 สมาคมอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ และอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ ซึ่งมีผู้ประกอบการกว่า 2,200 ราย มีอัตราการจ้างงานกว่า 1 ล้านคนแถลงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลใหม่จะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทันที 300 บาท เพราะจะส่งผลให้กระทบจนธุรกิจถึงขั้นปิดกิจการ และต้องปลดลูกจ้างทันทีประมาณ 300,000 รายหรือร้อยละ 30 ของแรงงานทั้งหมด จากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้นถึงร้อยละ 35 ถึง 40 จึงขอให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ โดยใช้รูปแบบของคณะกรรมการไตรภาคีตามกฏหมาย และให้มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งจะยื่นเรื่องความเดือดร้อนต่อนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีใหม่ทันทีที่ตั้งรัฐบาลแล้ว

ขณะที่นายวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า นโยบายปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทต่อวัน ของรัฐบาลชุดใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ แต่จะกระทบต่อต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ซึ่งจะส่งผ่านไปยังราคาอาหารที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยคาดว่า ราคาก๋วยเตี๋ยวต่อชามจะไม่ต่ำกว่า 70 บาท


นอกจากนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสถาบันอาหาร ยังเตรียมเสนอ 5 แนวทางพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทยให้รัฐบาลใหม่พิจารณา เช่นการ เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจบริการ ตามนโยบาย"ครัวไทยสู่ครัวโลก"พัฒนาคุณภาพมาตรฐานสินค้า รองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC และดูแลราคาสินค้าวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปให้สอดคล้องกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น