วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 19, 2554

หลังฉากพันธมิตร หลังวันรัฐประหาร และหลังรัฐบาลสุรยุทธ์ กับ สุริยะใส กตะศิลา


หลังฉากพันธมิตร หลังวันรัฐประหาร และหลังรัฐบาลสุรยุทธ์ กับ สุริยะใส กตะศิลา
Wed, 24/01/2007 - 17:50 — onopen
ผู้เขียน: ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ภาพ: ชนานันต์ โชติรุ่งโรจน์


หนึ่งปีที่ผ่านมาการต่อสู้เพื่อโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร โดยกลุ่มแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย อันประกอบด้วยแกนนำ 5 คน คือ สนธิ ลิ้มทองกุล พลตรีจำลอง ศรีเมือง พิภพ ธงไชย สมศักดิ์ โกศัยสุข และสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ถือเป็นสงครามที่เร้าใจแต่กลับเป็นไปอย่างสันติ ก่อนเหตุการณ์จะจบลงด้วยการรัฐประหารของกลุ่มทหารที่เรียกตัวเองว่า คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งเป็นการปฏิวัติอย่างสันติแต่เต็มไปด้วยอาวุธสงคราม อันเป็นภาพสะท้อนของการใช้อำนาจแก้ไขปัญหาทางการเมือง ภาพรถถังและดอกไม้ปรากฏขึ้นคู่กันใจกลางกรุงเทพมหานคร คำถามมากมายปรากฏขึ้นในใจนักเคลื่อนไหว นักต่อสู้ นักวิชาการและประชาชน จนความคิดเห็นต่างได้ทำให้วงวิชาการไทยแตกเป็นเสี่ยงๆ

แน่นอน จำเลยในกรณีนี้ย่อมมิใช่ทักษิณ ชินวัตรผู้กำลังจะกลายเป็นจำเลยอีกหลายคดีในศาลเท่านั้น แต่ฝ่ายต่อต้านทักษิณเองก็ต้องตกเป็นผู้ต้องสงสัยในข้อกล่าวหาว่า เปิดทางให้อำนาจเก่าเข้ามาแทรกแซงการเมืองและฉีกรัฐธรรมนูญอย่างแนบเนียน

ในฐานะคนภาคสนาม ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตร ชายหนุ่มวัย 34 ปี นาม สุริยะใส กตะศิลา ใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง สองวันหลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งรัฐมนตรีในรัฐบาลสุรยุทธ์ หนึ่ง เปิดใจและอธิบายเบื้องหลังฉากพันธมิตร ในวันก่อนการรัฐประหาร รวมทั้งแนวทางการเคลื่อนไหวภาคประชาชน หลังจากอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยถูกผูกไว้ชั่วคราวที่ปลายกระบอกปืน

โดยส่วนตัวแล้ว คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับทำรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา

ผมไม่เห็นด้วย และจำได้ด้วยว่า วันที่ 18 กันยายน ผมเช็คข่าวเชิงลึกกับแหล่งข่าว ก็มีความเชื่อระดับหนึ่งว่า การชุมนุมวันที่ 20 กันยายน อาจเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ซึ่งมีการตีความว่าจะเกิดการนองเลือด หรือเป็นการสู้ยกสุดท้ายก็แล้วแต่ ทว่าจากข้อมูลวงในที่ผมได้รับมา มีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดความรุนแรงในระดับหนึ่ง ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดจากฝ่ายไหน ทางฝ่ายพันธมิตรเองก็ต้องยอมรับว่ามีฝ่ายที่เข้ามาแตะมือหลายทางมาก เพราะแกนนำมีที่มาอันหลากหลาย แต่ฐานของพันธมิตรที่โยงอยู่กับฐานประชาชน ผมคิดว่ามือที่เข้ามาสัมผัสเรามีไม่กี่กลุ่ม โดยเฉพาะจากทหารนั้นแทบจะไม่มี

ข้อมูล ที่ฝ่ายเราได้รับเริ่มต้นจากมีทหารคนหนึ่งโทรเข้ามาให้ข้อมูลว่า มีความเคลื่อนไหวของอีกฝั่งสูงมาก อยากให้ทบทวนการชุมนุมใหม่ ผมบอกกลับไปว่า คงยากที่จะทำอย่างนั้น เพราะเท่าที่ผ่านมา การนัดชุมนุมของพันธมิตรก็เลื่อนหลายครั้ง มวลชนบางส่วนก็มีการเตรียมขนรถบัสขึ้นมาแล้ว ยิ่งทางใต้ขึ้นมารอล่วงหน้า 2-3 วัน เพื่อเข้ามาจองห้องพัก ผมก็คิดว่าคงจะเบรกไม่ได้ แต่อย่างไรก็จะระวังไม่เคลื่อนขบวนไปในลักษณะสุ่มเสี่ยง โดยเลือกปักหลักที่ลานพระรูป ตามจุดยืนแนวทางสันติวิธี ผมก็อธิบายโต้ไปในลักษณะนี้

หลังจากนั้นก็มีสัญญาณมาเป็นระยะจาก หลายฝ่าย โดยเฉพาะจากนักข่าวสายทหารที่ติดต่อให้ข้อมูลกันตลอด แต่สุดท้ายก็เป็นเพียงข่าว ซึ่งต้องเข้าใจว่าคนที่อยู่ตรงนี้มีการรับข่าว รับข้อมูลแบบนี้ตลอดเวลา ก็เลยไม่รู้จะเชื่อใครดี แต่เราก็มีวิธีการกรอง มีกระบวนการในการเช็คข่าวกลับบ้าง ก็ได้ความจริงมาในระดับหนึ่ง

ในวันที่ 18 กันยายน ผมยังไปออกรายการคนในข่าวของคุณเติมศักดิ์ จารุปราณ ช่อง ASTV ตอน นั้นตั้งใจพูดเรื่องการไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร เพื่อยืนยันจุดยืนว่าผมและคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ไม่เห็นด้วยกับการไล่คุณทักษิณด้วยการยึดอำนาจ และฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเรียกว่าปฏิวัติหรือรัฐประหารก็แล้วแต่

พอคืนวันที่ 19 กันยายน ประมาณหนึ่งทุ่ม ผมไปอัดรายการถึงลูกถึงคน อัดเสร็จ 2 ทุ่ม นักข่าวสายทหารโทรมาคอนเฟิร์มว่า คืนนี้ไม่เกินเที่ยงคืนมีการรัฐประหารแน่ ตอนนั้นผมก็ไม่เชื่อ เลยโทรเช็คจากตำรวจผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ตำรวจท่านนั้นก็ยืนยันว่ามีทหารเคลื่อนกำลังเข้ามาจริง ทั้งในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ บางส่วนก็เข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯแล้ว แต่ไม่รู้ว่าฝ่ายไหนเป็นฝ่ายไหน รู้แต่มีการเคลื่อนไหวทั้งฝ่ายทหารที่สนับสนุนและทหารที่ไม่เอาคุณทักษิณ ข้อมูลทั้งหมดที่ได้มาจึงยืนยันได้ว่าจะเกิดรัฐประหารจริง

จากนั้น ผมก็นัดพี่พิภพ ธงไชย กับพี่สุวิทย์ วัดหนู กินข้าวเพื่อเช็คข่าวกันกับพรรคพวกอีกประมาณ 10 คน คุยกับพลตรีจำลอง ศรีเมือง คุยกับแกนนำพันธมิตร คุยกับนักข่าวสายทหาร คุยกับสื่อมวลชนที่ตอนนั้นก็ยังไม่กลับบ้านและเตรียมเปิดหน้าข่าวรออยู่แล้ว จนกระทั่งมีคำสั่งให้ช่อง 5 เตรียมพร้อม ซึ่งเป็นสัญญาณแน่นอนว่าจะเกิดการรัฐประหาร

ในช่วงนั้นก็คิดว่ามี การยึดอำนาจแน่ แต่ไม่รู้ว่ากลุ่มไหน เพราะคุณทักษิณก็ประกาศภาวะฉุกเฉินผ่านทางช่อง 9 ในช่วงสี่ทุ่มกว่า ตอนนั้นพลตรีจำลองก็โทรเข้ามาบอกว่า ขอให้สุริยะใสกับพรรคพวกไปอยู่ในที่ปลอดภัยดีกว่า เวลานั้นผมก็คิดเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะการที่คุณทักษิณเตรียมประกาศภาวะฉุกเฉิน ก็หมายความว่าคืนนี้แกนนำจะถูกจับหรือโดนไล่ล่าแน่นอน เราก็ถอยไปตั้งหลักก่อน

หลังจากคืนที่มีการทำรัฐประหาร ผมก็พูดกับแกนนำว่า เราไม่ควรให้ข่าวหรือแสดงท่าทีอะไร เพราะเรื่องนี้ซับซ้อน ถึงแม้จะรู้แน่แล้วว่าฝ่ายที่ทำรัฐประหารเป็นฝ่ายที่ไม่เอาทักษิณ ในแง่หนึ่ง ถ้ามองแบบตื้นๆ ก็ต้องถือว่าสถานการณ์เป็นบวกกับเรา แต่เหตุการณ์นี้ซับซ้อนเกินกว่าจะแสดงท่าทีทันทีทันใดหลังการรัฐประหาร

ผม ก็รอ 2-3 วัน จนกระทั่งวันที่ 22 กันยายน พันธมิตรถึงจะนัดประชุมและแถลงข่าวว่า พันธมิตรเองก็ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร แต่หลายคนก็วิจารณ์ว่านี่เป็นเพียงการแถลงข่าวเพื่อรักษาธรรมเนียม ไม่ได้คิดออกมาต่อต้านอะไรอย่างเป็นเรื่องเป็นราว

ในช่วง 2-3 วันหลังจากรัฐประหารที่ตัดสินใจว่าจะรอดูท่าทีก่อนนั้น คุณทำอะไร

ผม เช็คข่าวตลอดเวลา ทั้งจากนักข่าวและจากทหารบางส่วน เพื่อความชัดเจนว่ากลุ่มรัฐประหารคือกลุ่มไหน และภารกิจคืออะไร คอยฟังคำประกาศจากคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ตลอดเวลา และคุยกับแกนนำว่าจะเอาอย่างไร จะมีท่าทีอย่างไร อีกทั้งต้องคอยระวังตัวเองในเรื่องความปลอดภัยอย่างมาก เพราะสถานการณ์ยังไม่นิ่ง มีข่าวการเคลื่อนกำลังของอีกฝ่ายตลอดเวลา รวมถึงต้องโทรยกเลิกมวลชนในต่างจังหวัดที่กำลังเคลื่อนเข้ามา ส่วนกำลังที่เข้ามาในกรุงเทพฯแล้ว ก็บอกให้อยู่ในที่ตั้ง ไม่ต้องมาชุมนุม และถ้าเป็นไปได้ให้กลับบ้านไปก่อน ในช่วงวันที่ 19 กันยายน พวกของเราที่อยู่กรุงเทพฯก็มี 3,000-4,000 คนแล้ว ห้องพักแถวครุสภา โรงแรมถูกๆ แถวเทเวศร์เต็มหมด

อีกด้านหนึ่ง ทางพันธมิตรก็พยายามเช็คข้อมูลฝั่งไทยรักไทยเหมือนกันว่า มีการเคลื่อนเข้ามาหรือเปล่า คือพูดตรงๆ ว่า แกนนำฝ่ายสนับสนุนคุณทักษิณบางคนอย่างคำตา แคนบุญจันทร์ ผมสนิทกับคนเหล่านี้มาก่อน ก็โทรเช็คกันได้ ปรากฏว่าไม่มีกำลังเคลื่อนมา ดังนั้นเหตุผลหนึ่งที่ทหารใช้อ้างในการทำรัฐประหารคือกลัวการปะทะอันจะนำไป สู่การนองเลือดนั้น อาจจะเป็นกำลังจากป่าไม้ กำลังที่จัดตั้งของหน่วยงานราชการบางส่วน และผสมกับกลุ่มมาเฟียที่ถูกเลี้ยงดูปูเสื่อโดยอำนาจรัฐ เหมือนกลุ่มที่ทุบตีประชาชนที่เซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า ซึ่งเป็นกลุ่มจัดตั้งที่พร้อมเผชิญหน้า เพราะโดยธรรมชาติของคาราวานคนจนหรือชาวบ้าน ถ้ามาเพื่อแสดงออกอย่างสันติวิธี แบบนี้เขามา แต่ถ้ามาแล้วมีวาระว่าจะยกพวกตีกับใคร ผมว่าชาวบ้านก็ไม่ทำ ดังนั้นน่าจะเป็นกองกำลังพิเศษที่จัดตั้งขึ้น

ถ้าเราย้อนไปดู เหตุการณ์ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นกระบวนการจัดตั้งในลักษณะนี้ของฝ่ายการเมืองตลอดเวลา มีการใช้ทั้งป่าไม้ ทั้งตำรวจนอกเครื่องแบบ ทั้งหัวคะแนน ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่า ถ้าวันที่ 20 กันยายนมีการชุมนุมตามที่ได้ประกาศไว้ ก็อาจนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือด

มาถึงวันนี้ คุณอธิบายว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้มีสาเหตุมาจากอะไร

ผม คิดว่าทางพันธมิตรได้พยายามเต็มที่แล้วเพื่อไม่ให้เกิดการรัฐประหารขึ้น ผมมีโอกาสมาย้อนดูคำสัมภาษณ์หรือคำแถลงของพันธมิตรหลายต่อหลายครั้งว่า ทางออกเดียวที่เหลืออยู่คือ อย่างน้อยคุณทักษิณต้องประกาศเว้นวรรคเพื่อรักษาระบบไว้ เพื่อรักษารัฐธรรมนูญไว้ เพื่อไม่ให้เกิดอำนาจนอกระบบ นี่เป็นสิ่งที่พันธมิตรเตือนตลอดเวลา และตัวผมก็มั่นใจด้วยว่า ถ้าคุณทักษิณยังยืนอยู่บนเวทีการเมือง สุดท้ายจะไปถึงทางตันแน่นอน แล้วถ้าคุณทักษิณหยุดไม่ได้ พันธมิตรก็หยุดไม่ได้ พอต่างคนต่างหยุดไม่ได้ จนเลยเวลาของการสมานฉันท์หรือการหันหน้าพูดคุยกัน อำนาจนอกระบบเกิดแน่นอน

ผม ยืนยันว่าทางพันธมิตรรอคุณทักษิณจนนาทีสุดท้าย การชุมนุมวันที่ 20 กันยายน ถ้าพูดว่าเป็นยกสุดท้าย เราก็เชื่อด้วยความปรารถนาดีว่าคุณทักษิณจะถอย หรืออย่างน้อยก็เว้นวรรค เพราะช่วงนั้น คุณทักษิณไม่เคยประกาศแม้แต่ครั้งเดียวว่าจะรับตำแหน่งนายกฯต่อ หรือจะลงเลือกตั้ง แต่กลับให้ความหวังกับสังคมว่า ผมเริ่มสับสน ไม่แน่ใจว่าจะเอาอย่างไรในทางการเมือง จะหยุดหรือไปต่อ ซึ่งดูเหมือนมีความหวังกว่าทุกครั้งที่ชุมนุมกันมา

ก่อนหน้านี้ คุณทักษิณสู้ตลอด แต่พอมาช่วงท้ายๆ ในเดือนกันยายน คุณทักษิณมีท่าทีว่าจะถอยสูงมาก ดังนั้นผมมีความหวังในใจลึกๆ ว่า การชุมนุมในวันที่ 20 กันยายนจะยืดเยื้อไม่เกิน 10 วัน คุณทักษิณน่าจะตัดสินใจหยุด เพื่อให้การเมืองเข้าสู่การเลือกตั้ง ทุกอย่างก็จบ รัฐธรรมนูญก็ไม่ถูกฉีก ไม่มีการยึดอำนาจ

จริงๆ ไม่อยากให้รู้สึกว่ากำลังหาแพะ แต่ต้องยอมรับว่าคุณทักษิณเป็นต้นเหตุที่ทำให้การเมืองเข้าสู่ทางตัน ซึ่งจริงๆ ตันมา 7-8 เดือนตั้งแต่พันธมิตรเริ่มออกมาเคลื่อนไหว เราจะเห็นได้ว่าพอคุณทักษิณประกาศเว้นวรรคในวันที่ 4 เมษายน หลังจากนั้นสถานการณ์ดีขึ้น พันธมิตรนัดชุมนุมไม่ได้เนื่องจากไม่มีเหตุผลพอในการนัดชุมนุม เราก็หันไปทำงานเย็น ให้การศึกษาเรื่องปฏิรูปการเมือง ทุกอย่างดูเหมือนจะไปได้ดี แต่พอคุณทักษิณกลับมาอีกครั้ง สถานการณ์ก็กลับมาตึงเครียดมากขึ้น

ผมทำนายไว้ในใจตลอดว่า ทางเดียวที่จะรักษาระบบไว้คือ คุณทักษิณต้องเสียสละ แต่โชคร้ายของสังคมไทยที่มีผู้นำที่ ในนาทีสุดท้ายยังคิดกระทั่งการชิงไหวชิงพริบเพื่อบล็อกฝ่ายตรงข้าม คิดยึดอำนาจก่อนด้วยการประกาศภาวะฉุกเฉิน และทำการปลดผู้นำเหล่าทัพ ตอนสี่ทุ่มกว่า ก่อนที่คปค.จะประกาศ ซึ่งในแง่นี้ นักวิชาการและฝ่ายที่ต่อต้านรัฐประหารไม่พูดถึงเรื่องนี้เลยว่า คุณทักษิณรัฐประหารตัวเองก่อนที่ คปค. จะประกาศยึดอำนาจ ผมต้องพูดตรงนี้ไว้เพื่อให้ประวัติศาสตร์สมบูรณ์

เหตุการณ์ รัฐประหารที่เกิดขึ้น ผมไม่อยากโทษคุณทักษิณคนเดียว แต่สังคมไทยต้องรับผิดชอบร่วมกัน แม้คุณทักษิณต้องรับไปมากกว่าใคร แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการบ้านครั้งใหญ่ที่สุดของ สังคมไทยที่ต้องขบคิดและพูดคุยกัน ปีเดียวของกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญอาจจะไม่เพียงพอด้วยซ้ำไปที่จะมอง การเมืองไปข้างหน้า

ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดามากที่คน 80-90 เปอร์เซ็นต์ของสังคมไทยเห็นด้วยกับการรัฐประหารของ คปค. และเห็นด้วยกับโครงสร้างคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ในขณะที่เราพูดเรื่องการเมืองภาคประชาชน พูดเรื่องการมีส่วนร่วม แต่คนยังรู้สึกพึงพอใจกับรถถังหรืออำนาจนอกระบบแบบนี้ ผมคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่

ผมไม่โทษคปค.ด้วยซ้ำ เพราะวันนั้นถ้าคอนเฟิร์มกันว่า มีการจัดตั้งจากทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อเผชิญหน้ากัน ก็ต้องขอบคุณคปค.ที่ทำให้ไม่มีคนตาย เพราะนั่นเป็นสิ่งที่ผมกลัวที่สุด ผมไม่อยากให้การชุมนุมพันธมิตรภายใต้การนำที่ผมมีส่วนร่วมด้วย พาคนไปตาย แค่เจ็บก็ยังไม่อยากให้มี นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่สามารถให้อภัยตัวเอง แต่แน่นอนผมก็ไม่ได้บอกว่า เราต้องรักษาชีวิตคนด้วยการยอมให้รัฐธรรมนูญถูกถูกฉีก ทางเลือกมีแค่นี้หรือ ดังนั้นผมจึงคิดว่า นี่เป็นการบ้านที่สังคมทุกส่วนต้องมาขบคิดคุยกันว่าจะออกแบบการเมืองอย่างไรเพื่อ ให้เกิดประชาธิปไตยถาวร และสร้างระบบที่สามารถจัดการกับความขัดแย้งด้วยตัวเองได้

ปัญหา ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า ในเชิงพฤตินัยรัฐธรรมนูญได้ถูกฉีกไปแล้ว นักกฎหมายก็ไม่ควรตีความการฉีกรัฐธรรมนูญในทางนิตินัยเท่านั้น เพราะหลายคนที่ออกมาต่อต้านอำนาจ คปค. ว่าไม่เป็นนิติรัฐ ก็ต้องยอมรับว่าระบอบทักษิณก็ไม่เป็นนิติรัฐในทางปฏิบัติ เราต้องพูดความจริงทั้ง 2 ทาง และต้องยอมรับว่าเราไม่มีทางออกมานานแล้ว มีแต่คุณทักษิณถอยเท่านั้นที่รัฐธรรมนูญจะไม่ถูกฉีกทิ้ง

วันนี้ ย้อนเวลากลับไปไม่ได้ ผมเลยไม่อยากโทษใคร แต่ตรงนี้เป็นการบ้าน เป็นบาปที่สังคมต้องช่วยกันชำระล้าง แล้วทำบุญร่วมกันด้วยการสร้างการเมืองแบบใหม่ ด้วยความหวังว่ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้จะนำไปสู่การมีรัฐธรรมนูญที่ ก้าวหน้ากว่าฉบับ 2540 นี่เป็นโจทย์ใหม่ที่ผมตั้งไว้กับตัวเอง

เวลานั้นมีการตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพันธมิตรไม่รออีกสักหน่อย เพราะกระบวนการตุลาการภิวัตน์เริ่มทำงานแล้ว

วิเคราะห์ กันบนพื้นฐานว่าช้ามาก และสุดท้ายจะจัดการได้เฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่จะไม่สามารถจัดการคุณทักษิณได้ เพราะลำพังจัดการกกต. ไม่สามารถถอนรากถอนโคนระบอบทักษิณได้ กกต.เป็นเพียงน็อตตัวหนึ่งเท่านั้น เลยคิดว่ายังไงก็ต้องให้คุณทักษิณลาออกหรือยุติบทบาททางการเมือง ฉะนั้นเมื่อคิดว่ากระบวนการตุลาการภิวัตน์ไปไม่ถึงธงนี้ ก็มีทางเดียวคือต้องใช้การเคลื่อนไหว นี่เป็นเหตุผลที่ต้องนัดให้มีการชุมนุม

จริงๆ จะชุมนุมตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน แต่เท่าที่ประเมินบรรยากาศก็คิดว่าไม่พร้อม เลยเลื่อนมาเป็นช่วงตุลาคม

ด้วยความใจร้อนหรือความไม่อดทนเพียงพอของพันธมิตรเองหรือเปล่า ที่เปิดช่องให้เกิดการรัฐประหารในครั้งนี้

ผม คิดว่าพันธมิตรอดทนสูงมาก แม้กระทั่งบุคลิกภาพแบบคุณสนธิ แบบพลตรีจำลอง ศรีเมือง ที่หลายคนรู้สึกว่ามุทะลุ ดุดัน ก้าวร้าว แต่ข้อเท็จจริงเป็นคนละอย่างกับที่สังคมรู้สึก แม้ภาพภายนอกอาจจะดูเหมือนเป็นคนแข็งกระด้าง แต่ที่จริงคนเหล่านี้เป็นคนมีเหตุมีผล และสิ่งที่ทั้งคุณสนธิและคุณจำลองพยายามบอกตลอดคือ การนัดชุมนุมจะต้องมีคำอธิบายที่ดีกับสังคม

ก่อนหน้านี้กรรมการแถว นอก กรรมการสมัชชาระดับจังหวัด ได้ลงมติและเสนอมาที่แกนนำ 5 คน ให้มีการชุมนุมตั้งแต่พฤษภาคม แต่เวลานั้นเรารู้สึกว่า ตุลาการภิวัตน์กำลังทำงาน และกกต.ก็เริ่มถูกเช็คบิล มันมีความหวัง มีโอกาส น่าจะรอดูก่อน ทางพันธมิตรก็แถลงข่าวตลอดว่าให้ศาลทำงานก่อน ในขณะที่แกนนำ 5 คนพูดให้กระบวนการยุติธรรมทำงาน แรงกดดันจากภายในพันธมิตรเองก็มีมากว่าจะรอทำไม อันนี้เป็นเหตุผลหนึ่งที่คิดว่า สุดท้ายเราก็ต้องฟังมวลชน เลยนำมาสู่การนัดชุมนุมเมื่อวันที่ 20 กันยายน บนเงื่อนไขที่หวังว่าคุณทักษิณจะถอย เพราะดูจากท่าทีของคุณทักษิณช่วงนั้นที่มีโอกาสถอยมากกว่าทุกครั้ง ผมคิดว่า เมื่อโอกาสเปิด เราก็น่าจะรุก

ผมคิดว่าพันธมิตรอดทนมา ตลอด ถ้าจำได้ มีครั้งหนึ่งพันธมิตรมีโอกาสจัดการขั้นเด็ดขาดกับคุณทักษิณตั้งแต่ 5 มีนาคม ที่มีการเคลื่อนจากสนามหลวงมาที่ทำเนียบรัฐบาล ตอนนั้นเราประกาศว่าจะมาคืนเดียว แต่พอมีการล้อมเต็มทำเนียบ ก็มีการกดดันจากมวลชนว่าไม่กลับ ต้องล้อมทำเนียบทั้ง 4 ด้านเอาไว้ และอยู่จนคุณทักษิณไม่กลับมาอีก คนที่เสียงแข็งว่าต้องกลับเป็นพลตรีจำลอง คุณสนธิ กับพี่สมศักดิ์ด้วยซ้ำ อาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ บอกว่าน่าจะอยู่ ผมก็บอกว่าแล้วแต่ที่ประชุม เลยมีการนัดประชุม 5 แกนนำในคืนนั้น สุดท้ายคุณจำลองกับคุณสนธิยังยืนยันว่าน่าจะกลับ เพราะว่าเป็นสัจจะ คุณจำลองก็ยืนยัน เราแถลงไปว่าจะมาแค่ประกาศเจตจำนงแล้วกลับ ก็ต้องกลับ

คืนนั้นคน ไม่พอใจมหาศาลมาก หลายคนเริ่มออกมาสัมภาษณ์หรือปล่อยข่าวโจมตีว่า เกิดอะไรในกลุ่มแกนนำ แกนนำไม่เด็ดขาด มีนอกมีในหรือเปล่า เกิดแรงกดดันสูงมาก ผมรับข่าวทางตรงทางโทรศัพท์จากคนที่มาต่อว่าด้วยอารมณ์รุนแรงมาก

กระทั่ง หลังจากนั้นในช่วงปลายมีนาคม ที่ทางพันธมิตรปิดล้อมบริเวณสะพานมัฆวาน ครั้งนั้นก็มีโอกาส เพราะปิดล้อมทำเนียบได้ส่วนหนึ่ง และคุณทักษิณไม่เข้าทำเนียบเลย ถ้าจะเผชิญหน้าในขั้นเด็ดขาด เราสามารถล้อมทำเนียบหรือกระจายกำลังไปปิดล้อมบ้านจันทร์ส่องหล้าได้ แต่ทางแกนนำก็ต้องสู้กับความคิดที่ว่าทำแบบนั้นไม่ได้ เกิดมีคนตายใครจะรับผิดชอบ อีกทั้งไม่ใช่แนวทางอหิงสาตามหลักการที่ตั้งไว้ แต่เป็นการเคลื่อนไหวที่สุ่มเสี่ยง

ถ้าย้อนไปดูจะเห็นว่า การชุมนุมแต่ละครั้งมีความระมัดระวังจนสุธรรม แสงประทุม แกนนำฝ่ายซ้ายของรัฐบาลบอกว่า เห็นพันธมิตรชุมนุมแล้วเหมือนกีฬาสีของโรงเรียน เดินกันเป็นพาเหรดงดงาม ผู้บัญชาการทหารบกบอกว่า เป็นการชุมนุมที่น่ารักที่สุดในโลก น่าลงกินเน็สส์บุ๊ค ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกันมีการชุมนุมของนักศึกษาเพื่อประท้วงเรื่องกฎหมาย แรงงานที่ฝรั่งเศส ภาพที่ออกมาแตกต่างกันอย่างชัดเจน การชุมนุมของพันธมิตรก็มีโอกาสที่จะทำเช่นนั้นได้ แต่รู้สึกว่าไม่ใช่แนวทาง เราก็อดทนกันมานาน 6-7 เดือน

พอมาวันที่ 20 กันยายน ถ้าถามว่าทำไมต้องนัด และการนัดครั้งนี้มีการรู้เห็นกับทหารหรือเปล่า หรือว่าเพื่อเปิดช่องให้มีการยึดอำนาจหรือเปล่า ผมคิดว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง มันก็เป็นเพียงตัวแปรแค่เสี้ยวเดียว ผมคิดว่าอำนาจมาถึงจุดที่ต้องแตกหัก เพราะโผทหารต้องออก และถูกร่างมาเรียบร้อย คุณทักษิณก็ไม่ยอมพูด ฝ่ายทหารก็ไม่ยอมส่ง บล็อกกันตลอด อีกทั้งร่างโผที่ถูกปล่อยข่าวมาก็ปรากฏว่าเตรียมทหารรุ่น 10 ขึ้น หลังจากที่ก่อนหน้านั้นเตรียม 10 โดนปลดฟ้าแลบ มันมีการเดินเกมภายในแบบนี้ตลอด

มันมีหลายปัจจัยในการนำไปสู่ เหตุการณ์รัฐประหารครั้งนี้ แต่เราปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจัยใหญ่ที่สุดคือตัวคุณทักษิณเองที่เป็นตัวเร่งให้ปัญญาเข้าสู่ทางตันจน ไม่มีทางออก พันธมิตรเองจะนั่งอยู่เฉยๆ ก็ไม่ได้ อีกทั้งการชุมนุมของเราก็อยู่ภายใต้สิทธิในรัฐธรรมนูญ ชุมนุมกันอย่างสันติ และไม่ได้สร้างความเสียหายอะไร

เป้าหมายของพันธมิตรคือการ เรียกร้องให้เดินหน้าไปสู่การเมืองภาคประชาชน โดยทางพันธมิตรก็สู้กับคุณทักษิณด้วยสันติวิธี คุณทักษิณเองก็ใช้สันติวิธีเหมือนกัน แต่ถึงที่สุดคนที่เข้ามาแทรกกลางคือทหาร เราสรุปได้ไหมว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการดึงการเมืองให้ถอยหลังกลับไป

ถ้า พูดถึงวิธีการ ต้องบอกว่าถอยหลังอย่างมหาศาลแน่นอน เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุน หรือรายจ่ายจากการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุด เราอาจจะไม่ต้องเจ็บปวด ไม่มีคนตายจากการรัฐประหารครั้งนี้ แต่สิ่งที่เสียมากที่สุดที่สังคมพูดกันน้อยคือ เรามีรายจ่ายที่แสนแพงอย่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ต้นทุนในการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้มหาศาลมาก คนทั้งประเทศร่วมกันร่างจนเป็นประวัติศาสตร์ร่ำลือไปทั่วโลกว่าเมืองไทย ทำได้อย่างไร ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ก้าวหน้าที่สุดในบรรดา 16 ฉบับที่ใช้มา

ดัง นั้นเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนที่สูง ต้องถือว่าการเข้ามาของ คปค. ถ้าดูจากวิธีการมันถอยหลังแน่นอน แต่ผมก็อยากให้โอกาส คปค. เพราะผมหมุนเข็มนาฬิกากลับไปไม่ได้ แต่โอกาสที่ว่านี้ต้องตั้งอยู่บนความตื่นตัวของภาคประชาชน คือต้องช่วยกันกดดันและควบคุมให้อำนาจนอกระบบชุดนี้คืนอำนาจให้ประชาชนเร็ว ที่สุด และนำการเมืองให้เข้าที่เข้าทาง

เนื้อหาตรงนี้ต่างหากที่ผม คิดว่า พลังสายก้าวหน้าทั้งหลายที่กำลังโจมตี คปค.อยู่ ควรจะไตร่ตรองด้วย ผมไม่ได้ค้านการโจมตี คปค. และเห็นด้วยว่า คปค. ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกต่อต้าน เพราะการเข้ามาของคุณเป็นอำนาจที่ไม่ชอบ ไม่ว่าจะพูดในแง่มุมไหน เพียงแต่ว่าต้องตอบคำถามที่ว่าเราจะเอาอย่างไร

ผม คิดว่าในขณะที่เราบอกว่าไม่เห็นด้วยกับอะไรสักอย่าง เราต้องมีข้อเสนอหรือทางออกด้วย คนอื่นอาจจะไม่ซีเรียสแบบผม นักวิชาการอาจจะพูดได้ว่าไม่เห็นด้วย ผิดหลักนิติรัฐอย่างไร แต่ผมอยู่กับมวลชน อยู่ภาคสนาม ถ้าคุณบอกว่าทางนี้มันแย่ มีหนาม คดเคี้ยว แล้วสังคมต้องไปทางไหน ผมต้องมีคำตอบให้มวลชน แน่นอน คำตอบที่ว่าอาจจะไม่เป็นที่พอใจสำหรับหลายๆ คน แต่เราอยู่กลางแจ้ง ยังไงก็ต้องรับฟังอยู่แล้ว

ผมพูดกับพันธมิตรหรือหลายๆ คนที่ชื่นชมกับการยึดอำนาจครั้งนี้ว่า อย่าเพิ่งไปไว้วางใจ อย่าไปให้โอกาสเขาจนรู้สึกว่าไม่ต้องทำอะไร ฉะนั้นเท่าที่คิดได้คือ ทำอย่างไรที่จะปลุกพลังของพันธมิตรที่มีมากมายตามต่างจังหวัด ให้เป็นพลังที่เข้ามาขับเคลื่อนเรื่องปฏิรูปการเมือง ตรงนี้เป็นโจทย์ที่ผมกำลังทำอยู่

หลังจากนี้ พันธมิตรจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ที่ คุยกันอย่างเป็นเรื่องเป็นราวมีข้อตกลงว่า การนำโดยคณะแกนนำ 5 คนจะยุติไป การนำรูปแบบใหม่จะทำเป็นเครือข่ายและจัดเวทีระดมความคิดเห็น โดยคงศูนย์ประสานงานไว้ การนำรูปแบบใหม่จะเน้นที่การเปิดเวทีเพื่อให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนมีส่วน ร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปการเมือง เพราะมองดูแล้ว โอกาสที่จะออกมาเคลื่อนไหวมวลชนเรือนแสนเพื่อเข้ากดดัน เข้าเผชิญหน้าทางการเมืองในลักษณะเดิมนั้นมีน้อย ต่อไปจะเป็นเวทีระดมความคิดเห็นมากกว่า พันธมิตรคิดอย่างไรเรื่องปฏิรูปสื่อ เรื่องปฏิรูปการเมือง โดยเน้นไปที่การเตรียมความคิดและองค์ความรู้ พันธมิตรก็เปลี่ยนบทบาทตามสถานการณ์ใหม่ แต่ไม่ได้ยุติบทบาท

แล้วตัวแกนนำพันธมิตร 5 คน แต่ละคนคิดอะไรบ้างหลังเหตุการณ์รัฐประหาร

ตัวคุณสนธิสนใจเรื่องการปฏิรูปสื่อ และอยากทำให้ ASTV เป็น ทีวีของประชาชน โดยการบริหารงานของมูลนิธิยามเฝ้าแผ่นดิน ตอนนี้ก็เริ่มขายหุ้น หุ้นละ 1 บาท คุณสนธิต้องการผลักดันให้เกิดทีวีที่มีโมเดลแบบ BBC ของอังกฤษ ตอนนี้ก็ยังไม่เห็นชัด แต่คิดว่าต่อไปทางผู้จัดการก็คงเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปสื่อ

ด้าน พลตรีจำลองนั้นยังไม่ชัด เพราะท่านมาในเงื่อนไขว่า หมดเวลาของคุณทักษิณแล้ว ท่านพูดกับเราน้อยในที่ประชุมว่าท่านคิดอย่างไรเรื่องปฏิรูปการเมือง เรื่องสังคมที่ควรจะเป็นในภายภาคหน้า ท่านอาจจะคิดแค่ว่าคุณทักษิณหมดเวลาแล้ว

ส่วนพี่พิภพ พี่สมศักดิ์ และอาจารย์สมเกียรติ คิดว่าภารกิจยังไม่จบลง มีอีกหลายเรื่องที่ต้องทำ อย่างเรื่องปฏิรูปการเมือง ดังนั้นแรงเหวี่ยงในบทบาทหน้าที่นี้จะอยู่ที่แกนนำ 3 คน บวกกับเอ็นจีโอและมวลชนที่เป็นเครือข่ายภาคประชาชน ในทัศนะของผมคิดว่า เราต้องกลับมาเชื่อมประสานเครือข่ายต่างๆ ให้มีส่วนร่วมมากที่สุด ถ้าดูในแง่นี้ บทบาทของพันธมิตรจะเปลี่ยนไปมากทีเดียว

อย่างไร ก็ตาม ถ้ารัฐบาลใหม่มีท่าทีผิดที่ผิดทาง มีสัญญาณของการสืบทอดอำนาจ หรือดูว่าถ้าการจัดการกับระบอบทักษิณไม่สำเร็จ มีการสอดไส้วางยากัน แกนนำ 5 คนก็พร้อมจะกลับมาเคลื่อน เพราะเป้าหมายของเราคือการจัดการกับระบอบทักษิณให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด ดังนั้นด้านหนึ่งของพันธมิตรก็ยังคอยจับตามองเหตุการณ์อยู่ อีกด้านหนึ่งก็ทำงานด้านการปฏิรูป ทว่าก็ต้องยอมรับว่า หลายคนที่เข้าร่วมกับพันธมิตร อารมณ์อยู่แค่คุณทักษิณเป็นปัญหาประเทศ เอาทักษิณออกไปก่อน แล้วประเทศน่าจะเดินหน้าไปได้ระดับหนึ่ง พลังส่วนอื่นๆ ในสังคมก็จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนแบกภาระของชาติได้ต่อไป

ดังนั้นหลายคนก็จะลดบทบาทลง หลายคนก็อาจจะไปเล่นการเมือง เพราะแกนนำระดับภาค ระดับจังหวัดหลายคนก็เตรียมสมัครสส.


จริงๆ แล้วมวลชนจากภาคประชาชนมีอยู่จริงหรือเปล่า หรือเป็นมวลชนที่เป็นแฟนคลับของคุณสนธิเป็นส่วนใหญ่

ถ้า พูดตรงๆ ส่วนใหญ่เป็นแฟนคลับคุณสนธิ อีกส่วนก็เป็นของคุณจำลอง โดยเฉพาะกองทัพธรรม ส่วนของภาคประชาชนหรือเอ็นจีโอ ผมคิดว่าเป็นส่วนน้อย แต่ส่วนที่มากับเราก็คือนักวิชาการและผู้นำทางสังคม ซึ่งถ้านำโดยคุณสนธิและคุณจำลอง นักวิชาการหรือผู้นำชุมชนบางคนอาจจะตะขิดตะขวงใจ หรือวางระยะห่าง แต่พอเราซึ่งทำงานกับภาคประชาชนเข้าร่วมกับพันธมิตร มีนักวิชาการจำนวนมากที่มากับเรา คนเหล่านี้อาจจะไม่ได้มีมวลชน แต่เสียงของเขาดังในสังคม

นอกจากนั้น ถ้าไปดูพื้นที่สื่อเปรียบเทียบระหว่างคุณสนธิสู้เพียงลำพังกับตอนที่เรา เข้าไปร่วม ถือว่าสื่อเปิดมากขึ้น ผมคุยกับสื่อค่ายหนึ่งที่ยืนคนละฟากกับผู้จัดการและไม่มองหน้าคุณสนธิมาเป็น 10 ปี แต่ก็ช่วยเปิดพื้นที่สื่อให้ เขาบอกว่า พี่รู้ว่าเราต้องเอาเรื่องใหญ่ก่อน ความขัดแย้งของพี่กับคุณสนธิก็ยังอยู่ แต่วันนี้เป็นเรื่องระดับชาติ และคุณสนธิพูดในสิ่งที่เป็นเรื่องของส่วนรวม ฉะนั้นพี่สื่อมวลชนคนนั้นก็ใจกว้างพอที่จะเก็บความขัดแย้งระหว่างเขากับคุณ สนธิไว้ และเปิดพื้นที่สื่อในเครือของเขาให้กับพันธมิตรเต็มที่

อะไร คือเหตุผลที่ทำให้ทางครป.และเครือข่ายเข้าร่วมเป็นพันธมิตร เพราะวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่มีการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้า ทั้งทางคุณพิภพ คุณสุริยะใส และพรรคพวกก็ยังเดินดูอยู่ห่างๆ เวที

จริงๆ ก่อนวันที่ 4 กุมภาพันธ์ คุณสนธิติดต่อมาที่ครป. เพื่อขอคุย ทางครป.ก็ส่งพี่พิทยา ว่องกุล กับพี่สุวิทย์ วัดหนู ไปคุย คุณสนธิก็มากับคุณคำนูณ สิทธิสมาน ครป.บอกว่าถ้าจะเข้าร่วม ต้องมีเงื่อนไขคือ หนึ่ง ให้เอาประเด็นเรื่องนายกฯพระราชทาน หรือการถวายคืนพระราชอำนาจออกไป สอง จะต้องยึดแนวทางสันติวิธี แกนนำหลายคนที่เดินอยู่ในม็อบ และมีทัศนะสุ่มเสี่ยง ขอร้องอย่าให้ขึ้นเวทีและอย่าให้เข้ามาในแกนนำ สุดท้ายคุณสนธิก็ยอมทั้งหมด

พอหลังวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่มีการชุมนุมกัน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พี่คำนูณโทรมาบอกว่า เฮ้ย ใส พี่ว่าเข้ามาคุยกันหน่อยมั้ยว่าจะเอาอย่างไร พวกพี่ก็เต็มที่แล้วนะ ที่เหลือก็ต้องอยู่ที่ภาคประชาชนด้วย ถ้าสู้กันแค่นี้ต่อไป ท่าทางจะไม่ไหวแล้ว ผมจำได้ว่าพี่คำนูณพูดว่า เหนื่อยแล้ว ไม่ไหวแล้วนะ มาช่วยกันดีกว่า

จาก นั้นผมก็นัดประชุมเอ็นจีโอ และส่งตัวแทนไปประมาณ 10 กว่าคน ไปนั่งคุยกับคุณสนธิที่ถนนพระอาทิตย์ มีการคุยว่าเราจะวางกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างไร มีโครงสร้างของพันธมิตรแบบไหน จนมาสู่วันที่ 11 กุมภาพันธ์ซึ่งเป็นการเปิดตัวครั้งแรก

หลังจากเข้าร่วมกับพันธมิตร ทีมของพวกเราก็มีหน้าที่หลักในการจัดการบนเวที เตรียมสคริปท์ เชิญวิทยากร มีทีมเอ็นจีโอเข้าร่วมหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นทีมเอฟทีเอของพี่วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ทีมคอร์รัปชั่นของพี่รสนา โตสิตระกูล ทีมมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ทำเรื่องกฟผ. เราก็ใส่ประเด็นเหล่านี้บนเวที เพราะฉะนั้นการที่นักวิชาการบางคนบอกว่าบนเวทีไม่มีเนื้อหาอะไร ดีแต่ด่า ตรงนี้ก็ไม่ถูกนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นข้อจำกัดของสื่อที่ไม่ให้ความสำคัญกับคนเหล่านี้ ขณะที่คุณสนธิพูดจะเป็นข่าว แต่อะไรที่เป็นเนื้อหา เช่น ทำไมต้องค้านเอฟทีเอ มีนักวิชาการอภิปรายเป็นเวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน กลับไม่เป็นข่าว

หลังจากนั้นอะไรที่ทำให้เกิดความไว้วางใจ จนกอดคอต่อสู้ทางการเมือง ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงถึงชีวิตมาได้ยาวนานขนาดนี้ เพราะจริงๆ น่าจะมีการระแวงกันอยู่สูงว่า กลุ่มต่างๆ ที่เข้ามารวมตัวกันเป็นพันธมิตรอาจมีการดำเนินการลับหลังหรือมีวาระซ่อนเร้น

เอา เข้าจริงๆ แกนนำก็เริ่มต้นจากความหวาดระแวงมหาศาล ผมก็อยู่ท่ามกลางความหวาดระแวงระหว่างผู้ใหญ่ เวลาอยู่ในที่ประชุมแกนนำ 5 คน ผมจะเป็นคนที่ 6 บางครั้งก็มีพี่คำนูณเป็นคนที่ 7 มากสุดก็ 7 คน บรรยากาศความไม่ไว้วางใจกันมันสัมผัสได้ และเป็นบรรยากาศที่ทำให้ผมทำงานลำบาก

งานของผมอย่างแรกจึงเป็นการ คิดวิธีการที่ทำให้แกนนำทั้ง 5 คนเป็นเอกภาพก่อน เพราะถ้าพิจารณาจากมวลชนที่มา องค์ประกอบทุกอย่างลงตัวแล้ว หนึ่ง แฟนคลับคุณสนธิ สอง คนของพลตรีจำลอง และสาม เอ็นจีโอ ถ้า 5 แกนนำเกิดเอกภาพ มวลชนจะอยู่ แต่ถ้าแตกกัน ก็จะแบ่งเป็น 3 ก๊ก ดังนั้นผมจึงเริ่มต้นด้วยการลดความหวาดระแวงในหมู่แกนนำให้มากที่สุด โดยใช้วิธีเช่น ผมไปนั่งขัดสมาธิคุยกับพลตรีจำลองตัวต่อตัวในเต็นท์ที่ท่านนอนที่ทำเนียบ ก่อนประชุม หรือหลังประชุม

ทางคุณสนธิผมคุยผ่านพี่คำนูณ หรือผ่านคุณปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ หรือผ่านพี่สำราญ รอดเพชร เพราะผมคุยผ่านคุณสนธิโดยตรงไม่ได้ มีอะไรผมก็จะคุยและปรึกษาผ่านพี่คำนูณ ด้านพี่พิภพ พี่สมศักดิ์ อาจารย์สมเกียรติ ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะทำงานด้วยกันมาเป็น 10 ปี มีความไว้วางใจกัน ผมถึงขั้นอ่านออกว่าพี่เปี๊ยก (พิภพ ธงไชย) คิดอย่างไร อาจารย์สมเกียรติคิดอย่างไร พี่สมศักดิ์คิดอย่างไร ดังนั้นหน้าที่ของผมคือ ต้องทำให้คุณสนธิกับพลตรีจำลองลดความหวาดระแวงเรา และเราก็ลดความหวาดระแวงเขา

ผมก็คอยหาเวลา เช่น นัดกินข้าวเพื่อเจอกันโดยไม่ต้องแถลงข่าว คอยสร้างเวทีในลักษณะนี้บ่อยๆ ผมคิดว่าความหวาดระแวงที่ใหญ่ที่สุดของเราที่มีต่อคุณสนธิมี 2 เรื่อง คือ หนึ่ง ถึงจุดหนึ่งจะถอยและเกี้ยเซียะกับคุณทักษิณ แต่พอเห็นคุณสนธิขึ้นเวทีทีไร เราก็เห็นว่าไม่มีท่าทีที่จะไปเจรจาหรือสมยอม มีแต่การชักธงรบ และการที่คุณสนธิประกาศบนเวทีว่าจะสู้ขนาดนั้น ถ้าคุณสนธิยอมถอย มวลชนเรือนแสนจะเล่นคุณสนธิแน่นอน ดังนั้นข้อระแวงนี้ก็ตกไป

เรื่อง ที่สองที่ระแวงคุณสนธิคือ แนวทางสุ่มเสี่ยง เนื่องจากลักษณะบุคลิกที่ก้าวร้าว ซึ่งในประเด็นนี้เราระแวงพลตรีจำลองด้วย เพราะโดนข้อหาพาคนไปตาย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ดูจะไม่เป็นธรรมนักถ้าจะไปโยนความรับผิดชอบให้พลตรีจำลอง คนเดียว ต้องว่าแกนนำในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬด้วยว่าทำไมถึงปล่อยพลตรีจำลองนำคนเดียว แถมในมุมหนึ่งก็เข้าใจว่าพลตรีจำลองถูกจับก่อนมีการฆ่ากันด้วยซ้ำ อันนี้ก็ต้องไปโต้แย้งกันในทางประวัติศาสตร์

เวลานั้นเราก็กลัวกัน ว่า ถ้าถึงจุดหนึ่ง พลตรีจำลองกับคุณสนธิจะใช้วิธีสุ่มเสี่ยงเพื่อจัดการกับคุณทักษิณ หรืออาจจะแลกกับการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนสักกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีคนพูดว่า ถ้าประชาชนไม่ตาย ก็จะไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ส่วนตัวผมคิดว่า กรอบคิดแบบนี้แย่ ทำไมต้องแลกด้วยชีวิต แลกด้วยเลือดเนื้อ คนเราแลกกันด้วยเหตุผลไม่ได้หรืออย่างไร

ผมก็คอยสังเกตท่าทีของคุณ พลตรีจำลองกับคุณสนธิตลอด พอประชุม 5 แกนนำเสร็จ ผมมานั่งคุยกับพี่พิภพซึ่งเป็นคนที่ใกล้ชิดที่สุดว่า เฮ้ย คุณสนธิกับพลตรีจำลองไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด เพราะในวันที่มีการปิดล้อมทำเนียบ พี่สมศักดิ์เป็นคนเสนอให้บุกเข้าไปทำเนียบแล้วเอาเต็นท์ไปกาง ไถนาปลูกข้าว เพราะนายกฯไม่เข้าทำเนียบ นี่เป็นอารยะขัดขืนขั้นสูงสุดแล้ว แต่ห้ามทำลายข้าวของในทำเนียบ เรียกว่าหุงหาอาหารกินกัน เปิดโรงเรียน เปิดร้านตัดผมในนั้นเลย แต่ทางพลตรีจำลองโต้เถียงเสียงแข็งว่าไม่มีเหตุผล อาจารย์สมเกียรติเลยเสนอให้ปิดทั้ง 4 ด้านรอบทำเนียบ โดยให้ข้าราชการเข้าออกได้ แต่นักการเมืองกับคุณทักษิณเข้าไม่ได้ คุณสนธิบอก เฮ้ย บ้าแล้ว ทำอย่างนั้นได้อย่างไร มันไม่มีเหตุผล แล้วเราจะถูกด่าจากชาวบ้าน

กระทั่งเรื่องการเคลื่อนขบวนไปล้อมบ้าน จันทร์ส่องหล้า หลายคนอาจจะรู้สึกว่าพลตรีจำลองพูดชี้นำไปทางนั้น แต่จริงๆ เป็นเพียงสงครามจิตวิทยา ด้วยความที่พลตรีจำลองเป็นทหารมาก่อน ก็ต้องทำทั้งสงครามอาวุธและสงครามจิตวิทยา ทว่าเอาเข้าจริง ไม่ว่าพลตรีจำลอง คุณสนธิ หรือฝ่ายเรา ไม่เคยมีความคิดที่จะไปบ้านจันทร์ส่องหล้า อันนี้ผมยืนยัน

ตอนปัก หลักที่สะพานมัฆวาน ทางแกนนำถูกกดดันมากจากทางสายที่รู้สึกว่า ยืดเยื้อมา 10-20 วันแล้ว ไม่ไปไหนสักที เริ่มเบื่อหน่ายแล้ว ทางแกนนำจะเอาอย่างไร สุดท้ายก็ตัดสินใจเลิกชุมนุมวันที่ 1 เมษายน เพื่อกลับไปเลือกตั้ง และคิดว่าหลังเลือกตั้งจะต้องปรับแผนสู้กันใหม่

เวลานั้นก็มีการ คิดเรื่องโครงสร้าง เรื่องสมัชชา เพื่อสู้ในระดับจังหวัด ระดับภาคขึ้นมา เพราะก่อนหน้านี้คิดแค่ว่า ปักหลักสู้ในเมือง มีการแตกหัก แล้วจบแน่นอน ไม่ต้องคิดเรื่องเวทีในระดับภาค ระดับจังหวัด ให้เสียเวลา แต่พอหลังการเลือกตั้ง 2 เมษายน ผมคิดเลยว่า ถ้าทักษิณกลับมาเป็นรัฐบาลพรรคเดียว เงื่อนไขต่างๆ จะซับซ้อนขึ้น ดังนั้นต้องมีการสร้างเครือข่ายและเปิดเวทีตามภาค ตามจังหวัด ให้มากขึ้น ตอนนั้นก็เกิดความคิดเรื่องสมัชชาพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย

จุด เปลี่ยนสำคัญอีกอันหนึ่งในพันธมิตรคือ ตอนที่คุณสนธิประกาศขอนายกพระราชทานในวันที่ 23 มีนาคม ซึ่งนำไปสู่การแตกแยกอย่างรุนแรงทางความคิดระหว่างพันธมิตรทั้งหลาย แถมโดนวิจารณ์แรงมากจากสื่อมวลชนและนักวิชาการ

จริงๆ เรื่องนายกฯมาตรา 7 ก่อนที่พันธมิตรจะประกาศขอนายกฯพระราชทานอย่างเป็นทางการในวันที่ 23 มีนาคม ก็มีนักวิชากลุ่มหนึ่งเคลื่อนไหวเรียกร้องอยู่ข้างนอกมาก่อนแล้ว มีการเข้าชื่อยื่นกับพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ยื่นสำนักราชเลขาธิการ กระแสมาตรา 7 จะคู่ขนานกันมาตลอดเวลา แต่ช่วงนั้นพันธมิตรยังไม่แถลง เนื่องจากเป็นข้อตกลงว่าจะไม่พูดเรื่องนายกฯพระราชทาน เพราะทางครป.ไม่เห็นด้วย

พอ เคลื่อนมาถึงจุดหนึ่งในช่วงปลายมีนาคม สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดมาก และถ้าพันธมิตรไม่มีทางออก มวลชนก็จะกดดันมากขึ้น ซึ่งมวลชนส่วนใหญ่อยากได้นายกฯมาตรา 7 อยู่แล้ว เพียงแต่แกนนำยังไม่เอา เพราะเห็นว่าถ้ากดดันขนาดนี้ ถึงที่สุดคุณทักษิณต้องลาออก แต่สุดท้ายคุณทักษิณก็สู้ ไม่ว่าจะกดดันเท่าไหร่คุณทักษิณก็อยู่ของแกได้ และใช้วาทกรรมเดิมๆ ด่าฝ่ายค้าน ด่าพันธมิตรว่าเป็นพวกเสียประโยชน์

พอ ถูกกดดันมากๆ สัญญาณการเรียกร้องนายกฯมาตรา 7 ก็เริ่มมีการเคลื่อนไหวในพันธมิตร มวลชนเริ่มเรียกร้อง จนกระทั่งคุณสนธิพูดในที่ประชุมว่า ผมขอปรึกษา ผมยอมรับเลยว่า เรื่องนี้อาจจะทำให้หลายคนไม่สบายใจหรือกระทั่งมีคนถอนตัว แล้วก็พูดเรื่องมาตรา 7 ทางพี่พิภพกับพี่สมศักดิ์ก็ยืนยันว่าไม่เห็นด้วย ทางด้านอาจารย์สมเกียรติก็ดูเหมือนพูดชัดว่า อะไรก็ได้ขอให้ไล่ทักษิณได้ก่อน ทางครป.เลยขอเวลา 2 วัน ซึ่งเป็นเหตุให้เราประกาศว่า ภายใน 48 ชั่วโมงจะประกาศมาตรการทางสังคมเพื่อผ่าทางตัน

ช่วงเวลานั้นก็มี การนัดคุยกับเครือข่ายว่าเอามั้ยกับมาตรา 7 ถ้าเอาจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่เอาจะอยู่แบบไหน จะถอนหรือเปล่า ก็ใช้เวลาทั้งวันที่อนุสรณ์ 14 ตุลาฯ ในตอนนั้นประเด็นที่ถกกันไม่ใช่ว่าเอาหรือไม่เอา เพราะทางเราไม่เอามาตรา 7 อยู่แล้ว แต่ถกกันว่า ถ้าตัดสินใจถอยเพราะไม่เอามาตรา 7 แล้วจะเกิดอะไรขึ้น เวลานั้นก็มีข่าวปล่อยออกมาว่า การที่ม็อบนี้ไม่ดำเนินการแตกหักเพราะว่า พิภพกับสุริยะใส เป็นคนของภูมิธรรม เป็นคนของฝ่ายซ้ายในพรรคไทยรักไทยที่ถูกส่งเข้ามาเพื่อบล็อกการเคลื่อนไหวใน แนวทางสุ่มเสี่ยง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งถึงขั้นโทรมาบอกให้ผมแถลงข่าวชี้แจง ในประชาธิปัตย์เองก็ยังมีการเชื่อเรื่องแบบนี้ ในไทยรักไทยมีการปล่อยข่าวจนนักข่าวสายไทยรักไทยโทรมาบอกว่า มีเงินมาที่ครป. 30 ล้าน

ประเด็นที่สองที่ถกกันคือ ถ้าตัดสินใจถอย เราจะอธิบายกับมวลชนที่อยู่กับเรามาตลอด 2 เดือนอย่างไร เราจะเคลียร์ข้อหาทิ้งมวลชนอย่างไร

และ ประเด็นที่สามคือ ข่าววงในที่เชื่อถือได้จากนายทหารระดับสูงบอกว่า มีการปล่อยข่าวในองคมนตรีและราชนิกูลบางกลุ่มว่า มาตรา 7 ที่พวกพันธมิตรไม่กล้าประกาศ เพราะมีพวกครป.ซึ่งเป็น anti-royalist อยู่ในส่วนแกนนำ และบอกว่ากลุ่มนี้เป็นภัยต่อสถาบัน ข่าวนี้ถูกปล่อยออกมา 1 อาทิตย์ก่อนหน้า

อีกทางด้านหนึ่ง พี่เปี๊ยก บำรุง บุญปัญญา และเอ็นจีโออาวุโสของพวกเรา มีการประชุมกันล่วงหน้าเป็นอาทิตย์ พวกเขาก็พอรู้ว่าสถานการณ์มันตัน และเราอาจจะต้องเจ็บหรือมีคนตาย พี่บำรุงโทรมาหาผม และคุยด้วยความซีเรียสมากว่า เฮ้ย รอไม่ได้แล้ว คุณต้องประกาศมาตรา 7 นี่พูดก่อนที่คุณสนธิเสนออีก ผมตกใจมากว่าทำไมพี่บำรุงถึงพูดอย่างนั้น ผมบอกว่าไม่ได้นะ แล้วเราจะอธิบายกับพรรคพวกหรือฝ่ายประชาธิปไตยได้อย่างไร พี่เขาบอกว่า เฮ้ย วันนี้ไม่มีอะไรสำคัญกว่าการรักษากำลังของพวกเราไว้ เราต้องทำงานอีกนาน คุณไม่ได้สู้ครั้งนี้ครั้งเดียว ถ้าคุณหรือพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตาย ตรงนี้ทำให้ผมเริ่มฉุกคิด

เหตุผล ใหญ่ในการประกาศใช้มาตรา 7 คือ หนึ่ง มันไม่มีทางออกจริงๆ การเมืองเริ่มตันและไม่สามารถดันต่อไปได้ สอง ถ้าเราไม่เอาก็ต้องถอย แล้วข้อหาที่แรงที่สุดที่เราจะได้รับคือ ทิ้งมวลชนและรับเงินรัฐบาล ผมคิดว่าจะเป็นตราบาปกับครป. และทำให้ครป.ทำงานยากขึ้น อีกทั้ง มวลชนที่อยู่กับเรา ถ้ามีโอกาสทำงานกับเขาไปสักพักหนึ่ง ผมเชื่อว่าสามารถพัฒนาได้ ยกระดับความคิดเขาได้ และสามคือเรื่องความปลอดภัย ไม่เช่นนั้นจะมีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากจากการต่อสู้ครั้งนี้

ผม จำได้ว่า วันที่ผมสะเทือนใจที่สุดในชีวิตของผมคือวันที่เราตัดสินใจว่าจะอยู่ คือ 21 มีนาคม เพราะเป็นครั้งแรกที่ต้องฝืนความรู้สึกอย่างแรง ปกติทำงานก็ตามใจตัวเองมาตลอด คิดอย่างไรก็พูดออกไป แต่ครั้งนี้เราไม่เห็นด้วยกับเรื่องมาตรา 7 แต่ก็ต้องฝืน

จริงๆ ผมอาจจะไม่ต้องกังวลเท่าคนอื่น เพราะผมไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯที่ต้องเจ็บปวดกับประวัติศาสตร์บางด้านที่พูดกันได้น้อย คนที่ผมแคร์มากคือพี่พิภพกับพี่สมศักดิ์ วันนั้นผมเดินไปจับมือพี่พิภพแล้วบอกว่า พี่ ผมอยู่กับพี่ มติออกมาว่าอยู่ ผมจะอยู่กับพี่ ใครจะถอยก็ต้องให้เขาถอย เราอย่าไปบังคับกัน ผมพูดในที่ประชุมว่า แม้เสียงส่วนใหญ่จะเห็นว่าอยู่ แต่เราต้องเคารพเสียงส่วนน้อย เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องหลักการ ถ้าใครไม่เอาก็ควรถอยไปดีกว่า มาอยู่ในเวทีก็จะอึดอัด คุณก็เหนื่อย ผมก็เหนื่อย น้องนักศึกษาหลายคนก็ถอยไปจริงๆ บางคนอึดอัดจนทำงานไม่ได้ ต้องหยุดพักไป 3-4 วัน

หลังจากวันที่ตัดสินใจอยู่ พอในหลวงตรัสว่า มาตรา 7 ทำไม่ได้ และไม่ทำ มันก็เหมือนฟ้าหลังฝน ประเด็นนี้ก็จบไป หันมาพูดเรื่องข้างหน้าดีกว่า เพราะที่ผ่านมาเราก็ถูกอัดเรื่องนี้มาตลอด จากนั้นก็เกิดตุลาการภิวัตน์ขึ้นมา หลายคนก็มองว่าตุลาการภิวัตน์ก็เป็นมาตรา 7 อันนี้ก็แล้วแต่จะตีความ แต่ผมก็สบายใจที่มาตรา 7 จบไปแล้ว

แต่การแก้ปัญหาด้วยการเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 ก็ทำให้เรากลายเป็นกระฎุมพีมักง่ายอย่างที่นักวิชาการบางท่านว่าหรือเปล่า

จริงๆ ผมเจ็บปวดกับเรื่องกระฎุมพีมักง่ายมาก ในเชิงทฤษฎี ผมไม่มีอะไรจะไปโต้แย้งเลยในเรื่องมาตรา 7


ผม บอกพี่สุวิทย์และพี่พิภพว่า พี่ไม่ต้องไปพูดในเชิงทฤษฎี เพราะผมเห็นด้วยกับฝ่ายที่ไม่เอามาตรา 7 ผมเห็นด้วยกับมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ผมเห็นด้วยกับนักวิชาการ ผมเห็นด้วยกับเว็บไซต์ประชาไท เพราะฉะนั้นพี่อย่าอธิบาย แต่ผมพูดไปแล้วว่าผมไม่อยากทิ้งมวลชน เพราะเป็นข้อหาที่เลวร้ายที่สุดสำหรับคนที่นำในสนาม ที่วันดีคืนดีคุณก็รับอะไรบางอย่างไม่ได้เพียงเพราะว่าเรื่องนี้คุณคิดต่าง จากมวลชน แล้วคุณก็ไป ตรงนั้นต่างหากที่เป็นกระฎุมพีมักง่าย เพราะเราไม่มักง่ายนี่แหละ เราถึงต้องเจ็บปวด ถึงถูกตราหน้า ถูกด่าว่าเป็นสายล่อฟ้าให้คนมายึดอำนาจ เป็นพวกพึ่งสถาบัน เป็นการเมืองพระราชทานที่จงรักภักดี เหล่านี้เป็นข้อกล่าวหาที่ประเดประดังเข้ามาตลอดเวลา

ผมบอกผมไม่ โต้สักคำ แถมยังน่าฟังด้วยซ้ำ เพียงแต่ผมคิดว่า วันนี้มาถึงจุดนี้แล้ว สู้มองไปข้างหน้าดีกว่า เรามาช่วยกันคิดดีกว่าว่าจะแปรพลังมวลชนที่ยืนเคียงข้างกันมาให้เดินไปในทาง ไหน และจะยกระดับพลังตรงนี้ให้กลายเป็นพลังที่นำไปสู่การเมืองภาคประชาชนได้ อย่างไร

แต่มีการหลุดโต้ไปในในคอลัมน์ของอาจารย์สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ในเนชั่นสุดสัปดาห์ ที่พูดว่านักวิชาการที่วิจารณ์ก็เป็นพวกกระฎุมพีหอคอยเหมือนกัน

คำๆ นี้หลุดออกมาระหว่างคุยกันบนโต๊ะกินข้าวในช่วงที่พวกเราไปเที่ยวเมืองจีน เพื่อพักผ่อนกัน ผมหลุดออกมาว่า เขาด่าเรากระฎุมพีมักง่าย เขาก็น่าจะเป็นพวกกระฎุมพีหอคอยเพราะไม่ได้อยู่ในสนาม อันนี้ผมยอมรับว่าพูดจริง แต่ไม่มีเจตนาจะพูดโจมตีในหน้าหนังสือพิมพ์

ที่ ผ่านมาผมฟังมากกว่าที่จะโต้หรือไปประณามคนเหล่านั้น อีกทั้งผมติดตามอ่านบทความทุกชิ้น กระทั่งชิ้นที่อาจารย์ธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ด่าผมไว้ในเว็บมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนและประชาไท ผมก็อ่าน เพราะนอกจากผมมีหน้าที่ต้องรับฟังแล้ว ยังมีหน้าที่รายงานในที่ประชุมว่าข้อทักท้วงจากหมู่มิตรมีอะไรบ้าง

แต่ ในช่วงหลังๆ ไม่ว่าภาษาที่ใช้ หรือวาทกรรมที่ปรากฏในบทความโจมตีเหล่านั้น ล้วนเป็นภาษาที่ใช้ด่าศัตรู ไม่ใช่ด่ากัลยาณมิตรด้วยกัน ถ้าหวังดีจริงๆ น่าจะใช้ภาษาอื่น ไม่ควรมีคำว่ากระฎุมพีมักง่ายออกมา ด้วยความรู้สึกที่สุดทน ผมเลยสบถคำนั้นขึ้นมาว่า กระฎุมพีหอคอย แต่ไม่มีเจตนาที่จะเขียน พี่พิภพยังพูดเลยว่าสมเกียรติอย่าไปเขียนนะ อาจารย์สมเกียรติบอก บ้า จะไปเขียนได้ยังไง (หัวเราะ) แต่มันก็ปรากฏออกมา

ผม ก็เริ่มร้อน คนอ่านคนแรกคือ ปุ๊-ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการฟ้าเดียวกัน ซึ่งเป็นเพื่อนผม ก็โทรไปหาบุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ธรรมศาสตร์ และเคยเป็นรุ่นพี่ผมตอนเป็นเลขาธิการสหพันธ์นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) บอกว่า เฮ้ย ใสมันขนาดนั้นเลยเหรอ จะไม่ทำงานกับนักวิชาการอีกแล้วเหรอถึงพูดแรง บุญเลิศก็โทรมาหาผมเพื่อนัดเคลียร์ ผมบอกเคลียร์ไม่ได้ เรื่องนี้ลงในหนังสือพิมพ์ ต้องชี้แจงผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ ผมก็โทรไปหาพี่แคน สาลิกา(บรรณาธิการเนชั่นสุดสัปดาห์) เพื่อขอเขียนจดหมายถึงมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน

ผมยอมรับว่าผมคำว่า กระฎุมพีหอคอยจริง แต่มีหลายประโยคที่ผมไม่ได้พูด แล้วอาจารย์สมเกียรติไปเติมเข้าไป ซึ่งน่าจะเป็นความเห็นส่วนตัวของแก จริงๆ เรื่องนี้ผมมีโอกาสได้คุยกับทีมม.เที่ยงคืน ก่อนที่คอลัมน์ของอาจารย์สมเกียรติจะลงในเนชั่นสุดสัปดาห์ ผมได้เคลียร์ประเด็นเรื่องมาตรา 7 บนเวทีสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคเหนือ ครั้งนั้นผมต้องขึ้นเวทีกับ พี่เล็ก-อาจารย์สมชาย ปรีชาศิลปกุล ซึ่งเป็นคนจัดตั้งผมมาตั้งแต่สมัยเป็นรุ่นพี่สนนท.

หลังจากชี้แจง เรื่องมาตรา 7 ในที่ประชุมไม่มีใครตะขิดตะขวงใจ แถมยังรู้สึกเห็นใจด้วยซ้ำ ก็มีพี่เล็กคนเดียวที่ไม่ยอมเข้าใจ แกก็อธิบายด้วยทฤษฎีระบบ 3 M คือ Mass, Money และ Monarchy ซึ่งผมมีข้อโต้แย้งในทฤษฎีนี้เยอะมาก แต่ด้วยเงื่อนไขทางเวลา และตอนนั้นผมไม่อยากพูดถึงอีก คือยกมาตรา 7 ออกไปเถอะ มันเป็นสัญลักษณ์หนึ่งในการกุมอำนาจของสถาบัน

ประเด็น ที่เราไม่พูดกันคือ การปรับเปลี่ยนบทบาทและสถานะของอำนาจข้างบนให้เข้ากับเงื่อนไขของสังคมร่วม สมัย เป็นสิ่งที่ซับซ้อนกว่าการอธิบายด้วยสูตรเก่าๆ ถ้าผมจะโต้ในเชิงทฤษฎี มันไม่ใช่ 3 M แบบที่พี่เล็กอธิบายแล้ว สถาบันไม่ได้อยู่โดดๆ เรากล้าปฏิเสธมั้ยว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเอ็นจีโอที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มูลนิธิทั้งหลายที่ตั้งในนามของข้าราชบริพารมีเต็มไปหมด เอ็นจีโอสายก้าวหน้าก็อยู่ในมูลนิธิเหล่านี้ทั้งนั้น ดังนั้นผมคิดว่าการวิเคราะห์บนสูตรเก่าๆ อาจจะไม่พอแล้ว แต่วันนั้นไม่ได้พูด เพราะถือว่าผมไปในฐานะผู้ประสานงานพันธมิตร

ตอน นั้นดูเหมือนเอ็นจีโอก็จะเข้าใจ แม้ไม่เห็นด้วย แต่เห็นใจว่า คนที่อยู่บนสนามต้องตัดสินใจ เหมือนฟุตบอล บางทีเราอยากจะปั่นไซด์โค้ง แต่มุมไม่ให้ก็ต้องยิงลอดขา ผมเป็นผู้เล่น คือมันอาจจะไม่ใช่ข้อแก้ตัว แต่มันเป็นข้อเท็จจริงที่ต้องยอมรับกัน ถ้าผมอยู่อีกมุมหนึ่ง ผมอาจจะโจมตีแรงกว่าที่เขาโจมตีด้วยซ้ำ แต่อะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับกัน

ผมพูดด้วยท่าทีสารภาพ มากกว่าว่า มาตรา 7 เป็นสิ่งที่ไม่ดีเลย แถมผมพูดในที่ประชุมด้วยว่า ถ้าการที่ผมเคยพูดว่าไม่เห็นด้วยกับมาตรา 7 แต่สุดท้ายก็เหมือนผิดสัจจะนั้นเป็นบาป ผมจะไถ่บาปด้วยการทำให้เกิดการปฏิรูปการเมืองหลังจากระบอบทักษิณลง แต่ตอนนั้นยังไม่มีรัฐประหาร และไม่มีวี่แววว่าจะรัฐประหารด้วย

ใน ช่วงเวลานั้นผมมองว่า พันธมิตรมีหน้าที่หลักในขับไล่และล้มล้างระบอบทักษิณ และทำให้พลังพันธมิตรนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และกลายเป็นพลังให้กับคนยากคนจน ผมมีความหวังเช่นนั้น เพราะผมไม่รู้สึกว่าคนชั้นกลางงี่เง่าหมด ไม่ได้รู้สึกว่าคนชั้นกลางไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาชาวบ้าน แต่เราต้องหาคนเหล่านั้นให้เจอ แล้วทำงานกับเขาให้เป็น เราต้องสรุปบทเรียนด้วยเช่นกันว่า เราทำงานกับชนชั้นกลาง หรือพวก royalist เป็นหรือเปล่า ผมว่านี่เป็นสิ่งท้าทายภายใต้โจทย์ใหม่ของเรามากกว่า

การ ทำงานของครป.ช่วงหลังจากปี 2535 วางตัวเองไว้กับการเมืองของคนรากหญ้า ทำงานประชาธิปไตยจากคนระดับล่างขึ้นมา แล้วละเลยพลังคนชั้นกลาง แต่คนที่เข้าร่วมในเวทีพันธมิตรเป็นชนชั้นกลางสัก 70 เปอร์เซ็นต์ ผมก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้ชนชั้นกลางเหล่านี้มีท่อต่อกับคนชั้นล่าง เพื่อดึงพลังของคนในเมืองให้มาหนุนการเคลื่อนไหวของคนระดับล่าง ลดช่องว่างทางสังคม และสร้างความเข้าใจที่ดีต่อกัน ผมหวังว่าชนชั้นกลางกลุ่มนี้จะกลายเป็นกัลยาณมิตรผู้มาใหม่ที่เห็นว่าปัญหา คนจนเกี่ยวข้องกับเขาอย่างไร เขามีส่วนทั้งสร้างปัญหาและแก้ปัญหาได้อย่างไร

อะไรที่ทำให้คนอย่างคุณสนธิสามารถสื่อสารกับชนชั้นกลางได้ดี ในขณะที่ครป.พยายามจะทำ แต่ที่ผ่านมาทำไม่สำเร็จ

คิด ว่ามาจาก 2 ประเด็น หนึ่ง คุณสนธิมีทรัพยากรสื่อในมือ อยากสื่อสารเมื่อไหร่ก็ได้ อยากขยายผลให้มีเป็นตอนๆ เป็นภาคก็ได้ ขณะที่ครป.พูดหรือพยายามอธิบายแนวคิดอะไรออกไป สื่อก็อาจจะเลือกเพียงบางย่อหน้าไปลง หรือลงให้ครั้งนี้แล้วอีก 3 ปีค่อยโผล่มาใหม่ เราก็ไม่สามารถสร้างพลังการสื่อสารต่อเนื่องได้

ประเด็น ที่สองคือ ต้องยอมรับว่าคุณสนธิมีจุดเด่นในการสรุปประเด็น และสามารถประดิษฐ์ภาษาได้ยอดเยี่ยม มีคำพูดหลายคำที่หลุดมาในที่ชุมนุมที่สามารถแทนปรากฏการณ์ได้ทั้งหมดก็มี ดังนั้นผมคิดว่าจุดนี้เป็นจุดเด่นของคุณสนธิ และเป็นพลังที่สำคัญในการต่อสู้ครั้งนี้ด้วย เป็นพลังด้านบวกที่มีคุณประโยชน์มหาศาล ซึ่งแน่นอนว่าด้านลบที่เป็นพลังมหาศาลก็มี

ด้านลบของคุณสนธิคืออะไร

ด้าน ลบก็อย่างการที่คุณสนธิชอบโจมตีฝ่ายซ้าย คือต้องเข้าใจว่าฝ่ายซ้ายที่อยู่ไทยรักไทยก็แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ฝ่ายซ้ายที่อยู่กับพันธมิตรและทำงานกับชาวบ้านก็มหาศาล หรือกระทั่งไปเปิดศึกกับสื่อมวลชนบางแขนง จนบางครั้งผมต้องไปวิงวอนพลตรีจำลองว่า ช่วยบอกคุณสนธิหน่อยว่า ไม่จำเป็นอย่าไปด่าสื่อเลย คุณจำลองก็พูดให้ในที่ประชุม คุณสนธิก็หยุดไป 10 วัน พอวันที่ 11 ก็ด่าสื่ออีก ซึ่งบางทีก็ต้องเข้าใจว่ามันเป็นสไตล์ของแต่ละคน อายุขนาดนี้จะไปเปลี่ยนอะไรก็คงยาก

ผมคิดว่า การดำรงอยู่ของพันธมิตรเป็นสภาวะที่พึ่งพา หรือหนุนเนื่องและทดแทนจุดด้อยของกันและกันมากกว่า ด้านที่เป็นข้ออ่อนก็ต้องสร้างมาตรการขึ้นมาคัดคาน เช่น บางทีคุณสนธิได้ข้อมูลมาผิดๆ แล้วเอาไปโจมตีฝ่ายซ้าย ผมกับพี่พิภพ พี่สมศักดิ์ พี่สุวิทย์ ก็ต้องไปเปิดเวทีเคลียร์กับฝ่ายซ้าย เพื่อให้เกิดความเข้าใจกัน เพราะฝ่ายซ้ายอยู่ข้างเดียวกับเราเต็มไปหมด ทำงานอยู่กับรากหญ้า และเป็นผู้ส่งคนเข้ามาเคลื่อนไหว ถือเป็นแนวร่วมของเราในต่างจังหวัดที่ดีทีเดียว ฉะนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำลายแนวร่วม

ส่วนเรื่องที่คุณสนธิชอบ ทะเลาะกับสื่อ โอเค บางคนก็น่าทะเลาะ แต่มันเป็นเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นภายใต้ระบอบทักษิณ ถ้าเป้าเราอยู่ที่ระบอบทักษิณ ก็ควรให้ความสนใจในส่วนนี้ท้ายๆ เอาพลังที่มีไปกดที่คุณทักษิณดีกว่า ผมเชื่อว่า ถ้าคุณทักษิณไป สื่อก็แตกหน่อจัดระเบียบกันใหม่เหมือนกัน

การต่อสู้ของพันธมิตรที่มีคุณสนธิอยู่ด้วย มันมีกระบวนการหลังพิงวัง ตรงนี้สร้างความอึดอัดให้ฝ่ายซ้ายจำนวนมากในพันธมิตรหรือไม่

ปัญหา ในเรื่องปรากฏการณ์หลังพิงวังมีมาตลอด และมีความอึดอัดเพราะเป็นกระแสที่เราก็ต่อต้านมาตลอด ถึงขนาดฝ่ายซ้ายมาขอคุยให้ครป.ถอยออกมา แต่เราต้องยอมรับว่า การสู้กับระบอบทักษิณ เมื่อภาคประชาชนเห็นว่าระบอบทักษิณเป็นตัวปัญหา แต่ภาคประชาชนเองไม่มีกำลังพอที่จะโค่นล้มคุณทักษิณได้ ฉะนั้นก็ต้องเชื่อมประสานกับพลังอื่น ไม่ว่าจะพลังชนชั้นกลาง พลังทุนนิยมในชาติ พลังศักดินา ก็ต้องร่วมกันเพื่อจัดการคุณทักษิณ เพราะพลังศักดินาโดดๆ ก็จัดการคุณทักษิณไม่ได้ ต้องมาเชื่อมประสานกับพลังของภาคประชาชน ดังนั้นก็เลยเกิดธงหลายผืนในที่ชุมนุม ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าเราจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร เราอาจจะไม่ได้ทั้งร้อยในการต่อสู้ครั้งนี้ แต่เมื่อต่อสู้แล้วไม่มีใครอยากแพ้ จึงเป็นเหตุให้เราไม่ถอย

ถ้าเป็นเช่นนั้นก็เหมือนพลังศักดินาสามารถยืมมือพลังประชาชนในการจัดการและดึงอำนาจคืนจากคุณทักษิณ
พลังศักดินาอาจจะยืมมือเรา แต่ที่แน่ๆ คือ เราไม่ได้รับธงเขามาเคลื่อน


ผม ไม่ปฏิเสธว่าหลังการรัฐประหาร พลังศักดินาเกิดใหม่ ระบอบอำมตยาธิปไตยสามารถเห็นได้ชัดเจนภายใต้โครงสร้างรัฐบาลใหม่ ตรงนี้เราก็ต้องสรุปบทเรียนว่า จะจัดการกับการเกิดใหม่ของพลังศักดินาหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยได้อย่างไร และที่ทางของประชาชนหรือการเมืองแบบใหม่ที่สู้กันมาทั้งชีวิตจะอยู่ตรงไหน เราจะทำอย่างไรเพื่อสร้างพื้นที่ของเราขึ้นมาในการกำหนดให้วาระของประชาชน เข้าไปในรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องผลักดันให้ก้าวหน้ากว่ารัฐธรรมนูญปี 2540

ส่วน หนึ่งที่ต้องยอมรับในสังคมไทยคือ องค์อำนาจในสังคมไทยมีหลายองค์อำนาจ ไม่ใช่แค่ทุนใหม่กับฝ่ายประชาชนเท่านั้น พลังศักดินา ระบอบอำมาตยาธิปไตย มีอยู่จริง มีอำนาจที่เป็นจริง มีการเคลื่อนไหวปฏิบัติการในตัว และมีการปรากฏตัวออกเป็นช่วงๆ ดังนั้นเราจึงไม่ควรมองข้ามองค์อำนาจส่วนนี้ อีกทั้งระบบอำนาจนิยมยังเข้ามาแทนที่ระบบความคิดใหม่ๆ ในสังคมไทยได้อย่างง่ายดาย เห็นได้จากคนชื่นชมรัฐประหารและเห็นด้วยกับรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ ตรงนี้เป็นการบ้านที่ท้าทายบทใหม่

ผมยังไม่อยากไปสรุปว่านี่เป็น ระบอบใหม่ เพราะการทำรัฐประหารครั้งนี้อาจนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ พูดแบบนี้ฝ่ายซ้ายบางคนอาจจะหมั่นไส้ แต่ผมคิดว่านี่เป็นโอกาสใหม่ที่จะได้ทบทวนเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้มข้น ถ้าไม่มีรัฐประหารครั้งนี้ เศรษฐกิจพอเพียงไม่มีทางเกิด เพียงแต่ว่าเศรษฐกิจพอเพียงในแนวทางอำมาตยาธิปไตยจะกล้าพูดเรื่องกระจายอำนา จมั้ย จะกล้าพูดเรื่องการปฏิรูปที่ดินไหม แต่ถึงที่สุด อย่างน้อยก็ได้ทบทวนว่าเรามีเศรษฐกิจทางเลือก

นายกฯคนใหม่ส่งสัญญาณตั้งแต่วันแรกเลยว่า จะใช้ GNH (Gross National Happiness) หรือความผาสุกของประชาชน แทนดัชนีตัวเลขทางเศรษฐกิจ ผมจึงเชื่อว่าอาจมีโอกาสใหม่ๆ เกิดขึ้น ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เรารู้สึกว่าล้าหลัง ปัญหาอยู่ที่ว่าเราจะไปจัดการโอกาสใหม่นี้อย่างไร จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำให้ทางเลือกใหม่ๆ ขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติได้อย่างไร ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรือการลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวย

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ กล้าพูดว่าจะเอาการกระจายรายได้มาเป็นวาระแห่งชาติ ผมไม่เคยได้ยินมาในรอบทศวรรษ แต่วันนี้พูดเรื่อง Green GDP (ดัชนี ชี้วัดทางเศรษฐกิจที่รวมเอาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปเป็นปัจจัยหนึ่งใน การคำนวณ) แต่ก็ต้องไปเช็คว่าหม่อมอุ๋ย คุณโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ หรือพลเอกสุรยุทธ์ เข้าใจจริงหรือเปล่า จะกล้าแตะลงไปในระดับโครงสร้างหรือเปล่า ไม่เช่นนั้นก็เป็นแค่การฟอกตัวของอำนาจนิยมใหม่ หรือเป็นการแปรรูปของระบอบอำมาตยาธิปไตยในคราบของอำนาจใหม่เท่านั้น ถ้ามองในมุมนี้ การบ้านอาจจะซับซ้อนกว่าระบอบทักษิณด้วยซ้ำ เพราะเราต้องช่วงชิงและต่อกรกับกลุ่มอำนาจเก่า

มองบทบาทของคนอย่างพลเอกเปรมอย่างไรบ้าง

พล เอกเปรมเป็นสัญลักษณ์ของระบอบอำมาตยาธิปไตย จริงๆ ระบอบนี้ไม่ได้หายไปจากสังคมไทย แม้จะมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ตาม ถ้าเราดูบทบาทของพลเอกเปรมก็จะเห็นชัด เพียงแต่พื้นที่ของระบอบนี้คับแคบลงในระดับหนึ่ง เพราะการเติบโตของพื้นที่ภาคประชาชนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นการท้าทายระบอบนี้โดยตรง ขณะเดียวกัน ระบอบอำมาตยาธิปไตยก็ถูกท้าทายจากทุนใหม่ ซึ่งเป็นพลังที่พาคุณทักษิณขึ้นสู่อำนาจ

เราอาจจะพูดว่า ระบอบศักดินายืมพลังจากประชาชนโค่นล้มระบอบทักษิณหรือว่าทุนใหม่ก็เป็นไปได้ แต่ผมคิดว่า พลเอกเปรมไม่ได้เป็นสัญลักษณ์ของการคงอยู่ของระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีพลเอกเปรมแล้วระบอบประชาธิปไตยจะเต็มใบ แต่เป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายอำนาจนิยมหรือระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ยังมีพื้นที่ที่ แน่นอนในสังคมการเมืองไทย

วันนี้ก็เห็นโดยพฤตินัยได้อย่างชัดเจน ว่า พลเอกเปรมใช้อำนาจนั้นผ่านคปค. ท่านนั่งบัญชาการอยู่ที่บ้านสี่เสาฯ และไม่มีใครคิดว่าท่านจะกล้าทำ หรือไม่มีใครคิดตอนที่นั่งร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า การรัฐประหารครั้งนี้องคมนตรีจะมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือเปิดเผยขนาดนี้

ตอนที่คุยกันมีอยู่ช่วงหนึ่งได้พูดถึง บทบาทของสถาบันกษัตริย์ แล้วคุณบอกว่าไม่ได้เห็นด้วยกับทฤษฎีที่วิเคราะห์สถาบันกษัตริย์แบบเดิมๆ จริงๆ ความซับซ้อนในการคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ในสังคมไทยปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลง ไปจากเดิมมากน้อยแค่ไหน

มากครับ นี่เป็นคำถามที่ผมคิดว่าน่าสนใจ

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่างานเอ็นจีโอ นอกจากโดนเบียดโดยประชาสังคมของรัฐและโดยทุน น่าจะมีสิ่งที่เรียกว่าประชาสังคมโดยสถาบัน ผ่านมูลนิธิต่างๆ เราจะเห็นว่ามีการระดมทุนก่อตั้งมูลนิธิใหม่ๆ เยอะไปหมดในแนวประชาสังคมสงเคราะห์ ผมคิดว่านี่คือการปรับตัวของสถาบัน เป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ด้วยการลงไปทำงานกับชาวบ้าน เรามีพระมหากษัตริย์ที่คลุกคลีกับชาวบ้านมากกว่าพระมหากษัตริย์องค์ใดในโลก นี้ พระราชกรณียกิจส่วนใหญ่ก็อยู่กับชาวบ้าน ตรงนี้ที่ผมคิดว่าพลังฝ่ายก้าวหน้าต้องทำความเข้าใจใหม่ การใช้ทฤษฎีเก่าๆ มาวิเคราะห์ดูจะหยาบไป


เวลาพูดถึงพื้นที่ใหม่ๆ ในนามภาคประชาชน เราอาจจะต้องมาตรวจสอบกันใหม่ว่าของแท้มีกี่เปอร์เซ็นต์ ของเทียมมีกี่เปอร์เซ็นต์ ถึงแม้จะมีเซ็คเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในภาคประชาสังคม แต่หากมาไล่เรียงดูกันจริงๆ ก็พบว่ามีของแท้ไม่เยอะมาก ส่วนหนึ่งมาจากระบอบทักษิณที่ได้สร้างประชาสังคมในนามภาครัฐเต็มไปหมด จนกระทั่งมวลชนของเราหลุดไปอยู่กับกองทุนหมู่บ้าน ไปอยู่กับโครงการต่างๆ ของรัฐ หรือแม้กระทั่งกองทุนแบบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้เงินจากภาครัฐ เอาเข้าจริงๆ คนกลุ่มนี้ก็ไม่แฮปปี้กับการที่ชาวบ้านลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวต่อต้านโครงการ ขนาดใหญ่ ถึงขั้นว่าถ้าโครงการไหนมีกิจกรรมในการชุมนุมเคลื่อนไหวหรือยื่นหนังสือ ประท้วง ก็จะไม่ได้รับงบ

จากการวิเคราะห์ดูก็จะเห็นว่า ขณะนี้ภาคประชาชนซึ่งเป็นเค้กก้อนใหม่ถูกกระทำจากหลายทาง ไม่ใช่แค่จากเอ็นจีโอหรือฝ่ายก้าวหน้าทั้งนั้น แต่รวมถึงจากรัฐที่ถูกครอบงำโดยอุดมการณ์ของทุนนิยมข้ามชาติ จากศักดินาที่ปรับตัว รวมถึงข้าราชการที่กำลังปรับตัวด้วย ตรงนี้ยังเป็นวาทกรรมที่ยังต้องช่วงชิงกันต่อในภาคประชาชน

ภาคประชาชนต้องปรับตัวอย่างไรในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน

ผมคิดว่าการที่เราเริ่มสร้างประชาธิปไตยจากข้างล่างนั้นถูกทางแล้ว เพียงแต่อยู่ในจุดที่มีการโจมตีจากภายนอกหนักบ้างเบาบ้าง

ใน ช่วงก่อนรัฐบาลทักษิณ ผมคิดว่าการเติบโตของการเมืองภาคประชาชนมีพัฒนาการที่ชัดเจน แต่พอรัฐบาลทักษิณเข้ามา มีการโจมตีกระบวนการภาคประชาชนสูงมาก ทั้งในทางกฎหมายและในทางพฤตินัย เช่น การสร้างประชาสังคมขึ้นมาแทนที่หรือแข่งกับเรา ใครจดทะเบียน ใครเป็นสมาชิกถึงจะได้รับการรับรองจากภาครัฐ ใครไม่จดทะเบียน ใครเป็นพวกเคลื่อนไหวประท้วง ก็จะไม่ได้รับการแยแสจากรัฐ


ในช่วง เวลาที่ผ่านมา การเมืองภาคประชาชนค่อนข้างหดหายไป แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า อุดมการณ์หรือความคิดความอ่านจะหายไปด้วย ผมคิดว่า ถ้าจะให้ประเมินสิ่งที่ครป.ทำมาทั้งหมด ถือว่าทำมาถูกทางแล้ว เราขยายพื้นที่ภาคประชาชนได้เยอะ

นักวิชาการบางคนบอกว่า การพูดถึงมาตรา 7 หรือการฉีกรัฐธรรมนูญ 2540 เป็นการถอยกลับไปสู่ปี 2475 ผมคิดว่าเป็นการพูดที่มองข้ามความเป็นจริงเกินไป ไม่ต้องไปดูความเป็นจริงที่ไหนหรอก แค่ดูในภาคประชาชนก็จะรู้ว่า คนไม่ได้โง่พอที่จะคิดว่ามาตรา 7 เป็นทางออกของชาติ ไม่ได้โง่พอที่จะให้ความชอบธรรมกับรัฐประหาร มันมีวิวัฒนาการ อย่าไปสถิตย์ด้วยทฤษฎีบางตัว แต่ต้องสร้างทฤษฎีใหม่ๆ มารองรับการเคลื่อนไหวแบบใหม่มากขึ้น ดังนั้นผมคิดว่าหน้าที่เราคือการทำให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้ต่อ ทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล

ประเด็นสำคัญที่ต้องพูดถึงคือ เราต้องกลับไปคุยกันเรื่องการกระจายอำนาจ ตอนนี้ครป.กำลังทำโครงการเรื่องการกระจายอำนาจ มีการจัดตั้งชมรมอบต.เพื่อประชาชนทั่วประเทศ โดยทำงานเน้นเรื่องการกระจายอำนาจ ภายใต้กฎหมายการกระจายอำนาจปี 2542 แต่รัฐธรรมนูญก็ถูกฉีกทิ้งไปแล้ว ก็ต้องมาเขียนและสร้างกันใหม่ ที่ผ่านมาก็มีไปดูงานต่างประเทศ มีการรวบรวมองค์ความรู้ในการกระจายอำนาจขึ้นมา และมีคณะทำงานที่เสนอเรื่องการกระจายอำนาจให้เป็นวาระหนึ่งในการรัฐธรรมนูญ ครั้งใหม่นี้

ผมคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่จะอยู่เฉย หรือพอใจแล้วก็หยุด ผมมองประวัติศาสตร์เป็นเส้นตรงเลยรู้สึกว่าเรามาถูกทางแล้ว แต่ยังไม่พอ ก็ต้องสู้ต่อไป และสรุปบทเรียนเป็นช่วงๆ ไป ที่สำคัญผมคิดว่า การถอดบทเรียนในหมู่พวกเรากันเองคงต้องทำมากขึ้น ที่ผ่านมายอมรับว่ายังน้อยไป

สิ่งที่น่าคิดคือ หนึ่งปีที่ผ่านมา ความแตกแยกระหว่างประชาชนด้วยกันเองมีสูงมากอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แต่มองอีกมุมหนึ่งตัวผมกลับรู้สึกว่า มันจะต้องเกิดขึ้น อยู่ที่ช้าหรือเร็ว เพียงแต่มีตัวเร่งของสถานการณ์ มีมาตรา 7 มีรัฐประหารเข้ามา เหตุการณ์เลยชัดขึ้น

ผมว่ามองในมุมหนึ่งก็ถือ เป็นเรื่องดี จะได้เห็นว่าการเกิดใหม่ของกระบวนการประชาชนจะไปต่ออย่างไร จะมีกี่แนว ผมคิดว่าบรรยากาศแบบนี้มาถึงแน่ เพียงแต่อาจจะมาถึงเร็วจนตั้งตัวกันไม่ทัน จนเสียเพื่อน คือบางทีเราเผชิญหน้ากันโดยไม่จำเป็น เพราะเราถอดบทเรียนกันน้อยไปในช่วงที่ผ่านมา ครั้งนี้คิดว่าคงได้รับบทเรียนมาก และน่าจะมีโอกาสได้คุยกันมากขึ้น

ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนธันวาคม 2549
และขอขอบคุณนิตยสาร IMAGE ที่อนุญาตให้นำรูปมาใช้ประกอบเรื่อง


ที่มา: http://www.onopen.com/coffee-open/07-01-24/3292

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น