วันจันทร์, มีนาคม 21, 2554

ปฏิบัติการเด็ดปีกกัดดาฟีสิทธิมนุษยชนหรือสวาปามน้ำมัน

การใช้กำลังอาวุธโจมตีลิเบียโดยกองทัพสหรัฐ อังกฤษ และฝรั่งเศส เกิดขึ้นตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เปิดโอกาสทองให้กับชาติตะวันตก ด้วยการประกาศเขตห้ามบินเหนือน่านฟ้าลิเบีย เพื่อหยุดยั้งการใช้เครื่องบินรบของกองกำลังที่ภักดีต่อพันเอก โมอัมมาร์ กัดดาฟี ปูพรมโจมตีฝ่ายต่อต้าน

จุดประสงค์แท้จริงของมตินี้ ก็เพื่อปรามการสังหารหมู่ประชาชนด้วยน้ำมือของกัดดาฟี หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ชาติตะวันตกกำลังรุนแรงต่อลิเบีย (อีกฝ่าย) ด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรมและป้องกันการสังหารหมู่ฝ่ายตรงข้าม ที่อาจบานปลายเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ พิจารณาจากการกระทำอันบ้าบิ่นของผู้นำลิเบียที่ไม่แยแสต่อมติ UNSC และวาจาของผู้นำลิเบียที่ประกาศกร้าว พร้อมชำระแค้นผู้ตรงข้ามอย่างสาสม

มื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ที่มีมนุษยธรรมเป็นธรรมประจำใจย่อมไม่คัดค้านการใช้กำลังทหารขวางกัดดาฟี หาไม่แล้วโลกอาจต้องเป็นประจักษ์พยานการฆ่าหมู่จนแผ่นดินทะเลทรายกลายเป็นทะเลเลือด โดยไม่อาจยื่นมือเข้าแทรกแซงได้ทันการณ์

แต่แล้วเหตุใดจึงยังมีเสียงคัดค้านการใช้กำลังอาวุธรุมกินโต๊ะกัดดาฟี ทั้งๆ ที่หาได้มีประเทศใดคัดค้านมติของ UNSC


ทั้งนี้ แม้จีนและรัสเซียซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกถาวรของคณะมนตรี และมีสิทธิวีโตทุกมติ เพียงสงวนท่าทีงดออกเสียงเท่านั้น แต่ในเวลาต่อมา จีนและรัสเซียแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยอย่างชัดเจนต่อการกระทำของชาติตะวันตก ฝ่ายจีนนั้นล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ถึงกับระบุผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศว่า “จีนได้สังเกตความคืบหน้าล่าสุดในลิเบีย และเสียใจที่เกิดการโจมตีด้วยกำลังทหาร”

ท่าทีกำกวมของรัสเซียและจีนเห็นได้ชัดว่าเป็นการถ่วงดุลของการเหยียบเรือสองแคม ระหว่างการเห็นด้วยกับการลงโทษผู้นำลิเบียและการต่อต้านการรุกรานโดยตะวันตก ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ จีนและรัสเซียยังหาจุดสมดุลไม่ได้

หากจีนและรัสเซียวีโต้การใช้กำลังกับกัดดาฟี จะถูกประชาคมโลกตราหน้าในทันทีว่าให้ท้ายเผด็จการมือเปื้อนเลือด


แต่หากจีนและรัสเซียปล่อยให้ชาติตะวันตกรุมสกรัมลิเบียอย่างไม่ยั้งมือ ในที่สุดแล้วผลประโยชน์มหาศาลจะถูกฉวยไปโดยที่ทั้งสองประเทศไม่มีสิทธิเข้าไปยุ่มย่ามอีก

ผลประโยชน์ที่ว่านี้ย่อมหมายถึงแหล่งน้ำมันในลิเบีย

สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส มีเจตนาแอบแฝงในการ “ใช้กำลังเพื่อมนุษยธรรม” หรือไม่นั้น มีเพียง 3 ประเทศที่รู้อยู่เต็มอก แต่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือ ใครก็ตามที่ใกล้ชิดสนิทสนมกับฝ่ายที่กุมอำนาจบงการอุตสาหกรรมน้ำมันในลิเบีย ผู้นั้นย่อมได้ประโยชน์อย่างไม่ขาดสาย

ที่ผ่านมาผู้ที่กุมอำนาจนั้นย่อมเป็นกัดดาฟี ซึ่งบริหารประเทศที่กรุงตริโปลีทางตะวันตกของลิเบีย แต่แหล่งน้ำมันส่วนใหญ่ตั้งอยู่ทางตะวันออกของประเทศ ที่บัดนี้ควบคุมโดยกลุ่มกบฏ

ในระหว่างที่ชาวโลกกำลังพุ่งความสนใจไปยังภัยพิบัติที่ญี่ปุ่น กัดดาฟีไม่เพียงรุกคืบจนยึดเมืองคืนจากฝ่ายกบฏได้จำนวนหนึ่งเท่านั้น แต่ในช่วงเวลาดังกล่าว National Oil Corporation บริษัทน้ำมันแห่งชาติของลิเบียยังเตรียมทำสัญญามอบแหล่งน้ำมันให้จีนและอินเดียได้ร่วมพัฒนารวมถึงประเทศที่ผู้นำลิเบียเห็นว่าเป็นมิตรต่อตน

ย้ำอีกครั้งว่า จีนและอินเดียเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่งดออกเสียงสนับสนุนมติถล่มลิเบีย ซึ่งได้แก่ จีน รัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรของ UNSC ส่วนอินเดีย เยอรมนี และบราซิล เป็นสมาชิกสมทบ

หลังจากที่กลุ่มกบฏยึดพื้นที่ภาคตะวันออกอันอุดมไปด้วยน้ำมันไว้ได้ จนเกือบจะตัดขาดกัดดาฟีจากอิทธิพลเหนือพื้นที่ดังกล่าวไปอย่างสิ้นเชิง ปรากฏว่ากัดดาฟีเลือกใช้การโจมตีทางอากาศ จนเป็นโอกาสให้ชาติตะวันตกยื่นมือเข้ามา ด้วยเหตุผลอันชัดเจน แต่เจตนาคลุมเครือเหมือนการฉวยโอกาสโจมตีแดนมิคสัญญีอื่นๆ

ขณะนี้ยังประเมินยอดผู้เสียชีวิตภายหลังการโจมตีทางอากาศโดยฝ่ายกัดดาฟีต่อประชาชนอย่างชัดเจนไม่ได้ แต่ล่าสุดฝ่ายกัดดาฟีอ้างว่า การโจมตีทางอากาศโดยชาติตะวันตกยังผลให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 48 ราย อีกทั้งสถานีโทรทัศน์ของทางการลิเบียยังรายงานว่า พลเรือนตกเป็นเป้าการโจมตีในครั้งนี้ด้วย

สรุปว่า ทั้งสองฝ่ายต่างตกเป็นจำเลยเหมือนกัน ในข้อหาโจมตีโดยไม่สนใจว่าจะมีพลเรือนไร้อาวุธรวมอยู่ด้วย

ไม่ผิดมากนักจากคำกล่าวของ ฮูโก ชาเวซ ประธานาธิบดีเวเนซุเอลา และมหามิตรของกัดดาฟี ที่กล่าวด้วยอารมณ์ฉุนเฉียวว่า “พวกนั้นต้องการยึดครองน้ำมันของลิเบีย ชีวิตของประชาชนชาวลิเบียไม่ใช่เรื่องสำคัญสำหรับพวกนั้นเลย”

ชาเวซจะต้องไม่ลืมว่า “พวกเขา” ในที่นี้ต้องรวมกัดดาฟีเอาไว้ด้วย

และ “พวกเขา” มิได้หมายถึงรัฐบาลหรือผู้นำประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคธุรกิจที่จะมีได้มีเสียกับสถานการณ์ในลิเบีย

แม้จะยังไม่อาจยืนยันความเกี่ยวข้องระหว่างการโจมตีโดยชาติตะวันตกและการเกื้อหนุนบรรษัทน้ำมันชั้นนำ แต่สถานการณ์ในลิเบียที่ยอกย้อนซ่อนกลทำให้ต้องจับตาบริษัทน้ำมันจากประเทศที่เกี่ยวข้องกับการโจมตีลิเบียไปพร้อมๆ กัน

บริษัทเหล่านั้น ได้แก่ BP และ Shell จากอังกฤษ ExxonMobil, Marathon Oil , Hess และ ConocoPhillips จากสหรัฐ Verenex จากแคนาดา Eni จากอิตาลี Total จากฝรั่งเศส ซึ่งในบรรดาบริษัทเหล่านี้ Eni มีสัดส่วนการผลิตในลิเบียมากที่สุด 12% Marathon Oil 12% ConocoPhillips 3.3% และ Total ราว 3%

ที่น่าสนใจก็คือ บริษัทจากประเทศที่ไม่สนับสนุนการใช้กำลังแทรกแซงลิเบีย มีสัดส่วนการผลิตที่ค่อนข้างต่ำ ไม่ว่าจะเป็น PetroChina จากจีน Petrobras จากบราซิลมีเพียง Gazprom จากรัสเซียเท่านั้นที่มีสัดส่วนการผลิตพอสมควรที่ 7.4%

แม้กำลังการผลิตจะต่ำ แต่การที่ลิเบียเล็งเห็นความเป็น “มิตรแท้ในยามยาก” จากประเทศเหล่านี้ ในอนาคต PetroChina หรือ Gazprom ก็อาจมีส่วนแบ่งมากขึ้นอีกนับเท่าตัว หากกัดดาฟีสามารถต้านทานการโจมตีได้ในที่สุด และขยายสัญญาทางธุรกิจให้กับบริษัทจากประเทศมหามิตร

แต่หากกัดดาฟีพ่ายแพ้ มีโอกาสสูงที่ฝ่ายตรงข้ามจะโอนความมั่งคั่งให้กับชาติตะวันตกเพิ่มเติม โดยไม่ต่อสัญญากับจีนหรือรัสเซีย หากไม่ถึงกับยกเลิกสัญญาการขุดเจาะและสำรวจ เพราะทั้งสองประเทศต่างสงวนท่าทีอย่างชาญฉลาดจนไม่สบช่องให้ “ชำระแค้น” ได้

ทั้งนี้ ลิเบียมีกำลังการผลิตน้ำมันในอันดับ 18 ของโลกด้วยกำลังการผลิต 1.55 ล้านบาร์เรลต่อวัน แต่สภาพทางภูมิศาสตร์ใกล้กับยุโรปมากที่สุดในบรรดาประเทศผู้ผลิตน้ำมันด้วยกัน ยกเว้นรัสเซีย

ฝ่ายพันธมิตรนานาชาติที่เข้า “ขัดขวาง”กัดดาฟี จะประสบความสำเร็จในการ “ปลดปล่อย” ชาวลิเบียในเวลาอันสั้นหรือไม่นั้น ยังเร็วเกินกว่าที่จะตอบได้ แม้แต่กัดดาฟีเองถึงจะลั่นคำรามว่า นี่คือ “สงครามยืดเยื้อ” แต่เอาเข้าจริงก็เกินความสามารถของผู้นำลิเบียที่จะประเมินได้เพียงลำพัง

แต่มีความเคลื่อนไหวประการหนึ่งที่น่าสนใจมาจากฝ่ายสหรัฐ

นั่นคือแถลงการณ์ของประธานาธิบดีบารักโอบามา แห่งสหรัฐที่กล่าวต่อชาวบราซิลที่นครรีโอเดจาเนโร ที่ระบุว่า “สหรัฐปรารถนาจะเป็นลูกค้าชั้นดีที่สุดของบราซิล ในยามที่บราซิลเริ่มขายน้ำมัน”

การที่สหรัฐ “จีบ” บราซิลอย่างไม่อ้อมค้อม ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า สหรัฐกำลังหาแหล่งน้ำมันสำรองแทนที่ลิเบีย หรือกระทั่งแหล่งในแอฟริกาหรือไม่ ในกรณีที่สงครามในลิเบียยืดเยื้อ และนานาประเทศในแอฟริกาคว่ำบาตรสหรัฐ ดังที่สหภาพแอฟริกา (AU) ได้มีแถลงการณ์ประณามและเรียกร้องให้ชาติตะวันตกหยุดใช้กำลังทหารแทรกแซงลิเบีย

หากแอฟริกาไม่พอใจชาติตะวันตกอย่างรุนแรง ถึงขั้นใช้มาตรการปิดกั้นธุรกิจน้ำมันจากตะวันตกไม่ให้เข้ามามีส่วนแบ่ง ปริมาณน้ำมันที่ไหลเข้าชาติตะวันตกจะลดวูบในทันที เพราะในกลุ่มท็อป 20 ของประเทศผู้ผลิตน้ำมันมากที่สุดในโลก มีถึง 4 ประเทศที่มาจากภูมิภาคนี้ คือ แอลจีเรีย ซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำมัน 2.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในอันดับที่ 12 ของโลก แองโกลา 1.835 ล้านบาร์เรลต่อวัน รั้งอันดับที่ 15 และไนจีเรีย 1.825 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ยังไม่นับประเทศที่ไม่ออกเสียงแต่คัดค้านมติ UNSC อยู่ในที คือ บราซิลที่กำลังการผลิต 1.973 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในอันดับที่ 14 ของโลก และมหามิตรของลิเบียคือเวเนซุเอลาในอันดับที่ 13 ด้วยกำลังการผลิต 2.175 ล้านบาร์เรลต่อวัน

หากชาติตะวันตกและบรรษัทน้ำมันชั้นนำมีเจตนาแอบแฝงในการโจมตีลิเบียจริง การบุกลิเบียเพื่อหวังแหล่งน้ำมันคงไม่ง่ายดายเท่ากับการบุกอิรักอย่างแน่นอน


ที่มา: โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์ : 21 มีนาคม 2554 เวลา 08:29 น.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น