วันอาทิตย์, มีนาคม 13, 2554

"รสนา"ชี้ไทยรอโดนรุมกระทืบจากเท้าที่มองไม่เห็น อนาถ! คนไทยยอมรับได้"เก่งแล้วโกง"


มูลนิธิสัมมาชีพ ร่วมกับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดการอบรม "โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่น 2 (Leadership for Change) ที่ห้องประชุมข่าวสด เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 13 มีนาคม ในหัวข้อเรื่อง "บทบาทภาคประชาชนและเอกชนในการขับเคลื่อนประเทศไทย" โดยมี ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริญ กรรมการปฏิรูป และกรรมการสมัชชาปฏิรูป น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพมหานคร และนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองเลขาธิการสภาหอการค้า ร่วมบรรยาย


ดร.ณรงค์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในภาคประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงที่เลวลง ไม่ใช่ดีขึ้น เป็นเรื่องของทุกคน เคยไปถามลูกศิษย์ที่เป็นเศรษฐศาสตร์ทางการเงิน เขาบอกว่า ถ้าคนเก่งแล้วโกงก็ยอมรับได้ ถามว่า เกิดอะไรขึ้น เราไม่เคยพูดกันเลยว่า ทำอย่างไรให้คนในสังคมไทยเปลี่ยนกรอบความคิดไปในทางที่มีจริยธรรม คิดถึงส่วนรวมมากกว่า ส่วนตัว เราอยู่ในระบบทุนนิยม เราไม่ปฏิเสธว่า ทุนนิยมมาจากผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ


ทฤษฎีว่าด้วย จริยธรรม และความสำนึกของมนุษย์ คนทุกคนมีคำนี้อยู่ในตัว อยู่ในใจของคน ขณะที่ความละโมบก็มีอยู่ในใจคนเป็นเรื่องปกติ แต่คำถามสังคมว่าจะทำอย่างไรให้จิตสำนึกของความดี มันตีคู่กับจิตสำนึกเห็นแก่ตัว การเปลี่ยนแปลงสภาสังคมปัจจจุบันลงไปลึกระดับชาวบ้าน คนงาน ผู้นำชุมชน ระบบการคอรัปชั่นในปัจจุบันมันฝังอยู่ในสังคมทุกระดับชั้น ที่คนอีกบางส่วนยังไม่คอร์รัปชั่นนั้นเพราะมันยังไม่มีโอกาส


" ในฐานะที่ผมเป็นนักวิชาการ เคยเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง มา 5 พรรค เป็นที่ปรึกษาให้นายกรัฐมนตรีมา 3 คน วิธีโกง วิธีกิน วิธีหาเสียงรูปแบบโกง ผมทำมาหมดแล้ว ตั้งแต่นั้นมา ผมตั้งปณิธานว่า จะไม่ขอเป็นนักการเมือง จะเป็นคนทำงานการเมืองภาคประชาชนตลอดไป แต่มันเหมือนเดินทวนกระแสน้ำเชี่ยว มันเหนื่อยจริงๆ "


กรรมการปฏิรูป กล่าวต่อว่า แต่สำหรับการเปลี่ยนแปลงด้านดีก็มี คือภาคปชช.ตื่นตัวมีส่วนร่วมมากขึ้น มีนโยบายของรัฐที่เข้ามากระทบก็ทำให้เขามีปากเสียงมากขึ้น ไม่ว่าจะเสื้อสีอะไร ในภาพรวมเราเห็นว่า เขาต้องการรู้ มีส่วนร่วม ต้องการแก้ไข ในกระบวนการการมีส่วนร่วมแบบนี้มันมีกฎใหญ่ คือ ถ้าไม่มีความคิด มีอุดมการณ์ในหัวมันก็คิดแต่ผลประโยชน์เฉพาะหน้า ผลประโยชน์ที่ตัวเองไม่ได้เฉพาะหน้า


ทุกวันนี้ ระดับเอกชน เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของโลก และมองว่า เราจะได้ประโยชน์อะไรจากการเปลี่ยนแปลงโลก คือการพลิกวิกฤตเป็นโอกาส ภาคเอกชนมองเห็นว่า โอกาสอยู่ตรงไหน ขณะที่ภาคประชาชนมันห่างกันมากเหลือเกิน คนไทย 3 ล้านคน อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ 12.6 ล้านคน เรียนประถมไม่จบ 7.9ล้านคน จบแค่ประถม ตัวเลขที่กล่าวมามันเกินครึ่งของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง


" แล้วชาวบ้านเขาเข้าใจเหรอคำว่า ผลประโยชน์ทับซ้อน การคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายมันคืออะไร อัตราแลกเปลี่ยนคืออะไร เขาไม่เข้าใจหรอกครับ คนที่เข้าใจการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งหมด มันเข้าใจ มันรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกคืออะไร การเปลี่ยนแปลงของภาคประชาชนก็ตกเป็นเครื่องมือจของคนที่รู้มากกว่า อีกแล้ว เราจะพัฒนาด้านดีของปชช.ที่ตื่นตัว และตระหนักรู้ต้องการมีส่วนร่วมภาคประชาชนให้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติได้อย่างไร ใครจะทำหน้าที่นั้น


ชีวิตผม ไม่เคยหวังจากนักการเมืองโดยเฉลี่ย น้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ นักการเมืองหลายคน ถ้ามีโอกาสมันก็คอร์รัปชั่นหมด ผมว่าผมฉลาดแล้วนะ ยังโง่กว่ามัน โดนมันหลอกเอาตังค์ไป นับประสาอะไรกับชาวบ้าน การเปลี่ยนแปลงภาคประชนเราเห็นด้านดีเกิดขึ้น แต่เราจะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนแปลงเกิดประโยชน์ไม่ตกเป็นเครื่องมือ"



ดร.ณรงค์ กล่าวต่อว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยมองได้จาก 5 ด้าน คือ รายได้ โอกาส สิทธิ อำนาจ และศักดิ์ศรี โดยรายได้ระหว่างคนจนและคนรวยห่างกันมาก ในขณะที่ไทยก็เป็นสังคมที่บ้าเงินมากไป ทำให้สิทธิและเสรีภาพแปรผันตามจำนวนเงิน เช่น ข้อพิพาทระหว่างนายทุนกับชาวบ้านความพยายามทั้งคู่ ถ้าชาวบ้านแพ้คดี ติดคุกตลอด แต่นายทุนแพ้คดี ไม่เคยติดคุก


"ผมไม่เคยเห็นนายจ้างติดคุก แต่ลูกจ้างติดคุกเป็นหมื่นเป็นพัน คำถามคืออะไร ในเรื่องโอกาส กว่าผมจะเป็นด็อกเตอร์เหนื่อยฉิบเป๋ง อดมือกินมื้อ แต่คนบางคนเวลาจะสอบเข้าอะไรก็มีคนแอบเปิดเฉลยข้อสอบให้ดู มีอาจารย์พิเศษไปสอนที่บ้าน อายุ 17-18 ปี มีทรัพย์สิน 2 หมื่นล้าน โอกาสมันดีขนาดนั้น เมื่อเป็นเช่นนั้น ศักดิ์ศรี สถานะก็ต่างกันชัดเจน บ้านนอกที่ชัดเจน


คนที่แต่งตัวดีได้รับการต้อนรับ แต่กลับชาวบ้านธรรมดากลับโดนตวาดใส่ ศักดิ์ศรีคนอยู่ไหน ความเหลื่อมล้ำที่สำคัญที่สุดคือ อำนาจและศักดิ์ศรี ความเหลื่อมล้ำทั้งหมดเกิดจากสัมพันธ์ทางอำนาจที่มันเหลื่อมล้ำกันมาก"
ดร.ณรงค์ กล่าวและว่า ที่มาของอำนาจมี 5 แบบ คือ อำนาจแห่งทุน อำนาจของผู้ถืออาวุธ อำนาจแห่งข้อมูลข่าวสาร อำนาจบริหารการจัดการ และ อำนาจความสามัคคี


ทั้ง 5 อำนาจนี้ใครครอบครองได้มากที่สุด คนนั้นดีมากที่สุด ชาวบ้านธรรมดามีจุดไหนบ้าง การเข้าถึงอำนาจแตกต่างกันมาก เพราะฉะนั้นถ้าเราต้องเปลี่ยนประเทศไทยเราต้องเปลี่ยนความเหลื่อมล้ำทางอำนาจให้ได้


ด้าน น.ส.รสนา กล่าวว่า ต้องดูว่า ประเทศไทยอยู่ในส่วนไหน ตัวเลขในระดับโลก บอกว่า ในระบบทุนนิยม เสรีนิยม ทำให้รายได้รวมของประชากรโลก 82.7 % อยู่ในมือของคนรวย ประชากรทั่วโลก 99% อยู่ในระดับชนชั้นที่จะมาใช้แรงงาน เป็นพนักงานบริษัท หรือกรรมกร มีเพียง 1 % ที่เป็นระดับซีอีโอ เป็นเจ้าของทุนใหญ่ที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ปัญหาตอนนี้คือ ในระบบรัฐทั้งหมด อาจจะไม่ได้มาคุ้มครองประชาชนเท่าไหร่ รัฐกำลังถ่ายโอนอธิปไตยทั้งหมดให้กับระบบตลาด ไปร่วมมือในการเขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ลดกฎระเบียบที่ครอบงำเอกชน พยายามปล่อยให้มันเบาบางลงและลดอำนาจรัฐ แต่จริงๆ มันคือการจัดระเบียบใหม่


"หลักการของโลกโลกาภิวัฒน์ คือการจัดระเบียบใหม่ และปลดปล่อยภาคเอกชน ให้อิสระในการทำอะไรได้มากขึ้น เป็นเสรีภาพของหมาจิ้งจอกในเล้าไก่ จะกินไก่เเมื่อไหร่ก็ได้ อีกอันหนึ่งคือการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ หลักการเหล่านี้เป็นหลักการระดับโลก ประเทศไทยก็อยู่ในหลักการเหล่านี้ให้ขับเคลื่อนออกไป รัฐโอนอธิปไตยทั้งหมดให้อยู่กับระบบบตลาด ประชาชนไปตบตีลำบาก อำนาจของรัฐเอกชนได้ใช้ด้วย ทำให้ภาคประชาชนไร้หนทางในการต่อสู้ รัฐไม่มาดูแลอะไรประชาชน"


ส.ว.กรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า จากการที่ตนตรวจสอบงบประมาณ ปี2554 พบว่า งบประมาณ 2ล้านล้าน 7 หมื่นล้าน แบ่งออกเป็นการเก็บภาษีจากประชาชนมาทั้งหมด 1.6 ล้านล้าน อีก 4 แสนสองหมื่นล้านกู้เอา รายได้จากภาษีทุกประเภท มีเงินอยู่ 3.7 หมื่นล้าน ที่เก็บจากทรัพยากรธรรรมชาติทั้หงมด รวมถึงก๊าซธรรมชาติ ปิโตรเลียม แร่ธาตุทุกชนิด ได้ค่ารวม 800 ล้าน ทั้งหมด 3.7 หมื่นล้านมาเทียบกันเล่นๆ


นี่คือการผ่องถ่ายทรัพยากรธรรมชาติไปให้เอกชน ในการแสวงหากำไร และทิ้งปัญหาสิ่งแวดล้อม ความยากจนไว้ให้ประชาชน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ไปดูสถิติ 20 ปีที่ผ่านมา ช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างคนรวยกับคนจน อยู่ที่ 12-15 เท่าไม่เปลี่ยนแปลง ปัญหาทางการเมืองทั้งหมด เกิดขึ้นจากปัญหาเศรษฐกิจด้วย


น.ส.รสนา ระบุต่อว่า ธุรกิจทางการเมืองเป็นตัวอันตราย เวลานี้เราพูดถึงการคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งก็วนเวียนอยู่ในตำแหน่งอย่างนี้ หลอกประชาชนว่า เมื่อเข้ามาในอำนาจจะจัดการบริหารบ้านเมือง ทำให้ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นจริง และจะเห็นได้ว่า เมื่อรัฐเข้ามาสู่อำนาจก็ต้องอาศัยเงินจากภาคธุรกิจ ประชาชนที่มีอยู่มหาศาลไม่มีทางที่จะมีอำนาจกับเขา เพราะกระเป๋าเงินของเขา คือกระเป๋าเงินของนายทุนใหญ่ อำนาจของรัฐได้มาแล้ว เพื่อสนับสนุนนายทุนเท่านั้น เราได้อำนาจมาแค่ 2 นาที ในการกากบาทเลือกผู้แทน พอกากบาทแล้วก็ไม่มีอำนาจอีกต่อไป


"ปชช.จะขับเคลื่อนอย่างไรก็ ต้องบอกว่า ประชาชนไม่มีทั้งอำนาจรัฐ บางทีก็ไม่มีทรัพยากรในการขับเคลื่อน คนที่ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนมากขึ้นคือ พีมูฟ กลุ่มคนที่เริ่มมองเห็น รัฐได้ผ่อนถ่ายทรัพยากรแหล่งทำมาหากินไปให้คนอื่น การต่อสู้เหล่านี้เกิดขึ้นต่อเมื่อประชานมีสำนึกของการที่เราเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อทำให้เกิดการถ่วงดุลรัฐไปจับมือภายนอก เราจะเห็นหลายๆองค์กรที่จับตารัฐ ไทยตอนนี้อยู่ในสภาพเท้าที่มองไม่เห็นที่พร้อมจะเข้ามารุมกระทืบคุณ มันไม่ง่ายที่เราจะต่อสู้ แต่ประชาชนต้องมองเห็นสิ่งนี้ เอกชนกับภาคประชาชนต้องแยกจากกัน กระตุ้นจิตสำนึกส่วนดีให้ขึ้นมาอยู่เหนือจิตสำนึกที่อยากจะได้


ถ้าเอาชนะได้ การเปลี่ยนแปลงภาคปชช.กับเอกชนจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากหุบเหวความตายนี้ได้ อย่าคิดว่า ถ้าเก่งแล้วโกงยอมได้ มันไม่ใช่ เพราะยิ่งเก่งแล้วโกงยิ่งหนัก เพราะพวกโง่มันโกงได้ไม่เยอะ เดี๋ยวนี้นักการเมืองอาชีพอัพเกรดการโกงเป็นมืออาชีพแล้ว ไม่ใช่ระดับโชห่วยธรรมดา สิ่งที่ทำได้ คือภาคเอกชนกับภาคประชาชนต้องร่วมมือกันถึงจะช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยออกจากการทุจริตและแสวงหาผลประโยชน์ซึ่งทำลายบ้านเมืองทั้งระบบ"



ปิดท้ายที่ นายพรศิลป์ กล่าวว่า คนที่เป็นผู้นำ ถ้าไม่มีความกล้าหาญ กับความซื่อสัตย์ ก็อย่าไปเป็นผู้นำเลย มนุษย์ไม่ว่าเพศไหน ทำผิดต้องยอมรับ นักการเมืองเป็นลูกจ้างเรา ไปให้มันโกงได้อย่างไร ไม่เข้าใจ ประเทศไทย เราจะทำให้มันใหญ่ขึ้นหรือเปล่า หรือเล็กลง อยากให้เรียกภาคเอกชนว่าภาคธุรกิจมากกว่า เพราะเอกชนกับประชาชนเป็นคนเดียวกัน ส่วนเรื่องธุรกิจจะชอบหรือไม่ชอบทุกอย่างจะเป็นหนึ่งเดียว ชอบหรือไม่ชอบจะเป็นหนึ่ง โลกจะเป็นหนึ่ง พื้นที่เดียวกันหมด เราต้องเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น จะไม่หนีมัน ประเทศไทยจะถูกรวมไปในบริบทนั้นได้่อย่างไร เราจะถูกกิน หรือจะกินเขา นี่คือประเด็น ทุกฝ่ายต้องตอบ ต่อไปนี้มันจะมีการเมืองระบบเดียวกัน


"ประเทศไทยมีการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตยหรือเปล่าไม่รู้ แต่เราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย เรามีทุนนิยม เราจะเอาทุนนิยมแบบจีน แบบเสรีนิยมแบบอเมริกา หรือจะเลือกเอาหลายๆทุนนิยมผสมกัน ต่อไปอาจจะมีกฎหมายเดียวซึ่งกำลังเดินทางอยู่ สินค้าที่เราผลิตอยู่ ดำเนินการตามกฎหมายต่างประเทศหมดที่เราต้องทำตาม เราต้องอยู่ให้ได้ในโลกของสังคมที่ทุนนิยมมันเปลี่ยนมาก กำลังกลับหันหลังเดิน เรากำลังต่อสู้กับอากาศที่กำลังเปลี่ยนแปลง


เคยมีคนประกาศเมื่อ 2 ปีที่แล้วว่า ไทยจะต้องเป็นผู้นำของการเปลี่ยนแปลง จะไม่เป็นเหยื่อของการเปลี่ยนแปลง แต่่จากนี้ ใน 2ปีข้างหน้าเราจะเดินทางไปสู่การร่วมมืออย่างเป็นรูปแบบมากขึ้่นโดยเอกชนเป็นผู้นำ ภาคีคอร์รัปชั่น หอการค้าร่วมกับองค์กรต่างๆ ภายในประเทศเดินหน้าต่อ มีบริษัทที่จะไปร่วมกำจัดคอรัปชั่น มี ประธานหอการค้าไปร่วมกับป.ป.ช. ปราบ คอร์รัปชั่น จะเป็นบริษัท หรือส่วนตัว ภาคธุรกิจเกิดมานานแล้ว ตัวร้ายอยู่ในอดีตที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะต้องทำในทุกภาคส่วน"


ที่มา: มติชนออนไลน์ (

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น