วันพฤหัสบดี, มีนาคม 03, 2554

เลือกข้าง?

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็น 2 องค์กรใหญ่ที่มีหน้าที่รับผิดชอบใหญ่หลวง ทั้งดูแลการบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และพิทักษ์ปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน

แต่บทบาทของทั้ง 2 องค์กรกลับสร้างความแคลงใจให้คนเสื้อแดงเป็นอย่างยิ่ง เริ่มที่การทำงานของดีเอสไอภายใต้การนำของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ ที่ผ่านมาแทบแยกไม่ออกจากรัฐบาลเลย

คดีความของคนเสื้อแดง หรือคดี 91 ศพเหยื่อสลายม็อบเป็นตัวอย่างชัดเจน อืดอาดล่าช้าจนถูกมองไม่มีความเป็นกลาง !? โดยเฉพาะคดีฆ่าช่างภาพชาวญี่ปุ่นที่ล่าสุดดีเอสไอเปิดประเด็นปืนอาก้าขึ้นมาท่ามกลางความงุนงงของสังคม เพราะคดีนี้โอนไปให้ตำรวจนานแล้ว

แต่กลับให้พล.ต.ท.อัมพร จารุจินดา อดีตนายตำรวจมาวิเคาะห์ภาพถ่ายศพแล้วฟันธงเป็นปืนที่ไม่มีใช้ในกองทัพ ผิดทั้งวิธีการ มารยาท และกระบวนการกฎหมาย เลยถูกตั้งคำถามเรื่องของเจตนา !?

ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ก็ถูกมองว่าละเลยบทบาทของตัวเอง เพิ่งเห็นบทสัมภาษณ์ของนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานกสม. ที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่อง 7 แกนนำนปช.ที่เพิ่งได้ประกันตัวชั่วคราว

"เชื่อว่าการอยากลองของของแกนนำน่าจะมีขึ้น คงไม่อยู่เฉย เพราะออก (จากเรือนจำ) มาก็ต้องมีการเคลื่อนไหวให้รู้ว่าเขายังอยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะมีการยุบสภาเมื่อไร"

สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของนางอมราต่อการชุมนุมของคนเสื้อแดง ทำเหมือนไม่เข้าใจสิทธิพื้นฐานของประชาชนในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ทำเหมือนไม่รู้ว่าอำนาจรัฐเป็นฝ่ายใช้กำลังสลายการชุมนุมจนเกิดการบาดเจ็บล้มตายเมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.53

จนเกิดการตั้งคำถามถึงการทำงานของกสม.ในการปกป้องสิทธิกรณีความตาย 91 ศพ และผู้บาดเจ็บอีกกว่า 2 พันคนมาโดยตลอด และยังละเลยการปกป้องสิทธิของเสื้อแดงหลายร้อยคนที่ถูกจองจำอยู่ในคุกอีกด้วย

มองอยู่อย่างเดียวว่าบ้านเมืองจะวุ่นวาย หากมีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลขึ้นอีก ตรงนี้ขัดกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้งกสม. ท่าทีของกสม.และดีเอสไอที่ดูเหมือนจะเลือกข้างแล้ว

จะกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญ ซึ่งนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายของบ้านเมืองในอนาคต


Ref: ข่าวสดรายวัน(update:วันที่ 04 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7400)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น