วันพุธ, มีนาคม 30, 2554

เลือกตั้ง99.99% ใครขวาง...ฆ่าตัวตาย

ทั้งที่นับถอยหลังเข้าสู่การยุบสภาอีกเพียงเดือนเดียว แต่ก็ยังมีคำถามดังอื้ออึงไปทั่วว่า “จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงหรือ”
ตัวเร่งที่ปั่นกระแส “ไม่เอาการเลือกตั้ง-ล้มการเลือกตั้ง” เกิดจากแกนนำม็อบเหลืองที่อ้างว่า

การเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้น ไม่สามารถแก้วิกฤตความขัดแย้งภายในชาติได้ และหยุดนักการเมืองโกงไม่ได้


พร้อมกับละครสำคัญอย่างกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องบริหารจัดการเลือกตั้งก็ส่อทิ้งองค์กรไปดื้อๆ เมื่อ “สดศรี สัตยธรรม”ขอลาออกไปสมัครเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ตามด้วย “สุทธิพล ทวีชัยการ” เลขาธิการ กกต. แว่บไปยื่นใบสมัครเป็นกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)

ทั้งสองเรื่องจึงถูกเชื่อมโยงว่า เป็นแผนล้มกระดานการเลือกตั้ง!

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขที่จะหยุดการเลือกตั้งมีเพียง 1.กองทัพออกมาปฏิวัติใช้อำนาจล้มล้างประชาธิปไตย 2.มีการใช้กลไกพิเศษ อาศัยช่วงยุบสภา ที่ กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 45-60 วัน โดยบีบให้ กกต.ลาออก 3 คน จาก 5 คน ซึ่งจะทำให้ กกต.จัดการเลือกตั้งไม่ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดตามกฎหมายนำไปสู่การเรียกร้องให้ใช้มาตรา 7 ตามรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้ตีความเพื่อขอ “นายกฯ พระราชทาน”


เพราะหาก กกต.เหลือเพียง 2 คน การเลือกตั้งก็จะสะดุดกลางคัน โดยกฎหมายให้เวลาสรรหา กกต.ใหม่ภายใน 60 วัน ซึ่งก็อาจล่วงเลยวันเลือกตั้งไปแล้ว

แต่ปัจจัยเหล่านี้เป็นความต้องการของคนส่วนน้อยที่คิดว่า การปิดประเทศและใช้อำนาจเผด็จการเบ็ดเสร็จทุกอย่างจะเป็นทางออกและแก้ปัญหาความวุ่นวาย ด้วยการจัดระเบียบประเทศใหม่ โดยไม่เชื่อว่ากระบวนการทางประชาธิปไตยจะสามารถเรียนรู้และพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป จนสามารถสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินปัจจัยบวกลบทั้งหมด ทุกฝ่ายต่างมั่นใจว่า จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นแน่นอน

ฝ่ายการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้านก็ต้องการให้มีการเลือกตั้งเพราะจะมีกระดานให้เล่น


โดยเฉพาะอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำรัฐบาล ที่แน่วแน่ประกาศให้มีการเลือกตั้งตามคำสัญญา โดยกำหนดช่วงเวลายุบสภาไว้ชัดเจน ไม่เกินสัปดาห์แรกของเดือน พ.ค. ซึ่งประชาธิปัตย์เองก็มั่นใจลึกๆ ว่า จะได้กลับมาเป็นรัฐบาลต่อ จาก “พรรคร่วมฯ” ที่พร้อมรวมขั้วปั้นเป็นนายกฯ อีกสมัย

ส่วนพรรคเพื่อไทยและขบวนการเสี้อแดงก็เรียกร้องให้มีการยุบสภา เพราะมั่นใจในพลังของเสื้อแดงที่จะชนะการเลือกตั้งและได้เป็นรัฐบาล

ขณะที่การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับ รองรับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญเปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นเขตเดียว คนเดียว 375 คน และระบบปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน รวม 500 คน และให้อำนาจ กกต.จัดการเลือกตั้งตามระบบใหม่ ก็เดินตามกำหนดเวลา
โดยวันนี้ กมธ.สภาจะพิจารณาแก้ไขเสร็จทั้ง 3 ฉบับ และจะเสนอให้สภาลงมติในวาระ 2-3 ได้สัปดาห์หน้า คาดว่ากระบวนการแก้ไขกฎหมายลูกซึ่งจะสิ้นสุดที่วุฒิสภา จะไม่เกินกลางเดือน เม.ย. ก่อนจะส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาในขั้นตอนสุดท้าย

ทุกอย่างเป็นไปตามปฏิทินที่นายกฯ กำหนด และถ้าเร็วสุดก็อาจยุบสภาได้ในวันที่ 27 เม.ย.

สำหรับ กกต. หลังจาก สดศรี กวนน้ำให้ขุ่น “ประพันธ์ นัยโกวิท” ต้องออกมาดับกระแสข่าวลือต่างๆ ว่า จะไม่มีใครลาออก และถึงแม้สดศรีจะขอบาย แต่ กกต.ก็ยังจัดการเลือกตั้งได้ และถ้าเกิดอุบัติเหตุอีก การสรรหา กกต. คนใหม่ไม่น่าใช้เวลานาน เชื่อว่าจะทันต่อการจัดการเลือกตั้ง

ล่าสุด กกต. ได้เดินหน้าเต็มสูบอบรมเจ้าหน้าที่ร่วมกับฝ่ายปกครองและประชาชน แบ่งเขตเลือกตั้งตามระบบใหม่

ส่วนสดศรีหลังถูกสวดยับ เมื่อกระแสล้มการเลือกตั้งปลุกไม่ขึ้น เจ้าตัวเริ่มเสียงอ่อนว่า แม้ได้ไปสมัครเป็น “กรรมการปฏิรูปกฎหมาย” แต่โอกาสได้ก็ยากเต็มทน เพราะมีผู้สมัครมากถึง 234 คน และเมื่อเกิดประเด็นนี้ขึ้น กรรมการก็คงไม่เลือกเธอแน่ คงกลัวว่าจะไม่มีคนจัดการการเลือกตั้ง

ปัจจัยจาก กกต.จึงหมดห่วง ส่วนกองทัพ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ได้ให้หลักประกันว่า กองทัพพร้อมสนับสนุนการเลือกตั้ง ไม่ขัดขวางและไม่มีปฏิวัติแน่

เพราะได้บทเรียนจากการรัฐประหาร 2549 ครั้งนั้น “บิ๊กตู่” เข้าร่วมในฐานะรองแม่ทัพภาคที่ 1 คุมกำลังหลักช่วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา แม่ทัพภาคที่ 1 ล้มรัฐบาลทักษิณ แต่หลังยึดอำนาจมาได้ปีเศษก็ได้ข้อสรุปว่า ไม่สามารถใช้อำนาจเบ็ดเสร็จได้อย่างที่หวัง เพราะการต่อต้านจากคนเสื้อแดงจนพรรคพลังประชาชน “นอมินีทักษิณ” สามารถกลับมาชนะการเลือกตั้งเป็นรัฐบาลหักหน้า “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธาน คมช. ราบคาบ

กองทัพจึงไม่กล้าใช้ “อำนาจนอกระบบ” อีก เพราะได้เสียต้นทุนไปมาก โดยเฉพาะกับเหตุการณ์พฤษภาเลือด วิธีที่ดีและปลอดภัยกับกองทัพมากที่สุดคือ “การปฏิวัติเงียบ” ผ่านกลไกในระบบ

ฝ่ายเพื่อไทยวิเคราะห์ว่า เหตุที่กองทัพไม่ออกหน้ามายุ่งกับการเมืองมากเกินไป เพราะมั่นใจว่าจะใช้อำนาจแฝงที่มีอยู่ช่วยให้พรรคประชาธิปัตย์กลับมาเป็นรัฐบาลอีก โดยล็อกพรรคร่วมไม่ให้อยู่กับเพื่อไทย เหมือนที่กองทัพใช้ค่ายทหารตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์

“สมบัติ ธำรงธัญวงศ์” อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มองว่า กระแสการเมืองโลกปัจจุบันไม่สนับสนุนให้ใช้อำนาจนอกระบบมาเป็นทางออกวิกฤต นอกจากต้องใช้กลไกการเลือกตั้ง เห็นได้ชัดจากการต่อสู้ในตะวันออกกลาง ถ้ายังปกครองประเทศคนเดียว 30 ปีประเทศก็ล้าหลังไปไม่รอด แม้ว่าการเลือกตั้งในไทยยังมีปัญหา แต่ก็ต้องเดินต่อไปและให้เวลาสำหรับการปรับตัว

“เราไม่ควรไว้ใจใครให้ใช้อำนาจเด็ดขาด ที่ผ่านมาเราเคยปิดเทอมมาแล้วแต่ประเทศก็ไม่ดีขึ้น วันนี้เราต้องหนักแน่นเดินในกลไกของระบอบประชาธิปไตยเพื่อสร้างประชาธิปไตยให้มั่นคง ถ้ามีการปฏิวัติขึ้นอีก ก็อยู่ไม่ได้เพราะจะเกิดการต่อต้านอย่างรุนแรง”


บรรยากาศความขัดแย้งของประเทศกำลังคลายตัวตามวิถีทางประชาธิปไตยและทุกฝ่ายก็ลุ้นผลการเลือกตั้ง โดยหวังว่าปมปัญหาต่างๆ ที่ขมวดซ้อนมาตั้งแต่การรัฐประหาร คดียุบพรรค เหตุการณ์พฤษภา 53 น่าจะคลายไปอีกเปลาะกับการเลือกตั้งครั้งนี้ แต่ใครที่ขัดขวางก็จะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้สร้างปัญหาซ้ำเติมชาติ และเป็นศัตรูต่อระบอบประชาธิปไตย

มีใครอยากฆ่าตัวตายทางการเมืองบ้างยกมือขึ้น...


ที่มา:โพสต์ทูเดย์วิเคราะห์ โดย ทีมข่าวการเมือง(update:30 มีนาคม 2554 เวลา11:04น.)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น