วันจันทร์, ธันวาคม 20, 2553

ทำไมการเมืองบ้านเราจึงพัฒนาช้า

บทความโดย: วีรพงษ์ รามางกูร จากคอลัมน์: คนเดินตรอก

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2553 นี้ สถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตยและมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ ได้เชิญให้ไปแสดงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ"นักการเมืองรุ่นใหม่กับแนวทางพัฒนา ประชาธิปไตยในอนาคต" ก่อนจะไปแสดงปาฐกถาต้องนั่งเรียบเรียงความคิดและใช้เวลากลั่นกรองเป็นเวลา นาน เพราะการแสดงความคิดความเห็นเดี๋ยวนี้ต้องระมัดระวังก็เลยอยากมาเล่าไว้ที่ นี้ด้วย

การพัฒนาประชาธิปไตยในยุคโลกาภิวัตน์นี้เป็นเรื่องที่มีความ จำเป็นเสียแล้ว เพราะประเทศเราถอยหลังมาไกลตั้งแต่มีรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 มีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีการแก้กฎหมายต่าง ๆ ตลอดจนการบรรจุคนเข้าไปในองค์กรอิสระต่าง ๆ ก็ล้วนแต่เป็นผู้คนที่มีความคิดไปในทางเดียวกันหมด

การจะหยุดอยู่ อย่างนี้ไม่พัฒนาไปสู่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยคงเป็นไปได้ยาก เพราะระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอย่างประเทศอังกฤษ อเมริกา หรือฝรั่งเศส ได้กลายเป็นกระแสของโลกไปเสียแล้ว การจะมีระบอบประชาธิปไตยแบบของเรานั้นไม่น่าจะเป็นไปได้

การเชื่อม โยงกันในกระบวนการผลิต การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ การโทรคมนาคม การสื่อสารมวลชนได้ทำลายกำแพงระบอบการปกครองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตยไป อย่างกว้างขวาง ประเทศเล็ก ๆ อย่างประเทศไทยคงจะทวนกระแสโลกาภิวัตน์ไม่ได้

หาก จะทวนกระแสก็คงจะประสบกับปัญหาต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการต่อต้านของสังคมชาวโลก พัวพันไปถึงการกีดกันการค้า การเจรจาธุรกิจ การเงิน เกียรติภูมิของชาติ นับวันมีแต่จะยิ่งลุกลามเข้ามา ซึ่งป้องกันได้ยากหรือปิดบังไม่ได้เลยหากไม่ยอมรับความจริงอันนี้ ความยุ่งยากก็จะเกิดขึ้น การปกครองแบบประชาธิปไตยซึ่งเคยมีผู้กล่าวว่า "ไม่ใช่ระบอบการปกครองที่ดีที่สุด แต่เป็นระบอบการปกครองที่เลวน้อยที่สุด" ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ก็ตาม สำหรับประเทศเล็กและมีประวัติศาสตร์การเมืองที่มาในแนวนี้ และได้เลือกสังกัดค่ายเสรีประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยสงครามเย็นหรือก่อนหน้า นั้นเป็นเวลานาน

ความจริงแล้วสังคมไทยนั้นเอื้ออำนวยในการพัฒนาประชาธิปไตยกว่าประเทศอื่นที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันด้วยเหตุผล 4 ประการ คือ

1.ความ อดทนอดกลั้น คนไทยมีความอดทนอดกลั้นมากกว่าคนชาติอื่น ไม่มีความขัดแย้งกันในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา ภูมิภาค คนจีนที่อพยพเข้ามาอยู่เมืองไทยคนไทยก็ไปแต่งงานด้วย ระยะเวลาเพียงชั่วคนเดียวลูกหลานก็เป็นคนไทย ไม่เคยมีการแบ่งแยกกันในเรื่องภูมิภาค

ที่สำคัญคือ ภายหลังสงครามเย็นอันเกิดจากกระแสที่มาจากต่างประเทศ ผู้ที่มีความคิดความเห็นต่างกันก็ได้รับการยอมรับ กลับเข้ามาเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย บางคนกลับมาเป็นใหญ่เป็นโตในวงการเมือง เป็นพ่อค้านักธุรกิจ เดี๋ยวนี้ไม่มีใครพูดถึงความคิดที่แตกต่างแตกแยกกันอีกเลย

2.รู้จัก ประสานประโยชน์และประนีประนอม คุณลักษณะอันนี้ทำให้เราอยู่รอดเป็นเอกราช ไม่ได้ตกเป็นอาณานิคมของใคร รู้จักประสานประโยชน์กับต่างชาติหรือฝ่ายตรงกันข้าม จึงไม่ทำให้เกิดความรุนแรงขึ้น เมื่อคราวเกิดเรื่อง 14 ตุลา 16 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ก็เป็นเรื่องระหว่างประชาชนกับกองทัพ ซึ่งสะสมจนสถานการณ์สุกงอมอย่างแท้จริง ไม่ใช่เกิดจากลักษณะของการเป็นผู้ชอบความรุนแรง

ลักษณะเช่นนี้สอด คล้องกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยที่ปฏิเสธความรุนแรง ชอบการเปลี่ยนแปลงอย่างสันติ ผู้นำส่วนใหญ่ ตั้งแต่สมัย 2475 เป็นต้นมาจะปฏิเสธหรือหลีกเลี่ยงความรุนแรง ด้วยเหตุนี้เราจึงรอดพ้นจากการยึดครองของญี่ปุ่นระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

3.ความ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ความอดทนอดกลั้น การประสานประโยชน์ การรู้จักประนีประนอม ทำให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ช่วงไม่ถึงร้อยปีที่ผ่านมา ความแตกต่างทางด้าน เชื้อชาติ ไม่ว่าจะแขก จีน ญวน มอญ ลาว เขมร ต่างภาษา ต่างศาสนา ได้ถูกหล่อหลอมให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแนบเนียน เป็น "เบ้าหลอมละลาย" หรือ "melting pot" ยิ่งกว่าอเมริกาเสียอีก

ถ้าจะ เกิดการแตกแยกก็ด้วยปัจจัยอื่น เช่น การได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐ การได้รับการปฏิบัติตอบอย่างอยุติธรรม เช่น กรณีความแตกแยกระหว่างสงครามเย็น ปัญหาของพี่น้องมุสลิมทางภาคใต้ เป็นต้น เมื่อได้รับการแก้ไขปัญหาก็ยุติลง เมื่อมีการปฏิบัติเช่นว่าอีกก็เกิดปัญหาอีก แต่โดยปกติแล้วความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือที่ฝรั่งเรียกว่า "harmony" เป็นคุณลักษณะสำคัญอันหนึ่งของสังคมไทย

4.ความเป็นสังคมเปิด สังคมไทยเปิดให้กับคนทุกระดับที่ต้องการจะเปลี่ยนฐานะทางสังคมของตน จากสังคมระดับล่างขึ้นมาสู่สังคมระดับสูง ชาติกำเนิดไม่ได้เป็นเครื่องแบ่งชั้นวรรณะที่ตายตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี 2475 เป็นต้นมา นายทหารชั้นผู้ใหญ่ก็ล้วนมาจากชนชั้นระดับล่าง ไต่เต้าขึ้นมาจากการศึกษา ความมุมานะ ขยัน อดทน ตั้งใจทำงาน แสดงความสามารถจากผลงาน ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็มาจากครอบครัว คนชั้นล่างมากมาย ลูกหลานท่านเจ้าคุณ คุณพระคุณหลวงล้มหายตายจากสังคมไปเป็นเวลานานจนหมดความหมาย

บรรดา เศรษฐีเจ้าของกิจการ นายธนาคาร นักการเงิน นักอุตสาหกรรม พ่อค้า ผู้ส่งออก ล้วนมาจากผู้ที่สืบเชื้อสายชาวจีนที่อพยพหนีความยากจนมาตั้งรกรากสร้างฐานะ ขึ้นในประเทศไทย ร่ำรวยขึ้นมาจากความขยันหมั่นเพียร ประหยัดมัธยัสถ์ ส่งเสริมบุตรหลานให้มีการศึกษา รู้จักประสานประโยชน์กับผู้มีอำนาจรัฐเหมือน ๆ กับตระกูลร่ำรวยในอเมริกาและยุโรป

สังคมไทยจึงไม่ใช่สังคมปิด มีการ เปลี่ยนแปลงโยกย้ายถิ่นที่ประกอบอาชีพ ไปมาหาสู่กันตลอดเวลา ขณะนี้คนอีสาน คนไทยเชื้อสายจีน คนใต้ คนเหนือมีอยู่ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มิได้ติดอยู่กับถิ่นที่เกิดอีกต่อไป

5.ในขณะ เดียวกันก็เป็นประเทศที่เปิดรับ ซึมซับต่อวัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง ความคิดทางการเมือง สังคม ความเสมอภาค เสรีภาพ มองเห็นความเป็น "อารยะ" ของต่างประเทศ

สังคมไทย ทั้งสังคมระดับสูง ระดับกลาง และระดับล่าง ไม่เคยมีปฏิกิริยาต่อต้านกระแสความรู้สึกนึกคิดอย่างรุนแรงต่อปรัชญาตะวันตก ไม่เคยต่อต้านกระแสวัฒนธรรมไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเป็นธรรมในสังคม ความเท่าเทียมกันในโอกาสการศึกษา การทำงาน สิทธิสตรีและเด็ก สิทธิมนุษยชน ความโปร่งใส ธรรมาภิบาล

ความจริงดู เหมือนจะล้ำหน้าตะวันตกเสียด้วย เช่น สภาวะโลกร้อน ประชาพิจารณ์ องค์กรอิสระ หากแต่เมื่อนำมาปฏิบัติในเรื่องต่าง ๆ แล้วจะได้ผลและประสบความสำเร็จแค่ไหนเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

มีความคิด ที่จะยกฐานะระบบการเมือง ยกระดับของสังคมให้เทียบเท่า "นานาอารยประเทศ" สุนทรพจน์ของผู้หลักผู้ใหญ่ก็มักจะเปรียบเทียบว่าประเทศของเรามีการพัฒนาใน ด้านต่าง ๆ เทียบเท่า "นานาอารยประเทศ" อยู่เสมอ เมื่อผู้นำหรือสื่อมวลชนต่างประเทศยกย่อง ก็เป็นความภูมิอกภูมิใจให้ยกขึ้นมากล่าวถึงตลอด

การเป็นสังคมเปิดต่อ ข้อมูลข่าวสาร ทำให้หนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนแขนง ต่าง ๆ มีสิทธิเสรีภาพกว้างขวางกว่า นักสื่อสารมวลชนในภูมิภาคเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา ไม่มีสื่อมวลชนประเทศใดในภูมิภาคที่สามารถกล่าวโจมตีบริภาษผู้นำประเทศได้ รุนแรงเท่ากับสื่อมวลชนไทย แม้แต่ในช่วงเวลาที่มีประชาธิปไตย ไม่ว่าจะ "ครึ่งใบ" หรือ "เต็มใบ" การปิดกั้นด้วยการใช้อำนาจทั้งจากทางตรงหรือทางอ้อม แม้จะทำได้แต่ก็ไม่สามารถทำได้นานหรือทำได้ตลอดกาล

ในระยะ 30 ปีมานี้ การพัฒนาทางเศรษฐกิจได้ก้าวหน้าไปมาก โดยเฉพาะการยกเลิกภาษีขาออกรูปแบบต่าง ๆ ของสินค้าภาคการเกษตรหรือต่อเนื่องจากการเกษตร การลดค่าเงินบาททำให้เกษตรกรสามารถขายสินค้าการเกษตรได้ในราคาสูงขึ้นตาม ราคาตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง น้ำตาล ไม้ยางพารา และ อื่น ๆ การเปลี่ยนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่เน้นเพื่อการส่งออก อุตสาหกรรมที่ทดแทนการนำเข้า การสร้างถนนหนทางเข้าถึงพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ โครงการไฟฟ้าชนบท ประชากรกว่า 95 เปอร์เซ็นต์มีไฟฟ้าใช้ มีระบบชลประทานขนาดย่อย ชลประทานราษฎร์ โครงการ ขุดบ่อน้ำไว้ใช้ในตอนฝนทิ้งช่วง โครงการสาธารณสุขหมู่บ้าน โรงพยาบาลอำเภอ โรงพยาบาลตำบล โครงการสุขภาพดีทั่วหน้า ระบบการศึกษา การรณรงค์ให้คนรู้หนังสือ เกิดการเปลี่ยนแปลงในชนบทอย่างมหาศาล

ความก้าวหน้าและราคาที่ถูกลง ของเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ ความทั่วถึงของหนังสือพิมพ์ การรับข่าวสารจากต่างประเทศผ่านดาวเทียมและอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดทั้งปวงทำให้ชีวิตความเป็นอยู่แบบชนบทดั้งเดิมหายไป คนชนบทมีความเป็นอยู่ได้รับข้อมูลข่าวสารอันเดียวกันกับคนในเมือง ชีวิตชนบทดั้งเดิมที่แร้นแค้นได้ล่มสลายไปแล้ว แม้ว่านักวิชาการฝ่ายอนุรักษ์วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมจะไม่ชอบก็ตาม

ทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องส่งเสริมต่อการพัฒนาการเมืองให้เป็นระบอบ ประชาธิปไตยได้มากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค จีน บังกลาเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เกาหลีใต้ หรือแม้แต่อินเดียและศรีลังกา รวมทั้งกัมพูชา แต่การพัฒนาการเมืองของประเทศเหล่านี้กลับไปไกลกว่าเรา อย่างน้อยบทบาทของกองทัพก็ไม่ได้มีมากอย่างของเรา การปฏิวัติรัฐประหารไม่เคยเกิดขึ้นหรือไม่ก็ว่างเว้นมานานมากแล้ว แต่ของเรากองทัพยังเข้ามามีบทบาทในขบวนการการเมืองอยู่ การพัฒนาการเมืองจึงหยุดชะงัก ขณะนี้เรามีนักโทษการเมืองที่ถูกจับกุมคุมขังทั่วประเทศตาม พ.ร.บ.สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นจำนวนมากกว่าประเทศใดในภูมิภาค ยกเว้นพม่าประเทศเดียว

ประเทศของเรามีการพัฒนาการเมืองค่อนข้างช้า มาก และหยุดชะงักเป็นช่วง ๆ มาเรื่อย ๆ ไม่มีความต่อเนื่องเพราะกลุ่มผู้นำของประเทศไม่ได้ให้น้ำหนัก ไม่มีความเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย มุ่งแต่จะมีอารมณ์ในตัวบุคคลที่มาเป็นผู้นำมากกว่าระบบ กลุ่มต่าง ๆ ที่เป็นกลุ่มผู้นำของประเทศ อันได้แก่

1.กลุ่มปัญญาชนไม่ได้มีจิตวิญญาณเป็นนักประชาธิปไตย หลาย ๆ ครั้งลื่นไหลไปตามกระแสที่ฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยปลุกระดมขึ้น จะเห็นได้จากการที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งออกมาประกาศจุดยืน อย่างแจ้งชัดว่าสนับสนุนกองทัพให้ทำการปฏิวัติ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งก็ประกาศจุดยืนตรงกันข้ามกับ ขบวนการประชาธิปไตย ปฏิเสธการเลือกตั้งโดยกล่าวหาว่าประชาชนในต่างจังหวัดขายตัวขายเสียง โง่กว่าพวกตน ไม่ต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชน หลายครั้งก็ทรยศต่อวิชาชีพของตนเอง ไม่มีจิตใจที่มั่นคงต่อความเชื่อของตนเอง

2.พรรคการเมือง ซึ่งเป็นสถาบันสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ก็ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย การอภิปรายในสภาก็ไม่สร้างสรรค์ มุ่งแต่ทำลายฝ่ายตรงกันข้ามด้วยวิธีการโกหก ปั้นน้ำเป็นตัว แทนที่จะแข่งขันกันทำงานเพื่อพัฒนาการเมืองและผลงานทางเศรษฐกิจ กลับได้ดีได้เป็นรัฐบาลเพราะประสบความสำเร็จในการทำลายกันเอง ทำตนเป็นพรรคการเมืองของภูมิภาค ให้ความร่วมมือกับกองทัพในการทำลายขบวนการประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องนับ ตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เป็นต้นมา

3.สื่อมวลชน ปกติจะเป็นสถาบันที่ปกป้องรักษาระบบประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในช่วงที่ระบบการเมืองเปิดก็กล้าหาญจนเกินขอบเขต ถึงขั้นใช้เป็นเครื่องมือทำลายคนอื่น ในช่วงที่ประชาธิปไตยลดน้อยลงหรือไม่มีก็ขาดความกล้าหาญ เปลี่ยนจุดยืน ไม่เป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนหรือปัญญาชนที่ยึดมั่นในหลักการและวิถีทางของ ขบวนการประชาธิปไตย ไม่เป็นสถาบันหลักที่จะพิทักษ์ความถูกต้อง ถ้าจะมีบ้างก็เป็นส่วนน้อย ไม่มีน้ำหนัก ที่สำคัญก็คือไม่ชอบทำงานหนัก ทำการบ้านไม่เพียงพอ จึงกลายเป็นเครื่องมือของฝ่ายการเมืองได้ง่าย เมื่อมีการทำสงครามจิตวิทยาโดยรัฐก็ตกเป็นเครื่องมือโดยไม่รู้ตัว ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเหตุผลทางธุรกิจและทางเศรษฐกิจหรืออารมณ์ส่วนตัว สถานีวิทยุก็ดี หรือสถานีโทรทัศน์หลัก ๆ ถ้าไม่เป็นของรัฐบาลก็เป็นของกองทัพ รายได้จากการโฆษณาก็มาจากกลุ่มธุรกิจ ซึ่งโดยธรรมชาติย่อมมีความเอนเอียงไปทางอนุรักษนิยม

4.กองทัพ โดยธรรมชาติก็เป็นสถาบันที่มีความคิดทางอนุรักษนิยม แต่กองทัพของเราค่อนข้างจะเกินความพอดี คำนึงถึงแต่ระยะสั้น ไม่มองผลเสียและอันตรายต่อความมั่นคงทางการเมืองในระยะยาว

ขณะนี้ที่ น่าห่วงเป็นที่สุด คือ ความเชื่อมั่นของขบวนการยุติธรรม ซึ่งผู้คนเห็นว่าไม่สามารถเป็นที่พึ่งแห่งสุดท้ายได้ พัฒนาตัวเองไปในทางต่ำลง ไม่ใช่สูงขึ้นเทียบเท่า "นานาอารยประเทศ"

น่าห่วงว่าในระยะยาวอาจระเบิดขึ้นได้สักวัน


ที่มาบทความ: ประชาชาติธุรกิจ (update: วันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 34 ฉบับที่ 4272 หน้า 34)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น