วันอังคาร, พฤศจิกายน 30, 2553

"กูไม่ชอบ" รัฐธรรมนูญ

จาก อัลบั้มภาพ Matichon Online

โดย สุนทร สุขสราญจิต รัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา
ที่มา: มติชนออนไลน์ (update: วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 เวลา 17:30:30 น.)


ไม่ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่ 18 นี้ จะผ่านหรือไม่และอย่างไร แม้จะไม่ชอบ “การคอนเฟิร์ม” และ “การฟันธง” แต่ผมก็ขอฟันธงว่า สักวันหนึ่ง รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องโดน “ฉีก” อย่างแน่นอน คอนเฟิร์ม !! ดังนั้นติดตามข่าวการประชุมสภาและการโหวตช่วงนี้ไปก็เปล่าประโยชน์

หากถามว่าทำไม หลักโหราศาสตร์ของผมเดาผ่านกิจกรรมครั้งหนึ่ง

ผู้เล่นถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ผู้นำกิจกรรมกระตุ้นขอให้วาดภาพการเมืองไทยในฝัน ซึ่งต้องบรรจุทุกความเรืองรองในจินตนาการของสมาชิก และไม่มีกรอบรุงรังแห่งความจริงใดๆขีดครอบ ไม่เพียงนั้น ผู้นำกิจกรรมยังขอให้วาดตำแหน่งแห่งที่ของผู้เล่น ตลอดจนครอบครัวของพวกเขาด้วยว่า อยู่ในภาพในฐานะอะไร และอยู่อย่างไร

เมื่อการสนทนามีข้อสรุป ดินสอดำถูกนำมาร่างภาพ ส่วนดินสอสีก็ถูกนำมาแต่งระบายให้สมกับเป็นความฝัน สิ่งนี้ยังแต้มอยู่ในแววตาและมุมปากที่มุ่งมั่น แทรกอยู่ในเสียงหัวเราะชอบใจ และถูกกุมอยู่ในมือกระชับๆที่กำลังขีดฝนสี

ไม่เพียงผู้เล่น ผู้นำกิจกรรม ซึ่งตามวัยวุฒิและคุณวุฒินั้น “สูง” กว่า (?) ก็ยังวาด

“ภาพจับมือนี้คือความปรองดอง สีชมพูแทนความรัก จะเห็นได้ว่าทุกคนมีแต่รอยยิ้ม” ตัวแทนกลุ่มแรกนำเสนอ

“นี่คือพ่อและแม่ของทุกคนซึ่งทำให้บ้านเมืองเรามีเอกภาพ แม้มีคนร้ายแต่ทุกคนได้รับโอกาสแก้ตัว ในขณะที่เมืองไทยก้าวหน้าทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ แต่เราก็ยังคงมีรากเหง้าอย่างที่เห็น และจะเห็นได้ว่ามีคนบางกลุ่มเล่นกีฬาสี แต่ไม่มีคนดูและถ้วยให้” ตัวแทนกลุ่มที่สองชี้แจง

“แม้ผมจะเป็นคนตัวเล็กๆในสังคม แต่จะเห็นได้ว่าผมเป็นน็อตตัวหนึ่ง ส่วนพ่อแม่ผมก็อยู่ตรงนี้ พักผ่อนในที่สงบ หลังตรากตรำมาตลอดชีวิต เช่นเดียวกับคนในสามจังหวัดชายแดนใต้” ตัวแทนกลุ่มที่สามพูดขึ้นเบาๆ แล้วเสียงนั้นก็หายไปกับเสียงปรบมือ

“ผมวาดเป็นรูปสัญลักษณ์ “เต๋า” ในหยินมีหยาง ในหยางมีหยิน ในสีแดงและสีเหลืองต่างมีอีกสีและสีอื่นๆภายใน มันเป็นวงกลมที่กำลังเคลื่อน ผมตั้งชื่อว่า “ขัดกันฉันท์มิตรบนเส้นทางขรุขระของการเมืองไทย” ผมคิดว่าแต่ละสีต่างเป็นคู่ตรงข้ามที่ต้องพึ่งพากัน หรือคานกันเพื่อส่วนรวม การขัดกันจึงเป็นเรื่องปกติและบางครั้งเป็นเรื่องจำเป็น ดังนั้นความฝันคือทำอย่างไรให้เป็นไปอย่างฉันท์มิตร” ผู้นำกิจกรรมพูดถึงภาพวาดตนเอง

หลังจากนั้น ผู้นำกิจกรรม ขอให้ทุกคนเงียบ หากอะไรเกิดขึ้นต่อไปขอให้เขียนความรู้สึกลงไปในกระดาษที่แจกไว้

“แกรก”

เสียงผู้นำกิจกรรมฉีกภาพวาดของตัวเอง ผู้เล่นทุกคนทำหน้างง สีหน้ากับคำตอบในกระดาษนั้นเป็นเช่นเดียวกัน

“พวกคุณรู้มั้ย ความคิดพวกคุณมันปัญญาอ่อน งี่เง่า อยู่ในโลกความฝัน เพ้อเจ้อ มันจะเป็นจริงได้อย่างไร ประวัติศาสตร์มนุษยชาติคุณก็เห็นว่ามีแต่การรบราฆ่าฟันกัน พวกคุณยังมาสร้างวิมานในอากาศ ลาออกไปเลี้ยงควายดีกว่าไป๊ เสียเงินมาร่ำเรียนสูงๆ กูไม่ชอบโว้ย!!”

ในขณะที่กำลังพูด ผู้นำกิจกรรมก็ปรี่เข้าไปแย่งกระดาษความฝันของทุกกลุ่ม

“เฮ้ย...ไอ้ชาติ…อ่า” ผู้เล่นบางคนตะโกน

“แควก”

เสียงฉีกกระดาษดังขึ้น แล้วผู้นำกิจกรรมก็ขยำเศษกระดาษปาลงพื้น กระโดดย่ำ เอาส้นเท้าบี้จนแบน ถ่มน้ำลายใส่ แล้วเขี่ยคืนไปให้ผู้วาด พลางพูดว่า “ทุเรศสิ้นดี ความคิดเด็กๆ”

“มึง...” ผู้เล่นคนหนึ่งปรี่เข้าจะชกผู้นำกิจกรรม ผู้เล่นอีกคนคว้าแขนไว้ อีกคนทรุดนั่งลงร้องไห้กับพื้น นอกนั้นตกอยู่ในความตะลึง

“พี่ไม่ชอบแล้วให้พวกหนูวาดทำไม” “แม้จะเรียนสูงกว่าแต่ก็ไม่มีสิทธิ์ดูถูกความฝัน” “แม่กูป่วย กูวาดให้แม่สุขภาพดี” ฯลฯ นี่คือส่วนหนึ่งของความรู้สึกในกระดาษ

“...พวกคุณรู้ไหม เราต่างท่องกันว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่เราฉีกมันเหมือนเป็นกระดาษเช็ดก้น (8 ฉบับ ; ฉบับปี 2489, 2492, 2475(นำมาใช้อีกปี 2495), 2511, 2517, 2519, 2521, 2540) นั่นก็คือ เราไม่รู้ร้อนรู้หนาวกับการถูกฉีกเท่าไหร่ มิหนำซ้ำบางครั้งยังยื่นดอกกุหลาบให้คนฉีกเป็นกำลังใจ นอกจากนั้นแล้วยังมีรัฐธรรมนูญถึง 9 ฉบับ (เป็นอย่างน้อย) ที่คณะรัฐประหาร คณะทหาร หรือผู้ปกครองเป็นผู้ร่าง โดยเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคพวกตนเองอย่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกประเภทที่ 2, ส.ว., หรือมีมาตราพิเศษให้อำนาจตุลาการแก่นายกฯ ฯลฯ (ฉบับปี 2490, 2475 (นำมาใช้อีกปี 2495), 2502, 2502 (นำมาใช้อีกปี 2515), 2519, 2520, 2521, 2534,2549) แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด...”

ผมขอจบคำเขียนวันนี้ ด้วยคำพูดในวันนั้น

“หาก “กูไม่ชอบ” ยังคงไม่เสียดแทงใจคนไทย ไม่มีความโกรธผ่านหมัดที่เงื้อ หรือความเสียใจผ่านร่างที่ทรุดและน้ำตาที่เอ่อคลอเบ้าอย่างที่พวกคุณเป็น เมื่อนั้น จะแก้ให้ยากเย็นแสนเข็ญอย่างไร มันต้องถูกฉีกง่ายๆอย่างแน่นอน ดังนั้น คำถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พวกเราจะคิดจะตอบไปให้เสียเวลาทำไม เราควรจะถามว่าเขียนอย่างไรให้คนไทยโกรธเมื่อถูกฉีกมากกว่า”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น