วันเสาร์, พฤศจิกายน 27, 2553

'ข้อพิรุธ-ตำหนิ-สงสัย 'คดียุบปชป.



หมาย เหตุ : ชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทย และเครือข่าย จัดทำ "เปิดบันทึกที่เห็นต่าง จับผิดข้อพิรุธ-ตำหนิ-สงสัย-ข้อสังเกต และประเด็นที่แก้ข้อกล่าวหาไม่ได้ จากแนวทางการต่อสู้ของพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)" ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างจากปชป. ผู้ถูกร้องในคดียุบพรรค จากการใช้เงินกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ไม่ตรงตามความเป็นจริง


ข้อพิรุธ ตำหนิ สงสัยและแก้ข้อกล่าวหาไม่ได้ ในประเด็นที่เป็นข้อกฎหมาย

1. ที่ปชป.ต่อสู้กระบวนการยื่นและคำร้องไม่ชอบด้วยกฎหมายประเด็นอำนาจนายทะเบียนพรรคการเมืองและบันทึกความเห็นนายทะเบียนฯ

มี ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องไม่ได้กล่าวถึงเพราะกลัวเสียหายต่อรูปคดี คือรายละเอียดมติกกต. 17 มี.ค. 2542 ที่ระบุ "ให้นายทะเบียนฯ พิจารณาตามมาตรา 95 พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 ทั้งสองประเด็นกล่าวหา"

จึง เป็นการลงมติเพื่อสั่งการให้นายทะเบียนฯ เสนอความเห็นต่อกกต. หากเห็นว่ามีมูลความผิดตามที่มีการกล่าวหา นายทะเบียนฯ ต้องมีความเห็นพร้อมส่งเรื่องให้กกต.พิจาร ณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามมาตรา 93 หรือ มาตรา 95 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550

มติกกต. จึงเป็นมติที่ชอบตามมาตรา 8 พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2550 ประกอบมาตรา 93 วรรคสอง และมาตรา 95 พ.ร.บ.พรรคการเมือง พ.ศ.2550

ขณะ ที่ข้อต่อสู้ของปชป. เรื่องนายทะเบียนฯ มีความเห็นยกคำร้องแล้ว ยกคำร้องโดยวิธีใดและมีหลักฐานใด บันทึกของนายทะเบียนฯ ลงวันที่เท่าใด ผู้ร้องไม่สามารถหาพยานหลักฐาน หรือหยิบยกได้อย่างเป็นรูปธรรม

2. ข้อตำหนิ เรื่อง การอ้างคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญในการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้าและ กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรค โดยอ้างศาลฯ วินิจฉัยคดียุบพรรคชาติไทย คำวินิจฉัยที่ 19/2551 ว่า มาตรา 82 และ 98 ยังไม่ได้เป็นข้อสันนิษฐานที่เด็ดขาดที่จะเพิกถอนสิทธิ์หัวหน้า และกก.บห. หากพรรคถูกยุบ แตกต่างจากการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 237 เมื่อกระทำผิดตามพ.ร.บ. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. พ.ศ.2550

ศาลฯ ไม่ได้เขียนคำวินิจฉัยไว้เช่นนั้น ไม่มีถ้อยคำใดปรากฏในคำวินิจฉัยในเรื่องข้อสันนิษฐานของกฎหมาย และไม่มีคำวินิจฉัยตอนใดระบุการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์ ตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 98 สามารถยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิ์กก.บห. เป็นรายบุคคลได้

จึงมีข้อตำหนิว่าข้ออ้างดังกล่าวเป็นการสรุปความเอาเองของผู้ถูกร้อง หาใช่ศาลวินิจฉัยไว้

3. ข้อต่อสู้ที่อ้างว่าคดีนี้ต้องบังคับใช้พ.ร.บ.พรรค การเมือง ปี 2541 เท่านั้น

จาก อัลบั้ม นสพ.ข่าวสดรายวัน


ปชป. อ้างคำวินิจฉัยศาลฯ ที่ 3-5/2550 ที่ว่า อำนาจการยื่นคำร้องต่อศาลฯ ให้ยุบพรรคเป็นอำนาจของนายทะเบียนฯ ไม่ใช่อำนาจกกต. ฟังไม่ขึ้น เพราะเป็นคำวินิจฉัยตามกฎหมายเดิม คือพ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2541 มาตรา 65 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติให้เป็นอำนาจนายทะเบียน

แต่ตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง ปี 2550 มาตรา 93 วรรคสอง ซึ่งใช้บังคับอยู่ บัญญัติให้เป็นอำนาจนายทะเบียนโดยความเห็นชอบของกกต.

การพิจารณาว่าปชป. กระทำการอันต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ ต้องพิจารณากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำ ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติ แต่การพิจารณาว่าผู้มีอำนาจยื่นคำร้องให้ศาลฯ มีคำสั่งยุบพรรค เป็นการพิจารณาถึงวิธีพิจารณา ซึ่งเป็นกฎหมายในส่วนของวิธีสบัญญัติ จึงต้องใช้กฎหมายซึ่งมีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน

จึงถือว่านายทะเบียนยื่นคำร้องโดยถูกต้องตามกฎหมาย

4. ข้อตำหนิในประเด็นข้อต่อสู้ที่ว่า หากมีการยุบพรรคตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2541 ไม่อาจนำประกาศ คปค. ฉบับ ที่ 27 ที่ให้ถอนสิทธิ์เลือกตั้งกก.บห. มาบังคับใช้ได้ โดยอ้างคำวินิจฉัยศาลฯ ที่ 15-16/2550 กรณียุบพรรคสันติภาพไทย ซึ่งมิได้นำประกาศคปคป. ฉบับที่ 27 มาใช้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้า และกก.บห. เนื่องจากมิได้กระทำผิดร้ายแรงตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง มาตรา 66

การ ยุบพรรคสันติภาพไทย เป็นกรณีไม่ได้ดำเนินการตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา เป็นความผิดตามมาตรา 29 ซึ่งเป็นเหตุให้ยุบพรรค และนายทะเบียนมิได้ร้องขอให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้า และกก.บห. ซึ่งต่างจากคดีนี้

ศาลฯ วินิจฉัยว่าการไม่จัดตั้งสาขาพรรคตามกฎหมายเป็นความผิดไม่ร้ายแรง เมื่อพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 บังคับใช้ ก็บัญญัติกรณีดังกล่าวเป็นเพียงเหตุที่ทำให้พรรคสิ้นสภาพ มิใช่เหตุให้ต้องยุบพรรค

แต่ประเด็นการกระทำผิดเรื่องการใช้เงินกอง ทุน ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย แต่เป็นความผิดร้ายแรง มีคำวินิจฉัยศาลฯ ที่ 4-5/2553 กรณียุบพรรคเกษตรกร ไว้เป็นบรรทัดฐานว่า

"...เมื่อไม่ รายงานการใช้จ่ายโดยไม่มีเหตุอันสมควรตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 2550 มาตรา 82 ประกอบมาตรา 42 วรรคสอง และในทางไต่สวนไม่ปรากฏว่าหัวหน้าและกก.บห. แสดงหลักฐานหักล้างได้ จึงปรากฏหลักฐานควรเชื่อว่าหัวหน้าและกก.บห. มีส่วนร่วมรู้เห็น หรือปล่อยปละละเลย จึงสั่งให้เพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งหัวหน้าและกก.บห. มีกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันมีคำสั่งยุบพรรค"

5. ข้อพิรุธ ข้อตำหนิ ข้อสงสัยและแก้ข้อกล่าวหาไม่ได้

ข้อต่อสู้ที่ว่า นับแต่ 19 พ.ย.2547 ที่กกต. อนุมัติเงินให้ปชป.สามารถทำป้ายได้เลยนั้น

จาก อัลบั้ม นสพ.ข่าวสดรายวัน


1) ทำไมปชป. ต้องทำหนังสือของสำนักงานใหญ่พรรค ลงวันที่ 10 ม.ค.2548 ที่ปชป. 4800020/2548 เรื่องการปรับปรุงโครงการและแผนงานของพรรคการเมือง ที่เสนอขอรับเงินจากกองทุน ถึงประธานกองทุน หากมั่นใจก็ไม่ต้องทำหนังสือฉบับนี้

เท่ากับจำนนต่อหลักฐานว่าพรรค รู้และเข้าใจดีว่า ต้องปฏิบัติตามหนังสือของกกต. ที่ ลต.0402/1812 วันที่ 30 พ.ย.2547 และประกาศกกต. เรื่องกองทุน ข้อ 22 ใช่หรือไม่

ราย ละเอียดจากหนังสือ ยังระบุ "การปรับปรุงโครงการ และแผนงานฯ ที่ได้รับเงินสนับสนุนมานั้น กก.บห.พรรค เป็นผู้พิจารณาร่วมกับหัวหน้าพรรค" โดยมีข้อเท็จจริงในหน้า 2 ของหนังสือดังกล่าว

2) ทำไมปชป. ต้องรีบร้อนสั่งจ่ายเช็ค 2 ฉบับ รวมเป็นเงิน 25 ล้านบาทเศษ ให้กับผู้รับจ้างในวันเดียวกับที่พรรคทำหนังสือขอเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการ ในวันที่ 10 ม.ค. ในทันที

กก.บห.จะอ้างว่าไม่รู้เห็นคงไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับหนังสือของสำนักงานฯ ลงวันที่ 10 ม.ค. 2548 ข้างต้น

ประเด็นปัญหาข้อเท็จจริง

พยานหลักฐานที่ปชป. ไม่ปฏิเสธข้อกล่าวหาให้ชัดแจ้งเพราะจำนนต่อหลักฐาน มีดังนี้

1. หนังสือที่ ลต.0402/11812 ลงวันที่ 30 พ.ย.2547 เรื่อง แจ้งอนุมัติโครงการและแผนงานของพรรคการเมือง ประจำปี 2548 ถึงหัวหน้าปชป.

2. หนังสือของสำนักงานใหญ่ ปชป. ลงวันที่ 10 ม.ค.2548 ที่ปชป. 4800020/2548 เรื่อง การปรับปรุงโครงการและแผนงานของพรรคการเมือง ที่เสนอขอรับเงินสนับสนุนฯ

รวมถึงเช็ค 2 ฉบับที่สั่งจ่าย คือ เช็คธนาคารกรุงไทย จำนวน 23,314,200 บาท ลงวันที่ 10 ม.ค.2548 ให้กับ บ.เมซไซอะ และเช็คธนาคารกรุงไทย จำนวน 2 ล้านบาท สั่งจ่าย 10 ม.ค.2548 ให้บ.เกิดเมฆฯ

3. หลักฐานที่ออกโดยเมซไซอะ ไม่ตรงกับความเป็นจริงคือกรณีจ่ายเงินทำฟีเจอร์บอร์ด ปชป.สั่งจ่ายเช็คกรุงไทย 10 ม.ค.2548 จำนวน 23,314,200 บาท จัดทำใบสำคัญรับเงินว่าเมซไซอะ รับเงินจากปชป. วันเดียวกัน แต่ต้นฉบับใบเสร็จรับเงินเลขที่ 293 ระบุเป็น 7 ม.ค.2548

4. กรณีจ่ายหมึกสกรีน น้ำมันพิมพ์ป้ายให้บริษัท วินสัน สกรีน 1,013,102.23 บาท เช็คสั่งจ่าย 12 ม.ค.2548 แต่ใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 11 ม.ค.2548 ใบส่งของทุกฉบับลงวันที่ 2-30 ธ.ค.2547

5. ค่าแผ่นป้ายฟีเจอร์บอร์ด บ.ป๊อปปูล่า อินเตอร์พลาส 1,284,160.50 บาท ใบสำคัญรับเงิน 10 ม.ค.2548 แต่ใบส่งของเป็น 28 ธ.ค.2547

6. จ่ายค่าซื้อแผ่นป้ายฟีเจอร์บอร์ดให้ บ.อุตสาหกรรมอีโค่พลาส 4,697,128.80 บาท เช็คสั่งจ่าย 10 ม.ค.2548 แต่ใบกำกับภาษี ใบส่งสินค้า และใบเสร็จรับเงินวันที่ 23 ธ.ค.2547

7. หลักฐานประกอบการรายงานการใช้จ่าย สั่งจ่ายเช็ค และใบสำคัญรับเงินจาก บ.เกิดเมฆ แอ๊ดเวอร์ไทซิ่ง แอนด์กรุ๊ป 2,093,713.04 บาท ไม่ตรงกับใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี

8. การจ่ายเงินเริ่มดำเนินการ ม.ค.2548 แต่ปรากฏหลักฐานการจัดทำป้ายเสร็จสิ้นและส่งงานแล้วตั้งแต่พ.ย. และธ.ค. 2547

9. ปชป.รับว่าว่าจ้างเมซไซอะ และน.ส.วาศิณี ทองเจือ ซึ่งต้องจ่ายเงินให้ทั้งสองเท่านั้น แต่ปชป.สั่งจ่ายเช็คให้บ.เกิดเมฆฯ 2 ล้านบาท ทั้งที่เจ้าของบ.เกิดเมฆฯ รับว่าเป็นผู้รับจ้างช่วงจากน.ส.วาศิณี วงเงิน 500,000 บาท

10. ที่ปชป.อ้างกองทุนไม่เสียหาย เพราะใช้เงินสนับสนุนจากกองทุน 27,000,000 บาท หมดแล้ว เงินส่วนเกินเป็นเงินสมทบของปชป.เอง ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างให้หลุดพ้นตามคำร้อง ไม่ตรงประเด็นที่นายทะเบียนฯ กล่าวหา

ในคำแถลงปิดคดี ปชป. มีโอกาสชี้แจงต่อศาลฯ ถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเอกสาร แต่ปชป. ไม่อธิบาย ทำให้เข้าใจได้ว่าน่าจะเป็นเพราะไม่อาจหาเหตุผลมาหักล้างพยานหลักฐานได้

ช่วง ท้ายเป็นการยกตัวอย่างข้อพิรุธ ตำหนิ สงสัย ข้อสังเกต ประเด็นที่แก้ข้อกล่าวหาไม่ได้ โดยมีสำเนาเช็ค ใบเสร็จและเอกสารต่างๆ ประกอบ ได้แก่

1. กรณีปชป. ยื่นรายการต่อกกต. โดยจำแนกผู้ประกอบการ วันเดือนปีที่ส่งของ จ่ายเช็ค ออกใบเสร็จ บางรายการพบพิรุธไม่สัมพันธ์กัน เพราะออกเช็คสั่งจ่ายภายหลังผู้ประกอบการออกใบเสร็จ และใบกำกับภาษีแล้ว

2. พบพิรุธในพฤติกรรมของปชป. และเมซไซอะ เช่น ใช้ใบกำกับภาษีมิชอบ ไม่มีการทำสัญญาว่าจ้าง ทั้งที่วงเงินสูงมาก การตรวจสอบบัญชีรายจ่ายที่ยื่นต่อกกต. ไม่มีรายการค่าขนส่งป้ายแบบเขต

3. เมซไซอะ สั่งจ่ายเช็ค 12 พ.ย.2547 (ก่อนปีที่ได้รับเงินกองทุนเป็นการจัดทำก่อนวันที่ 1 ม.ค.2548 ) 1,200,000 เข้าบัญชี น.ส.วรารัตน์ พงษ์พันธุ์เดชา เมื่อนายประจวบ สังข์ขาว นำเงินเข้าบัญชีแล้วได้แฟ็กซ์ให้นายธงชัย ดลศรีชัย ซึ่งเป็นหมายเลขพรรคปชป.

4. มีการทำนิติกรรมอำพราง เพราะผู้ประกอบการที่ได้รับเงินทั้งหมดต้องนำส่งคืนให้น.ส.วาศิณี ทองเจือ

5. สร้างพยานหลักฐานประกอบการรายงานการใช้จ่ายเงินฯ ซึ่งหักล้างไม่ได้

6. ปชป.ไม่อาจยกเป็นข้อต่อสู้ได้ว่าไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดเรื่องการใช้จ่ายเงินกองทุน เพราะกกต. แจ้งอนุมัติและอธิบายรายละเอียดการใช้จ่ายเงิน ว่าหากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ต้องขออนุมัติจากกรรมการกองทุนก่อน ตามหนังสือกกต. ลงวันที่ 30 พ.ย.2547


ที่มา: ข่าวสดรายวัน คอลัมน์ รายงานพิเศษ หน้า 3
(update : วันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7303)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น