วันเสาร์, กรกฎาคม 24, 2553
Violence in Thailand BBC Democracy Live 20May 2010 1(2).avi
มติชนออนไลน์: สภายุโรปถกการเมืองไทย (ตอนต้น)
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมศกนี้ สภายุโรป (European Parliament อันเป็นสถาบันรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั่วสหภาพยุโรป ประกอบด้วยสมาชิก 736 คน จาก 27 ประเทศ และใช้อำนาจนิติบัญญัติสูงสุดร่วมกับคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรปหรือ Council of the European Union) ได้เปิดอภิปรายสถานการณ์การเมืองไทยขึ้น ณ ที่ประชุมเมืองสตราสบูร์ก ประเทศฝรั่งเศส จึงน่าสนใจที่จะรับฟังและบันทึกไว้ว่ามิตรประเทศคู่ค้าสำคัญมองและเข้าใจ เรื่องราวในบ้านเมืองเราอย่างไร ดังต่อไปนี้
ประธาน: วาระต่อไปคือการอภิปรายญัตติ 6 ญัตติที่มีผู้ยื่นเพื่อลงมติเกี่ยวกับประเทศไทย
MarietjeSchaake เจ้าของญัตติ สมาชิกสภายุโรป (สสย.) จากเนเธอร์แลนด์ สังกัดกลุ่มพันธมิตรนักเสรีนิยมและนักประชาธิปไตยเพื่อยุโรป: เรียนประธานสภา ประเทศไทยกำลังประสบวิกฤตรุนแรงโดยฝ่ายหนึ่งได้แก่ผู้ชุมนุมเสื้อแดง อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่กองทัพและพวกเสื้อเหลือง มีผู้เสียชีวิตไปแล้วราว 80 คน และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน ประชาธิปไตยถูกคุกคามและประเทศตกอยู่ใต้ภาวะฉุกเฉินที่รัฐบาลประกาศ
ภาวะฉุกเฉินส่งผลให้มีการเซ็นเซอร์ แหล่งสื่อสารต่างๆ อาทิ โทรทัศน์, วิทยุและอินเทอร์เน็ตถูกสกัดกั้น การหยุดยั้งความรุนแรงเป็นเรื่องสำคัญมากและเราขอส่งเสริมให้ทุกฝ่ายใช้ความ ยับยั้งชั่งใจในกระบวนการหยุดยั้งความรุนแรง
ทว่า ในการหาทางฟื้นฟูความสงบนั้น ภาวะฉุกเฉินไม่ควรถูกฉวยใช้ไปจำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานและเสรีภาพของบุคคล การเซ็นเซอร์ควรต้องยุติได้แล้วและเสรีภาพของสื่อรวมทั้งเสรีภาพในการ แสดงออกจำต้องได้รับการฟื้นฟู
คุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญสำหรับสภายุโรปในความสัมพันธ์อันทรงคุณค่ากับประเทศไทย
Cristian Dan Preda เจ้าของญัตติ สสย.จากโรมาเนีย สังกัดกลุ่มพรรคประชาชนยุโรป (คริสเตียนเดโม-แครต): ดังที่พวกเราทั้งหลายคงสังเกตเห็นได้เพราะมันเป็นหัวข้อข่าวหลักมาตั้งแต่ ต้นเดือนเมษายนว่าประเทศไทยได้ประสบกับบรรยากาศความรุนแรงทางการเมืองที่ไม่ เคยเห็นมาก่อนในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ก่อนอื่นผมใคร่ขอแสดงความรู้สึกสมานฉันท์กับบรรดาครอบครัวของผู้ตกเป็น เหยื่อความรุนแรงบนท้องถนน ผมคิดว่ากรณีที่เราเห็นอยู่นี้ผมใคร่บรรยายว่าเป็นการเผชิญหน้าตามปกติวิสัย ระหว่างหลักเสรีภาพในการแสดงออกและการสมาคม กับความจำเป็นที่รัฐบาลต้องรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง กระแสเหตุการณ์ผันผ่านไปอย่างรวดเร็วยิ่งในระยะไม่กี่วันและไม่กี่ชั่วโมง หลังๆ นี้ ดูเหมือนกรุงเทพฯจะกลับเข้าสู่ความสงบแล้วพอสมควรแม้ว่ามันจะลุกเป็นไฟเมื่อ คืนภายหลังกองกำลังรัฐบาลเข้าแทรกแซงก็ตาม
เราหวังว่าจะสามารถหลีกเลี่ยงความรุนแรงระลอกใหม่ที่อาจก่อตัวแผ่ขยาย ขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อประกันว่าความหวังดังกล่าวนี้จะปรากฏเป็นจริง เราจำต้องรู้จักดำเนินการแต่พอประมาณเพราะประชาธิปไตยไม่อาจครองชัยชนะได้ ด้วยความรุนแรง ผมคิดว่ารัฐบาลจำจะต้องดำเนินการตามโรดแมป (แผนที่นำทาง) ที่เสนอไว้เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม
ผมยังเชื่อด้วยว่าการสืบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้และลงโทษผู้กระทำผิดเป็นมาตรการอันจำเป็นเพื่อประกันให้เกิดการปรองดอง
Veronique De Keyser เจ้าของญัตติ สสย.จากเบลเยียม สังกัดกลุ่มพันธมิตรก้าวหน้าของนักสังคมนิยมและนักประชาธิปไตยในสภา ยุโรป:เรียนประธานสภา ผู้ชุมนุม "เสื้อแดง" ได้ถูกปราบปรามอย่างนองเลือด ดิฉันใคร่ขอกล่าวเพียงสิ่งต่อไปนี้เพราะไม่ปรารถนาจะราดน้ำมันลงบนกองไฟ เนื่องจากระเบียบขั้นตอนในกรณีเร่งด่วนของสภายุโรปกำหนดให้เรามุ่งผ่อนคลาย วิกฤตและหาทางแก้ไขมากกว่าจะไปโหมเพลิงแค้นของประชาชน
ประการแรกเลยทีเดียว พลเมืองคนใดก็ตามย่อมมุ่งมั่นไขว่คว้าการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมได้โดย ชอบธรรม นั่นเป็นสิทธิที่มิอาจปฏิเสธได้และควรมอบให้แก่ประชาชนไทยทั้งปวง นายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เองครั้งหนึ่งก็เคยเสนอทางเลือกนี้แล้วก็ถูกฝ่าย "เสื้อแดง" ปฏิเสธไป ตอนนี้เราต้องกลับไปสู่ทางเลือกนี้อีก
ประการที่สอง ดิฉันขอประณามการยิงกระสุนจริงใส่ผู้ประท้วงและปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมใน หลายวันหลังนี้ซึ่งแหล่งข่าวทางการระบุว่าได้คร่าชีวิตเหยื่อไปอย่างน้อย 12 คน รวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ชาวอิตาลีและทำร้ายคนบาดเจ็บมากมาย ถึงเวลาที่ต้องหยุดความรุนแรงที่ได้แพร่กระจายไปทั้งประเทศแล้ว
ที่ดิฉันประณามข้างต้นนั้น ดิฉันไม่ได้ส่งเสริมให้เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด แต่ใคร่เรียกร้องรัฐบาลไทยให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกแก่การเจรจาหาทางออก, ประกันว่าภาวะฉุกเฉินที่ประกาศไปนั้นไม่จำกัดเสรีภาพของบุคคลหรือเสรีภาพใน การแสดงออกซึ่งขืนไปจำกัดเข้าก็รังแต่จะทำให้ยิ่งตึงเครียดหนักขึ้น และดิฉันใคร่ขอร้องเป็นการเฉพาะเจาะจงต่อนายกฯอภิสิทธิ์ให้พิจารณาจัดการ เลือกตั้งใหม่
ความปั่นป่วนวุ่นวายในขณะนี้เสี่ยงที่จะทำให้ประเทศแตกแยก ในภาคอีสานซึ่งเป็นพื้นที่ชนบทถือวัฒนธรรมลาว อาจมีการคัดค้านที่แทบถึงขั้นก่อการกำเริบต่อภาคกลาง กรุงเทพฯ และภาคใต้ซึ่งล้วนเป็นที่มั่นของพรรคประชาธิปัตย์ นี่อาจนำไปสู่การปรากฏขึ้นของขบวนการกึ่งก่อการร้ายเข้าทำการโจมตีสิ่งที่ อาจเรียกว่าระบบราชการกับชนชั้นนำอันเป็นป้อมปราการแห่งอำนาจ
มีความจำเป็นขั้นเด็ดขาดที่จักต้องกลับไปสู่การเลือกตั้ง, การเจรจา, และยุติความรุนแรงขณะที่ธำรงรักษาเสรีภาพเอาไว้ แน่ละว่านี่เป็นถ้อยคำง่ายๆ ที่บางทีอาจจะค่อนข้างไร้เดียงสาในสภาพความรุนแรงของโลกสมัยใหม่ มติของสภาที่ว่านี้ถูกจงใจเลือกเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงความรุนแรงที่อาจปะทุ ระเบิดขึ้นได้ในประเทศไทยและเปิดช่องให้เกิดการสานเสวนา
แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถปัดเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยทั้งปวงทิ้งไปได้
Barbara Lochbihler เจ้าของญัตติ สสย.จากเยอรมนีสังกัดกลุ่มพันธมิตรพรรคเขียว/ยุโรปเสรี: เรียนประธานสภา ภาพความโกรธแค้น ความรุนแรงและพังพินาศในกรุงเทพฯยังสดใหม่อยู่ในจิตใจเรา แม้ว่าบัดนี้ความใส่ใจจะหันเหออกไปจากสถานการณ์อันตึงเครียดยิ่งในเมืองหลวง ของไทยแล้วระดับหนึ่ง ทว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดการปะทะรุนแรงขึ้นอีกก็หาได้หมดสิ้นไปไม่ ความขัดแย้งรุนแรงระหว่างกลุ่มที่เรียกกันว่าเสื้อแดงกับรัฐบาลที่มีกองทัพ หนุนหลังได้ส่งผลให้มีผู้ถูกสังหารไปแล้วกว่า 70 คน และบาดเจ็บเกือบ 2,000 คน รัฐบาลได้ประกาศว่าจะสืบสวนกรณีการตายเหล่านี้และกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นในไม่ กี่วันหลังนี้ก็จะต้องรวมไว้ในการสืบสวนนี้ด้วย
มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องพิจารณาสาเหตุมูลฐานของการประท้วงและ ปะทะซ้ำซากเหล่านี้เพื่อหาทางแก้ไขทางการเมืองที่ดำเนินการได้จริง ประชาชนไทยส่วนหนึ่งตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างหนักและถูกกีดกันทางสังคม
คนเหล่านี้รู้สึกขุ่นเคืองอย่างแรงกล้าที่พวกตนถูกกระทำต่ออย่างไม่เป็นธรรมและขาดสิทธิ
พวกเขากำลังต่อสู้กับสภาพที่มาตรฐานการครองชีพของตนค่อนข้างต่ำ ปัจจัยอื่นก็มี อาทิ การคอร์รัปชั่นอย่างโจ๋งครึ่มและกว้างขวางในแวดวงผู้นำทางการเมือง รวมทั้งในบรรดาผู้กุมตำแหน่งรับผิดชอบในภาคประชาสังคมด้วย ถ้าจะหาทางออกกันอย่างยั่งยืนแล้วปัญหาเชิงโครงสร้างเหล่านี้ต้องถูกเปิดโปง แก้ไข มากกว่าเพียงแค่ยุติความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันลงเท่านั้น
เราขอเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายแสดงบทบาทเชิงสร้างสรรค์อย่าง จริงจังในการหาทางออกจากวิกฤตใหญ่ครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ในการให้ได้มาซึ่งทางออกดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายต้องใช้แต่วิธีการสันติและประชาธิปไตยเท่านั้นและพวกเขาจำต้อง ได้การสนับสนุนจากสหภาพยุโรปสำหรับเรื่องนี้
Marie-Christine Vergiat เจ้าของญัตติ สสย.จากฝรั่งเศสสังกัดกลุ่มสมาพันธ์รวมฝ่ายซ้าย-ซ้ายเขียวสแกนดิเนเวียของ ยุโรป: เรียนประธานสภา ถึงบัดนี้นับเป็นเวลาหลายสัปดาห์มาแล้วที่ขบวนการประชาชน "เสื้อแดง" ได้ชุมนุมแสดงพลังในกรุงเทพฯเพื่อเรียกร้องให้เคารพประชาธิปไตย พวกเราพึงระลึกว่าแม้นายกรัฐมนตรีจะเพิ่งครองอำนาจมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ค.ศ.2008 กระนั้นก็ตามรัฐบาลชุดปัจจุบันก็เป็นผลพวงจากรัฐประหารของทหารที่เกิดขึ้น เมื่อเดือนกันยายน ค.ศ.2006
พวก "เสื้อแดง" เรียกร้องอะไรหรือ? เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก, ยุบสภา, จัดเลือกตั้งเร็วขึ้น - สรุปสั้นๆ ก็คือ เรียกร้องประชาธิปไตยนั่นเอง เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมศกนี้ นายกรัฐมนตรีก็ได้ประกาศแผนปรองดองที่ตั้งอยู่บนการจัดเลือกตั้งให้เร็วขึ้น อันโด่งดังนั้น แต่แล้วการลอบสังหารนายพลขัตติยะ สวัสดิผล ผู้บัญชาการของฝ่าย "เสื้อแดง" เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคมก็ทำให้การเจรจาสิ้นสุดลง
นี่คือบริบทที่เราได้จัดเตรียมมติที่อยู่ต่อหน้าเรานี้ขึ้น เมื่อวานนี้ กองทัพได้เข้าแทรกแซงและสังหารผู้คนไปหลายคนรวมทั้งนักหนังสือพิมพ์ชาว อิตาลี สำหรับเราแล้ว มันจำเป็นอย่างยิ่งที่มติซึ่งเรากำลังจะลงคะแนนกันนั้นจะต้องสะท้อนรวม เหตุการณ์เหล่านี้เอาไว้ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมื่อบรรดาผู้นำหลักของขบวนการ "เสื้อแดง" ได้ยอมจำนนทันทีและเรียกร้องให้ประชาชนอยู่ในความสงบ
อันที่จริงแล้วมันเป็นเรื่อง...(ฟังไม่ชัดเจน-ผู้เขียน)...ต่างหาก ที่กำลังถูกตั้งคำถาม ...(ฟังไม่ชัดเจน-ผู้เขียน)...ยังคงนิ่งเงียบอย่างน่าประหลาดใจ สารที่เราจักต้องสื่อส่งไปก็คือจะยัดเยียดประชาธิปไตยให้ด้วยกำลังมิได้ และการปราบปรามผู้ชุมนุมโดยส่งกองทัพเข้าไปพร้อมสั่งกำชับว่าเห็นเมื่อไหร่ ยิงได้เลยก็เป็นเรื่องรับไม่ได้เช่นกัน มติตอนนี้ไม่แม้แต่ประณามความรุนแรงดังกล่าว พวกเราจึงจะไม่ลงคะแนนสนับสนุนมัน
ประชาชนไทยมีสิทธิที่จะได้ประชาธิปไตยมาและเราจักต้องทำทุกอย่างเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดรัฐประหารโดยทหารขึ้นอีก
Adam Bielan เจ้าของญัตติ สสย.จากโปแลนด์สังกัดกลุ่มนักอนุรักษนิยมและนักปฏิรูปยุโรป: ประเทศไทยซึ่งจนกระทั่งไม่นานมานี้เคยถูกถือเป็นป้อมปราการแห่งประชาธิปไตย และเสถียรภาพในเอเชียอาคเนย์ ได้ประสบเหตุการณ์อันน่าตื่นตระหนกที่สุดในรอบเกือบกึ่งศตวรรษเมื่อเร็วๆ นี้
การต่อสู้ยังคงดำเนินต่อไประหว่างฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งรู้จักกันในนามพวก "เสื้อแดง" กับฝ่ายรัฐบาลและกองทัพ มีผู้ถูกสังหารกว่า 60 คน รวมทั้งชาวต่างชาติซึ่งมีพลเมืองกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปในนั้นด้วย มีผู้บาดเจ็บอีกเกือบ 2,000 คน และกรุงเทพฯเมืองหลวงก็ได้รับความเสียหายอย่างหนัก
แน่ละว่าครอบครัวของเหยื่อทั้งหลายคู่ควรจะได้รับการแสดงความเห็นอก เห็นใจ เศร้าเสียใจและสมานฉันท์ของเรา แต่เราต้องตระหนักด้วยว่าทุกวันนี้ชาติไทยแตกแยกกันอย่างร้ายแรง สิทธิมนุษยชนประการต่างๆ อาทิ เสรีภาพในการชุมนุมและเสรีภาพในการพูดถูกจำกัดอย่างหนัก และยากยิ่งที่จะแก้ไขความขัดแย้งได้ด้วยวิธีการสันติในทางการเมือง
ดังนั้น แรงกดดันจึงจำเป็น - แรงกดดันระหว่างประเทศรวมทั้งจากสหภาพยุโรป - ต่อคู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายเพื่อที่พวกเขาจะกลับมาเจรจากันใหม่และพยายามแก้ไข ข้อพิพาทโดยวิถีทางการเมือง ไม่ใช่ด้วยความรุนแรง
ที่มา: มติชนออนไลน์: สภายุโรปถกการเมืองไทย (ตอนต้น)
โดย เกษียร เตชะพีระ
วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2553 เวลา 19:30:00 น.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น