วันพุธ, กุมภาพันธ์ 22, 2555

ส.ส.หญิงเพื่อไทยแถลงประนาม “รังสิมา-ส.ส.ปชป.” ตั้งกระทู้หาเรื่อง-`เหยียบย่ำผู้หญิง


วันนี้ (16 ก.พ.)เมื่อเวลา 11.55 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสดของ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม พรรคประชาธิปัตย์ เรื่อง การปฏิบัติภารกิจของนายกรัฐมนตรีกรณีเดินทางไปโรงแรมโฟร์ซีซั่น ในระหว่างการประชุมสภาฯ ซึ่ง นายสมศักดิ์ชี้แจงว่าตามข้อบังคับการประชุม การตั้งกระทู้ต้องไม่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัว หากยืนยันให้นายกฯมาตอบก็จะไม่บรรจุ ทำให้บรรยากาศการประชุมเริ่มปั่นป่วน เมื่อนายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาล ชี้แจงว่า ได้แจ้งให้น.ส.รังสิมาทราบแล้วว่านายกฯและรัฐมนตรีอีก 14-15 คน ต้องลงพื้นที่ดูน้ำท่วม แล้วยังจะถามทำเช่นนีนี้หมายความว่าอย่างไร ตกลงกันแล้วจะไม่ถามเรื่องส่วนตัว ขณะที่ นพ.สุกิจ อัตโถปกรณ์ ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันว่าไม่ได้มีข้อตกลงอย่างนั้น ขณะที่น.ส.รังสิมาลุกขึ้นตอบโต้ว่า กระทู้ของตนเป็นการถามเรื่องการปฏิบัติภารกิจ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ประธานฯควรแจ้งให้นายกฯและคณะรัฐมนตรีทราบว่า ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 11.00 น. จะมีการพิจารณากระทู้ถามสด ควรให้ความสำคัญมาตอบเอง แต่ที่ตนเห็นด้วยก็คือไม่ใช่ทุกเรื่องที่นายกฯต้องมาตอบเอง แต่นี่ส.ส.ถามเรื่องการปฏิบัติภารกิจของนายกฯ ซึ่งไม่สามารถมอบหมายให้ใครมาตอบแทนได้ ทำได้ก็คือทำหนังสือชี้แจงว่าจะมาตอบเมื่อไร ง่ายสุดคือเลื่อนกระทู้นี้ออกไปเป็นสัปดาห์หน้า ก็หมดปัญหา


จากนั้นบรรยากาศยิ่งปั่นป่วนหนักขึ้น เมื่อมีการโต้เถียงกันไปมาระหว่างส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ทำให้นายสมศักดิ์กล่าวตัดบท ให้น.ส.รังสิมาถามกระทู้เลย แต่น.ส.รังสิมายืนยันที่จะไม่ถาม ซึ่งนายพิชิต ชื่นบาน ส.สงบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นขอให้น.ส.รังสิมาถอนคำพูดกล่าวหาว่านายกฯไปทำอะไรตามลำพัง เป็นการพูดเสียดสีให้ร้าย แต่น.ส.รังสิมาไม่ยอมถอนโดยย้อนถามกลับไปว่าจะให้ถอนคำว่าอะไร เพราะไม่รู้สึกว่าสิ่งที่พูดไปเป็นการเสียดสี ที่สุดนายสมศักดิ์ตัดบทว่า ถ้าไม่ยอมถอนและยังไม่ถามกระทู้ก็จะถือว่ากระทู้นี้ตกไป ทำให้ส.ส.พรรคประขาธิปัตย์ส่วนใหญ่วอล์กเอ้าท์ออกนอกห้อง ขณะที่มีบางส่วนยังยืนประท้วงอยู่ทำให้นายสมศักดิ์ใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด สั่งให้ตำรวจรัฐสภามาเชิญตัวออกไป นายอิสระ สมชัย ส.ส.อุบลราชธานี พรรคประชาธิปัตย์ จึงตะโกนลั่นกลางห้องประชุมว่า “เผด็จการรัฐสภาอยู่หลายรอบ จนนายสมศักดิ์ต้องสั่งพักการประชุม 15 นาที

ต่อมาเมื่อเวลา 13.00 น.ส.ส.หญิงพรรคเพื่อไทยกว่า 10 คน นำโดยนางเปล่งมณี เร่งสมบูรณ์สุข ส.ส.เลย และนางอรุณี ชำนาญยา ส.ส.พะเยา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ และผู้พิการ สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันแถลงข่าวถึงเหตุการณ์การตั้งกระทู้ถามน.ส.ยิ่งลักษณ์ ของน.ส.รังสิมาจนเกิดความวุ่นวายว่า พวกตนของประณามการกระทำดังกล่าว การตั้งกระทู้ถามมีเจตนาเข้ามาหาเรื่องเพราะพฤติกรรมของ ส.ส.ท่านนี้และซีกฝ่ายค้าน ส่อให้เห็นว่ามีเจตนาที่จะหาเรื่อง การตั้งกระทู้ถามก็ทราบแล้วว่านายกฯติดภารกิจ แต่ก็ยังดันทุรังตั้งกระทู้ถาม ซึ่งน่าเสียดายที่ใช้ความเป็นผู้หญิงมาเหยียบย่ำและทำลายความเป็นผู้หญิงด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าวันเดียวกัน พรรคชาติไทยพัฒนาได้ยื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของพรรค ต่อประธานรัฐสภาแล้ว โดยร่างดังกล่าวมีส.ส.ลงลายมือชื่อสนับสนุนจำนวน 128 รายชื่อ แบ่งเป็นส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา 17 คน ส.ส.พรรคเพื่อไทย 110 คน และพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ

ขอบคุณที่มา: เดลินิวส์ออนไลน์

วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 18, 2555

ไม่มี "เม้มปาก-เอียงคอ" นโยบาย 66/55 ของ "ป๋าเปรม" เพลง "ปรองดอง" ผ่าน "ออเคสตรา"


10 ล้านบาทสำหรับการจัดคอนเสิร์ตออเคสตรา ขอบคุณผู้ที่ลงแรงช่วย "น้ำท่วม" ของรัฐบาล ถือว่า "แพง" และ "ไม่คุ้มค่า" อย่างยิ่ง

แต่หาก 10 ล้านบาทนั้นสามารถส่งสัญญาณภาพ "ความปรองดอง" สู่สาธารณชนและนานาชาติ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ต่ำและคุ้มค่าอย่างยิ่ง

แม้ "จุดเริ่มต้น" ของงาน "รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย" จะเกิดขึ้นจากเรื่อง "ดนตรี" อย่างแท้จริง

คำสัมภาษณ์ของ นายสุกรี เจริญสุข คณบดีวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ริเริ่มโครงการแสดงคอนเสิร์ตที่ทำเนียบรัฐบาลชัดเจนอย่างยิ่ง

นายสุกรีเล่าว่า โครงการนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เขาประสบปัญหาเรื่องวิทยาลัย ไม่ได้การรับรองหลักสูตร

ช่วงที่ "สุกรี" คิดว่าตนเองโดดเดี่ยว มี "ผู้ใหญ่" คนหนึ่งในบ้านสี่เสาเทเวศร์ ที่ไม่ใช่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เสนอว่าควรจะจัดแสดงวงดนตรีไทยแลนด์ฟีลฮาร์โมนิก ออเคสตรา ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

นายสุกรีปฏิเสธเพราะลานพระบรมรูปทรงม้าเป็นที่โล่งไม่เหมาะกับการจัดแสดงดนตรี และไม่อยากให้มีการปิดถนน

มีการเสนอใช้ "สนามหลวง" แต่ "สุกรี" ก็ยืนยันว่าไม่เหมาะกับการแสดงดนตรีสดเช่นกัน

เมื่อถามว่าอยากเล่นที่ไหน "สุกรี" ตอบว่า "ทำเนียบรัฐบาล"

"ผู้ใหญ่" ท่านนั้นก็อึ้งไป เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้รับอนุญาตหรือไม่

บังเอิญที่ "สุกรี" รู้จักกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยเป็นผู้สนับสนุนวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ตั้งแต่เริ่มต้น

อีกด้านหนึ่งก็คุ้นเคยกับ พล.อ.เปรม จากความชอบเรื่องดนตรีเหมือนกัน โดยเขาเป็นคนแนะนำครูสอนเปียโนให้กับ พล.อ.เปรม

17 มกราคม 2555 นายสุกรี พานายกิตติรัตน์เข้าบ้านสี่เสาเทเวศร์ โดยนายกิตติรัตน์นำกระเช้าผลไม้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปด้วย

วันนั้น นายกิตติรัตน์ได้เชิญ พล.อ.เปรม เป็นประธานในวันแสดงดนตรี ซึ่ง "ป๋าเปรม" ก็ตอบตกลง

และกลายเป็น "จุดเริ่มต้น" ของงานรักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย ที่กลายเป็น "จุดเปลี่ยน" ทางการเมืองครั้งสำคัญ

ชนิดที่ "คนเสื้อเหลือง" และ "คนเสื้อแดง" งุนงงจนถึงวันนี้


ในครั้งแรก "กิตติรัตน์" ไม่ได้คิดแบบ "การเมือง"

เขาคิดเรื่อง "ดนตรี" ล้วนๆ
ดังนั้น "กิตติรัตน์" จึงเตรียมควักกระเป๋าส่วนตัวมาใช้ในการจัดงาน

แต่เมื่อเรื่องถึงหู "ยิ่งลักษณ์" นายกรัฐมนตรี ก็ให้ใช้งบประมาณของรัฐบาล และมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบงานเป็นงานรักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อขอบคุณทุกฝ่ายที่ร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วม

แม้จะฟังดูแปร่งๆ แต่ก็เป็นเหตุผลที่พอฟังได้
ทั้งที่รู้ว่าทุกคนอ่านออกว่านี่คือ งานแสดงภาพทางการเมือง

วันนั้นทุกสายตาจึงจับจ้องไปที่ "ยิ่งลักษณ์" และ "พล.อ.เปรม" มากที่สุด
เพราะ "ยิ่งลักษณ์" คือน้องสาวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ประกาศว่า พล.อ.เปรม เป็น "ผู้มากบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"
ในขณะที่ "คนเสื้อแดง" นั้นโจมตี พล.อ.เปรม ตลอดว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
การเชิญ พล.อ.เปรม มาเป็นประธานในพิธีจึงเป็น "ปรากฏการณ์" ที่ทุกฝ่ายจับตามอง

ไม่แปลกที่ในวันแรกเมื่อข่าวเรื่องนี้แพลมออกจากทำเนียบรัฐบาล ไม่มีใครเชื่อว่า "ป๋าเปรม" จะมา แทบทุกคนคิดว่าเป็น "เกม" ของรัฐบาล
รุกด้วยการยื่นมือให้ก่อน

เป็นเกมรุกที่มีแต่ "ได้" ไม่มี "เสีย"
แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยืนยันว่า "ป๋า" มาแน่

แต่คนจำนวนไม่น้อยไม่มั่นใจ จนกระทั่งถึงวันงาน
ไม่แปลกที่คืนวันนั้น ทุกคนจะจับตามองปฏิสัมพันธ์ระหว่าง "ป๋าเปรม" กับ "ยิ่งลักษณ์"

จะเป็นภาพการแสดงท่าทีเมินเฉย ท่าทีแบบ "ทางการ" หรือแสดงมิตรภาพที่ดีต่อกัน
แน่นอน "ยิ่งลักษณ์" ต้องแสดงท่าทีที่นอบน้อมตามปกติที่เห็นเป็นประจำ

แต่ "ป๋าเปรม" นั้นไม่มีใครรู้ว่าจะแสดงท่าทีอย่างไร
และเมื่อภาพที่ปรากฏบนจอโทรทัศน์ผ่านการถ่ายทอดสดทั้งทางช่อง 11 และโมเดิร์นไนน์ กลายเป็นภาพของ "ป๋า" ยิ้มแย้มแจ่มใส และสนทนากับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อย่างเป็นกันเองตลอดการแสดงดนตรี

ยิ่งตอนที่ส่ง "ป๋า" ขึ้นรถกลับบ้าน แล้ว พล.อ.เปรม ลดกระจกเรียก "ยิ่งลักษณ์" ไปคุยสั้นๆ
ยิ่งทำให้ภาพความปรองดองชัดเจนขึ้น

คำถามที่เกิดขึ้น ก็คือ ทั้ง 2 ฝ่ายเริ่มต้นการปรองดองกันแล้ว
หรือนี่คือ เกมสร้างภาพเพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งตายใจ


คนใกล้ชิดของ พล.อ.เปรม ยืนยันว่านี่คือการส่งสัญญาณ "ปรองดอง" อย่างแท้จริง
เพราะ "ป๋า" เป็นคนเก็บความรู้สึกไม่อยู่
ภาษาท่าทางของ "ป๋า" จะชัดเจนมาก

ถ้าไม่พอใจใคร พล.อ.เปรม จะแสดงปฏิกิริยาให้เห็นชัด ไม่ว่าจะเป็นการเม้มปาก เอียงคอ หรือไม่พูดด้วย
แต่ภาพในคืนนั้น "ป๋าเปรม" ยิ้มแย้มแจ่มใส และสนทนากับ "ยิ่งลักษณ์" เหมือน "ผู้ใหญ่" ที่เอ็นดู "เด็ก"

อย่าลืมว่า พล.อ.เปรม นั้นผ่านเหตุการณ์การทำสงครามคอมมิวนิสต์มาแล้ว และเขาเป็นคนออกนโยบาย 66/2523 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรองดอง โดยเปิดทางให้กับ "นักศึกษา" ออกจากป่า
ทำไมเขาจะอ่านเกมไม่ออกว่าการเมืองไทยถ้ายังคงดึงดันต่อไป ไม่ปรองดอง เมืองไทยจะเป็นอย่างไร

และผลการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าคนส่วนใหญ่เลือกใคร
เมื่ออีกฝ่ายหนึ่งยื่นมือมาขอปรองดองก่อน "ป๋าเปรม" จึงตัดสินใจไม่ยาก

ทั้ง "ยิ่งลักษณ์" และ "ป๋าเปรม" ต่างมองออกว่าการชมคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นเรื่องการเมือง
และทุกฝ่ายต้องตีความจากภาพที่ปรากฏ

งานนี้ไม่มีใครหลอกใคร เพราะทั้งสองคนตั้งใจให้ภาพนี้เกิดขึ้น
รัฐบาลนั้นไม่เพียงแต่ต้องการส่งสัญญาณให้กับทุกฝ่ายในประเทศ "ยิ่งลักษณ์" ยังหวังผลถึงระดับนานาชาติ
นั่นคือ เหตุผลที่เชิญเอกอัครราชทูตทุกประเทศมาร่วมในงานนี้

เพื่อให้ทุกคนได้เห็นภาพ "ป๋าเปรม" กับ "ยิ่งลักษณ์" พูดคุยอย่างเป็นกันเอง และยิ้มแย้มแจ่มใสต่อกัน
เพราะเป็นภาพทางบวกของประเทศไทย

คืนนั้น ว่ากันว่า ทั้ง "ป๋าเปรม" และ "ยิ่งลักษณ์" กลับบ้านอย่างมีความสุข
แต่คนที่นอนไม่หลับ และคิดไม่ตกจนถึงทุกวันนี้ คงไม่พ้นพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
และกลุ่มคนเสื้อแดง

เพราะไม่มีใครนึกว่าจะมีภาพเช่นนี้ขึ้นมา
เหมือนประเทศไทยไม่เคยเกิดการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
ไม่มีผู้มากบารมีนอกรัฐธรรมนูญ

ไม่มีการเผาบ้านเผาเมือง
ไม่มีการสังหารโหดกลางเมือง 91 ศพ

แต่นี่คือ "เรื่องจริง" ประเทศไทยในเดือนแห่งความรัก พ.ศ.2555

..........


ที่มา:มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 17 ก.พ. 2555

วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 05, 2555

ครก.112ยันเดินหน้าล่าหมื่นชื่อ


หมายเหตุ : คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) จัดแถลงข่าวและตอบคำถามต่อประเด็นการรณรงค์แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และกิจกรรมในอนาคตของครก.112 วันที่ 5 ก.พ. ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา กทม.

ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ.
ตัวแทนกลุ่มสันติประชาธรรม


ภายหลังเปิดตัวกลุ่มและข้อเสนอในการแก้ไขมาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา ก็มีเสียงต่อต้านจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยอย่างรุนแรง

ขอยืนยันว่า ครก.112 จะเดินหน้าต่อไป แนวทางดำเนินการต่อจากนี้คือการจัดตั้งเครือข่าย ครก.112 และจัด ครก.112 สัญจร เพื่อให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าวแก่ผู้ที่สนใจทั่วประเทศ

ขอย้ำว่า มาตรา 112 นั้นขัดต่อหลักการในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างชัดเจน การเคลื่อนไหวของ ครก.112 นั้นทำเพื่อประชาธิปไตยและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

หากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยชี้แจงด้วยเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับร่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฉบับแก้ไข โดยนิติราษฎร์ตรงไหน ครก.112 ก็พร้อมจะรับฟัง แต่หากมีการใช้ความรุนแรงในการต่อต้านก็ขอเตือนไว้ตรงนี้เลยว่าการกระทำดังกล่าวผิดกฎหมาย

และอยากฝากถามไปยังกลุ่มที่คัดค้านว่ามีจุดประสงค์เพื่อปกป้องสถาบันหรือตัวเองกันแน่ เพราะที่ผ่านมา มาตรา 112 ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและสังคม ตลอดจนลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นเป็นอย่างมาก

ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างๆ ที่เน้นย้ำเรื่องเสรีภาพในการแสดงออกควรเข้าร่วมเคลื่อนไหวกับ ครก.112 ด้วยซ้ำ

ประชาชนที่มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ขอให้ศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน หากมีข้อสงสัยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดและติดต่อสอบถามได้ที่ http://www.ccaa112.org หน้าเพจเฟซบุ๊ก คณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) และคอลเซ็นเตอร์ 08-3994-9112, 08-3222-6112 หรือติดต่อผ่านเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ ก็ได้ จะมีการประกาศกิจกรรมให้ทราบเป็นระยะ

ผู้ที่สนใจเข้าชื่อสามารถส่งเอกสารมาได้ที่ ตู้ปณ.112 ปณฝ.ราชดำเนิน พระนคร กรุงเทพฯ 10200

วาด รวี
คณะนักเขียนแสงสำนึก


ที่ผ่านมามีความเข้าใจผิดเป็นอย่างมากใน 2 ลักษณะ คือ 1. เข้าใจว่าคณะนิติราษฎร์ นำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ เป็นผู้ดำเนินการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ที่จริงแล้วคณะนิติราษฎร์เป็นเพียงผู้นำทางด้านวิชาการในการนำเสนอร่างประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ฉบับแก้ไขเท่านั้น แม้บางคนในคณะนิติราษฎร์จะเป็นส่วนหนึ่งใน ครก.112 ก็ตาม แต่คณะนิติราษฎร์ทั้งหมดไม่ใช่ ครก.112 ขอเน้นย้ำว่าการเคลื่อนไหวในขณะนี้ไม่เกี่ยวกับทางนิติราษฎร์ การรณรงค์เคลื่อนไหวเป็นหน้าที่ของ ครก.112

2. มีความเข้าใจว่านักวิชาการ 112 คนแรกที่เข้าชื่อสนับสนุนร่างประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ฉบับแก้ไขโดยนิติราษฎร์นั้นคือ ครก.112 ทุกคน ซึ่งอันที่จริงแล้ว ไม่ใช่ทุกคนที่เข้าร่วมใน ครก.112 แม้อาจมีบางส่วนที่เข้าร่วมใน ครก.112 ก็ตาม

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท
ตัวแทนกลุ่มอาร์ติเคิล 112

หลายคนตั้งข้อสงสัยว่ามาตรา 112 ดีแล้วจะไปแก้ทำไม ดูสถิติจะพบว่าก่อนปี 2548 มีคดีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 เฉลี่ยไม่เกิน 10 คดีต่อปี แต่ข้อมูลเมื่อปี 2553 กลับพบว่ามีคดีที่เกี่ยวกับกฎหมายมาตราดังกล่าวมากถึง 478 คดี

ถ้าได้รับฟังข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์จะพบว่าปัจจุบันมีปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 112 อยู่ 3 ระดับ ประการแรก อยู่ที่ตัวบทกฎหมายในส่วนของบทลงโทษ ประการต่อมาคือการบังคับใช้ และสุดท้ายคืออุดมการณ์ในการบังคับใช้

ในส่วนของผลกระทบกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากมาตราดังกล่าว เท่าที่สืบค้นได้ในขณะนี้มีไม่น้อยกว่า 12 คนที่ถูกคุมขังในเรือนจำ และมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้รับสิทธิ์ในการประกันตัว

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งคนอื่นหากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องนี้ได้ ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้สังคมตกอยู่ในภาวะความไม่แน่นอน ผู้คนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นอะไรเพราะอาจถูกโยงเข้ากับมาตรา 112

สุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ปัจจุบันมาตรา 112 กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองโดยสมบูรณ์แบบ มีการโอนคดีที่เกี่ยวกับมาตราดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของดีเอสไอ เนื่องจากมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง มีการออกผังล้มเจ้า

นอกจากนี้ มาตรา 112 ทำให้กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกพลิกกลับด้าน จากเดิมที่ผู้ถูกกล่าวหาบริสุทธิ์จนกว่าจะมีเหตุชี้ได้ว่าทำผิด แต่มาตรา 112 กลับทำให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกมองว่าทำผิดจนกว่าจะมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

ยิ่งไปกว่านั้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและวาทกรรมล้มเจ้าได้เป็นชนวนเหตุนำไปสู่การรัฐประหารวันที่ 19 ก.ย. 2549 และถูกใช้สร้างภาพนปช. ในทางที่ผิดว่าผู้ที่เรียกร้องประชา ธิปไตยต้องการให้มีการยุบสภานั้นเป็นภัยต่อความมั่นคง จนเป็นเหตุให้ทหารใช้ความรุนแรง

หากไม่แก้ที่ตัวกฎหมายอาจนำไปสู่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 ในยุคสมัยใหม่ก็เป็นได้ จึงขอเรียกร้องให้ประชาชน รวมไปถึงสื่อมวลชน ศึกษาและนำเสนอข้อเสนอของกลุ่มให้ละเอียดเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง

เกษม เพ็ญภินันท์ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ
ตัวแทนกลุ่มสันติประชาธรรม


จนถึงตอนนี้ยังไม่มีข้อโต้แย้งจากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยในข้อเสนอหรือเนื้อหาสาระ ส่วนใหญ่เป็นการใช้อารมณ์และโจมตีในทางส่วนบุคคลมากกว่าว่าการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการกระทำที่ส่อเจตนาล้มสถาบัน ครก.112 ขอย้ำตรงนี้ว่าไม่มีเจตนาตามที่ถูกกล่าวหาใดๆ ทั้งสิ้น

จากนี้จะเดินสายชี้แจงบนเวทีต่างๆ ทั่วประเทศว่าเหตุใดต้องเสนอแก้มาตรา 112 เป็นเวลา 112 วันนับจากวันที่ 15 ม.ค. 2555 โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนเข้าชื่อ 10,000 คน เพื่อยื่นรัฐสภาให้พิจารณาแก้มาตรา 112 ตามข้อเสนอของนิติราษฎร์

และเมื่อยื่นหนังสือดังกล่าวต่อทางสภา ครก.112 ก็จะหมดหน้าที่ เพราะต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของสภาในการพิจารณา
หลายคนกังวลว่าการเสนอแก้มาตรา 112 จะทำให้สังคมแตกแยก เหมือนการราดน้ำมันเข้ากองเพลิง

วาด รวี - น้ำมันได้ถูกราดลงกองเพลิงตั้งแต่ตอนที่อากงถูกตัดสินจำคุก 20 ปีจากคดีส่งเอสเอ็มเอสแล้ว สังคมต้องมีความกล้าหาญที่จะพูดถึงเรื่องที่อาจจะอ่อนไหวแต่เป็นปัญหาที่สำคัญ ลึกซึ้ง

ความคาดหวังการเคลื่อนไหวของครก.112

ยุกติ มุกดาวิจิตร - ไม่ว่าอย่างไรก็ตามท้ายที่สุดแล้วเมื่อครก.112 นำรายชื่อเสนอขอแก้ไข รัฐสภาก็จะต้องรับผิดชอบในการนำข้อเสนอดังกล่าวไปพิจารณาต่อไป

ข้อเสนอยังไม่ได้เข้าสู่สภาแต่เริ่มมีฝ่ายต่อต้านแล้ว จะมีแผนรับมืออย่างไร

วาด รวี - ที่ผ่านมายังไม่เห็นข้อโต้แย้งในส่วนของข้อเสนอเลย ส่วนใหญ่จะเป็นการกล่าวให้ร้ายครก.112 ว่าการกระทำดังกล่าวไม่เป็นประชาธิปไตย และร่างของนิติราษฎร์นั้นมีส่วนในการทำลายสถาบัน หากไม่ชี้แจงว่าการกระทำของพวกผมเข้าข่ายตามที่คนอื่นกล่าวหาอย่างไร ครก.112 ก็ไม่สามารถตอบคำถามได้ แต่เชื่อว่ายังมีคนที่มีเหตุผลในสังคมไทยอีกมาก

เกษม เพ็ญภินันท์ - ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้คือผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็จะต่อต้านไว้ก่อนโดยปราศจากเหตุผล จึงขอวิงวอนสื่อมวลชนให้ช่วยชี้แจงเหตุผลที่คณะนิติราษฎร์นำเสนอร่างประมวลกฎหมายอาญา ม.112 ฉบับแก้ไข ตลอดจนการเคลื่อนไหวของครก.112 ด้วย

มีกระแสขู่มาจากหลายทิศทางว่าหากเหตุการณ์ต่างๆ ยังเดินหน้าในลักษณะนี้จะเกิดความรุนแรงขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.

จีรนุช เปรมชัยพร - หากกลุ่มต่างๆ ที่เคลื่อนไหวยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว เหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น อยากให้ทุกฝ่ายอดทนเพื่อก้าวผ่านกระแสข่าวลือนี้ไปให้ได้ ครก.112 ขอยืนยันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรงในการเคลื่อนไหว

วาด รวี - ไม่เข้าใจว่าทำไมคนที่สนับสนุนเรื่องการรัฐประหารจึงยังสามารถพูดได้โดยที่ไม่ถูกประณาม ทั้งๆ ที่กลุ่มคนที่สนับสนุนการรัฐประหารสมควรต้องถูกประณามมากกว่ากลุ่มคนที่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในทางประชาธิปไตย

เกษม เพ็ญภินันท์ - การขู่ว่าหากมีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่ครก.112 ทำแล้วจะนำมาซึ่งการรัฐประหาร อาจถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 ที่ว่า

"ผู้ใดใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ (1) ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ (2) ล้มล้างอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการแห่งรัฐธรรมนูญ หรือให้ใช้อำนาจดังกล่าวแล้วไม่ได้ หรือ (3) แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครองในส่วนหนึ่งส่วนใดแห่งราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำผิดฐานเป็นกบฏ ต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต"

ขอบคุณที่มา: นสพ.ข่าวสดรายวัน หน้า 3